ข้ามไปเนื้อหา

สนิมย้อย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สนิมย้อย (อังกฤษ: rusticle) คือการก่อตัวของสนิมเหล็กที่เกิดขึ้นใต้น้ำลึก สะสมกันเป็นแท่งคล้ายกับน้ำแข็งย้อยหรือหินย้อย สนิมย้อยเป็นที่คุ้นเคยจากภาพถ่ายใต้น้ำของซากเรืออับปางเช่น อาร์เอ็มเอส ไททานิก เรือประจัญบานบิสมาร์ค และเรือยูเอสเอส อินเดียแนโพลิส[1] สนิมย้อยถูกสร้างขึ้นโดยจุลินทรีย์ที่กินเหล็ก[2]

สนิมที่หลุดออกด้านล่างของที่ยึดสมอของเรืออาร์เอ็มเอส ไททานิก

คำว่า rusticle ในภาษาอังกฤษเป็นหน่วยคำควบที่ประกอบขึ้นจากคำ rust ("สนิม") และคำ icicle ("น้ำแข็งย้อย") และได้ถูกใช้ครั้งแรกโดยรอเบิร์ต แบลลาร์ด คนแรกที่สังเกตเห็นสนิมย้อยบนซากเรือไททานิกในปีพ.ศ. 2529[3] สนิมย้อยบนเรือไททานิกได้รับการตรวจสอบครั้งแรกใน พ.ศ. 2539 โดยรอย คัลลิมอร์ แห่งมหาวิทยาลัยริไจนาในแคนาดา แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ภายในสนิมย้อยของไททานิกคือ Halomonas titanicae ถูกค้นพบใน พ.ศ. 2553 โดยเฮนรีเอตตา แมนน์ สนิมย้อยสามารถก่อตัวบนวัตถุที่ทำด้วยเหล็กที่จมอยู่ใต้น้ำ ได้แก่โซ่สมอเรือ[4] และอุปกรณ์ในงานใต้ทะเล สนิมย้อยจะก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในสภาพอากาศที่อบอุ่น และแม้กระทั่งในน้ำโดยมีออกซิเจนละลายน้ำเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย[5]

องค์ประกอบ

[แก้]

สนิมย้อยประกอบด้วยสารประกอบเหล็กมากถึง 35% รวมทั้งเหล็กออกไซด์ เหล็กคาร์บอเนต และเหล็กไฮดรอกไซด์ ส่วนที่เหลือเป็นสารประกอบที่ซับซ้อนของจุลินทรีย์ทั้งแบบซิมไบโอซิสและแบบพึ่งพากัน ได้แก่แบคทีเรีย Halomonas titanicae และเชื้อราที่ใช้สนิมโลหะเป็นแหล่งอาหาร ทำให้เกิดการกัดกร่อนและจุลินทรีย์เหล่านี้รวมกันขับถ่ายของเสียที่เป็นสารประกอบที่ก่อตัวเป็นสนิมย้อย

โครงสร้าง

[แก้]

โครงสร้างของสนิมสนิมย้อยมักมีช่องให้น้ำไหลผ่านและดูเหมือนว่าเกิดขึ้นในรูปวงแหวนคล้ายกับวงปีในต้นไม้ ซึ่งมีความละเอียดอ่อนมากและแตกตัวเป็นผงละเอียดได้แม้สัมผัสเพียงเล็กน้อย

สี

[แก้]

พื้นผิวด้านนอกของสนิมย้อยมีสีแดงเรียบจากเหล็ก (III) ออกไซด์ และแกนกลางเป็นสีส้มสดจากผลึกของเกอไทต์ (เหล็กไฮเดรตออกไซด์)

อ้างอิง

[แก้]
  1. "USS Indianapolis: The Final Chapter | PBS". USS Indianapolis: The Final Chapter | PBS. สืบค้นเมื่อ 7 Jan 2019.
  2. Cullimore, Dr. Roy; Lori Johnston (February 27, 2012). "Rusticles Thrive on the Titanic". National Oceanic and Atmospheric Administration.
  3. "New species of bacteria found in Titanic 'rusticles'". BBC News. 6 December 2010. สืบค้นเมื่อ 1 March 2012.
  4. "Microbiologically influenced corrosion of Gulf of Mexico mooring chain at 6,000 feet depths". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-06. สืบค้นเมื่อ 2021-01-06.
  5. "Microbiologically influenced corrosion of Gulf of Mexico mooring chain at 6,000 feet depths". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-06. สืบค้นเมื่อ 2021-01-06.