พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย | |
---|---|
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง | |
ดำรงตำแหน่ง 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 – 8 เมษายน พ.ศ. 2491 (0 ปี 148 วัน) | |
นายกรัฐมนตรี | ควง อภัยวงศ์ |
ก่อนหน้า | วิจิตร ลุลิตานนท์ |
ถัดไป | พระยาโทณวณิกมนตรี |
ดำรงตำแหน่ง 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491 – 13 ตุลาคม พ.ศ. 2492 (0 ปี 318 วัน) | |
นายกรัฐมนตรี | แปลก พิบูลสงคราม |
ก่อนหน้า | พระยาโทณวณิกมนตรี |
ถัดไป | แปลก พิบูลสงคราม |
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย | |
ดำรงตำแหน่ง 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 – 16 ตุลาคม พ.ศ. 2489 (3 ปี 323 วัน) | |
ก่อนหน้า | สถาปนาตำแหน่ง |
ถัดไป | เสริม วินิจฉัยกุล |
ดำรงตำแหน่ง 3 กันยายน พ.ศ. 2491 – 2 ธันวาคม พ.ศ. 2491 (0 ปี 90 วัน) | |
ก่อนหน้า | เล้ง ศรีสมวงศ์ |
ถัดไป | เล้ง ศรีสมวงศ์ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 29 เมษายน พ.ศ. 2442 |
เสียชีวิต | 22 สิงหาคม พ.ศ. 2503 (61 ปี) |
คู่สมรส | ชายา หม่อมเจ้าหญิงพัฒน์คณนา กิติยากร หม่อม หม่อมราชวงศ์หญิงชวลิต สนิทวงศ์ |
บุพการี |
|
ลายมือชื่อ | |
มหาอำมาตย์ตรี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย (29 เมษายน พ.ศ. 2442 – 22 สิงหาคม พ.ศ. 2503) เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย กับหม่อมส้วน ไชยันต์ ณ อยุธยา ทรงเป็นบุคคลแรกที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย[1] และตำแหน่งประธานกรรมการคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์[2] ทั้งยังทรงเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
พระประวัติ
[แก้]พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ประสูติ ณ ปีกุน วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พุทธศักราช 2442 เป็นพระโอรสองค์ที่ 9 ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย และหม่อมส้วน ไชยันต์ ณ อยุธยา มีเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมพระบิดา 12 องค์ คือ
- หม่อมเจ้าหญิงสุภาภรณ์ ไชยันต์
- หม่อมเจ้าถาวรมงคลวงศ์ ไชยันต์
- หม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม บริพัตร
- หม่อมเจ้าหญิงภิรมย์สงวน ไชยันต์
- หม่อมเจ้าหญิงประมวญทรัพย์ ไชยันต์
- หม่อมเจ้าหญิงประดับศักดิ์ ไชยันต์
- หม่อมเจ้าตระนักนิธิผล ไชยันต์
- หม่อมเจ้าหญิงวิมลอรรถ ไชยันต์
- หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ (คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย)
- หม่อมเจ้าหญิงอำไพสุพรรณ ไชยันต์
- หม่อมเจ้าจันทรจุฑา ไชยันต์
- หม่อมเจ้ามหาฤกษ์ ไชยันต์
- หม่อมเจ้าสุขาวดี ไชยันต์
พระบิดาและหม่อมมารดาของพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ได้สิ้นพระชนม์และถึงอนิจกรรมเสียแต่เมื่อยังทรงพระเยาว์ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้เข้าศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงตั้งแต่พระชนม์ได้ 6 ปี และทรงได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนราชวิทยาลัย สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 6 เมื่อพระชนม์เพียง 12 ปี ใน พ.ศ. 2454 ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยเป็นนักเรียนส่วนพระองค์ออกไปศึกษาวิทยาการ ณ ประเทศอังกฤษ ได้ทรงเริ่มการศึกษาชั้นประถม ณ โรงเรียน Torquay Preparatory School เป็นเวลา 2 ปี ใน พ.ศ. 2456 จึงได้เลื่อนไปทรงศึกษาชั้นมัธยม ณ วิทยาลัย Cheltenham College อีก 3 ปี ได้ทรงรับประกาศนียบัตรชั้นมัธยมศึกษาชั้นสูงของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และเคมบริดจ์ ใน พ.ศ. 2459 เพื่อทรงศึกษา ณ วิทยาลัยมอดดะเลน (Magdalene College) เมื่อได้ทรงสอบไล่ได้รับปริญญาเกียรตินิยมชั้นสองในวิชาประวัติศาสตร์ (B.A.) ต่อจากนั้นได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ใน พ.ศ. 2462 ได้เข้าศึกษา ณ วิทยาลัย École des Sciences Politiques แห่งกรุงปารีสอีก 1 ปี จึงได้เสด็จกลับประเทศไทยใน พ.ศ. 2463
เมื่อพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้เสด็จกลับมาถึงประเทศไทยนั้น เป็นรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในตำแหน่งเลขานุการกระทรวงเป็นตำแหน่งแรก และนับตั้งแต่วาระนั้นเป็นต้นมา พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงปฏิบัติหน้าที่ราชการในกระทรวงนั้นหรือทรงปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ของทางราชการอันเกี่ยวข้องกับกระทรวงนั้นโดยตรงมาจนถึงเวลาที่สิ้นพระชนม์ชีพใน พ.ศ. 2503 เป็นเวลา 40 ปี
ในขณะที่พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยทรงเข้ารับราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัตินั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดี หม่อมเจ้าเณร เกษมศรี ผู้ซึ่งภายหลังได้ดำรงพระยศเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม เป็นรองเสนาบดี ส่วนตำแหน่งปลัดทูลฉลองนั้นยังว่างอยู่ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งเลขานุการกระทรวง และได้ทรงศึกษาราชการต่าง ๆ แห่งกระทรวงนั้น เป็นที่พอพระทัยและไว้วางพระทัยของเสนาบดีและรองเสนาบดี
ใน พ.ศ. 2465 พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง ใน พ.ศ. 2469 ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้รั้งปลัดทูลฉลอง จนถึง พ.ศ. 2470 อันเป็นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยดำรงตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ขณะนั้นพระชนมายุได้ 28 ปี นับว่าทรงเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ ชั้นปลัดทูลฉลองที่มีอายุน้อยที่สุดในสมัยนั้น
ในสมัยนั้นทางราชการเห็นสมควรบำรุงชายฝั่งทะเลทางทิศตะวันตกของประเทศไทย จึงได้จัดตั้งสภาขึ้นสภาหนึ่งเพื่อดำเนินการนี้ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยก็ได้ทรงรับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสภาจัดบำรุงชายทะเลทิศตะวันตกเป็นหน้าที่พิเศษอีกตำแหน่งหนึ่ง นอกจากนั้นในสมัยเดียวกันได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ปรับปรุงราชการเกี่ยวกับองคมนตรีขึ้น โดยให้มีกรรมการของสภาองคมนตรี มีหน้าที่ประชุมปรึกษาราชการในข้อที่จะได้ทรงมอบหมายให้พิจารณาเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายความเห็นในข้อราชการนั้น ๆ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยทรงดำรงตำแหน่งกรรมการองคมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย เมื่อปี พ.ศ. 2471
ใน พ.ศ. 2473 ตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรว่างลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยจากตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ไปทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน ศกนั้น ในยุคที่พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยเสด็จไปเป็นอธิบดีกรมสรรพากรนั้น เป็นยุคแห่งการจัดระบบภาษีขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นธรรมแก่สังคมยิ่งขึ้น ในขณะที่ทรงรับตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรนั้น ทางราชการของกรมนั้นยังเก็บภาษีอากรแบบเก่า ๆ อยู่ เช่น อากรค่านา อากรสวนใหญ่ อากรสวนจาก อากรสมพัตสร อากรนาเกลือ ภาษีค่าที่ไร่ยาสูบ ภาษีค่าที่ไร่อ้อย เงินรัชชูปการ ภาษีเรือโรงร้างตึกแพ เป็นต้น ซึ่งภาระแห่งภาษีอากรนั้นตกอยู่กับกสิกรเป็นส่วนใหญ่ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงยกเลิกภาษีอากรเก่า ๆ เสีย และได้ทรงแก้ไขโดยค่อยเป็นค่อยไป ให้มีการจัดเก็บภาษีขึ้นใหม่ให้เหมาะสมแก่ความเจริญของบ้านเมือง และเฉลี่ยภาระแห่งภาษีนั้นออกไปในลักษณะที่เป็นธรรม มิให้ตกอยู่แก่คนกลุ่มเดียวเป็นส่วนใหญ่ดังแต่ก่อน ภาษีที่เก็บใหม่ในระหว่างที่พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรนั้นอยู่ในลำดับดังต่อไปนี้
- พ.ศ. 2475 ประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีเงินเดือน ประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน ประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและประกันภัย ประกาศใช้พระราชบัญญัติอากรแสตมป์
- พ.ศ. 2476 ประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ โดยยกเลิกภาษีเงินเดือนเสีย ประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีการค้า
- พ.ศ. 2477 ประกาศใช้พระราชบัญญัติอากรมรดกและการรับมรดก
- พ.ศ. 2491 ประธานคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คนแรก สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ในปี พ.ศ. 2492 พระองค์ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง[3] และทรงลาออกในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน[4]
การศึกษา
[แก้]- พ.ศ. 2448 - ทรงศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็ก และโรงเรียนราชวิทยาลัย (ปัจจุบัน คือ โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์)
- พ.ศ. 2454 - ทรงศึกษาชั้นประถม ณ โรงเรียนทอร์คีย์
- พ.ศ. 2456 - ทรงศึกษาชั้นมัธยม ณ วิทยาลัย เชลเตนแฮม คอลเลจ
- พ.ศ. 2459 - ทรงได้รับประกาศนียบัตรชั้นมัธยมศึกษาชั้นสูงของมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด และ เคมบริดจ์ แล้วจึงเสด็จไปศึกษา ณ วิทยาลัย Magdalene College และทรงสอบไล่ได้รับปริญญาเกียรตินิยมชั้นสองในวิชาประวัติศาสตร์ (B.A.)
- พ.ศ. 2462 - ทรงศึกษาต่อ ณ วิทยาลัย École des Sciences Politiques แห่งกรุงปารีส
ครอบครัว
[แก้]พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ได้ทรงเสกสมรสมกับหม่อมราชวงศ์หญิงชวลิต สนิทวงศ์ ธิดาพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพร้อมพงษ์อธิราช ใน พ.ศ. 2464 มีโอรส - ธิดา คือ
หม่อมราชวงศ์ชวลิต (สนิทวงศ์) ไชยันต์ ได้ถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2472 ต่อมาพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงเสกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงพัฒน์คณนา กิติยากร พระธิดาของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ มีธิดา คือ
- หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ไชยันต์ (ปกมนตรี) (ถึงแก่กรรม)
สิ้นพระชนม์
[แก้]พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้เคยประชวรด้วยโรคพระหทัยมาก่อน แต่ได้ทรงรับการรักษาจากแพทย์จนหายเป็นปกติ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2503 ได้กลับประชวรอีกด้วยพระโรคเดียวกัน นายแพทย์ได้ถวายการรักษาจนทรงพระสำราญแล้ว จึงได้เสด็จไปทรงพักผ่อนที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ประมาณสิบกว่าวันแล้วเสด็จกลับวังซอยอารี ถนนสุขุมวิท ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2503 มีพระอาการเป็นปกติ ในวันที่ 22 สิงหาคม ตอนเช้าได้เสด็จไปเยี่ยมหม่อมเจ้าหญิงประดับศักดิ์ ไชยันต์ พระเชษฐภคินี ณ วังถนนสีลม แล้วเสด็จกลับวังประมาณ 11 นาฬิกาเศษ ขณะที่ทรงพระอักษรอยู่นั้น พระหทัยหยุดลงโดยฉับพลัน และสิ้นพระชนม์โดยสงบเมื่อเวลา 12.15 นาฬิกา สิริพระชนมายุรวม 61 ปี 115 วัน
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ว่าพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยสิ้นพระชนม์ในคืนวันเดียวกัน ขณะประทับอยู่ ณ Queluz Palace กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ด้วยความเศร้าสลดพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง หลังจากที่ได้มีพระราชดำรัสสรรเสริญคุณความดีของพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยเป็นอเนกประการแล้ว ได้มีพระราชดำรัสว่า
“ | ท่าน (พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย) ได้ช่วยเหลือฉันมากในการที่มาเยี่ยมต่างประเทศคราวนี้ ท่านก็ได้ทรงทราบแล้วว่าการมาเยี่ยมต่างประเทศคราวนี้เป็นผลสำเร็จและมีผลดีเพียงไร และคงพอพระทัย ฉันคิดว่าขณะสิ้นพระชนม์ท่านคงมีความสุข | ” |
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระศพพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยเป็นงานหลวงพิเศษ และได้พระราชทานพระโกศมณฑป เทียบเท่าชั้นเจ้าต่างกรมทรงพระศพเป็นเกียรติยศ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2503 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้เสด็จไปพระราชทานน้ำสรงพระศพและบำเพ็ญพระราชกุศลในงานพระศพ
พระเกียรติยศ
[แก้]พระอิสริยยศ
[แก้]- หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ (29 เมษายน พ.ศ. 2442 - 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2493)
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย (8 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 - ปัจจุบัน)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
[แก้]- พ.ศ. 2493 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) (ฝ่ายหน้า)[5]
- พ.ศ. 2500 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[6]
- พ.ศ. 2497 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[7]
- พ.ศ. 2488 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[8]
- พ.ศ. 2451 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 4 (จ.ป.ร.4)[9]
- พ.ศ. 2473 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 3 (ป.ป.ร.3)[10]
- พ.ศ. 2496 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 (ภ.ป.ร.1)[11]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
[แก้]- อิตาลี :
พงศาวลี
[แก้]พงศาวลีของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ผู้ว่าการจากอดีตถึงปัจจุบัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-06-22.
- ↑ ประธานกรรมการคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๒๖ ราย)
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ รัฐมนตรีลาออกและแต่งตั้งรัฐมนตรี (หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ลาออก โดยแต่งตั้ง จอมพล แปลก พิบูลสงคราม และนายพจน์ สารสิน)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๖๗ ตอนที่ ๒๕ ง หน้า ๑๘๐๖, ๙ พฤษภาคม ๒๔๙๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2009-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๑๐๗ ง หน้า ๒๙๙๒, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๐๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๑ ตอนที่ ๘๔ ง หน้า ๒๘๐๗, ๑๔ ธันวาคม ๒๔๙๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๖๒ ตอนที่ ๕๕ ง หน้า ๑๔๙๑, ๒ ตุลาคม ๒๔๘๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ฝ่ายหน้า, เล่ม ๒๕ ตอนที่ ๓๕ หน้า ๑๐๑๔, ๒๙ พฤศจิกายน ๑๒๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา, เล่ม ๔๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๐๘๑, ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๗๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๑๐ ง หน้า ๕๒๙, ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2442
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2503
- พระวรวงศ์เธอ
- พระองค์เจ้าตั้ง
- ราชสกุลไชยันต์
- นักการเมืองไทย
- นักการธนาคารชาวไทย
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไทย
- ข้าราชการพลเรือนชาวไทย
- อธิบดีกรมสรรพากร
- อธิบดีกรมสรรพสามิต
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.จ. (ฝ่ายหน้า)
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ ภ.ป.ร.1
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ ป.ป.ร.3
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ จ.ป.ร.4
- ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
- สมาชิกวุฒิสภาไทยแบบแต่งตั้ง
- บุคคลจากโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
- บุคคลจากโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว
- อธิบดีกรมศุลกากร
- บุคคลในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์
- ชาวไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง