ข้ามไปเนื้อหา

คอบร้าโกลด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Cobra Gold

ของคอบร้าโกลด์
ตราแผ่นดิน
สำนักงานใหญ่กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย
ประเภทการฝึกทางทหาร
สมาชิก
สถาปนาพ.ศ. 2525
เว็บไซต์
Facebook Instagram

คอบร้าโกลด์ (อังกฤษ: Cobra Gold ตัวย่อ: CG) เป็นการฝึกร่วม/ผสมทางการทหารระดับพหุภาคีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในประเทศไทย เริ่มครั้งแรกจากการฝึกทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2525 ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นแบบพหุภาคีโดยมีประเทศอื่น ๆ เข้าร่วม ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

วัตถุประสงค์ของการฝึกคอบร้าโกลด์ คือ ปรับปรุงการทำงานร่วมกัน, แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างชาติต่าง ๆ ที่เข้าร่วมในการฝึก นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมความสงบสุขและความมั่นคงในภูมิภาค การตอบสนองที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพหลังเหตุการณ์คลื่นสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547 ส่วนหนึ่งเป็นผลที่ได้รับจากการฝึกร่วม/ผสมนี้

ประวัติ

[แก้]

หลังสงครามโลกครั้งที่สองและในยุคสงครามเย็น ประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกที่สำคัญได้แก่ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ทั้งสองประเทศได้เริ่มมีการฝึกทางทหารร่วมกันในปี พ.ศ. 2499 เป็นการฝึกผสมยกพลขึ้นบกระหว่างกองทัพเรือไทยกับกองทัพเรือและหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินสหรัฐฯ

ต่อมาเพื่อให้การฝึกมีลักษณะบูรณาการมากขึ้น กองทัพไทยและกองทัพสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มการฝึกร่วม/ผสมภายใต้รหัส "คอบร้าโกลด์" ในปี พ.ศ. 2525 ครั้งนั้นกองทัพเรือไทยและกองทัพอากาศไทยจัดกำลังเข้าร่วมการฝึกโดยดำเนินการฝึกปฏิบัติการทางเรือ ทางอากาศ และการยกพลขึ้นบก ร่วมกับกองทัพเรือและนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา กำหนดรหัสว่า " คอบร้าโกลด์ 82 " ( 82 คือ ปีที่ฝึกคอบร้าโกลด์ ค.ศ. 1982)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 กองทัพบกไทยได้จัดหน่วยรบพิเศษเข้าร่วมการฝึกอีกเหล่าทัพหนึ่ง กล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกร่วมและผสมครบทั้งสามเหล่าทัพเป็นครั้งแรกในประเทศไทย หลังจากนั้นกองบัญชาการทหารสูงสุดได้เข้ารับผิดชอบดำเนินการฝึกคอบร้าโกลด์ 86 ในปี พ.ศ. 2529 โดยเน้นการฝึกหน่วยทหารในการปฏิบัติการรบตามแบบ ด้วยกำลังขนาดใหญ่ระดับกองกำลังเฉพาะกิจร่วมและผสม เข้าปฏิบัติการในยุทธบริเวณ และดำเนินการฝึกต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีมาจนถึงปัจจุบัน มีกำลังจากกองทัพไทยทุกเหล่าทัพเข้าร่วมฝึกหมุนเวียนไปตามกองทัพภาคและกองเรือภาค ในปัจจุบันการฝึกคอบร้าโกลด์ถือได้ว่าเป็นการฝึกร่วมและผสมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อสงครามเย็นยุติลง สถานการณ์ด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไปโดยแนวโน้มของการเกิดสงครามขนาดใหญ่มีความเป็นไปได้น้อย พ.ศ. 2543 การฝึกคอบร้าโกลด์จึงได้เพิ่มรูปแบบการฝึกให้มีปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม ภายใต้กรอบของสหประชาชาติเข้าไว้ด้วย เช่น การรักษาสันติภาพ การต่อต้านการก่อการร้าย การบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ และอื่น ๆ มีการขยายขอบเขตการฝึกจากการฝึกแบบทวิภาคีเป็นการฝึกเป็นพหุภาคี โดยสิงคโปร์เป็นชาติแรกที่เข้าร่วม นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ประเทศที่สนใจจัดผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึกได้

คอบร้าโกลด์ 2007

[แก้]

การฝึกคอบร้าโกลด์ 2007 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8–18 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 นอกจาก 5 ประเทศหลัก คือ

ยังมีประเทศสมาชิกโครงการชุดช่วยการวางแผนผสมหลายชาติ หรือ MPAT (Multinational Planning Augmentation Team) อีก 10 ประเทศ ได้แก่

จัดเจ้าหน้าที่วางแผนเข้าร่วมการฝึกด้วย

การฝึกในปีนี้กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของฝ่ายเสนาธิการในการวางแผนอำนวยการยุทธร่วมกัน ตลอดจนการใช้ระเบียบปฏิบัติประจำของกำลังผสมหลายชาติ และการประยุกต์ใช้กำลังรบในสถานการณ์อื่น ๆ โดยใช้พื้นที่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดลพบุรี อ่าวไทยตอนบน และบริเวณใกล้เคียงเป็นพื้นที่ฝึก กำลังที่เข้าร่วมในการฝึกประกอบด้วย ไทย 4,000 นาย สหรัฐฯ 3,000 นาย (ไม่รวมพลประจำเรือ) สิงคโปร์ 70 นาย ญี่ปุ่น 47 นาย อินโดนีเซีย 27 นาย และประเทศสมาชิกโครงการ MPAT 20 นาย ผู้สังเกตการณ์มาจาก 6 ประเทศ ได้แก่

จัดให้มีโครงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและกิจกรรมพลเรือนรวมทั้งสิ้น 11 โครงการ รวมมูลค่าประมาณ 6 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ 4 โครงการ และโครงการแพทย์ 7 โครงการ

ดูเพิ่ม

[แก้]
  • กะรัต (CARAT) - การฝึกทวิภาคีระหว่างกองทัพเรือไทยกับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา
  • แพนเธอร์โกลด์ (Panther Gold) - การฝึกทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับสหราชอาณาจักร
  • ซิตเม็กซ์ (SITMEX) - การฝึกไตรภาคีระหว่างกองทัพเรือไทย กองทัพเรืออินเดีย และกองทัพเรือสิงคโปร์
  • บลูสไตรก์ (Blue Strike) - การฝึกทวิภาคีระหว่างกองทัพเรือไทยกับกองทัพเรือจีน
  • ฟอลคอนสไตรก์ (Falcon Strike) - การฝึกทวิภาคีระหว่างกองทัพอากาศไทยกับกองทัพอากาศจีน
  • โกลเดนดรากอน (Golden Dragon) - การฝึกทวิภาคีระหว่างกองทัพเรือกัมพูชากับกองทัพเรือจีน
  • ซูเปอร์การูดาชิลด์ (Super Garuda Shield) - การฝึกทวิภาคีระหว่างประเทศอินโดนีเซียกับสหรัฐอเมริกา

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]