พระคเณศ
พระพิฆเนศ | |
---|---|
ชื่อในอักษรเทวนาครี | गणेशः |
ชื่อในการทับศัพท์ภาษาสันสกฤต | Gaṇeśa |
ส่วนเกี่ยวข้อง | เทพ, พระพรหม (คณปัตยะ), สคุณพรหมัน (ปัญจยาตนบูชา), พระอิศวร |
ที่ประทับ | เขาไกรลาศ (เคียงพระศิวะและพระปารวตี), คเนศโลก |
มนตร์ | โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ โอม คัง คณปัตเย นะมะหะ (Oṃ Shri Gaṇeśāya Namaḥ Oṃ Gaṃ Gaṇapatye Namaḥ) |
อาวุธ | ปรศุ (ขวาน), ปาศ (บาศ), อัณกุศ (ประตักช้าง) |
สัญลักษณ์ | โอม, ขนมโมทกะ |
พาหนะ | หนู |
คัมภีร์ | คเนศปุราณะ, มุทคลปุราณะ, คณปติอัฐรวศีรษะ |
เพศ | บุรุษ |
เทศกาล | คเนศจตุรถี |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
คู่ครอง | |
บิดา-มารดา | |
พี่น้อง | พระขันทกุมาร (พระเชษฐา) ศาสฐา (พระอนุชา) |
พระคเณศ (สันสกฤต: गणेश ทมิฬ: பிள்ளையார் อังกฤษ: Ganesha) ชาวไทยนิยมเรียกว่า พระพิฆเนศ[3] (विघ्नेश) พระนามอื่นที่พบ เช่น พระพิฆเณศวร พระพิฆเณศวร์ หรือ คณปติ เป็นเทวดาในศาสนาฮินดูที่ได้รับการเคารพบูชาอย่างแพร่หลายที่สุดพระองค์หนึ่ง[4] พบรูปแพร่หลายทั้งในประเทศอินเดีย, เนปาล, ศรีลังกา, ฟีจี, ไทย, บาหลี, บังคลาเทศ[5] นิกายในศาสนาฮินดูทุกนิกายล้วนเคารพบูชาพระคเณศ ไม่ได้จำกัดเฉพาะในคาณปัตยะเท่านั้น[6] และการบูชาพระคเณศยังพบในพุทธและไชนะอีกด้วย[7]
พระลักษณะที่โดดเด่นจากเทพองค์อื่น ๆ คือพระเศียรเป็นช้าง[8] เป็นที่เคารพกันโดยทั่วไปในฐานะของเทพเจ้าผู้ขจัดอุปสรรค[9], องค์อุปถัมภ์แห่งศิลปวิทยาการ วิทยาศาสตร์ และศาสตร์ทั้งปวง และทรงเป็นเทพเจ้าแห่งความฉลาดเฉลียวและปัญญา[10] ในฐานะที่พระองค์ยังทรงเป็นเทพเจ้าแห่งการเริ่มต้น ในบทสวดบูชาต่าง ๆ ก่อนเริ่มพิธีการหรือกิจกรรมใด ๆ ก็จะเปล่งพระนามพระองค์ก่อนเสมอ ๆ [11][2]
สันนิษฐานกันว่าพระคเณศน่าจะปรากฏขึ้นเป็นเทพเจ้าครั้งแรกในราวคริสต์ศตวรรษที่ 1[12] ส่วนหลักฐานยืนยันว่ามีการบูชากันย้อนกลับไปเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 4–5 สมัยอาณาจักรคุปตะ ถึงแม้พระลักษณะจะพัฒนามาจากเทพเจ้าในพระเวทและยุคก่อนพระเวท[13] เทพปกรณัมฮินดูระบุว่าพระคเณศทรงเป็นพระบุตรของพระศิวะและพระปารวตี พระองค์พบบูชากันอย่างแพร่หลายในทุกนิกายและวัฒนธรรมท้องถิ่นของศาสนาฮินดู[14][15] พระคเณศทรงเป็นเทพเจ้าสูงสุดในนิกายคาณปัตยะ[16] คัมภีร์หลักของพระคเณศเช่น คเณศปุราณะ, มุทคลปุราณะ และ คณปติอรรถวศีรษะ นอกจากนี้ยังมีสารานุกรมเชิงปุราณะอีกสองเล่มที่กล่าวเกี่ยวกับพระคเณศ คือ พรหมปุราณะ และ พรหมันทปุราณะ
นอกจากนั้นพระพิฆเนศ ยังเป็นที่เคารพนับถือของ ศาสตร์ในด้านศิลปิน และศิลปะต่างๆ สังเกตได้จากในพิธีต่างๆจะมีการอัญเชิญพระพิฆเนศ มาร่วมเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่คอยประสิทธิ์ประศาสตร์พรให้กับผู้ร่วมพิธีอีกด้วย
ศัพทมูลและพระนามอื่น ๆ
[แก้]พระพิฆเนศมีพระนามและฉายาอื่น ๆ ที่ใช้เรียก เช่น "คณปติ" (Ganapati, Ganpati) และ "พระวิฆเนศวร" หรือ "พระวิฆเนศ" (Vighneshwara) มักเติมคำแสดงความเคารพแบบฮินดู "ศรี" ไว้นำหน้าพระนามด้วย เช่น "พระศรีฆเนศวร" (Sri Ganeshwara)
คำว่า "คเณศ" นั้นมาจากคำประสมภาษาสันสกฤตคำว่า "คณะ" (gaṇa) แปลว่ากลุ่ม ระบบ และ "อิศ" (isha แปลงเสียงเป็น เอศ) แปลว่า จ้าว[17] คำว่า "คณ" นั้นสามารถใช้นิยาม "คณะ" คือกองทัพของสิ่งมีชีวิตกี่งเทวะที่เป็นหนึ่งในผู้ติดตามของพระศิวะ ผู้ทรงเป็นพระบิดาของพระพิฆเนศ[18] แต่โดยทั่วไปนั้นคือความหมายเดียวกันกับ "คณะ" ที่ใช้ในภาษาไทย แปลว่าประเภท ชั้น ชุมชน สมาคมหรือบรรษัท[19] มีนักวิชาการบางส่วนที่ตีความว่า "พระคณ" จึงอาจแปลว่าพระแห่งการรวมกลุ่ม พระแห่งคณะคือสิ่งทั้งปวงที่เกิดขึ้น ธาตุต่าง ๆ[20] ส่วนคำว่า "คณปติ" (गणपति; gaṇapati) มาจากคำสันสกฤตว่า "คณ" แปลว่าคณะ และ "ปติ" แปลว่า ผู้นำ[19] แม้คำว่า "คณปติ" จะพบครั้งแรกในฤคเวทอายุกว่าสองพันปีก่อนคริสตกาล ในบทสวด 2.23.1 นักวิชาการยังถกเถียงกันอยู่ว่าคำนี้หมายถึงพระคเณศพระองค์เดียวหรือไม่[21][22] ในอมรโกศ (Amarakosha)[23] ปทานุกรมสันสกฤตโบราณ ได้ระบุพระนามของพระคเณศดังนี้ "วินยกะ" (Vinayaka), "วิฆนราช" (Vighnarāja ตรงกับ "วิฆเนศ" ในปัจจุบัน), "ทไวมาตุระ" (Dvaimātura ผู้ซึ่งมีสองมารดา), [24] "คณาธิป" (Gaṇādhipa ตรงกับ คณปติ และ คเณศ ในปัจจุบัน), เอกทันต์ (Ekadanta งาเดียว), "เหรัมพะ", "ลัมโพทร" (Lambodara ผู้ซึ่งมีท้องกลมเหมือนหม้อ) และ "คชานนะ" (Gajānana)[25]
"วินายกะ" (विनायक; vināyaka) ก็เป็นอีกพระนามหนึ่งที่พบทั่วไป โดยพบในปุราณะต่าง ๆ และในตันตระของศาสนาพุทธ[26] โบสถ์พราหมณ์ 8 แห่งที่โด่งดังในรัฐมหาราษฏระที่เรียกว่า "อัศตวินายก" (Ashtavinayaka) ก็ได้นำพระนามนี้มาใช้ในการตั้งชื่อเช่นกัน[27] ส่วนพระนาม "วิฆเนศ"(विघ्नेश; vighneśa) และ "วิฆเนศวร"(विघ्नेश्वर; vighneśvara) แปลว่า "จ้าวแห่งการกำจัดอุปสรรค"[28] แสดงให้เห็นถึงการยกย่องให้ทรงเป็นเทพเจ้าแห่งการเริ่มต้นและกำจัดอุปสรรค (วิฆนะ) ในศาสนาฮินดู[29]
ในภาษาทมิฬนิยมเรียกพระนาม "ปิลไล" (Pillai; ทมิฬ: பிள்ளை) หรือ "ปิลไลยาร์" (Pillaiyar; பிள்ளையார்)[30] เอ.เค. นเรน (A.K. Narain) ระบุว่าทั้งสองคำนี้ต่างกันที่ ปิลไล แปลว่า "เด็ก" ส่วน ปิลไลยาร์ แปลว่า "เด็กผู้สูงศักดิ์" ส่วนคำอื่น ๆ อย่าง "ปัลลุ" (pallu), "เปลละ" (pell), "เปลลา" (pella) ในตระกูลภาษาดราวิเดียน สื่อความถึง "ทนต์" คือฟันหรือในที่นี้หมายถึง งา[31] อนิตา ไรนา ฐาปน (Anita Raina Thapan) เสริมว่ารากศัพท์ของ "ปิลเล" (pille) ใน "ปิลไลยาร์" น่าจะมาจากคำที่แปลว่า "ความเยาว์ของช้าง" ซึ่งมาจากคำภาษาบาลี "ปิลลกะ" (pillaka) แปลว่า ช้างเด็ก[32]
ในภาษาพม่าเรียกพระคเณศว่า "มะฮาเปนแน" (Maha Peinne; မဟာပိန္နဲ, ออกเสียง: [mə.hà pèɪ̯ɰ̃.nɛ́]) ซึ่งมาจากภาษาบาลี "มหาวินายก" (Mahā Wināyaka (မဟာဝိနာယက)[33] และในประเทศไทยนิยมใช้พระนาม "พระพิฆเนศ"[34] รูปเคารพและการกล่าวถึงของพระคเณศที่เก่าแก่ที่สุดในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้พบในส่วนที่ปัจจุบันคือประเทศอินโดนีเซีย[35] ส่วนประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม เริ่มพบการบูชาพระคเณศตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 7–8[36] ซึ่งเลียนแบบจากลักษณะที่พบเคารพบูชาในอินเดียเมื่อราวศตวรรษที่ 5[37] ในศาสนาพุทธแบบสิงหลของชาวศรีลังกา พระองค์ทรงเป็นที่รู้จักด้วยพระนาม คณเทวิโย (Gana deviyo) และได้รับการบูชาเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า, พระวิษณุ, พระขันธกุมาร และเทพเจ้าองค์อื่น ๆ[38]
ประติมานวิทยา
[แก้]พระคเณศถือว่าได้รับความนิยมมากในศิลปะอินเดีย[39] และมีพระลักษณะที่หลากหลายไปตามเวลา ต่างจากในเทพฮินดูส่วนใหญ่[40] มีพระลักษณะทรงยืน ร่ายรำ ทรงเอาชนะอสูรร้าย ประทับกับพระบิดาและมารดาในลักษณะพลคณปติ (พระคเณศวัยเยาว์) หรือประทับบนบัลลังก์ รายล้อมด้วยพระชายา
รูปเคารพของพระคเณศเริ่มพบทั่วไปในหลายส่วนของประเทศอินเดียในศตวรรษที่ 6[41] รูปปั้นจากช่วงศตวรรษที่ 13 เป็นรูปแบบของรูปปั้นพระพิฆเนศที่สร้างในช่วงปี 900–1200 หลังจากที่พระพิฆเนศได้รับการยอมรับเป็นเทพเจ้าเอกเทศอย่างมั่นคงและมีนิกายของพระองค์ (คาณปตยะ) พระลักษณะที่พบในระยะนี้เริ่มเป็นลักษณะทางประติมานวิทยาที่พบทั่วไปของพระคเณศบางประการ และมีรูปปั้นที่ลักษณะคล้ายกันมากที่ปอล มาร์ติน-ดูบอสต์ (Paul Martin-Dubost) ประมาณอายุไว้ที่ราวปี 973–1200[42] นอกจากนี้ยังพบรูปปั้นคล้ายกันซึ่งประทปติยะ ปาล (Pratapaditya Pal) ระบุอายุว่ามาจากศตวรรษที่ 12[43] พระคเณศทรงมีพระเศียรเป็นช้าง และทรงมีพระอุทร (ท้อง) โต ทรงมีสี่กร และทรงงาที่หักในหัตถ์ขวา อีกหัตถ์หนึ่งทรงชามขนม รูปแบบที่ซึ่งพระคเณศทรงหันงวงอย่างชัดเจนไปทางหัตถ์ซ้ายที่ทรงขนม เป็นพระลักษณะหนึ่งที่ถือว่าเก่าแก่พอควร[44] ส่วนรูปสลักที่เก่าแก่กว่านี้ที่พบในถ้ำเอลโลราแห่งหนึ่งในลักษณะเดียวกันนี้วัดอายุได้ประมาณศตวรรษที่ 7[45] รายละเอียดของหัตถ์อีกข้างของพระองค์นั้นยากที่จะคาดคะเนได้ว่าทรงสิ่งใด ในรูปแบบมาตรฐานนั้น พระคเณศมักทรงขวานปราศุหรือประดักช้างในพระหัตถ์บน และทรงบ่วงบาศ ในอีกพระหัตถ์บนส่วนรูปที่พระองค์ทรงถือศีรษะมนุษย์นั้นพบน้อยมาก[46]
อิทธิพลของการจัดเรียงองค์ประกอบทางประติมานวิทยาดั้งเดิมนี้ยังพบได้ในรูปพระคเณศแบบร่วมสมัย ในปางสมัยใหม่ปางหนึ่งเปลี่ยนเพียงหัตถ์ล่างจากทรงบาศหรือทรงงาที่หักเป็นทรงทำอภัยมุทรา[47] นอกจากนี้ยังพบลักษณะการจัดเรียงในสี่หัตถ์นี้ในรูปแบบที่พระคเณศทรงร่ายรำเช่นกัน ลักษณะทรงร่ายรำนี้ถือว่าได้รับความนิยมสูงเช่นเดียวกัน[48]
พระลักษณะทั่วไป
[แก้]พระลักษณะของพระคเณศที่มีพระเศียรเป็นช้างนั้นพบมาตั้งแต่ในศิลปะอินเดียยุคแรก ๆ[50] ปกรณัมในปุราณะเล่าคำอธิบายมากมายถึงที่มาของพระเศียรที่ทรงเป็นช้าง[51] นอกจากนี้ยังพบพระลักษณะ "พระเหรัมภะ" คือปางห้าเศียร และปางอื่น ๆ ที่มีจำนวนพระเศียรหลากหลายเช่นกัน[52] คัมภีร์บางส่วนระบุว่าพระองค์ประสูติมาพร้อมกับพระเศียรที่เป็นช้าง แต่ส่วนใหญ่ระบุว่าทรงได้รับพระเศียรนี้ในภายหลัง[53] ความเชื่อหนึ่งที่นิยมแพร่หลายมากที่สุดคือ พระปารวตีเป็นผู้สร้างพระคเณศจากดินเหนียวเพื่อปกป้องพระองค์เอง แล้วพระศิวะก็ทรงตัดพระเศียรของพระคเณศออกเมื่อพระองค์เข้าแทรกระหว่างพระศิวะและพระปารวตี และประทานพระเศียรช้างให้แทนพระเศียรเดิม[54] ส่วนรายละเอียดการยุทธ์ต่าง ๆ และว่าพระเศียรช้างที่นำมาแทนนั้นมาจากที่ใดนั้นแตกต่างกันไปตามเอกสารต่าง ๆ[55][56] อีกความเชื่อหนึ่งระบุว่าพระคเณศประสูติจากเสียงพระสรวลของพระศิวะ แต่ด้วยพระลักษณะของพระคเณศที่ประสูติออกมานั้นเป็นที่ล่อตาล่อใจเกินไป จึงทรงประทานพระเศียรใหม่ที่เป็นช้าง และพระอุทร (ท้อง) อ้วนพลุ้ย[57]
พระนามที่เกิดขึ้นในภายหลังที่สุดคือ "เอกทันต์" หรือ "เอกทนต์" (งาเดียว) มาจากพระลักษณะที่ทรงมีงาเพียงข้างเดียว อีกข้างนั้นแตกหัก[58] บางพระรูปที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นปรากฏทรงถืองาที่หัก[59] ความสำคัญของลักษณะ "เอกทันต์" สะท้อนออกมาในมุทกลปุราณะ ซึ่งระบุว่าการจุติครั้งที่สองของพระองค์มีพระนามว่า "เอกทันต์"[60] ส่วนพระลักษณะของพระอุทรพลุ้ยนั้นถือเป็นลักษณะที่โดดเด่นและพบปรากฏตั้งแต่ในศิลปะยุคคุปตะ (ศตวรรษที่ 4 ถึง 6)[61] พระลักษณะนี้มีความสำคัญมากจนในมุทกลปุราณะระบุพระนามที่ทรงกลับชาติมาเกิดตามพระลักษณะนี้ถึงสองพระนาม คือ "ลัมโภทร" (ท้องห้อยเหมือนหม้อ), "มโหทร" (ท้องใหญ่)[62] พระนามทั้งสองมาจากคำภาษาสันสกฤต "อุทร" ที่แปลว่าท้อง[63] ใน "พรหมันทปุราณะ" ระบุว่าพระนาม "ลัมโภทร" มาจากการที่จักรวาลทั้งปวง อดีต ปัจจุบัน และอนาคต (ไข่จักรวาล หรือ "พรหมาณทัส") สถิตอยู่ในพระองค์[64] พบ 2 ถึง 16 พระกร[65] พระรูปส่วนใหญ่ของพระองค์มีสี่พระกร ซึ่งพบระบุทั่วไปในปุราณะต่าง ๆ[66] พระรูปในยุคแรก ๆ ปรากฏสองพระกร[67] ส่วนปางที่ทรงมี 14 และ 20 พระกรพบในอินเดียกลางช่วงศตวรรษที่ 9 และ 10[68] นอกจากนั้นยังพบพญานาคประกอบอยู่กับเทวรูปโดยทั่วไป มีหลากหลายรูปแบบ[69] ซึ่งในคเณศปุราณะระบุว่าพระองค์ทรงพันวาสุกิรอบพระศอ[70] บางครั้งมีการแสดงภาพของงูหรือนาคในลักษณะของด้ายศักดิ์สิทธิ์ (วัชณโยปวีตะ; yajñyopavīta)[71] คล้องรอบพระอุทร, ทรงถือในพระหัตถ์, ขดอยู่ที่เข่า หรือประทับเป็นบัลลังก์นาค ในบางงานศิลป์ปรากฏพระเนตรที่สามบนพระนลาฏ (หน้าผาก) บ้างปรากฏรอยขีดเจิม (ติลัก) สามเส้นในแนวนอน[72] ในคเณศปุราณะมีกำหนดทั้งติลักและจันทร์เสี้ยวบนพระนลาฏ [73] ลักษณะนี้ปรากฏในปาง "พาลจันทร์" (Bhalachandra - ดวงจันทร์บนหน้าผาก)[74] มักบรรยายว่าสีพระวรกายพระองค์เป็นสีแดง[75] สีพระวรกายมีความสัมพันธ์กับบางปาง[76] ปางทำสมาธิตรงกับสีพระวรกายต่าง ๆ มีหลายตัวอย่างใน "ศรีตัตตวนิธิ" ตำราประติมานวิทยาฮินดู เช่น สีขาวสื่อถึงปาง "เหรัมภะ คณปติ" และ "รินะ โมจนะ คณปติ" (Rina-Mochana-Ganapati; พระคณปติผู้ทรงหลุดพ้นจากโซ่ตรวนที่ตรึงไว้)[77] ส่วน "เอกทันตคณปติ" จะมีสีพระวรกายน้ำเงินเมื่อทรงทำสมาธิ[78]
พาหนะ
[แก้]รูปพระคเณศยุคแรก ๆ ยังไม่ปรากฏว่าทรงวาหนะ (พาหนะของเทพเจ้า)[79] มุทคลปุราณะระบุว่าในพระชาติที่เสวยแปดพระชาติ พระองค์ทรงใช้หนูในห้าพระชาติ ส่วนอีกสามพระชาติทรงใช้วกรตุนทะ (สิงโต), วิตกะ (นกยูง) และเศศะ (นาคราช)[80] ส่วนในคเณศปุราณะระบุว่าในสี่พระชาติ พระชาติ โมโหตกล ทรงใช้สิงโต, พระชาติ มยูเรศวร ทรงใช้นกยูง, พระชาติ ธุมรเกตุ ทรงใช้ม้า และ พระชาติคชนณะ ทรงใช้หนู ในศาสนาไชนะมีปรากฏพระพาหนะเป็นทั้งหนู ช้าง เต่า แกะ และนกยูง[81]
พระคเณศมักแสดงในลักษณะทรงหรือห้อมล้อมด้วยหนู[82] มาร์ติน-ดูบอสต์ (Martin-Dubost) ระบุว่าหนูเริ่มปรากฏเป็นวาหนะหลักของพระคเณศในรูปปั้นที่พบแถบอินเดียกลางและอินเดียตะวันตกตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 ที่เริ่มพบหนูประดับอยู่เคียงพระบาทของพระคเณศ[83] หนูในฐานะพาหนะของพระคเณศปรากฏในงานเขียนครั้งแรกใน มัตสยปุราณะ และต่อมาพบในพรหมานันทะปุราณะละคเณศปุราณะ ซึ่งระบุว่าพระคเณศมีหนูเป็นวาหนะในการจุติในชาติสุดท้ายของพระองค์[84] ในคณปติอรรถวศีรษะไดัระบุถึงบทสวดที่ระบุว่าพระคเณศทรงมีหนูอยู่บนธงของพระคเณศ[85] พระนามทั้งมูษกสาหนะ (Mūṣakavāhana; มีหนูเป็นพาหนะ) และอาขุเกตน (Ākhuketana; ธงหนู) ปรากฏในคเณศสหัสรนาม[86]
มีการตีความหนูไว้หลายแบบ ไกรมส์ (Grimes) ระบุว่า "ส่วนใหญ่ (ถ้าไม่ใช่ทั้งหมด) มักตีความหนูของพระคณปติไปในทางลบ ว่าเป็น ตโมคุณ (tamoguṇa) เช่นเดียวกับเป็นความปรารถนา"[87] ตามแนวคิดนี้ไมเคิล วิลค็อกสัน (Michael Wilcockson) ระบุว่าหนูเป็นสัญลักษณ์ของผู้ประสงค์เอาชนะความปรารถนาและลดความเห็นแก่ตัว[88] ส่วนกริษัน (Krishan) ชี้ให้เห็นว่าหนูเป็นสัตว์ชอบทำลาย และเป็นภัยต่อผลผลิตทางการเกษตร คำสันสกฤตว่า มูษกะ (mūṣaka) ที่แปลว่าหนูนั้นมาจากรากคือ มูษ (mūṣ) ที่แปลว่าการลักขโมย จึงสำคัญต้องปราบหนูที่เป็นสัตว์รังควานจอมทำลาย หรือเรียกว่าเป็น วิฆน (มาร) ที่ต้องเอาชนะ ทฤษฎีนี้ระบุว่าการแสดงพระคเณศว่าทรงเป็นจ้าวของหนูแสดงว่าพระองค์ทรงเป็น วิฆเนศวร (จ้าวแห่งอุปสรรค) และเป็นหลักฐานสำหรับความเป็นไปได้ของบทบาทเป็นครามเทวดา (เทพเจ้าหมู่บ้าน) ของชาวบ้านซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักมากขึ้น[89] มาร์ติน-ดูบอสต์ชี้ให้เห็นว่าหนูยังเป็นสัญลักษณ์ที่เสนอว่าพระคเณศแทรกซึมไปอยู่ในทุกที่แม้ในที่ลับที่สุดได้ดุจหนู[90]
บทบาท
[แก้]ผู้ขจัดอุปสรรค
[แก้]พระนาม พระพิฆเนศวร (Vighneshvara) หรือ วิฆนราช (Vighnaraja, ภาษามราฐี – วิฆนหรรตา (Vighnaharta)) แปลว่า "จ้าวแห่งอุปสรรค" (the Lord of Obstacles) ทั้งในมุมทางโลกและทางวิญญาณ[91] พระองค์เป็นที่บูชาทั่วไปในฐานผู้ปัดเป่าอุปสรรค แม้เดิมว่าพระองค์ยังเป็นผู้สร้างอุปสรรคต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในเส้นทางของผู้ที่จำต้องทดสอบ ดังนั้นพระองค์จึงเป็นที่เคารพบูชาเป็นเริ่มก่อนการเริ่มสิ่งใหม่[92] พอล คอร์ทไรธ์ (Paul Courtright) ระบุว่า “ธรรมะ” และเหตุผลสำคัญของพระคเณศคือการสร้างและกำจัดอุปสรรค[93]
นักวิชาการ กริษัน (Krishan) ชี้ให้เห็นว่าบางพระนามของพระคเณศสะท้อนบทบาทอันหลากหลายของพระองค์ที่มีพัฒนาการตามเวลา[29] ธวลิกร (Dhavalikar) ยกตัวอย่างการขึ้นเป็นเทพเจ้าอย่างรวดเร็วของพระคเณศในบรรดาเทพเจ้าฮินดู การเกิดขึ้นของคณปัตยะ (Ganapatyas) และการเปลี่ยนจากการเน้นพระนามว่า วิฆนกรรตา (vighnakartā, ผู้สร้างอุปสรรค) เป็น วิฆนหรรตา (vighnahartā, ผู้กำจัดอุปสรรค)[94] อย่างไรก็ตามทั้งสองบทบาทยังสำคัญต่อพระลักษณะของพระองค์[95]
พุทธิ (ปัญญา)
[แก้]พระคเณศได้รับการยกย่องว่าเป็นจ้าวแห่งตัวอักษรและการศึกษา[96] ในภาษาสันสกฤต คำว่า พุทธิ (buddhi) เป็นนามที่มีความหมายหลากหลาย ทั้งปัญญา (intelligence), ภูมิปัญญา (wisdom), ผู้ทรงปัญญา (intellect)[97] มโนทัศน์พุทธินั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างมากกับบุคลิกภาพของพระคเณศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปุราณะ ซึ่งนิยายต่าง ๆ เน้นย้ำความฉลาดเฉลียวและความรักในความรู้ของพระองค์ พระนามหนึ่งของพระองค์ที่ปรากฏใน คเณศปุราณะ และใน 21 พระนามของ คเณศสหัสรนาม (Ganesha Sahasranama) คือ พุทธิปรียา (Buddhipriya, ผู้รักในพุทธิ)[98][99] คำว่า "ปรียา" (priya) แปลว่า ความรัก, ความหลง (fondness) และในบริบทการสมรสยังหมายถึง "คนรัก" หรือ "สวามี" ก็ได้[100] ดังนั้นพระนามนี้อาจหมายถึง "ผู้รักในความรู้" หรือ "คู่ครองของพระนางพุทธิ" ก็ได้[101]
โอม
[แก้]พระคเณศนั้นได้รับการระบุด้วยมนตร์ฮินดู "โอม" ดังในประโยค โอมการสวรูป (Oṃkārasvarūpa) อันแปลว่า โอมเป็นรูปของพระองค์ (Om is his form) เมื่อใช้สื่อถึงพระคเณศ หมายความถึงรูปบุคลาธิษฐานของเสียง "โอม"[102] ในคณปติอรรถวศีรษะ ยืนยันข้อเท็จจริงนี้ จินมยานันทะ (Chinmayananda) แปลข้อความที่เกี่ยวข้องในคณปติอรรถวศีรษะไว้ดังนี้[103]
(โอ พระคณปติ!) พระองค์ทรงเป็น (ตรีมูรติ) พระพรหม, พระวิษณุ และพระมเหสะ พระองค์ทรงเป็นพระอินทร์ พระองค์ทรงเป็นไฟ [พระอัคนี] และอากาศ [พระวายุ] พระองค์ทรงเป็นดวงอาทิตย์ [พระสุรยะ] และดวงจันทร์ [พระจันทร์] พระองค์ทรงเป็นพรหมัน พระองค์ทรงเป็น (สามโลก) ภูโลก [โลกมนุษย์], อันตรฤกษโลก [อวกาศ] และสวรรคโลก [สวรรค์] พระองค์ทรงเป็นโอม (อันหมายความว่า พระองค์ทรงเป็นทุกสิ่งที่ว่ามานี้)
ผู้ศรัทธาในพระคเณศบางคนมองเห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างรูปของพระคเณศและสัญลักษณ์ของโอมในอักษรเทวนาครีกับอักษรทมิฬ[104]
ปฐมจักร
[แก้]กุนทลินีโยคะ (Kundalini yoga) ระบุว่าพระคเณศทรงอาศัยในจักรแรก ที่เรียกว่า มูลาธาระ (mūlādhāra) มูลาธาระจักรเป็นหลักสำคัญของการสำแดงหรือการขยายออกของกองทัพสวรรค์ยุคแรกเริ่ม[105] ในคณปติอรรถวศีรษะได้ระบุไว้เช่นกัน ในฉบับแปลของคอร์ทไรธ์ (Courtright) แปลข้อความนี้ว่า "พระองค์ทรงอาศัยอย่างต่อเนื่องภายในช่องท้องศักดิ์สิทธิ์ (sacral plexus) อันเป็นฐานของหลักสำคัญ [มูลาธารจักร]"[106] ดังนั้น พระคเณศจึงทรงมีพระวิมานภายในมูลาธารของสิ่งมีชีวิตทั้งปวงในมูลาธาระ[107] พระคเณศทรงถือ รองรับ และนำพาจักรทั้งปวง ดังนั้นจึงเป็นการ "ควบคุมพลังทั้งปวงที่มีผลต่อวงจักรของชีวิต"[105]
ครอบครัวและพระมเหสี
[แก้]โดยทั่วไปถึงแม้ทั่วไปถือกันว่าพระคเณศเป็นพระโอรสของพระศิวะและพระปารวตี แต่เรื่องปรัมปราปุราณะมีข้อมูลต่างไป[109] บางปุราณะระบุว่าพระปารวตีเป็นผู้สร้างพระคเณศ[110] บางปุราณะระบุว่าพระศิวะและพระปารวตีเป็นผู้ร่วมกันสร้าง[111] บางปุราณะระบุว่าพระองค์ปรากฏตัวขึ้นมาอย่างลึกลับ แล้วพระศิวะกับพระปารวตีไปพบ[112] หรือว่าพระองค์ประสูติแก่เทวีที่มีเศียรเป็นช้างพระนามว่า มาลินี (Malini) หลังทรงดื่มน้ำสรงของพระปารวตีที่เทลงแม่น้ำเข้าไป[113]
ครอบครัวของพระองค์ประกอบด้วยพระเชษฐาและอนุชา พระขันธกุมาร (การติเกยะ) เทพเจ้าแห่งการสงคราม[114] ลำดับการประสูติของพระคเณศกับพระการติเกยะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค ในอินเดียเหนือเชื่อกันทั่วไปว่าพระการติเกยะเป็นผู้พี่ แต่ในอินเดียใต้กลับเชื่อว่าพระคเณศประสูติก่อน[115] ในอินเดียเหนือนั้น พระการติเกยะทรงเป็นเทพเจ้าแห่งการรบองค์สำคัญในช่วงระหว่าง 500 ปีก่อนคริสตกาลถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 6 ที่ซึ่งการบูชาพระองค์ได้เริ่มเสื่อมลง ในขณะเดียวกันกลับเป็นพระคเณศที่ทรงได้รับความนิยมมากขึ้นแทน มีหลายเรื่องเล่าที่เล่าถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างพี่น้องสองพระองค์[116] และอาจสะท้อนถึงความตึงเครียดระหว่างนิกาย[117]
สำหรับสถานภาพสมรสพระคเณศซึ่งเป็นหัวข้อการทบทวนวิชาการอย่างแพร่หลายนั้นต่างกันไปตามนิยายปรัมปรา[118] เรื่องปรัมปราหนึ่งที่ไม่ค่อยรู้จักแพร่หลายระบุว่าพระคเณศได้ถือครองพรหมจรรย์[119] ความเชื่อนี้แพร่หลายในอินเดียใต้และบางส่วนของอินเดียเหนือ[120] ความเชื่อกระแสหลักที่เป็นที่ยอมรับทั่วไปอีกอย่างหนึ่งเชื่อมโยงพระองค์กับ พุทธิ (Buddhi - ปัญญา), สิทธิ (Siddhi - พลังทางจิตวิญญาณ) และ ฤทธิ (Riddhi - ความเจริญรุ่งเรือง) ลักษณะต่าง ๆ ทั้งสามกลายมาเป็นบุคลาธิษฐานของเทวสตรีทั้งสามพระองค์ที่กล่าวกันว่าเป็นพระมเหสีของพระคเณศ[121] บ้างมีการแสดงว่าพระองค์ประทับอยู่กับพระมเหสีองค์เดียวหรือกับทาสีนิรนาม[122] อีกหนึ่งรูปแบบมีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพระคเณศกับเทวสตรีแห่งศิลปะและวัฒนธรรม พระสรัสวตี[123] หรือเทวสตรีแห่งโชคลาภและความเจริญรุ่งเรือง พระลักษมี[124] อีกความเชื่อหนึ่งซึ่งพบมากในภูมิภาคเบงกอล เชื่อว่าพระคเณศทรงสัมพันธ์กับต้นกล้วย กาลาโบ (Kala Bou)[125]
ใน ศิวะปุราณะ ระบุว่าพระคเณศมีพระโอรสสองพระองค์ คือ เกษมะ (Kşema - ความเจริญรุ่งเรือง) และ ลาภะ (Lābha - กำไร) นิยายเรื่องเดียวกันในอินเดียเหนือระบุว่ามีพระโอรสสองพระองค์คือ ศุภะ (Śubha - ฤกษ์อันเป็นมงคล) และลาภะ[126] ภาพยนตร์ภาษาฮินดีเรื่อง ชัย สันโตษี มา (Jai Santoshi Maa) เมื่อปี 1975 ระบุว่าพระพิฆเนศทรงวิวาห์กับพระฤทธิและพระสิทธิ มีพระธิดานามว่า สันโตษีมาตา (Santoshi Mata) เทวสตรีแห่งความพึงพอใจ อย่างไรก็ตาม นิยนี้ไม่ได้มีที่มาจากปุราณะ แต่อนิตา ไรนะ ฐาปัน (Anita Raina Thapan) กับ ลอว์เรนซ์ โคเฮน (Lawrence Cohen) อ้างว่าลัทธิสันโตษีมาตาเป็นหลักฐานการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของพระคเณศในฐานะของเทพเจ้าที่นิยมบูชา[127]
การบูชาและเทศกาล
[แก้]พระคเณศเป็นนับถือบูชาในหลายโอกาสทางศาสนาและเชิงฆราวาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเริ่มกิจกรรมใด ๆ เช่นการซื้อพาหนะหรือเปิดกิจการธุรกิจใหม่[128] เค.เอ็น. โสมยะจี (K.N. Somayaji) กล่าวว่า "แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ในบ้าน[คนฮินดู][ในประเทศอินเดีย] ที่จะไม่มีเทวรูปของพระคเณศ; ... พระคเณศเป็นเทพเจ้ายอดนิยมในอินเดีย เกือบทุกวรรณะและทุกส่วนของประเทศอินเดียล้วนบูชาพระองค์"[129] ผู้นับถือเชื่อว่าพระคเณศจะช่วยประทานความสำเร็จ ความเจริญรุ่งเรือง และปกป้องจากเคราะห์ร้ายทั้งปวง[130]
พระคเณศมิใช่เทพเจ้าที่แบ่งนิกาย ชาวฮินดูทุกลัทธิและนิกายล้วนสวดอ้อนวอนพระคเณศในการเริ่มสวดมนต์ กิจการสำคัญ และพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ[131] นักเต้นและนักดนตรีโดยเฉพาะในอินเดียใต้จะเริ่มร่ายรำ เช่น ภารตนาฏยัม ไปพร้อม ๆ กับการสวดบูชาพระคเณศ[75] มักสวดมนตร์เช่น โอม ศรี คเณศายะ นะมะ (Om Shri Gaṇeshāya Namah) มนตร์ที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระเคณศ โอม คัม คณปตเย นะมะ (Om Gaṃ Ganapataye Namah)[132]
เครื่องถวายบูชาที่ผู้บูชานิยมถวายแด่พระคเณศคือ ขนมโมทกะและลัฑฑู[133] เช่นเดียวกันกับประติมานวิทยาของพระองค์ที่มักแสดงทรงถ้วยขนมหวาน เรียกว่า โมทกปาทร (modakapātra)[134] ด้วยเหตุที่ระบุว่าพระองค์มีพระวรกายสีแดง จึงนิยมบูชาด้วยผงจันทน์แดง (รักตจันทน์; raktachandana)[135] หรือด้วยดอกไม้สีแดง นอกจากนี้ยังใช้หญ้าทูรวา (Dūrvā grass) (Cynodon dactylon) และเครื่องสักการะอื่น ๆ บูชา[136]
เทศกาลสำคัญของพระคเณศคือคเณศจตุรถี ซึ่งตรงกับปักษ์ (วันที่สี่ของข้างขึ้น) ในเดือนภัทรปัท (สิงหาคม/กันยายน) และคเณศจตุรถี หรือวันประสูติของพระคเณศ ตรงกับปักษ์ในเดือนมาฆะ (มกราคม/กุมภาพันธ์)[137]
คเณศจตุรถี
[แก้]เทศกาลบูชาพระคเณศประจำปีโดยทั่วไปกินเวลา 10 วัน เริ่มจากวันคเณศจตุรถีซึ่งมักตรงกับปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นกันยายนตามปฏิทินเกรเกอเรียน[138] เทศกาลเริ่มต้นด้วยการนำเทวรูปดินเหนียวของพระคเณศเข้าในบ้านหรือที่ตั้งธุรกิจ เป็นสัญลักษณ์การเสด็จมาของพระคเณศ และสิ้นสุดในวันอนันตจตุรทาษี (Ananta Chaturdashi) ซึ่งมีการนำมูรติ (เทวรูป) ดินเหนียวของพระคเณศไปจุ่มในแหล่งน้ำตามที่สะดวก[139] บางครอบครัวมีประเพณีจุ่มเทวรูปในวันที่ 2, 3, 5 หรือ 7 ของเทศกาล ในปี 1893 โลกมานยะ ติลก แปลงเทศกาลนี้จากเทศกาลส่วนบุคคลในครัวเรือนเป็นการเฉลิมฉลองอย่างอลังการสาธารณะ[140] โดยมีเป้าหมายเพื่อ "เชื่อมช่องว่างระหว่างพรหมิณและผู้ที่ไม่ใช่พรหมิณ และเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่จะสร้างความสามัคคีขึ้นในรากหญ้าและพวกเขา" อันเป็นความพยายามแบบชาตินิยมเพื่อต่อต้านการปกครองของบริเตนในรัฐมหาราษฏระ[141] เขาเห็นว่าพระคเณศมีความดึงดูดกว้างขวางเป็น "เทพเจ้าของผองชน" จึงเลือกพระองค์มาเป็นจุดระดมสำหรับชาวอินเดียในการประท้วงการปกครองของบริเตน[142] ติลกเป็นผู้แรกที่ได้นำเทวรูปพระคเณศขนาดใหญ่ตั้งในศาลาสาธารณะ และเป็นผู้ริเริ่มวัตรการจุ่มเทวรูปสาธารณะทั้งหมดในวันที่สิบ[143] ปัจจุบันชาวฮินดูเฉลิมฉลองคเณศจตุรถีทั่วประเทศอินเดีย แต่มีความนิยมสูงสุดในรัฐมหาราษฏระ[144][145] ทั้งในมุมไบ ปูเน และในอัษฏวินายกโดยรอบ
เทวสถาน
[แก้]ในโบสถ์พราหมณ์ต่าง ๆ มีการประดิษฐานพระคเณศในหลายรูปแบบทั้งเป็นเทพเจ้าองค์รอง (ปรรศวเทวดา; pãrśva-devatã) เป็นเทพเจ้าที่เกี่ยวเนื่องกับเทพเจ้าประธานของมนเทียร (บริวารเทวดา; parivāra-devatã) หรือเป็นเทพเจ้าประธาน (pradhāna)[146] ในฐานะเทพเจ้าแห่งการเปลี่ยนผ่าน พระองค์มักประดิษฐานอยู่ที่ทางเข้าของโบสถ์พราหมณ์หลายแห่งเพื่อกันผู้ไม่สมควร ซึ่งคล้ายกับบทบาทของพระองค์ที่เป็นผู้เฝ้าประตูพระปารวตี[147] นอกเหนือจากนี้ยังมีโบสถ์พระพิฆเนศโดยเฉพาะ เช่น อัษฏวินายก (สันสกฤต: अष्टविनायक; aṣṭavināyaka; "แปด (อัษฏ) พระคเณศ (วินายก)") ในรัฐมหาราษฏระ ที่ขึ้นชื่อเป็นพิเศษ ตั้งอยู่ห่างจากเมืองปูเนออกไป 100 กิโลเมตร เทวสถานแต่ละแห่งมีการบูชาพระคเณศในรูปปางต่าง ๆ กัน[148]
นอกจากนี้ยังมีเทวสถานสำคัญของพระคเณศในที่ต่อไปนี้: เมืองไว ในรัฐมหาราษฏระ; อุชเชน ในมัธยประเทศ; โชธปุระ, นาคาวร์ และไรปุระ (เมืองปาลี) ในราชสถาน; แพทยนาถ ในพิหาร; พโรทา, โธลกา และวัลสัท ในคุชราต และธุนทิราชมนเทียร (Dhundiraj Temple) ในพาราณสี อุตตรประเทศ ส่วนในอินเดียใต้มีที่กนิปกัม ในอานธรประเทศ; ร็อกฟอร์ตอุจจีปิลลยาร์มนเทียร ที่ติรุจิรปัลลี ในทมิฬนาฑู; โกฏฏรักกระ, ตริวันทรุม, กสรโคท ในเกรละ; หัมปี และอิทคุนจี ใน กรณาฏกะ; และภัทรจลัม ใน เตลังคานา[149]
ที. เอ. โคปินาถ (T. A. Gopinatha) ระบุว่า "ทุกหมู่บ้านไม่ว่าใหญ่เล็กเพียงใดล้วนต้องมีเทวรูปพระพิฆเนศวรของตนไม่ว่าจะมีเทวสถานไว้ประดิษฐานหรือไม่ก็ตาม"[150] โบสถ์พระคเณศยังมีพบนอกประเทศอินเดียเช่นกัน ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เนปาล (เช่น "วินายกมนทเทียร" สี่แห่งในหุบเขากาฐมาณฑุ)[151] และในประเทศตะวันตกหลายประเทศ [152]
การขึ้นสู่การเป็นเทพเจ้าหลัก
[แก้]การปรากฏครั้งแรก
[แก้]พระคเณศปรากฏครั้งแรกในรูปดั้งเดิมของพระองค์ในลักษณะของเทพเจ้าที่มีลักษณะเฉพาะตั้งแต่ราวต้นศตวรรษที่ 4 ถึง 5[155] รูปเคารพพระคเณศที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยพบคือเทวรูปพระคเณศสององค์ที่พบในอัฟกานิสถานตะวันออก องค์แรกนั้นพบในซากปรักหักพังทางตอนเหนือของกรุงกาบูล พบพร้อมกับเทวรูปของพระสุรยะและพระศิวะ อายุราวศตวรรษที่ 4[156] ส่วนเทวรูปองค์ที่สองพบที่ Gardez และมีการสลักพระนามของพระองค์ไว้ที่ฐาน อายุราวศตวรรษที่ 5[156] เทวรูปอีกองค์นั้นพบแกะสลักบนผนังของถ้ำหมายเลข 6 ของถ้ำอุทัยคีรี (Udayagiri Caves) ในรัฐมัธยประเทศ อายุราวศตวรรษที่ 5[156] ส่วนเทวรูปที่มีพระเศียรเป็นช้าง ทรงชามขนมหวานนั้นพบเก่าแก่ที่สุดในซากปรักหักพังของภูมรมนเทียร (Bhumara Temple) ในรัฐมัธยประเทศ อายุราวศตวรรษที่ 5 ในสมัยราชวงศ์คุปตะ[157][156][158] ส่วนคติที่บูชาพระคเณศเป็นหลักนั้นเป็นไปได้ว่าจัดตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 10[155] ลัทธิที่บูชาพระคเณศเป็นเทพองค์หลักนั้นน่าจะมีขึ้นแล้วในศตวรรษที่ 6[155] นเรน (Narain) สรุปว่าสาเหตุที่ไม่พบหลักฐานประวัติศาสตร์พระคเณศในประวัติศาสตร์ก่อนศตวรรษที่ 5 นั้นมาจาก:[155]
สิ่งที่เป็นปริศนาคือการปรากฏขึ้นอย่างค่อนข้างรวดเร็วของพระคเณศในเวทีประวัติศาสตร์ บรรพบทของพระองค์นั้นไม่ชัดเจน การยอมรับและความนิยมแพร่หลายของพระองค์ซึ่งข้ามพ้นข้อจำกัดของนิกายและดินแดน น่าเหลือเชื่ออย่างแท้จริง ด้านหนึ่ง มีความเชื่อศรัทธาในผู้อุทิศแบบทรรศนะดั้งเดิมในกำเนิดพระเวทของพระเคณศ และในคำอธิบายปุราณะบรรจุในปรัมปราวิทยาที่น่าสับสนแต่น่าสนใจ อีกด้านหนึ่ง มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการมีความคิดและสัญรูปของเทพเจ้าพระองค์นี้ ก่อนศตวรรษที่สี่ถึงห้า ... ในความเห็นของผม แท้จริงแล้วไม่มีหลักฐานที่ชวนให้เชื่อ[ในวรรณกรรมพราพมณ์]ว่ามีเทพเจ้าพระองค์นี้ก่อนศตวรรษที่ห้า
นเรนเสนอว่าหลักฐานของพระคเณศที่เก่ากว่านั้นอาจพบนอกธรรมเนียมพราหมณ์และสันสกฤต หรืออยู่นอกเขตภูมิศาสตร์ของอินเดีย[155] บราวน์ระบุว่ามีการพบเทวรูปพระคเณศในประเทศจีนแล้วเมื่อราวศตวรรษที่ 6[159] และการตั้งรูปพระคเณศเชิงศิลปะในฐานะผู้ขจัดอุปสรรคนั้นพบในเอเชียใต้แล้วเมื่อประมาณปี 400[160] ส่วนไบลีย์ (Bailey) ระบุว่ามีการถือว่าพระองค์เป็นบุตรของพระปารวตี และมีบรรจุในเทววิทยาไศวะในศตวรรษแรก ๆ แล้ว[161]
อิทธิพลที่อาจมีส่วน
[แก้]นักวิชาการ คอร์ทไรธ์ (Courtright) ทบทวนทฤษฎีจากการสังเกตต่าง ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคต้นของพระคเณศ รวมทั้งประเพณีชนเผ่าและลัทธิบูชาสัตว์ที่เชื่อกัน และปฏิเสธทฤษฎีทั้งหมดดังนี้:[162]
ในการค้นหาต้นกำเนิดทางประวัติศาสตร์ของพระคเณศ บางคนเสนอสถานที่ชี้ชัดนอกธรรมเนียมของพราหมณ์.... ที่ตั้งทางประวัติศาสตร์เหล่านี้น่าสนใจมาก แต่ข้อเท็จจริงยังมีอยู่ว่าทั้งหมดเป็นเพียงข้อสังเกต เป็นแบบต่าง ๆ ของสมมติฐานฑราวิท ซึ่งแย้งว่าทุกสิ่งที่ไม่ยืนยันอยู่ในแหล่งที่มาพระเวทหรืออินโด-ยูโรเปียนต้องเข้ามาในศาสนาพราหมณ์จากประชากรทราวิฑหรือพื้นเมืองดั้งเดิมของอินเดียโดยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ผลิตศาสนาฮินดูจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชากรอารยันและมิใช่อารยัน ไม่มีหลักฐานอิสระสำหรับลัทธิบูชาช้างหรือโทเท็ม และไม่มีข้อมูลโบราณคดีใด ๆ ชี้ว่ามีประเพณีก่อนหน้านี้เราเห็นแล้วในวรรณกรรมปุราณะและประติมานวิทยาพระคเณศ
หนังสือของฐาปน (Thapan) ว่าด้วยพัฒนาการของพระคเณศอุทิศหนึ่งบทให้กับข้อสังเกตบทบาทของช้างในอินเดียตอนต้น แต่สรุปว่า "แม้ภายในศตวรรษที่สองปรากฏรูปยักษ์เศียรช้างแล้ว แต่ไม่สามารถสันนิษฐานได้ว่าแทนคณปติ-วินายก ไม่มีหลักฐานใดของเทพเจ้าพระองค์นี้มีรูปช้างหรือเศียรช้างในระยะแรกเริ่มนี้ พระคณปติ-วินายกยังไม่ปรากฏ"[163]
เหง้าของการบูชาพระคเณศนั้นสืบย้อนไปได้ถึงสมัยอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ เมื่อ 3000 ปีก่อคริสตกาล[164][165] ในปี 1993 มีการค้นพบแผ่นโลหะแสดงภาพผู้มีเศียรช้างในจังหวัดโลเรสถาน (Lorestan) ประเทศอิหร่าน อายุราว 1,200 ปีก่อนคริสตกาล[166][167] เทวรูปดินเผาพระคเณศชิ้นแรกที่ค้นพบนั้นอายุราวศตวรรษที่ 1 พบในเตอร์ (Ter), ปาล (Pal), เวร์ระปุรัม (Verrapuram) และจันทรเกตุคฤห์ (Chandraketugarh) มีลักษณะเป็นเทวรูปองค์เล็ก เศียรเป็นช้าง มีสองกร และมีรูปร่างท้วม[168] สัญรูปยุคแรก ๆ ที่เป็นหินมีแกะสลักใน Mathura ระหว่างยุค Kushan (ศตวรรษที่ 2–3)
ทฤษฎีหนึ่งเสนอว่าพระคเณศทรงเริ่มขึ้นสู่ความนิยมโดยเกี่ยวพันกับวินายกทั้งสี่[169] ในเทพปรณัมฮินดู วินายกคือกลุ่มของอสูรเจ้าปัญหาสี่ตนที่คอยสร้างอุปสรรคและความยากลำบาก[170] แต่ก็ถูกกล่อมได้โดยง่าย[171] "วินายก" กลายเป็นชื่อสามัญสำหรับแทนพระคเณศทั้งในปุราณะและในตันตระของศาสนาพุทธ[26] นักวิชาการ กริษัน (Krishan) เป็นนักวิชาการคนหนึ่งที่ยอมรับทัศนะนี้ และระบุว่า "[พระคเณศ] ไม่ใช่เทพเจ้าจากพระเวท พระองค์มีต้นกำเนิดที่ย้อนไถึงวินายกทั้งสี่ วิญญาณชั่วร้ายแห่ง มานวคฤหยสูตร (Mānavagŗhyasūtra, 700-400 ปีก่อนคริสตกาล) ผู้สร้างปัญหาและความทรมานมากมาย"[172] การพรรณนามนุษย์เศียรช้างที่บ้างระบุเป็นพระคเณศ ปรากฏในศิลปะและการผลิตเหรียญกษาปณ์อินเดียตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ตามข้อมูลของ Ellawala ชาวศรีลังกาทราบถึงพระคเณศในฐานะเจ้าแห่งคณะ (Gana) ตั้งแต่ยุคก่อนคริสตกาลแล้ว
วรรณกรรมและตำนานพระเวท
[แก้]พระนาม "ผู้นำของคณะ" (คณปติ) พบสองครั้งในฤคเวท แต่ทั้งสองครั้งนั้นไม่ได้หมายถึงพระคเณศสมัยใหม่ คำแรกที่พบอยู่ในฤคเวท มณฑลที่ 2.23.1 นักวิเคราะห์ว่าเป็นพระนามของพรหมนัสปติ (Brahmanaspati)[173] แม้ใช้หมายถึงพระพรหมมัสปติอย่างไร้กังขา แต่ต่อมารับมาใช้ในการบูชาพระคเณศจนถึงปัจจุบัน[174] ลูดอ รอเชอร์ (Ludo Rocher) กล่าวว่ามีระบุชัดเจนว่า "[คำว่า "คณปติ" ในฤคเวทนั้น] หมายถึงพระพรหัสปติ (Bṛhaspati) เทพเจ้าแห่งบทสวดมนต์ และพรหัสปติพระองค์เดียว"[175] ส่วนอีกชื่อในฤคเวท (พบใน ฤคเวท มณฑลที่ 10.112.9) นั้นหมายถึงพระอินทร์ อย่างชัดเจนไม่ต่างกัน[176]"[177] ผู้ทรงได้รับฉายา คณปติ[178] นอกจากนี้รอเชอร์ชี้ว่าในวรรณกรรมเกี่ยวกับพระคเณศในยุคหลัง ๆ นิยมอ้างบทในฤคเวทเพื่อแสดงให้เห็นการเคารพพระคเณศในยุคพระเวท[179]
กวียุคสังฆัมแห่งทมิฬ อวไวยาร์ (Avvaiyar; 300 ปีก่อนคริสตกาล) ได้ขานพระนามพระคเณศขณะการเตรียมการเชิญชวนกษัตริย์ทมิฬทั้งสามในการยอมการแต่งงานของอังคะวัย (Angavay) กับสังคะวัย (Sangavay) แห่งซีลอนในการแต่งงานกับกษัตริย์แห่งติรุกูอิลูร์ (Tirukoilur)[180]
สองบทในคัมภีร์นั้นมาจากยชุรเวท ไมตรายณียสังหีต (Maitrāyaṇīya Saṃhitā) บทที่ 2.9.1[181] และจากไตติรียะอารัณยกะ (Taittirīya Āraṇyaka) บทที่ 10.1[182] ได้ขานถึงเทพเจ้าผู้มี "งาเดียว" (ทันติห์; Dantiḥ), "พระพักตร์เป็นช้าง" (หัสตีมุกข์; Hastimukha) และ "มีงวงโค้งงอน" (วกรตุณฑะ; Vakratuṇḍa) พระนามเหล่านี้ส่อถึงพระคเณศ และผู้วิจารณ์สมัยศตวรรษที่ 14 ซายานาระบุรูปพรรณนี้อย่างชัดเจน[183] การอธิบายของทันติน (Dantin) ที่ว่าทรงมีงวงโค้งงอ และทรงมัดข้าวโพด อ้อย[184] และตะบอง[185] นั้นเป็นภาพลักษณะของพระคเณศในแบบปุราณะที่เหมือนมากจนเหรัส (Heras) เคยกล่าวว่า "เราไม่สามารถห้ามการยอมรับการพิสูจน์ของพระองค์อย่างสมบูรณฺกับทันตินพระเวท (Vedic Dantin) นี้"[186] อย่างไรก็ตามกริษัน (Krishan) เชื่อว่าบทเหล่านี้เพิ่มเข้ามาหลังยุคพระเวท[187] ฐาปน (Thapan) รายวานว่าบทเหล่านี้ "โดยทั่วไปถือว่าเป็นการเติมแต่งเข้ามา" ส่วนธวลิการ์ (Dhavalikar) ระบุว่า "การพาดพิงเทพเจ้าเศียรช้างในไมตรายณีสังหีตานั้นพิสูจน์แล้วว่าเป็นการเติมแต่งเข้ามาในภายหลังมาก ๆ ดังนั้นไม่น่ามีประโยชน์มากในการประเมินประวัติการกำเนิดขึ้นในช่วงแรก ๆ ของเทพเจ้าพระองค์นี้"[188]
พระคเณศไม่ปรากฏพระนามในวรรณกรรมมหากาพย์ของอินเดียจากยุคพระเวท มีการเติมแต่งเข้าไปในกวีมหากาพย์ มหาภารตะ (1.1.75–79[a]) ในภายหลัง ระบุว่าฤๅษีวยาสะขอให้พระคเณศช่วยเป็นอาลักษณ์จดบทกวีให้ฤๅษีเป็นผู้บอก พระคเณศทรงตกลงโดยมีเงื่อนไขว่าวยาสะต้องทวนบทกวีโดยห้ามขาดตอนหรือหยุดพัก ฤๅษีตกลงแต่ใช้วิธีพักโดยท่องข้อความที่ซับซ้อนอย่างยิ่งเพื่อให้พระคเณศต้องถามเพื่อความกระจ่าง นิยายส่วนนี้ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมหาภารตะดั้งเดิมโดยบรรณาธิการของมหาภารตะฉบับวิพากษ์ (critical edition)[189] ที่นิยายยี่สิบบรรทัดดังกล่าวลดความสำคัญเป็นเชิงอรรถในภาคผนวก[190] นิยายพระคเณศทรงรับเป็นอาลักษณ์พบในต้นฉบับ 37 จาก 59 ต้นฉบับที่หาข้อมูลระหว่างการเตรียมฉบับวิพากษณ์[191] การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพระคเณศกับพระทัยที่คล่องแคล่วและการเรียนรู้เป็นสาเหตุหนึ่งที่แสดงพระองค์เป็นอาลักษณ์ของฤๅษีวยาสะที่ให้จดมหาภารตะในการแต่งเติมนี้[192] ริชาร์ด แอล. บราวน์ (Richard L. Brown) ให้อายุของเรื่องนี้ว่าแต่งขึ้นในศตวรรษที่ 8 ส่วนมอริซ วินเตอร์นิตซ์ (Moriz Winternitz) สรุปว่า คนทราบนิยายนี้เร็วที่สุดประมาณปี 900 แต่มาบรรจุในมหาภารตะอีก 150 ปีให้หลัง[193] วินเตอร์นิตซ์ยังพบด้วยว่าลักษณะโดดเด่นประการหนึ่งที่พบในต้นฉบับมหาภารตะของอินเดียใต้คือการละตำนานพระคเณศ[194] ส่วนพระนามวินายก (vināyaka) พบในปรัมปราของศานติปรวะ (Śāntiparva) และอนุศาสนปรวะ (Anuśāsanaparva) ถือเป็นการแต่งเติมมาในภายหลัง[195] และการพาดพิงพระนามวิฆนกรตรีนาม (Vighnakartṛīṇām "ผู้สร้างอุปสรรค") ในวนปรวะ (Vanaparva) นั้นก็เชื่อว่าเป็นการแต่งเติมเข้ามาในภายหลัง และไม่พบในฉบับวิพากษ์เช่นกัน[196]
ยุคปุราณะ
[แก้]นิยายเกี่ยวกับพระคเณศมักพบในประชุมผลงานปุราณะ[197] บราวน์ชี้ว่าแม้ปุราณะ "ขัดขวางการเรียงลำดับเวลาอย่างแม่นยำ" แต่คำบรรยายพระชนม์ชีพของพระคเณศในรายละเอียดมากขึ้นพบในข้อความสมัยหลัง ประมาณปี 600–1300 ยุวราช กริษัน (Yuvraj Krishan) กล่าวว่าเรื่องปรัมปราปุราณะเกี่ยวกับชาติกาลของพระคเณศและการได้เศียรช้างของพระองค์อยู่ในปุราณะยุคหลัง ซึ่งได้แก่หลังปี 600 เป็นต้นมา เขาอธิบายเพิ่มในประเด็นนี้กล่าวว่าการพาดพิงพระคเณศในปุราณะช่วงต้น เช่น พรหมันท์และวายุปุราณะนั้น มีการแต่งเติมเรื่องของพระคเณศเข้าไปในภายหลังราวศตวรรษที่ 7 ถึง 10[198]
ในการศึกษาเรื่องการได้รับความนิยมของพระคเณศในวรรณกรรมสันสกฤต รอเชอร์พบว่า:[199]
เหนืออื่นใด บุคคลไม่อาจห้ามพิศวงกับข้อเท็จจริงที่ว่าหลายนิยายที่แวดล้อมพระคเณศอยู่นั้นกระจุกอยู่กับเหตุการณ์จำนวนจำกัดอย่างคาดไม่ถึง เหตุการณ์เหล่านี้มีเพียงแค่สามเหตุการณ์หลัก คือ ชาตกาลและพระบิดา-มารดา เศียรช้าง และงาเดียว เหตุการณ์อื่นมีกล่าวถึงบ้างในข้อความ แต่มีรายละเอียดน้อยกว่ามาก
การได้รับความนิยมของพระคเณศนั้นมีประมวลในศตวรรษที่ 9 เมื่อมีการบรรจุพระองค์เข้าสู่ห้าเทพเจ้าหลักของลัทธิสมารติ (Smartism) อย่างเป็นทางการ นักปรัชญายุคศตวรรษที่ 9 อาทิ ศังการ (Adi Shankara) เผยแพร่แนวคิด "การบูชาห้าปาง" (ปัญจยาตนบูชา; Panchayatana puja) ให้เป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่พรหมมินทรรศนะดั้งเดิมในลัทธิสมารติ[200] เทพเจ้าห้าพระองค์ดังกล่าวประกอบด้วยพระคเณศ, พระวิษณุ, พระศิวะ, เทวี และพระสุรยะ[201] อาทิ ศังการผู้ตั้งธรรมเนียมซึ่งจะสร้างเอกภาพแก่เทพเจ้าหลักห้านิกายให้มีสถานภาพเท่ากัน นับเป็นการตอกย้ำบทบาทของพระคเณศเป็นเทพเจ้าร่วมสมัยอย่างเป็นทางการ
คัมภีร์
[แก้]ครั้นพระคเณศได้รับการยอมรับเป็นหนึ่งในเทพเจ้าสำคัญห้าพระองค์ของศาสนาฮินดูแล้ว มีชาวฮินดูบางส่วนเลือกนับถือพระองค์เป็นเทพเจ้าหลัก เป็นจุดเริ่มต้นของนิกายคาณปัตยะ ดังที่พบได้ทั้งในคเณศปุราณะและมุทคลปุราณะ[202]
วันเวลาที่ประพันธ์คเณศปุราณะและมุทคลปุราณะ รวมถึงการวัดอายุโดยสัมพัทธ์ระหว่างสองคัมภีร์นั้น เป็นที่ถกเถียงในวงวิชาการ ทั้งสองงานมีการต่อเติมเข้ามาตามเวลาและมีชั้นภูมิที่แยกตามอายุ อนิตา ฐาปน (Anita Thapan) ทบทวนความเห็นเกี่ยวกับการวัดอายุและมีคำวินิจฉัยของนางเอง "ดูเหมือนว่าแก่นของคเณศปุราณะปรากฏในราวศตวรรษที่ 12 และ 13" แต่ "ถูกแต่งเติมเข้ามาภายหลัง"[203] ส่วนลอว์เรนซ์ ดับเบิลยู. เพรสตัน (Lawrence W. Preston) ระบุว่าช่วงเวลาที่สมเหตุสมผลที่สุดของคเณศปุราณะอยู่ระหว่างปี 1100 ถึง 1400 ซึ่งสอดคล้องกับอายุของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่กล่าวถึงในปุราณะ[204]
อาร์.ซี. ฮาซรา (R.C. Hazra) เสนอว่ามุทคลปุราณะนั้นเก่าแก่กว่าคเณศปุราณะ ซึ่งเขาวัดอายุระหว่างปี 1100 ถึง 1400[205] อย่างไรก็ตาม ฟิลลีส กรานนัฟฟ์ (Phyllis Granoff) พบปัญหากับการวัดอายุโดยสัมพัทธ์นี้และสรุปว่ามุทคลปุราณะเป็นเอกสารเชิงปรัชญาฉบับสุดท้ายที่ว่าด้วยพระคเณศ เธออ้างเหตุผลบนข้อเท็จจริงว่าในบรรดาหลักฐานภายในอื่น ๆ มุทคลปุราณะเจาะจงพูดถึงคเณศปุราณะว่าเป็นหนึ่งในสี่ปุราณะ (พรหม, พรหมานันทะ, คเณศ และมุทคลปุราณะ) ซึ่งกล่าวถึงพระคเณศอย่างละเอียด[206] แม้แก่นเรื่องของคัมภีร์เหล่านี้ต้องเก่าแก่เป็นแน่ แต่ก็มีการเติมแต่งเข้ามาจนถึงราวศตวรรษที่ 17 ถึง 18 เมื่อการบูชาพระคเณศเกิดสำคัญขึ้นมาในบริเวณนี้[207] ส่วนอีกคัมภีร์หนึ่งที่ได้รับการเคารพอย่างสูงคือคณปติอรรถวศีรษะ[208] น่าจะแต่งขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 16 ถึง 17[209]
คเณศสหัสรนามเป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมปุราณะ และมีบทสวดที่ระบุพระนามและพระลักษณะหนึ่งพันประการของพระคเณศไว้ แต่ละนามและลักษณะที่ปรากฏนั้นสื่อถึงควาหมายต่าง ๆ และเป็นสัญลักษณ์แทนพระคเณศในมุมมองต่าง ๆ ของพระองค์[210] นอกจากนี้ จอห์น ไกรมส์ (John Grimes) ยังระบุว่ามีอีกหนึ่งในคัมภีร์สำคัญในภาษาสันสกฤตที่มีการกล่าวถึงธรรมเนียมพระคเณศคือคณปติอถรรวศีรษะ[208]
จอห์น ไกรมส์ระบุว่า คัมภีร์ภาษาสันสกฤตที่สำคัญที่สุดเล่มหนึ่งที่มีอิทธิพลในนิกายคาณปัตยะ คือ Ganapati Atharvashirsa[208]
นอกอินเดียและศาสนาฮินดู
[แก้]ทั้งการติดต่อทางการค้าและทางวัฒนธรรมได้มีส่วนช่วยขยายอิทธิพลของอินเดียต่อเอเชียตะวันตกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพระคเณศก็เป็นหนึ่งในเทพเจ้าที่มีการขยายความเชื่อไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลก ตามอิทธิพลของชาวอินเดียเช่นกัน[211]
พระคเณศมักพบบูชาโดยพ่อค้าผู้เดินทางออกจากอินเดียเพื่อแสวงหาการค้า[212] นับตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา เครือข่ายการแลกเปลี่ยนสินค้านั้นได้สร้างเม็ดเงินมหาศาล ถือเป็นช่วงเวลาที่พระคเณศได้รับการบูชาและเกี่ยวเนื่องกับการค้า[213] จารึกที่เก่าแก่ที่สุดที่พบการขานพระนามพระคเณศเป็นพระนามแรกก่อนเทพเจ้าองค์อื่น ๆ นั้น พบในจารึกของชุมชนพ่อค้า[214]
ชาวฮินดูอพยพไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนภาคพื้นสมุทร พร้อมนำเอาวัฒนธรรมและพระคเณศติดตัวมาด้วย[215] เทวรูปของพระคเณศสามารถพบทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทร โดยมากมักพบกับเทวสถานของพระศิวะ รูปแบบต่างของพระคเณศของชาวฮินดูพื้นถิ่นในฟิลิปปินส์, ชวา, บาหลี และบอร์เนียว แสดงให้เห็นอิทธิพลพื้นถิ่นที่มีต่อคติบูชาพระคเณศ[216] ในขณะที่การเข้ามาของวัฒนธรรมฮินดูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นดิน นำมาสู่การบูชาพระคเณศในปางที่มีการดัดแปลง พบในพม่า กัมพูชา และประเทศไทย ในคาบสมุทรอินโดจีนนี้มีการนับถือศาสนาพุทธควบคู่ไปกับศาสนาฮินดู ซึ่งล้วนมีอิทธิพลต่อความเชื่อเรื่องพระคเณศในภูมิภาคนี้[217] ในอินโดจีนมีการนับถือพระคเณศในฐานะผู้ขจัดอุปสรรคเป็นหลัก[218] รวมถึงในศาสนาพุทธของประเทศไทยในปัจจุบัน มีการนับถือพระคเณศในฐานะผู้ปัดเป่าอุปสรรคและเทพเจ้าแห่งความสำเร็จ[218]
พระพิฆเนศในประเทศไทยได้รับการเคารพบูชาในฐานะเทพเจ้าแห่งศิลปะโดยเฉพาะ คตินี้เกิดความความเชื่อส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 6 ซึ่งพระองค์มีศรัทธาในพระคเณศเป็นอย่างมาก ทรงสร้าง "เทวาลัยคเณศร์" ขึ้นในพระราชวังสนามจันทร์ อันเป็นที่ประทับทรงงานด้านหนังสือและการละครมากที่สุด และเมื่อทรงตั้งวรรณคดีสโมสร ก็ทรงอัญเชิญพระคเณศเป็นตราสัญลักษณ์ จนกระทั่งการเกิดขึ้นของกรมศิลปากรและสืบทอดตราพระคเณศของวรรณคดีสโมสรมาเป็นตรา จึงทำให้พระคเณศได้รับการเคารพในประเทศไทยในฐานะของเทพเจ้าแห่งศิลปะและการศึกษาในประเทศไทยตราบจนปัจจุบัน[219] สถานศึกษาที่ใช้พระคเณศเป็นตราสัญลักษณ์ เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร[220]
ก่อนการเข้ามาของศาสนาอิสลาม อัฟกานิสถานมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิดกับอินเดีย และพบหลักฐานการบูชาทั้งในศาสนาฮินดูและพุทธ มีการพบหลักฐานเป็นเทวรูปจากศตวรรษที่ 5 ไปจนถึงศตวรรษที่ 7 จึงสามารถสรุปได้ว่ามีการบูชาพระคเณศอย่างแพร่หลายในดินแดนแถบนั้นในช่วงหนึ่งเช่นกัน[221]
ในศาสนาพุทธมหายาน มีการบูชาพระคเณศ ไม่เพียงแต่ในรูปของเทพเจ้าพุทธนามว่า พระวินายก แต่ยังในรูปปิศาจฮินดูพระนามเดียวกัน[222] ปรากฏรูปของพระองค์ในคัมภีร์ของพุทธยุคปลายคุปตะ[223] พระวินายกมักพบในรูปกำลังเต้นรำ การบูชารูป Nṛtta Ganapati, นี้มีพบทั่วไปในอินเดีย เนปาลและทิเบตเช่นกัน[224] ในเนปาล ปางหนึ่งของพระคเณศนามว่าพระเหรัมภะได้รับความนิยมบูชาในศาสนาฮินดูแบบเนปาลมาก โดยทรงมีห้าพักตร์และประทับบนสิงโต[225] รูปแสดงพระคเณศแบบทิเบตมีทัศนะกำกวมเกี่ยวกับพระองค์[226] พระคเณศในคติของทิเบตมีพระนามว่า ชอกส์บดัฆ (tshogs bdag)[227] ในปางทิเบตปางหนึ่ง แสดงรูปพระองค์ทรงถูก Mahākāla ย่ำ ซึ่งเป็นเทพเจ้าทิเบตที่ได้รับความนิยม รูปอื่นแสดงภาพพระองค์เป็นผู้ขจัดอุปสรรค และบ้างกำลังเต้นรำด้วย[228] ส่วนในจีนและญี่ปุ่นพบพระคเณศในรูปที่มีลักษณะเฉพาะพื้นที่มากขึ้น ในจีนตอนเหนือ พบเทวรูปหินของพระคเณศเก่าแก่สุดวัดอายุได้ราวปี 531[229] ในญี่ปุ่นพบพระคเณศพระนามว่า คันกิเต็ง (Kangiten) ลัทธิบูชาพระคเณศนี้พบครั้งแรกในปี 806[230]
ในคัมภีร์กติกาสงฆ์ของศาสนาเชนไม่ได้ระบุการบูชาพระคเณศ[231] อย่างไรก็ตาม ศาสนิกเชนส่วนใหญ่บูชาพระองค์ในฐานะของเทพเจ้าแห่งการปัดเป่าอุปสรรค และดูเหมือนเป็นเทพเจ้าแห่งความมั่งคงแทนท้าวกุเวรด้วย[232] ความสัมพันธ์กับชุมชนการค้าเป็นเหตุผลสนับสนุนความคิดว่าศาสนาเชนรับเอาการบูชาพระคเณศจากความเชื่อมโยงเชิงพาณิชย์[233] รูปปั้นพระคเณศแบบเชนเก่าแก่ที่สุดวัดอายุได้ราวศตวรรษที่ 9[234] คัมภีร์ศาสนาเชนสมัยศตวรรษที่ 15 แสดงรายการขั้นตอนสำหรับติดตั้งรูปเคารพ รูปพระคเณศปรากฏในไชนมนเทียรในราชสถานและคุชราตเช่นกัน[235]
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ Bombay edition
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Heras 1972, p. 58.
- ↑ 2.0 2.1 Getty 1936, p. 5.
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 834
- ↑ Rao, p. 1.
- ↑
- Brown, p. 1. "มักเป็นที่พูดถึงว่าพระคเณศทรงเป็นเทพที่มีการบูชากันมากที่สุดในประเทศอินเดีย" ("Gaṇeśa is often said to be the most worshipped god in India.")
- Getty, p. 1. "พระคเณศ จ้าวแห่งคณะ ถึงแม้จะเป็นหนึ่งในเทพองค์หลัง ๆ ที่เข้าสู่เทวาลัยของพราหมณ์ แต่ก็ยังเป็นเทพเจ้าที่มีผู้นับถือกันทั่วไปมากที่สุดในบรรดาเทพฮินดูทั้งปวง และรูปเคารพของพระองค์นั้นก็พบได้แทบจะทุกส่วนของประเทศอินเดีย" ("Gaṇeśa, Lord of the Gaṇas, although among the latest deities to be admitted to the Brahmanic pantheon, was, and still is, the most universally adored of all the Hindu gods and his image is found in practically every part of India.")
- ↑
- Rao, p. 1.
- Martin-Dubost, pp. 2–4.
- Brown, p. 1.
- ↑
- Chapter XVII, "The Travels Abroad", ใน: Nagar (1992), pp. 175–187. - สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับการแพร่ขยายความเชื่อและความนิยมในพระคเณศนอกอินเดียในเชิงภูมิศาสตร์
- Getty, pp. 37–88, - สำหรับการพูดคุยเกี่ยวกับการแพร่ขยายความเชื่อในการบูชาพระคเณศไปยังเนปาล ซินเจียง ทิเบต พม่า สยาม อินโดจีน ชวา บาหลี บอร์เนียว จีน และญี่ปุ่น
- Martin-Dubost, pp. 311–320.
- Thapan, p. 13.
- Pal, p. x.
- ↑ Martin-Dubost, p. 2.
- ↑ ดูเรื่องฐานะของพระองค์ในการกำจัดอุปสรรคได้ในคณปติอุนิษัท บทที่ 12 อ้างถึงใน Saraswati 2004, p. 80
- ↑ Heras 1972, p. 58
- ↑ ประเด็นดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่ทราบกันทั่วไป ดังที่ปรากฏในชื่อหนังสือของคอร์ทไรธ์ (Courtright) ว่า "พระคเณศ: เทพแห่งอุปสรรค จ้าวแห่งการเริ่มต้น" (Ganesha: Lord of Obstacles, Lord of Beginnings).
- ↑ Brown, Robert L. (1991). Ganesh: Studies of an Asian God (ภาษาอังกฤษ). SUNY Press. ISBN 978-0791406564.
- ↑ Narain, A.K. "Gaṇeśa: The Idea and the Icon" อ้างถึงใน Brown 1991, p. 27 harvnb error: multiple targets (2×): CITEREFBrown1991 (help)
- ↑ Gavin D. Flood (1996). An Introduction to Hinduism. Cambridge University Press. pp. 14–18, 110–113. ISBN 978-0521438780.
- ↑ Vasudha Narayanan (2009). Hinduism. The Rosen Publishing Group. pp. 30–31. ISBN 978-1435856202.
- ↑ สำหรับประวัติศาสตร์วิวัฒนาการความเชื่อของคาณปัตยะ และความเกี่ยวพันกับการขยายตัวของลัทธิบูชาพระคเณศในมุมกว้างทางภูมิศาสตร์ ดูเพิ่มที่: Chapter 6, "The Gāṇapatyas" ใน Thapan (1997), pp. 176–213.
- ↑
- Narain, A.K. "Gaṇeśa: A Protohistory of the Idea and the Icon". Brown, pp. 21–22.
- Apte, p. 395.
- ↑ สำหรับประเด็นความเกี่ยวพันกับ "คณะ" ดูเพิ่มที่: Martin-Dubost. p. 2.
- ↑ 19.0 19.1 Apte 1965, p. 395.
- ↑ คำว่า "คณะ" นี้ถอดความในเชิงอภิปรัชญาโดยภาสกรราย (Bhāskararāya) ในความเห็นเชิงวิพากษ์ที่เขามีต่อคเณศสหัสรนาม (gaṇeśasahasranāma) ดูบทวิพากษ์นี้ได้ใน: Śāstri Khiste 1991, pp. 7–8
- ↑ Grimes 1995, pp. 17–19, 201.
- ↑ ฤคเวท มณฑล 2 เก็บถาวร 2017-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, บทสวด มณฑล 2.23.1, วิกิซอร์ซ, ระบุว่า: गणानां त्वा गणपतिं हवामहे कविं कवीनामुपमश्रवस्तमम् । ज्येष्ठराजं ब्रह्मणां ब्रह्मणस्पत आ नः शृण्वन्नूतिभिः सीद सादनम् ॥1॥; ดูคำแปลได้ใน Grimes (1995), pp. 17–19
- ↑
- Oka 1913, p. 8 สำหรับที่มาของอมรโกศ 1.38 ดังกล่าว
- Śāstri 1978 สำหรับอมรโกศ ซึ่งตรงกับบท 1.1.38
- ↑ Y. Krishan, Gaṇeśa: Unravelling an Enigma, 1999, p. 6)
- ↑ Krishan p. 6
- ↑ 26.0 26.1 Thapan, p. 20.
- ↑ สำหรับประวัติศาสตร์ของพระนามอัศตวินายก และการปฏิบัติบูชาที่เกี่ยวข้อง ดูเพิ่มได้ที่: Mate, pp. 1–25.
- ↑ สำหรับพระนาม "วิฆเนศวร" ดูที่: Courtright 1985, pp. 156, 213
- ↑ 29.0 29.1 สำหรับมุมมองของกริษัน (Krishan) ต่อมุมมองนี้ ดูคำกล่าวของกริษันที่ว่า "พระคเณศทรงมีธรรมชาติสองประการควบคู่กันไป คือพระวินายก หรือครามเทวดา (grāmadevatā) วิฆนกรตา (vighnakartā) และคือพระคเณศ หรือววิฆนหรรตา (vighnahartā), เทวดาในปุรานะ (paurāṇic devatā)" จาก Krishan, p. viii.
- ↑ Martin-Dubost, p. 367.
- ↑ Narain, A.K. "Gaṇeśa: The Idea and the Icon". Brown, p. 25.
- ↑ Thapan, p. 62.
- ↑ Myanmar-English Dictionary, Yangon: Dunwoody Press, 1993, ISBN 978-1881265474, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2010, สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2010
- ↑ Justin Thomas McDaniel (2013). The Lovelorn Ghost and the Magical Monk: Practicing Buddhism in Modern Thailand. Columbia University Press. pp. 156–157. ISBN 978-0231153775.
- ↑ Brown, Robert L. (1987), "A Note on the Recently Discovered Gaṇeśa Image from Palembang, Sumatra", Indonesia, 43 (43): 95–100, doi:10.2307/3351212, hdl:1813/53865, ISSN 0019-7289, JSTOR 3351212
- ↑ Brown 1991, pp. 176, 182. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFBrown1991 (help)
- ↑ Brown 1991, p. 190. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFBrown1991 (help)
- ↑ John Clifford Holt (1991). Buddha in the Crown : Avalokitesvara in the Buddhist Traditions of Sri Lanka: Avalokitesvara in the Buddhist Traditions of Sri Lanka. Oxford University Press. pp. 6, 100, 180–181. ISBN 978-0195362466.
- ↑ Pal, p. ix.
- ↑
- Martin-Dubost สำหรับประเด็นประติมานวิทยาของพระคเณศอย่างครอบคลุม พร้อมภาพประกอบครบครัน
- Chapter X, "Development of the Iconography of Gaṇeśa" ใน: Krishan 1999, pp. 87–100 สำหรับการศึกษาประติมานวิทยาโดยเน้นที่การพัฒนารูปแบบ
- Pal สำหรับการรวบรวมมุมมองต่าง ๆ เกี่ยวกับประติมานวิทยาและศิลปะอันเกี่ยวข้องกับพระคเณศ พร้อมภาพตกแต่งอย่างเต็มอิ่ม
- ↑ Brown, p. 175.
- ↑ Martin-Dubost, p. 213. มุมขวาบนของหน้า
- ↑ Pal, p. vi. และรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับศตวรรษที่ 13 ดูที่: p. viii.
- ↑ Brown, p. 176.
- ↑ ดูภาพถ่ายหมายเลข 2 ใน: Pal, p. 16.
- ↑ สำหรับปางที่ทรงศีรษะมนุษย์ ดูที่:
- ที่พบในประเทศกัมพูชา ดู Brown, p. 10
- ที่พบในนันทรุทยานวินายกมนเทียร ดู "Vinayaka in unique form". The Hindu. 10 October 2003. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-01. สืบค้นเมื่อ 30 April 2015.
- ที่พบที่ Uthrapathiswaraswamy Temple ดู Catlin, Amy; "Vātāpi Gaṇapatim": Sculptural, Poetic, and Musical Texts in the Hymn to Gaṇeśa" ใน Brown pp. 146, 150
- ↑
- Martin-Dubost, pp. 197–198.
- ภาพที่ 9 ใน: Pal, pp. 22–23. สำหรับภาพตัวอย่างที่ว่านี้
- Pal, p. 25 สำหรับภาพตัวอย่างเพิ่มเติม
- ↑
- Pal, pp. 41–64. สำหรับภาพตัวอย่างของพระคเณศทรงร่ายรำจำนวนมาก
- Brown, p. 183. สำหรับความนิยมของปางพระคเณศทรงร่ายรำ
- ↑ Four-armed Gaṇeśa. Miniature of Nurpur school, circa 1810. Museum of Chandigarh. ดูรายละเอียดเกี่ยวกับรูปนี้ได้ที่: Martin-Dubost (1997), p. 64
- ↑ Nagar, p. 77.
- ↑ Brown, p. 3.
- ↑ Nagar, p. 78.
- ↑ Brown, p. 76.
- ↑ Brown, p. 77.
- ↑ Brown, pp. 77–78.
- ↑ Brown, pp. 76–77.
- ↑ สำหรับประเด็นกำเนิดของพระคเณศจากพระสรวลของพระศิวะ และประเด็นย่อยเรื่องคำสาปของพระศิวะ ดูที่ Varaha Purana 23.17. อ้างถึงใน Brown: p. 77.
- ↑ Getty 1936, p. 1.
- ↑ Heras, p. 29.
- ↑ , Granoff, Phyllis. "Gaṇeśa as Metaphor". Brown, p. 90.
- ↑ "Ganesha in Indian Plastic Art" and Passim. Nagar, p. 101.
- ↑ Granoff, Phyllis. "Gaṇeśa as Metaphor". Brown, p. 91.
- ↑ "อุทร" แปลว่า "ท้อง" ระบุใน: Apte, p. 268.
- ↑
- Br. P. 2.3.42.34
- Thapan, p. 200 สำหรับคำอธิบายถึงเนื้อเรื่องนี้อย่างหลากหลายในมุทคลปุราณะ บท 2.56.38–9
- ↑ สำหรับชาร์ตแสดงจำนวนพระกรและปางต่าง ๆ ในประติมานวิทยาฮินดู แบ่งตามแหล่งที่มาและพระนาม ดูที่: Nagar, pp. 191–195. Appendix I.
- ↑ สำหรับประวัติศาสตร์และรูปแบบที่นิยมในการสร้างให้มีหลายพระกรและสี่พระกรเป็นหนึ่งในรูปแบบมาตรฐาน ดูที่ Krishan 1999, p. 89.
- ↑
- Krishan 1999, p. 89
- Brown, p. 103.
- ↑ Martin-Dubost, p. 120.
- ↑
- Martin-Dubost, p. 202, สำหรับภาพรวมของประเด็นงูในประมานวิทยาของพระคเณศ
- Krishan 1999, pp. 50–53, สำหรับภาพรวมของงูในประติมานวิทยาของพระคเณศ
- ↑
- Martin-Dubost, p. 202. สำหรับประเด็นเกี่ยวกับวาสุกิและพระคเณศ
- Krishan 1999, pp. 51–52. สำหรับประเด็นที่พระคเณศทรงนำวาสุกิมาพันรอบพระศอ และนำเศษะมาพันรอบพระอุทร
- ↑
- Martin-Dubost, p. 202. สำหรับจารึกหินจากปี 1470 ที่พูดถึงประเด็นด้ายศักดิ์สิทธิ์หรือนาคเศษะนี้
- Nagar, p. 92. สำหรับงูที่พบในเรื่องด้ายศักดิ์สิทธิ์นี้
- ↑
- Nagar, p. 81. ..."ทรงมีติลกสามขีดบนพระเศียร"
- ↑
- Nagar, p. 81. สำหรับคเณศปุราณะ I.14.21–25 และปัทมปุราณะ ในการเล่าถึงการนำพระจันทร์มาประดับพระเศียรของพระองค์
- Bailey (1995), pp. 198–199. สำหรับคำแปลของคเณศปุราณะ I.14
- ↑
- Nagar, p. 81. ในเรื่องอขงพาลจันทร์
- Sharma (1993 edition of Ganesha Purana) I.46.15. สำหรับพาลจันทร์ ในสหัสรนาม
- ↑ 75.0 75.1 Nagar, Preface.
- ↑ "The Colors of Ganesha". Martin-Dubost, pp. 221–230.
- ↑ Martin-Dubost, pp. 224–228
- ↑ Martin-Dubost, p. 228.
- ↑ Krishan, pp. 48, 89, 92.
- ↑ Krishan, p. 49.
- ↑
- Krishan, pp. 48–49.
- Bailey (1995), p. 348. สำหรับคเณศปุราณะที่กล่าวถึงเรื่องมยุเรศวร (คเณศปุราณะ I.84.2–3)
- Maruti Nandan Tiwari and Kamal Giri, "Images of Gaṇeśa In Jainism", in: Brown, pp. 101–102.
- ↑
- Nagar. Preface.
- Martin-Dubost, pp. 231–244.
- ↑ ระบุไว้ใต้ภาพ 43 ใน: Martin-Dubost, p. 144.
- ↑ มัทสยะปุราณะ 260.54, พรหมานันทะ XXVII , คเณศปุราณะ 2.134–136 อ้างถึงใน: Martin-Dubost, p. 231.
- ↑ Martin-Dubost, p. 232.
- ↑ มูษกวาหนะปรากฏใน v. 6. และอาขุเกตนปรากฏใน v. 67. ของ Gaṇeśasahasranāmastotram: mūla evaṁ srībhāskararāyakṛta 'khadyota' vārtika sahita. (Prācya Prakāśana: Vārāṇasī, 1991). เป็นภาษาสันสกฤต
- ↑ Grimes (1995), p. 86.
- ↑ A Student's Guide to AS Religious Studies for the OCR Specification, by Michael Wilcockson, p. 117
- ↑ Krishan pp. 49–50.
- ↑
- Martin-Dubost, p. 231.
- Rocher, Ludo. "Gaṇeśa's Rise to Prominence in Sanskrit Literature", in: Brown (1991), p. 73.
- ↑ "จ้าวแห่งการกำจัดอุปสรรค" ("Lord of Removal of Obstacles") ปรากฏทั่วไปและปรากฏใน Courtright's Gaṇeśa: Lord of Obstacles, Lord of Beginnings. สำหรับพระนามวิฆเนศวรและวิฆนราชา ดูที่: Courtright, p. 136.
- ↑ "Ganesha: The Remover of Obstacles". 31 May 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-31. สืบค้นเมื่อ 2020-04-18.
- ↑ Courtright, p. 136.
- ↑ มุมมองของธวลิการ์นั้นมีอยู่ใน Dhavalikar, M.K. "Gaṇeśa: Myth and reality" ใน Brown 1991, p. 49 harvnb error: multiple targets (2×): CITEREFBrown1991 (help)
- ↑ Brown, p. 6.
- ↑ Nagar, p. 5.
- ↑ Apte 1965, p. 703.
- ↑ Ganesha Purana I.46, v. 5 of the Ganesha Sahasranama section in GP-1993, Sharma edition. It appears in verse 10 of the version as given in the Bhaskararaya commentary.
- ↑ Sharma edition, GP-1993 I.46, verses 204–206. The Bailey edition uses a variant text, and where Sharma reads Buddhipriya, Bailey translates Granter-of-lakhs.
- ↑ Practical Sanskrit Dictionary By Arthur Anthony McDonell; p. 187 (priya); Published 2004; Motilal Banarsidass Publ; ISBN 8120820002
- ↑ Krishan 1999; pp. 60–70 discusses Ganesha as "Buddhi's Husband".
- ↑ Grimes, p. 77.
- ↑ Chinmayananda 1987, p. 127, In Chinmayananda's numbering system, this is upamantra 8..
- ↑ ดูตัวอย่างของภาพทั้งสองได้ใน: Grimes, pp. 79–80.
- ↑ 105.0 105.1 Tantra Unveiled: Seducing the Forces of Matter & Spirit By Rajmani Tigunait; Contributor Deborah Willoughby; Published 1999; Himalayan Institute Press; p. 83; ISBN 0893891584
- ↑ Translation. Courtright, p. 253.
- ↑ Chinmayananda 1987, p. 127.
- ↑ งานชิ้นนี้มีระบุไว้ใน Martin-Dubost (1997), p. 51, ซึ่งระบุว่า : "This square shaped miniature shows us in a Himalayan landscape the god Śiva sweetly pouring water from his kamaṇḍalu on the head of baby Gaṇeśa. Seated comfortably on the meadow, Pārvatī balances with her left hand the baby Gaņeśa with four arms with a red body and naked, adorned only with jewels, tiny anklets and a golden chain around his stomach, a necklace of pearls, bracelets and armlets."
- ↑
- Nagar, pp. 7–14. สำหรับสรุปเรื่องราวชาตกาลของพระองค์ที่มีหลากหลายในปุราณะต่าง ๆ
- Martin-Dubost, pp. 41–82. Chapter 2, "Stories of Birth According to the Purāṇas".
- ↑ Shiva Purana IV. 17.47–57. Matsya Purana 154.547.
- ↑ Varāha Purana 23.18–59.
- ↑ จาก Brahmavaivarta Purana, Ganesha Khanda, 10.8–37, อ้างถึงใน: Nagar, pp. 11–13.
- ↑ Melton, J. Gordon (13 September 2011). Religious Celebrations: An Encyclopedia of Holidays, Festivals, Solemn Observances, and Spiritual Commemorations. ABC-CLIO. pp. 325–. ISBN 978-1598842050.
- ↑ Thapan, p. 300.
- ↑ Khokar and Saraswati, p.4.
- ↑ Brown, pp. 4, 79.
- ↑ Gupta, p. 38.
- ↑ ดูการศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ที่: Cohen, Lawrence. "The Wives of Gaṇeśa". Brown, pp. 115–140
- ↑
- Getty 1936, p. 33. "According to ancient tradition, Gaṇeśa was a Brahmacārin, that is, an unmarried deity; but legend gave him two consorts, personifications of Wisdom (Buddhi) and Success (Siddhi)."
- Krishan 1999, p. 63. "... in the smārta or orthodox traditional religious beliefs, Gaṇeśa is a bachelor or brahmacārī"
- ↑ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการถือสถานะพรหมจรรย์ของพระองค์ สามารถดูเพิ่มได้ที่: Cohen, Lawrence, "The Wives of Gaṇeśa", ใน: Brown 1991, pp. 126–129 harvnb error: multiple targets (2×): CITEREFBrown1991 (help).
- ↑ "In short the spouses of Gaṇeśa are the personifications of his powers, manifesting his functional features...", อ้างถึงใน: Krishan 1999, p. 62.
- ↑ Cohen, Lawrence, "The Wives of Gaṇeśa", ใน: Brown 1991, p. 115 harvnb error: multiple targets (2×): CITEREFBrown1991 (help).
- ↑ Cohen, Lawrence, "The Wives of Gaṇeśa", ใน: Brown 1991, pp. 131–132 harvnb error: multiple targets (2×): CITEREFBrown1991 (help).
- ↑ "The Wives of Gaṇeśa", in: Brown 1991, pp. 132–135 harvnb error: multiple targets (2×): CITEREFBrown1991 (help).
- ↑ ดูการถกเถียงประเด็นนี้ได้ที่: Cohen, Lawrence, "The Wives of Gaṇeśa", ใน: Brown 1991, pp. 124–125 harvnb error: multiple targets (2×): CITEREFBrown1991 (help).
- ↑ Cohen, Lawrence, "The Wives of Gaṇeśa", ใน: Brown 1991, p. 130 harvnb error: multiple targets (2×): CITEREFBrown1991 (help).
- ↑
- Cohen, Lawrence. "The Wives of Gaṇeśa". Brown, p. 130.
- Thapan, pp. 15–16, 230, 239, 242, 251.
- ↑ Krishan, pp. 1–3
- ↑ K.N. Somayaji, Concept of Ganesha, p. 1 as quoted in Krishan, pp. 2–3
- ↑ Krishan, p.38
- ↑ สำหรับประเด็นการบูชาพระคเณศที่พบใน "ชาวฮินดูทุกลัทธิและนิกาย และในศาสนาเชนและพุทธ" ดูที่: Krishan 1981–1982, p. 285
- ↑ Grimes, p. 27
- ↑ The term modaka applies to all regional varieties of cakes or sweets offered to Ganesha. Martin-Dubost, p. 204.
- ↑ Martin-Dubost, p. 204.
- ↑ Martin-Dubost, p. 369.
- ↑ Martin-Dubost, pp. 95–99.
- ↑ Thapan, p. 215
- ↑ Bhattacharyya, B., "Festivals and Sacred Days", in: Bhattacharyya, volume IV, p. 483.
- ↑ The Experience of Hinduism: Essays on Religion in Maharashtra; Edited By Eleanor Zelliot, Maxine Berntsen, pp. 76–94 ("The Ganesh Festival in Maharashtra: Some Observations" by Paul B. Courtright); 1988; SUNY Press; ISBN 088706664X
- ↑ Metcalf and Metcalf, p. 150.
- ↑
- Brown (1992), p. 9.
- Thapan, p. 225. สำหรับการเปลี่ยนผ่านจากเทศกาลในครัวเรือนเป็นเทศกาลสาธารณะของติลัก/ดิลก
- ↑
- Momin, A.R., The Legacy of G.S. Ghurye: A Centennial Festschrift, p. 95.
- Brown (1991), p. 9. ในการใช้ข้อเท็จจริงที่ว่าพระคเณศทรงเป็น "the god for Everyman" ของติลก
- ↑ สำหรับการจัดมณฑปในสาธารณะของติลก ดูที่: Thapan, p. 225.
- ↑ สำหรับว่าคเณศจตุรถีได้รับความนิยมสู.สุดในรัฐมหาราษฏระ ดู: Thapan, p. 226.
- ↑ "Gaṇeśa in a Regional Setting". Courtright, pp. 202–247.
- ↑ Krishan, p. 92
- ↑ Brown, p. 3
- ↑ Grimes, pp. 110–112
- ↑ Krishan, pp. 91–92
- ↑ T.A. Gopinatha; Elements of Hindu Iconography, pp. 47–48 as quoted in Krishan, p. 2
- ↑ Krishan, pp. 147–158
- ↑ "Ganesha Temples worldwide". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 December 2007.
- ↑ สำหรับภาพของเทวรูปและจารึกดังกล่าว ดูที่: Dhavalikar, M.K., "Gaņeśa: Myth and Reality", ใน: Brown 1991, pp. 50, 63 harvnb error: multiple targets (2×): CITEREFBrown1991 (help).
- ↑ Dhavalikar, M. K. (1971), "A Note on Two Gaṇeśa Statues from Afghanistan", East and West, 21 (3/4): 331–336, JSTOR 29755703
- ↑ 155.0 155.1 155.2 155.3 155.4 Brown 1991, pp. 19–21, chapter by AK Narain. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFBrown1991 (help)
- ↑ 156.0 156.1 156.2 156.3 Brown 1991, pp. 50–55, 120. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFBrown1991 (help)
- ↑ Nagar, p. 4.
- ↑ Raman Sukumar (2003). The Living Elephants: Evolutionary Ecology, Behaviour, and Conservation. Oxford University Press. pp. 67–68. ISBN 978-0198026730.
- ↑ Brown 1991, p. 2. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFBrown1991 (help)
- ↑ Brown 1991, p. 8. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFBrown1991 (help)
- ↑ Bailey 1995, p. ix.
- ↑ Courtright, pp. 10–11.
- ↑ Thapan, p. 75.
- ↑ Devdutt Pattanaik (2016). Ganesha: The Elephant God (Penguin Petit). Penguin UK. p. 5. ISBN 9789385990618.
- ↑ Horns, Tusks, and Flippers: The Evolution of Hoofed Mammals. JHU Press. p. 179.
- ↑ Nanditha Krishna (1 May 2014). Sacred Animals of India. Penguin UK. p. 164. ISBN 9788184751826.
- ↑ "Loving Ganeśa: Hinduism's Endearing Elephant-faced God", by Subramuniya, p. 268
- ↑ Kumar, Ajit, 2007. "A Unique Early Historic Terracotta Ganesa Image from Pal" in Kala, The Journal of Indian Art History Congress, Vol XI. (2006–2007), pp. 89–91
- ↑
- Passim. Thapan.
- Rocher, Ludo. "Gaṇeśa's Rise to Prominence in Sanskrit Literature". Brown, pp. 70–72.
- ↑ Aitareya Brāhmana, I, 21.
- ↑ Bhandarkar. Vaisnavism, Saivism and other Minor Sects. pp. 147–148.
- ↑ Krishan, p. vii.
- ↑ Wilson, H. H. Ṛgveda Saṃhitā. Sanskrit text, English translation, notes, and index of verses. Parimal Sanskrit Series No. 45. Volume II: Maṇḍalas 2, 3, 4, 5. Second Revised Edition; Edited and Revised by Ravi Prakash Arya and K. L. Joshi. (Parimal Publications: Delhi, 2001). (Vol. II); ISBN 8171101380 (Set). RV 2.23.1 (2222) gaṇānāṃ tvā gaṇapatiṃ havāmahe kaviṃ kavīnāmupamaśravastamam | 2.23.1; "ข้าขอขานพระนามพระพรหมันสปติ (Brahmaṇaspati) ผู้นำสูงสุดของบรรดา[เทวดา]บนสวรรค์ ฤๅษีแห่งฤๅษีทั้งปวง"
- ↑
- Nagar, p. 3.
- Rao, p. 1.
- ↑ Rocher, Ludo. "Gaṇeśa's Rise to Prominence in Sanskrit Literature". Brown, p. 69.
- ↑ Rocher, Ludo. "Gaṇeśa's Rise to Prominence in Sanskrit Literature". Brown, pp. 69–70.
- ↑ Wilson, H.H. Ṛgveda Saṃhitā. Sanskrit text, English translation, notes, and index of verses. Parimal Sanskrit Series No. 45. Volume IV: Maṇḍalas 9, 10. Second Revised Edition; Edited and Revised by Ravi Prakash Arya and K.L. Joshi. (Parimal Publications: Delhi, 2001). (Vol. IV); ISBN 8171101380 (Set). RV 10.112.9 (10092) ni ṣu sīda gaṇapate gaṇeṣu tvāmāhurvipratamaṃ kavīnām, ...".
- ↑ Wilson, H.H. Ṛgveda Saṃhitā. Sanskrit text, English translation, notes, and index of verses. Parimal Sanskrit Series No. 45. Volume IV: Maṇḍalas 9, 10. Second Revised Edition; Edited and Revised by Ravi Prakash Arya and K.L. Joshi. (Parimal Publications: Delhi, 2001). (Vol. IV); ISBN 8171101380 (Set). RV 10.112.9 (10092) ni ṣu sīda gaṇapate gaṇeṣu tvāmāhurvipratamaṃ kavīnām; "Lord of the companies (of the Maruts), sit down among the companies (of the worshippers), they call you the most sage of sages".
- ↑ สำหรับการใช้ฤคเวทในการบูชาพระคเณศในปัจจุบัน ดู: Rocher, Ludo. "Gaṇeśa's Rise to Prominence in Sanskrit Literature" ใน Brown 1991, p. 70 harvnb error: multiple targets (2×): CITEREFBrown1991 (help)
- ↑ Edward Jewitt Robinson (1873). Tamil Wisdom; Traditions Concerning Hindu Sages, and Selections from their writings (PDF). London: Wesleyan Conference Office.
- ↑ "tát karāţāya vidmahe | hastimukhāya dhîmahi | tán no dántî pracodáyāt||"
- ↑ "tát púruṣâya vidmahe vakratuṇḍāya dhîmahi| tán no dántî pracodáyāt||"
- ↑ Maitrāyaṇīya Saṃhitā 2.9.1 และ Taittirīya Āraṇyaka 10.1 อ้างถึงใน: Rocher, Ludo, "Gaṇeśa's Rise to Prominence in Sanskrit Literature" ใน Brown 1991, p. 70 harvnb error: multiple targets (2×): CITEREFBrown1991 (help).
- ↑ Rajarajan, R.K.K. (2001). "Sugarcane Gaṇapati". East and West, Rome. 51.3/4: 379–84. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 February 2016 – โดยทาง JSTOR.
{{cite journal}}
: แหล่งข้อมูลอื่นใน
(help)|via=
- ↑ Taittiriya Aranyaka, X, 1, 5.
- ↑ Heras, p. 28.
- ↑
- Krishan 1981–1982, p. 290
- Krishan 1999, pp. 12–15. สำหรับการพูดคุยเรื่องการแต่งเติมเข้าไปในไมตรายณียสังหีนทีหลัง
- ↑
- Thapan, p. 101. สำหรับประเด็นการเติมแต่งเข้ามาในภายหลังของฐาปน (Thapan)
- Dhavalikar, M.K. "Gaṇeśa: Myth and reality" ใน Brown 1991, pp. 56–57 harvnb error: multiple targets (2×): CITEREFBrown1991 (help) สำหรับประเด็นมุมมองของธวิการ์ (Dhavilkar)
- ↑ Rocher, Ludo "Ganesa's Rise to Prominence in Sanskrit Literature". Brown, pp. 71–72.
- ↑ Mahābhārata Vol. 1 Part 2. Critical edition, p. 884.
- ↑ For a statement that "Fifty-nine manuscripts of the Ādiparvan were consulted for the reconstruction of the critical edition. The story of Gaṇeśa acting as the scribe for writing the Mahābhārata occurs in 37 manuscripts", see: Krishan 1999, p. 31, note 4.
- ↑ Brown, p. 4.
- ↑ Winternitz, Moriz. "Gaṇeśa in the Mahābhārata". Journal of the Royal Asiatic Society of Great Britain and Ireland (1898:382). Citation provided by Rocher, Ludo. "Gaṇeśa's Rise to Prominence in Sanskrit Literature". Brown, p. 80.
- ↑ Winternitz, Moriz. "Gaṇeśa in the Mahābhārata". Journal of the Royal Asiatic Society of Great Britain and Ireland (1898:382). อ้างถึงใน Rocher, Ludo. "Gaṇeśa's Rise to Prominence in Sanskrit Literature". Brown, p. 80.
- ↑ สำหรับประเด็นการแต่งเติมพระนามวินายกเข้ามาในภายหลัง ดูเพิ่มที่: Krishan 1999, p. 29.
- ↑ ประเด็นเกี่ยวกับพระนามวิฆนกรตรีนาม (Vighnakartṛīṇām) และการแปลว่าเป็น "ผู้สร้างอุปสรรค" ดูที่: Krishan 1999, p. 29.
- ↑ Brown, p. 183.
- ↑ Krishan, p. 103.
- ↑ Rocher, Ludo. "Gaṇeśa's Rise to Prominence in Sanskrit Literature". Brown, p. 73.
- ↑
- Courtright, p. 163. สำหรับประเด็นการคาดการณ์อายุของปัญจายจนะบูชา และความสัมพันธ์กับสมารตพรหมิน
- Bhattacharyya, S., "Indian Hymnology", ใน: Bhattacharyya (1956), volume IV, p. 470. สำหรับประเด็นเกี่ยวกับปัญจเทวะทั้งห้า
- ↑
- Grimes, p. 162.
- Pal, p. ix.
- ↑ Thapan, pp. 196–197. Addresses the pañcāyatana in the Smārta tradition and the relationship of the Ganesha Purana and the Mudgala Purana to it.
- ↑ สำหรับการพูดคุยและถกเถียงในประเด็นวันเวลาที่คเณศปุราณะแต่งขึ้นนั้น ดูที่: Thapan, pp. 30–33.
- ↑ Preston, Lawrence W., "Subregional Religious Centers in the History of Maharashtra: The Sites Sacred to Gaṇeśa", อ้างถึงใน: N.K. Wagle, ed., Images of Maharashtra: A Regional Profile of India. p. 103.
- ↑ R.C. Hazra, "The Gaṇeśa Purāṇa", Journal of the Ganganatha Jha Research Institute (1951); 79–99.
- ↑ Phyllis Granoff, "Gaṇeśa as Metaphor", อ้างถึงใน Brown, pp. 94–95, note 2.
- ↑ Thapan, pp. 30–33.
- ↑ 208.0 208.1 208.2 Grimes 1995, pp. 21–22.
- ↑ Courtright, p. 252.
- ↑ Bailey 1995, pp. 258–269.
- ↑ Nagar, p. 175.
- ↑ Nagar, p. 174.
- ↑ Thapan, p. 170.
- ↑ Thapan, p. 152.
- ↑ Getty 1936, p. 55.
- ↑ Getty, pp. 55–66.
- ↑ Getty 1936, p. 52.
- ↑ 218.0 218.1 Brown, p. 182.
- ↑ วัฒนะมหาตม์, กิตติ (November 2011). "พระคเณศไม่ใช่เทพศิลปะ รัชกาลที่ 6 ทรงทำให้เป็นเทพศิลปะ". ศิลปวัฒนธรรม. พฤศจิกายน 2011. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2020.
- ↑ ไทยนับถือพระคเณศมากสุดในสุวรรณภูมิ
- ↑
- Nagar, p. 175.
- Martin-Dubost, p. 311.
- ↑ Getty 1936, pp. 37–45.
- ↑ Getty 1936, p. 37.
- ↑ Getty 1936, p. 38.
- ↑ Getty 1936, p. 40.
- ↑ Nagar, p. 185.
- ↑ Wayman, Alex (2006). Chanting the Names of Manjushri. Motilal Banarsidass Publishers: p. 76. ISBN 8120816536
- ↑ Nagar, pp. 185–186.
- ↑ Martin-Dubost, p. 311.
- ↑ Martin-Dubost, p. 313.
- ↑ Krishan, p. 121.
- ↑ Thapan, p. 157.
- ↑ Thapan, pp. 151, 158, 162, 164, 253.
- ↑ Krishan, p. 122.
- ↑ Thapan, p. 158.
บรรณานุกรม
[แก้]- Apte, Vaman Shivram (1965). The Practical Sanskrit Dictionary. Delhi: Motilal Banarsidass Publishers. ISBN 978-8120805675.
{{cite book}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help) (fourth revised and enlarged edition). - Bailey, Greg (1995). Ganeśapurāna: Introduction, translation, notes and index. Harrassowitz. ISBN 978-3447036474.
{{cite book}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help) - Bhattacharyya (Editor), Haridas (1956). The Cultural Heritage of India. Calcutta: The Ramakrishna Mission Institute of Culture.
{{cite book}}
:|last=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) Four volumes. - Brown, Robert (1991), Ganesh: Studies of an Asian God, Albany: State University of New York, ISBN 978-0791406571
- Chinmayananda, Swami (1987), Glory of Ganesha, Bombay: Central Chinmaya Mission Trust, ISBN 978-8175973589
{{citation}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help) - Courtright, Paul B. (1985), Gaṇeśa: Lord of Obstacles, Lord of Beginnings, New York: Oxford University Press, ISBN 978-0195057423
- Ellawala, H (1969), Social History of Early Ceylon, Colombo: Department of Cultural Affairs.
- Getty, Alice (1936). Gaṇeśa: A Monograph on the Elephant-Faced God (1992 reprint ed.). Oxford: Clarendon Press. ISBN 978-8121503778.
{{cite book}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help) - Grimes, John A. (1995), Ganapati: Song of the Self, SUNY Series in Religious Studies, Albany: State University of New York Press, ISBN 978-0791424407
{{citation}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help) - Heras, H. (1972), The Problem of Ganapati, Delhi: Indological Book House
- Khokar, Ashish; Saraswati, S. (2005), Ganesha-Karttikeya, New Delhi: Rupa and Co, ISBN 978-8129107763
- Krishan, Yuvraj (1981–1982), "The Origins of Gaṇeśa", Artibus Asiae, Artibus Asiae Publishers, 43 (4): 285–301, doi:10.2307/3249845, JSTOR 3249845
- Krishan, Yuvraj (1999), Gaṇeśa: Unravelling An Enigma, Delhi: Motilal Banarsidass Publishers, ISBN 978-8120814134
- Krishna, Murthy, K. (1985), Mythical Animals in Indian Art, New Delhi: Abhinav Publications, ISBN 978-0391032873
- Mate, M.S. (1962), Temples and Legends of Maharashtra, Bombay: Bharatiya Vidya Bhavan, OCLC 776939647
- Metcalf, Thomas R.; Metcalf, Barbara Daly, A Concise History of India, ISBN 978-0521630276
- Nagar, Shanti Lal (1992). The Cult of Vinayaka. New Delhi: Intellectual Publishing House. ISBN 978-81-7076-044-3.
{{cite book}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help) - Oka, Krishnaji Govind (1913), The Nāmalingānuśāsana (Amarakosha) of Amarasimha: with the Commentary (Amarakoshodghāṭana) of Kshīrasvāmin, Poona: Law Printing Press, สืบค้นเมื่อ 14 September 2007.
- Ramachandra Rao, S.K. (1992), The Compendium on Gaṇeśa, Delhi: Sri Satguru Publications, ISBN 978-8170308287
- Saraswati, Swami Tattvavidananda (2004), Gaṇapati Upaniṣad, Delhi: D.K. Printworld Ltd., ISBN 978-8124602652
- Śāstri Khiste, Baṭukanātha (1991), Gaṇeśasahasranāmastotram: mūla evaṁ srībhāskararāyakṛta 'khadyota' vārtika sahita, Vārāṇasī: Prācya Prakāśana. Source text with a commentary by Bhāskararāya in Sanskrit.
- Śāstri, Hargovinda (1978), Amarkoṣa with Hindi commentary, Vārānasi: Chowkhambā Sanskrit Series Office
- Thapan, Anita Raina (1997). Understanding Gaṇapati: Insights into the Dynamics of a Cult. New Delhi: Manohar Publishers. ISBN 978-8173041952.