สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง
บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ โดยเฉพาะการทับศัพท์ภาษาจีนและญี่ปุ่น คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
กองกำลังญี่ปุ่นในสงคราม เส้นทางการเดินทัพหลักในสงคราม | |||||||||
| |||||||||
คู่สงคราม | |||||||||
จักรวรรดิญี่ปุ่น | จักรวรรดิชิง | ||||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||||
จักรพรรดิเมจิ |
จักรพรรดิกวังซฺวี่ | ||||||||
กำลัง | |||||||||
240,000 นาย | 230,000 นาย | ||||||||
ความสูญเสีย | |||||||||
เสียชีวิต 16,823 ราย บาดเจ็บ 3,973 ราย | บาดเจ็บหรือเสียชีวิต 55,000 ราย |
สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (อังกฤษ: First Sino-Japanese War) หรือ สงครามญี่ปุ่น-ชิง (ญี่ปุ่น: 日清戦争; โรมาจิ: นิชชิน เซ็นโซ) หรือ สงครามเจี๋ยอู่ (จีน: 甲午戰爭) เป็นสงครามระหว่างจักรวรรดิชิงกับจักรวรรดิญี่ปุ่นเพื่อครอบครองคาบสมุทรเกาหลี สงครามนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความอ่อนแอของราชวงศ์ชิง และการประสบผลสำเร็จของญี่ปุ่นที่พัฒนาชาติให้ทันสมัยตามแบบชาติตะวันตกซึ่งเริ่มมาตั้งแต่จักรพรรดิเมจิขึ้นครองราชย์[1] ส่งผลให้อิทธิพลของราชวงศ์ชิงเสื่อมถอยลงจนนำไปสู่การปฏิวัติในปี ค.ศ. 1911
เบื้องหลังและสาเหตุ
[แก้]เป็นส่วนหนึ่งของ |
ประวัติศาสตร์จักรวรรดิญี่ปุ่น |
---|
ญี่ปุ่นต้องการขยายดินแดนของตนมายังแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออก มาตั้งแต่สมัยอัครมหาเสนาบดี โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ (ปลายศตวรรษที่ 16) ญี่ปุ่นเข้ารุกรานเกาหลีในระหว่างปี ค.ศ. 1592 - 1598 แต่ไม่สามารถยึดครองเกาหลีได้
หลังจากนั้นสองศตวรรษผ่านไป ยุคของรัฐบาลเอะโดะ เสื่อมถอยลงเมื่อญี่ปุ่นถูกพลเรือจัตวา เพอร์รี ยกกองเรือปิดอ่าว บังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศในปี ค.ศ. 1853 เปิดตลาดทำการค้ากับ สหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1854 และมาสิ้นสุดลงเมื่อจักรพรรดิเมจิ ขึ้นครองราชย์ ต่อจากจักรพรรดิโคเมที่สวรรคตในปี ค.ศ. 1867 จักรพรรดิองค์ใหม่ทรงนำญี่ปุ่นไปสู่ความทันสมัยในแบบชาติอุตสาหกรรมตะวันตก มีการส่งนักเรียนไปศึกษาในชาติยุโรปตะวันตกเพื่อให้นำวิชาความรู้กลับมาพัฒนาญี่ปุ่นให้เจริญทัดเทียมกับมหาอำนาจตะวันตก[2]
ความขัดแย้งเหนือคาบสมุทรเกาหลี
[แก้]ในฐานะประเทศที่เพิ่งพัฒนาใหม่ ญี่ปุ่นหันไปมองเกาหลี (ราชวงศ์โชซ็อน) ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของญี่ปุ่น ในด้านความมั่นคงเพราะ เกาหลีอยู่ใกล้ชิดกับญี่ปุ่น ถือเป็นจุดที่ชาติอื่นสามารถเข้ามาโจมตีญี่ปุ่นได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่อำนาจของราชวงศ์ชิงกำลังเสื่อมถอยลงทุกขณะ ญี่ปุ่นจึงหวังที่จะส่งทหารเข้าควบคุมคาบสมุทรเกาหลีก่อนเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคง นอกจากนั้นยังมีแหล่งแร่เหล็กและถ่านหินของเกาหลีที่สามารถสร้างเสริมความเป็นชาติอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในอนาคต
ในอดีต เกาหลีเป็นประเทศราชของจีนมาอย่างยาวนานจนมาถึงสมัยราชวงศ์ชิง ความเสื่อมถอยของราชวงศ์ชิงมีผลกระทบมาถึงเหล่าเสนาบดีของราชวงศ์โชซ็อนซึ่งครองราชย์มายาวนานตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 ซึ่งเดิมเคยติดต่อค้าขายและมีสัมพันธ์อันดีกับราชสำนักของจีน แต่เวลานี้เมื่ออิทธิพลของจีนกำลังถดถอย โดยมีอิทธิพลของญี่ปุ่นกำลังฉายแสงรุ่งโรจน์ เหล่าขุนนางเสนาบดีเหล่านี้จึงคิดตีจากราชสำนักจีนไปสร้างสัมพันธ์ใหม่กับญี่ปุ่นและชาติตะวันตก หลังจีนพ่ายแพ้ชาติตะวันตกในสงครามฝิ่นและสงครามจีน-ฝรั่งเศส ยิ่งทำให้ประจักษ์ชัดเจนว่า จีนไม่สามารถต่อต้านอิทธิพลของชาติตะวันตกได้เลย ญี่ปุ่นเองซึ่งมองจุดนี้เช่นกันจึงถือโอกาสแผ่อิทธิพลของตนเข้าครอบงำคาบสมุทรเกาหลี
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1876 หลังเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างพวกชาตินิยมเกาหลีกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นบีบให้เกาหลีต้องลงนามใน สนธิสัญญากังฮวา (Treaty of Ganghwa) ที่ให้เกาหลีต้องเปิดตลาดการค้าให้ญี่ปุ่นและชาติอื่นซึ่งเท่ากับว่าเป็นการประกาศให้นานาชาติรับรู้ว่าเกาหลีเป็นอิสระจากจีน
การปฏิวัติกัปซิน
[แก้]ในปี ค.ศ. 1884 พวกนิยมญี่ปุ่นก็พยายามก่อการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลเกาหลีสายอนุรักษ์ที่นิยมจีน จีนเข้าแทรกแซงโดย นายพลหยวน ซื่อไข่ ส่งทหารจีนเข้ามาช่วยปราบปรามกลุ่มกบฏครั้งนี้อย่างรุนแรง การปราบปรามนี้ไม่เพียงแต่พวกกบฏชาวเกาหลีเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังทำให้สถานทูตญี่ปุ่นเกิดเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่และพลเรือนญี่ปุ่นเสียชีวิตไปหลายคน เป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีนเกิดความร้าวฉาน ทั้งสองฝ่ายต้องประชุมหารือกันที่เทียนจินในปี ค.ศ.1885 และมีข้อตกลงร่วมกันว่า
- ต้องถอนกองกำลังของทั้งสองฝ่ายออกจากเกาหลีพร้อม ๆ กัน
- ห้ามส่งที่ปรึกษาทางทหารไปฝึกหัดทหารเกาหลี
- ห้ามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งส่งทหารไปยังเกาหลีโดยไม่แจ้งให้อีกฝ่ายทราบก่อนล่วงหน้า
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นได้กล่าวหาว่า ทางการจีนพยายามลักลอบสร้างอิทธิพลครอบงำเกาหลี
สถานภาพทางทหารของทั้งสองฝ่าย
[แก้]จักรวรรดิญี่ปุ่น
[แก้]การปฏิรูปญี่ปุ่นในสมัยเมจิ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกองทัพเรือ มีการต่อเรือใหม่ ๆ และปรับปรุงกองทัพบกและกองทัพเรือให้ทันสมัย มีการส่งนายทหารทั้งทหารบกและทหารเรือจำนวนมากไปฝึกศึกษาทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในกองทัพบกและกองทัพเรือของชาติตะวันตก
กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น
[แก้]ยึดแบบมาจากราชนาวีอังกฤษซึ่งเป็นกองทัพเรือชั้นแนวหน้าและทรงอานุภาพมากที่สุดในโลกในเวลานั้น มีที่ปรึกษาทางทหารชาวอังกฤษไปให้ความรู้และให้คำปรึกษาในการก่อร่างสร้างกองทัพเรือ มีการส่งนักเรียนไปเข้ารับการศึกษาและฝึกงานในราชนาวีอังกฤษ ตลอดเวลาที่ได้ที่ปรึกษาชาวอังกฤษ ญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับวิชาการปืนและวิชาการเดินเรือ[3]
ในช่วงเริ่มเกิดวิกฤตกาล กองเรือแห่งจักรพรรดินาวีญี่ปุ่น มีกำลังทางเรือดังนี้ เรือประจัญบานรุ่นใหม่ 12 ลำ (ทั้งนี้รวมทั้งเรือยังไม่ขึ้นระวางประจำการ คือ อิสึมิ ที่เข้าประจำการในระหว่างสงคราม), เรือลาดตระเวนทะกะโอะอีก 1 ลำ เรือตอร์ปิโด 22 ลำ, นอกจากนั้นยังมีเรือช่วยรบ/เรือสินค้าติดอาวุธ และเรือโดยสารที่ดัดแปลงมาเป็นเรือช่วยรบอีกจำนวนมาก
หลักนิยมของญี่ปุ่นขณะนั้นไม่ได้หวังพึ่งอานุภาพของเรือประจัญบาน แต่ให้ความสำคัญกับการใช้เรือรบขนาดเล็กที่มีความเร็วสูง อย่างเรือลาดตระเวน และเรือตอร์ปิโด ในการเข้าปะทะกับเรือข้าศึกที่ใหญ่กว่า
เรือรบหลักของญี่ปุ่นหลายลำต่อมาจากอู่ต่อเรือในอังกฤษและฝรั่งเศส (ต่อในอังกฤษ 8 ลำ, ฝรั่งเศส 3 ลำ, และต่อในญี่ปุ่น 2 ลำ) และเรือตอร์ปิโดอีก 16 ลำที่สร้างในฝรั่งเศส จากนั้นก็ขนส่งมาแล้วนำมาประกอบในญี่ปุ่น
กองทัพบกญี่ปุ่น
[แก้]การพัฒนากองทัพบกญี่ปุ่นในช่วงแรกของยุคเมจิ นั้น มีแนวคิดตามแบบของกองทัพบกฝรั่งเศส มีที่ปรึกษาทางทหารของฝรั่งเศสเดินทางไปยังญี่ปุ่นตั้งแต่ปี ค.ศ.1872 ในปี ค.ศ.1873 ก็เริ่มมีการตั้งโรงเรียนทหารและโรงงานสร้างปืนใหญ่ตามแบบตะวันตก
ปี ค.ศ.1886 ญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงรูปแบบมาเป็นแบบกองทัพบกเยอรมัน โดยเฉพาะแบบฉบับของกองทัพปรัสเซีย และประยุกต์หลักนิยม, รูปแบบและโครงสร้างของกองทัพมาให้เหมาะสมกับญี่ปุ่น ในปี ค.ศ.1885 จาโค๊บ เมคเกล ที่ปรึกษาทางทหารชาวเยอรมัน ได้เสนอแนะให้มีการปรับโครงสร้างสายการบังคับบัญชาของกองทัพใหม่ โดยแบ่งเป็นกรมและกองพล ปรับปรุงเรื่องการส่งกำลังบำรุง, การขนส่ง และอื่น ๆ (เช่นการเพิ่มรถบรรทุกให้พอเพียง) และมีการจัดตั้งกรมทหารปืนใหญ่และกรมช่าง ที่มีสายการบังคับบัญชาเป็นอิสระ
ช่วงปี ค.ศ. 1890 กองทัพญี่ปุ่นก็มีการจัดกำลังแบบสมัยใหม่ เป็นกองทัพที่มีรูปแบบการฝึกตามแบบกองทัพของชาติตะวันตก มีความพร้อมทั้งยุทโธปกรณ์และยุทธปัจจัย นายทหารได้รับการศึกษาจากต่างประเทศและมีความรู้ทางยุทธวิธีและทางยุทธศาสตร์เป็นอย่างดี
เมื่อเริ่มสงคราม, กองทัพบกแห่งจักรพรรดิมีกำลังพลถึง 120,000 นาย จัดกำลังเป็น 2 กองทัพและ 5 กองพล
จักรวรรดิต้าชิง (จีน)
[แก้]กองทัพเป่ย์หยาง ถือเป็นกองทหารที่ทันสมัยที่สุดของจีน มีอาวุธที่ถือว่าดีที่สุด แต่ปัญหาสำคัญก็คือ ขวัญกำลังใจและการฉ้อราษฎร์บังหลวง ในช่วงเวลาสงครามก็ยังมีการเบียดบังเบี้ยเลี้ยงทหารตลอดเวลาเช่นการที่พระนางซูสีไทเฮานำงบประมาณที่จะพัฒนากองทัพเรือไปสร้างเรือหินอ่อนในพระราชอุทยานของพระราชวังฤดูร้อน นอกจากนั้นยังมีปัญหาด้านการส่งกำลังบำรุง เพราะทางรถไฟสายแมนจูเรียกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ขวัญกำลังใจของทหารตกต่ำอย่างหนักเพราะการจ่ายเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงล่าช้า, มีปัญหาทหารติดฝิ่น, การขาดภาวะผู้นำ รวมไปถึงการหนีทัพซึ่งเป็นปัญหาหนักในการเตรียมการป้องกันเมืองเว่ยไห่เว่ย
กองทัพเป่ย์หยาง
[แก้]ราชวงศ์ชิงในเวลานั้นยังไม่มีกองทัพแห่งชาติ ตั้งแต่ กบฏแมนแดนสันติ กองทัพก็แตกแยกเป็นหลายเผ่าเช่น แมนจู, มองโกล, หุย และกองทัพของชาวฮั่นเองก็มีกองทัพที่เป็นอิสระต่อกันตามภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งกองทัพเหล่านี้ยังแยกการบังคับบัญชาเป็นอิสระตามมณฑลของตนเอง สำหรับกองทัพเป่ย์หยางนั้นจัดตั้งขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยราชวงศ์ชิง โดยแรกเริ่มเดิมทีมีแม่ทัพคือ หลี่ หงจาง แม่ทัพมณฑลอันฮุย ซึ่งเป็นกองทัพที่มีกำลังพลมากที่สุด และจงรักภักดีต่อราชวงศ์ชิง หลี่ หงจาง ปรับปรุงกองทัพโดยใช้เงินจากภาษีของมณฑลอันฮุยที่เขาเป็นผู้ว่าการมณฑลอยู่มาจัดซื้ออาวุธ และยังเหลือพอที่จะจัดตั้งกองเรือขึ้นมาด้วย คือ กองเรือเป่ย์หยาง (จีน: 北洋軍; พินอิน: Běiyáng-jūn; ซึ่ง เป่ย์หยาง แปลว่า มหาสมุทรตอนเหนือ)
การสู้รบครั้งสำคัญที่สุดจึงตกเป็นภาระของกองทัพเป่ย์หยาง และกองเรือเป่ย์หยาง ซึ่งทำการสู้รบไปพร้อมกับขอความช่วยเหลือไปยังกองทัพและกองเรืออื่น ๆ ให้เข้ามาช่วยซึ่งได้แก่กองเรือหนานหยาง กองเรือฝูเจี้ยน และกองเรือกวางตุ้ง แต่ไม่มีกองทัพใดที่ให้ความร่วมมือ
กองเรือเป่ย์หยาง
[แก้]กองเรือเป่ย์หยางเป็น 1 ใน 4 กองเรือที่ทันสมัยกองหนึ่งของราชวงศ์ชิงตอนปลายและถือเป็นกองเรือที่โดดเด่นที่สุดในเอเชียตะวันออก ในช่วงก่อนที่จะเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งนี้ กล่าวได้ว่า เป็นกองเรือที่ดีที่สุดในเอเชีย และเป็นกองเรือที่ดีที่สุดเป็นอันดับแปดของโลกในช่วงของทศตวรรษที่ 1880 โดยกำลังหลักมีเรือประจัญบานหุ้มเกราะ 2 ลำซึ่งต่อจากเยอรมัน, เรือลาดตระเวนแบบต่าง ๆ 11 ลำ, เรือปืน 6 ลำ, เรือตอร์ปิโด 12 ลำ
ชนวนเหตุ
[แก้]ในปี ค.ศ. 1893, คิม โอ คยุน นักปฏิวัติชาวเกาหลีที่นิยมญี่ปุ่นถูกลอบสังหารในเมืองเซี่ยงไฮ้ เพราะเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ มีการกล่าวหาว่า ผู้ลอบสังหารเป็นคนของหยวนซื่อไข่ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนรัฐบาลเกาหลีที่นิยมจีน ศพของคิม โอ คยุน ถูกส่งกลับโดยเรือรบของจีน นัยว่าเป็นการเตือนพวกกบฏที่นิยมญี่ปุ่นไม่ให้เคลื่อนไหว ซึ่งตรงนี้สร้างความขุ่นเคืองให้กับทางการญี่ปุ่นที่มีความไม่ลงรอยอยู่กับทางการจีนอยู่แล้วเกี่ยวกับปัญหาเกาหลี สถานการณ์ยิ่งร้อนแรงขึ้นเมื่อจักรพรรดิเกาหลีขอความช่วยเหลือให้จีนส่งทหารมาช่วยปราบกบฏตงฮัก ซึ่งรัฐบาลจีนได้ส่งหนังสือไปแจ้งแก่รัฐบาลญี่ปุ่นในการตัดสินใจส่งทหารไปดังกล่าวตามข้อตกลงเทียนสิน โดยส่งทหารจีน 2,800 นายไปเกาหลี ภายใต้การนำของหยวน ซี ไข ฝ่ายญี่ปุ่นถือว่า การกระทำของจีนครั้งนี้เป็นการละเมิดข้อตกลงอย่างรุนแรง จึงตอบโต้จีนโดยการส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (กรมทหารโอชิมะ, - เป็นกรมผสม) จำนวน 8 พันนายไปยังเกาหลีเช่นกัน ทหารญี่ปุ่นได้เข้ายึดพระราชวังและจับกุมพระเจ้าโกจงจักรพรรดิเกาหลี เปลี่ยนรัฐบาลใหม่เป็นพวกนิยมญี่ปุ่น ถึงตรงนี้ทหารจีนก็ถูกปฏิเสธจากรัฐบาลชุดใหม่ และไม่มีประโยชน์ที่ทหารจีนจะอยู่ในเกาหลีต่อไป เพราะทหารญี่ปุ่นมีจำนวนมากกว่า
และในปี ค.ศ. 1895 ญี่ปุ่นก็ได้ทำการลอบสังหารพระราชินีมินหรือจักรพรรดินีเมียงซองแห่งเกาหลี เพราะเห็นว่าพระนางเป็นตัวการที่ขัดขวางให้ญี่ปุ่นไม่สามารถกระทำการได้อย่างเต็มที่
เหตุการณ์
[แก้]การจมเรือเกาเชิง
[แก้]เป็นการรบทางเรือที่เกิดขึ้นครั้งแรกในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งแรกนี้ โดยเป็นการปะทะกันระหว่าง กองเรือลาดตระเวนของญี่ปุ่นกับกองเรือเป่ย์หยาง เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ.1894 นอกฝั่งเมืองท่าอาซาน ทั้งนี้เนื่องจากเมืองท่าแห่งนี้มีทหารจีนประจำการอยู่ 3 พันคน ญี่ปุ่นมีแผนที่จะปิดล้อมเมืองท่าแห่งนี้เพื่อไม่ให้กำลังทหารจีนหลบหนีได้ ทางด้านกองเรือเป่ย์หยางก็มีความเห็นแตกต่างกัน ทางหนึ่งก็คิดว่า จะสนับสนุนการถอนทหารครั้งนี้โดยจะพยายามลำเลียงทหารขึ้นเหนือไปยังเมืองเปียงยาง อีกส่วนก็คิดว่า จะนำกองเรือไปทางใต้เพื่อปะทะกับกองเรือญี่ปุ่น ดังนั้นผู้บัญชาการกองเรือของจีนคือ ฟาง โป๋เชียน ผู้บังคับการเรือลาดตระเวน จื้อหย่วน จึงเลือกทางสายกลางคือ การคำนึงถึงความปลอดภัยของกองเรือ ตามนโยบายของแม่ทัพคือ หลี่หงจาง และนโยบายของจักรพรรดิกวางสู ที่ต้องไม่เสียศักดิ์ศรี
ปูมเรือของฝ่ายญี่ปุ่นบันทึกการรบครั้งนี้ไว้ว่า เวลา 7:00 น. ของวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1894, เรือลาดตระเวน โยะชิโนะ, นะนิวะ และอะกิตสึชิมะ กำลังลาดตระเวนในทะเลเหลือง นอกฝั่งอาซาน, ชุงเชินนัมโด, เกาหลี ได้เข้าสกัดกั้นเรือลาดตระเวน จื้อหย่วนของจีน และเรือปืน กวางอี่ ทั้งสองลำออกจากอาซานเพื่อพบกับเรือปืนของจีนอีกลำคือ เรือ เชาเจียง ที่กำลังคุ้มกันเรือลำเลียงไปยังอาซาน เรือจีนทั้งสองลำมิได้ถอยกลับไปตามที่เรือญี่ปุ่นยิงเตือนตามกฎการเดินเรือสากล, และเมื่อเรือของญี่ปุ่นเปลี่ยนเข็มไปทางตะวันตกเฉียงใต้ เรือจีนก็เปิดฉากยิง.
ส่วนปูมเรือของฝ่ายจีนบันทึกว่า เรือลาดตระเวน จื้อหย่วน และเรือตอร์ปิโดกวางอี่ จอดเทียบท่าอยู่ที่อาซาน ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม ออกจากท่ามาในตอนเช้าของวันที่ 25 กรกฎาคม มุ่งหน้าไปยังจุดนัดพบกับเรือบรรทุกทหาร เกาเชิง และเรือเสบียง เชาเจียง ที่เดินทางมาจากเทียนจิน เวลา 07:55 น., ใกล้เกาะพุงโด ซึ่งเป็นเกาะใกล้ช่องทางเดินเรือออกจากอ่าวอาซาน ในน่านน้ำเกาหลี เรือจีนทั้งสองลำถูกยิงจากเรือลาดตระเวนญี่ปุ่นสามลำคือ อะกิตสึชิมะ, นะนิวะ และโยะชิโนะ เรือจีนยิงตอบโต้กลับไปเมื่อเวลา 07:52น.
หลังจากทั้งสองฝ่ายยิงโต้ตอบกันกว่าชั่วโมง, เรือ จื้อหย่วน สามารถฝ่าวงล้อมออกไปได้ แต่เรือ กวางอี่ วิ่งชนหินแล้วคลังกระสุนจึงเกิดการระเบิดขึ้น ในเวลาเดียวกัน เรือปืน เชาเจียง และเรือลำเลียง เกาเชิง ที่มีกัปตันเป็นพลเรือนอังกฤษและรับจ้างขนทหารจีน 1,200 คน พร้อมเสบียงเดินทางเข้ามาจุดนี้พอดี
เรือ เชาเจียง ถูกเรือรบญี่ปุ่นเข้ายึดอย่างรวดเร็ว และเรือ เกาเชิง ถูกสั่งให้นำเรือแล่นตามเรือลาดตระเวน นะนิวะ ไปยังกองเรือใหญ่ของญี่ปุ่น ทหารจีนที่อยู่บนเรือจึงยึดเรือและบังคับให้กัปตัน กัลเวอร์ที (Captain Galworthy) นำเรือกลับจีน หลังเจรจาต่อรองกันอยู่นาน 4 ชั่วโมง ช่วงที่ทหารจีนกำลังเผลอ กัปตัน กัลเวอร์ที กับลูกเรือชาวอังกฤษก็โดดน้ำหนี และพยายามว่ายน้ำไปยังเรือลาดตระเวน นะนิวะ ท่ามกลางการยิงไล่หลังมาจากทหารจีนบนเรือ เกาเชิง ลูกเรืออังกฤษส่วนใหญ่เสียชีวิต แต่กัปตัน กัลเวอร์ทีและลูกเรืออีกสองคนได้รับความช่วยเหลือจากญี่ปุ่น เรือ นะนิวะ จึงเปิดฉากยิงเรือ เกาชิง จมไปพร้อมกับบรรดาทหารจีนที่อยู่บนเรือ มีจำนวนหนึ่งที่รอดมาได้และว่ายน้ำกลับเข้าฝั่ง (หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ที่ปรึกษาทางทหารชาวเยอรมัน พันโท ฟอน ฮันเนเค่น)
การรบครั้งนี้ ทหารจีนเสียชีวิตไปราว 1,100 คน ในจำนวนกว่า 800 คน เป็นทหารที่อยู่บนเรือลำเลียง เกาเชิง ฝ่ายญี่ปุ่นไม่มีผู้ใดเสียชีวิต การที่ญี่ปุ่นจมเรือ เกาเชิง ซึ่งยังเป็นของอังกฤษ ทำให้ญี่ปุ่นขัดแย้งทางการทูตกับอังกฤษ แต่ศาลอังกฤษเห็นว่า การกระทำนั้นถูกต้องตามกฎหมายสากลว่าด้วยการเป็นกบฏในเรือ การจมของเรือยังถูกมองว่าเป็นการกระทำที่รัฐบาลจีนที่ตั้งใจทำให้เกิดการปะทะ เพื่อพยายามประกาศสงครามกับญี่ปุ่น
การต่อสู้ในเกาหลี
[แก้]หลังจากทหารญี่ปุ่นเข้าจัดการล้มล้างรัฐบาลเดิมของเกาหลีที่นิยมจีน แล้วสถาปนารัฐบาลชุดใหม่ที่นิยมญี่ปุ่น สิ่งที่ทำต่อมาคือ การขับไล่ทหารกองทัพเป่ย์หยางของจีนออกจากดินแดนเกาหลี กำลังของญี่ปุ่นที่มาถึงชุดแรกจำนวน 8 พันนาย ภายใต้การบัญชาการของพลโท โอชิมะ โยชิมะสะ ก็เดินทัพมุ่งลงใต้จากโซล มายังเมืองอาซาน ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญทางฝั่งตะวันตกของเกาหลีที่ตอนนี้มีกำลังทหารจีน 3,500 นาย ประจำการอยู่ ส่วนกำลังหนุนที่มากับเรือ เกาเชิง ถูกเรือรบญี่ปุ่นจัดการไปเรียบร้อยแล้ว
กำลังทั้งสองฝ่ายมาพบกันที่นอกเมืองอาซาน ราว ๆ 15.00 น. ของวันที่ 28 กรกฎาคม การปะทะเป็นไปตลอดคืนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ทหารจีนซึ่งด้อยกว่าทั้งจำนวนทหารและทักษะการรบยิ่งรบก็ยิ่งสูญเสีย จึงถอนตัวมุ่งหน้าไปที่เปียงยาง การรบครั้งนี้ทหารจีนเสียชีวิตและบาดเจ็บราว 500 นาย ส่วนญี่ปุ่นเสียชีวิตและบาดเจ็บไป 82 นาย หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ญี่ปุ่นได้นำทัพกลับโซล เป็นเหตุทำให้จีนประกาศสงครามกับญี่ปุ่นในวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1894
หลังจากนั้น ทหารจีนที่เหลือได้ถอยไปชุมนุมกำลังกันที่เปียงยาง ทำให้กำลังทหารจีนในสังกัดกองทัพเป่ย์หยาง ณ วันที่ 4 สิงหาคม มีกำลังพลถึง 13,000 – 15,000 คน ทหารจีนได้ดัดแปลงที่มั่นโดยใช้กำแพงเมืองเก่าเตรียมรับการโจมตีของทหารญี่ปุ่นที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
ก่อนหน้านั้น ทหารญี่ปุ่น จำนวนราว 1 หมื่นนาย จากกองทัพที่ 1 ภายใต้การบัญชาการของจอมพล ยะมะงะตะ อะริโมะโตะ ขึ้นบกที่เชมุลโป (ปัจจุบันคือ อินชอน) เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ.1894 หลังจากได้รับข่าวการรบที่โซงวานแล้ว จึงได้เคลื่อนทัพขึ้นเหนือมุ่งหน้าสู่เปียงยาง เพื่อสนธิกำลังอีกส่วนที่จะเดินทางมาทางเรือและขึ้นบกที่ปูซานและวอนซาน
กำลังของญี่ปุ่นทั้งหมดเคลื่อนพลจากหลายเส้นทางมาพบกันที่เปียงยางในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ.1894 แล้วเข้าตีแนวรับของทหารจีนที่ตั้งรับตามแนวกำแพงเมืองเก่าทางด้านเหนือและด้านตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่เช้า ทหารจีนต้านทานอย่างเข้มแข็ง แต่ก็ถูกตีตลบหลัง ต่อมาเกิดฝนตกอย่างหนัก การรุกของญี่ปุ่นหยุดลงชั่วคราว เพราะหากว่าจะบุกเข้าไปก็จะจมโคลน ดังนั้นเป็นโอกาสให้ทหารที่อยู่ในสนามรบได้พักรบชั่วคราว ฝนที่ตกหนักไปจนถึงค่ำช่วยให้ทหารจีนแอบถอนตัวออกจากเปียงยางได้สำเร็จ กำลังทหารจีนถอนตัวไปถึงเมืองวีจู ริมฝั่งแม่น้ำยาลู ได้เมื่อตอน 20.00 น. การรบครั้งนี้ฝ่ายญี่ปุ่นรายงานว่าทหารจีนเสียชีวิตไปราว 2,000 คน บาดเจ็บอีก 4,000 คนซึ่งการสูญเสียส่วนใหญ่เกิดขึ้นขณะกำลังถอนตัว ฝ่ายญี่ปุ่นเสียชีวิตไป 102 นาย, บาดเจ็บ 433 นาย และสูญหายไปอีก 33 นาย
เปียงยางตกอยู่ในความยึดครองของกองทัพญี่ปุ่นในเช้าวันที่ 16 กันยายน ค.ศ.1894
ความปราชัยของกองเรือเป่ย์หยาง
[แก้]การรบทางเรือครั้งนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงปัญหาคอรัปชั่นภายในกองทัพเรือเป่ย์หยางของจีนแล้ว การขาดการฝึกและศึกษาให้ชำนาญไม่ว่าจะเป็นวิชาการปืนใหญ่และการเดินเรือ รวมถึงการฝึกในระดับกองเรือ เช่นการแปรกระบวนรบ
ยุทธนาวีครั้งนี้มีชื่อเป็นทางการว่า ยุทธนาวีที่แม่น้ำยาลู หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ยุทธนาวีที่ทะเลเหลือง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ.1894 เป็นการปะทะกันทางเรือที่ใหญ่ที่สุดในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งนี้ สมรภูมิที่เกิดการปะทะกันนี้เกิดในทะเลเหลือง ใกล้ปากแม่น้ำยาลู
ตามรายงานต่าง ๆ ก่อนหน้า จะเห็นว่า จีนมีเรือรบที่เหนือกว่า อย่างเช่นอาวุธหลักประจำเรือที่มีทั้งปืนขนาด 10 นิ้ว และ 8 นิ้ว แต่สิ่งที่ขาดการคำนึงถึงคือพลปืนของเรือรบจีนยังไม่มีความพร้อมรบ ขาดการฝึก และแม้จะอยู่ในสถานการณ์เตรียมพร้อม พลปืนของเรือรบจีนก็ยังไม่พร้อมที่จะทำการยิง เนื่องจากการคอรัปชั่น อย่างเช่น ลูกปืนหลายลูกออกอาการช๊อท คือแทนที่จะยิงถึงเป้ากลายเป็นกระสุนตกก่อนถึงเป้าหมาย เพราะดินปืนและเชื้อปะทุเก่าเก็บบ้าง นายทหารเรือจีนบางคนก็ไม่เข้าประจำตำแหน่งของตนในเวลาทำการรบ ตามบันทึกกล่าวว่ามีเรือลำหนึ่งใช้ป้อมปืนเป็นที่เก็บของรวมถึงยังมีการถอดชิ้นส่วนปืนที่เป็นโลหะไปขายในตลาดมืด
ซึ่งจุดนี้ทำให้สมรรถนะของกองเรือทั้งสองฝ่ายต่างกันอย่างมาก แม้ว่าทางจีนจะมีการจ้างนายทหารต่างชาติจำนวนมากมาเป็นที่ปรึกษา อย่างพันโท ฟอน ฮันเนเค่น ซึ่งรอดชีวิตจากเกาเชิงซึ่งถูกญี่ปุ่นยิงจมในพุงโด ก็เป็นที่ปรึกษาให้กับแม่ทัพ ติง หรู่ชาง และยังมีนายทหารต่างชาติอีกหลายนายที่เป็นผู้ช่วยของฟอน ฮันเนเค่น บางคนก็รับหน้าที่เป็นรองผู้บังคับการเรือเจิ้นหย่วน
กองเรือจีนเตรียมรบกับญี่ปุ่นโดยเปลี่ยนสีเรือจากเดิมที่ตัวเรือสีขาว ปล่องสีเหลืองเข้ม เป็นสีเทาเข้ม และปล่องสีดำ ทำให้ยากที่จะมองเห็นในทะเล จากบันทึกของแมคกิฟฟิน อดีตเรือโท แห่งกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ที่มาเป็นผู้ช่วยของฟอน ฮันเนเค่น บันทึกถึงเรือรบจีนไว้ว่า เชื้อปะทุหลายอันอายุถึง 13 ปี และยังใช้ไม่ได้ เกราะของเรือที่ปกติจะหุ้มตัวเรือแถวแนวน้ำก็ถูกถอดทิ้งจนเรือจื้อหย่วนต้องถอนตัวจากการรบเพราะเหตุนี้
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]ดูเพิ่ม
[แก้]- Jansen, Marius B. (2002). The Making of Modern Japan. Cambridge: Harvard University Press. ISBN 0-674-00991-6.
- Chamberlin, William Henry. Japan Over Asia, 1937, Little, Brown, and Company, Boston.
- Colliers (Ed.), The Russo-Japanese War, 1904, P.F. Collier & Son, New York.
- Kodansha Japan An Illustrated Encyclopedia, 1993, Kodansha Press, Tokyo ISBN 4-06-205938-X
- Lone, Stewart. Japan's First Modern War: Army and Society in the Conflict with China, 1894-1895, 1994, St. Martin's Press, New York.
- Paine, S.C.M. The Sino-Japanese War of 1894-1895: Perception, Power, and Primacy, 2003, Cambridge University Press, Cambridge, MA, 412 pp.
- Sedwick, F.R. (R.F.A.). The Russo-Japanese War, 1909, The Macmillan Company, NY, 192 pp.
- Theiss, Frank. The Voyage of Forgotten Men, 1937, Bobbs-Merrill Company, 1st Ed., Indianapolis & New York.
- Warner, Dennis and Peggy. The Tide At Sunrise, 1974, Charterhouse, New York.
- Urdang, Laurence/Flexner, Stuart, Berg. The Random House Dictionary of the English Language, College Edition. Random House, New York, (1969).
- Military Heritage did an editorial on the Sino-Japanese War of 1894 (Brooke C. Stoddard, Military Heritage, December 2001, Volume 3, No. 3).