ข้ามไปเนื้อหา

ปลากระดูกอ่อน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Chondrichthyes)
ปลากระดูกอ่อน
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ยุคไซลูเรียนตอนปลาย–ปัจจุบัน
ปลาฉลามวาฬ (Rhincodon typus) ปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นปลากระดูกอ่อนด้วย ที่หมู่เกาะสิมิลัน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ไฟลัมย่อย: Vertebrata
ไฟลัมฐาน: Gnathostomata
ชั้น: Chondrichthyes
Huxley, 1880
ชั้นย่อยและอันดับ

ปลากระดูกอ่อน (ชั้น: Chondrichthyes; อังกฤษ: Cartilaginous fish) เป็นชั้นของปลาจำพวกหนึ่ง ซึ่งมีโครงสร้างกระดูกประกอบไปด้วยเซลล์กระดูกอ่อนอย่างเดียว โดยมีหินปูนมาประกอบเป็นบางส่วน ส่วนมากมีเหงือกแยกออกเป็นช่อง 5 ช่อง มีเกล็ดแบบพลาคอยด์ ที่จะไม่โตไปตามตัว มีลักษณะสากเมื่อสัมผัส ตัวผู้มีรยางค์เพศที่ครีบท้องเป็นติ่งยื่นเรียก แคลสเปอร์ หรือที่ในภาษาไทยเรียก เดือย โดยมากจะออกลูกเป็นตัว ขากรรไกรแยกออกจากกะโหลก ปลาจำพวกนี้พบทั่วโลกประมาณ 800 ชนิด เป็นปลากินเนื้อ ส่วนมากเป็นปลาทะเล ในน้ำจืดมีเพียงไม่กี่สิบชนิด มีหลายอันดับ หลายวงศ์ หลายสกุล โดยปลาในกลุ่มปลากระดูกอ่อนนี้ที่รู้จักกันดี ก็ได้แก่ ปลาฉลาม, ปลากระเบน, ปลาฉนาก, ปลาโรนัน เป็นต้น

ปลากระดูกอ่อนส่วนใหญ่มีรูปร่างเรียวยาว ยกเว้น ปลากระเบน ที่มีรูปร่างแบน ส่วนใหญ่อยู่ในทะเล พบในน้ำจืดเพียงไม่กี่ชนิด เช่น ปลากระเบนน้ำจืด มีขนาดแตกต่างกันตามแต่ละสกุล แต่ละชนิด ตั้งแต่มีความยาวเพียงไม่ถึงหนึ่งฟุต จนถึง 20 เมตร หนักถึง 34 ตัน คือ ปลาฉลามวาฬ (Rhincodon typus) ซึ่งเป็นปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลก

การจัดจำแนก

[แก้]

ปลากระดูกอ่อนแบ่งเป็น 2 ชั้นย่อย ดังนี้

ความแตกต่างระหว่างปลาในชั้นกระดูกอ่อนและชั้นกระดูกแข็ง

[แก้]
ปลากระดูกอ่อน ปลากระดูกแข็ง
โครงสร้างเป็นกระดูกอ่อน มีแคลเซียมสะสมอยู่ ไม่มีเนื้อเยื่อของกระดูก โครงกระดูก เกิดจากการสะสมของเซลล์กระดูก
กระดูกหัวไม่มีร่อง กระดูกหัวมีร่อง ประกอบด้วยกระดูกเป็นแผ่นแข็ง
เหงือกมีเยื่อกั้น ทำให้มีช่องเปิดเหงือก 5-7 คู่ ไม่มีกระดูกปิดเหงือก เหงือกไม่มีเยื่อกั้น มีช่องเปิดเหงือก 1 คู่ มีกระดูกปิดเหงือก
เพศผู้มีเดือยหนึ่งคู่ (แคลสเปอร์) ไม่มีแคลสเปอร์
ไม่มีกระเพาะลม จึงมีตับขนาดใหญ่มาแทนที่เพื่อช่วยในการพยุงตัวให้ลอย ส่วนมากมีกระเพาะลม บางอันดับมีปอด (ปลาปอด)
มีทวารร่วม ซึ่งเป็นช่องเปิดร่วมของทวารและช่องสืบพันธุ์ ไม่มีทวารร่วม มีช่องเปิดของทวาร และช่องสืบพันธุ์แยกกัน
ลำไส้สั้น มีลักษณะเป็นบันไดเวียนหรือแบบม้วนเสื่อ ลำไส้เป็นแบบธรรมดา
เกล็ดแบบพลาคอยด์เรียงกันเป็นแผ่น (สาก) เกล็ดมีหลายแบบ บางจำพวกไม่มีเกล็ด
ครีบไม่มีก้านครีบ มีกระดูกอ่อนพยุง ครีบมีก้านครีบ อาจเป็นก้านครีบแข็งหรือก้านครีบอ่อน
ส่วนใหญ่ออกลูกเป็นตัว (เป็นไข่แต่ได้พัฒนาเป็นตัวในท้อง) ส่วนมากออกลูกเป็นไข่
บางจำพวกมีสไปราเคิล (ท่อน้ำออก) ไม่มีสไปราเคิล
ไม่มีซอกฟันบนขากรรไกร มีซอกฟันบนขากรรไกร
หางเป็นแบบเฮเทอโรเซอคอล หางเป็นแบบโฮโมเซอคอ
กินสัตว์ทั้งสัตว์น้ำและแพลงก์ตอนเป็นอาหารทั้งหมด กินทั้งสัตว์และพืช

[2]

ความเชื่อเรื่องการรักษาโรคมะเร็ง

[แก้]

ปัจจุบัน มีความเชื่อว่า ปลากระดูกอ่อนนี้มิอาจป่วยเป็นโรคมะเร็งได้ เนื่องจากในเซลล์กระดูกอ่อนซึ่งเป็นองค์ประกอบใหญ่ของกระดูกในร่างกายนั้น มีสารโปรตีนที่ช่วยยับยั้งในการเกิดเซลล์มะเร็ง จึงมีการสกัดเซลล์กระดูกอ่อนจากปลากระดูกอ่อนโดยเฉพาะ ปลาฉลาม ผลิตเป็นยาจำหน่ายโดยทั่วไป

แท้ที่จริงแล้ว ความเชื่อดังกล่าวยังมิได้พิสูจน์ทราบทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ และเรื่องที่ว่าปลากระดูกอ่อนมิอาจป่วยเป็นโรคมะเร็งนั้นก็มิได้เป็นความจริงแต่อย่างใด[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. มนตรี แก้วเกิด. สัตววิทยา. นครสวรรค์: มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์. 2542
  2. "มีนวิทยา: รหัสวิชา 03-041-104". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-03. สืบค้นเมื่อ 2011-01-16. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  3. กระดูกอ่อนฉลามรักษามะเร็ง?