ข้ามไปเนื้อหา

ฟุตบอลทีมชาติอิตาลี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Italy national football team)
อิตาลี
Shirt badge/Association crest
ฉายาGli Azzurri (The Blues)
สมาคมสมาพันธ์ฟุตบอลอิตาลี
(Federazione Italiana Giuoco Calcio – FIGC)
สมาพันธ์ยูฟ่า (ยุโรป)
หัวหน้าผู้ฝึกสอนลูเซียโน สปัลเลตติ
กัปตันเลโอนาร์โด โบนุชชี
ติดทีมชาติสูงสุดจันลุยจี บุฟฟอน (176)
ทำประตูสูงสุดลุยจี รีวา (35)
รหัสฟีฟ่าITA
อันดับฟีฟ่า
อันดับปัจจุบัน 10 ลดลง 1 (20 มิถุนายน 2024)[1]
อันดับสูงสุด1 (พฤศจิกายน ค.ศ. 1993, กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007, เมษายน–มิถุนายน ค.ศ. 2007, กันยายน ค.ศ. 2007)
อันดับต่ำสุด17 (กรกฎาคม ค.ศ. 2015, ตุลาคม ค.ศ. 2015, กันยายน ค.ศ. 2017)
เกมระดับนานาชาติครั้งแรก
ธงชาติอิตาลี อิตาลี 6–2 ฝรั่งเศส ธงชาติฝรั่งเศส
(มิลาน, อิตาลี; 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1910)
ชนะสูงสุด
ธงชาติอิตาลี อิตาลี 9–0 สหรัฐ ธงชาติสหรัฐ
(เบรนต์ฟอร์ด, อังกฤษ; 2 สิงหาคม ค.ศ. 1948)
แพ้สูงสุด
ธงชาติฮังการี ฮังการี 7–1 อิตาลี ธงชาติอิตาลี
(บูดาเปสต์, ฮังการี; 6 เมษายน ค.ศ. 1924)
ฟุตบอลโลก
เข้าร่วม18 (ครั้งแรกใน 1934)
ผลงานดีที่สุดชนะเลิศ (1934, 1938, 1982 และ 2006)
ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป
เข้าร่วม9 (ครั้งแรกใน 1968)
ผลงานดีที่สุดชนะเลิศ (1968, 2020)
คอนเฟเดอเรชันส์คัพ
เข้าร่วม2 (ครั้งแรกใน 2009)
ผลงานดีที่สุดอันดับที่สาม (2013)

ฟุตบอลทีมชาติอิตาลี (อิตาลี: Nazionale italiana di calcio) เป็นตัวแทนทีมฟุตบอลจากประเทศอิตาลี อยู่ภายใต้การดูแลของสมาพันธ์ฟุตบอลอิตาลี นั บตั้ งแต่ลงแข่ งขันครั้ งแรกใน ค.ศ. 1910 เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นสมาชิกสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป มีสำนักงาน ใหญ่อยู่ที่ เมืองฟลอเรนซ์ซึ่งยังเป็นที่ตั้งของสนามฝึกซ้อมหลัก

อิตาลีเป็นหนึ่งในชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการแข่งขันนานาชาติ โดยชนะเลิศฟุตบอลโลก 4 สมัยในปี 1934, 1938, 1982 และ 2006 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดของยุโรปเท่ากับเยอรมนี และคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศสองครั้ง (ปี 1970 และ 1994), อันดับสามหนึ่งครั้ง (ปี 1990) และอันดับสี่หนึ่งครั้ง (ปี 1978) พวกเขายังชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2 สมัยในปี 1968 และ 2020 และรองชนะเลิศอีกสองครั้ง (ปี 2000 และ 2012) อิตาลียังคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศในฟินาลิสซิมา 2022 รวมทั้งอันดับสามในฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพ 2013 และ ยูฟ่าเนชันส์ลีก 2021

สีประจำทีมคือสีฟ้าอ่อน (และเป็นสีที่ใช้ประจำทีมชาติในหลายกีฬายกเว้นการแข่งขันรถ) ซึ่งในภาษาอิตาลีคือ อัซซูโร (azzurro) และเป็นสีประจำราชวงศ์ของอิตาลีในอดีต และเป็นที่มาของชื่อเล่นของทีมว่า "อัซซูร์รี" (Azzurri) อิตาลีคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรกในปี 1934 และกลายเป็นชาติแรกที่ป้องกันแชมป์ได้ในปี 1938 และพวกเขาถือเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกต่อเนื่องไปจนถึง ค.ศ. 1950 สืบเนื่องจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงระหว่างการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 1934–38 อิตาลียังคว้าเหรียญทองในโอลิมปิกฤดูร้อน 1936 ภัยพิบัติทางอากาศซูเปอร์กาใน ค.ศ. 1949 นำไปสู่การสูญเสียผู้เล่นคนสำคัญหลายราย ส่งผลให้อิตาลีเข้าสู่ยุคตกต่ำในช่วงทศวรรษ 1950 รวมทั้งไม่สามารถผ่านเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายในฟุตบอลโลก 1958 ก่อนจะกลับมาประสบความสำเร็จและพวกเขาสามารถเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาอย่างต่อเนื่องก่อนจะยุติลงในฟุตบอลโลก 2018 และ 2022 อิตาลียังครองสถิติในการไม่แพ้ทีมใดในการแข่งขันทางการติดต่อกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์จำนวน 37 นัด (ค.ศ. 2018–2021)

อิตาลีเป็นคู่ปรับของเยอรมนี, บราซิล, อาร์เจนตินา, สเปน และฝรั่งเศส และนับตั้งแต่มีการริเริ่มการจัดอันดับโลกฟีฟ่าใน ค.ศ. 1993 พวกเขาเคยครองอันดับหนึ่งของโลกหลายครั้ง โดยอันดับที่แย่ที่สุดคืออันดับ 21 ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2018

ประวัติ

[แก้]

ก่อตั้งทีม และแชมป์โลกสองสมัยแรก (1899–1938)

[แก้]
ทีมชาติอิตาลีฉลองแชมป์ฟุตบอลโลกสมัยแรกในปี 1934

การรวมตัวกันของทีมชาติอิตาลีชุดใหญ่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน ปี 1899 ในการพบกับสวิตเซอร์แลนด์ในนัดกระชับมิตร ณ เมืองตูริน ซึ่งอิตาลีแพ้ไป 0–2[2]

การแข่งขันทางการครั้งแรกได้จัดขึ้นที่มิลานเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ปี 1910 อิตาลีเอาชนะฝรั่งเศส 6–2 โดยที่ปิเอโตร ลานา เป็นผู้ทำประตูแรกอย่างเป็นทางการของอิตาลี[3][4] ทีมอิตาลีเล่นด้วยระบบ 2–3–5 ประกอบด้วย: เด ซิโมนี; วาริสโก, กาลี; เตรเร, ฟอสซาติ, คาเปลโล; เดเบอร์นาดี้, ริซซี่, เซเวนีนี่ ที่ 1, ลาน่า, โบย็อกกี้ และมีกัปตันทีมคนแรกคือ ฟรานเชสโก กัลลี[5]

ความสำเร็จแรกของพวกเขาคือการคว้าเหรียญทองแดงในโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1928 ณ กรุงอัมส์เตอร์ดัม หลังจากแพ้ให้กับทีมชาติอุรุกวัยในรอบรองชนะเลิศพวกเขาสามารถเอาชนะทีมชาติอียิปต์ได้ถึง 11–3 ต่อมาในการแข่งขันรายการ Central European International Cup ในปี 1930[6] และ1935[7] อิตาลีได้อันดับที่หนึ่งจากคู่แข่งห้าทีมที่ลงแข่งขันคว้าแชมป์ไปได้ทั้งสองสมัย ตามด้วยความสำเร็จในกีฬาโอลิมปิกอีกครั้งจากการคว้าเหรีญทองในปี 1936 โดยเอาชนะออสเตรีย 2–1

ภายหลังจากที่อิตาลีปฏิเสธคำเชิญในการเข้าร่วมฟุตบอลโลก 1930 พวกเขาได้เข้าร่วมการแข่งขันในปี 1934 และ1938 ภายใต้การดูแลของ วิตโตรีโอ ปอซโซ ผู้จัดการทีม และการนำทัพของ จูเซปเป เมอัซซา[8] อิตาลีลงแข่งขันฟุตบอลโลก 1934 และนัดแรกอของพวกเขาคือการถล่มเอาชนะสหรัฐอเมริกา 7–1 ที่กรุงโรม พวกเขาผ่านเข้าชิงชนะเลิศและเอาชนะเชโกสโลวาเกีย 2–1 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ จากการทำประตูของ ไรมันโด ออร์ซี และแอนเจโล่ สเกียวีโอ คว้าแชมป์โลกได้เป็นสมัยแรก

ต่อมาในฟุตบอลโลก 1938 พวกเขาป้องกันแชมป์เอาไว้ได้ โดยเอาชนะฮังการีในรอบชิงชนะเลิศ 4–2 จากการทำประตูของ จีโน่ คอลาอุสซี่ และซิลวิโอ ปิโอลา คนละสองประตู คว้าแชมป์โลกสมัยที่สอง และถือเป็นเป็นชาติแรกที่สามารถป้องกันแชมป์ฟุตบอลโลกได้ โดยก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้น เบนิโต มุสโสลินี นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ส่งโทรเลขอวยพรผู้เล่นทุกคน

ยุคแห่งความตกต่ำ (1946–66)

[แก้]
ทีมชาติอิตาลีในปี 1965

ในปี 1949 ซึ่งเป็นช่วงที่กีฬาทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้เล่น 10 คนจาก 11 คนในกลุ่มผู้เล่นยุคก่อตั้งของทีมชาติได้เสียชีวิตลงจากอุบัติเหตุเครื่องบินตก โดยหลายคนเป็นผู้เล่นคนสำคัญจากสโมสรโตริโนซึ่งชนะเลิศการแข่งขันลีกสูงสุด (เซเรียอา) 5 สมัยใน 7 ฤดูกาลหลังสุด (1943–49) ส่งผลให้อิตาลีไม่ผ่านรอบแรกในฟุตบอลโลก 1950 ในช่วงเวลาดังกล่าวนักเตะและทีมงานทุกคนจะเดินทางด้วยเรือแทนการนั่งเครื่องบิน เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดเหตุเศร้าสลดขึ้นอีกครั้ง

อิตาลียังต้องพบช่วงเวลาที่ยากลำบากอย่างต่อเนื่อง โดยในการแข่งขันฟุตบอลโลก 1954 พวกไม่ผ่านรอบแรกตามด้วยการไม่ผ่านรอบคัดเลือกในฟุตบอลโลก 1958 และตกรอบแรกอีกครั้งในฟุตบอลโลก 1962 และพวกเขาไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1960 ตามด้วยการตกรอบแรกในปี 1964 โดยแพ้สหภาพโซเวียต

ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 1966ประเทศอังกฤษ พวกเขาตกรอบแรกอีกครั้งโดยแพ้เกาหลีเหนือในนัดสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่มไปอย่างเหนือความคาดหมาย และไม่ชนะทีมใดเลยตลอดการแข่งขัน แม้ว่าในทีมชุดนั้นจะมีผู้เล่นอย่าง จานนี ริเวรา กองหลังชื่อดังจากสโมสร เอซี มิลาน และจาโกโม บุลกาเรลลี่ กองกลางจากสโมสรโบโลญญา เมื่อกลับถึงประเทศ แฟนบอลอิตาลีที่ไม่พอใจกับผลงานของทีมต่างพากันมารอที่สนามบินและขว้างปาสิ่งของและผลไม้ใส่ผู้เล่น[9] โดยก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้นอิตาลีได้รับการคาดหมายว่าจะทำผลงานได้ดีเนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาได้ภายหลังจากโศกนาฎกรรมในปี 1949

แชมป์ยุโรปสมัยแรกและรองแชมป์โลก (1968–74)

[แก้]
กัปตันทีมชาติอิตาลี จาชินโต้ ฟัคเค็ตติ กับถ้วยแชมป์ฟุตบอลยูโรปี 1968

อิตาลีเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลยูโรสมัยแรกของพวกเขาในปี 1968 ในฐานะเจ้าภาพและสามารถคว้าแชมป์ได้ทันที โดยถือเป็นแชมป์รายการใหญ่ครั้งแรกในรอบ 30 ปี นับจากฟุตบอลโลก 1938 และถือเป็นการยุติช่วงเวลาอันเลวร้ายร่วม 20 ปีหลังจากเหตุการณ์ในปี 1949 พวกเขาเอาชนะยูโกสลาเวียได้ในรอบชิงชนะเลิศซึ่งแข่งขันกันที่กรุงโรมซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการแข่งขันช่วงต่อเวลาพิเศษหรือการยิงจุดโทษตัดสิน[10] และต้องเล่นนัดที่สองหลังจากเสมอกันในนัดแรก 1–1 ซึ่งอิตาลีเอาชนะได้ 2–0 จากการทำประตูของ ลุยจิ ริวา และปีเอโตร อนาสตาซี

ดีโน ซอฟฟ์ ผู้รักษาประตูที่ได้รับการยกย่องว่าเก่งทีสุดคนหนึ่งในวงการฟุตบอล

ถัดมาในการแข่งขันฟุตบอลโลก 1970ประเทศเม็กซิโก อิตาลีซึ่งประกอบไปด้วยผู้เล่นชื่อดังจากชุดแชมป์ยุโรปในปี 1968 หลายรายประกอบไปด้วย จาชินโต้ ฟัคเค็ตติ, ลุยจิ ริวา, ปีเอโตร อนาสตาซี และโรแบร์โต โบนินเซญา สามารถพาทีมผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้ โดยเป็นการเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกในรอบ 32 ปี พวกเขาเอาชนะเยอรมนีในรอบรองชนะเลิศ 4–3 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ ซึ่งในนัดดังกล่าวถือเป็นการแข่งขันครั้งประวัติศาสตร์โดย 5 จาก 7 ประตูได้เกิดขึ้นในช่วงต่อเวลาพิเศษ และได้รับการยกย่องว่าเป็น "การแข่งขันแห่งศตวรรษ" (Game of the century)[11] แต่อิตาลีแพ้ให้กับบราซิลในรอบชิงชนะเลิศ 1–4 ตามด้วยการตกรอบแรกในฟุตบอลโลก 1974 โดยแพ้โปแลนด์

สายเลือดใหม่และแชมป์โลกสมัยที่สาม (1978–86)

[แก้]
หนึ่งในภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดในวงการฟุตบอล ซึ่งเป็นภาพของ ซันโดร แปร์ตีนี ประธานาธิบดีของอิตาลีในขณะนั้นกำลังเล่นไพ่กับดีโน ซอฟฟ์ กัปตันทีม และเอนโซ แบร์ซอต ผู้จัดการทีม

ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 1978ประเทศอาร์เจนตินา อิตาลีประกอบไปด้วยผู้เล่นหน้าใหม่รายหลาย ที่โดดเด่นที่สุดได้แก่ เปาโล รอสซี โดยอิตาลีเป็นทีมเดียวในการแข่งขันที่สามารถเอาชนะอาร์เจนตินาซึ่งเป็นแชมป์ในครั้งนั้นได้ อิตาลีจบการแข่งขันด้วยการคว้าอันดับ 4 โดยแพ้บราซิล 1–2 ในนัดชิงอันดับสาม

อิตาลีลงแข่งขันยูโร 1980 ในฐานะเจ้าภาพ หลังจากเสมอกับสเปนและเบลเยียมตามด้วยการเอาชนะอังกฤษ พวกเขาแพ้ให้กับเชโกสโลวาเกียในนัดชิงอันดับสามจากการดวลจุดโทษ

ต่อมาในฟุตบอลโลก 1982ประเทศสเปน อิตาลีต้องประสบกับปัญหาในประเทศ เนื่องด้วยผู้เล่นบางคน เช่น เปาโล รอสซี ถูกดำเนินคดีในข้อหาล้มบอล[12] อิตาลีผ่านเข้าสู่รอบที่สองได้และหลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเหตุอื้อฉาวในประเทศ พวกเขาตัดสินใจงดให้สัมภาษณ์กับสื่อ โดยมีเพียงผู้จัดการทีม เอนโซ แบร์ซอต และกัปตันทีม ดีโน ซอฟฟ์ ที่ได้รับการแต่งตั้งให้พูดกับสื่อมวลชน

ในรอบที่สองซึ่งเป็นการแข่งขันแบบแบ่งกลุ่มอีกครั้ง อิตาลีอยู่ร่วมกลุ่มกับบราซิลและอาร์เจนตินา พวกเขาเริ่มต้นด้วยการเอาชนะอาร์เจนตินา 2–1 และในนัดที่สองหลังจากบราซิลเอาชนะอาร์เจนตินาได้และต้องมาพบกับอิตาลี เกมจบลงด้วยชัยชนะของอิตาลี 3–2 จากการทำแฮตทริกของ เปาโล รอสซี ซึ่งนัดนั้นได้รับการยกย่องให้เป็นการแข่งขันที่สนุกที่สุดครั้งหนึ่งในฟุตบอลโลก[13][14][15] อิตาลีผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศและเอาชนะโปแลนด์ได้ 2–1

ในรอบชิงชนะเลิศ อิตาลีพบกับเยอรมนีตะวันตกซึ่งดวลจุดโทษชนะฝรั่งเศสมา ครึ่งแรกจบลงโดยยังไม่มีประตู และในช่วงครึ่งหลัง เปาโล รอสซี ยิงประตูแรกให้กับอิตาลีได้ และในขณะที่เยอรมนีโหมบุกอย่างหนัก มาร์โก ทาร์เดลลี และอเลสซานโดร อัลโตเบลลี ได้ทำเพิ่มอีกสองประตูจากจังหวะสวนกลับก่อนที่ พอล ไบรท์เนอร์จะทำประตูปลอบใจให้เยอรมนีตะวันตก เกมจบลงด้วยชัยชนะ 3–1 ของอิตาลี คว้าแชมป์โลกเป็นสมัยที่สาม[16] เปาโล รอสซี คว้ารางวัลรองเท้าทองคำโดยทำได้ 6 ประตู รวมทั้งรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งการแข่งขัน และดีโน ซอฟฟ์ ผู้รักษาประตูและกัปตันทีมทำสถิติเป็นผู้เล่นที่อายุมากที่สุดที่คว้าแชมป์โลกได้ด้วยวัย 40 ปี[17]

อิตาลีไม่ผ่านรอบคัดเลือกฟุตบอลยูโร 1984 ต่อมาพวกเขาเดินทางไปป้องกันแชมป์ในฟุตบอลโลก 1986 ที่เม็กซิโก แต่แพ้ให้กับฝรั่งเศสในรอบ 16 ทีมสุดท้าย

รองแชมป์โลกอีกครั้ง (1988–94)

[แก้]
โรแบร์โต บัจโจ ในฟุตบอลโลก 1990

ในปี 1986 อาเซลโย วีชีนี เข้ามาทำหน้าที่แทน แบร์ซอต โดยอิตาลีผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศในฟุตบอลยูโร 1988 ก่อนจะแพ้สหภาพโซเวียตในรอบรองชนะเลิศ 0–2 อิตาลีเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเป็นครั้งทีสองในฟุตบอลโลก 1990 ซึ่งทีมชุดนั้นได้รับการจับตามองเนื่องจากมีนักเตะชื่อดังอย่าง โรแบร์โต บัจโจ อิตาลีลงแข่งขัน ณ กรุงโรมโดยไม่เสียประตูเลยในการแข่งขัน 5 นัดแรก ก่อนจะแพ้อาร์เจนตินาซึ่งนำโดยดิเอโก มาราโดนาในรอบรองชนะเลิศที่เมืองเนเปิล โดยก่อนเริ่มการแข่งขัน มาราโดนา ซึ่งเป็นผู้เล่นสโมสรนาโปลีในขณะนั้นได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างชาวอิตาเลียนทางตอนเหนือและทางใต้ของประเทศ[18][19] และเขาได้เรียกร้องให้แฟนบอลในเมืองเนเปิลทุกคนเอาใจช่วยอาร์เจนตินาแทน โดยอิตาลีแพ้การดวลจุดโทษไป 3–4 หลังจากเสมอกันในช่วงต่อเวลาพิเศษ 1–1 แต่พวกเขาเอาชนะอังกฤษได้ 3–1 ในนัดชิงอันดับสาม

พวกเขาไม่ผ่านรอบคัดเลือกในฟุตบอลยูโร 1992 ถัดมา ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1993 อิตาลีสามารถขึ้นสู่อันดับ 1 ของโลกได้เป็นครั้งแรกในการจัดอันดับโดยสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศซึ่งเริ่มมีการนำระบบการจัดอันดับโลกมาใช้ครั้งแรกในเดือนธันวาคม 1992

ถัดมา ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 1994สหรัฐอเมริกา อิตาลีอยู่ร่วมกลุ่มกับไอร์แลนด์ นอร์เวย์ และเม็กซิโกก่อนจะผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายด้วยผลประตูได้เสีย ก่อนจะเอาชนะไนจีเรีย 2–1 จากสองประตูของบัจโจในช่วงท้ายเกมและช่วงต่อเวลา[20] และบัจโจยังทำประตูได้อีกทั้งสองนัดที่ทีมชนะสเปน[21] และบัลแกเรีย 2–1 ในสองรอบถัดมา[22] พาอิตาลีเข้าชิงชนะเลิศได้อีกครั้ง ณ เมืองลอสแอนเจลิส และถือเป็นหนึ่งในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกที่ดีที่สุดครั้งหนึ่ง พวกเขาพบกับบราซิลโดยอิตาลีมีเวลาพักน้อยกว่าบราซิลถึง 24 ชั่วโมงเนื่องจากต้องเดินทางข้ามรัฐ โดยในเกมนั้นต้องตัดสินหาผู้ชนะด้วยการดวลจุดโทษ และอิตาลีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้หลังจากบัจโจกองหน้าคนสำคัญยิงจุดโทษข้ามคานไปในลูกสุดท้ายซึ่งบัจโจมีอาการบาดเจ็บรบกวนก่อนแข่ง[23] แต่ได้ฝืนลงแข่งขันโดยให้แพทย์ฉีดยาระงับปวดให้[24][25]

รองแชมป์ยุโรป (1996–00)

[แก้]

อิตาลีตกรอบแรกในฟุตบอลยูโร 1996 และตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลก 1998 โดยแพ้ฝรั่งเศสเจ้าภาพในการดวลจุดโทษ 3–4 โดยในรายการดังกล่าว โรแบร์โต บัจโจ ทำสถิติเป็นผู้เล่นอิตาลีคนแรกที่ทำประตูในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้ 3 สมัย ต่อมาในการแข่งขันยูโร 2000 อิตาลีในชุดนั้นประกอบไปด้วยผู้เล่นชื่อดังมากมาย อาทิ ฟรันเชสโก ตอตตี, ฟีลิปโป อินซากี, อาเลสซันโดร เดล ปิเอโร, เปาโล มัลดินี และอาเลสซันโดร เนสตา พาทีมเข้าชิงชนะเลิศไปพบกับฝรั่งเศสคู่ปรับเก่าอีกครั้ง แต่อิตาลีแพ้ไปในช่วงต่อเวลาพิเศษ 1–2 จากการทำประตูของ ดาวิด เทรเซเก้ต์ ในช่วงกฎประตูทอง (Golden Goal)

ยุคของ โจวันนี ตราปัตโตนี (2000–04)

[แก้]

โจวันนี ตราปัตโตนี เข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทีมในฟุตบอลโลก 2002 โดยอิตาลีทำผลงายยอดเยี่ยมในรอบคัดเลือก ด้วยการไม่แพ้ทีมใดทั้ง 8 นัด แต่ในการแข่งขันรอบสุดท้าย อิตาลีแพ้เจ้าภาพร่วมเกาหลีใต้ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย 1–2 โดยเป็นนัดที่ได้รับการวิจารณ์มากที่สุดนัดหนึ่ง[26] เนื่องจากอิตาลีทำประตูได้ในช่วงต่อเวลาแต่ผู้ตัดสินกลับตัดสินว่าเป็นการล้ำหน้า และยังแจกใบแดงไล่ ฟรันเชสโก ตอตตี ออกจากสนามรวมถึงให้จุดโทษแก่เกาหลีใต้อย่างค้านสายตา ไบรอน โมเรโน ผู้ตัดสินได้รับการวิจารณ์ว่ามีเจตนาทุจริตในการช่วยเหลือเกาหลีใต้[27] อิตาลีมีผลงานที่ย่ำแย่ในการแข่งขันยูโร 2004 โดยตกรอบแบ่งกลุ่ม แม้จะมี 5 คะแนนเท่ากับ เดนมาร์ก และสวีเดน แต่ต้องตกรอบด้วยจำนวนประตูลูกได้เสีย[28]

แชมป์โลกสมัยที่ 4 (2006)

[แก้]
แฟนบอลอิตาลีออกมาเฉลิมฉลองแชมป์ฟุตบอลโลกในปี 2006
ประธานาธิบดี จอร์โจ นาโปลีตาโน ร่วมแสดงความยินดีกับ มาร์เชลโล ลิปปี ผู้จัดการทีม และ ฟาบิโอ คันนาวาโร กัปตันทีม ภายหลังเอาชนะฝรั่งเศสได้ในรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 2006

มาร์เชลโล ลิปปี เข้ามาทำหน้าที่ในฟุตบอลโลก 2006 พวกเขาผ่านเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายและเอาชนะออสเตรเลียได้ 1–0 ทั้งที่ต้องเหลือผู้เล่นแค่ 10 คน เนื่องจาก มาร์โก มาเตรัซซี่ ถูกไล่ออก โดย ฟรันเชสโก ตอตตี เป็นผู้ทำประตูชัยจากลูกจุดโทษท้ายเกม พวกเขาเอาชนะยูเครน 3–0 ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย และเอาชนะเยอรมนีเจ้าภาพ 2–0 ในช่วงต่อเวลาพิเศษรอบรองชนะเลิศ

ในรอบชิงชนะเลิศ มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจคือ การปะทะกันระหว่าง มาร์โก มาเตรัซซี และซีเนดีน ซีดาน ทำให้ซีดานได้รับใบแดงในช่วงต่อเวลาพิเศษหลังจากเสมอกัน 1–1 โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มจากการมีปากเสียงระหว่างสองผู้เล่นเนื่องจากซีดานโดนมาเตรัซซีดึงเสื้อ ก่อนที่มาเตรัซซีจะใช้วาจาพาดพิงน้องสาวของซีดาน[29] ทำให้เจ้าตัวคุมอารมณ์ไม่อยู่และใช้ศีรษะโขกมาเตรัซซีจนล้มลง ทำให้ผู้ตัดสินให้ใบแดงแก่ซีดาน อิตาลีเอาชนะฝรั่งเศสไปได้ในการดวลจุดโทษ 5–3[30] ซึ่งคนที่ยิงจุดโทษพลาดของฝรั่งเศสคือ ดาวิด เทรเซเก้ต์ ผู้ทำประตูชัยในนัดชิงชนะเลิศยูโร 2000

ในรายการนี้อิตาลีมีผู้ที่ทำประตูได้ถึง 10 คน และ 5 จาก 12 ประตูที่ทำได้มาจากนักเตะตัวสำรอง และ 4 ประตูมาจากการทำประตูของผู้เล่นกองหลัง และอิตาลีมีผู้เล่นที่ติดทีมยอดเยี่ยมประจำการแข่งขันมากถึง 7 คน[31] จันลุยจี บุฟฟอน ได้รับรางวัลผู้รักษาประตูยอดเยี่ยมประจำการแข่งขัน[32] และทีมชุดนี้ได้รับการยกย่องจากแฟนบอลให้เป็นหนึ่งในทีมที่ดีสุดตลอดกาลของอิตาลี[33]

ห่างหายจากความสำเร็จ (2006–18)

[แก้]

มาร์เชลโล ลิปปี ลาออก และโรแบร์โต โดนาโดนี่ เข้ามารับช่วงต่อ ในการแข่งขันยูโร 2008 อิตาลีอยู่ร่วมกลุ่มกับเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศส ก่อนจะผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายและแพ้สเปนในการดวลจุดโทษ โดนาโดนีโดนปลด และมาร์เชลโล ลิปปีกลับมาคุมทีมอีกครั้ง[34] อิตาลีเข้าร่วมรายการคอนเฟเดอเรชันคัพเป็นครั้งแรกในปี 2009 แต่ตกรอบแรกโดยแพ้อียิปต์และบราซิลในสองนัดสุดท้าย

ถัดมา พวกเขาตกรอบแรกฟุตบอลโลก 2010 อย่างเหนือความคาดหมาย โดยได้อันดับสุดท้ายของกลุ่มหลังจากเสมอสองนัดกับปารากวัยและนิวซีแลนด์ และปิดท้ายด้วยการแพ้สโลวาเกีย และถือเป็นครั้งแรกที่พวกเขาไม่สามารถคว้าชัยชนะได้เลยในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย และเป็นชาติที่ 3 ที่ตกรอบแรกฟุตบอลโลกในฐานะแชมป์เก่า (ต่อจากบราซิลในปี 1966 และฝรั่งเศสในปี 2002)

มาร์เชลโล ลิปปี ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ เซซาเร ปรันเดลลี เข้ามาคุมทีมต่อ และพาทีมเข้าชิงชนะเลิศยูโร 2012 หลังจากเอาชนะเยอรมนีในรอบรองชนะเลิศ 2–1 จากการทำประตูของ มารีโอ บาโลเตลลี แต่พวกเขาไปแพ้สเปนในรอบชิงชนะเลิศ 0–4[35] ต่อมา ในคอนเฟเดอเรชันคัพ 2013 อิตาลีแพ้สเปนไปอีกครั้งในการดวลจุดโทษในรอบรองชนะเลิศ[36] ก่อนจะเอาชนะอุรุกวัยในการดวลจุดโทษในนัดชิงอันดับสาม ต่อมา ในฟุตบอลโลก 2014 อิตาลีประสบความล้มเหลวอีกครั้ง โดยตกรอบแรกเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน แม้พวกเขาจะเปิดสนามด้วยการเอาชนะอังกฤษไปได้ 2–1 แต่พวกเขาแพ้ในสองนัดถัดมาต่อ คอสตาริกา และ อุรุกวัย ส่งผลให้ปรันเดลลี ลาออก[37]

อันโตนีโอ กอนเต เข้ามารับช่วงต่อ โดยอิตาลีทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในการแข่งขันรอบคัดเลือกยูโร 2016 โดยสามารถเก็บชัยชนะได้ 7 นัดและเสมอ 3 นัดไม่แพ้ทีมใด และในการแข่งขันรอบสุดท้าย กอนเต ได้ประกาศว่าเขาจะยุติบทบาทหลังจบการแข่งขันเพื่อไปรับตำแหน่งผู้จัดการทีมเชลซีในฤดูกาล 2016–17 อิตาลีผ่านเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย ก่อนจะแพ้เยอรมนีด้วยการดวลจุดโทษ อย่างไรก็ตาม กอนเต ได้รับเสียงชื่นชมจากการทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม แม้ว่าอิตาลีในชุดนั้นแทบจะไม่มีผู้เล่นระดับโลกในทีมเมื่อเทียบกับตัวผู้เล่นในช่วงปี 2000–10 ซึ่งเต็มไปด้วยผู้เล่นชั้นนำหลายราย[38][39]

อิตาลีไม่ผ่านรอบคัดเลือกในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 โดยผู้จัดการทีมในขณะนั้นคือ จาน ปิเอโร เวนตูรา พวกเขาจบอันดับสองในรอบคัดเลือก และต้องไปแข่งขันเพลย์ออฟกับสวีเดน ก่อนจะแพ้ไปจากการรวมผลสองนัด 0–1 และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1958 ที่พวกเขาไม่สามารถผ่านเข้าไปเล่นรอบสุดท้าย หลังจากจบรอบคัดเลือกผู้เล่นคนสำคัญ เช่น จันลุยจี บุฟฟอน, ดานีเอเล เด รอสซี, และอันเดรีย บาร์ซาญี ได้อำลาทีมชาติ ส่งผลให้เวนทูราถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีม เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2017 และต่อมาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2017 คาร์โล ทาเวคคิโอ ได้ประกาศลาออกตำแหน่งประธานสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี

ยุคของโรแบร์โต มันชินี และแชมป์ยุโรปสมัยที่ 2 (2018–2023)

[แก้]
โรแบร์โต มันชินี อดีตผู้จัดการทีม

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2018 โรแบร์โต มันชินี ได้รับการแต่งตั้งคุมทีม และพาทีมทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมตั้งแต่การแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 รอบคัดเลือกโดยเอาชนะคู่แข่งร่วมกลุ่มได้ 10 นัดรวด และทำได้ถึง 37 ประตู ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน อิตาลีจบการแข่งขันยูฟ่าเนชันส์ลีกด้วยการเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่ม ส่งผลให้พวกเขาผ่านเข้าไปเล่นยูโร 2020 รอบสุดท้ายได้แบบอัตโนมัติ[40]

ในการแข่งขันรอบสุดท้าย อิตาลีอยู่ร่วมกลุ่มกับสวิตเซอร์แลนด์, ตุรกี และ เวลส์ โดยอิตาลีเล่นรอบแบ่งกลุ่มทั้งสามนัดในฐานะเจ้าภาพร่วมที่กรุงโรม พวกเขาจบรอบแบ่งกลุ่มในฐานะทีมอันดับหนึ่งด้วยผลงานชนะรวดสามนัด และทำสถิติเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์ที่ผ่านเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายโดยไม่เสียประตูในรอบแบ่งกลุ่ม[41] ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย อิตาลีเอาชนะออสเตรียไปได้ในช่วงต่อเวลาพิเศษ 2–1 ตามด้วยการเอาชนะเบลเยียม 2–1 ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย และทำสถิติคว้าชัยชนะติดด่อกันในฟุตบอลยูโรจำนวน 15 นัด (นับรวมตั้งแต่รอบคัดเลือก)[42] ในรอบรองชนะเลิศ พวกเขาเอาชนะสเปนในการดวลจุดโทษ 4–2 หลังจากเสมอกัน 1–1

ในวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 2021 อิตาลีคว้าแชมป์ฟุตบอลยูโรได้เป็นสมัยที่สอง โดยเอาชนะอังกฤษในการดวลจุดโทษ 3–2 ในรอบชิงชนะเลิศภายหลังเสมอกัน 1–1 และมันชินียังทำสถิติคุมทีมไม่แพ้ติดต่อกันรวม 34 นัด[43][44]

ในวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 2021 อิตาลีสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการไม่แพ้ทีมใดในการแข่งขันนานาชาติติดต่อกันมากที่สุดตลอดกาลจำนวน 36 นัด หลังจากบุกไปเสมอกับสวิตเซอร์แลนด์ 0–0 ในฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก แซงหน้าบราซิลและสเปนที่ทำไว้จำนวน 35 นัด ก่อนที่สถิติดังกล่าวจะหยุดลงที่ 37 นัดในเดือนต่อมา เมื่อพวกเขาแพ้สเปน 1–2 ในรอบรองชนะเลิศยูฟ่าเนชันส์ลีก 2021[45] แต่ยังคว้าอันดับสามได้โดยชนะเบลเยียม 2–1 อิตาลีจบการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกในวันที่ 15 พฤศจิกายน ด้วยการบุกไปเสมอไอร์แลนด์เหนือ 0–0 ทำได้เพียงจบอันดับสองของกลุ่มและต้องไปแข่งเพลย์ออฟในปี 2022[46]กับ มาซิโดเนียเหนือ ในวันที่ 24 มีนาคม 2022 ซึ่งผลการแข่งขันทางมาซิโดเนียเหนือเป็นฝ่ายชนะไป 1–0 โดยอิตาลีมาโดนยิงประตูในนาทีสุดท้าย ทำให้ไม่ได้ไปฟุตบอลโลกเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน[47] ในวันที่ 1 มิถุนายน 2022 อิตาลีลงแข่งขันรายการ ฟินาลิสซิมา 2022 โดยแพ้อาร์เจนตินาที่สนามเวมบลีย์ กรุงลอนดอน 0–3[48]

อิตาลีผ่านเข้าไปเล่นรายการยูฟ่าเนชันส์ลีก 2023 หลังจากบุกไปเอาชนะฮังการีที่บูดาเปสต์ด้วยผลประตู 2–0 ในวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 2022[49] พวกเขาแพ้สเปนในรอบรองชนะเลิศวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 2023 ด้วยผลประตู 1–2[50] แต่คว้าอันดับสามได้จากการชนะเนเธอร์แลนด์ด้วยผลประตู 3–2 ในอีกสามวันถัดมา[51] มันชินีลาออกจากตำแหน่งในอีกสองเดือนต่อมา และถูกแทนที่โดยลูชาโน สปัลเลตตี

ลูชาโน สปัลเลตตี (2023–ปัจจุบัน)

[แก้]

สปัลเลตตีพาทีมลงแข่งขันในช่วงหกนัดสุดท้ายของฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024 รอบคัดเลือก โดยอิตาลีสามารถผ่านเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายในฐานะทีมอันดับสองของกลุ่มซี ตามหลังแชมป์กลุ่มอย่างอังกฤษ[52] แต่ในการแข่งขันรอบสุดท้ายของรายการ อิตาลีในฐานะแชมป์เก่า ตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายจากการแพ้สวิตเซอร์แลนด์

ผู้เล่นชุดปัจจุบัน

[แก้]

รายชื่อผู้เล่นที่ถูกเรียกตัวสำหรับการแข่งขันยูฟ่าเนชันส์ลีก ฤดูกาล 2024–25[53]

0#0 ตำแหน่ง ผู้เล่น วันเกิด (อายุ) ลงเล่น ประตู สโมสร
1GK จันลุยจี ดอนนารุมมา (1999-02-25) 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1999 (25 ปี) 68 0 ฝรั่งเศส ปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง
1GK กูลเยลโม วีการีโอ (1996-10-07) 7 ตุลาคม ค.ศ. 1996 (28 ปี) 2 0 อังกฤษ ทอตนัมฮอตสเปอร์
1GK มีเกเล ดี เกรโกรีโอ (1997-07-27) 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 (27 ปี) 0 0 อิตาลี ยูเวนตุส

2DF โจวันนี ดี โลเรนโซ (1993-08-04) 4 สิงหาคม ค.ศ. 1993 (31 ปี) 40 3 อิตาลี นาโปลี
2DF อาเลสซันโดร บัสโตนี (1999-04-13) 13 เมษายน ค.ศ. 1999 (25 ปี) 29 2 อิตาลี อินเตอร์มิลาน
2DF เฟเดรีโก ดีมาร์โก (1997-11-10) 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1997 (26 ปี) 24 3 อิตาลี อินเตอร์มิลาน
2DF อันเดรอา กัมบีอาโซ (2000-02-20) 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000 (24 ปี) 9 0 อิตาลี ยูเวนตุส
2DF อาเลสซันโดร บูออนจอร์โน (1999-06-06) 6 มิถุนายน ค.ศ. 1999 (25 ปี) 6 0 อิตาลี นาโปลี
2DF ริกการ์โด กาลาฟีโอรี (2002-05-19) 19 พฤษภาคม ค.ศ. 2002 (22 ปี) 6 0 อังกฤษ อาร์เซนอล
2DF เดสตินี อูดอกี (2002-11-28) 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002 (21 ปี) 5 0 อังกฤษ ทอตนัมฮอตสเปอร์
2DF ราอุล เบลลาโนวา (2000-05-17) 17 พฤษภาคม ค.ศ. 2000 (24 ปี) 3 0 อิตาลี โตรีโน
2DF มัตเตโอ กับเบีย (1999-10-21) 21 ตุลาคม ค.ศ. 1999 (25 ปี) 0 0 อิตาลี มิลาน
2DF คาเลบ โอโคลี (2001-07-13) 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2001 (23 ปี) 0 0 อังกฤษ เลสเตอร์ซิตี

3MF โลเรนโซ เปลเลกรีนี (1996-06-19) 19 มิถุนายน ค.ศ. 1996 (28 ปี) 35 6 อิตาลี โรมา
3MF ดาวีเด ฟรัตเตซี (1999-09-22) 22 กันยายน ค.ศ. 1999 (25 ปี) 21 7 อิตาลี อินเตอร์มิลาน
3MF ซันโดร โตนาลี (2000-05-08) 8 พฤษภาคม ค.ศ. 2000 (24 ปี) 17 0 อังกฤษ นิวคาสเซิล
3MF นีโกเลาะ ฟาโจลี (2001-02-12) 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2001 (23 ปี) 5 0 อิตาลี ยูเวนตุส
3MF ซามูเอเล ริชชี (2001-08-21) 21 สิงหาคม ค.ศ. 2001 (23 ปี) 4 0 อิตาลี โตรีโน
3MF นิกโกเลาะ ปีซิลลี (2004-09-23) 23 กันยายน ค.ศ. 2004 (20 ปี) 0 0 อิตาลี โรมา

4FW จาโกโม รัสปาโดรี (2000-02-18) 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000 (24 ปี) 32 7 อิตาลี นาโปลี
4FW มาเตโอ เรเตกิ (1999-04-29) 29 เมษายน ค.ศ. 1999 (25 ปี) 14 4 อิตาลี อาตาลันตา
4FW โลเรนโซ ลุกกา (2000-09-10) 10 กันยายน ค.ศ. 2000 (24 ปี) 0 0 อิตาลี อูดีเนเซ
4FW ดานีเอเล มัลดีนี (2001-10-11) 11 ตุลาคม ค.ศ. 2001 (23 ปี) 0 0 อิตาลี มอนซา

อดีตผู้เล่นคนสำคัญ

[แก้]

สถิติสำคัญของผู้เล่น

[แก้]

ลงสนามมากที่สุด

[แก้]
จันลุยจี บุฟฟอน เจ้าของสถิติลงเล่นให้แก่ทีมชาติอิตาลีมากที่สุดตลอดกาล

สถิติ ณ วันที่ 24 มีนาคม 2024[54]

อันดับ รายชื่อ จำนวนนัด จำนวนประตู ช่วงเวลา
1 จันลุยจี บุฟฟอน 176 0 1997–2018
2 ฟาบีโอ กันนาวาโร 136 2 1997–2010
3 เปาโล มัลดีนี 126 7 1988–2002
4 เลโอนาร์โด โบนุชชี 121 8 2010–2023
5 ดานีเอเล เด รอสซี 117 21 2004–2017
จอร์โจ กีเอลลีนี 8 2004–2022
6 อันเดรอา ปีร์โล 116 13 2002–2015
7 ดีโน ซอฟฟ์ 112 0 1968–1983
9 จันลูกา ซัมบรอตตา 98 2 1999–2010
10 จาชินโต้ ฟัคเค็ตติ 94 3 1963–1977
  • รายชื่อในตัวหนาคือผู้เล่นที่ยังลงเล่นอยู่ในปัจจุบัน

ผู้ทำประตูสูงสุด

[แก้]
ลุยจิ ริวา เจ้าของสถิติผู้ทำประตูสูงที่สุดตลอดกาลของทีมชาติอิตาลี

สถิติ ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2021[55]

อันดับ รายชื่อ จำนวนประตู จำนวนนัด ค่าเฉลี่ย ช่วงเวลา
1 ลุยจี รีวา 35 42 0.83 1965–1974
2 จูเซปเป เมอัซซา 33 53 0.62 1930–1939
3 ซิลวิโอ ปิโอลา 30 34 0.88 1935–1952
4 โรแบร์โต บัจโจ 27 56 0.48 1988–2004
อาเลสซันโดร เดล ปีเอโร 91 0.3 1995–2008
6 อดอลโฟ บาลอนเชียรี 25 47 0.53 1920–1930
ฟีลิปโป อินซากี 57 0.44 1997–2007
อเลสซานโดร อัลโตเบลลี่ 61 0.41 1980–1988
9 กริสเตียน วีเอรี 23 49 0.47 1997–2005
ฟรันเชสโก กราซีอานี 64 0.36 1975–1983

เกียรติประวัติ

[แก้]

รายการแข่งขัน

[แก้]
  • ชนะเลิศ (4): 1934, 1938, 1982, 2006
  • รองชนะเลิศ (2): 1970, 1994
  • อันดับที่สาม (1): 1990
  • อันดับที่สี่ (1): 1978
  • ชนะเลิศ (2): 1968, 2020
  • รองชนะเลิศ (2): 2000, 2012
  • อันดับสี่ (1): 1980
  • รอบรองชนะเลิศ (1): 1988
  • อันดับสาม (1): 2013
  • รองชนะเลิศ (1): 2022
  • เหรียญทอง (1): 1936
  • เหรียญทองแดง (2): 1928, 2004

รายการอื่น ๆ:

  • Central European International Cup
  • ชนะเลิศ (2): 1927–30, 1933–35
  • รองชนะเลิศ (2): 1931–32, 1936–38[nb 1]

รางวัล

[แก้]
  • Laureus World Team of the Year
  • ชนะเลิศ: 2007, 2022

ตารางสรุปถ้วยรางวัล

[แก้]
รายการแข่งขัน 1 2 3 ทั้งหมด
ฟุตบอลโลก 4 2 1 7
ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2 2 0 4
เนชันส์ลีก 0 0 2 2
คอนเฟเดอเรชันส์คัพ 0 0 1 1
ฟินาลิสซิมา 0 1 0 1
โอลิมปิกฤดูร้อน 1 0 2 3
ทั้งหมด 7 5 6 18

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. This edition of the tournament was interrupted due to the annexation of Austria to Nazi Germany on 12 March 1938.

อ้างอิง

[แก้]
  1. "The FIFA/Coca-Cola World Ranking". FIFA. 20 มิถุนายน 2024. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2024.
  2. "Switzerland - Non-Official International Matches Representative Teams 1898-1992". www.rsssf.com.
  3. "Pietro Lana". www.magliarossonera.it.
  4. "Album della stagione". www.magliarossonera.it.
  5. https://download.repubblica.it/pdf/motori/supplemento_ottobre06/04.pdf
  6. "1st International Cup". www.rsssf.com.
  7. "3rd International Cup". www.rsssf.com.
  8. "MEAZZA Giuseppe: La favola di Peppin il folbèr". Storie di Calcio (ภาษาอิตาลี). 2016-01-30.
  9. https://web.archive.org/web/20060516064056/http://fifaworldcup.yahoo.com/06/en/p/cg/por_prk_1966.html
  10. "Euro 1968: Mullery's moment of madness". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-06-27.
  11. "Euro 2012: five classic tournament matches between Germany and Italy including the 'Game of the Century'". www.telegraph.co.uk.
  12. "The worst scandal of them all" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2006-07-25. สืบค้นเมื่อ 2021-06-27.
  13. "1982: Why Brazil V Italy Was One Of Football's Greatest Ever Matches - Esquire". web.archive.org. 2015-09-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2021-06-27.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  14. "Italy 3-2 Brazil, 1982: the day naivety, not football itself, died | Jonathan Wilson". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2012-07-25.
  15. "Brazil lost that Italy game in 1982 but won a place in history – Falcão". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2014-05-30.
  16. "The Glasgow Herald - Google News Archive Search". news.google.com.
  17. "CNNSI.com - CNNSI.com's complete coverage of the FIFA World Cup - World Cup Hall of Fame: Dino Zoff - Wednesday May 29, 2002 12:33 AM". web.archive.org. 2005-09-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-09-12. สืบค้นเมื่อ 2021-06-27.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  18. Maradona, Diego (2004). El Diego, pg. 165.
  19. https://core.ac.uk/download/pdf/159384045.pdf
  20. https://web.archive.org/web/20111216233834/http://www.fifa.com/worldcup/archive/edition%3D84/results/matches/match%3D3091/report.html
  21. https://web.archive.org/web/20111219234329/http://www.fifa.com/worldcup/archive/edition%3D84/results/matches/match%3D3097/report.html
  22. https://web.archive.org/web/20111219230556/http://www.fifa.com/worldcup/archive/edition%3D84/results/matches/match%3D3100/report.html
  23. "Profile: Has so much ever hung on a hamstring?: Roberto Baggio,". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 2011-10-23.
  24. "Archivio Corriere della Sera". archivio.corriere.it.
  25. "Archivio Corriere della Sera". archivio.corriere.it.
  26. "ESPNsoccernet.com World Cup 2002: Angry Italy blame 'conspiracy'". web.archive.org. 2006-11-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-23. สืบค้นเมื่อ 2021-06-27.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  27. "Fifa investigates Moreno" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2002-09-13. สืบค้นเมื่อ 2021-06-27.
  28. "Italy angry at rivals' draw" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2004-06-23. สืบค้นเมื่อ 2021-06-27.
  29. agencies, Staff and (2007-08-18). "And Materazzi's exact words to Zidane were..." the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
  30. "Zidane off as Italy win World Cup" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2006-07-09. สืบค้นเมื่อ 2021-06-27.
  31. "FIFA.com - Azzurri prominent in All Star Team". web.archive.org. 2010-06-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-14. สืบค้นเมื่อ 2021-06-27.
  32. "FIFA.com - Buffon collects Lev Yashin Award". web.archive.org. 2007-10-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-12. สืบค้นเมื่อ 2021-06-27.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  33. "Italian joy at World Cup victory" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2006-07-10. สืบค้นเมื่อ 2021-06-27.
  34. "Lippi returns to manage Italy - Tribal Football". www.tribalfootball.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-18. สืบค้นเมื่อ 2021-06-27.
  35. UEFA.com (2012-07-01). "Spain overpower exhausted Italy to win UEFA EURO 2012 final". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  36. "Spain 0-0 Italy (Spain win 7-6 on pens)". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-06-27.
  37. "Italy boss Prandelli to resign". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-06-27.
  38. "Italy - Squad EURO 2016 in Frankreich". worldfootball.net (ภาษาอังกฤษ).
  39. "OFFICIAL: Italy squad for Euro 2016 - Football Italia" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  40. www.eurosport.com https://www.eurosport.com/geoblocking.shtml. {{cite web}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  41. "Perfect Italy are having fun at Euro 2020". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2021-06-20.
  42. UEFA.com (2021-07-09). "Italy set new record for longest EURO winning run". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  43. "'34 games unbeaten for Italy' - Which national teams have the longest unbeaten run in football? | Goal.com". www.goal.com.
  44. "England lose shootout in Euro 2020 final". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-07-12.
  45. UEFA.com (2021-10-06). "Italy 1-2 Spain: Ferran Torres double ends Azzurri run". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  46. https://www.bbc.com/sport/football/59202147
  47. สุดช็อก "อิตาลี" พ่าย "มาซิโดเนียเหนือ" คาบ้าน อดไปบอลโลก สรุปผลเพลย์ออฟรอบรองฯ
  48. UEFA.com (2022-06-01). "Italy 0-3 Argentina: South American champions cruise to Finalissima glory". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  49. "Italy pip Hungary to spot in Nations League finals". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2024-02-05.
  50. "Joselu sends Spain to Nations League final". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2024-02-05.
  51. "Italy beat Netherlands in Nations League play-off". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2024-02-05.
  52. "Ukraine 0-0 Italy (20 Nov, 2023) Game Analysis - ESPN (UK)". ESPN (ภาษาอังกฤษ).
  53. "Moise Kean lascia il ritiro. Nel pomeriggio primo allenamento a Coverciano" (ภาษาอิตาลี). Italian Football Federation. 7 October 2024. สืบค้นเมื่อ 7 October 2024.
  54. Roberto Di Maggio; José Luis Pierrend (8 April 2016). "Italy – Record International Players: Appearances for Italy National Team". RSSSF. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 July 2013. สืบค้นเมื่อ 3 May 2016.
  55. "Classifica marcatori" [Goalscoring standings]. FIGC.it (ภาษาอิตาลี). FIGC. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 July 2013. สืบค้นเมื่อ 2 May 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]