ข้ามไปเนื้อหา

การพิจารณาคดีโดยใช้วิธีทรมาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปีเตอร์ บาร์โทโลมิว (Peter Bartholomew) พิสูจน์ตนเองโดยการทรมานด้วยไฟโดย กุสตาฟว์ ดอเร (Gustave Doré)
รูปแกะนูนแสดงภาพพระชายาของจักรพรรดิไฮน์ริคที่ 2 ทรงพิสูจน์พระองค์เองว่าไม่ทรงมีชู้จริงโดยการเดินบนคันไถร้อน
นักบุญฟรานซิสแห่งอาซิซิพิสูจน์ความศรัทธาต่อคริสต์ศาสนาโดยการลุยไฟต่อหน้าสุลต่าน
ภาพเขียนจากคริสต์ทศวรรษ 1400 ของปาฏิหาริย์ Fanjeaux ที่หนังสือคาธาร์สและหนังสือโรมันคาทอลิกพิสูจน์ด้วยไฟที่ไม่ยอมไหม้หนังสือโรมันคาทอลิกสามครั้ง

การพิจารณาคดีโดยการทรมาน หรือ การพิสูจน์ความบริสุทธิ์ (อังกฤษ: Trial by ordeal) เป็นการตัดสินหรือการพิสูจน์การผิดหรือไม่ผิดโดยการทรมานผู้ถูกกล่าวหา หรือการพิสูจน์ตนเองด้วยว่าถูกหรือผิดโดยการทรมานตนเอง ถ้าผ่านการทรมานโดยไม่มีการบาดเจ็บหรือบาดเจ็บแต่ก็เพียงเล็กน้อยและหายเร็วก็เท่ากับเป็นการพิสูจน์ว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้พิสูจน์ตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์

ที่มา

[แก้]

ในยุคกลางของยุโรป “การพิจารณาคดีโดยการทรมาน” ก็เช่นเดียวกับ “การพิจารณาคดีโดยการต่อสู้” ถือว่าเป็น “judicium Dei” คือเป็นปรัชญาที่อยู่บนพื้นฐานที่ว่าพระเจ้าจะเข้ามาช่วยแสดงปาฏิหาริย์ในนามของผู้บริสุทธิ์ แต่การใช้การวิธีพิสูจน์ความถูกผิดโดยการทรมานนี้มีมาก่อนสมัยการนับถือคริสต์ศาสนามานานก่อนหน้านั้น ตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมลัทธิพหุเทวนิยม (polytheistic) หรือลัทธิการนับถือพระเจ้าหลายองค์และตั้งแต่กฎบัตรอัวร์-นัมมู (Code of Ur-Nammu) และในวัฒณธรรมชนเผ่าที่มีความเชื่อในลัทธิวิญญาณนิยม (animist) เช่นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์โดยการดื่ม “น้ำแดง” (ถั่วคาลาบาร์) ในเซียร์ราลีโอนที่ทำให้เกิดความมหัศจรรย์แต่ไม่ใช่เป็นการพิสูจน์ความยุติธรรม

ในสังคมก่อนหน้าสังคมสมัยใหม่ การพิสูจน์ความบริสุทธิ์มีความสำคัญพอๆ กับการตั้งสัตย์ปฏิญาณและการเป็นพยานที่ทำให้สามารถนำมาซึ่งการตัดสินว่าผิดหรือถูก และอันที่จริงแล้วคำว่า “Ordeal” หรือ ภาษาอังกฤษเก่าOrdǣl” แปลว่า “การตัดสินหรือคำพิพากษา” (เยอรมัน: Urteil และ ดัตช์: oordeel) ที่มาจากภาษาโปรโต-เจอร์มานิค “*uzdailjam” (ที่นำมาซึ่งการตัดสิน)

ในยุโรปการพิสูจน์ความบริสุทธิ์มักจะให้ผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ตนเองด้วยไฟหรือน้ำ แต่วิธีการปฏิบัติก็แตกต่างกันไปตามกาลเวลาและสถานที่ ในอังกฤษ, การพิสูจน์ความบริสุทธิ์เป็นเหตุการณ์ที่พบกันตามปกติในสมัยแองโกล-แซ็กซอนและสมัยนอร์มัน การพิสูจน์ด้วยไฟมักจะใช้ทดสอบกับผู้มีบรรดาศักดิ์ ส่วนการพิสูจน์ด้วยน้ำมักจะใช้กับชนชั้นรองลงมาหรือชาวบ้าน

จากการประชุมสภาบาทหลวงแห่งแลตเตอรันครั้งที่ 4ในปี ค.ศ. 1215 สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 ประกาศห้ามไม่ให้นักบวชเข้ายุ่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดีโดยไฟหรือน้ำและแทนที่ด้วย “การสาบานและเสนอพยานสนับสนุน” (compurgation) [1] การพิสูจน์ความบริสุทธิ์ก็ยิ่งเกิดขึ้นน้อยครั้งลงในปลายยุคกลาง และมักจะแทนที่ด้วยการบังคับให้สารภาพโดยการทรมาน

ในปี ค.ศ. 1456 โยฮันเนส ฮาร์ทลีบ (Johannes Hartlieb) แพทย์ชาวบาวาเรียรายงานความเชื่องมงายที่นิยมกันในการให้ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นขโมยพิสูจน์ความบริสุทธิ์โดยการกินขนมปังหรือเนยแข็งที่เสก (Corsned) ถ้าเป็นขโมยจริงก็จะมีอันเป็นไปเช่นอาเจียน และเป็นวิธีที่ใช้กันทั่วไปโดยไม่มีการห้ามกันอย่างเป็นทางการ การพิจารณาคดีโดยการทรมานมายุติลงราวคริสต์ศตวรรษที่ 16

การพิสูจน์ด้วยความร้อน

[แก้]

การพิสูจน์วิธีนี้ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องเดินช่วงระยะทางหนึ่งซึ่งมักจะราว 9 ฟุตโดยการเดินบนคันไถที่ร้อนเป็นไฟหรือเดินถือเหล็กร้อนเดิน การตัดสินว่าความบริสุทธิ์ก็จากการที่ผู้พิสูจน์ไม่มีอาการบาดเจ็บจากการทรมาน แต่ตามปกติแล้วผู้ถูกกล่าวหาก็จะได้รับการพันแผลและตรวจโดยนักบวชสามวันต่อมา นักบวชก็จะผู้ที่จะประกาศว่าพระเจ้ามาเป็นผู้ช่วยรักษาให้หาย แต่ถ้าแผลเป็นหนองขึ้นมาผู้ถูกกล่าวหาก็อาจจะถูกเนรเทศหรือประหารชีวิตตามแต่จะตัดสิน

กรณีที่เป็นที่รู้จักกันคือการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของพระราชินีเอ็มมา ผู้ทรงถูกกล่าวหาว่าโดยพระราชโอรส พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพ ว่าทรงมีชู้กับบาทหลวงแห่งวินเชสเตอร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ถ้าบันทึกของวัดเป็นที่เชื่อได้พระราชินีเอ็มมาก็ทรงแสดงพระองค์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างไม่มีที่สงสัย เมื่อทรงดำเนินบนมีดไปแล้วก็ทรงหันมามีพระโองการให้เริ่มการพิสูจน์เริ่มขึ้น

วิธีพิสูจน์อีกวิธีหนึ่งคือให้ผู้ถูกกล่าวหาล้วงก้อนหินจากหม้อน้ำ, น้ำมัน หรือตะกั่วที่เดือด การตัดสินว่าบริสุทธิ์หรือไม่ก็เช่นเดียวกับข้างบน นักบุญเกรกอรีแห่งทัวร์บรรยายการพิจารณาคดีโดยไม่มีระบบศาลในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ของการพิสูจน์ตนเองของนักบุญไฮยาซินธ์ โดยการล้วงลงไปหยิบหินในหม้อน้ำเดือดซึ่งใช้เวลาราวชั่วโมงหนึ่งจึงเสร็จ และเมื่อให้ผู้นอกรีตทำเช่นเดียวกันน้ำก็ลวกมือมาจนถึงข้อศอก

จิโอวานนิ ดา ปาน เดล คาร์ปิเนบรรยายว่าเมื่อเดินทางไปเฝ้าบาทูข่าน ประมุขชาวมองโกลก็ถูกบังคับให้เดินผ่านกองไฟสองข้าง[2] เพื่อกำจัดสิ่งชั่วร้ายหรือพิษที่ติดตัวมา

การพิสูจน์ด้วยน้ำ

[แก้]

กฎหมายจารีตประเพณีของอังกฤษ

[แก้]

ในพระราชบัญญัติแคลเร็นดอน (Assize of Clarendon), ที่ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1166 ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญฉบับแรกของรัชสมัยพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ที่ระบุว่า: “ผู้ใดที่ถูกกล่าวหาโดยคำสาบานของลูกขุนว่าเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นโจร หรือฆาตกร ...จะถูกนำตัวไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์ด้วยน้ำ”[3]

การพิสูจน์ด้วยน้ำร้อน

[แก้]

การพิสูจน์ความบริสุทธิ์ด้วยน้ำร้อนกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 6 ใน “กฎบัตรซาลลิค” วิธีนี้ผู้ถูกกล่าวหาต้องจุ่มมือลงไปในกาน้ำเดือด ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 สถาบันโรมันคาทอลิกจะให้ผู้ถูกกล่าวหาเอามือจ้วงลงไปในน้ำร้อน ถ้าภายในสามวันพระเจ้ายังรักษาแผลไม่หายก็แปลว่าเป็นผู้ทำผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหา[4]

การพิสูจน์ด้วยน้ำเย็น

[แก้]

การพิสูจน์ความบริสุทธิ์ด้วยน้ำเย็นมาจากประมวลกฎหมายฮัมมูราบีเมื่อผู้ถูกกล่าวหาว่าใช้เวทมนตร์ (sorcery) จะถูกจับให้ดำน้ำถ้ารอดก็แปลว่าบริสุทธิ์ กฎหมายนี้ใช้กันในหมู่ชนแฟรงค์ แต่ถูกยุบเลิกโดยพระเจ้าหลุยส์ผู้ศรัทธา (Louis the Pious) ในปี ค.ศ. 829 และกลับมาใช้กันอีกครั้งในปลายยุคกลาง ใน “Dreieicher Wildbann” ในปี ค.ศ. 1338 กล่าวว่าถ้าถูกกล่าวหาว่าลักลอบล่าสัตว์ ก็จะถูกกดลงไปในถังน้ำสามครั้งและถ้าจมลงไปถึงก้นถังก็แปลว่าผิด

นักบุญเกรกอรีแห่งทัวร์กล่าวถึงการผูกโม่หินรอบคอผู้ถูกกล่าวหาถ้าจมก็แปลว่าไม่บริสุทธิ์ และกล่าวถึง “ผู้นอกศาสนาที่เอาหินโม่หินผูกคอควิรินัส บาทหลวงแห่งซิสเซ็คและโยนลงไปในน้ำ แต่ควิรินัสก็ลอยตัวอยู่ได้ด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า และแม้น้ำก็ไม่ได้ดึงตัวควิรินัสลงไปเพราะน้ำหนักของความผิดไม่ได้กดตัวท่าน”[5]

การพิสูจน์ความบริสุทธิ์ด้วยน้ำมาเกี่ยวข้องกับการล่าแม่มด (Witch-hunt) ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 17 แต่สถานะการณ์และผลตรงกันข้ามกับตัวอย่างที่กล่าวข้างบน: ถ้าผู้ถูกกล่าวหาจม (และในที่สุดก็จมน้ำตาย) ผู้นั้นก็เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ถ้าลอยก็ถือว่าเป็นผู้มีเวทมนตร์และถูกนำไปลงโทษ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับมารวิทยา (Demonology) ต่างก็ตั้งข้อสันนิษฐานกันไปต่างๆ ว่าการลอยตัวเกิดขึ้นได้อย่างไร บ้างก็ว่าที่พ่อมดหรือแม่มดลอยได้ก็เพราะเป็นผู้สละการรับศีลจุ่มเมื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแวดวงปีศาจหรือมาร เจคอป ริคเคียสอ้างว่าพ่อมดหรือแม่มดมีความเบากว่ามนุษย์ธรรมดาและเสนอวิธีอื่นแทนที่จะถ่วงน้ำ สมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ทรงอ้างในหนังสือ “Daemonologie” ว่าน้ำเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ที่สามารถกำจัดผู้มีความผิดได้

การพิสูจน์ด้วยกางเขน

[แก้]

การพิสูจน์ความบริสุทธิ์ด้วยกางเขนเกิดขึ้นในสมัยต้นยุคกลางโดยสถาบันศาสนาในการพยายามที่จะยับยั้งการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ด้วยการต่อสู้ในหมู่ชนเจอร์มานิค ในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ด้วยการต่อสู้ทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาต้องร่วมพิสูจน์ด้วยกันซึ่งต่างจากวิธีอื่นๆ ในการพิสูจน์ด้วยกางเขนทั้งสองฝ่ายยืนตรงข้ามกันสองข้างกางเขนและยื่นมือออกไป ผู้ใดที่มือตกก่อนก็ถือว่าเป็นผู้แพ้ การพิสูจน์ความบริสุทธิ์วิธีนี้ถูกประณามโดยชาร์เลอมาญ ในปี ค.ศ. 779 และอีกครั้ง ในปี ค.ศ. 806 ในปี ค.ศ. 876 พระเจ้าโลทาร์ที่ 1 ทรงออกพระราชประกาศยุบเลิกการพิสูจน์ด้วยกางเขนเพื่อไม่ให้เป็นการดูหมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิทางศาสนา

การพิสูจน์ด้วยการกิน

[แก้]

กฎหมายของฟรังโคเนียนระบุให้ผู้ถูกกล่าวหากินขนมปังแห้งและเนยแข็งที่ได้รับการเจิมโดยนักบวช ถ้ากินลงไปแล้วติดคอก็แปลว่าผิด วิธีนี้แปลงไปเป็นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์โดยการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ที่กล่าวถึงโดยเรจิโนแห่งพรึม (Regino of Prüm) ราวปี ค.ศ. 900 ที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องรับยูคาริสต์หลังจากสาบานว่าบริสุทธิ์ และเชื่อกันว่าถ้าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดก็จะตายภายในปีเดียวกัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. Vold, George B., Thomas J. Bernard, Jeffrey B. Snipes (2001). Theoretical Criminology. Oxford University Press.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. Liber Tatarorum, chapter 7 for the general Mongol custom and chapter 22 for Pian's personal passing.
  3. The Assize of Clarendon, as published in English Historical Documents v ii 1042—1189, D C Douglas editor, Oxford University Press, London 1981, p 441.
  4. "Medieval Sourcebook: Ordeal of Boiling Water, 12th or 13th Century". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-08. สืบค้นเมื่อ 2009-04-01.
  5. "Historia Francorum i.35". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-14. สืบค้นเมื่อ 2009-04-01.

ดูเพิ่ม

[แก้]