มหันตภัยมาลธูเซียน
มหันตภัยมาลธูเซียน[a] (อังกฤษ: Malthusian catastrophe, Malthusian check) เป็นทฤษฎีที่พยากรณ์การต้องกลับไปสู่การดำรงชีวิต แบบเพียงแค่สามารถประทังชีวิต เมื่อการเติบโตของประชากรก้าวล้ำสมรรถภาพการผลิตของเกษตรกรรม
งานของทอมัส มาลธัส
[แก้]ในปี ค.ศ. 1798 นักวิชาการชาวอังกฤษ ทอมัส มาลธัส เขียนไว้ว่า
ทุพภิกขภัยดูเหมือนจะเป็นวิธีการสุดท้าย ที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดของธรรมชาติ พลังการเติบโตของประชากรนั้น ยิ่งใหญ่กว่าพลังของโลกอย่างมาก ที่จะผลิตปัจจัยประทังชีวิตมนุษย์ จนกระทั่งว่า การตายก่อนธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งก็ตาม จะต้องมาเยี่ยมเยียนเผ่าพันธุ์มนุษย์ พฤติกรรมผิดศีลธรรมของมนุษยชาตินั้น ไม่อยู่นิ่ง และเป็นเจ้าหน้าที่ที่สามารถลดประชากร เป็นทหารกองหน้าของแสนยานุภาพแห่งความหายนะ ซึ่งบ่อยครั้งสามารถทำงานที่น่าสะพรึงกลัวนั้นให้สำเร็จได้เอง แต่ถ้ากองหน้านี้ล้มเหลว ในสงครามกวาดล้างเผ่าพันธุ์นี้ ฤดูแห่งความเจ็บป่วย โรคระบาด และโรคติดต่อ ก็จะเป็นกองรุกสยองขวัญ กำจัดศัตรูได้อย่างเป็นพันเป็นหมื่น และถ้าชัยชนะยังไม่สมบูรณ์ ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็จะเป็นกองทัพหลัง ที่โดยการโจมตีแม้เพียงครั้งเดียว ก็จะกวาดประชากรโลกให้ราบเรียบด้วยอาวุธคืออาหาร
แม้ว่ามาลธัสจะวาดภาพจุดจบของโลกเช่นนี้ แต่จริง ๆ เขาไม่ได้เชื่อว่า มนุษยชาติจะมีชะตากรรมที่จะประสบมหันตภัย เพราะเหตุจำนวนประชากรก้าวล้ำทรัพยากร แต่เชื่อว่า การเติบโตของประชากรนั้น จะจำกัดโดยทรัพยากรที่มีอยู่ คือ
ความรู้สึกทางเพศปรากฏในทุกยุคทุกสมัย เหมือนกับจะเท่า ๆ กัน จนกระทั่งสามารถพิจารณาโดยแนวคิดทางพีชคณิตว่า เป็นตัวแปรที่จะต้องมีอย่างแน่นอน กฎจำเป็นอันยิ่งใหญ่ ที่ขัดขวางประชากรในแต่ละประเทศ ไม่ให้เพิ่มเกินอาหารที่สามารถผลิตหรือแสวงหาได้ เป็นกฎที่แจ่มแจ้งจนกระทั่งว่า เราไม่ควรสงสัยในกฎนี้ วิธีหรือแบบต่าง ๆ ที่ธรรมชาติใช้ในการป้องกันหรือระงับประชากรเกิน อาจจะไม่ปรากฏกับเราว่า เป็นแบบที่แน่นอนที่เกิดเป็นระยะ ๆ และถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถพยากรณ์แบบวิธี แต่ว่า เราสามารถพยากรณ์ได้ว่า จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ทฤษฏีมาลธูเซียนในปัจจุบัน
[แก้]หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ระบบเกษตรกรรมที่ใช้เครื่องจักร ได้เพิ่มผลผลิตขึ้นอย่างมาก และการปฏิวัติที่เรียกว่า "Green Revolution (การปฏิวัติเขียว)" ก็ได้เพิ่มผลผลิตขึ้นอีก ซึ่งทั้งเพิ่มปริมาณและลดราคาอาหาร จึงทำให้ประชากรโลกเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ทำให้นักวิชาการบางพวก[3] เริ่มจะพยากรณ์ว่าจะเกิดมหันตภัยมาลธูเซียนโดยไม่ช้า แต่ว่า ประชากรในประเทศพัฒนาแล้วโดยมาก ก็โตขึ้นช้ากว่าการเพิ่มผลผลิตทางเกษตรกรรม
โดยต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ประเทศพัฒนาแล้วได้ผ่านช่วงการเปลี่ยนสภาพทางประชากรไปแล้ว ซึ่งเป็นช่วงพัฒนาการทางสังคมที่ซับซ้อน มีผลเป็นอัตราเจริญพันธุ์รวมที่ลดลง เนื่องจากอัตราภาวะการตายของทารกลดลง การย้ายเข้าไปอยู่ในเมือง และวิธีการคุมกำเนิดหลายอย่างที่มีประสิทธิภาพ แล้วมีผลเป็นปรากฏการณ์ที่เมื่อรายได้และการศึกษาสูงขึ้น อัตราการเจริญพันธุ์กลับลดลง
โดยสมมุติว่า การเปลี่ยนสภาพทางประชากร กำลังกระจายไปจากประเทศพัฒนาแล้ว ไปยังประเทศพัฒนาน้อยกว่า กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประเมินว่า ประชากรมนุษย์จะถึงจุดสูงสุดในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 21 แทนที่จะเติบโตจนกระทั่งผลาญทรัพยากรทั้งหมด[4]
นักประวัติศาสตร์ได้ประมาณจำนวนประชากรโลกทั้งหมด กลับไปจนถึง 10,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช[5] รูปที่เห็นแสดงแน้วโน้มประชากรทั้งหมดจากปี ค.ศ. 1800-2005 และต่อจากนั้นแสดงค่าประมาณไปจนถึงปี ค.ศ. 2100 (ค่าต่ำ ปานกลาง และสูง) ส่วนภาพบนสุดแสดงอัตราการเพิ่มต่อปี ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งถ้าการเพิ่มประชากรเป็นแบบยกกำลัง อัตราการเพิ่มประชากรจะเป็นเส้นแบนตรง แต่เพราะอัตราเพิ่มขึ้นในระหว่างปี ค.ศ. 1920-1960 นี้แสดงว่า ประชากรเพิ่มเร็วกว่าอัตรายกกำลังในช่วงเวลานั้น แต่ว่า ตั้งแต่นั้น อัตราการเพิ่มก็ได้ลดลง และคาดว่าจะลดลงเรื่อย ๆ[6] ค่าคาดหมายของสหประชาชาติจนถึงปี ค.ศ. 2100 (สีแดง ส้ม และเขียว) แสดงจุดสุดยอดของประชากรโลกเร็วที่สุดในปี ค.ศ. 2040 ในกรณีแรก หรือว่าในปี ค.ศ. 2075 ในกรณีที่สอง หรือว่าเพิ่มขึ้นโดยไม่มีขอบเขตในกรณีที่สาม
ภาพที่แสดงอัตราการเพิ่มประชากรต่อปีที่ผ่านมา ไม่ปรากฏเหมือนกับจะเป็นแบบยกกำลังในระยะยาว คือถ้าเป็นการเพิ่มแบบยกกำลัง เส้นกราฟควรจะตรงและมีค่าเสมอ แต่ว่า เส้นกราฟจริง ๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1800-2005 เริ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเริ่มที่ปี ค.ศ. 1920 ถึงจุดสูงสุดในกลางทศวรรษ 1960 แล้วค่อย ๆ ลดลงในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ส่วนความยึกยักช่วงปี ค.ศ. 1959-1960 เป็นผลจากนโยบายก้าวกระโดดครั้งใหญ่ (ของเหมา เจ๋อตง) และภัยพิบัติธรรมชาติในประเทศจีน[6] นอกจากนั้นแล้ว ยังสามารถเห็นผลของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ สงครามโลกทั้งสองครั้ง และโรคหวัดระบาดทั่วในปี ค.ศ. 1918
แม้ว่าแนวโน้มระยะสั้น ๆ แม้เป็นทศวรรษ ๆ หรือเป็นศตวรรษ ๆ จะไม่สามารถพิสูจน์หรือหักล้าง กลไกที่ทำให้เกิดมหันตภัยมาลธูเซียนในระยะที่ยาวกว่าได้ แต่ความสมบูรณ์พูนผลของประชากรมนุษย์ส่วนมาก ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 และข้อโต้แย้งต่อการพยากรณ์ความล้มเหลวในระบบนิเวศน์ (ของนักชีววิทยา ดร. Paul R. Ehrlich) ที่มีในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 และ 1970 มีผลให้นักวิชาการบางท่านรวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์บางพวก เริ่มตั้งประเด็นสงสัยถึงความหลีกเลี่ยงไม่ได้ของมหันตภัย[7]
งานศึกษาในปี ค.ศ. 2004 ของนักเศรษฐศาสตร์และนักนิเวศวิทยาที่มีชื่อเสียง รวมทั้ง ดร. เคนเนธ แอร์โรว์ และ ดร. Paul Ehrlich เอง[8] เสนอว่า ประเด็นหลักเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้เปลี่ยนจากอัตราการเพิ่มประชากร ไปเป็นอัตราส่วนการบริโภคต่อการออม เพราะว่าอัตราการเพิ่มประชากรได้ลดลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 การคาดหมายอาศัยผลการทดลองแสดงว่า นโยบายของรัฐ (เช่นภาษี หรือการให้สิทธิบริหารทรัพย์สินให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น) สามารถส่งเสริมการบริโภคและการลงทุนที่มีประสิทธิภาพกว่า ที่สามารถรักษาความยั่งยืนของระบบนิเวศน์ ซึ่งก็คือ เพราะว่า ปัจจุบันโลกมีอัตราการเพิ่มประชากรที่ต่ำโดยเปรียบเทียบ เราสามารถหลีกเลี่ยงมหันตภัยมาลธูเซียนได้ โดยการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค หรือเปลี่ยนนโยบายของรัฐ
แต่ว่า มีนักวิชาการบางพวกที่อ้างว่า มหันตภัยมาลธูเซียนจะไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาใกล้ ๆ นี้ งานศึกษาในปี ค.ศ. 2002[9] โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ พยากรณ์ว่า ผลผลิตอาหารทั่วโลกจะมากกว่าที่มนุษย์บริโภคภายในปี ค.ศ. 2030 แต่ว่า จะมีคนหลายร้อยล้านที่ก็จะยังหิวต่อไป (ซึ่งคาดได้ว่า เป็นเพราะเหตุทางเศรษฐกิจหรือทางการเมือง)
ข้อวิจารณ์
[แก้]นักเศรษฐศาสตร์ที่เขียนหนังสือ The Conditions of Agricultural Growth: The Economics of Agrarian Change under Population Pressure (ปัจจัยการเจริญของเกษตรกรรม - เศรษฐศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตร เพราะแรงกดดันจากจำนวนประชากร) กล่าวว่า จำนวนประชากรเป็นตัวกำหนดวิธีการทำเกษตร ไม่ใช่การเกษตรเป็นตัวกำหนดจำนวนประชากร (โดยอาหาร) หลักสำคัญในหนังสือของเธอก็คือว่า "สิ่งประดิษฐ์/ความคิดสร้างสรรค์ หลายอย่าง เป็นผลจากความจำเป็น" และก็ยังมีนักเศรษฐศาสตร์อื่น ๆ อีก ที่โต้แย้งกับทฤษฎีมหันตภัยนี้ โดยอ้างว่า 1. ในปัจจุบันมีคนที่มีความรู้ มีการศึกษา ที่สามารถแปรเหตุการณ์นี้ให้เกิดประโยชน์ได้ และ 2. มี "อิสรภาพทางเศรษฐกิจ" ซึ่งก็คือ สมรรถภาพในการเพิ่มผลผลิตในโลก ที่เนื่องมาจากผลกำไรที่พึงได้[10]
ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ทรงอิทธิพลอีกท่านหนึ่งอ้างว่า มาลธัสไม่ได้ให้หลักฐาน ที่แสดงแนวโน้มธรรมชาติของจำนวนประชากร ที่จะก้าวล้ำความสามารถในการผลิตหาอาหารเองได้ และกล่าวว่า แม้แต่ข้อความหลักของมาลธัสเอง ก็พิสูจน์ว่าทฤษฎีนี้ไม่จริง คือตัวอย่างที่มาลธัสให้แสดงว่า ควาทุกข์ยากของมนุษย์เกิดจากเหตุผลทางสังคม เช่น "ความไม่รู้ ความโลภ... รัฐบาลที่ไม่ดี กฎหมายที่ไม่ยุติธรรม หรือสงคราม" ไม่ใช่เหตุผลเกี่ยวกับการผลิตอาหารไม่เพียงพอ[11]
ส่วนฟรีดริช เองเงิลส์ นักสังคมวิทยาคู่หูของคาร์ล มาร์กซ์ ได้วิจารณ์ทฤษฎีนี้ในแนวที่มาลธัสไม่เห็นว่า ประชากรที่เพิ่มขึ้น สัมพันธ์กับทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น เงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น และทรัพย์สินเนื่องกับที่ดินที่เพิ่มขึ้น คือ ประชากรจะเจริญเติบโตขึ้นได้ ก็เฉพาะในที่ที่สมรรถภาพในการผลิตโดยทั่วไปมีมาก เองเงิลส์ยังกล่าวอีกด้วยว่า ความแตกต่างระหว่างจำนวนประชากรกับความสามารถในการผลิต ที่มาลธัสคำนวณนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้รวมเอาปัจจัยทางวิทยาศาสตร์ คือ "ความเจริญ (ทางวิทยาศาสตร์) นั้นไม่มีขอบเขต และเป็นไปอย่างรวดเร็วอย่างน้อย ๆ เท่ากับการเติบโตของประชากร"[12] แต่โดยนัยตรงกันข้าม นักมานุษยวิทยาท่านหนึ่งอ้างว่า การลงทุนในวิทยาศาสตร์ ให้ผลที่เล็กน้อยถอยลงเรื่อย ๆ[13] และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เริ่มยากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ "catastrophe", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑, "มหันตภัย"
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Thomas Robert Malthus (1826). "An Essay on the Principle of Population: A View of its Past and Present Effects on Human Happiness; with an Inquiry into Our Prospects Respecting the Future Removal or Mitigation of the Evils which It Occasions" (PDF) (Sixth ed.). London: John Murray. สืบค้นเมื่อ 2015-06-18.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ Fischer, R. A.; Byerlee, Eric; Edmeades, E. O. "Can Technology Deliver on the Yield Challenge to 2050" (PDF). Expert Meeting on How to Feed the World. Food and Agriculture Organization of the United Nations: 12.[ลิงก์เสีย]
- ↑ Hopkins, Simon (1966). A Systematic Foray into the Future. Barker Books. pp. 513–569.
- ↑ "2004 UN Population Projections" (PDF). 2004.
- ↑ "Historical Estimates of World Population, U.S. Bureau of the Census, 2006".
- ↑ 6.0 6.1 "International Data Base".
- ↑ Simon, Julian (April 1994). "More People, Greater Wealth, More Resources, Healthier Environment" (txt). Economic Affairs: J. Inst. Econ. Affairs. สืบค้นเมื่อ 2015-06-18.
- ↑ Arrow, K; Dasgupta, P; Goulder, L; และคณะ (2004). "Are We Consuming Too Much". Journal of Economic Perspectives. 18 (3): 147–172.
- ↑ "World agriculture 2030: Global food production will exceed population growth". 2002-08-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-25. สืบค้นเมื่อ 2015-06-09.
- ↑ Simon, Julian (1998-02-16). "The Ultimate Resource II: People, Materials, and Environment". สืบค้นเมื่อ 2015-06-17.
- ↑ George, Henry, "Chapter 7: Malthus vs. Facts", Progress and Poverty, สืบค้นเมื่อ 2015-06-17
- ↑ Engels, Frederick (1844). "Outlines of a Critique of Political Economy". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-16. สืบค้นเมื่อ 2015-06-17.
progress is as unlimited and at least as rapid as that of population
- ↑ Tainter, Joseph (2003). The Collapse of Complex Societies. Cambridge, UK: Cambridge University Press.
บรรณานุกรม
[แก้]- Korotayev A., Malkov A., Khaltourina D. Introduction to Social Macrodynamics: Compact Macromodels of the World System Growth. Moscow: URSS, 2006. ISBN 5-484-00414-4
- Korotayev A., Malkov A., Khaltourina D. Introduction to Social Macrodynamics: Secular Cycles and Millennial Trends. Moscow: URSS, 2006. ISBN 5-484-00559-0 See especially Chapter 2 of this book
- Korotayev A. & Khaltourina D. Introduction to Social Macrodynamics: Secular Cycles and Millennial Trends in Africa. Moscow: URSS, 2006. ISBN 5-484-00560-4
- Turchin, P. et al., eds. (2007). History & Mathematics: Historical Dynamics and Development of Complex Societies. Moscow: KomKniga. ISBN 5-484-01002-0
- A Trap At The Escape From The Trap? Demographic-Structural Factors of Political Instability in Modern Africa and West Asia. Cliodynamics 2/2 (2011): 1-28.