ครุยวิทยฐานะในสหราชอาณาจักร
ครุยวิทยฐานะในสหราชอาณาจักร หรือครุยวิทยฐานะแบบอังกฤษ (อังกฤษ: academic dress) เป็นเสื้อคลุมสำหรับประกอบวิทยฐานะและตำแหน่งทางบริหารมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร มีที่มาจากเสื้อคลุมของฆราวาสที่อาศัยในโบสถ์ช่วงยุคกลาง ครุยวิทยฐานะสหราชอาณาจักรมีลักษณะที่เด่นชัดคือ ตอนหน้าอกจะเปิดออกตลอดให้เห็นเครื่องแต่งกายที่อยู่ภายใน คล้ายกับครุยวิทยฐานะไทย ต่างจากครุยวิทยฐานะในสหรัฐอเมริกาที่ตอนหน้าอกจะปิดทึบตลอด ครุยวิทยฐานะในแต่ละระดับและมหาวิทยาลัยจะต่างกันตรงที่ความยาวและรูปทรงของแขน ตลอดจนสีและวัสดุที่ใช้ทำ ครุยวิทยฐานะรูปทรงต่าง ๆ ถูกจัดจำแนกตามวิธีการจำแนกของนิโคลัส โกรฟ (Nicholas Groves) [1] ปัจจุบันมีสมาคมเบอร์กอน (Burgon Society) เป็นผู้รวบรวมและดูแลรักษาข้อบังคับในการจัดทำครุยวิทยฐานะทั้งของสหราชอาณาจักรเองและของประเทศอื่น ๆ[2][3][4]
ครุยวิทยฐานะ
แก้ครุยวิทยฐานะสหราชอาณาจักร มีลักษณะทั่วไปดังนี้[5]
เสื้อคลุม
แก้- ปริญญาตรีควบโท ปริญญาตรี และอนุปริญญา เป็นเสื้อคลุมยาวสีดำหรือสีเข้ม ตอนหน้าอกเปิดออกตลอด ที่สาบอกนิยมทำเป็นพับและอาจมีขลิบสีหรือสำรดตามแบบที่มหาวิทยาลัยกำหนด แขนยาวเสมอข้อมือ บางมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยลอนดอน มหาวิทยาลัยเซาท์แฮมป์ตัน เป็นแขนปลายตัด คือตอนหลังของแขนยาวเสมอชายเสื้อ ตอนหน้าของแขนรวบทำเป็นจีบไว้ ที่สาบบ่า (yoke) และไหล่ของเสื้อทำเป็นจีบ บางมหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้มีเส้นไหมกลมและปุ่มกลมประดับที่สาบบ่าอีกด้วย
- ปริญญาโท เป็นเสื้อคลุมยาวสีดำหรือสีเข้มเช่นเดียวกับปริญญาตรี แต่แขนเสื้อยาวถึงชายเสื้อด้านล่าง มีรูเจาะตรงกลางสำหรับให้มือสอดออกมาได้ บางมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยคิงสตัน ใช้เสื้อแขนยาวเช่นเดียวกับปริญญาตรี
- ปริญญาเอก เป็นเสื้อคลุมสีสันสดใส นิยมใช้สีแดง แต่บางมหาวิทยาลัยอาจใช้สีอื่น เช่น ฟ้า (มหาวิทยาลัยบอร์นมัท มหาวิทยาลัยแองเกลียรัสกิน มหาวิทยาลัยเปิด ฯลฯ) หรือเขียว (มหาวิทยาลัยลีดส์) ตอนหน้าอกเปิดออกตลอด ที่สาบบ่าและไหล่ทำเป็นจีบ อาจมีปุ่มกลมและเส้นไหมกลมประดับที่สาบบ่าตามสมควร แขนเสื้อมีได้หลายแบบ เช่น แขนเสื้อยาวเสมอข้อมือโดยไม่พับขึ้นแบบปริญญาตรี (เช่น มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด) แขนเสื้อปลายตัดแต่ตอนหน้าพับขึ้น (ใช้กับปริญญากิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ปริญญาสามัญของมหาวิทยาลัยลีดส์ และมหาวิทยาลัยแองเกลียรัสกิน) หรือแขนเสื้อแบบเดียวกับปริญญาโท (มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแมนเชสเตอร์ มหาวิทยาลัยเซอร์รีย์
เสื้่อคลุมที่กำหนดไว้ข้างต้นนี้ เรียกว่าครุยเต็มยศ (full-dress gown) หรือครุยสำหรับงานฉลอง (festal gown)[6] บางมหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้มีครุยครึ่งยศ (undress gown) เพิ่มเติมสำหรับบัณฑิตปริญญาเอก ซึ่งมักเป็นครุยปริญญาโทประดับผ้าคล้องคอของปริญญาเอก สำหรับไว้ใช้ในงานไม่เป็นทางการ
ผ้าคล้องคอ
แก้ผ้าคล้องคอมีลักษณะดังนี้คือ ตอนหน้าเป็นแถบรูปบั้งสำหรับสวมลงใต้ผ้าผูกคอหรือกลัดไว้กับเสื้อ ตอนหลังทำเป็นทรงคล้ายถุงสำหรับคลุมศีรษะเมื่อมีฝนหรือหิมะตก บางแบบเป็นถุงผ้าชั้นเดียวพร้อมติ่ง (liripipe) บ้างก็เป็นถุงพร้อมแผ่นรองหลัง (cape) บ้างก็มีรูปทรงคล้ายลิ้นที่แลบออกมา ไม่กำหนดตายตัวแตกต่างกันไปในแต่ละมหาวิทยาลัยหรือระดับการศึกษา[7]
หมวก
แก้หมวกสำหรับทุกระดับปริญญา ใช้หมวกแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัส (trencher หรือ mortarboard) ทำด้วยกำมะหยี่หรือวัสดุอื่นหุ้มด้วยกำมะหยี่ ตอนล่างเป็นกระบอกสำหรับสวมศีรษะ ตอนหลังของกระบอกจะแหลมและยาวกว่าตอนหน้าเพื่อให้รับกับรูปทรงของศีรษะจริง เมื่อนำไปตั้งบนพื้นจะล้มลง
หมวกสำหรับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยส่วนมากใช้หมวกทรงอ่อนแบบราชวงศ์ทิวดอร์ (Tudor bonnet) คือ เป็นหมวกรูปกลมมีปีกโดยรอบ ที่เอวหรือส่วนคอดระหว่างหมวกและปีกมีเส้นไหมกลมและพู่สีรัดไว้
บางมหาวิทยาลัย อาทิ วิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอน[8] ราชวิทยาลัยลอนดอน[9] ไม่กำหนดให้บัณฑิตสวมหมวก โดยวิทยาลัยอิมพีเรียลฯ กำหนดให้สวมหมวกเฉพาะดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เท่านั้น บัณฑิตทั่วไปจะสวมหมวกเฉพาะเวลาถ่ายภาพนอกอาคาร ส่วนราชวิทยาลัยนั้นมีเหตุผลทางศาสนาและสังคม บัณฑิตมุสลิมหญิงและบัณฑิตที่สวมผ้าสะระบั่นมักจะไม่สะดวกหากต้องสวมหมวก
ครุยประจำตำแหน่ง
แก้ในหลายมหาวิทยาลัย ตำแหน่งทางบริหารต่าง ๆ จะมีครุยประจำตำแหน่ง โดยนิยมใช้เสื้อแบบปริญญาโทแบบไม่มีผ้าคล้องคอสำหรับตำแหน่งสายปฏิบัติงาน สำหรับอธิการบดีและผู้ประสาทการ (chancellor)[n 1]จะใช้เสื้ออย่างวิจิตร ทำจากผ้าทอซ่อนลายสีดำ ประกอบด้วยหมวกแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสประดับลายทองที่ขอบล่างติดกับหน้าผาก โดยรวมแล้วลักษณะคล้ายครุยพิธีการของผู้พิพากษา ประธานรัฐสภา และรัฐมนตรียุติธรรม บางมหาวิทยาลัย เช่น เคมบริดจ์ อาจใช้เสื้อไม่มีแขนสีแดงแทนก็ได้[10]
ตัวอย่าง
แก้มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
แก้ตามหนังสือประมวลข้อบังคับของมหาวิทยาลัย บทที่ 2[6] ระบุว่า เสื้อครุยวิทยฐานะอย่างเต็มยศ มีดังนี้
- เทววิทยาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (Doctor of Divinity honoris causa) เป็นเสื้อคลุมสีแดงชาดบุด้านในด้วยผ้าต่วนสีเทาเงิน แขนเสื้อเป็นแบบปลายตัด คือตอนหลังปลายแหลมยาวลงเสมอชายเสื้อตอนล่าง ตอนหน้าพับขึ้นเสมอศอก มีเส้นไหมกลมสีดำสองเส้นบิดเป็นเกลียวรั้งไว้กับกระดุมสีดำ[11]
- นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (Doctor of Law honoris causa) เป็นเสื้อคลุมแบบเดียวกัน คือผ้าสีแดงชาด แต่ด้านในเป็นผ้าต่วนสีชมพูอ่อน ประกอบด้วยเส้นไหมและกระดุมสีแดง
- แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ คล้ายนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต แต่สีชมพูที่บุด้านในเข้มกว่า
- วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ คล้ายนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต แต่ด้านในเป็นสีชมพูเจือฟ้า
- อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (Doctor of Letter honoris causa) คล้ายนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต แต่ด้านในเป็นสีแดงชาดเดียวกับเสื้อ
- ดุริยศิลปดุษฎีบัณฑิต เป็นเสื้อคลุมสีขาวนวลทำด้วยผ้าทอซ่อนลาย
- ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สัตวแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิต วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต เป็นเสื้อทำด้วยผ้าสีดำ แขนยาวเสมอชายเสื้อ ปลายเย็บปิด เจาะช่องกลางให้มือสอดออกมาได้ คล้ายครุยศิลปศาสตรมหาบัณฑิต แต่สาบหน้าทั้งสองข้างประดับผ้าสีแดงกว้าง 10 เซนติเมตร
- ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต คล้ายปรัชญาดุษฎีบัณฑิต แต่เหนือช่องสอดแขนมีกระดุมสี่เม็ดเรียงกัน
ปริญญาทั้งหมดนี้อาจสวมผ้าคล้องคอทำด้วยวัสดุภายนอกและภายในแบบเดียวกับเสื้อก็ได้ โดยรวมแล้ว ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จะสวมชุดสีสันสดใส ส่วนดุษฎีบัณฑิตสามัญและบัณฑิตระดับอื่นจะสวมชุดสีดำ
ปริญญาโท เป็นเสื้อสีดำ แขนยาวเสมอข้อเท้าเจาะช่องตรงกลางให้มือสอดออกมา ที่สาบหน้าประดับสีตามปริญญา เช่น นิติศาสตรมหาบัณฑิต ใช้สีแดงอ่อน บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต ใช้สีเขียวเข้ม วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต ใช้สีชมพูเหลือบฟ้า ฯลฯ
ปริญญาตรี แพทยศาสตรบัณฑิต เป็นเสื้อสีดำ แขนยาวไม่เกินกว่าเข่า ปลายตัดเฉียง ตอนหน้าของแขนรั้งไว้ด้วยเชือกและกระดุม ครุยลักษณะนี้มีใช้ที่มหาวิทยาลัยลอนดอนด้วย ส่วนศิลปศาสตรบัณฑิต คล้ายแพทยศาสตรบัณฑิตแต่ตอนหน้าของแขนมีช่องเจาะยาวตั้งแต่ไหล่ลงมา
มหาวิทยาลัยที่ใช้ครุยดุษฎีบัณฑิตตามแบบของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยลีดส์ (เสื้อด้านนอกสีเขียวแก่ ด้านในสีเขียวอ่อน ตามรอยเย็บประดับแถบสีแดงชาด)[12] มหาวิทยาลัยแองเกลียรัสกิน (เสื้อสีน้ำเงิน สาบหน้าและด้านในสีเหลืองทอง)[13] มหาวิทยาลัยบรูเนลลอนดอน (เสื้อสีแดงด้านในสีขาบ ผ้าคล้องคอด้านนอกสีแดงด้านในสีขาบ ตะเข็บเป็นแถบสีขาว)[14] และมหาวิทยาลัยบอร์นมัท (เสื้อสีน้ำเงิน สาบหน้าสีเหลืองทอง ผ้าคล้องคอขอบนอกสีขาว)
มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด
แก้มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดกำหนดให้มีเสื้อประจำวิทยฐานะสำหรับนักศึกษาที่กำลังเรียน และนักศึกษาที่สำเร็จหลักสูตรแล้วแยกกัน[15][16]
นักศึกษาที่กำลังเรียนจะใช้เสื้อคลุมสามแบบ คือ[17]
- ครุยนักศึกษาสามัญ (commoners gown) เป็นเสื้อกั๊กเปิดอกไม่มีแขนทำด้วยผ้าหรือแพรสีดำ หลังและไหล่ทำเป็นจีบ ที่ไหล่ทั้งสองข้างมีแถบผ้าสีดำห้อยยาวลงมา ชายเสื้อเสมอบั้นท้าย เสื้อชนิดนี้ใช้สำหรับนักศึกษาปริญญาตรีและปริญญาตรีควบโท (undergraduate master students)
- ครุยนักศึกษาทุน (scholars gown) เป็นเสื้อคลุมเปิดอกมีแขนยาวถึงข้อมือ หลังและไหล่ทำเป็นจีบ ด้านหลังของแขนยาวกว่าด้านหน้าเล็กน้อย ทำด้วยวัสดุอย่างเดียวกับครุยนักศึกษาสามัญ เสื้อชนิดนี้ใช้สำหรับนักศึกษาปริญญาตรีและตรีควบโท ซึ่งได้รับทุนการศึกษา หรือมีผลการเรียนดี หรือทั้งสองอย่าง
- ครุยนักศึกษาชั้นสูง (advanced students gown หรือ graduates gown) คล้ายกับครุยนักศึกษาสามัญ แต่ความยาวชายเสื้อเสมอเข่า เสื้อชนิดนี้ใช้สำหรับนักศึกษาปริญญาโทและเอก
นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาแล้ว จะใช้เสื้อคลุมที่แตกต่างกันตามระดับการศึกษา[18] คือ
- ปริญญาตรีและตรีควบโท เป็นเสื้อคลุมเปิดอกสีดำ ปลายแขนด้านหน้ายาวถึงข้อมือ ปลายแขนด้านหลังแหลมและยาวกว่าด้านหน้าเล็กน้อย หลังและไหล่ทำเป็นขีบ สาบหน้าทั้งสองข้างพับเป็นครีบกว้าง 2.5 นิ้ว มีผ้าคล้องคอทรงเบอร์กอนหรือทรงชั้นเดียวบุสีตามปริญญา บางปริญญาอาจมีขนสัตว์หรือขนเทียมติดรอบขอบผ้าคล้องคอ
- ปริญญาโท คล้ายกับปริญญาตรี แต่แขนเสื้อยาวถึงชาย เย็บปลายปิด มีช่องเจาะตรงกลางแขนสำหรับสอดมือ มีแถบลายถักประดับที่ชายเสื้อด้านข้างทั้งสองข้าง ด้านหลัง และฐานแขนเสื้อเป็นรูปห้าเหลี่ยม นอกจากนี้มีแถบลายถักประดับรอบสาบบ่า แขนท่อนบน และรอบช่องเจาะสอดมือ (ยกเว้น ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ซึ่งไม่มีแถบลายถัก แต่ปลายแขนตัดเป็นรูปวงเดือน ชี้ไปด้านหน้า) มีผ้าคล้องคอทรงเบอร์กอนหรือทรงชั้นเดียวตามแต่ปริญญาทื่ได้รับ โดยมากมักไม่มีขนสัตว์หรือขนเทียมติดรอบขอบ
ปริญญาเอก มีครุยวิทยฐานะสามชนิด คือ
- ครุยเต็มยศ (full dress) เป็นเสื้อคลุมเปิดอกสีแดงชาดความยาวครึ่งแข้งถึงข้อเท้า หลังและไหล่ทำเป็นจีบ ปลายแขนยาวเสมอข้อมือทั้งด้านหน้าและหลัง (เทียบกับแขนตัดเฉียงของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์) สาบหน้าพับเป็นครีบกว้าง 5 นิ้ว หุ้มด้วยผ้ามันสีตามปริญญา แขนท่อนล่างหุ้มด้วยผ้ามันสีตามปริญญา ไม่มีผ้าคล้องคอ
- ครุยครึ่งยศ (undress) เป็นเสื้อคลุมเปิดอกสีดำอย่างปริญญาโท แต่มีแถบลายถักใต้ช่องเจาะสอดมือเพิ่มติมอีกหนึ่งแถว ประกอบด้วยผ้าคล้องคอทรงออกซฟอร์ด ด้านนอกสีแดงชาด ด้านในเป็นผ้ามันสีตามปริญญา
- ครุยรองทรง (convocation habit) เป็นเสื้อคลุมสีแดงชาดไม่มีแขน ด้านหลังทำเป็นจีบ ด้านหน้าปิด มีกระดุมผ้าสีตามปริญญาสองดุม ใช้สวมทับครุยครึ่งยศโดยดึงแขนเสื้อของครุยครึ่งยศออกไปด้านนอก
ปริญญาเอกแต่ละชนิด จะใช้ครุยวิทยฐานะทรงเดียวกัน ต่างแต่สีของสาบหน้าและแขนท่อนล่าง ยกตัวอย่างเช่น
- เทววิทยาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สีดำ
- นิติศาสตร/แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สีแดงชาด
- อักษรศาสตร/วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สีเทา
- ดุริยศิลปดุษฎีบัณฑิต ตัวเสื้อเป็นผ้าทอสีขาวนวลซ่อนลายดอกแอปเปิล สาบหน้าและแขนตอนล่างเป็นสีแดงชาด
- ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สีน้ำเงิน
เครื่องแต่งกายที่สวมภายในครุยวิทยฐานะ มหาวิทยาลัยกำหนดว่าต้องเป็นสับฟัสก์ (sub-fusc) คือ เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว ผ้าผูกคอสีขาวหรือดำ ประกอบกระโปรงหรือกางเกง บางโอกาสอาจสวมหมวกแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือหมวกทรงอ่อนสำหรับสตรี ยกเว้นปริญญนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และดุริยศิลปดุษฎีบัณฑิตที่สวมหมวกอ่อนทรงกลมแบบทิวดอร์ (Tudor bonnet)[3]
ในโอกาสส่วนมากของทางมหาวิทยาลัย[15] จะไม่กำหนดให้ดุษฎีบัณฑิตสวมผ้าคล้องคอ อย่างไรก็ตามดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดสามารถสวมผ้าคล้องคอกับครุยเต็มยศได้ หากต้องไปปฏิบัติงาน ณ มหาวิทยาลัยแห่งอื่น
มหาวิทยาลัยที่ใช้ชุดครุยดุษฎีบัณฑิตตามแบบของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ได้แก่ มหาวิทยาลัยบริสตอล (เสื้อสีแดง แขนและสาบหน้าสีม่วง)[19] มหาวิทยาลัยเซาท์แฮมป์ตัน (เสื้อสีแดงเลือดหมู แขนและสาบหน้าสีฟ้า)[20] มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (เสื้อสีแดง แขนและสาบหน้าสีม่วง รอยต่อประดับแถบสีเหลือง)[21] มหาวิทยาลัยเหล่านี้กำหนดให้ใช้หมวกทรงอ่อนแบบทิวดอร์สำหรับปริญญาเอกแทนที่จะเป็นหมวกแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่บัณฑิตก็สามารถสวมหมวกแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสได้ในโอกาสอันควร
มหาวิทยาลัยบรูเนลลอนดอน
แก้เนื่องจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์มีระเบียบว่าด้วยครุยวิทยฐานะที่ซับซ้อนเข้าใจยาก จึงขอยกตัวอย่างครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยรุ่นหลังมาเพื่อเป็นตัวอย่างดังนี้[14]
- ประกาศนียบัตร เป็นเสื้อคลุมแขนปลายตัดเฉียงไม่มีเชือกรั้ง ทำด้วยผ้าสีขาบหลังและไหล่ทำเป็นจีบ ที่ขอบของสาบหน้าและสาบบ่าประดับแถบสีแดง
- ปริญญาตรี เป็นเสื้อคลุมสีขาบเช่นเดียวกับประกาศนียบัตร แต่สาบหน้าเป็นพับ ที่ขอบมีแถบสีแดง ประกอบผ้าคล้องคอด้านนอกสีขาบขอบแดง ด้านในสีขาวและแดง
- ปริญญาตรีควบโท คล้ายปริญญาตรี แต่ด้านในของผ้าคล้องคอสีแดงล้วน
- ปริญญาโท เป็นเสื้อคลุมสีขาบแขนยาวถึงชายเสื้อ กลางแขนมีช่องสอดมือ ที่ขอบสาบหน้าและช่องสอดแขนมีแถบสีแดงประดับ ผ้าคล้องคอด้านนอกสีขาบ ด้านในสีแดง
- ปริญญาเอก เป็นเสื้อคลุมด้านนอกสีแดงด้านในและสาบหน้าสีขาบ แขนปลายตัด ตอนหน้ายกขึ้นรั้งด้วยเชือกสีขาว ที่รอยต่อระหว่างสีแดงและสีขาบมีแถบสีขาวเย็บประดับ ผ้าคล้องคอด้านนอกสีแดง ขอบบนสีขาว ขอบล่างสีน้ำเงิน ด้านในสีน้ำเงิน
หมายเหตุ
แก้- ↑ ในสหราชอาณาจักร ผู้ประสาทการหรือชานซเลอร์ คือประธานสูงสุดของมหาวิทยาลัย เป็นผู้นำในพิธีการต่าง ๆ โดยมากมักเป็นบุคคลมีชื่อเสียง ไม่มีอำนาจในทางบริหาร ส่วนนายกสภามหาวิทยาลัย มักตั้งจากคณาจารย์และมีอำนาจในฐานะที่ปรึกษาแก่อธิการบดี (vice chancellor) ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดทางการบริหาร บางมหาวิทยาลัยอาจจัดให้มีอุปถัมภก (visitor) ซึ่งมักเป็นพระมหากษัตริย์เพิ่มเติมด้วย
อ้างอิง
แก้- ↑ The Burgon Society: The Design of Academical Dress เก็บถาวร 2009-02-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (6 May 2007) Classification of Styles
- ↑ Burgon Society: Introduction เก็บถาวร 2013-05-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (2 Nov 2008)
- ↑ 3.0 3.1 "Shaw's Academical Dress of Great Britain and Ireland 3rd Revised ed. Edition". Amazon.com. สืบค้นเมื่อ 16 August 2017.
- ↑ "Shaw's Academical Dress of Great Britain and Ireland - Volume II: Non-degree-awarding Bodies (Volume 2)". Amazon.com. สืบค้นเมื่อ 16 August 2017.
- ↑ Shaw (1995); pp. 4-7
- ↑ 6.0 6.1 "Statues and Ordinances of The University of Cambridge Chapter II" (PDF). 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-06. สืบค้นเมื่อ 2017-10-05.
- ↑ Burgon Annual 2003 (2004); pp. 18–23
- ↑ "IMPERIAL COLLEGE LONDON: ACADEMIC DRESS" (PDF).[ลิงก์เสีย]
- ↑ Michael Cottrell (2008-06-12). "The Australian: King's bans mortarboards as old hat". Theaustralian.news.com.au. สืบค้นเมื่อ 2010-04-28.
- ↑ Shaw (1966); pp. 94-95
- ↑ His Highness the Aga Khan at the University of Cambridge, where he was awarded an Honorary Doctorate of Divinity, England - June 12, 2009
- ↑ "Secretariat Coporate Service: Gown". University of Leeds.
- ↑ Example Anglia Ruskin graduation robes
- ↑ 14.0 14.1 "Gowns and Dress Code". Brunel University London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-06. สืบค้นเมื่อ 2017-10-05.
- ↑ 15.0 15.1 "Regulations relating to Academic Dress made by the Vice-Chancellor, as Authorised by Council". University of Oxford. 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-13. สืบค้นเมื่อ 2017-10-05.
- ↑ "Academic Dress". University of Oxford.
- ↑ "Academic dress | University of Oxford". www.ox.ac.uk. สืบค้นเมื่อ 2021-01-02.
- ↑ "Academic Dress | University of Oxford". www.ox.ac.uk. สืบค้นเมื่อ 2021-01-02.
- ↑ "REGULATIONS FOR ACADEMIC AND OFFICIAL COSTUME" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-06. สืบค้นเมื่อ 2017-10-05.
- ↑ "University Calendar:Section IV : General Information and Regulations". University of Southampton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-15. สืบค้นเมื่อ 2017-10-05.
- ↑ "Schedule of General Regulations:XIII Academic Dress". University of Manchester. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-21. สืบค้นเมื่อ 2017-10-05.