พระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮัน แห่งสวีเดน
พระเจ้าคาร์ลที่ 14 และที่ 3 โยฮัน | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระเจ้าคาร์ลที่ 14 | |||||
พระมหากษัตริย์แห่งสวีเดนและนอร์เวย์ | |||||
ครองราชย์ | 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1818 – 8 มีนาคม ค.ศ. 1844 | ||||
ราชาภิเษก | 11 พฤษภาคม 1818 (สวีเดน) 7 กันยายน 1818 (นอร์เวย์) | ||||
ก่อนหน้า | คาร์ลที่ 13 และ 2 | ||||
ถัดไป | ออสการ์ที่ 1 | ||||
พระราชสมภพ | 26 มกราคม ค.ศ. 1763 โป ประเทศฝรั่งเศส ณ็อง-ปาติสต์ แบร์นาด็อต | ||||
สวรรคต | 8 มีนาคม ค.ศ. 1844 สตอกโฮล์ม สวีเดนและนอร์เวย์ | (81 ปี)||||
ฝังพระศพ | 26 เมษายน ค.ศ. 1844 โบสถ์ริดดาร์โฮล์ม, สต็อกโฮล์ม, สวีเดนและนอร์เวย์ | ||||
คู่อภิเษก | เดซีเร คลารี (สมรส 1798) | ||||
พระราชบุตร | ออสการ์ที่ 1 | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | แบร์นาด็อต | ||||
พระบิดา | อ็องรี แบร์นาด็อต | ||||
พระมารดา | แฌน เดอ แซ็ง-ฌ็อง | ||||
ศาสนา | ลูเทอแรน ก่อนหน้า. โรมันคาทอลิก | ||||
ลายพระอภิไธย |
พระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮันแห่งสวีเดน (สวีเดน: Karl XIV Johan) หรือ พระเจ้าคาร์ลที่ 3 โยฮันแห่งนอร์เวย์ (นอร์เวย์: Karl III Johan) หรือนามเดิมคือ ฌ็อง-บาติสต์ แบร์นาด็อต (ฝรั่งเศส: Jean-Baptiste Bernadotte) เป็นนายพลในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ต่อมาได้เป็นจอมพลแห่งจักรวรรดิฝรั่งเศสภายใต้จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 และต่อมาได้สละสัญชาติฝรั่งเศสเพื่อขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารสวีเดนผ่านการรับโอรสบุญธรรม เมื่อพระองค์ถูกนโปเลียนผู้เป็นนายเก่าแทงข้างหลัง ก็ทรงนำสวีเดนเข้าเป็นพันธมิตรกับฝ่ายต่อต้านนโปเลียน เมื่อปราบนโปเลียนได้แล้วก็ทรงได้ยึดนอร์เวย์มาจากเดนมาร์ก และได้ขึ้นสืบราชสมบัติเป็นกษัตริย์แห่งสวีเดนและนอร์เวย์ ถือเป็นองค์ปฐมวงศ์ของราชวงศ์แบร์นาด็อต ราชวงศ์ที่ปกครองสวีเดนในปัจจุบัน
พระประวัติ
[แก้]ฌ็อง-บาติสต์ แบร์นาด็อต เกิดในครอบครัวสามัญชนที่เมืองโป (Pau) ทางภาคใต้ของประเทศฝรั่งเศส เป็นบุตรชายคนที่สองของนายฌ็อง อ็องรี แบร์นาด็อต (Jean Henri Bernadotte) อัยการเมือง กับนางแฌน เดอ แซ็ง-ฌ็อง (Jeanne de Saint-Jean) ในวัยเด็กเขาฝันจะเป็นอัยการตามรอยบิดา ขณะอายุ 14 เขาได้เป็นอัยการท้องถิ่นฝึกหัด แต่การเสียชีวิตของบิดาเมื่อเขาอายุ 17 ปีได้หยุดความฝันทั้งหมดลง[1]
ราชการทหารฝรั่งเศส
[แก้]เขาเข้ารับราชการในกองทัพหลวงฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1780[2] ต่อมาเมื่อการปฏิวัติฝรั่งเศสปะทุขึ้น เขามีโอกาสแสดงฝีมีด้านการทหารที่ยอดเยี่ยม และได้เลื่อนยศอย่างรวดเร็วจนขึ้นเป็นพลจัตวาในปี 1794[1][1] เขาประจำการในอิตาลีและเยอรมนี และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีการสงครามช่วงสั้นๆ เขาเป็นผู้มีความใกล้ชิดนโปเลียนอย่างมาก แม้เขาจะมีส่วนช่วยนโปเลียนในการทำรัฐประหาร 18 บรูว์แมร์ในปี 1799 แต่เขากลับปฏิเสธตำแหน่งในคณะกงสุล[3] โดยยังคงทำหน้าที่ฝ่ายทหารต่อไป จนกระทั่งเมื่อนโปเลียนปราบดาตนขึ้นเป็นจักรพรรดิฝรั่งเศสในปี 1804 นโปเลียนได้ประกาศตั้งเขาเป็นจอมพลแห่งจักรวรรดิฝรั่งเศส จอมพลแบร์นาด็อตเป็นบุคคลสำคัญที่คว้าชัยชนะให้แก่ฝรั่งเศสในยุทธการที่เอาสเทอร์ลิทซ์ และได้รับอวยยศเป็นเจ้าชายแห่งปงเตคอร์โวเป็นบำเหน็จความชอบ[4][3]
มกุฎราชกุมารและผู้สำเร็จราชการสวีเดน
[แก้]ในปี 1810 จอมพลแบร์นาด็อตกำลังจะเดินทางไปรับตำแหน่งข้าหลวงประจำกรุงโรม แต่แล้วก็ได้รับเลือกอย่างไม่คาดคิดให้เป็นโอรสบุญธรรมของพระเจ้าคาร์ลที่ 13 แห่งสวีเดน ผู้ไร้พระบุตร เขาจึงสละสัญชาติฝรั่งเศสเพื่อขึ้นเป็นทายาทโดยสันนิษฐานแห่งราชบัลลังก์สวีเดน การแต่งตั้งแบร์นาด็อตเป็นมกุฎราชกุมารนี้หมายความว่าสายเลือดของราชวงศ์ฮ็อลชไตน์-ก็อททรอพ (Holstein-Gottorp) แห่งสวีเดนจะสิ้นสุดลงที่พระเจ้าคาร์ลที่ 13 วัย 61 ปีซึ่งมีพระพลามัยย่ำแย่ ก่อนนี้เจ้าชายคาร์ลและพระชายาเคยให้กำเนิดพระโอรสสองพระองค์แต่ล้วนสิ้นพระชนม์ขณะเป็นทารก ด้วยไม่เห็นโอกาสให้กำเนิดพระบุตรอีก หลังขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ทั้งคู่จึงรับเจ้าชายเดนมาร์กองค์หนึ่งไว้เป็นโอรสบุญธรรม แต่เจ้าชายก็สิ้นพระชนม์ไปอีกเพียงไม่กี่เดือนหลังเดินทางถึงสวีเดน[5]
ราชสำนักสวีเดนจึงทำจดหมายถามจักรพรรดินโปเลียนว่ามีผู้ใดเหมาะสมบ้าง ในตอนแรกนโปเลียนตั้งใจเสนอชื่อเออแฌน เดอ โบอาร์แน ลูกติดภรรยาคนแรก อย่างไรก็ตาม เออแฌนซึ่งมีตำแหน่งเป็นอุปราชแห่งอิตาลีไม่ต้องการหันมานับถือนิกายลูเทอแรน ญาติพี่น้องคนอื่นๆของนโปเลียนก็ไม่มีใครอยากไปสวีเดนเช่นกัน องคมนตรีคาร์ล อ็อทโท เมอร์เนอร์ (Karl Otto Mörner) บุตรชายของบารอนกุสตาฟ เมอร์เนอร์ (Gustav Mörner) แม่ทัพสวีเดนที่ถูกจอมพลแบร์นาด็อตกุมตัวที่นครลือเบ็ค ได้ยื่นข้อเสนอนี้ให้แก่จอมพลแบร์นาด็อต แบร์นาด็อตนำข้อเสนอนี้ไปถามนโปเลียน ในตอนแรกนโปเลียนคิดว่าเป็นเรื่องตลก แต่แล้วก็ตัดสินใจสนับสนุนแบร์นาด็อตให้เป็นรัชทายาทสวีเดน[6]
แบร์นาด็อตสละสัญชาติฝรั่งเศส และเลือกใช้พระนาม คาร์ล โยฮัน[4] และเปลี่ยนจากนับถือนิกายโรมันคาทอลิกมาเป็นลูเทอแรน กฎหมายสวีเดนบัญญัติว่าสถาบันกษัตริย์จะต้องนับถือลูเทอแรนเท่านั้น[7] พระองค์กลายเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินสวีเดน มกุฎราชกุมารองค์ใหม่เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่ราษฎรและเป็นบุคคลทรงอำนาจที่สุดในประเทศอย่างรวดเร็ว พระองค์สร้างความประทับใจแก่พระราชบิดาบุญธรรมเป็นอย่างมาก อาการประชวรของกษัตริย์และความไม่ลงรอยกันในคณะองคมนตรีทำให้อำนาจแทบทั้งหมดในรัฐบาลตกอยู่ในมือพระองค์ ประชาชนสวีเดนส่วนใหญ่ต้องการให้องค์มกุฎราชกุมารยึดฟินแลนด์คืนมาจากรัสเซีย แต่ทรงมองว่าชาวฟินแลนด์ไม่อยากกลับคืนสู่สวีเดน ต่อให้สวีเดนได้ฟินแลนด์คืนมาก็จะสร้างวัฎจักรความขัดแย้งใหม่กับมหาอำนาจเพื่อนบ้านและการต้านทานรัสเซียก็เป็นเรื่องลำบาก[8] พระองค์จึงหมายตาคาบสมุทรสแกนดิเนเวียแทนซึ่งสามารถป้องกันได้ง่ายกว่า โดยหวังจะยึดนอร์เวย์มาจากประเทศเดนมาร์กและผนวกรวมเข้ากับประเทศสวีเดน
สงครามนโปเลียน
[แก้]ในปี 1810 นั้นเอง จักรพรรดินโปเลียนกดดันพระองค์ให้เข้าร่วมกับฝรั่งเศสและประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ หาไม่แล้ว สวีเดนจะต้องรับมือกับพันธมิตรฝรั่งเศส-เดนมาร์ก-รัสเซีย พระองค์จำใจต้องทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยทรงประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่ อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมสงครามในครั้งนี้เป็นสร้างความเสียหายคิดเป็นตัวเงินต่อระบบเศรษฐกิจของบริเตนใหญ่และสวีเดนอย่างมหาศาล มูลค่านำเข้าสินค้าจากบริเตนลดลงเกือบร้อยละเก้าสิบในเวลาเพียงหนึ่งปี[9][10] อย่างไรก็ตาม แม้สวีเดนจะเข้าร่วมกับฝรั่งเศสแล้วแต่นโปเลียนกลับไม่ไว้ใจสวีเดนภายใต้อดีตลูกน้องเก่า ต้นปี 1812 ก่อนที่นโปเลียนจะยกทัพไปกรุงมอสโก นโปเลียนสั่งการให้กองทหารฝรั่งเศสเข้ายึดดินแดนพอเมอเรเนียและเกาะรือเกินของสวีเดน[11] และส่งสารว่า "เป็นของขวัญวันประสูติองค์มกุฎราชกุมารแห่งสวีเดน"[12]
การกระทำครั้งนี้ของนโปเลียนเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นเหตุแห่งสงครามอย่างชัดแจ้ง มันได้ทำลายมิตรภาพเก่าแก่ระหว่างทั้งคู่ลงอย่างไม่มีชิ้นดี ชาวสวีเดนต่างพากันโกรธแค้นฝรั่งเศส แม้กระทั่งกลุ่มนิยมฝรั่งเศสในราชสำนักสวีเดนก็ต่างหันมาต้านฝรั่งเศส[13] ด้วยเหตุฉะนี้ มกุฎราชกุมารคาร์ลโยฮันจึงประกาศสถานะเป็นกลางและเปิดเจรจากับบริเตนใหญ่และรัสเซีย[14] ต่อมาในปี 1813 สวีเดนก็ประกาศเป็นพันธมิตรกับบริเตนใหญ่-รัสเซีย-ปรัสเซียในสงครามสหสัมพันธมิตรครั้งที่หก พระองค์เป็นแม่ทัพฝ่ายเหนือและสามารถป้องกันกรุงเบอร์ลินและได้รับชัยชนะเหนือกองพลของจอมพลอูดีโนในเดือนสิงหาคม และได้ชัยชนะเหนือกองพลของจอมพลแนในเดือนกันยายน จนสามารถโค่นล้มนโปเลียนได้สำเร็จ กองทัพของพระองค์ข้ามแม่น้ำเอ็ลเบอในวันที่ 19 ตุลาคม และเข้าสมทบกับพันธมิตรอื่นในยุทธการที่ไลพ์ซิช และสามารถมีชัยเหนือกองทัพผสมฝรั่งเศส-โปแลนด์-อิตาลี และโค่นล้มนโปเลียนได้สำเร็จ
การผนวกนอร์เวย์
[แก้]ไม่ถึงสองเดือนหลังโค่นนโปเลียนลงได้ พระองค์นำทัพเข้าต่อสู้กับกองทหารเดนมาร์กเกิดเป็นยุทธการที่บอร์นเฮอเวิดและได้รับชัยชนะ ผลลัพธ์เกิดเป็นสนธิสัญญาคีลซึ่งเดนมาร์กตกลงมอบอำนาจเหนือนอร์เวย์แก่สวีเดน อย่างไรก็ตาม ชาวพื้นเมืองนอร์เวย์กลับไม่ยอมรับการปกครองของประเทศสวีเดน พวกเขาประกาศเอกราชพร้อมประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับเสรี และประกาศเลือกมกุฎราชกุมารคริสเตียนแห่งเดนมาร์กเป็นกษัตริย์นอร์เวย์ และเกิดเป็นสงครามชิงราชบัลลังก์นอร์เวย์ในกลางปี 1814 พระอัจฉริยภาพด้านการทหารของมกุฎราชกุมารคาร์ลโยฮันทำให้ประเทศสวีเดนได้รับชัยชนะ ซึ่งสงครามครั้งนี้เป็นสงครามสุดท้ายของประเทศสวีเดนจวบจนถึงปัจจุบัน[15] แม้ชัยชนะจะทำให้พระองค์สามารถทำการบังคับใดๆต่อนอร์เวย์ได้ แต่พระองค์กลับยอมรับรัฐธรรมนูญใหม่และอำนาจปกครองตนเองของนอร์เวย์ ซึ่งทำให้นอร์เวย์ตัดสินใจเข้าเป็นสหภาพกับสวีเดนในปลายปีนั้น[4]
สวรรคต
[แก้]วันคล้ายวันประสูติครบรอบ 81 ปีในวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1844[4] พระองค์มีอาการโรคหลอดเลือดสมองและทรงหมดสติอยู่ในห้อง แม้ต่อมาจะทรงฟื้นองค์แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น พระองค์สวรรคตยามบ่ายของวันที่ 8 มีนาคม[16] ขณะทรงครองสิริราชสมบัติ 26 ปี 32 วันทรงตรัสบนเตียงก่อนสวรรคตว่า:
ไม่มีใครชีวิตนี้ได้ทำงานแบบฉันอีกแล้ว ฉันตกลงผูกมิตรกับนโปเลียนก็จริง แต่เมื่อเขาโจมตีประเทศที่มีชะตากรรมอยู่ในมือฉัน ฉันก็มิอาจทำอย่างอื่นนอกจากต้องต่อต้าน ทั้งเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนยุโรป และเหตุการณ์ที่นำพาเสรีภาพคืนมาสู่ยุโรป เห็นชัดว่าฉันมีส่วนร่วมทั้งสิ้น [17]
พิธีฝังพระศพจัดขึ้นที่โบสถ์ริดดาร์ฮ็อล์มในกรุงสตอกโฮล์ม พระโอรสองค์เดียวได้ขึ้นสืบราชสมบัติต่อเป็นพระเจ้าออสการ์ที่ 1
พระเกียรติยศ
[แก้]ฐานันดรศักดิ์
[แก้]- 1763 — 1794: นายฌ็อง-บาติสต์ แบร์นาด็อต
- 1794 — 1804: นายพลฌ็อง-บาติสต์ แบร์นาด็อต
- 1804 – 1806: ฌ็อง-บาติสต์ ฌูลส์ แบร์นาด็อต จอมพลแห่งฝรั่งเศส
- 1806 – 1810: ฌ็อง-บาติสต์ ฌูลส์ แบร์นาด็อต เจ้าชายแห่งปงเตคอร์โว
- 26 กันยายน 1810 – 5 พฤศจิกายน 1810: เจ้าชายโยฮัน บัพทิสต์ ยูลิอุส แห่งปงเตคอร์โว เจ้าชายแห่งสวีเดน[18]
- 1810[4] – 1814: เจ้าชายคาร์ล โยฮัน มกุฎราชกุมารแห่งสวีเดน
- 1814[4] – 1818: เจ้าชายคาร์ล โยฮัน มกุฎราชกุมารแห่งสวีเดนและนอร์เวย์
- 1818 – 1844: กษัตริย์แห่งสวีเดนและนอร์เวย์
ธรรมเนียมพระยศของ พระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮัน แห่งสวีเดน | |
---|---|
ธงประจำพระอิสริยยศ | |
ตราประจำพระองค์ | |
การทูล | His Majesty (ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท) |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | Your Majesry (พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ) |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 Bain 1911, p. 931.
- ↑ Barton, Dunbar Plunket (1930). P.5
- ↑ 3.0 3.1 The American Cyclopædia 1879, p. 571.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 Bain 1911, p. 932.
- ↑ "Charles XIII - king of Sweden".
- ↑ Ibid. Pp. 268-278.
- ↑ "Charles XIV John - king of Sweden and Norway".
- ↑ Palmer, Alan(1990). P.181
- ↑ Berdah, Jean-Francois (2009).P.40-41
- ↑ Barton, Sir Dunbar Plunket (1930). P.259
- ↑ Barton, Sir Dunbar Plunket (1930). P.265
- ↑ Palmer, Alan(1990). P.185-186
- ↑ Griffiths, Tony (2004). P.19
- ↑ Berdah, Jean-Francois (2009). P.45
- ↑ Hårdstedt, Martin 2016, p. 222.
- ↑ Palmer 1990, p. 248.
- ↑ Alm, Mikael;Johansson, Brittinger(Eds) (2008).p.12
- ↑ "Succession au trône de Suède: Acte d'élection du 21 août 1810, Loi de succession au trône du 26 septembre 1810 (in French)".
ก่อนหน้า | พระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮัน แห่งสวีเดน | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าคาร์ลที่ 13 แห่งสวีเดน | กษัตริย์แห่งสวีเดนและนอร์เวย์ (5 กุมภาพันธ์ 1818 – 8 มีนาคม 1844) |
พระเจ้าออสการ์ที่ 1 |
- จอมพลชาวฝรั่งเศส
- ชาวสวีเดนเชื้อสายฝรั่งเศส
- ทหารชาวฝรั่งเศส
- บุคคลในคริสต์ศตวรรษที่ 18
- บุคคลในคริสต์ศตวรรษที่ 19
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2306
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2387
- บุคคลในสงครามนโปเลียนชาวสวีเดน
- ผู้นำในสงครามนโปเลียน
- นักการทหารชาวฝรั่งเศส
- จอมพลสูงสุด
- บุคคลจากโป
- พระมหากษัตริย์สวีเดน
- ราชวงศ์เบอร์นาดอตต์
- พระมหากษัตริย์นอร์เวย์
- เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง
- ผู้มีชื่อจารึกใต้ประตูชัยฝรั่งเศส
- บทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์