ข้ามไปเนื้อหา

ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จอห์น บูล ผายลมใส่พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร, ค.ศ.1798

ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ หรือภาษาพูดว่า การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ฝรั่งเศส: lèse majesté; ละติน: laesa maiestas; อังกฤษ: lese majesty หรือ leze majesty) เป็นการหมิ่นประมาท (libel) พระมหากษัตริย์ โดยเป็นการประสงค์ร้ายต่อพระเกียรติยศหรือเกียรติของรัฐ

การกระทำดังกล่าวถูกจัดว่าเป็นอาชญากรรมนับตั้งแต่สมัยสาธารณรัฐโรมัน ซึ่งในเวลานั้นจักรพรรดิทรงเป็นอันหนึ่งเดียวกันกับรัฐโรมัน (จักรพรรดิไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการ) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผลกับการประสงค์ร้ายต่อพระองค์[1] ถึงแม้ว่าทางกฎหมายแล้ว "princeps civitatis" (บรรดาศักดิ์อย่างเป็นทางการของจักรพรรดิ ซึ่งหมายถึง "พลเมืองหมายเลขหนึ่ง") จะไม่เคยเป็นองค์รัฎฐาธิปัตย์เลยก็ตาม เนื่องจากสาธารณรัฐไม่เคยถูกยุบยกเลิกไปอย่างเป็นทางการ จักรพรรดิทรงถูกบูชาเป็นสมมุติเทพ ซึ่งในช่วงแรก ๆ มีเฉพาะในช่วงหลังสวรรคตไปแล้วเท่านั้น แต่ต่อมาได้รวมไปถึงจักรพรรดิที่กำลังทรงครองราชย์อยู่ในปัจจุบันด้วย และทรงได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายซึ่งจัดไว้สำหรับความเป็นเทพเจ้าตามพิธีปฏิบัติของรัฐ ต่อมาเมื่อโรมันเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ การปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็ได้รับการยอมรับ

ในกรอบความหมายอย่างแคบ การกระทำอันเป็นการประสงค์ร้ายต่อพระมหากษัตริย์เริ่มมีขึ้นในราชอาณาจักรในทวีปยุโรปที่ก่อตั้งขึ้นในยุคกลางตอนต้น ต่อมายุโรปสมัยศักดินา อาชญากรรมหลายอย่างถูกจัดให้เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถึงแม้ว่าการกระทำนั้นจะไม่มีเจตนาต่อต้านพระมหากษัตริย์เลยก็ตาม อย่างเช่น การปลอมเหรียญกษาปณ์ เนื่องจากเหรียญนั้นมีพระฉายาลักษณ์ และ/หรือ ตราแผ่นดิน

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในประเทศส่วนใหญ่ การกระทำดังกล่าวถูกมองว่าเป็นอาชญากรรมน้อยลง ถึงแม้ว่าพฤติการณ์ที่คล้ายกันแต่มีเจตนามุ่งร้ายกว่าจะถูกมองว่าเป็นกบฏได้

ปัจจุบันเมื่อสาธารณรัฐได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นมหาอำนาจในโลกสมัยใหม่แล้ว อาชญากรรมที่คล้ายคลึงกันนี้อาจเป็นการประสงค์ร้ายต่อประมุขของรัฐแทนเช่น ในประเทศเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และโปแลนด์ที่เป็นสาธารณรัฐ การหมิ่นประมาทประมุขต่างประเทศเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ในประเทศตุรกีผู้หมิ่นประมาทนายพลอตาเติร์กผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกีต้องรับโทษจำคุกหนึ่งถึงสามปี[2]

ประเทศไทย

[แก้]

ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี" กฎหมายไทยสมัยใหม่บรรจุความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ครั้งแรกในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2453), มีการเพิ่มให้การ "ดูหมิ่น" เป็นความผิด และเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 และมีการเพิ่มโทษครั้งล่าสุดในปี 2519 มีสื่ออธิบายว่าเป็น "กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ที่รุนแรงที่สุดในโลก"[3] และ "อาจเป็นกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาที่เข้มงวดที่สุดไม่ว่าที่ใด"[4] นักสังคมศาสตร์ ไมเคิล คอนนอส์เขียนว่า การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว "เป็นผลประโยชน์ของราชสำนักเสมอมา"[5]: 134 

ในประมวลกฎหมายไม่มีนิยามว่าพฤติการณ์แบบใดเข้าข่าย "หมิ่นประมาท" หรือ "ดูหมิ่น" มีการตีความอย่างกว้างขวางซึ่งสะท้อนสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ เฉกเช่นพระมหากษัตริย์ในสมัยศักดินาหรือสมบูรณาญาสิทธิราช ธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังตีความว่า กฎหมายห้ามครอบคลุมถึงการวิจารณ์โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สถาบันพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์จักรีและพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ มีข้อโต้แย้งว่า ความผิดต่อองคมนตรีเข้าข่ายความผิดนี้หรือไม่ อนึ่ง ในปี 2556 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กฎหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์ในอดีตทุกพระองค์ด้วย[6] แม้ว่า "พยายาม" กระทำความผิด เสียดสีสัตว์ทรงเลี้ยง หรือไม่ติเตียนเมื่อพบเห็นผู้กระทำผิดก็ถูกดำเนินคดีด้วย อย่างไรก็ตาม ศาลจังหวัด สมุทรปราการ อ่านคำพิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ถูกฟ้องในความผิดฐานหมิ่น ประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการกดไลค์เพจและโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงแล้ว

ผู้ใดจะฟ้องคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ก็ได้ ทั้งนี้พระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ไม่เคยฟ้องร้องเป็นการส่วนพระองค์ ตำรวจต้องดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นทางการทุกคดี รายละเอียดของข้อหาแทบไม่มีเปิดเผยต่อสาธารณะ ผู้ต้องหามักเผชิญอุปสรรคตลอดคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขอประกันตัวชั่วคราว มีการกักขังก่อนพิจารณาคดีในศาลหลายเดือน คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการกักขังโดยพลการตัดสินในปี 2555 ว่าการกักขังก่อนดำเนินคดีละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ศาลไม่ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยอย่างในคดีอาญาทั่วไป การรับสารภาพแล้วขอพระราชทานอภัยโทษถูกมองว่าเป็นวิธีการเพื่อให้ได้รับอิสรภาพโดยเร็วที่สุด

มีการตีความ "ดูหมิ่น" กว้างขวางมากขึ้นนับแต่พุทธทศวรรษ 2520 คณะรัฐประหารมักอ้างกรณีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์เพื่อรัฐประหาร หลังรัฐประหารเมื่อปี 2549 มีการพิจารณาความผิดดังกล่าวมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หลังรัฐประหารปี 2557 มีการเปลี่ยนให้ศาลทหารพิจารณาคดีดังกล่าว และในปี 2558 ลงโทษจำคุกจำเลยคนหนึ่ง 60 ปี แต่ลดโทษเหลือกึ่งหนึ่งเพราะยอมรับสารภาพ นับเป็นโทษสูงสุดที่เคยมีมา อีกทั้งมีการพิจารณาคดีลับด้วย กฎหมายนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า "โหดร้ายป่าเถื่อน"[7] บ่อนทำลายกฎหมายไทย ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์[8] บางฝ่ายออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายนี้ ส่วนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสว่า สามารถวิจารณ์พระองค์ได้และไม่เคยตรัสให้เอาผู้วิจารณ์เข้าคุก หลังจากปี 2561 ไม่มีคดีใหม่เท่าที่ทราบ แต่ทางการใช้วิธีฟ้องร้องโดยอาศัยกฎหมายอื่นแทน เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และกฎหมายปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง ตลอดจนใช้วิธีการคุกคามอย่างอื่น

ต่างประเทศ

[แก้]

เอเชีย

[แก้]

ยูโรป

[แก้]

เดนมาร์ก

[แก้]

การดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทกษัตริย์เดนมาร์กเป็นความผิดอาญา โดยพิจารณาเป็นเหตุฉกรรจ์ของความผิดฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตามมาตรา 268 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเดนมาร์ก ที่กำหนดว่าบุคคลใดว่าร้ายผู้อื่นโดยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงอาจถูกจำคุกสูงสุด 2 ปี ประกอบมาตรา 115 ซึ่งกำหนดว่า หากเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทกษัตริย์เดนมาร์ก โทษดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า (เท่ากับว่ามีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี) และหากเป็นการกระทำต่อพระราชินีและรัชทายาทให้เพิ่มโทษดังกล่าวกึ่งหนึ่ง (เท่ากับว่ามีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี)[9]

นอร์เวย์

[แก้]

การดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทกษัตรินอร์เวย์ไม่ถือเป็นความผิดทางอาญาในประเทศนอร์เวย์ตามประมวลกฎหมายอาญานอร์เวย์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558[10]

ทั้งนี้ ในครั้งที่การดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทกษัตรินอร์เวย์เป็นความผิดทางอาญานั้น ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2445 มาตรา 101 กำหนดโทษอาญาเป็นโทษปรับหรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี[11] แต่มาตรา 103 กำหนดเพิ่มเติมว่าการดำเนินคดีต้องได้รับพระราชโองการจากกษัตริย์[12]

เนเธอร์แลนด์

[แก้]

ประเทศเนเธอร์แลนด์เคยมีกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทกษัตริย์โดยเฉพาะบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาเนเธอร์แลนด์ มาตรา 111 ซึ่งกำหนดว่าผู้ใดดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทกษัตริย์มีโทษจำคุกได้สูงสุด 5 ปี และมาตรา 112 ซึ่งกำหนดว่าการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท หรือคู่สมรสของรัชทายาท มีโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี[13]

อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 ส่งผลให้การดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ พระมเหสี รัชทายาทหรือมเหสี หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้รับโทษเช่นเดียวกับการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทเจ้าพนักงาน[14]

เบลเยียม

[แก้]

การดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทกษัตริย์เบลเยียมเป็นความผิดอาญา ตาม Law of 6 April 1847 on Offence toward the King มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปี และปรับ ส่วนการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทสมาชิกราชวงศ์ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 2 ปี และปรับ[15]

สวีเดน

[แก้]

การดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทกษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์สวีเดนเป็นความผิดทางอาญาตามมาตรา 2 หมวด 18 แห่งประมวลกฎหมายอาญาสวีเดน โดยมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 4 ปี หรือหากเป็นกรณีร้ายแรง มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 ปี[16][17][18]

สเปน

[แก้]

การดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทกษัตริย์สเปนเป็นความผิดอาญา ตามมาตรา 490 (3) แห่งประมวลกฎหมายอาญาสเปน ที่กำหนดว่าการใส่ร้ายหรือหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือรัชทายาท พระมเหสี มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี ในกรณีร้ายแรง หากไม่ร้ายแรงให้พิจารณาเปรียบเทียบปรับ 6 เดือน ถึง 2 ปี ทั้งนี้ [17][19]

การดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทอื่นใดต่อสมาชิกราชวงศ์พระองค์อื่น ๆ มีโทษปรับตั้งแต่ 4 ถึง 20 เดือน ทั้งนี้ ตามมาตรา 491 (1) แห่งประมวลกฎหมายอาญาสเปน

สหราชอาณาจักร

[แก้]

พระราชบัญญัติความผิดอาญาฐานเป็นกบฏ ค.ศ. 1848 เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายในลักษณะที่ใกล้เคียงที่สุดของความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ที่บังคับใช้อยู่ในสหราชอาณาจักรในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ไม่มีการนำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้พิจารณาตั้งแต่ปี 1897[20][18]

ในส่วนของประเทศสกอตแลนด์นั้น ได้มีการยกเลิกกฎหมายอาญาที่ว่าด้วยความผิดฐานปลุกระดมและดูหมิ่นประมุขของรัฐ (sedition and leasing-making) เมื่อ ค.ศ. 2010[21][18]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. TheFreeDictionary.com, "Lese majesty" TheFreeDictionary.com, Columbia Encyclopedia, สืบค้น 16 เม.ย. 2554
  2. ประมวลกฎหมายอาญาตุรกี: มาตรา 5816
  3. Cochrane, Liam (2017-01-11). "New Thai King requests constitutional changes to 'ensure his royal powers': Prime Minister". ABC News. ABC. สืบค้นเมื่อ 2017-04-20.
  4. "How powerful people use criminal-defamation laws to silence their critics". The Economist. 13 July 2017. สืบค้นเมื่อ 14 July 2017.
  5. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Connors
  6. "คำพิพากษาคดีหมิ่นฯ อดีตกษัตริย์ ผิด ม. 112". Prachatai. 2013-11-14. สืบค้นเมื่อ 2013-11-15.
  7. Amy Sawaitta Lefevre (2013-03-21). "Thai TV Show Draws Army Wrath for Lese-Majeste Debate". Reuters. สืบค้นเมื่อ 2013-03-27.
  8. ส.ศิวรักษ์ ชี้ รปห.-112 ล้วนกระทบสถาบันกษัตริย์ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
  9. "Straffeloven" [The Penal Code]. Retsinformation [Legal Information] (ภาษาเดนมาร์ก). สืบค้นเมื่อ 26 January 2017.
  10. "Lov om straff (Straffeloven) - Lovdata".
  11. Straffeloven, § 101 at Lovdata.no
  12. Straffeloven, § 103 at Lovdata.no
  13. Koninkrijksrelaties, Ministerie van Binnenlandse Zaken en. "Wetboek van Strafrecht". wetten.overheid.nl (ภาษาดัตช์). สืบค้นเมื่อ 2021-09-06.
  14. Koninkrijksrelaties, Ministerie van Binnenlandse Zaken en. "Wetboek van Strafrecht". wetten.overheid.nl (ภาษาดัตช์). สืบค้นเมื่อ 2021-09-06.
  15. Belgium
  16. [1]
  17. 17.0 17.1 European countries where insulting the head of state can land you in prison
  18. 18.0 18.1 18.2 ม.112 : กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ชาติไหนใช้ ชาติไหนเลิก
  19. Spain
  20. "Calling for abolition of monarchy is still illegal, UK justice ministry admits". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2013-12-13. สืบค้นเมื่อ 2021-02-12.
  21. "Justice Committee Official Report". Scottish Parliament. 20 April 2010. สืบค้นเมื่อ 4 January 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]