ข้ามไปเนื้อหา

พระเสาร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเสาร์
เทวนาครี: शनि
พระเสาร์ ในคติอินเดีย ทรงหอก,ธนู,ศร ทรงกาเป็นพาหนะ
ตำแหน่งเทพแห่งดาวเสาร์ ความโชคร้าย เคราะห์กรรม ความยุติธรรม กสิกรรม อารยธรรม ความเฉื่อยชา ผู้มอบผลกรรมแก่ผู้ที่ยังมีชีวิต
จำพวกเทวดานพเคราะห์
อาวุธหอก,ตรีศูล,คทา,ไม้เท้า,ดาบ,โล่,ขวาน,ธนู,ศร ฯลฯ
สัตว์พาหนะกา,แร้ง,โค,กระบือ,เสือ,ราชรถเทียมกา,ราชรถแร้ง ๗ ตัว
บิดาพระอาทิตย์
มารดาพระนางฉายา
คู่ครองเจ้าแม่นิลเทพี
เจ้าแม่มณฑาเทพี
บุตรพระคุลิกัน,พระกุลิคนะ,วิมลวานร (วานรสิบแปดมงกุฎในรามเกียติ์)
ดาวพระเคราะห์ศนิโลก (ดาวเสาร์)

พระเสาร์ คติอินเดียเรียกว่า พระศนิ (เทวนาครี: शनि ศนิ) เป็นเทวดานพเคราะห์องค์หนึ่ง ในคติไทย พระเสาร์ถูกสร้างขึ้นมาจากพระศิวะทรงนำพยัคฆ์ (เสือ) ๑๐ ตัว บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีดำ ประพรมด้วยน้ำอมฤต แล้วเสกได้เป็นพระเสาร์มีพระวรกายสีดำคล้ำ ทรงเครื่องประดับด้วยแก้วไพลินและแก้วนิลรัตน์ ทรงพยัคฆ์เป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ (ทิศหรดี) และแสดงถึงอักษรวรรค ตะ (ด ต ถ ท ธ น) เรียกว่า นาคนาม ในไตรภูมิพระร่วง พระเสาร์มีวิมานลอยอยู่รอบเขาพระสุเมรุด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ วิมานใหญ่ ๑๘ โยชน์ รัศมีขาวริมเขียวดั่งดอกอัญชัน

ในคติฮินดู พระเสาร์ มีนามว่า พระศนิ เป็นบุตรของพระสูรยะ (พระอาทิตย์) กับพระนางฉายา ซึ่งเกิดจากเงาของพระนางศรัณยา เนื่องจากนางศรัณยาไม่อาจทนทานต่อแสงสุริยะได้ จึงได้สร้างนางฉายาขึ้นมา ให้นางฉายาอยู่กินกับพระสูรยะ จนให้กำเนิดบุตร เมื่อแรกเกิดพระศนิมีกายสีดำคล้ำ พระสูรยะไม่พอพระทัยและต่อว่านางฉายา พระศนิจึงใช้นัยน์ตาจ้องมองไปที่พระสูรยะ ทำให้ดวงอาทิตย์ดับมืดลง ประดุจเกิดสุริยุปราคา เมื่อพระสูรยะขออภัยต่อนางฉายา ดวงอาทิตย์จึงกลับมาสว่างดังเดิม พระสูรยะทรงเห็นดังนี้จึงไม่พอพระทัยอย่างมาก และรังเกียจบุตรผู้นี้ วันหนึ่งพระศนิเกิดเรื่องวิวาทกับพระยม นางฉายาได้เข้ามาห้าม พระยมไม่พอใจจึงเตะนางฉายาด้วยเท้า นางจึงสาปให้พระยมขาพิการ มีแผลเน่าและมีหนอนเจาะแทะแผล พระยมจึงนำเรื่องไปฟ้องพระสูรยะ พระสูรยะจึงรู้ว่านางฉายาไม่ใช่นางศรัณยา พระสูรยะได้เสกไก่แจ้มารักษาหนอนและรักษาแผลให้ และได้ไปไต่ถามความจริงจากนางฉายา และตามหานางศรัณยาจนเจอ และพานางกลับมาที่สูรยโลก เมื่อนางศรัณยากลับมานางฉายาจึงกลับไปรวมร่างกับนางศรัณยา พระศนิเศร้าโศกและโกรธเป็นอย่างมาก ความร้าวฉานมีมากขึ้น วันหนึ่ง พระเสาร์ได้วิวาทกับพระยมอีกครั้ง นางศรัณยาได้เข้ามาห้าม และสาปให้พระศนิต้องไปกำเนิดบนโลกและต้องถูกพี่น้องของตนสังหาร ซึ่งพระศนิก็ได้มาถือกำเนิดเป็นกรรณะ และถูกอรชุนผู้เป็นน้องชาย สังหารในวันที่ ๑๗ ของสงครามทุ่งกุรุเกษตร พระศนิไม่ต้องการอยู่ในสูรยโลกอีกต่อไป และเริ่มบำเพ็ญตบะต่อองค์พระศิวะ จนพระองค์พอพระทัย และตั้งพระศนิเป็นหนึ่งในเทวดานพเคราะห์ ให้เป็นเทพประจำดาวเสาร์ เป็นเทพแห่งความยุติธรรมในโลก เป็นผู้มอบผลกรรมให้แก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ต่อมาพระศนิได้วิวาห์กับนางธามิณี บุตรีของท้าวจิตรเสน ราชาแห่งเหล่าคนธรรพ์ แต่พระศนิมิได้ให้ความสนใจในตัวนางมากนัก ในวันหนึ่งพระศนิกำลังสวดบูชาพระวิษณุ นางธามิณีผู้เป็นชายาจะเรียกเท่าไรก็ไม่ยอมลืมตา นางจึงสาปให้พระศนิมีดวงตาที่เป็นภัย หากมองสิ่งใดนอกจากนางแล้วสิ่งนั้นจะต้องวินาศ ทำให้พระศนิไม่ยอมสบตาผู้ใด พระวิษณุทรงพอพระทัย ในความมุ่งมั่นในศรัทธาของพระศนิ จึงให้วันเสาร์เป็นวันที่ใช้ในการบูชาพระวิษณุ หากผู้ใดบูชาพระวิษณุด้วยการให้ทานและถือศีลอด เป็นเวลา ๗ วันเสาร์ ผู้นั้นจะรอดพ้นจากบาปเคราะห์ของพระศนิ นอกจากนี้พระศนิยังเคยจ้องมองพระพิฆเนศ ทำให้พระพิฆเนศถูกพระศิวะตัดเศียร พระปารวตีทรงพิโรธและสาปพระศนิให้ขาพิการ แต่ต่อมาทรงอภัยและถอนคำสาปให้

พระเสาร์ทรงราชรถเทียมกา

ลักษณะของพระเสาร์ ในคติไทย เป็นเทพบุรุษมีกายสีดำ มี ๒ กร ทรงศรและตรีเป็นอาวุธ สวมกระบังหน้า ไว้จุกรัดเกล้า มีปิ่นปักผม สวมอาภรณ์สีม่วง ทรงเครื่องประดับด้วยแก้วไพลินและแก้วนิลรัตน์ ทรงเสือเป็นพาหนะ ในคติฮินดู เป็นเทพบุรุษมีกายสีนีล รูปร่างผอมสูง มีเสน่ห์น่าเกรงขาม นัยน์ตาสีน้ำผึ้ง มีแววตาดุดัน ผมยาว ขาพิการ เคลื่อนไหวช้า น้ำเงินเข้มออกม่วง มี ๔ กร ทรงคทา ตรีศูล ไม้เท้า ธนู ศร ฯลฯ สวมมงกุฎทองคำ รัศมีสีดำมี ๗ แฉก สวมอาภรณ์สีดำ สีม่วง สีน้ำเงิน ทรงเครื่องประดับด้วยแก้วไพลินและแก้วนิลรัตน์ ทรงกาเป็นพาหนะ พระเสาร์ ยังมีนามอื่นๆอีก อาทิ เช่น พระศนิ,พระศไนศจร,พระอาระ,พระโกณะ,พระโกรทะ,พระนีลวรรณ,พระกรรมผลทาตา,พระทัณฑนายก,พระวักรทฤษฏิ,พระกรูระโลจนะ,พระมันทะ,พระฉายาบุตร,พระนีลานชนะ ฯลฯ

พระเสาร์เป็นเทวดานพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ และเป็นบาปเคราะห์ที่รุนแรงที่สุดในบรรดานพเคราะห์ ให้ผลในทางรุนแรง นั่นคือ ผู้ใดเกิดวันเสาร์หรือมีพระเสาร์สถิตร่วมกับลัคนา มักมีกิริยาดุดัน แข็งแรง มีทิฐิมานะ กล้าได้กล้าเสีย รักสันโดษ ใจนักเลง โกรธง่าย บุคลิกเคร่งขรึม แต่อดทน ตามนิทานชาติเวร พระเสาร์เป็นมิตรกับพระราหูและเป็นศัตรูกับพระศุกร์ ที่พระเสาร์เป็นมิตรกับพระราหู เรื่องมีอยู่ว่า ในอดีตพระเสาร์เกิดเป็นพ่อค้า พระราหูเกิดเป็นคฤหบดี พระจันทร์เกิดเป็นคนจนผู้ยากไร้ พระพุธเกิดเป็นสุนัขในบ้านคฤหบดี คนจนได้ไปยืมเงินของคฤหบดี แต่ไม่มีเงินใช้หนี้จึงต้องหนีไป วันหนึ่งพ่อค้าผู้เป็นเพื่อนของคฤหบดี ได้มาพบคนจนเข้าจึงนำเรื่องไปแจ้งกับคฤหบดี สุนัขที่เฝ้าบ้านได้ฟังแล้วเกิดสงสารคนจนจึงเข้าขบกัดคฤหบดีจนไม่สามารถไปตามจับคนจนได้ ตั้งแต่นั้น พระเสาร์จึงเป็นมิตรกับพระราหู ส่วนพระราหูเป็นศัตรูกับพระพุธ และพระพุธเป็นมิตรกับพระจันทร์ ส่วนเรื่องพระเสาร์เป็นศัตรูกับพระศุกร์นั้น ครั้งหนึ่งพระเสาร์เกิดเป็นงู พระอังคารเกิดเป็นกบ พระศุกร์เกิดเป็นรุกขเทวดา งูได้ไล่จับกบกินเป็นอาหาร กบได้หนีมาหลบใต้ต้นไม้ รุกขเทวดารู้สึกสงสารกบ จึงสำแดงฤทธิ์ไล่งูไป ตั้งแต่นั้น พระเสาร์จึงเป็นศัตรูกับพระศุกร์ ส่วนพระอังคารเป็นมิตรกับพระศุกร์ จากตำนานนี้ผู้ใดที่เกิดวันเสาร์แล้วพระราหูโคจรเข้าสู่ดวงชะตา จะมีมิตรสหายเกื้อหนุน ได้ลาภยศทรัพย์สินเงินทอง ได้ยศศักดิ์แลเชื่อเสียง หากพระศุกร์โคจรเข้าสู่ดวงชะตา จะถูกข่มเหงใส่ร้าย

ในโหราศาสตร์ไทย พระเสาร์ถูกแทนด้วยสัญลักษณ์ ๗ (เลขเจ็ดไทย) และด้วยเหตุที่สร้างขึ้นมาจากพยัคฆ์ ๑๐ ตัว จึงมีกำลังพระเคราะห์เป็น ๑๐ สำหรับพระประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันเสาร์ก็คือปางนาคปรก

เมื่อเทียบกับความเชื่อทางตะวันตก พระเสาร์อาจเทียบได้กับโครนอสตามเทพปกรณัมกรีก และแซทเทิร์นตามเทพปกรณัมโรมัน

อ้างอิง

[แก้]
  • อุระคินทร์ วิริยะบูรณะ และคณะ.พรหมชาติ ฉบับหลวง. กรุงเทพฯ:สำนักงาน ลูก ส.ธรรมภักดี, ม.ป.ป.
  • เทพย์ สาริกบุตร และคณะ.พรหมชาติ ฉบับราษฎร์. กรุงเทพฯ:สำนักงาน ลูก ส.ธรรมภักดี, ม.ป.ป.
  • เราคนไทยใจกตัญญูรู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์พระเสาร์คือ www.คนไทย.com