ข้ามไปเนื้อหา

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พิกัด: 13°45′00″N 100°29′29″E / 13.750041°N 100.491343°E / 13.750041; 100.491343
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
Chakri Maha Prasat
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทพระที่นั่งภายในพระบรมมหาราชวัง
สถาปัตยกรรมผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมตะวันตก (วิกตอเรีย)
เมืองเขตพระนคร, กรุงเทพมหานคร
ประเทศประเทศไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2419
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิก
  • จอห์น คลูนิช (สถาปนิกชาวอังกฤษ)
  • เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (แม่กอง)
  • พระยาเวียงในนฤบาล (ผู้กำกับดูแล)[2]
เป็นส่วนหนึ่งของหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
เลขอ้างอิง0005574

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งแปดในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2419 ตั้งอยู่ระหว่างพระมหามณเฑียรกับพระมหาปราสาท ประกอบด้วย ปราสาท 3 องค์ ทอดตัวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก แต่ละองค์เชื่อมต่อกันด้วยมุขกระสันโดยตลอด

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อปี พ.ศ. 2566

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มีความโดดเด่นกว่าพระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทอื่น ๆ เนื่องจากเป็นผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก โดยตัวอาคารพระที่นั่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก แต่หลังคาพระที่นั่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย จนเป็นที่มาของชื่อ "ฝรั่งสวมชฎา" [3][4]

เนื่องจากความเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่นกว่าพระที่นั่งอื่น ๆ ทำให้ปัจจุบันพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทกลายเป็นหนึ่งในจุดดึงดูดสำคัญที่สุดของพระบรมมหาราชวัง เป็นหนึ่งในสถานที่ที่สำคัญที่สุดในพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ประวัติ

[แก้]
สมัยเมื่อกรุงเทพมหานครยังเป็นจังหวัดพระนครอยู่นั้น กรมศิลปากรได้กำหนดให้ใช้รูปพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นตราประจำจังหวัด

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นท้องพระโรง ใน พ.ศ. 2419 ภายหลังเสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา โปรดเกล้าฯ ให้จ้างนายจอห์น คลูนิส ชาวอังกฤษ สถาปนิกจากสิงคโปร์ เป็นนายช่างหลวงออกแบบพระที่นั่ง นายเฮนรี คลูนิช โรส เป็นนายช่างผู้ช่วย โดยมีเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เป็นแม่กอง พระยาเวียงในนฤบาลเป็นผู้กำกับดูแลการทุกอย่าง และพระประดิษฐการภักดีเป็นผู้ตรวจกำกับบัญชีและของทั้งปวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2419

เดิมมีพระที่นั่งต่าง ๆ เรียงต่อเนื่องกันรวม 11 องค์ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 3 องค์ คือ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ซึ่งพระที่นั่งทั้งอีก 2 องค์ที่กล่าวถึงนั้นได้รื้อลงแล้วสร้างใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทั้งนี้ ในพ.ศ. 2542 ได้มีโครงการสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทส่วนต่อเติมในพื้นด้านหลัง เพื่อใช้ในการพระราชทานเลี้ยงต้อนรับพระราชอาคันตุกะ แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549

เริ่มแรกนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งองค์ใหม่เป็นแบบตะวันตก แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กราบบังคมทูลขอให้ทำเป็นปราสาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนทรงหลังคาเป็นหลังคายอดปราสาท 3 ยอดเรียงกันตามสถาปัตยกรรมไทย[5] และเสด็จยกยอดปราสาทใน พ.ศ. 2421 มีการเฉลิมพระราชมนเฑียรใน พ.ศ. 2425 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระที่นั่งองค์นี้ชั้นบนสุดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์และพระมเหสีตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา เป็นที่เสด็จฯออกให้คณะทูตานุทูต ข้าราชการชั้นสูงเข้าเฝ้า หรือรับรองแขกผู้มีเกียรติ ภายในพระที่นั่งเป็นที่ประดิษฐาน พระที่นั่งพุดตานถม ซึ่งเป็นพระราชอาสน์ราชบัลลังก์ประจำพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท องค์พระที่นั่งทำด้วยไม้หุ้มเงินถมลงยาทาทองซึ่งเรียกว่า ถมตะทอง นับได้ว่าเป็นเครื่องถมทองชิ้นใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

โคมไฟแชนเดอเลียร์ขนาดใหญ่ภายในพระที่นั่งนั้น ที่จริงแล้วมิใช่สั่งมาโดยตรง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้สั่งมาที่บ้านของตนเอง แต่ปรากฏว่าโคมนั้นมีขนาดใหญ่เกินไป ท่านจึงนำมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทยังเป็นสถานที่แห่งแรกในประเทศไทยที่มีการใช้ไฟฟ้าเป็นครั้งแรกอีกด้วย ด้วยเหตุที่ว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ได้ทอดพระเนตรเห็นแสงไฟฟ้านั้นที่ประเทศทางตะวันตก และมีพระราชประสงค์ที่จะมาใช้ในประเทศไทย

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นสถานที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทยทรงใช้ในการรับรองผู้นำเอเปค ทั้งในการประชุมในปี พ.ศ. 2546[6][7] และ พ.ศ. 2565[8]

สถาปัตยกรรม

[แก้]

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นพระที่นั่ง 3 ชั้นสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างไทยและตะวันตก แต่หลังคาเป็นยอดปราสาทแบบไทยมีมุข 3 มุข

ภายในพระที่นั่ง

[แก้]

ภายในพระที่นั่งจะประกอบไปด้วย

พระที่นั่งองค์ตะวันออก

[แก้]

พระที่นั่งองค์กลาง

[แก้]
  • ชั้นบนเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7
  • ชั้นกลางเป็นท้องพระโรงหน้า
  • ชั้นล่างเป็นห้องสำหรับกองทหารรักษาการณ์

พระที่นั่งองค์ตะวันตก

[แก้]
  • ชั้นบนเป็นหอพระอัฐิของพระมเหสีและพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่
  • ชั้นกลางเป็นออฟฟิตหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันเป็นสถานที่รอเข้าเฝ้าของพระราชอาคันตุกะ
  • ชั้นล่างเป็นห้องเก็บของและห้องสมุด

มุขกระสันด้านตะวันออก

[แก้]
  • ชั้นบนประดิษฐานพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 รวมทั้งพระบวรสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • ชั้นกลางเป็นที่สำหรับรับรองพระราชอาคันตุกะ
  • ชั้นล่างเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเครื่องอาวุธโบราณ

มุขกระสันด้านตะวันตก

[แก้]
  • ชั้นบนประดิษฐานพระสาทิสลักษณ์ของพระอัครมเหสี 6 พระองค์
  • ชั้นกลางเป็นที่สำหรับรับรองพระราชอาคันตุกะ
  • ชั้นล่างเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเครื่องอาวุธโบราณ

ท้องพระโรงกลาง

[แก้]
ท้องพระโรงกลาง สมัยรัชกาลที่ 5

ท้องพระโรงกลางกว้าง 12.70 เมตร ยาว 24 เมตรเพดานสูง 14 เมตรภายในประดิษฐานพระที่นั่งพุดตานถมซึ่งเป็นพระราชอาสน์ประจำพระที่นั่งซึ่งกางกั้นด้วยนพปฎลมหาเศวตฉัตรใช้เป็นสถานที่สำหรับออกให้คณะทูตานุทูตเฝ้ารวมทั้งถวายพระราชสาสน์ตราตั้งและถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสสำคัญ ๆ ภายในท้องพระโรงกลางนี้ประดิษฐานพระราชบัลลังก์ประจำพระที่นั่ง มีชื่อว่า พระที่นั่งพุดตานถม

และเพิ่มมาอีก1องค์คือ

เหตุการณ์สำคัญ

[แก้]

พระราชพิธีอภิเษกสมรสของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์

[แก้]

พระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ (พระยศในขณะนั้น) และหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ (พระยศในขณะนั้น) จัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานและพระราชทานน้ำสังข์[9]

พระราชพิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

[แก้]

พระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (พระยศในขณะนั้น) และเรืออากาศโท วีระยุทธ ดิษยะศริน (ยศในขณะนั้น) จัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2525 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงหลั่งน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และเรืออากาศโท วีระยุทธ ดิษยะศริน หลังจากนั้น กราบถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และกราบเคารพ พลอากาศตรี ประหยัด ดิษยะศริน และนางวิจิตรา ดิษยะศริน และถวายคารวะแด่สมเด็จพระบรมวงศ์ ตามลำดับ หลังจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินออกประทับ ณ มุขกระสันตะวันออก ห้องพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 ฯลฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงลงพระนาม และเรืออากาศโท วีระยุทธ ดิษยะศริน พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สักขีลงนามในทะเบียนนั้นด้วย หลังจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังท้องพระโรงกลาง ทรงพระกุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลขาธิการพระราชวังอ่านประกาศการพระราชพิธีอภิเษกสมรส จากนั้นพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์แก่เรืออากาศโท วีระยุทธ ดิษยะศริน พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กราบบังคมทูลถวายพระพรมงคล จบแล้ว พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พลอากาศเอก หะริน หงสกุล ประธานรัฐสภาในขณะนั้น นายบัญญัติ สุชีวะ ประธานศาลฎีกาในขณะนั้น และนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรีในขณะนั้น ถวายของขวัญแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี[10]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°45′00″N 100°29′29″E / 13.750041°N 100.491343°E / 13.750041; 100.491343

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระที่นั่ง จักรี มหา ปราสาท เก็บถาวร 2016-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, TK Park .สืบค้นเมื่อ 28/12/2559
  2. ประวิติของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทและหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท, โอเคเนชั่น .สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2559
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-30. สืบค้นเมื่อ 2014-07-28.
  4. http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=7d8f136b9fa86bb8[ลิงก์เสีย]
  5. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=288594[ลิงก์เสีย]
  6. หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0504/ว.209
  7. "Ode to Friendship : 1946 - to date". www.nas.gov.sg. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-02. สืบค้นเมื่อ 2022-11-02.
  8. "การเตรียมการจัดประชุมสัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ". กระทรวงการต่างประเทศ.
  9. การมงคลของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์ แลหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช
  10. ข่าวในพระราชสำนัก วันที่ (๒,๔,๕,๖,๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๕)