มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด
มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด St Edward's Crown | |
---|---|
มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด | |
ตราสัญลักษณ์ | |
รายละเอียด | |
สำหรับ | อังกฤษ (จนกระทั่งค.ศ. 1707) สหราชอาณาจักร (ค.ศ. 1707-ปัจจุบัน) |
ผลิตเมื่อ | ค.ศ. 1661 |
ผู้ครอบครอง | พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร |
น้ำหนักสุทธิ | 2.3 กิโลกรัม |
จำนวนโค้ง | 2 โค้ง |
วัตถุดิบหลัก | ทองคำ 22 กะรัต |
วัสดุซับใน | กำมะหยี่สีม่วงกรุขอบด้วยขนเออร์มิน |
องค์ก่อนหน้า | มงกุฎทิวดอร์ |
มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด (อังกฤษ: St. Edward's Crown) เป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักรและเป็นกกุธภัณฑ์ที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่ง โดยเรียกชื่อตามพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี โดยใช้เป็นมงกุฎราชาภิเษก (Coronation crown) อย่างเป็นทางการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา
มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดองค์ปัจจุบันสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1661 โดยมีลักษณะคล้ายกับมงกุฎองค์เดิมโดยต่างเพียงแค่ส่วนโค้งซึ่งทำแบบศิลปะบารอกแทน ซึ่งใช้สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ทำจากทองคำสูง 30 ซม. หนัก 2.23 กิโลกรัม ประดับด้วยอัญมณีและรัตนชาติกว่า 444 ชิ้น โดยสร้างขึ้นแทนมงกุฎองค์เดิมที่ถูกทำลายในสมัยของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ระหว่างสงครามกลางเมือง และเชื่อกันว่าเป็นมงกุฎที่สร้างเลียนแบบมงกุฎของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขีที่มีองค์ประกอบบางส่วนมาจากมงกุฎของสมเด็จพระเจ้าอัลเฟรดมหาราช[1]
ภายหลังจากปีค.ศ. 1689 มงกุฎองค์นี้ไม่ได้ถูกใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเลยกว่า 200 ปี โดยในปีค.ศ. 1911 พระเจ้าจอร์จที่ 5 ได้รื้อฟื้นการใช้มงกุฎองค์นี้ในพระราชพิธีนี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และถือปฏิบัติต่อเนื่องเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน (ยกเว้นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8) โดยมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดได้นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ประกอบตราอาร์ม และตราสัญลักษณ์ต่างๆ ในประเทศในราชอาณาจักรเครือจักรภพเพื่อแสดงถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดปัจจุบันถูกเก็บรักษาอยู่ที่หอคอยแห่งลอนดอนร่วมกับมงกุฎอิมพีเรียลสเตตและเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ
มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดองค์เดิม
[แก้]มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดองค์เดิมทรงสวมโดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเมื่อวันคริสต์มัส ค.ศ. 1065 และว่ากันว่าเป็นมงกุฎที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ในวันคริสตมาสปีต่อมา ค.ศ. 1066 เพื่อเป็นการแสดงว่าทรงสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมิใช่ด้วยการพิชิตอังกฤษของพระองค์ และใช้กันต่อมาในบรรดาพระมหากษัตริย์นอร์มันจนถึงรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 3 ผู้ทรงได้รับการสวมมงกุฎครั้งแรกโดยบาทหลวงแห่งวินเชสเตอร์ที่กลอสเตอร์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1216[2]
มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดองค์ปัจจุบัน
[แก้]สร้างขึ้นสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ว่ากันว่าบางส่วนสร้างจากทองจากมงกุฎเดิมที่ถูกทำลายโดยครอมเวลล์ และมีไข่มุกที่เป็นของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 มงกุฎที่ถูกทำลายอาจจะเป็นมงกุฎที่สร้างเลียนแบบมงกุฎของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพที่ไม่ใช่มงกุฎเดิมที่หายไปในสมัยของสมเด็จพระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษในปี ค.ศ. 1216[3] แต่แสตนลีย์อ้างว่าเครื่องราชกกุธภัณฑ์มีอยู่จน ค.ศ. 1642 และเก็บไว้ที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์จนกระทั่งถึงรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8.[4]
ตัวมงกุฎบนฐานประกอบด้วยกางเขนแพตตี สี่กางเขนที่ฐานสลับกับสัญลักษณ์ดอกลิลลีจำนวนสี่ดอก เหนือจากฐานขึ้นไปเป็นโค้งสองโค้งที่มีกางเขนอยู่ข้างบน ตรงกลางมงกุฎเป็นหมวกกำมะหยี่ที่มีขอบเป็นขนเออร์มิน เดิมประดับด้วยอัญมณีที่เช่ามาเฉพาะเมื่อมีการราชาภิเษก โดยเมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีก็ถอดคืนเหลือแต่โครงมงกุฎเปล่าๆ และแต่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1911 เป็นต้นมาก็ได้มีการฝังอัญมณีอย่างถาวร ประกอบด้วยอัญมณี 444 ชิ้น ประกอบด้วยอะความารีนทรงกุหลาบ 345 เม็ด โทปาซสีขาว 37 เม็ด ทัวร์มาลีน 27 เม็ด ทับทิม 12 เม็ด แอเมทิสต์ 7 เม็ด ไพลิน 6 เม็ด เพทาย 2 เม็ด โกเมน 1 เม็ด ทับทิมสปิเนล 1 เม็ด และคาร์บันเคิล 1 เม็ด ไข่มุกเทียมบริเวณส่วนโค้งด้านบนและบริเวณฐานของมงกุฎได้ถูกเปลี่ยนเป็นทอง ซึ่งในสมัยนั้นใช้วัสดุเป็นทองคำเคลือบแพลตตินัม[5] โดยได้ถูกสร้างให้มีขนาดเล็กลงเพื่อให้เข้ากับพระเจ้าจอร์จที่ 5 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดเป็นพระองค์แรกในรอบ 200 ปี
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
[แก้]มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดใช้ทรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรจำนวนเจ็ดพระองค์ ได้แก่ พระเจ้าชาลส์ที่ 2 (ค.ศ. 1661), พระเจ้าเจมส์ที่ 2 (ค.ศ. 1685), พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษ (ค.ศ. 1689), พระเจ้าจอร์จที่ 5 (ค.ศ.1911), พระเจ้าจอร์จที่ 6 (ค.ศ.1937), สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (ค.ศ. 1953) และ สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 (ค.ศ. 2023)
สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 และสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ ได้เลือกทรงมงกุฎเพชรของพระองค์เอง พระเจ้าจอร์จที่ 1 พระเจ้าจอร์จที่ 2 พระเจ้าจอร์จที่ 3 และพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 ได้เลือกทรงมงกุฎพระเจ้าจอร์จที่ 1 ส่วนพระเจ้าจอร์จที่ 4 ทรงมงกุฎราชาภิเษกองค์ใหญ่ที่จัดสร้างขึ้นใหม่สำหรับพระองค์เอง
สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ทรงเลือกทรงมงกุฎอิมพีเรียลสเตท ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแทนมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดเนื่องจากน้ำหนักซึ่งหนักถึงสองกิโลกรัมกว่าๆ (2,155 กรัม)
ในกรณีที่ไม่ได้ใช้มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดทรงในระหว่างพระราชพิธี มงกุฎจะถูกเชิญไว้บนแท่นบูชาในระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่ไม่พบการปฏิบัติเช่นนี้ในคราของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย[6]
ก่อนหน้าค.ศ. 1649 ในพระราชพิธีบรมราชภิเษก พระมหากษัตริย์จะทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดองค์เดิม และจะเปลี่ยนไปทรงมงกุฎองค์อื่นๆ ในระหว่างพระราชพิธี
หลังจากปี ค.ศ. 1689 มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดมิได้ถูกใช้ในการราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรนานกว่าสองร้อยปี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1911 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงเลือกมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดในพระราชพิธีราชาภิเษก นับตั้งแต่นั้นมุงกุฏก็ได้ถูกใช้มาตลอดจนถึงรัชสมัยปัจจุบัน
ตราสัญลักษณ์
[แก้]มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดใช้เป็นสัญลักษณ์ปรากฏในตราสัญลักษณ์ ตราอาร์ม และตราอื่นๆ ใช้สำหรับราชอาณาจักรเครือจักรภพ (Commonwealth Realms) โดยแสดงออกซึ่งพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 โดยมีพระบรมราชโองการ[7]ใช้ตรามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดแทนตรามงกุฎทิวดอร์ (ซึ่งใช้ตั้งแต่ค.ศ. 1902) นับตั้งแต่ปีที่ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นต้นมา อนึ่งการใช้ตราสัญลักษณ์มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตเท่านั้น[8][9]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ King-Hall 1936-37.
- ↑ Arthur Penrhyn Stanley, Historical Memorials of Westminster Abbey (London, John Murray 1876 (4th Edn)), 42-54.
- ↑ This theory is referred to by Stanley 1876, p. 54, citing vol. I of a work by Reinhold Pauli, (presumably his continuation of J. M. Lappenberg's Geschichte von England, 1154-1509 (Henry II to Henry VII), (Gotha 1853-1858)), p. 489.
- ↑ Stanley 1876, pp. 45, and 458-459.
- ↑ Tessa Rose (1992). The Coronation Ceremony and the Crown Jewels. HM Stationery Office. p. 29. ISBN 978-0-117-01361-2.
- ↑ Kenneth J. Mears; Simon Thurley; Claire Murphy (1994). The Crown Jewels. Historic Royal Palaces Agency. p. 23. ASIN B000HHY1ZQ.
- ↑ "Victorian Coat of Arms". Victoria State Government. สืบค้นเมื่อ 15 December 2015.
- ↑ "Royal Crown and Cypher". Government of Canada. Canadian Heritage. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-20. สืบค้นเมื่อ 3 December 2016.
- ↑ "Symbols of Canada" (PDF). Department of Canadian Heritage. 2010. p. 2. สืบค้นเมื่อ 3 December 2016.
- Stephen King-Hall, The Crowning of the King and Queen (London: Evans Brothers (Russell Square), 1936-1937), Plate 1 and caption, facing p. 4.