เทอโรซอร์
เทอโรซอร์ ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไทรแอสซิกตอนปลาย–ครีเตเชียสตอนปลาย, 228–66Ma | |
---|---|
ตัวอย่างของเทอโรซอร์ชนิดต่างๆ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Ornithodira |
ไม่ได้จัดลำดับ: | †Pterosauromorpha Padian, 1997 |
อันดับ: | †Pterosauria Kaup, 1834 |
กลุ่มย่อย[1] | |
| |
แผนที่สถานที่พบซากดึกดำบรรพ์ทั่วโลก[2] [3] |
เทอโรซอร์ (อังกฤษ: Pterosaur /ˈtɛrəˌsɔːr, ˈtɛroʊ-/;[4][5] จากภาษากรีก "πτερόσαυρος", "pterosauros", หมายถึง "กิ้งก่ามีปีก") เป็นสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มหนึ่ง ที่ชีวิตและอาศัยอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับไดโนเสาร์ มีลักษณะพิเศษคือ สามารถบินได้ โดยใช้ปีกขนาดใหญ่ที่มีพังผืดเหมือนค้างคาวเป็นอวัยวะสำคัญ ปัจจุบันนี้ได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้วพร้อมกับไดโนเสาร์
เทอโรซอร์ จัดอยู่ในอันดับ Pterosauria โดยมักจะถูกเรียกว่า "ไดโนเสาร์บินได้" แต่ทั้งนี้เทอโรซอร์มิได้จัดว่าเป็นไดโนเสาร์แต่อย่างใด เหมือนกับ เพลสิโอซอร์, โมซาซอร์ หรืออิกทิโอซอรัส ที่พบในทะเลและมหาสมุทร[6] นอกจากนี้แล้วเทอโรซอร์ยังเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่ง คือ เทอโรแดกทิล โดยคำว่าเทอโรแดกทิลนั้นหมายถึงเทอโรซอร์ในระยะหลังที่มีขนาดใหญ่ และไม่มีฟัน และในทางเทคนิคจะหมายถึงเทอโรซอร์ในสกุล เทอโรแดกทิลัส[7] เทอโรซอร์มีชีวิตอยู่ในช่วงมหายุคมีโซโซอิก สืบทอดเผ่าพันธุ์และครองโลกมาอย่างยาวนานถึง 162 ล้านปี ก่อนจะสูญพันธุ์ไปทั้งหมดในช่วงยุคครีเตเชียสตอนปลายเช่นเดียวกับไดโนเสาร์[8] ปัจจุบัน นักบรรพชีวินวิทยาได้จำแนกความหลากหลายของเทอโรซอร์ออกได้มากกว่า 200 ชนิด มีความแตกต่างหลากหลายกันออกไปในแต่ละชนิดหรือแต่ละวงศ์ เทอโรซอร์ถูกค้นพบครั้งแรกในรูปแบบซากดึกดำบรรพ์ในยุคศตวรรษที่ 19 ซากดึกดำบรรพ์ของเทอโรซอร์พบได้ในทั่วทุกภูมิภาคของโลก เทอโรซอร์ที่เก่าแก่ที่สุดถือกำเนิดในยุคไทรแอสซิกเมื่อ 228 ล้านปีก่อน โดยบรรพบุรุษของเทอโรซอร์นั้นมีรูปร่างเล็กมาก โดยมีขนาดพอ ๆ กับนกกระจอกในยุคปัจจุบัน เช่น พรีออยแดกกิลุส บัฟฟารีนีโอ ที่มีความกว้างของปีกแค่ 0.5 เมตร เชื่อกันว่าอาศัยอยู่ในป่าทึบกินแมลง เช่น แมลงปอ เป็นอาหาร หรือแครีเรมัส เซซาพลาเนนซิส ที่มีความกว้างของปีก 1 เมตร เทอโรซอร์ในยุคแรกจะมีขนาดลำตัวเล็ก บางจำพวกมีหางยาว เช่น ดิมอร์โฟดอน แมโครนิกซ์ ที่มีความกว้างของปีก 1.2 เมตร น้ำหนัก 1.8 กิโลกรัม มีหางยาวที่แข็ง คอสั้น หัวมีขนาดใหญ่ มีฟันแหลมคม และกระดูกกลวงบางส่วน ทั้งนี่เชื่อว่าเทอโรซอร์วิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก ๆ ที่กระโดดหรือใช้ชีวิตอยู่บนต้นไม้เป็นหลักด้วยการหากินและหลบหลีกศัตรู [9]
เทอโรซอร์ ได้วิวัฒนาการมาเป็นลำดับขั้นตามยุคสมัยไปเรื่อย ๆ เช่น ยุคจูแรสซิก จนกระทั่งถึงยุคครีเตเชียส เทอโรซอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ เคตซัลโคแอตลัส นอร์โทรพี มีความสูงเท่า ๆ กับยีราฟ มีความกว้างของปีก 10.5 เมตร พอ ๆ กับเครื่องบินรบเอฟ-16 น้ำหนักตัวถึง 200 กิโลกรัม เฉพาะส่วนหัวรวมถึงจะงอยปากด้วยก็ยาวถึง 3 เมตรแล้ว จัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่บินได้ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา และเชื่อว่าชอบที่จะกินลูกโดโนเสาร์เป็นอาหาร ตามหลักฐานจากการศึกษาซากดึกดำบรรพ์พบว่า เทอโรซอร์ในยุคหลังนั้นมีขนปกคลุมลำตัวบาง ๆ ด้วย จึงเชื่อกันว่าน่าจะเป็นสัตว์เลือดอุ่น ทั้งนี้มีไว้เพื่อเป็นเสมือนฉนวนกักความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย เช่น เจโฮลอปเทอรัส ที่พบในจีน ซึ่งมีลักษณะปากกว้างคล้ายกบ เป็นต้น [9]
เทอโรซอร์ใช้ลักษณะการบินแบบเดียวกับค้างคาว เมื่ออยู่กับพื้นจะใช้วิธีการทะยานตัวออกไปจากท่ายืนสี่เท้าโดยรยางค์ของร่างกาย มีตีนขนาดเล็กเพื่อช่วยลดแรงต้าน เมื่อบินสามารถปรับเปลี่ยนท่าทางการบินได้เล็กน้อย เช่น การหดกล้ามเนื้อปีก หรือขยับข้อเท้าเข้าและออก การเปลี่ยนมุมกระดูกข้อปีก เป็นต้น เมื่อเทียบกับนกแล้ว เทอโรซอร์ยังมีกล้ามเนื้อสำหรับการบินมากกว่า และมีสัดส่วนของน้ำหนักร่างกายมากกว่า แม้แต่สมองก็ดูเหมือนจะวิวัฒนาการขึ้นมาเพื่อการบิน โดยมีกลีบสมองขยายใหญ่ขึ้นเพื่อประมวลผลข้อมูลประสาทรับความรู้สึกที่ซับซ้อนจากเยื่อปีก เทอโรซอร์มีไหล่ขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ และลักษณะปีกของเทอโรซอร์ประกอบด้วยเยื่อที่ยึดติดกับสีข้างจากไหล่ไล่ลงไปจนถึงข้อเท้าแต่ละข้าง และเหยียดออกโดยนิ้วที่สี่ที่ยืดยาวไปอย่างน่าทึ่งไปตามขอบหน้าของปีก เยื่อปีกร้อยรัดไปด้วยกล้ามเนื้อและเส้นเลือด และเสริมความแข็งแกร่งด้วยพังผืด[9]
ลักษณะของเทอโรซอร์นั้นมีความแตกต่างหลากหลายกันมาก บางจำพวกมีหงอนด้วย สันนิษฐานว่ามีไว้สำหรับดึงดูดเพศตรงข้าม โดยว่ามีลักษณะที่แตกต่างหลากหลายกันออกไป เช่น ทูนแพนแดกทิอุส แนวีแกนส์ ซึ่งเป็นเทอโรซอร์ในยุคแรก ๆ และ ทาเลสไซโครมีอุส เซที ที่มีช่วงปีกกว้าง 4 เมตร เชื่อว่ามีหงอนที่มีสีสันที่สดใส จะงอยปากก็มีความหลากหลายแตกต่างออกไปตามแต่ลักษณะการใช้หาอาหาร เช่น บางชนิดมีฟันแหลมคมเต็มปากเห็นได้ชัดเจนใช้สำหรับการจับปลาในน้ำ เช่น แอนเฮงรา พิสเคเตอร์ หรือ ซันแกริปเทอรัส ที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ที่มีจะงอยปากยาวและงอนขึ้นใช้สำหรับสำรวจและช้อนเอาสัตว์ขนาดเล็กที่ไม่มีกระดูกสันหลังหรือครัสเตเชียนกินเป็นอาหาร หรือบางจำพวก หากินโดยการใช้วิธีการยืนในแหล่งน้ำเค็มตื้น ๆ แล้วใช้การกรองกินสัตว์ขนาดเล็ก ๆ จำพวกครัสเตเชียน เหมือนกับวิธีการกินของนกฟลามิงโกในยุคปัจจุบัน หรือบางสกุล เช่น นิกโตซอรัส ซึ่งเป็นเทอโรซอร์ในทะเลลักษณะคล้ายนกอัลบาทรอสที่มีระยะระหว่างปลายปีกสองข้างกว้างเกือบ 3 เมตร มีอัตราส่วนการร่อน หรือระยะทางที่เคลื่อนไปข้างหน้าได้ต่อการลดระดับลงทุกหนึ่งเมตร จัดเป็นนักร่อนชั้นดี และจากการพบลักษณะของซากดึกดำบรรพ์พบว่า เทอโรซอร์บางกลุ่มก็อาศัยอยู่รวมกันเป็นนิคมหรือคอโลนีเหมือนกับนกทะเลหลายชนิดในปัจจุบัน คือ ไคยัวฮารา โครบรัสกิอี โดยพบหลักฐานว่า ตายพร้อมกันถึง 47 ตัว [9] หรือ ฮามิปเทอรัส เทียนซานเอนซิส ที่มีชีวิตอยู่ในยุคต้นครีเตเชียสเมื่อ 120 ล้านปีมาแล้ว ในแถบเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ที่พบหลักฐานการวางไข่จำนวน 215 ฟอง และพบตัวอ่อนในไข่ด้วย ซึ่งตัวอ่อนบางตัวพบว่าขาหน้าพัฒนาการได้ช้ากว่าขาหลัง จึงสันนิษฐานว่าไม่สามารถบินได้เมื่อแรกเกิด และเชื่อว่าอาจจะมีจำนวนไข่มากถึง 300 ฟอง [10]
ปัจจุบัน ได้มีการศึกษาของนักบรรพชีวินวิทยาแห่งออสเตรเลีย พบว่า เทอโรซอร์และบรรพบุรุษของนกสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ มิได้มีการแข่งขันกันแต่อย่างใด ทั้งที่ก็ต่างเป็นสัตว์ที่บินได้เหมือน ๆ กัน โดยจากการศึกษาทางสัณฐานวิทยาเชื่อว่า ทั้งนกและเทอโรซอร์จะมีความเกี่ยวข้องกันในช่วงเวลาสั้น ๆ และแม้ว่าเทอโรซอร์มีวิวัฒนาการร่างกายใหญ่โตกว่า ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการต่อสู้แข่งขันด้านทรัพยากรกับเหล่านกที่ขนาดเล็กกว่านั่นเอง โดยนกก็มีลักษณะทางสัณฐานวิทยา รวมถึงลักษณะการบิน การเดิน และหาอาหารแตกต่างจากเทอโรซอร์[11]
เทอโรซอร์ ได้มีการอ้างอิงถึงในวัฒนธรรมร่วมสมัยหลายประการ โดยมักให้ภาพในลักษณะของความเป็นผู้ร้าย คือ เป็นสัตว์เลื้อยคลานบินได้ที่ดุร้าย และตะกละตะกลาม[9] เช่น ในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง โดเรมอน ตอน โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ ในปี ค.ศ. 1980 [12]หรือในภาพยนตร์ฮอลลีวูด ชุด Jurassic Park ภาค 2 The Lost World ในปี ค.ศ. 1997 หรือภาค Jurassic Park III ในปี ค.ศ. 2001 [13]หรือ The Dinosaur Project ในปี ค.ศ. 2012 [14]และ Jurassic World ในปี ค.ศ. 2015 เป็นต้น [15]
ทั้งนี้ เทอโรซอร์มักถูกกล่าวอ้างจากนักสัตว์ประหลาดวิทยาว่าเป็นสัตว์ประหลาดบินได้ที่มีการพบเห็นและรายงานตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น คองกามาโต ที่พบในหนองน้ำในป่าทึบของใจกลางทวีปแอฟริกา ที่ถูกระบุรูปร่างว่าเหมือนกับดิมอร์โฟดอน หรือโรเพน ในอินโดนีเซียและปาปัวนิวกินี ที่ถูกระบุว่ามีผู้พบเห็นว่าขณะบินสามารถเรืองแสงได้ด้วย เป็นต้น[16]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Andres, B.; Clark, J.; Xu, X. (2014). "The Earliest Pterodactyloid and the Origin of the Group". Current Biology. 24 (9): 1011–6. doi:10.1016/j.cub.2014.03.030. PMID 24768054.
- ↑ Mark P. Witton (2013), Pterosaurs: Natural History, Evolution, Anatomy, Princeton University Press, ISBN 978-0-691-15061-1
- ↑ "Darwinopterus and its implications for pterosaur phylogeny", Acta Geoscientica Sinica, 31 (1): 68–69, 2010
- ↑ Jones, Daniel (2003) [1917], Peter Roach; James Hartmann; Jane Setter (บ.ก.), English Pronouncing Dictionary, Cambridge: Cambridge University Press, ISBN 978-3-12-539683-8
- ↑ "Pterosaur". Merriam-Webster Dictionary.
- ↑ Benton, Michael J. (2004). "Origin and relationships of Dinosauria". ใน Weishampel, David B.; Dodson, Peter; Osmólska, Halszka (บ.ก.). The Dinosauria (2nd ed.). Berkeley: University of California Press. pp. 7–19. ISBN 0-520-24209-2.
- ↑ Arnold, Caroline & Caple, Laurie A. (2004). "Pterodactyl". Pterosaurs: rulers of the skies in the dinosaur age. Houghton Mifflin Harcourt. p. 23. ISBN 978-0-618-31354-9.
- ↑ "Pterosaur distribution in time and space: an atlas" (PDF). Zitteliana: 61–107. 2008.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 หน้า 26-45, เทอโรซอร์ ปีกพิศวงสุดแสนพิศดาร โดย ริชาร์ด คอนนิฟฟ์. นิตยสาร NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับที่ 196 พฤศจิกายน 2560
- ↑ หน้า 7 วิทยาการ-เกษตร, ศึกษาสัตว์เลื้อยคลานโบราณจากไข่เทอโรซอร์. "โลกโศภิณ". ไทยรัฐปีที่ 68 ฉบับที่ 21871: วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560 แรม 8 ค่ำ เดือน 1 ปีระกา
- ↑ "นกและสัตว์เลื้อยคลานบินได้อยู่กันอย่างสันติ". ไทยรัฐ. 2017-11-02. สืบค้นเมื่อ 2017-11-06.
- ↑ Doraemon: Nobita's Dinosaur ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- ↑ Jurassic Park III ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- ↑ The Dinosaur Project ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- ↑ Jurassic World ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- ↑ Whitcomb, Jon (2011-05-13). "Kongamato and Ropen". Livingpterosuar. สืบค้นเมื่อ 2017-11-06.
เอกสารอ่านเพิ่มเติม
[แก้]- Berry, Mark F. (2005). The Dinosaur Filmography. McFarland & Company. ISBN 978-0-7864-2453-5.
- Wellnhofer, Peter (1991). The Illustrated Encyclopedia of Pterosaurs: An Illustrated Natural History of the Flying Reptiles of the Mesozoic Era. Crescent Books. ISBN 978-0-517-03701-0.
- Witton, Mark (2013). Pterosaurs: Natural History, Evolution, Anatomy. Princeton University Press. ISBN 978-0-691-15061-1.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Pterosaur.net, multi-authored website about all aspects of pterosaur science
- The Pterosaur Database, by Paul Pursglove
- "Comments on the phylogeny of the pterodactyloidea", by Alexander W. A. Kellner (technical)