ข้ามไปเนื้อหา

ตำรวจ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตำรวจในประเทศอิตาลี

ตำรวจ คือหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายผ่านอำนาจรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์ในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้สามารถแน่ใจได้ว่าประชาชนจะมีความปลอดภัย ทั้งในส่วนของทรัพย์สินและสุขภาพ รวมถึงป้องกันอาชญากรรม การก่อความไม่สงบ[1][2]และการกระทำความผิดในทางแพ่ง[3] โดยมีอำนาจหน้าที่โดยชอบตามกฎหมาย

คำว่าตำรวจ

[แก้]

คำว่าตำรวจนั้น เกิดจากการแผลงคำมาจากคำว่า ตรวจ ในภาษาเขมร ซึ่งไทยรับเข้ามาใช้งาน โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ยุคที่มีการก่อสร้างนครธมใน พ.ศ. 1432 ซึ่งมีปรากฏในคำสัตย์สาบานของคนที่ทำหน้าที่เป็นตำรวจในจารึกบนประตูพระราชวังมนนครธม[4] โดยพบหลักฐานในประเทศไทยในศิลาจารึกที่เมืองลพบุรี ช่วงปี พ.ศ. 1565 - 1600 ในประชุมจารึกสยาม โดยเรียกในจารึกว่า ตมฺรฺวจวิษย (ตำรวจวิษัย) โดยนักวิชาการคาดเดาว่าเป็นตำรวจชนิดหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวกับงานด้านว่าราชการเมือง[5]

บุคลากรและการจัดหน่วย

[แก้]

สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นมีทั้งในส่วนของงานป้องกันปราบปราม (ในเครื่องแบบ) และงานสืบสวน[6] โดยเรียกกันแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ซึ่งภารกิจหลักของตำรวจทั้งสองรูปแบบคือการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การบังคับใช้กฎหมายอาญา การสอบสวนคดีอาญา การควบคุมดูแลการจราจร การควบคุมฝูงชน ควบคุมดูแลความปลอดภัยของสาธารณชน ปกป้องพลเรือน การจัดการเหตุฉุกเฉิน การค้นหาผู้สูญหาย ค้นหาทรัพย์สินที่สูญหาย และภารกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยกองกำลังของตำรวจนั้นมักมีการจัดหน่วยในรูปแบบมีลำดับขั้นและสายการบังคับบัญชา มีโครงสร้างที่ชัดเจน โดยในแต่ละประเทศก็จะมีการแบ่งโครงสร้างและชั้นยศของตำรวจที่แตกต่างกันไป

เครื่องแบบ

[แก้]
เครื่องแบบในการปฏิบัติงานของตำรวจอังกฤษ

เจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนใหญ่สวมเครื่องแบบในการปฏิบัติงาน ทั้งในการตอบสนองเหตุผ่านเบอร์โทรฉุกเฉิน การรับแจ้งเหตุที่สถานีตำรวจ[7] การออกลาดตระเวนเพื้อป้องกันการเกิดอาชญากรรม โดยการแต่งเครื่องแบบนั้นเป็นการแสดงออกถึงอำนาจทางกฎหมายในการรักษาความสงบเรียบร้อย[8] ทั้งในส่วนของการแสดงตัวเพื่อยับยั้งเหตุอาชญากรรม การรักษาที่เกิดเหตุหลังเกิดอาชญากรรมเพื่อรอการตรวจสอบ

นอกเหนือจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบนั้นอาจจะบ่งบอกถึงบทบาทหน้าที่อื่น ๆ ในการปฏิบัติงาน เช่น การจัดการจราจร การปฏิบัติการมวลชนสัมพันธ์ในชุมชน การค้นหาผู้สูญหาย และการรักษาความสงบเรียบร้อยในกิจกรรมสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบนั้นจะต้องมีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง[9] ตำรวจในเครื่องแบบจึงต้องแบ่งการทำงานเป็นกะการทำงาน[10]

งานสืบสวน

[แก้]

ตำรวจสืบสวนมีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน โดยตำรวจในงานสืบสวนสอบสวนนั้นอาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน เช่น ตำรวจสอบสวน ตำรวจศาล และตำรวจอาชญากรรม ซึ่งตำรวจในงานสืบสวนสอบสวนนั้นคิดเป็นประมาณ 15 - 25 % ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยตำรวจในงานสืบสวนสอบสวนนั้นมักจะแต่งกายนอกเครื่องแบบ[11] ทั้งในรูปแบบของชุดสุภาพ เพื่อไม่แสดงออกถึงอำนาจในการทำงานมากเกินไปจนทำให้ผู้รับการสอบสวนไม่ให้ความร่วมมือ แต่ยังคงอำนาจในการสืบสวนสอบสวนอยู่ และในรูปแบบของเสื้อผ้าธรรมดาเพื่อให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของบุคคลทั่วไปในการซ่อนพรางและสืบสวนหาข่าว

หลายครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจมักได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจลับที่ไม่เปิดเผยตัว[12] เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนในองค์กรอาชญากรรม หรือเครือข่ายยาเสพติด ซึ่งไม่สามารถปฏิบัติงานในเครื่องแบบได้ โดยบางครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านั้นต้องเกี่ยวข้องกับเหตุอาชญากรรมพวกนั้นไปด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ และเจ้าหน้าที่ตำรวจในงานสืบสวนสอบสวนแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยในสหรัฐ ตำรวจในงานสืบสวนสอบสวนจะถูกหมุนเวียนไปเรียนรู้งานของตำรวจในเครื่องแบบ เพื่อให้เข้าใจการปฏิบัติงานของตำรวจในเครื่องแบบ ในขณะที่บางประเทศแยกสายงานของตำรวจสืบสวนสอบสวน และตำรวจในเครื่องแบบออกจากกันอย่างสิ้นเชิง

อาสาสมัครและผู้ช่วย

[แก้]

ในบางประเทศ งานตำรวจเป็นงานนอกเวลาหรืองานอาสาสมัคร ซึ่งผู้ปฏิบัติงานบางคนมีอาชีพอื่นนอกเหนือจากการเป็นตำรวจ โดยตำแหน่งเหล่านี้มีทั้งแบบได้รับค่าจ้าง และเป็นงานอาสาสมัคร โดยตำรวจเหล่านี้เป็นที่รู้จักในชื่อต่าง ๆ เช่น ตำรวจสำรอง ผู้ช่วยตำรวจ หรือตำรวจพิเศษ

นอกจากนี้ยังมีองค์กรอาสาสมัครในการทำงานร่วมกับตำรวจ และช่วยปฏิบัติงานในเฉพาะด้าน เช่น โครงการอาสาสมัครตำรวจที่มาจากการเกษียณราชการในสหรัฐ อาสาสมัครรับมือเหตุฉุกเฉินในชุมชนในสหรัฐ อาสาสมัครตำรวจท่องเที่ยวพัทยา โครงการอาสาสมัครตำรวจท่องเที่ยวพัทยา ที่รับชาวต่างชาติเข้ามาเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน[13]

หน่วยเฉพาะทาง

[แก้]

หน่วยเฉพาะทางคือหน่วยที่มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานเฉพาะด้าน พบได้ในหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายหลายแห่งทั่วโลก สำหรับจัดการเหตุอาชญากรรมเฉพาะด้าน เช่น การบังคับใช้กฎหมายจราจร การใช้สุนัขตำรวจ การสอบสวนอุบัติเหตุ การสอบสวนเหตุการฆาตกรรม การสอบสวนการทุจริต หรือหน่วยที่มีความสามารถเฉพาะทางทาง เช่น การค้นหาใต้น้ำ[14] การบิน การเก็บกู้วัตถุระเบิด อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์

ทีมจู่โจม GIGN ของตำรวจฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2559

ในขณะที่เหตุอาชญากรรมมีความรุนแรงและร้ายแรงมากขึ้น หน่วยเฉพาะทางของตำรวจที่ถูกฝึกฝนมาเพื่อปฏิบัติการในการควบคุมสถานการณ์ที่มีความรุนแรงเกินกว่าตำรวจท้องที่ หรือตำรวจตอบโต้เร็วในพื้นที่จะรับมือได้ มีหน้าที่ในการจัดการกับเหตุอาชญากรรมเหล่านั้น[15] รวมถึงการปิดล้อมจับกุมผู้ต้องหาที่มีความอันตรายสูง[16] และการคุ้มกันผู้ต้องหา โดยรู้จักกันในชื่อของ หน่วยสวาต หน่วยปฏิบัติการพิเศษ

ในภารกิจต่อต้านความไม่สงบที่ยังอยู่ในขอบเขตอำนาจการปฏิบัติการของตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะได้รับการคัดเลือกเพื่อเข้ารับการฝึกและประกอบกำลังเป็นหน่วยในการลาดตระเวน และปฏิบัติงานทั้งการหาข่าวและการซุ่มโจมตีในรูปแบบของกองกำลังกึ่งทหาร เพื่อรักษาความสงบในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูง[17]

การปฏิบัติการหลายครั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องแยกผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงออกจากกลุ่มผู้ก่อเหตุในสถานการณ์รุนแรง ทำให้ตำรวจต้องติดอาวุธทางยุทธวิธีที่ไม่ก่อให้เกิดอันตาย อาทิ ระเบิดแฟลช กระสุนยาง

งานธุรการ

[แก้]

ตำรวจอาจมีอำนาจในทางปกครองที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ การออกใบอนุญาตอาวุธปืน การออกใบอนุญาตติดตั้งสัญญาณไฟฉุกเฉิน[18] โดยขอบเขตอำนาจในด้านนี้อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

การทหาร

[แก้]
สารวัตรทหารของกองทัพเกาหลีใต้ยืนรักษาการณ์อยู่ในพื้นที่ความมั่นคงร่วม

ตำรวจในการทหารมีหลายความหมาย อาทิ

  • ส่วนหนึ่งของกองทัพที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านตำรวจในกองทัพ เรียกว่า สารวัตรทหาร [19]
  • ส่วนหนึ่งของกองทัพที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านตำรวจทั้งในกองทัพและพลเรือน มีชื่อเรียกหลากหลายในแต่ละประเทศ เช่น France Gendarmerie, Italy Carabinieri
  • ส่วนหนึ่งของกองทัพที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านตำรวจในพลเรือน มีชื่อเรียกหลากหลายในแต่ละประเทศ เช่น องครักษ์สาธารณรัฐแห่งชาติโปรตุเกส, หน่วยพิทักษ์พลเรือนสเปน

ศาสนา

[แก้]

ในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการบังคับใช้กฎหมายอิสาม ชะรีอะฮ์ จะมีกองกำลังตำรวจศาสนาที่บังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดกฎข้อบังคับของกฎหมายศาสนา เช่น ในประเทศซาอุดีอารเบีย[20]

เครื่องมือและอุปกรณ์

[แก้]

อาวุธ

[แก้]

ในการปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจจะพกอาวุธ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปืนพกในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ[21] ในบางประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร[21] (ยกเว้นไอร์แลนด์เหนือ) ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ นิวซีแลนด์ และมอลตา เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่พกอาวุธ นอกจากหน่วยเฉพาะทางที่ได้รับอนุญาตให้ติดอาวุธ โดยตำรวจมักมีหน่วยเชี่ยวชาญการใช้อาวุธเฉพาะในการปฏิบัติการต่อผู้กระทำผิดที่ติดอาวุธ และสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงอื่น ๆ ซึ่งในบางสถานการณ์ที่ตำรวจไม่สามารถรับมือได้ ตำรวจสามารถร้องขอกำลังสนับสนุนจากทหารได้ ขึ้นอยู่กับกฎหมายในแต่ละประเทศ

นอกจากนี้ ตำรวจยังมีอาวุธที่ไม่ร้ายแรง (อาวุธที่ไม่รุนแรงถึงตาย) เอาไว้สำหรับการควบคุมการจลาจล เช่น กระบอง[21] แก๊สน้ำตา[22] กระสุนยาง[23] ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง[23] ตำรวจควบคุมฝูงชน โล่ปราบจลาจล และอาวุธปืนไฟฟ้า[21] โดยตำรวจจะพกกุญแจจมือเพื่อควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย[24] ในขณะที่อาวุธที่รุนแรงถึงชีวิตมักจะถูกใช้งานเป็นวิธีสุดท้ายเท่านั้นตามเงื่อนไขของข้อกฎหมายในแต่ละประเทศ เช่น บราซิลใช้ได้กับอาชญากรหลบหนี สหรัฐใช้ได้เพื่อป้องกันชีวิตของตนเอง[25][26]

การสื่อสาร

[แก้]
ตำรวจท้องที่ของอัฟกานิสถานกำลังสื่อสารด้วยวิทยุสื่อสารแบบประจำที่เพื่อทดสอบสัญญาณการสื่อสารกับตำรวจในเขตรับผิดชอบเมื่อปี พ.ศ. 2555

ตำรวจสมัยใหม่มักมีการใช้งานวิทยุสื่อสารแบบสองทางอย่างแพร่หลาย ทั้งแบบวิทยุมือถือ วิทยุโมบายล์ติดรถยนต์ และวิทยุแบบติดตั้งประจำที่ เพื่อประสานงานในการทำงาน รายงานข้อมูลและการช่วยเหลือกันอย่างทันถ้วงที[27] ในปัจจุบันอุปกรณ์เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลในรถเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารของตำรวจ ในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน การตรวจสอบประวัติอาชญากรรมผู้ต้องสงสัยในเวลาอันสั้น และรายงานบันทึกประจำวันในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตามเวลาจริง อุปกรณ์การสื่อสารพื้นฐานอื่น ๆ ของตำรวจได้แก่ ไฟฉาย แท่งไฟ นกหวีด

ยานพาหนะ

[แก้]

รถยนต์ตำรวจถูกใช้งานในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการควบคุมตัวผู้ต้องหา[28] การลาดตระเวน และการเดินทาง[29] โดยทั่วไปรถตำรวจจะเป็นรถเก๋งสี่ประตูที่ได้รับการดัดแปลง ติดตราของหน่วยงานตำรวจในตำแหน่งที่เหมาะสม และติดตั้งสัญญาณไฟฉุกเฉินพร้อมด้วยเสียงไซเรน เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนรับรู้ถึงการมาถึงและปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจรถตำรวจหรือยานพาหนะอื่น ๆ ที่ไม่ติดเครื่องหมายถูกใช้งานในการปฏิบัติการสืบสวนและติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดโดยไม่ให้รู้ตัว

รถจักรยานยนต์ตำรวจถูกใช้งานในพื้นที่ที่รถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงได้ เพื่อเข้าระงับเหตุและควบคุมสถานการณ์รักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่[30] ใช้ในการปิดกั้นการจราจรในการคุ้มกันยานพาหนะเมื่อผ่านเส้นทางต่าง ๆ[31] โดยในตำรวจปราบจลาจลมีการใช้งานจักรยานยนต์เพื่อตั้งแนวขัดขวางชั่วคราวในการต่อต้านและปราบปรามผู้ประท้วง และอีกคุณสมบัติของจักรยานยนต์ก็คือความเงียบในการเข้าใกล้ผู้ต้องสงสัย และไล่ติดตามผู้กระทำผิดที่ใช้การเดินเท้าในการหลบหนี

นอกจากนี้ ตำรวจยังใช้ยานพาหนะอื่น ๆ ในการสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย เช่น เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบิน เรือลาดตระเวน รถบัญชาการเหตุการณ์เคลื่อนที่ จักรยานยนต์ และรถหุ้มเกราะ และภายในยานพาหนะเหล่านั้นอาจมีถังดับเพลิง หรือเครื่องกระตุ้นหัวใจสำหรับใช้งานในเหตุฉุกเฉินอีกด้วย

ยุทธวิธี

[แก้]

หลังจากการเข้ามาของการใช้รถตำรวจ วิทยุสื่อสาร และโทรศัพท์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ได้เปลี่ยนกลยุทธ์การทำงานของตำรวจ ที่เน้นการตรวจตราตั้งรับในพื้นที่เขตตรวจของตนเอง เปลี่ยนมาเป็นยุทธวิธีแบบโต้ตอบอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการควบคุมและสั่งการของตำรวจอย่างเป็นระบบที่มีศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น[32]

ความเชื่อมั่น

[แก้]

หน่วยตรวจสอบภายใน

[แก้]

ภายในหน่วยงานตำรวจ มักจะมีหน่วยงานสำหรับตรวจสอบการทำงานภายในหน่วยงานของตนเอง โดยเป็นที่รู้จักในชื่อ หน่วยตรวจสอบภายใน[33] โดยในบางประเทศมีการแยกหน่วยงานนี้ออกมาจากหน่วยงานตำรวจเพื่อความอิสระในการตรวจสอบการทำงาน เช่น อังกฤษ ฮ่องกง

การใช้กำลัง

[แก้]
ตำรวจปราบจลาจลตรุกีใช้กำลังกับผู้ประท้วงในปี พ.ศ. 2556

เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะถูกกล่าวหาว่าใช้กำลังเกินกว่าเหตุ และขอบเขตของกฎหมาย[34] โดยเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือการใช้ความรุนแรงในการจับกุมต่อจอร์จ ฟลอยด์ จนทำให้เขาเสียชีวิต[35] โดยความรุนแรงดังกล่าวอาจขยายไปถึงชีวิตหลังการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีอัตราการใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่สูง[36]

การคุ้มครองบุคคล

[แก้]

เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่หลักในการบังคับใช้กฎหมาย โดยไม่ได้มีหน้าที่ชัดเจนในการปกป้องบุคคลใด ๆ แต่ในทางกลับกัน ตำรวจมีหน้าที่ในการคุ้มครองและปกป้องพยานในกระบวนการชั้นศาล[37] เพื่อไม่ให้เกิดการแทรกแทรงกระบวนการยุติธรรม และการขมขู่พยานเพื่อให้เปลี่ยนแปลงหรือกลับคำให้การ[38]

ในขณะที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางหน่วยที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองบุคคลโดยเฉพาะ เช่น ตำรวจลับสหรัฐ

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "The Role and Responsibilities of the Police" (PDF). Policy Studies Institute. p. xii. สืบค้นเมื่อ 2009-12-22.
  2. "police". Merriam-Webster Dictionary.
  3. "The Role and Responsibilities of the Police" (PDF). Policy Studies Institute. p. xii. สืบค้นเมื่อ 2009-12-22.
  4. Silpa-1 (2022-01-24). ""ตำรวจ" มาจากไหน? ทำไมเรียก "ตำรวจ"? ฟังจาก "จิตร ภูมิศักดิ์"". ศิลปวัฒนธรรม.
  5. "ตำรวจ". db.sac.or.th.
  6. "สถานะชั้นยศ ของกองตำรวจ ในภาพยนตร์ต่างประเทศ กับข้อสงสัย? กับคำว่า Lieutenant, Detective, Officer". Pantip.
  7. "ชีวิตร้อยเวร". dailynews. 2018-12-26.
  8. "ผบ.ตร.กำชับเคร่งครัดวินัย หลังมีภาพตำรวจแต่งครึ่งท่อนว่อนเน็ต". workpointTODAY.
  9. อีกมุมมองของตำรวจ อาชีพที่น่าสงสารที่สุด[ลิงก์เสีย] (mthai.com)
  10. Unknown (2016-02-22). "ตำรวจ(เวร)กลางคืน: ตำรวจกลางคืน?". ตำรวจ(เวร)กลางคืน.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  11. เขม่าปืน (2021-06-30). "ทำไมอยากเป็นนักสืบหญิง". COP'S Magazine.
  12. "เสียสละ พลาดตาย รายได้อัตคัด ชีวิตจริงสายสืบ ผู้พิทักษ์ไร้ตัวตน". www.thairath.co.th. 2018-06-24.
  13. "Tourist Police Pattaya – Helping tourists in Pattaya" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  14. admin. "ตำรวจพลร่ม กองร้อยกู้ชีพ ฝึกเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการทางน้ำ – สถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  15. "อรินทราช 26 หรือ S.W.A.T. พลีชีพ 2ศพ กับภารกิจฝ่าดงกระสุน สยบจ่าคลั่ง". mgronline.com. 2020-02-10.
  16. วิสามัญฯ เกร็ก ผู้ต้องหาก่อคดีโชกโชน จ.นครศรีธรรมราช, สืบค้นเมื่อ 2022-05-18
  17. p.Davies, Bruce & McKay, Gary The Men Who Persevered:The AATTV 2005 Bruce & Unwin
  18. "ตร.ขออาสากู้ภัยขออนุญาตติดตั้งสัญญาณไฟให้ถูกต้อง". Thai PBS. 2022-04-22.
  19. "บุกจับ ตม.เขมรพร้อมพวก 4 คนซุกอาวุธสงครามเพียบเตรียมส่งขายฝั่งไทย". www.naewna.com. 2022-05-04.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  20. "ตำรวจศาสนาซาอุฯ บอกคนที่ใช้ทวิตเตอร์หมดโอกาสมีชีวิตหลังความตาย | Blognone". www.blognone.com (ภาษาอังกฤษ).
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 "ทำไมตำรวจลอนดอน ไม่พกอาวุธปืนประจำตัวให้อุ่นใจ". www.thairath.co.th. 2015-09-01.
  22. "เปิดภาพอีกฝั่ง ด้านหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยิงแก๊สน้ำตา สกัดผู้ชุมนุมต่อเนื่อง". www.thairath.co.th. 2021-08-07.
  23. 23.0 23.1 "ตำรวจขู่ใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา รถจีโน่ สกัดผู้ชุมนุมดื้อดึงบุกสนามหลวง วอนตระหนักการใช้สิทธิและเสรีภาพ". mgronline.com. 2021-11-14.
  24. "โวยตร.จับใส่กุญแจมือ ตรวจฉี่ไม่เจอ-ปรับไม่พกบัตรปชช". dailynews. 2017-09-26.
  25. "อเมริกาสลดอีก กราดยิง12ศพ! มือปืนตายตาม". Thai Post | อิสรภาพแห่งความคิด (ภาษาอังกฤษ).
  26. "กฎหมาย "stand your ground" ยิงคนตายไม่ถูกจับ". www.sanook.com/news.
  27. matichon (2020-07-23). "ตร.แจก ว.หัวเว่ยรุ่นใหม่ ป้องกันปัญหาดักฟัง ประทวนรุ่นปุ่มกด-สารวัตรทัชสกรีน". มติชนออนไลน์.
  28. 19 (2021-09-04). "จับได้แล้ว! ผู้ต้องหาโดดลงรถควบคุมตัว ขณะที่ศาล หมดทางหนี ซ่อนในป่า". ข่าวสด.{{cite web}}: CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์)
  29. matichon (2022-05-15). "เป็นงง รถบัส คฝ.ปาดหน้ารถ ปชช. ขอใช้รถตู้ชนเพิ่ม เพราะมีประกัน เผย ผบ.โทรขอโทษแล้ว". มติชนออนไลน์.
  30. "โยนยาบ้าทิ้ง ซิ่งหนีสายตรวจ สองหนุ่มสาวชะตาขาด จยย.ชนเสาไฟตายคู่". www.thairath.co.th. 2022-05-17.
  31. 59 (2022-05-17). "ตร.จราจรบางพลัด เร่งขับนำทางฝ่าฝนตกหนัก พาหญิงใกล้คลอด ส่ง รพ. หลังตกเลือด". ข่าวสด.{{cite web}}: CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์)
  32. Reiss, Albert J. Jr. (1992). "Police Organization in the Twentieth Century". Crime and Justice. 15: 51–97. doi:10.1086/449193. S2CID 144200517. แม่แบบ:NCJ.
  33. "สำนักงานตรวจสอบภายใน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตส.)". audit.police.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-09. สืบค้นเมื่อ 2022-05-18.
  34. "วันชัยชี้ หากตำรวจใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ ต้องถูกประณาม-ลงโทษตามกฎหมาย ขอชุมนุมโดยสงบ". THE STANDARD. 2021-03-22.
  35. Levin, Sam (2020-06-06). "What does 'defund the police' mean? The rallying cry sweeping the US – explained". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2020-06-08.
  36. Rafaqat, Cheema (July 2016). "Black and Blue Bloods: Protecting Police Officer Families from Domestic Violence". Scholarly Commons at Hofstra Law (ภาษาอังกฤษ).
  37. "การคุ้มครองพยาน ในคดีอาญา". สำนักงานกิจการยุติธรรม. 2020-10-02.
  38. "บิ๊กโจ๊ก ยันไม่หนักใจคดีค้ามนุษย์ถูกแทรกแซง ส่งเด็กเข้าคุ้มครองพยานแล้ว". www.thairath.co.th. 2022-05-06.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]