วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้
วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ (จีน: 河姆渡文化, อังกฤษ: Hemudu Culture}) (5500 ถึง 3300 ปีก่อนคริสตกาล [1]) เป็นวัฒนธรรมในยุคหินใหม่ ในภูมิภาคเจียงหนาน ที่แพร่กระจายจากที่ราบทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของอ่าวหางโจว ในมณฑลเจ้อเจียง ไปจนถึงหมู่เกาะโจวชาน วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้อาจแบ่งออกเป็นช่วงต้นและช่วงปลาย คือ ก่อนและหลัง 4000 ปีก่อนคริสตกาลตามลำดับ [2]
ภูมิภาค | จีนตะวันออก | ||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
สมัย | ยุคหินใหม่ ของจีน | ||||||
ช่วงเวลา | 5500 – 3300 ปีก่อนคริสตกาล | ||||||
ชื่อภาษาจีน | |||||||
ภาษาจีน | 河姆渡文化 | ||||||
|
แหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้อยู่ห่าง 22 กม. จากเมืองหนิงปัว ถูกค้นพบในปีพ.ศ. 2516 นอกจากนี้ยังมีแหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ที่เถียนหลัวชาน (Tianluoshan 田螺山) ในเทศมณฑลหยูเหยา (Yuyao)[3] และเทศมณฑลโจวชาน (Zhoushan) กล่าวกันว่ามนุษยวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้มีความแตกต่างทางร่างกายจากชนพื้นเมืองทางเหนือในบริเวณแม่น้ำหวง[4] นักว่ิชาการโบราณคดีบางคนเสนอว่าวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้อาจเป็นแหล่งกำเนิดของวัฒนธรรมยุคก่อนออสโตรนีเซียน[5][6][7][8]
ความสำคัญทางโบราณคดี
แก้แม่น้ำแยงซีเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียทอดข้ามแผ่นดินจีน 6,000 กม. แม้ว่าจะมีความยาวและขนาดพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเกินกว่าแม่น้ำหวง แต่อารยธรรมโบราณที่ถือกำเนิดในลุ่มแม่น้ำแยงซีไม่เป็นที่รู้จักมาก่อน เนื่องจากผู้คนเชื่อมาโดยตลอดว่าต้นกำเนิดของอารยธรรมจีน คือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำหวง มีเพียงอารยธรรมลุ่มแม่น้ำหวงเท่านั้นที่เป็นกระแสหลักของประวัติศาสตร์ แต่การค้นพบที่น่าตื่นเต้นของแหล่งวัฒนธรรมในตอนล่างของแม่น้ำแยงซียังคงปรากฏอยู่เรื่อยมา
วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ถูกค้นพบครั้งแรกในปีพ.ศ. 2516 และมีการขุดสำรวจแหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้สองครั้งในปีพ.ศ. 2516 - 2517 และ 2520 - 2521 ลักษณะสำคัญของเครื่องปั้นดินเผาในวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ คือ เครื่องปั้นดินเผาสีดำ
หัตถกรรมจากกระดูกของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้มีความก้าวหน้าอย่างมาก เช่น หัวฉมวก ขอเบ็ด หัวลูกดอก นกหวีด กริชสั้น กรวย เครื่องถ้วย เลื่อย ฯลฯ ได้รับการขัดเกลาอย่างประณีตโดยเฉพาะการพบลายนกสลักบนตัวเครื่องใช้เหล่านั้น เครื่องมือกสิกรรมที่พบมากและเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ คือ เสียม
ในแง่ของสถาปัตยกรรมมีการพบซากอาคารยกพื้นจำนวนมากในพื้นที่ รูปแบบสถาปัตยกรรมของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ส่วนใหญ่เป็นอาคารยกพื้นมีโครงเสาไม้ (干栏式建筑) เป็นรูปแบบเฉพาะของทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีในประเทศจีนตั้งแต่ยุคหินใหม่ ซึ่งแตกต่างจากบ้านกึ่งห้องใต้ดินในช่วงเวลาเดียวกันในภาคเหนือ ดังนั้นวัฒนธรรมยุคหินใหม่ทางตอนล่างของแม่น้ำแยงซีจึงเป็นอีกสายอารยธรรมหลักของจีนที่สำคัญที่แสดงถึงการพัฒนาของอารยธรรมจีนโบราณซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมหย่างเฉาในที่ราบตอนกลาง
ในบรรดามรดกทางวัฒนธรรมที่ขุดพบจำนวนมากของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ ที่สำคัญที่สุดคือ การค้นพบข้าวที่มาจากการเพาะปลูกจำนวนมาก มีการขุดพบแกลบจำนวนมากจากพื้นที่ระหว่างการสำรวจในปีพ.ศ. 2530 ตามรายงานพบว่ามีปริมาณรวมถึง 150 ตัน ผลการวิเคราะห์พบว่าแกลบเหล่านี้มีอายุ 5,000 ปีก่อนคริสตกาล การปลูกข้าวทำให้เกิดการสะสมเมล็ดพืชส่วนเกินจำนวนมากในสังคมได้ และการเกิดพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสร้างความแข็งแกร่งของวัฒนธรรม เกิดการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการไปสู่ การเลี้ยงสัตว์ในครัวเรือน [9] (และการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง)
ถึงปัจจุบัน เหอหมู่ตู้เป็นแหล่งวัฒนธรรมข้าวที่เก่าแก่และสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก การค้นพบนี้ได้เปลี่ยนความเชื่อดั้งเดิมที่ว่าข้าวที่ปลูกในประเทศจีนนำเข้าจากอนุทวีปอินเดีย[10]
แหล่งโบราณคดี
แก้แหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ ได้แก่
- แหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ หมู่บ้านเหอหมู่ตู้ เทศมณฑลหยูเหยา (เป็นที่มาของการเรียกช่ื่อ วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้) อยู่ห่าง 22 กม. ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง หนิงปัว
- แหล่งโบราณคดีจือชาน (鲻山遗址)
- แหล่งโบราณคดีเฉียงเจียชาน (鲞架山遗址)
- แหล่งโบราณคดีสื่อหู (慈湖遗址)
- แหล่งโบราณคดีเสี่ยวตงเหมิน (小东门遗址)
- แหล่งโบราณคดีฟู่เจียชาน (傅家山遗址)
- แหล่งโบราณคดีหมิงชานโฮ่ว (名山后遗址)
- แหล่งโบราณคดีถาชาน (塔山遗址)
- แหล่งโบราณคดีเถียนหลัวชาน (田螺山遗址)
- แหล่งโบราณคดีไป๋ชฺวาน (白泉遗址)
- แหล่งโบราณคดีหลิงชาน (灵山遗址)
หลังจากการขุดสำรวจแหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ ในปีพ.ศ. 2524 สถาบันวัฒนธรรมและโบราณคดีแห่งมณฑลเจ้อเจียงได้ทำการประเมินการแพร่กระจายของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ จนถึงขณะนี้มีการค้นพบแหล่งโบราณคดีของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ 49 แห่ง ในที่ราบหนิงเชา และสองฝั่งแม่น้ำเหยาเจียง
มรดกทางวัฒนธรรม
แก้นักวิชาการโบราณคดีบางคนยืนยันว่าวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้อยู่ร่วมสมัยกับ วัฒนธรรมหม่าเจียปัง ทั้งสองวัฒนธรรมแยกจากกันแต่มีการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมระหว่างกัน [ต้องการอ้างอิง] นักวิชาการคนอื่น ๆ รวมวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ เข้ากับ วัฒนธรรมหม่าเจียปัง [2]
สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
แก้พื้นที่เหอหมู่ตู้ ตั้งอยู่ทางตอนปลายของ แม่น้ำแยงซี ทำให้มีดินที่อุดมสมบูรณ์จากการทับถมของตะกอนแม่น้ำและทะเลสาบเป็นปัจจัยที่ดีสำหรับการกสิกรรมแบบดั้งเดิม มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ใกล้แหล่งปลูกเหมาะแก่การเจริญเติบโตของข้าวที่ต้องใช้น้ำมาก พบซากของข้าว แกลบ ต้นข้าว และใบข้าวกระจายโดยทั่วไป เป็นหลักฐานของต้นกำเนิดการปลูกข้าวในประเทศจีนและยังบ่งชี้ว่าเป็นการเพาะปลูกข้าวที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก
ซากบรรพชีวัน อะมีบา และ ละอองเรณูที่พบในชั้นดินเดียวกันบอกอายุของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ว่าเกิดและพัฒนาขึ้นในช่วงกลางของสมัยโฮโลซีน (ซึ่งเป็นช่วงที่เรียกว่า Holocene Climatic Optimum - ช่วงภูมิอากาศที่อุ่นที่สุดในสมัยโฮโลซีน)[11] การศึกษาของระดับน้ำทะเลในที่ราบลุ่ม Ningshao ช่วง 7000-5000 ปีก่อนคริสตกาล เปรียบเทียบกับ ช่วง 5000-3900 ปีก่อนคริสตกาล แสดงให้เห็นว่าความต่อเนื่องของการเพิ่มของระดับน้ำทะเล มีผลให้เกิดน้ำท่วมบ่อยในช่วง 5000-3900 ปีก่อนคริสตกาล [12] ยังพบหลักฐานน้ำท่วมใหญ่สองครั้งทำให้ แม่น้ำเหยาเจียง ที่อยู่ใกล้เคียงเปลี่ยนเส้นทาง และยังทำให้ผืนดินเพาะปลูกเดิมถูก ท่วมขังด้วยน้ำทะเล สภาพดินเค็มนี้บังคับให้ชาวเหอหมู่ตู้ละทิ้งถิ่นฐาน
สภาพภูมิอากาศได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นเขตร้อนถึงกึ่งเขตร้อนโดยมีอุณหภูมิสูงและมีฝนตกชุกตลอดทั้งปี[12] พื้นที่เหอหมู่ตู้ในช่วงเวลาขณะนั้นเป็นป่าดิบชื้นและป่ากึ่งเขตร้อน สภาพภูมิอากาศแบบนี้ช่วยให้มีความอุดมสมบูรณ์ของป่ามากกว่าปัจจุบันมากและรองรับสัตว์ฝูงใหญ่[11] มีหมูป่า ควาย และสัตว์ป่าอื่น ๆ เช่น แรดโบราณ ซากสัตว์ป่าจำนวนมากที่ขุดพบในพื้นที่วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ในตระกูลกวาง ด้วยเหตุนี้วัสดุที่นิยมใช้สร้างเครื่องมือทางการเกษตรในเวลานั้นคือ กระดูก โดยเฉพาะส่วนสะบักของกวางและควายที่ใช้ทำ เสียม (ในภาษาจีน 耜 หมายถึงเครื่องมือใช้ขุดเปิดหน้าดินด้วยแรงคน ซึ่งใช้ทั้งเป็นเสียม หรือ ใบไถ ผานไถ)
หนองน้ำที่มีอยู่อย่างหนาแน่นเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีทำให้สัตว์น้ำและพืชมีชุกชุมและยังเป็นปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาการประมง การล่าสัตว์ และการเพาะพันธุ์พืช ไม้พายที่มีก้านใบคล้ายใบพายที่พบในแหล่งโบราณคดีระบุว่ามีการใช้เรือเพื่อการขนส่งและในกิจกรรมการตกปลาและการล่าสัตว์
ซากของพืชหลายชนิดได้แก่ บัวหลวง (Nelumbo nucifera) โอ๊ก แตงเมลอน ผลกีวีป่า แบล็กเบอร์รี่ พีช ฟ็อกซ์นัท หรือ บัวเคียมซิก และ น้ำเต้า พบได้ที่แหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ และ แหล่งโบราณคดีเถียนหลัวชาน [13] ชาวเหอหมู่ตู้ น่าจะเลี้ยง หมู แต่ยังคงการล่า กวาง และ ควายป่า อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมีการตกปลาในปริมาณมากโดยเน้นเฉพาะ ปลาคาร์พ (crucian carp) [14] การทำประมงและการล่าสัตว์นั้นมีหลักฐานจากซาก ฉมวกกระดูก คันธนู และหัวลูกศร
ความอุดมสมบูรณ์จากสภาพภูมิอากาศที่อุ่นและกินเวลานาน ทำให้เป็นช่วงที่ภูมิอากาศดีที่สุด อารยธรรมโบราณที่ยิ่งใหญ่ของโลกหลายแห่งเริ่มต้นขึ้นและเจริญรุ่งเรืองในช่วงเวลาดังกล่าว [11]
ที่อยู่อาศัย
แก้ชาวเหอหมู่ตู้อาศัยอยู่ใน บ้านยกพื้นทรงยาว เป็นลักษณะโรงเรือนรวมของชุมชนพบได้ทั่วไปในพื้นที่เหอหมู่ตู้ และมีลักษณะคล้ายกับที่พบในเกาะบอร์เนียวในปัจจุบัน[15]
บ้านยกพื้นและมีราวบันไดยังสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยที่ร้อนชื้นในภาคใต้ ความแตกต่างของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติทำให้ วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ แตกต่างจากวัฒนธรรมของลุ่มแม่น้ำหวงในตอนเหนือของจีน
การสำรวจทางภูมิศาสตร์พบว่า เนินเขาที่อยู่ใกล้กับพื้นที่สร้างเหอหมู่ตู้และทางตะวันออกเฉียงเหนือเป็นทะเลสาบในเวลานั้น ภูมิศาสตร์ลักษณะนี้เหมาะสมที่สุดสำหรับประเภท เรือนยกพื้น (ในภาษาจีนเรียก อาคารแบบรั้วแห้ง (干栏式建筑 dry-fence) คือมีเสาเรียงกันเป็นแถวยาวสำหรับวางคานไม้ มีลักษณะที่คล้ายรั้วไม้) เรือนยกพื้นมีคุณลักษณะที่ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้ชีวิตริมน้ำได้ดี คือ พื้นเรือนมีการระบายอากาศ สามารถป้องกันความชื้นจากพื้นดินได้ระดับหนึ่ง ยังสามารถรับมือน้ำท่วมหลังฝนตกหนัก และป้องกันแมลงที่อาศัยเรี่ยดิน ของเหลือสามารถโยนจากช่องว่างของพื้นและลอยไปกับน้ำ หรือใช้เป็นอาหารสำหรับสุนัขและหมูบนพื้นดิน และพื้นใต้ถุนสามารถสุมไฟเพื่อป้องกันยุงได้ ความสูงของพื้นเรือนยังสามารถป้องกันการโจมตีของศัตรูได้ และหากอาคารอยู่ในที่ดอนก็สามารถลดการระดับการยกพื้นได้เช่นกัน
มีการขุดพบส่วนประกอบไม้ทางสถาปัตยกรรมจำนวนมาก เช่น เสาเข็ม คาน แผ่นพื้น ฯลฯ ที่แหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ ส่วนประกอบต่างๆถูกประกอบเข้าด้วยเดือยหรือลิ่มไม้ (ลิ้นหมุด) แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีงานไม้ที่โดดเด่นในเวลานั้น แผ่นลิ้นและร่องลิ้นสามารถประกอบแผ่นไม้สองแผ่นเข้าด้วยกันได้โดยสนิท (ไม่มีช่องว่าง) เทคโนโลยีการก่อสร้างที่พบในแหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ อาจกล่าวได้ว่ามีส่วนในการวางรากฐานสำหรับสถาปัตยกรรมไม้ของจีน
สิ่งประดิษฐ์ และงานฝีมือ
แก้ในแง่ของสิ่งประดิษฐ์ เครื่องมือหินมีขนาดค่อนข้างเล็ก ส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือล่าสัตว์และตัดเนื้อสัตว์ เช่น ขวาน มีด ซึ่งบางชิ้นมีการประดับตกแต่ง มีการพบเครื่องประดับไม้ "ปลาแกะสลัก" ที่เก่าแก่ที่สุดของจีน ส่วนเครื่องมืออื่น ๆ ได้แก่ เครื่องมือกสิกรรมที่ทำจากกระดูก ด้ามไม้ มีด เสียม และเครื่องทอจำนวนมาก
วัฒนธรรมนี้ยังผลิตเครื่องเคลือบเงา (เครื่องเขิน) ชามไม้เคลือบสีแดงที่พิพิธภัณฑ์เจ้อเจียงมีอายุตั้งแต่ 4000 - 5000 ปีก่อนคริสตกาล เชื่อกันว่าเป็นเครื่องเคลือบเงาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก [16]
เครื่องมือทอผ้า ล้อหมุนปั่นด้าย กระสวยมีรอยหยักที่ปลายทั้งสองข้าง และมีดที่ขุดพบในแหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ แสดงให้เห็นว่าผู้คนในยุคหินใหม่ได้เริ่มประดิษฐ์เครื่องทอผ้าด้วยมือแล้ว
เครื่องปั้นดินเผา
แก้วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ได้ผลิต เครื่องปั้นดินเผา ที่มีลักษณะโดดเด่นคือ มักมีสีดำ โดยทั่วไปจะมีการวาดลวดลายพืช และ เรขาคณิตลงบนเครื่องปั้นดินเผา และบางส่วนมีลายเชือก วัฒนธรรมนี้ยังผลิตเครื่องประดับ หยกแกะสลัก งาช้างแกะสลัก และรูปแกะสลักดินขนาดเล็ก
เครื่องปั้นดินเผาของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องปั้นดินเผาสีดำที่ทำจากการผสมผงถ่านและทรายจำนวนเล็กน้อย และเครื่องปั้นดินเผาสีเทาโคลน ซึ่งทั้งหมดนี้ทำด้วยมือและอุณหภูมิในการเผาคือ 800-930 ℃ มีความบริสุทธิ์ของธาตุเหล็กเพียงร้อยละ 1.5 ใช้แกลบ ลำต้น และใบข้าวเป็นวัสดุในการเผาจำนวนมาก เทคโนโลยีกระบวนการผลิตยังค่อนข้างดั้งเดิม เครื่องปั้นดินเผานี้มีลักษณะค่อนข้างหนาและหยาบ น้ำหนักค่อนข้างเบา ดูดซึมน้ำได้ดี(ความพรุนสูง) และแตกหักง่าย ในวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ช่วงปลายยังคงทำด้วยมือ แต่เครื่องใช้บางอย่างได้รับการตัดแต่งด้วยแป้นหมุนและมีความซับซ้อนมากขึ้น เครื่องปั้นดินเผาบางชนิดมีอุณหภูมิสูงขึ้นและอุณหภูมิในการเผาสูงถึงประมาณ 1,000 ° C
ประเภทของภาชนะ ได้แก่ กาต้มน้ำ หม้อ ถ้วย จานชาม อ่าง ถัง หม้อเตา ฝาและที่รองรับ มักจะมีลวดลายแกะสลักหรือลายทาบเชือก มีเครื่องปั้นดินเผาบางส่วนทาสีด้วยสีน้ำตาลน้ำตาลเข้มของลวดลายของพืช
เครื่องดนตรี
แก้นกหวีดกระดูกจำนวนไม่น้อยที่ขุดพบในวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ อาจเป็นเครื่องดนตรีและเครื่องมือล่าสัตว์ที่จำลองเสียงสัตว์ ยังพบ ขลุ่ยดินเผา (埙 Xun) มีรูปทรงเป็นรูปไข่และกลวงมีรูเป่าเล็ก ๆ ที่ปลายด้านหนึ่ง นอกจากนี้ยังพบเครื่องดนตรีอื่น เช่น กลองไม้
โครงสร้างทางสังคม
แก้โครงสร้างทางสังคมช่วงแรกของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ จัดเป็นมาตาธิปไตย ฐานะทางสังคมของเด็กและผู้หญิงค่อนข้างสูง ในช่วงปลายวัฒนธรรม ค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นปิตาธิปไตย ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสถานะทางสังคมของผู้ชายเพิ่มขึ้น และการสืบเชื้อสายถูกส่งผ่านสายของผู้ชาย
ศาสนา
แก้ชาวเหอหมู่ตู้บูชา ดวงอาทิตย์ และ วิญญาณแห่งความอุดมสมบูรณ์ พวกเขาสร้างพิธีกรรมคนทรง (shamanistic) ของดวงอาทิตย์ และเชื่อว่าเสาโทเทม (totem) รูปนก คือ ความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย และผี (วิญญาณ) น่าจะแพร่หลายเช่นกัน
การฝังศพจะหันศีรษะไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือและส่วนใหญ่ไม่พบสิ่งของตกแต่งสำหรับหลุมฝังศพ เด็กทารกถูกฝังในโลงศพแบบโกศ ส่วนเด็กและผู้ใหญ่ได้รับการฝังศพระดับพื้นดิน ในช่วงต้นวัฒนธรรมชุมชนส่วนใหญ่ไม่มีสถานที่ฝังศพส่วนกลางที่แน่นอน แต่มีการพบที่ฝังศพของเครือตระกูลในช่วงปลายวัฒนธรรม หลุมฝังศพของคนสองกลุ่มที่แยกจากกัน พบสิ่งของฝังศพจำนวนมากอย่างเห็นได้ชัดในที่ฝังศพของชุมชนแห่งนี้ [2] แสดงว่ามีการแต่งงานกันระหว่างสองตระกูล
โบราณวัตถุ
แก้-
เสื่อถักมือ วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ ค้นพบในเจ้อเจียงในปี พ.ศ. 2517 [17] พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีนปักกิ่ง
-
เสียม ที่ทำจากกระดูกสะบัก ค้นพบในเหอหมู่ตู้ เทศมณฑลหยูเหยา มณฑลเจ้อเจียงในปี พ.ศ. 2517 พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน ปักกิ่ง
-
ส่วนประกอบของเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ทำด้วยงาช้าง มีรอยบากรูปนกสองตัวหันเข้าหากัน หันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์ พิพิธภัณฑ์เจ้อเจียง
-
ศิลปกรรมงาช้างรูปพาย แกะสลักลายนก ค้นพบที่ เหอหมู่ตู้ ในปี พ.ศ. 2520 พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน
-
โถดินเผาสองหู สีเทาดำด้วยผงถ่านบด วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ 4800 ปีก่อนคริสตกาล พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้
-
หม้อดินเผาสีดำด้วยถ่านบด มีปากกว้างและก้นแบน วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้[18]
-
หม้อดินเผาสีดำ เหอหมู่ตู้ เทศมณฑลหยูเหยา มณฑลเจ้อเจียง ปี พ.ศ. 2516 พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน ปักกิ่ง
-
เตาดินเผาและหม้อต้ม พิพิธภัณฑ์เจ้อเจียง
-
ชามไม้เคลือบสีแดง นับว่าเป็นเครื่องเคลือบเงา (เครื่องเขิน) ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก พบในปีพ.ศ. 2555 พิพิธภัณฑ์เจ้อเจียง
-
รูปปั้นดินเผาของหมู ค้นพบเมื่อปีพ.ศ. 2517 พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน
-
นกหวีดกระดูก Hemudu ค้นพบเมื่อปีพ.ศ. 2517 พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน
อ้างอิง
แก้- ↑ Liu & Chen (2012).
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Wang (2001).
- ↑ Zhang, Jianping; Lu, Houyuan; Sun, Guoping; Flad, Rowan; Wu, Naiqin; Huan, Xiujia; He, Keyang; Wang, Yonglei (2016). "Phytoliths reveal the earliest fine reedy textile in China at the Tianluoshan site". Scientific Reports. 6: 18664. Bibcode:2016NatSR...618664Z. doi:10.1038/srep18664. PMC 4725870. PMID 26766794.
- ↑ Goodenough, Ward (1996). Prehistoric Settlement of the Pacific, Volume 86, Part 5. p. 53.
- ↑ Tarling, Nicholas (1999). The Cambridge History of Southeast Asia. pp. 102–103.
- ↑ https://web.archive.org/web/20140228173514/http://bishopmuseum.org/media/2007/pr07036.html
- ↑ Liu, Li (2012). The Archaeology of China: From the Late Paleolithic to the Early Bronze Age. https://archive.org/details/archaeologychina00liul หน้า 204
- ↑ Bellwood, Peter (1997). "Prehistory of the Indo-Malaysian Archipelago". Prehistory of the Indo-Malaysian Archipelago: Revised Edition. Honolulu: University of Hawaiʻi Press. pp. 205–211. ISBN 0824818830
- ↑ Fuller, Dorian Q, Ling Qin, Yunfei Zheng, Zhijun Zhao, Xugao Chen, Leo Aoi Hosoya, and Guo-ping Sun (2009) "The Domestication Process and Domestication Rate in Rice: Spikelet bases from the Lower Yangtze". Science 323: 1607–1610 doi:10.1126/science.1166605
- ↑ "Hemudu Cultural Relics". Zhejiang Provincial Government (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2 September 2020.[ลิงก์เสีย]
- ↑ 11.0 11.1 11.2 http://www.atmo.arizona.edu/students/courselinks/fall12/atmo336/lectures/sec5/holocene.html
- ↑ 12.0 12.1 Underhill, Anne (2013). A Companion To Chinese Archaeology. p. 561
- ↑ Fuller & Qin (2010).
- ↑ Nakajima T, Nakajima M, Mizuno T, Sun G-P, He S-P and Yamazaki T (2010) "On the pharyngeal tooth remains of crucian and common carp from the Neolithic Tianluoshan site, Zhejiang Province, China, with remarks on the relationship between freshwater fishing and rice cultivation in the Neolithic Age". International Journal of Osteoarchaeology doi:10.1002/oa.1206.
- ↑ Maisel, Charles Keith (1999). Early Civilizations of the Old World: The Formative Histories of Egypt, the Levant, Mesopotamia, India and China. Psychology Press. p. 288. ISBN 978-0-4151-0975-8
- ↑ "Red Lacquer Wood Bowl: The Origin of Lacquerware (2009)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-01. สืบค้นเมื่อ 2020-09-02.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-29. สืบค้นเมื่อ 2020-09-02.
- ↑ Chinese Ceramics. 2010, p. 82-83 .