ข้ามไปเนื้อหา

ธนาคารแห่งประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธนาคารแห่งประเทศไทย

ตราพระสยามเทวาธิราช
ตราธนาคารแห่งประเทศไทย

วังบางขุนพรหม ที่ทำการธนาคารแห่งประเทศไทย
สำนักงานใหญ่273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ตั้งพ.ศ. 2485 (82 ปี)
ผู้ว่าการเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563
ธนาคารกลางแห่งประเทศไทย
เงินตราบาท
THB (ISO 4217)
เงินสดสำรอง244,873 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (พ.ศ. 2566)[1]
อัตราธนาคาร2.5%[2]
เว็บไซต์www.bot.or.th แก้ไขสิ่งนี้ที่วิกิสนเทศ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (อังกฤษ: Bank of Thailand) หรือแบงก์ชาติ เป็นธนาคารกลางของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น โดยมีหน้าที่หลักในการดูแลกำกับเรื่องการเงินของชาติ ทั้งออกกฎเกณฑ์และควบคุมสถาบันการเงิน นำออกหมุนเวียนซึ่งธนบัตรไทยรวมถึงการควบคุมการถ่ายโอนเงินตราระหว่างประเทศ และเฝ้าระวังอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับสกุลเงินตราอื่น

ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นหลังจากประเทศไทยได้มีธนาคารพาณิชย์ทั้งของรัฐและเอกชนเริ่มดำเนินการไปก่อนหน้านั้นแล้ว ภารกิจและหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยเดิมซ้อนเหลื่อมอยู่กับกระทรวงการคลังและได้มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับหลังจากที่ระบบการเงินของโลกพัฒนาไปและมีวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญต่าง ๆ

ประวัติ

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2482 เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามและเหตุการณ์ที่เกิดจากสงครามได้เร่งรัดความจำเป็นต้องจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นในประเทศไทย ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ร่วมมือกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย เริ่มจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2482 อันเป็นแนวทางไปสู่การตราพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2485 ในสมัยที่ พลเอกเภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (พ.ศ. 2484 - 2487) ได้มีการตราพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 จัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ขึ้นเป็นองค์กรอิสระ และ จากพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มประกอบธุรกิจได้ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2485 เป็นต้นไป พร้อมกันนี้ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย เป็นผู้ว่าการธนาคารพระองค์แรก (พ.ศ. 2485 - 2489) พระองค์ได้ทรงวางระเบียบแบบแผนและดำเนินการจนธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำรงอยู่เป็นปึกแผ่นมั่นคงตลอดมาจนปัจจุบัน

การควบคุมการปริวรรตเงินตรา

[แก้]

ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเนื่องจากความจำเป็นของสงครามมหาเอเชียบูรพา และการที่ประเทศไทยต้องจำยอมเข้าร่วมเป็นสัมพันธมิตรกับประเทศญี่ปุ่น ได้มีผลกระทบกระเทือนต่อการเงินของประเทศในขณะนั้นและภายหลังเป็นอย่างมาก กล่าวคือ การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศต้องหยุดชะงักลง ทุนสำรองเงินตราที่เก็บไว้ในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาก็ถูกกักกัน ไม่สามารถนำมาใช้หนี้ระหว่างประเทศได้ นอกจากนี้ประเทศไทยยังต้องยอมรับภาระหลายประการ อันเป็นผลทำให้เสถียรภาพเงินบาทอยู่ในสภาพไม่มั่นคงพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 นี้ ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการออกกฎกระทรวง ควบคุม จำกัด หรือห้ามการปฏิบัติกิจการทั้งปวงที่เกี่ยวกับการปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ในการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ควบคุมดูแล

เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจควบคุมธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ รัฐบาลจึงตราพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2488 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2488 มีหน่วยงานควบคุมโดยเฉพาะคือ หน่วยควบคุมธนาคารพาณิชย์ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังคงเป็นผู้กำกับการตามพระราชบัญญัติอยู่

เมื่อพลเอกเภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่า การกระทรวงการคลังเป็นสมัยที่ 2 (พ.ศ. 2494 - 2500) ได้มอบหมายให้นายเสริม วินิจฉัยกุล ปลัดกระทรวงการคลัง ไปติดต่อคณะสำรวจเศรษฐกิจของธนาคารโลก โดยธนาคารโลกได้ส่งผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาต่าง ๆ มาสำรวจประเทศไทย ซึ่งคำแนะนำในการสำรวจเศรษฐกิจของคณะผู้เชี่ยวชาญนี้ ได้เป็นแนวทางในการวางแผนเศรษฐกิจ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2501 และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้พยายามที่จะปฏิรูประบบการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการคลัง

ได้ตราพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของเงินตรา ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรักษาทุนสำรองเงินตราไว้ก้อนหนึ่ง สินทรัพย์ที่มีอยู่ในทุนสำรองเงินตรามีหลายประเภท

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ได้สถาปนาสำนักงบประมาณขึ้น มีฐานะเทียบเท่ากรมในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี งานจัดทำงบประมาณซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังมาตลอด ก็เปลี่ยนเป็นงานของสำนักงบประมาณให้เป็นผู้จัดทำงบประมาณ

ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2504 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังโดยมีฐานะเทียบเท่ากรม ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2504 การจัดตั้งหน่วยงานใหม่นี้ เนื่องจากดำริของนายสุนทร หงส์ลดารมภ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยนั้น ที่เห็นว่าจำเป็นต้องนำวิทยาการแผนใหม่เข้ามาใช้ในการบริหารและการกำหนดนโยบายการคลังตลอดจนจะต้องมีองค์กรหรือจุดรวมที่จะสามารถประสานกิจกรรมที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ จึงควรต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานที่เหมาะสม โดยการปรับปรุงสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง และจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ที่ให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในการวางนโยบายการคลังและเศรษฐกิจของรัฐ ตลอดจนเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สำนักงานเศรษฐกิจการคลังจึงก่อตั้งขึ้น โดยยุบกองเศรษฐกิจการคลังและกองสถิติในสำนักงานปลัดกระทรวงมาอยู่ในหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้ และแต่งตั้ง ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญการคลัง สำนักปลัดกระทรวงการคลังในขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังคนแรก

ในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2505 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ขึ้น โดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2488 เนื่องจากในขณะนั้น การธนาคารและการเศรษฐกิจได้ขยายตัวขึ้นเป็นลำดับ จึงสมควรได้ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ให้เหมาะสม เพื่อประโยชน์แก่การเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ตลอดจนให้ความคุ้มครองแก่ผู้ฝากเงินกับธนาคาร ตรีภาคภูมิ

ใน พ.ศ. 2506 กรมศุลกากรได้ปรับปรุงรหัสสินค้าของไทย ทั้งนี้เนื่องจากองค์การสหประชาชาติได้ปรับปรุงรหัสสินค้าเพื่อนำมารวบรวมสถิติสินค้าเข้าออกของนานาประเทศ ซึ่งในปีเดียวกันนี้ กรมศุลกากรได้เสนอคณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังแต่งตั้งคณะกรรมการพิกัดอัตราศุลกากร ให้ทำหน้าที่กำหนดหรือปรับปรุงแก้ไขพิกัดอัตราศุลกากร

ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2516 กระทรวงการคลังในสมัยที่นายเสริม วินิจฉัยกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2516) ออกตามความในพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 สาระสำคัญของกฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เพื่อประโยชน์ในการดำรงไว้ซึ่งค่าของเงินบาท สมควรจะได้กำหนดสกุลเงินตราต่างประเทศ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราซื้อหรือขายทันทีตามที่ธนาคารพาณิชย์ในราชอาณาจักรจะเรียกให้ซื้อหรือขาย โดยกำหนดให้เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเป็นเงินตราต่างประเทศนั้น

การกำกับดูแลสถาบันการเงิน

[แก้]

ใน พ.ศ. 2517 กระทรวงการคลังได้เสนอร่างพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 และประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 สืบเนื่องมาจากความจำเป็นต้องจัดให้มีตลาดหรือสถานที่อันเป็นศูนย์กลางการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ที่มีสภาพสมบูรณ์ภายใต้การควบคุมของทางการอย่างใกล้ชิด และมีมาตรการอันเหมาะสมเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม เพื่อเป็นการระดมเงินทุนในการพัฒนาประเทศและการพัฒนาตลาดทุนในราชอาณาจักร

ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 ขึ้น โดยที่พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ได้ประกาศใช้บังคับมานาน มีบทบัญญัติหลายมาตราไม่เหมาะสมกับกาลสมัย สมควรที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติเดิมและเพิ่มเติมบทบัญญัติใหม่เพื่อให้เกิดความมั่นคงและเป็นหลักประกันแก่การประกอบการธนาคารพาณิชย์ พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการประกอบกิจการด้วย

วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ขึ้น เป็นกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการและหลักเกณฑ์ของธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ โดยการกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย

ในปี พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง นักลงทุนต่างประเทศขาดความเชื่อถือในสถาบันการเงินไทย พากันถอนเงินออกจากประเทศ ส่งผลให้เงินทุนสำรองของทางการลดต่ำลงอย่างมาก จนนำไปสู่การปิดสถาบันการเงินรวม 56 แห่ง ต่อมาจึงได้มีการเสนอแก้ไขกฎหมายการเงินพร้อมกันถึงสามฉบับ และได้รับการพิจารณาให้นำออกใช้ในปี พ.ศ. 2551 สมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี (จากการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) กฎหมายทั้งสามฉบับได้แก่

  1. พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551
  2. พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 โดยยกเลิก พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505
  3. พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 เพื่อลดภาระทางการคลังของรัฐ และสามารถกำหนดกลไกต่าง ๆ ในการคุ้มครองเงินฝากอย่างเป็นระบบ

ภายหลังนายเริงชัย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถูกธนาคารแห่งประเทศไทยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 เป็นเงินจำนวน 186,015,830,720 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี [3]

การควบคุมอื่น ๆ

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2530 ได้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร โดยพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 พิกัดอัตราศุลกากรนี้ได้ใช้ระบบจำแนกประเภทสินค้าและรหัสประเภทพิกัดของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร ที่เรียกว่า ระบบ ฮาร์โมไนซ์ (Harmonized System) โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2531

ในปี พ.ศ. 2531 ได้มีการพิจารณาว่าโครงสร้างอัตราเงินเดือนข้าราชการในขณะนั้นยังไม่เหมาะสมเนื่องจากมีความแตกต่างกับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในลักษณะใกล้เคียงกันในภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจมาก ประกอบกับกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่าฐานะการคลังของรัฐบาลดีขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจดีขึ้น จึงเห็นสมควรปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนข้าราชการให้เหมาะสมกับภาวะหน้าที่ความรับผิดชอบ และให้เกิดความเป็นธรรมเมื่อเทียบกับกลุ่มอาชีพอื่น ตามบัญชี ก และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2532

ในปี พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้ง "คณะกรรมการป้องปรามธุรกิจการเงินนอกระบบ" สาเหตุเนื่องมาจากมีการประกอบธุรกิจการเงินนอกระบบ ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ คณะกรรมการชุดนี้จะกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจการเงินนอกระบบทั้งหมด สำหรับให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ใช้เป็นหลักในการปฏิบัติงาน

ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2533 รัฐบาลอนุมัติให้ทำการปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนข้าราชการ จากบัญชี ก เป็นบัญชี ข โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2534

ในปัจจุบัน เศรษฐกิจการค้าของโลกมีการเปลี่ยนแปลงขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงจากประเทศเกษตรกรรม และนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น มาเป็นการส่งออกผลผลิตในด้านเกษตรกรรมและการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก ขณะเดียวกันสถานการณ์ทั่วโลก มีกลุ่มเศรษฐกิจการค้ารวมตัวกันหลายกลุ่ม ทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชีย ตลอดจนประเทศสังคมนิยมต่าง ๆ ก็มีการเปิดการค้าเสรีขึ้นหลายประเทศ ทำให้ประเทศไทยต้องปรับปรุงนโยบายโครงสร้างอัตราภาษี และแผนเศรษฐกิจการค้าให้มีลักษณะเป็นสากล เพื่อรองรับสถานการณ์โลก และเมื่อประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีกับนานาประเทศ ก็จำเป็นต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เพื่อให้สอดคล้องกับพันธสัญญาที่ทำไว้ เช่น พันธะภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน พันธะภายใต้องค์การค้าโลก เป็นต้น

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประจำปี 2534 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในบริเวณโรงงานยาสูบ ถนนรัชดาภิเษก นับเป็นการประชุมที่สำคัญและยิ่งใหญ่กว่าการประชุมใด ๆ ที่เคยจัดขึ้นในประเทศไทย ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้แทนทางการจากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ จำนวน 151 ประเทศ นำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ/หรือผู้ว่าการธนาคารกลางผู้แทนจากธนาคารพาณิชย์ และสื่อมวลชนทั่วโลก รวมทั้งผู้สังเกตการณ์จากสถาบันการเงิน องค์การระหว่างประเทศ ผู้เข้าประชุมมีจำนวนประมาณ 10,000 คน การจัดประชุมครั้งนี้เป็นการสร้างชื่อเสียงและก่อประโยชน์แก่ประเทศโดยส่วนรวมในด้านต่าง ๆ เป็นอันมาก

ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2535 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยยกเลิกพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 และพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2527 ตามพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ ให้มีคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่เรียกว่า "คณะกรรมการ ก.ล.ต." โดยมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลในเรื่องหลักทรัพย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง องค์การที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ การออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ และการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์

เมื่อประเทศไทยได้ร่วมกับสมาคมอาเซียนจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนโดยมีเป้าหมายหลักคือ การลดภาษีศุลกากรแก่สินค้าที่ขายระหว่างประเทศภาคีอาเซียนให้เหลือไม่เกินร้อยละ 5 รวมทั้งขจัดมาตรการกีดกันทางการค้าอื่น ๆ ภายใน 15 ปี นับจากวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2536 กระทรวงการคลังก็ได้ประกาศลดอัตราศุลกากร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอัตราอากรสินค้าอุตสาหกรรม ที่นำเข้าจากประเทศสมาชิกอาเซียนให้เหลือไม่เกินร้อยละ 30 นับจากวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการลดภาษีของไทย

ในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2536 กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้คัดเลือกประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านการบริหารเงินทุนเข้าและออก เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถจัดการใช้ประโยชน์จากเงินทุนต่างประเทศได้ดี

นายเริงชัย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถูกธนาคารแห่งประเทศไทยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 เป็นเงินจำนวน 186,015,830,720 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี [4]

ในปี พ.ศ. 2554 สภาทองคำโลกได้รายงานว่าธนาคารแห่งประเทศไทยซื้อทองคำมากเป็นอันดับที่สามของโลก รองจาก เม็กซิโก และรัสเซีย ในช่วงระหว่าง เดือนมกราคม ถึง เดือนมีนาคม โดยธนาคารแห่งประเทศไทยทำการซื้อทองคำในเดือนมีนาคม เดือนเดียวถึง 9.4 ตันส่งผลให้อัตราทองคำที่เป็นอัตราทุนสำรองระหว่างประเทศสูงมากกว่า100ตันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ยอดรวมทองคำทั้งหมดอยู่ที่ 108.9 ตัน อนึ่งในปี พ.ศ. 2553 มีรายงานจากสภาทองคำโลกที่ได้รายงานผลการสำรวจประเทศที่ถือทองคำเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศเชิงปริมาณนับว่าประเทศไทยมีอัตราสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศที่เป็นทองคำสูงเป็นอันดับที่ 33 จากทั่วโลกและอันดับสามจากประเทศในภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศสิงคโปร์ เท่านั้น โดยในปีพ.ศ. 2553 ประเทศไทยมีอัตราสะสมทองคำเชิงปริมาณที่ 99.5 ตันการสะสมทองคำในช่วงต้นปี พ.ศ. 2554 ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศที่เป็นทองคำอยู่ที่อัตราร้อยละ 2.8 ของทุนสำรองระหว่างประเทศทั้งหมดอย่างไรก็ตามมีแนวโน้มว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะซื้อทองคำเพิ่มอีก เนื่องจากผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย นาย ประสาร ไตรรัตน์วรกุลได้ประกาศถึงนโยบายที่ต้องการเพิ่มอัตราทุนสำรองระหว่างประเทศที่เป็นทองคำให้ได้ถึงร้อยละ 3 ผลกระทบทางอ้อมของการสะสมทองคำของธนาคารแห่งประเทศไทยคือราคาทองคำในตลาดซื้อขายได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ราคาทองคำแท่ง ราคารับซื้อ 21900 บาท ราคาขาย 22000 บาท ราคาซื้อขายสูงกว่า 21900 บาทเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้แต่งตั้ง ดร.ฉิม ตันติยาสวัสดิกุลที่ปรึกษาผู้ว่าการ ด้านเทคโนโลยีข้อสนเทศและระบบการชำระเงิน ซึ่งเป็นระดับเทียบเท่ารองผู้ว่าการ ธปท.ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน และ ดร.ดวงมณี วงศ์ประทีป ขึ้นเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าการ ธปท.ด้านนโยบายต่างประเทศ เทียบเท่าระดับรองผู้ว่าการ ธปท. ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน

ในปี พ.ศ. 2555 ได้เปิดศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินและให้ความรู้ทางการเงินกับประชาชนทั่วไปมิให้ถูกหลอกหลวงจากบุคคลที่ต้องการหลอกลวงทางอิเล็กทรอนิกส์ ทางเครื่องมือสื่อสารใด ๆ และได้จัดทำธนบัตร 50 บาท รูปแบบใหม่ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 อีกด้วย[5][6][7]

ธุรกิจการเงินที่ ธปท. กำกับดูแล

[แก้]
ธุรกิจการเงินที่ ธปท. กำกับดูแลและตรวจสอบ[8]
ธปท. กำกับดูแล ธปท. ตรวจสอบ ตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง
  1. สถาบันการเงิน
    1. ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ (Commercial Bank)
      1. ธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ (Commercial Bank)
      2. ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย (Retail Bank)
      3. ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศ (Subsidiary)
      4. สาขาของธนาคารต่างประเทศ (Foreign Bank Branch / Full Branch)
    2. บริษัทเงินทุน (Finance Company)
    3. บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (Credit Fancier Company)
  2. สำนักงานผู้แทน
  3. บริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.)
  4. ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank)
    • ผู้ให้บริการบัตรเครดิต
    • ผู้ให้บริการสินเชื่อ​ส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ
    • ผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับ (นาโนไฟแนนซ์)
    • ผู้ให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment)
    • ผู้ให้บริการด้านการแลกเปลี่ยนเงินหรือโอนเงินตราต่างประเทศ
  1. สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ
  2. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (Thai Asset Management Corporation : TAMC)
  3. บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ

รายนามผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

[แก้]

สำนักงานในปัจจุบัน

[แก้]
ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร (วังบางขุนพรหม)
  • สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร (วังบางขุนพรหม)
  • สำนักงานสุรวงศ์
  • สำนักงานภาคเหนือ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และสาขาย่อยลำปาง
  • สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
  • สำนักงานภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
  • ศูนย์จัดการธนบัตรกรุงเทพฯ และที่จังหวัดใหญ่อีก 10 แห่ง ตั้งอยู่ที่
    • เชียงใหม่
    • ลำปาง
    • พิษณุโลก
    • ขอนแก่น
    • อุบลราชธานี
    • นครราชสีมา
    • ระยอง
    • สุราษฎร์ธานี
    • พังงา
    • หาดใหญ่

อ้างอิง

[แก้]
  1. "EC_XT_031 International Reserves (Weekly) 1/ 2/". app.bot.or.th. ธนาคารแห่งประเทศไทย | Bank of Thailand. สืบค้นเมื่อ 27 October 2023.
  2. "อัตราดอกเบี้ยนโยบาย". www.bot.or.th. ธนาคารแห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 27 October 2023.
  3. https://prachatai.com/journal/2005/06/4217
  4. https://prachatai.com/journal/2005/06/4217
  5. "ประวัติ ธนาคารแห่งประเทศไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-13. สืบค้นเมื่อ 2015-07-07.
  6. "Thailand Sovereign Wealth Fund Proposal Strikes Again เก็บถาวร 2015-04-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน." Sovereign Wealth Fund Institute. Retrieved 3 September 2014.
  7. กำกับการดูแลทางการเงิน
  8. "ธุรกิจการเงินที่ ธปท. กำกับดูแล" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-11-10. สืบค้นเมื่อ 2022-11-08.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]