ข้ามไปเนื้อหา

ซีเอช-53อี ซูเปอร์สตัลเลียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซีเอช-53อี ซูเปอร์สตัลเลียน
เอ็มเอช-53อี ซีดรากอน
ข้อมูลทั่วไป
บทบาทเฮลิคอปเตอร์บรรทุกขนาดหนัก
บริษัทผู้ผลิตซิคอร์สกี้ แอร์คราฟท์
สถานะประจำการ
จำนวนที่ผลิต115 ลำ
ประวัติ
เริ่มใช้งานพ.ศ. 2524
เที่ยวบินแรก1 มีนาคม พ.ศ. 2517
พัฒนาจากซีเอช-53 ซีสตัลเลียน
สายการผลิตซิคอร์สกี้ ซีเอช-53เค

ซีเอช-53อี ซูเปอร์สตัลเลียน (อังกฤษ: CH-53E Super Stallion) เป็นเฮลิคอปเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและหนักที่สุดของกองทัพสหรัฐ มันถูกพัฒนามาจากซีเอช-53 ซีสตัลเลียน โดยเพิ่มเครื่องยนต์ที่สามเข้าไป กะลาสีและนาวิกโยธินมักเรียกมันว่า"ตัวสร้างเฮอร์ริเคน" เพราะว่ามันมักทำให้เกิดกำแพงลมขณะบินขึ้น มันถูกสร้างขึ้นโดยซิคอร์สกี้ แอร์คราฟท์ให้กับนาวิกโยธินสหรัฐ อีกรุ่นหนึ่งคือเอ็มเอช-53อี ซีดรากอน (อังกฤษ: MH-53E Sea Dragon) ซึ่งเป็นของกองทัพเรือสหรัฐเพื่อใช้ในการกวาดทุ่นระเบิดและบรรทุกของหนัก ซีเอช-53อี/เอ็มเอช-53อีถูกเรียกว่า"เอส-80"โดยซิคอร์สกี้

ปัจจุบันกำลังพัฒนาซีเอช-53เค ซึ่งจะติดตั้งเครื่องยนต์ใหม่ ใบพัดที่ใช้วัสดุผสม และภายในที่กว้างขึ้น

การพัฒนา

[แก้]

ภูมิหลัง

[แก้]

ซีเอช-53 เป็นผลผลิตจากการเฟ้นหาเฮลิคอปเตอร์ขนาดหนักของนาวิกโยธินสหรัฐซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2505 เอส-65 ของซิคอร์สกี้ถูกเลือกให้ได้ทำสัญญา โดยเอาชนะซีเอช-47 ชีนุกรุ่นดัดแปลงของโบอิง ต้นแบบคือวายซีเอช-53เอได้ทำการบินครั้งแรกในัวนที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2507[1] มันถูกเรียกว่า"ซีเอช-53เอ ซีสตัลเลียน"และเริ่มส่งมอบในปีพ.ศ. 2509[2] ซีเอช-53เอลำแรกใช้เครื่องยนต์เจเนรัล อิเลกทริก ที64-จีอี-6 สองเครื่องยนต์ โดยให้กำลัง 2,850 แรงม้า น้ำหนักสูงสุด 20,865 กิโลกรัม รวมทั้งของบรรทุกอีก 20,00 กิโลกรัม[3]

ซีเอช-53เอมีหลายรุ่น เช่น อาร์เอช-53เอ/ดี เอชเอช-53บี/ซี ซีเอช-53ดี ซีเอช-53จี และเอ็มเอช-53เอช/เจ/เอ็ม อาร์เอช-53เอและอาร์เอช-53ดีถูกใช้โดยกองทัพเรือสหรัฐในการกวาดทุ่นระเบิด ซีเอช-53ดีมีเครื่องยนต์ที64 ที่ทรงพลังกว่า โดยถูกใช้ในรุ่นเอช-53 ทั้งหมด และมีถังเชื้อเพลิงด้านนอก ซีเอช-53จีนั้นถูกสร้างให้กับเยอรมนี[1]

เอชเอช-53บี/ซี ซูเปอร์จอลลีไจแอนท์ของกองทัพอากาศสหรัฐเป็นรุ่นสำหรับปฏิบัติการพิเศษและถูกใช้ครั้งแรกในสงครามเวียดนาม เอ็มเอช-53เอช/เจ/เอ็ม เพฟโลว์ของกองทัพอากาศเป็นเอช-53 รุ่นสุดท้ายที่มีสองเครื่องยนต์และมีระบบอิเลกทรอนิกอากาศพิเศษ

เอช-53อี

[แก้]

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2510 นาวิกโยธินสหรัฐต้องการเฮลิคอปเตอร์ที่สามารถบรรทุกได้มากกว่าซีเอช-53ดี 1.8 เท่า ซึ่งจะเข้ามาทำหน้าที่ยานจู่โจมสะเทินสะเทินบก กองทัพเรือและกองทัพบกสหรัฐก็มองหาเฮลิคอปเตอร์ที่คล้ายกันในเวลานั้น ก่อนหน้านั้นซิคอร์สกี้ได้ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาซีเอช-53ดี โดยใช้ชื่อว่า"เอส-80" โดยมีจุดเด่นที่เครื่องยนต์เทอร์โบชาฟท์เครื่องที่สามและระบบใบพัดที่ทรงพลังกว่าเดิม ซิคอร์สกี้ยื่นแบบเอส-80 ให้กับนาวิกโนธินในปีพ.ศ. 2511 พวกเขาชอบมันตรงที่มันขนส่งได้อย่างรวดเร็ว และเริ่มลงทุนเพื่อพัฒนามันต่อ[4]

ในปีพ.ศ. 2513 ด้วยแรงกดดันจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐที่ต้องการให้มีการสร้างโบอิง เวอร์ทอล เอ็กซ์ซีเอช-62 ให้กับกองทัพบก กองทัพเรือและนาวิกโยธินสามารถแสดงให้เห็นว่าเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกนั้นใหญ่เกินไปที่จะลงจอดบนเรือและช้าเกินไปที่จะไล่ตามเฮลิอปคอปเตอร์ของพวกเขา[4] การทดสอบต้นแบบได้มีการตรวจสอบเครื่องยนต์ที่สามและระบบใบพัดที่ใหญ่ขึ้นด้วยการเพิ่มใบพัดใบที่ 7 เข้าไปเมื่อต้นทษวรรษที่ 2513 ในปีพ.ศ. 2517 วายซีเอช-53อีก็ขึ้นบินเป็นครั้งแรก[5]

การเปลี่ยนแปลงของซีเอช-53อีนั้นมีทั้ง ระบบส่งกำลังที่ทรงพลังและลำตัวที่ขยายออกอีก 1.88 เมตร ใบพัดหลักถูกเปลี่ยนเป็นไทเทเนียมผสมกับไฟเบอร์กลาส[4] ส่วนหางก็ถูกเปลี่ยนแปลงเช่นกัน แพนหางแนวนอนส่วนล่างถูกแทนที่ด้วยหางแนวตั้งที่ใหญ่กว่า นอกจากนี้ยังมีระบบควบคุมการบินอัตโนมัติแบบใหม่ถูกใส่เข้าไปด้วย[5] ระบบควบคุมการบินดิจิทัลทำให้นักบินไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป[4]

การทดสอบวายซีเอช-53อีแสดงให้เห็นว่ามันสามารถยกของได้ถึง 17.8 ตัน (ห่างจากพื้นถึงล้อ 15 เมตร) และสามารถทำความเร็ว 310 กิโลเมตรต่อชั่วโมงด้วยน้ำหนัก 56,000 ปอนด์ได้โดยไม่มีการบรรทุกภายนอก สิ่งนี้นำไปสู่เฮลิคอปเตอร์สองลำที่สร้างก่อนการผลิตและบทความจากการทดสอบ ในเวลานี้เองที่ส่วนหางถูกปรับเปลี่ยนให้มีตำแหน่งสูงขึ้น แพนหางแนวนอนหันหน้าเข้าใบพัด โดยทำมุม 20 องศา[5]

ซีเอช-53อีขณะทำการบินทดสอบ มันแสดงให้เห็นเครื่องยนต์ทั้งสามและส่วนหางแบบสุดท้าย

การผลิตถูกทำสัญญาในปีพ.ศ. 2521 และนำเข้าประจำการหลังเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524[4] ซีเอช-53อีลำแรกที่ผลิตทำการบินในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2523[5] กองทัพเรือสหรัฐได้รับซีเอช-53อีในจำนวนที่น้อย นาวิกโยธินได้รับไปทั้งสิ้น 177 ลำ[4]

กองทัพเรือต้องการซีเอช-53อีสำหรับการกวาดทุ่นระเบิด โดยใช้ชื่อว่า"เอ็มเอช-53อี ซีดรากอน" ส่วนที่ยื่นออกมาด้านข้างถูกขยายเพื่อให้มันบรรทุกเชื้อเพลิงได้มากขึ้นและทนทานขึ้น มันยังมีระบบเติมเชื้อเพลิงทางอากาศและสามารถติดตั้งถังเชื้อเพลิงขนาด 300 แกลลอนไว้ภายในได้ เอ็มเอช-53อีมีระบบควบคุมการบินแบบดิจิทัลที่มีจุดเด่นในการใช้เครื่องมือกวาดทุ่นระเบิด[4] เอ็มเอช-53อีลำต้นแบบทำการบินครั้งแรกในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2544 เอ็มเอช-53อีถูกใช้โดยกองทัพเรือเมื่อเริ่มปีพ.ศ. 2529 เอ็มเอช-53อีสามารถเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศและลอยตัวอยู่[5] กองทัพเรือได้รับซีดรากอนทั้งสิ้น 46 ลำ และดัดแปลงอาร์เอช-53ดีลำที่เหลือให้กลับไปทำหน้าที่ขนส่งดังเดิม[4]

เอ็มเอช-53อี ซีดรากอนจากเอชเอ็ม-15 ขณะทำการซ้อมกวาดทุ่นระเบิดในปีพ.ศ. 2550

นอกจากนี้เอ็มเอช-53อีจำนวนมากถูกส่งออกให้กับญี่ปุ่นโดยใช้ชื่อว่าเอส-80-เอ็ม-1 เพื่อใช้ในกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น

ซีเอช-53อีนั้นทำหน้าที่ทั้งในกองทัพเรือและนาวิกโยธินสหรัฐในบทบาทขนส่งขนาดหนัก มันสามารถยกอุปกรณ์หนักๆ เช่น ยานหุ้มเกราะขนาดเบาแอลเอวี-25 ปืนฮาวไอเซอร์เอ็ม198 ขนาด 155 ม.ม.พร้อมทั้งพลปืนและกระสุน และสามารถยกอากาศยานทั้งหมดของนาวิกโยธินได้ยกเว้นเคซี-130

ซีเอช-53เค

[แก้]

นาวิกโยธินสหรัฐได้วางแผนทำการพัฒนาซีเอช-53 ส่วนใหญ่ของพวกเขาเพื่อยืดอายุการใช้งาน แต่แผนก็ต้องพบกับอุปสรรค จากนั้นซิคอร์สกี้ก็ได้ยื่นข้อสเนอเป็น"ซีเอช-53เอ็กซ์" และในที่สุดเมื่อถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2549 นาวิกโยธินก็ทำสัญญาเพื่อซื้อ"ซีเอช-53เค" 156 ลำ[6][7] นาวิกโยธินกำลังวางแผนที่จะเริ่มปลดประจำการซีเอช-53 ในปีพ.ศ. 2552 และต้องการเฮลิคอปเตอร์แบบใหม่อย่างเร็วที่สุด[8]

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2550 นาวิกโยธินสหรัฐได้เพิ่มจำนวนซีเอช-53เคเป็น 227 ลำในรายการสั่งซื้อ[9] มันถูกคาดว่าจะทำการบินครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 และเริ่มทำให้มันเข้าประจำการได้ในปีพ.ศ. 2558[10] การส่งมอบจะเริ่มขึ้นในปลายปีพ.ศ. 2565[8]

การออกแบบ

[แก้]
มุมมองห้องนักบินของซีเอช-53อีขณะทำการเติมเชื้อเพลิงทางอากาศจากเอชซี-130 เฮอร์คิวลิส

แม้ว่าจะมีความคล้ายคลึงด้านโครงสร้าง แต่ซีเอช-53อีนั้นมีเครื่องยนต์ 3 เครื่องที่ทรงพลังกว่าซีเอช-53เอ ซีสตัลเลียนที่มีสองเครื่องยนต์ รุ่นอีนั้นยังมีใบพัดที่ใหญ่กว่าจำนวนเจ็ดใบ

ซีเอช-53อีสามารถบรรทุกทหารได้ 55 นายหรือสินค้าหนัก 13,610 กิโลกรัม และยังสามารถขนส่งภายนอกโดยใช้ตะขอที่รับน้ำหนักได้ 16,330 กิโลกรัม[4] ซูเปอร์สตัลเลียนมีความเร็วประหยัดที่ 278 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและพิสัย 1,000 กิโลเมตร[11] มันมีท่อสำหรับเติมเชื้อเพลิงที่ด้านหน้า มันมีปืนกลสามกระบอก หนึ่งกระบอกที่ด้านข้างของประตูทางเข้าสำหรับลูกเรือ หนึ่งกระบอกที่หน้าต่างด้านหลังนักบินผู้ช่วย และอีกหนึ่งกระบอกที่ด้านท้าย[ต้องการอ้างอิง] ซีเอช-53อียังมีเครื่องปล่อยพลุและเป้าล่ออีกด้วย[4]

เอ็มเอช-53อีมีจุดเด่นที่ส่วนเสริมด้านข้างสำหรับเชื้อเพลิงที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและสามารถใช้เครื่องกวาดทุ่นระเบิดได้ มันมีระบบต่อต้านทุ่นระเบิดและปืนกลอีกสองกระบอก ระบบควบคุมการบินแบบดิจอตอลของมันถูกออกแบบมาเพื่อใช้เครื่องกวาดทุ่นระเบิดโดยเฉพาะ[4]

การพัฒนาซีเอช-53อีมีทั้งการใช้ระบบมองกลางคืน ปืนกลจีเอยู-21/เอและเอ็ม3พีขนาด 12.7 ม.ม. และอินฟราเรดส่วนหน้ารุ่นเอเอคิว-29เอ[4]

ซีเอช-53อีและเอ็มเอช-53อีเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกตะวันตก ในขณะที่ซีเอช-53เคซึ่งขณะนี้กำลังพัฒนาขึ้นนั้นจะมีขนาดที่ใหญ่กว่า พวกมันเป็นอันดับสามรองจากมิล เอ็มไอ-26 และมิล เอ็มไอ-12 ของรัสเซีย ซึ่งสามารถบรรทุกของได้กว่า 22 ตันและ 44 ตันตามลำดับ

ประวัติการใช้งาน

[แก้]
ซีเอช-53อีกำลังบินขึ้นจากเรือยูเอสเอสไซปันของสหรัฐ
นาวิกโยธินกำลังเตรียมขอเกี่ยวเพื่อใช้ซีเอช-53อียกยูเอช-60 ได้เสียหายในอิรัก

ทศวรรษที่ 2523

[แก้]

ซูเปอร์สตัลเลียนเข้าประจำการครั้งแรกในฝูงบินของสหรัฐในนอร์ทแคโรไลน่า อีกหลายปีต่อมาอีกสองฝูงบินถูกตั้งขึ้นที่แคลิฟอร์เนีย นอกจากนี้แล้วยังมีหน่วยรักษาชายฝั่งอีกหนึ่งหน่วยที่ใช้ซูเปอร์สตัลเลียนซึ่งตึ้งอยู่ในรัฐเพนซิลวาเนีย ตั้งแต่นั้นฝูงบินที่ใช้ซีเอช-53เอก็เปลี่ยนมาใช้รุ่นอีแทน

ซีเอช-53อีของนาวิกโยธินสหรัฐถูกใช้บนเรือครั้งแรกในปีพ.ศ. 2526 เมื่อซีเอช-53อีสี่ลำถูกลำเลียงลงบนเรือยูเอสเอสอิโวจิมา[ต้องการอ้างอิง] ในช่วงนี้นาวิกโยธินถูกส่งขึ้นฝั่งที่เบรุตในเลาบานอนเพื่อรักษาความสงบและสร้างปริมณฑลใกล้กับสนามบินแห่งชาติเบรุต ในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2526 ผู้ก่อการร้ายใช้คาร์บอมทำลายค่ายทหารในเบรุต สังหารทหารเกือบ 240 นายที่กำลังนอนหลับอยู่ ซีเอช-53อีได้เข้ามาทำหน้าที่สนับสนุนการรบในปฏิบัติการนี้

ทศวรรษที่ 2533

[แก้]

ในปีพ.ศ. 2534 ซีเอช-53อีหลายลำพร้อมกับซีเอช-46 ซีไนท์ถูกส่งเข้าไปในโมกาดิชูประเทศโซมาเลีย เพื่อลำเลียงพลเมืองสหรัฐและชาวต่างชาติจากสถานทูตสหรัฐในช่วงสงครามกลางเมืองโซมาเลีย

ในปฏิบัติการพายุทะเลทราย เอ็มเอช-53อีถูกใช้เพื่อทำหน้าที่กวาดทุ่นระเบิดในอ่าวเปอร์เซียนอกชายฝั่งคูเวต

ในวันที่ 8 มิถุนาย พ.ศ. 2538 ผู้กองสก็อตต์ โอ'เกรดี้ นักบินเอฟ-16 ที่ถูกยิงตกในบอสเนีย ได้รับการช่วยเหลือจากซีเอช-53อีสองลำ[12]

ทศวรรษที่ 2543

[แก้]

ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2544 ซีเอช-53อีสามลำบนเรือยูเอสเอสเพเลลุยและอีกสามลำบนเรือยูเอสเอสบาทาน ได้บินเป็นระยะทาง 890 กิโลเมตรเพื่อรักษาที่ลงจอดแห่งแรกในอัฟกานิสถาน ด้วยทหาร 1,100 นายที่ยอดเขา[13] การบุกที่เด็ดเดี่ยวนี้เป็นการบุกที่ยาวนานที่สุด พิสัยที่ไกลของพวกมันทำให้นาวิกโยธินสามารถตั้งฐานในทางตอนใต้ของอัฟกานิสถานได้ [ต้องการอ้างอิง]

ซูเปอร์สตัลเลียนได้ทำหน้าที่สำคัญอีกครั้งในการบุกอิรักเมื่อปีพ.ศ. 2546 พวกมันถูกใช้เพื่อขนส่งเสบียงและอาวุธเข้าไปในแนวหน้า และยังช่วยขนย้ายผู้บาดเจ็บออกจากแนวหน้าเช่นกัน ซีเอช-53อีและซีเอช-46อีได้ขนส่งหน่วยทหารพรานและหน่วยรบพิเศษของสหรัฐเข้าทำภารกิจเพื่อช่วยเหลือพลทหารเจสซิก้า ลินช์ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2546[14]

ปัจจุบันมีซีเอช-53อีประมาณ 100 ลำของนาวิกโยธินสหรัฐและเอ็มเอช-53อี 30 ลำของกองทัพเรือสหรัฐที่ยังอยู่ในประจำการ

ประเทศผู้ใช้งาน

[แก้]
ธงของประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่น
 สหรัฐอเมริกา

อุบัติเหตุ

[แก้]

เอ็มเอช-53อี ซีดรากอนเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุดของกองทัพเรือสหรัฐ ด้วยการตาย 27 รายตั้งแต่ปีพ.ศ. 2527-2551 มันถูกจัดเป็นระดับเอในเรื่องอุบัติเหตุ (สร้างความเสียหาย 1 ล้านดอลลาร์สหรัญหรือส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต) โดยมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุ 5.96 ต่อ 100,000 ชั่วโมงบิน ซึ่งมากกว่าเฮลิคอปเตอร์แบบอื่นของกองทัพเรือที่มีเพียง 2.26 เท่านั้น[15]

ในปีพ.ศ. 2539 ซีเอช-53อีเกิดตกในโรงงานซิคอร์สกี้ในแสตนฟอร์ด คนงาน 4 คนเสียชีวิต ส่งผลให้กองทัพเรือหยุดการใช้ซีเอช-53อีและเอ็มเอช-53อีทั้งหมด[16]

ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2543 ซีดรากอนตกลงในอ่าวเม็กซิโกสังหารลูกเรือไป 4 นาย มันถูกส่งกลับเข้าประจำการและทำการปรับปรุง[17]

ในปี 2548 คดีกล่าวหาก็เริ่มขึ้น โดยชี้ว่าตั้งแต่ปีพ.ศ. 2536 มีอุบัติเหตุจากการเกิดเพลิงไหม้หรือความร้อนอย่างน้อย 16 ครั้ง โดยเกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์ที่สองของเฮลิคอปเตอร์ นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่ามันไม่ได้รับการแก้ไขและลูกเรือก็ไม่ถูกฝึกมาเพื่อการนี้เช่นกัน[16][18]

ในช่วงเช้าของวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2548 ซีเอช-53อีลำหนึ่งพร้อมยาวิกโยธินสหรัฐอีก 30 นายและทหารแพทย์อีกหนึ่งนาย ตกลงในรุทบาห์ประเทศอิรัก ทำให้ทั้งหมด 31 นายเสียชีวิต[19][20] กล่าวกันว่าสาเหตุมาจากพายุทะเลทราย การตกครั้งนี้เป็นเหตุการร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในหนึ่งวันในสงครามอิรัก (สำหรับอเมริกา)[21]

ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2551 เอ็มเอช-53อีของกองทัพเรือตกขณะทำภารกิจซ้อมรบห่างไปประมาณ 4 ไมล์จากรัฐเท็กซัส ลูกเรือสามคนเสียชีวิตและอีหนึ่งถูกนำส่งโรงพยาบาล[22]

รายละเอียดของซีเอช-53อี=

[แก้]
ใบพัดและท่อไอเสียของซีเอช-53อี
เอ็มเอช-53อีกกำลังใช้เครื่องกวาดทุ่นระเบิด
  • ลูกเรือ: นักบิน 2 นาย หัวหน้าลูกเรือหรือพลปืนขวา 1 นาย พลปืนซ้าย 1 นาย และพลปืนท้าย 1 นาย
  • ความจุ: ทหาร 37 นาย (55 นายหากใช้เก้าอี้แถวกลาง)
  • น้ำหนักบรรทุก: 13,600 กิโลกรัม (ภายใน) 14,500 กิโลกรัม (ภายนอก)
  • ความยาว: 30.2 เมตร
  • เส้นผ่าศูนย์กลางใบพัด: 24 เมตร
  • ความสูง: 8.46 เมตร
  • พื้นที่หมุนของใบพัด: 460 ตารางเมตร
  • น้ำหนักเปล่า: 15,071 กิโลกรัม
  • น้ำหนักบินขึ้นสูงสุด: 33,300 กิโลกรัม
  • ขุมกำลัง: เครื่องยนต์เทอโบชาฟท์ เจเนรัลอิเลคทริก ที64-จีอี-416 สามเครื่อง ให้กำลังเครื่องละ4,380 แรงม้า
  • ระบบใบพัด: ใบพัดหลัก 7 ใบ ใบพัดหาง 4 ใบ
  • ความเร็วสูงสุด: 315 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • ความเร็วประหยัด: 278 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • พิสัย: 1,000 กิโลเมตร
  • ระยะขนส่ง: 1,833 กิโลเมตร
  • เพดานบินทำการ: 18,500 ฟุต
  • อัตราการไต่ระดับ: 2,500 ฟุตต่อนาที
  • อาวุธ
    • ปืน
    • เครื่องปล่อยพลุและเป้าล่อ

[23][2][24]

ดูเพิ่ม

[แก้]
การพัฒนาที่เกี่ยวข้อง
อากาศยานที่เทียบเท่า

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Sikorsky Giant Helicopters: S-64, S-65, & S-80, Vectorsite.net, 1 December 2009.
  2. 2.0 2.1 Frawley, Gerard. The International Directory of Military Aircraft, p. 148. Aerospace Publications Pty Ltd, 2002. ISBN 1-875671-55-2.
  3. Sikorsky S-65 page. AviaStar.org.
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 S-80 Origins / US Marine & Navy Service / Japanese Service, Vectorsite.net, 1 December 2009.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 CH-53A/D/E Sea Stallion AND MH-53E Sea Dragon เก็บถาวร 1997-02-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, US Navy, 15 November 2000.
  6. "Sikorsky Awarded $3.0B Development Contract For Marine Corps CH-53K Heavy-Lift Helicopter" เก็บถาวร 2008-11-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Sikorsky Aircraft, 5 April 2006.
  7. "Sikorsky Aircraft Marks Start of CH-53K Development and Demonstration Phase" เก็บถาวร 2008-11-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Sikorsky Aircraft, 17 April 2006.
  8. 8.0 8.1 S-80 Upgrades / CH-53K. Vectorsite.net, 1 December 2009.
  9. "Marines Up Order for New Heavy Lifter", "Rotor & Wing", 1 August 2007.
  10. "US Marines in desperate need of new CH-53K", Flight Daily News, 21 June 2007.
  11. CH-53D/E page เก็บถาวร 2006-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. USMC. Accessed 3 November 2007.
  12. CH-53E Super Stallion article. Globalsecurity.org
  13. Statement of Admiral Vern Clark, before the Senate Armed Services Committee, 25th February 2003 เก็บถาวร 2007-09-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Navy.mil
  14. Stout, Jay A. Hammer from Above, Marine Air Combat Over Iraq. Ballantine Books, 2005. ISBN 978-0-89141-871-9.
  15. "MH-53 twice as crash-prone as other copters". Navy Times. Associated Press. 21 January 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-05. สืบค้นเมื่อ 2010-02-24.
  16. 16.0 16.1 "Suit blames Sikorsky, GE in air crash" เก็บถาวร 2010-11-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. koskoff.com, 16 July 2005.
  17. Sherman, Christopher. "Copter in crash has spotty record" เก็บถาวร 2008-03-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Associated Press via theeagle.com, 19 January 2008
  18. "Sikorsky, We Have A Problem" เก็บถาวร 2013-11-29 ที่ archive.today. ctnewsjunkie.com, 2 August 2005.
  19. "Worst US air losses in Iraq" เก็บถาวร 2008-01-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Telegraph, 22 August 2007.
  20. "Iraq air crash kills 31 US troops". BBC, 26 January 2005.
  21. "Deadliest day for U.S. in Iraq war". CNN, 27 January 2005.
  22. "MH-53E Sea Dragon Crashes South of Corpus Christi" เก็บถาวร 2008-03-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. US Navy, 17 January 2008.
  23. CH-53A/D/E Sea Stallion and MH-53E Sea Dragon เก็บถาวร 1997-02-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, US Navy.
  24. Donald, David ed. "Sikorsky S-65", The Complete Encyclopedia of World Aircraft. Barnes & Nobel Books, 1997. ISBN 0-7607-0592-5.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]