วาฬบาลีน
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: อีโอซีนยุคสุดท้าย – ปัจจุบัน
วาฬหลังค่อม (Megaptera novaeangliae) จัดเป็นวาฬบาลีนที่อยู่ในวงศ์วาฬอกร่อง (Balaenopteridae)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Artiodactyla
อันดับฐาน: Cetacea
อนุอันดับ: Mysticeti
Cope, 1891[1]
วงศ์
ดูในเนื้อหา
บาลีน
การกินอาหารของวาฬหลังค่อม ซึ่งเห็นบาลีนสีเขียวอยู่ในปาก

อนุอันดับวาฬบาลีน หรือ วาฬกรองกิน หรือ วาฬไม่มีฟัน (อังกฤษ: Baleen whales, Toothless whales) เป็นกลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในทะเล ในอันดับฐานวาฬและโลมา (Cetacea) อันได้แก่ วาฬ และโลมาในอันดับสัตว์กีบคู่ ซึ่งวาฬบาลีนถูกจัดอยู่ในอนุอันดับ Mysticeti (/มิส-ติ-เซ-เตส/)[1]

วาฬ ที่อยู่ในกลุ่มวาฬบาลีน มีลักษณะเด่น คือ เป็นวาฬที่มีขนาดใหญ่ ในปากจะไม่มีฟันเป็นซี่ ๆ เหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอันดับอื่น ๆ แต่จะมีมีฟันเหมือนขนแปรงสีฟันหรือซี่หวี่ขนาดใหญ่ ซึ่งห้อยลงมาจากขากรรไกรด้านบน ขนแปรงนี้จะเติบโตด้วยกันเป็นกลุ่มที่เรียกว่า "บาลีน" ใช้สำหรับกรองอาหารจากน้ำทะเล จึงกินได้แต่เฉพาะสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ๆ เช่น แพลงก์ตอนชนิดต่าง ๆ, เคย และปลาขนาดเล็ก เช่น ปลาแฮร์ริ่ง, ปลากะตัก, ปลาซาร์ดีน เป็นต้น[2]

ดังนั้นการกินอาหารของวาฬบาลีน จะใช้วิธีกลืนน้ำทะเลเข้าไปในปากเป็นจำนวนมาก แล้วจะหุบปากแล้วยกลิ้นขึ้นเป็นการบังคับให้น้ำออกมาจากปาก โดยผ่านบาลีน ที่ทำหน้าที่เหมือนหวี่กรองปล่อยให้น้ำออกไป แต่อาหารยังติดอยู่ในปากของวาฬ แล้ววาฬจะกลืนอาหารลงไป โดยวัน ๆ หนึ่งจะกินอาหารได้เป็นจำนวนมาก คิดเป็นน้ำหนักเป็นตัน เช่น วาฬสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นวาฬบาลีนชนิดหนึ่ง และเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วย จะกินแพลงก์ตอนมากถึง 4,000 กิโลกรัม (8,800 ปอนด์) ต่อวัน (คิดเป็นน้ำหนักเท่ากับพิซซาจำนวน 12,000 ชิ้น)[3]

วาฬบาลีน เป็นวาฬที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง เมื่อเวลาหากินจะช่วยกันหาอาหาร โดยรวมตัวกันด้วยการทำให้ผิวน้ำเป็นฟองเพื่อไล่ต้อนอาหาร ซึ่งเป็นฝูงปลาเล็ก ๆ ให้สับสน อีกทั้งยังเป็นนักเดินทางในท้องทะเลและมหาสมุทร ส่วนใหญ่อพยพเป็นระยะทางไกล ๆ ทุกปี จากทะเลที่มีอุณหภูมิอบอุ่นซึ่งเป็นที่ ๆ ผสมพันธุ์และคลอดลูกไปยังทะเลที่เย็นกว่า ซึ่งเป็นที่ ๆ จะหาอาหาร โดยวาฬสีเทานับเป็นวาฬที่อพยพเป็นระยะทางไกลที่สุด จากประเทศเม็กซิโกถึงอาร์กติกแถบขั้วโลกเหนือ รวมระยะทางไปกลับประมาณ 20,000 กิโลเมตร (12, 500 ไมล์)[4]

วาฬบาลีน ในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็นทั้งหมด 4 วงศ์ 15 ชนิด[1] แต่ก็มีหลายชนิดและหลายสกุลที่สูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ (ที่สูญพันธุ์แล้วจะใส่เครื่องหมาย † ไว้ข้างหน้า)

แต่จากการศึกษาจากซากดึกดำบรรพ์ พบว่าบรรพบุรุษของวาฬบาลีนเป็นวาฬมีฟันที่มีชื่อว่า Janjucetus มีอายุอยู่ในราว 25 ล้านปีก่อน และเชื่อว่าอาจจะเป็นสัตว์ดุร้ายและทรงพลังมากในการล่าเหยื่อและกินอาหารด้วย เนื่องจากลักษณะของฟันมีความแหลมคม ไม่เหมือนกับของแมวน้ำรวมถึงไม่เหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกอื่นในยุคสมัยเดียวกัน แต่มีลักษณะคล้ายกับฟันของสิงโตในยุคปัจจุบันมากกว่า[5]

การจำแนก

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 "Mysticeti". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  2. "วาฬและโลมา หน้า 1". plawan.
  3. "วาฬและโลมา หน้า 5". plawan.
  4. "วาฬและโลมา หน้า 6". plawan.
  5. หน้า 7, ค้นพบซากวาฬยุคโบราณ ที่เชื่อว่าอาจเป็นนักล่าที่ดุร้าย. "โลกโศภิณ". ไทยรัฐปีที่ 68 ฉบับที่ 21778: วันพุธที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2560 แรม 1 ค่ำ เดือน 10 ปีระกา
  6. Deméré, T.A.; Berta, A.; McGowen, M.R. (2005). "The taxonomic and evolutionary history of fossil and modern balaenopteroid mysticetes". Journal of Mammalian Evolution. 12 (1/2): 99–143. doi:10.1007/s10914-005-6944-3.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้