ข้ามไปเนื้อหา

ประเทศบัลแกเรีย

พิกัด: 42°41′N 23°19′E / 42.683°N 23.317°E / 42.683; 23.317
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Bulgaria)
สาธารณรัฐบัลแกเรีย

Република България (บัลแกเรีย)
คำขวัญ"เอกภาพสร้างพลัง"
(บัลแกเรีย: Съединението прави силата)
ที่ตั้งของ ประเทศบัลแกเรีย  (สีเขียวเข้ม) – ในยุโรป  (สีเขียว & สีเทาเข้ม) – ในสหภาพยุโรป  (สีเขียว)  —  [คำอธิบายสัญลักษณ์]
ที่ตั้งของ ประเทศบัลแกเรีย  (สีเขียวเข้ม)

– ในยุโรป  (สีเขียว & สีเทาเข้ม)
– ในสหภาพยุโรป  (สีเขียว)  —  [คำอธิบายสัญลักษณ์]

เมืองหลวง
และเมืองใหญ่สุด
โซเฟีย
42°41′N 23°19′E / 42.683°N 23.317°E / 42.683; 23.317
ภาษาราชการบัลแกเรีย[1]
อักษรทางการซีริลลิก
กลุ่มชาติพันธุ์
(ค.ศ. 2011)
ศาสนา
เดมะนิม
การปกครองรัฐเดี่ยว สาธารณรัฐระบบรัฐสภา
รูแมน ราแดฟ
อีลียานา ยอตอวา
ดีมีตาร์ กลัฟแชฟ
สภานิติบัญญัติรัฐสภา
ประวัติการก่อตั้ง
ค.ศ. 681–1018
ค.ศ. 1185–1396
3 มีนาคม ค.ศ. 1878
5 ตุลาคม ค.ศ. 1908
15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1990
พื้นที่
• รวม
110,993.6[3] ตารางกิโลเมตร (42,854.9 ตารางไมล์) (อันดับที่ 103)
2.16[4]
ประชากร
• มิถุนายน ค.ศ. 2021 ประมาณ
ลดลงเป็นกลาง 6,875,040[5] (อันดับที่ 106)
63 ต่อตารางกิโลเมตร (163.2 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 120)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) ค.ศ. 2021 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 174.998 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[6] (อันดับที่ 73)
เพิ่มขึ้น 25,471 ดอลลาร์สหรัฐ[6] (อันดับที่ 55)
จีดีพี (ราคาตลาด) ค.ศ. 2021 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 77.782 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[6] (อันดับที่ 68)
เพิ่มขึ้น 11,321 ดอลลาร์สหรัฐ[6] (อันดับที่ 61)
จีนี (ค.ศ. 2020)positive decrease 40[7]
ปานกลาง
เอชดีไอ (ค.ศ. 2021)ลดลง 0.795[8]
สูง · อันดับที่ 68
สกุลเงินเลฟ (BGN)
เขตเวลาUTC+2 (EET)
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)
UTC+3 (EEST)
ขับรถด้านขวามือ
รหัสโทรศัพท์+359
โดเมนบนสุด

บัลแกเรีย (อังกฤษ: Bulgaria, ออกเสียง: /bʌlˈɡɛəriə, bʊl-/; บัลแกเรีย: България, ออกเสียง: [bɐɫˈɡarijɐ]) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐบัลแกเรีย (อังกฤษ: Republic of Bulgaria; บัลแกเรีย: Република България) เป็นประเทศในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ในคาบสมุทรบอลข่านด้านตะวันออก มีพรมแดนติดกับประเทศโรมาเนียทางตอนเหนือ ทางตะวันตกติดกับประเทศเซอร์เบียและประเทศมาซิโดเนียเหนือ ส่วนทางตอนใต้ติดกับประเทศกรีซและประเทศตุรกี และจรดทะเลดำทางตะวันออก ประเทศบัลแกเรียมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของยุโรป ด้วยพื้นที่ 110,994 ตารางกิโลเมตร (42,855 ตารางไมล์) มีกรุงโซเฟียเป็นเมืองหลวงและเมืองที่มีประชากรมากที่สุด เมืองที่มีจำนวนประชากรรองลงมาได้แก่ ปลอฟดิฟ วาร์นา และบูร์กาส

หนึ่งในสังคมช่วงแรกของดินแดนบัลแกเรียปัจจุบันคือวัฒนธรรมคารานอวอในยุคหินใหม่ ซึ่งสามารถย้อนกลับไปได้ถึง 6,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในช่วงศตวรรษที่ 6 ถึง 3 ก่อนคริสต์ศักราช ภูมิภาคนี้กลายเป็นสมรภูมิรบของชาวเธรเซียนโบราณ ชาวเปอร์เซีย ชาวเคลต์ และชาวมาซิโดเนีย กระทั่งความมั่นคงเกิดขึ้นเมื่อจักรวรรดิโรมันสามารถพิชิตภูมิภาคนี้ได้ใน ค.ศ. 45 อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัฐโรมันทยอยแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ การรุกรานโดยชนเผ่าในภูมิภาคยังคงดำเนินต่อไปเป็นระยะ จนเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 6 ชาวสลาฟยุคแรกได้เริ่มตั้งถิ่นฐานในบริเวณดินแดนนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือชนบัลการ์ที่นำโดยอัสปารุค ที่เริ่มโจมตีดินแดนเกรตบัลแกเรียเก่าและรุกรานคาบสมุทรบอลข่านอย่างถาวรในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 7 พร้อมทั้งสถาปนาจักรวรรดิบัลแกเรียที่ 1 ซึ่งได้รับการยอมรับโดยสนธิสัญญาจากจักรวรรดิโรมันตะวันออกใน ค.ศ. 681 จักรวรรดิบัลแกเรียได้ครอบงำคาบสมุทรบอลข่านส่วนใหญ่ และมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวัฒนธรรมสลาฟ โดยจะเห็นได้จากการพัฒนาอักษรซีริลลิก จักรวรรดิบัลแกเรียที่ 1 ดำรงอยู่กระทั่งช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 เมื่อจักรพรรดิเบซิลที่ 2 แห่งไบแซนไทน์ พิชิตและยุบเลิกจักรวรรดิลง แต่กระนั้นการจราจลที่ประสบผลสำเร็จของบัลแกเรียใน ค.ศ. 1185 ทำให้จักรวรรดิบัลแกเรียที่ 2 ถือกำเนิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจักรวรรดิรุ่งเรืองถึงขีดสุดในรัชสมัยซาร์อีวัน อาแซนที่ 2 (ค.ศ. 1218–1241) ภายหลังสงครามที่เหน็ดเหนื่อยและความขัดแย้งในระบบศักดินาหลายครั้ง จักรวรรดิจึงล่มสลายลง และใน ค.ศ. 1396 ก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของออตโตมันเป็นเวลาเกือบห้าศตวรรษ

สงครามรัสเซีย-ตุรกีใน ค.ศ. 1877–1878 ส่งผลให้เกิดการก่อตั้งรัฐที่สาม ซึ่งถือเป็นรัฐชาติบัลแกเรียปัจจุบัน กลุ่มชนบัลแกเรียจำนวนมากถูกละทิ้งอยู่นอกพรมแดนชาติใหม่ ซึ่งกระตุ้นความรู้สึกต่อต้านศาสนาที่นำไปสู่ความขัดแย้งหลายครั้งกับประเทศเพื่อนบ้านและเข้าเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีในสงครามโลกทั้งสองครั้ง ใน ค.ศ. 1946 ประเทศบัลแกเรียกลายเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มตะวันออกและถูกปกครองภายใต้รัฐสังคมนิยม แต่ต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองประเทศได้ยกเลิกการผูกขาดอำนาจหลังการปฏิวัติ ค.ศ. 1989 และอนุญาตให้มีการเลือกตั้งแบบหลายพรรคการเมืองได้ จากนั้นประเทศบัลแกเรียก็เปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบตลาด นับตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยใน ค.ศ. 1991 ประเทศบัลแกเรียจึงมีสถานะเป็นรัฐเดี่ยว สาธารณรัฐระบบรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย 28 จังหวัด โดยมีการรวมอำนาจทางการเมือง การบริหาร และเศรษฐกิจในระดับสูง

ประเทศบัลแกเรียเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจอยู่ในระดับบน–ปานกลาง มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ในลำดับที่ 68 ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดของประเทศเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มตลาดเดี่ยวยุโรป รายได้หลักของประเทศมาจากภาคบริการ รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเครื่องจักรและการทำเหมืองแร่) และภาคเกษตรกรรม การทุจริตในวงกว้างถือเป็นปัญหาสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคม โดยประเทศบัลแกเรียได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีการทุจริตมากที่สุดในสหภาพยุโรปเมื่อ ค.ศ. 2018[9] อีกทั้งประเทศยังต้องเผชิญกับวิกฤตด้านประชากร ด้วยจำนวนประชากรที่ทยอยลดลงอย่างช้า ๆ จากที่มีประชากรสูงสุดเกือบ 9 ล้านคนใน ค.ศ. 1988 เหลือประมาณ 6.5 ล้านคนในปัจจุบัน ประเทศบัลแกเรียเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เนโท และสภายุโรป นอกจากนี้ยังเป็นสมาชิกก่อตั้งองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป หรือ OSCE และได้รับตำแหน่งในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติถึงสามครั้ง

ภูมิศาสตร์

[แก้]

ในตอนบนของประเทศเป็นแบบภาคพื้นสมุทร ในตอนล่างของประเทศเป็นแบบเมดิเตอร์เรเนียน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยทั้งปี 10.5 องศาเซลเซียส

ประวัติศาสตร์

[แก้]

จักรวรรดิบัลแกเรียที่ 1

[แก้]

เป็นอาณาจักรในยุคกลางของบัลแกเรียที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 632 ในบริเวณใกล้สามเหลี่ยมปากแม่น้ำดานูป (Danube Delta) และสลายตัวลงเมื่อปี ค.ศ. 1018 หลังจากที่ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิไบแซนไทน์ ในสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดจักรวรรดิบัลแกเรียครอบคลุมบริเวณตั้งแต่บูดาเปสต์ ไปจนถึงทะเลดำ และจากแม่น้ำนีพเพอร์ในยูเครนปัจจุบันไปจนถึงทะเลเอเดรียติค จักรวรรดิบัลแกเรียที่ 1 มาแทนที่ด้วยจักรวรรดิบัลแกเรียที่ 2 ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1185 ชื่อทางการของประเทศตั้งแต่ตั้งมาคือ “บัลแกเรีย”

จักรวรรดิบัลแกเรียที่ 2

[แก้]

บัลแกเรียมีฐานะเป็นรัฐชาติในปี พ.ศ. 1224 ประกอบขึ้นจากชนชาติสลาฟและชนชาติบัลการ์ (ชนชาติเติร์กิกกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในคาบสมุทรบอลข่าน) ตกอยู่ภายใต้อาณาจักรไบแซนไทน์ในปี พ.ศ. 1561

จักรวรรดิออตโตมัน

[แก้]

ต่อมาตกอยู่ภายใต้จักรวรรดิออตโตมัน 5 ศตวรรษ จากปี พ.ศ. 1939

ยุคอาณานิคมของรัสเซีย

[แก้]

สมัยนั้นจักรวรรดิรัสเซียต้องการตุรกีและบัลแกเรียมาเป็นอาณานิคมโดยบุกตุรกีและบัลแกเรียพร้อมกันสุดท้ายบัลแกเรียก็ตกเป็นอาณานิคมของรัสเซีย พ.ศ. 2368 ตามสนธิสัญญาซานสเตฟาโน จนถึงปี พ.ศ. 2421 ราชรัฐบัลแกเรียจึงได้รับการยอมรับในฐานะประเทศเอกราชในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ปกครองโดยราชวงศ์ซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา โดยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับราชวงศ์โรมานอฟ

ยุคสงครามเย็น

[แก้]

บัลแกเรียเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สองโดยอยู่ฝ่ายมหาอำนาจกลางและฝ่ายอักษะ และเมื่อเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่1และครั้งที่ 2จึงถูกกำหนดโดยฝ่ายสัมพันธมิตรให้สหภาพโซเวียตปกครอง บัลแกเรียปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา และเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ. 2533

การเมืองการปกครอง

[แก้]

สถานการณ์สำคัญ

[แก้]

ภายหลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียต บัลแกเรียได้เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2534 รัฐสภาบัลแกเรียได้รับรองรัฐธรรมนูญของประเทศ บัลแกเรียมีระบบสภาเดียวประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภา 240 คน จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปทุก 4 ปี ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี และอาจอยู่ต่อได้อีกหนึ่งวาระ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ได้แก่ นาย Georgi Parvanov จากพรรคสังคมนิยมบัลแกเรีย (Bulgarian Socialist Party : BSP) ซี่งดำรงตำแหน่งเป็นวาระที่ 2

บัลแกเรียจัดการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2548 รัฐบาลชุดปัจจุบันประกอบด้วยพรรค BSP พรรค The Simeon II National Movement (SNM) ซึ่งเป็นพรรคของอดีตกษัตริย์ Simeon II และพรรค The Movement for Rights and Freedom (MRF) คิดเป็นคะแนนเสียงทั้งหมด 169 ที่นั่ง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ได้แก่ นาย Sergei Stanishev จากพรรค BSP ซึ่งครองที่นั่งมากที่สุดในสภา (82 ที่นั่ง)

รัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับการเข้าเป็นสมาชิกภาพสหภาพยุโรป การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเป็นธรรมยิ่งขึ้น การปฏิรูประบบประกันสังคมให้มีความเป็นธรรมยิ่งขึ้น ลดอาชญากรรมและการฉ้อราษฎร์บังหลวง แก้ไขปัญหาความยากจน พัฒนาระบบการศึกษา อาทิ การให้เงินสนับสนุนโรงเรียนอนุบาล การเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ

รัฐบาลชุดปัจจุบันประสบความสำเร็จในการนำบัลแกเรียเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หากแต่พรรค BSP ได้รับการวิจารณ์ว่าไม่สามารถรักษาคำมั่นที่จะลดการฉ้อราษฎร์บังหลวงไว้ได้ อีกทั้งการเสื่อมถอยความนิยมของพรรค SNM และมีแนวโน้มว่า สส. ส่วนหนึ่งของพรรค SNM อาจแปรพักตร์ไปเป็นสมาชิกพรรคขวาเกิดใหม่ภายใต้การนำของนายกเทศมนตรีกรุงโซเฟียที่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชน ทำให้สื่อต่างประเทศวิเคราะห์ว่า อาจมีการเลือกตั้งภายในสิ้นปี 2550 หรือต้นปี 2551 ทั้งนี้ นับแต่การเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตย บัลแกเรียได้จัดให้มีการเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง โดยไม่มีรัฐบาลชุดใดได้รับเลือกต่ออีกหนึ่งวาระ

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]
แผนที่แสดงจังหวัดของประเทศบัลแกเรีย

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 บัลแกเรียแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 28 จังหวัด (provinces - oblasti) หลังจากที่เดิมแบ่งเป็น 9 จังหวัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 โดยที่แต่ละแห่งตั้งชื่อตามเมืองหลวงของจังหวัด โดยที่เมืองหลวงประจำประเทศเป็นจังหวัดหนึ่งแยกต่างหาก

นโยบายต่างประเทศ

[แก้]

ความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป

[แก้]

นโยบายการต่างประเทศของบัลแกเรียมุ่งเน้นการเป็นสมาชิกภาพสหภาพยุโรป และ นาโต ของบัลแกเรีย การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2550 เป็นเหตุการณ์สำคัญสุดในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของบัลแกเรีย การเข้าเป็นสมาชิกเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบูรณาการ ในการที่จะดำรงสมาชิกภาพอย่างสมบูรณ์บัลแกเรียต้องดำเนินการปฏิรูปต่อไป โดยเฉพาะในด้านกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งแก้ไขปัญหาการฉ้อราษฎ์บังหลวงและอาชญากรรม ซึ่งยังคงเป็นความท้าทายของบัลแกเรีย โดยคณะกรรมาธิการยุโรปจะตรวจสอบการดำเนินการปฏิรูปในสาขาเหล่านี้เป็นระยะต่อไปจนกว่าจะพอใจ ในด้านเศรษฐกิจบัลแกเรียมีข้อได้เปรียบทางด้านเศรษฐกิจตรงที่ค่าจ้างแรงงานถูก ประชากรมีการศึกษาสูง บัลแกเรียมีความประสงค์ที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้เพิ่มโอกาสดังกล่าวได้ โดยปัจจุบันมีนักลงทุนจากเยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศสและสหรัฐฯ เข้าไปลงทุนในบัลแกเรียมากขึ้น ปัญหาของบัลแกเรีย คือ มีขีดความสามารถทางการแข่งขันต่ำ ดังนั้น บัลแกเรียจึงต้องเพิ่มสัดส่วนของอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และอุตสาหกรรมเชิงวิทยาศาสตร์ ในขณะเดียวกันต้องคงต้นทุน ค่าจ้าง วัสดุ และพลังงานไว้ในระดับที่ต่ำต่อไป นอกจากนี้ บัลแกเรียให้ความสำคัญกับนโยบายด้านพลังงานของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะพลังงานนิวเคลียร์ และมีความต้องการสร้างโรงงานผลิตพลังงานนิวเคลียร์แห่งใหม่ นอกจากนี้ บัลแกเรียต้องการเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายท่อส่งน้ำมันและก๊าซในภูมิภาคบอลข่าน

บัลแกเรียให้ความสำคัญแก่การสร้างเสถียรภาพในคาบสมุทรบอลข่าน ทั้งนี้ บัลแกเรียมองว่า ประเทศของตนเป็น stabilizing force ทางการเมืองในคาบสมุทรบอลข่าน และเป็นประเทศทางผ่านสินค้า (transit) ในภูมิภาค โดยจากกรุงโซเฟีย มีทางรถยนต์เชื่อมกรุงเบลเกรด และกรุงอิสตันบูล และเป็นเส้นทางจากยุโรปเหนือไปกรุงเอเธนส์ ผ่านเมือง Skopje และ Salonica ในกรีซ

สนับสนุนการบูรณาการของทวีปยุโรปในกรอบกว้างที่มีสหรัฐฯ รวมอยู่ด้วย ที่เรียกว่า Euro-Atlantic Integration บัลแกเรียเข้าร่วมในโครงการ NATO Partnership for Peace โดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโต ตั้งแต่ปี 2540 และได้เข้าเป็นสมาชิกนาโตในปี 2547 พร้อมกับ ลัตเวีย ลิทัวเนีย เอสโตเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนียและโรมาเนีย

เศรษฐกิจ

[แก้]

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

[แก้]

บัลแกเรียประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2533 ภายหลังที่ COMECON (องค์กรความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก) ล่มสลายลงพร้อมกับการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียต เศรษฐกิจของบัลแกเรียฟื้นตัว เป็นครั้งแรกภายหลังวิกฤตการณ์ในปี พ.ศ. 2537 โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 บัลแกเรียได้ทำความตกลง Stand-by Arrangement กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีระยะเวลา 2 ปี ภายใต้วงเงิน 337 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจนถึงปัจจุบัน บัลแกเรียได้กู้เงินจาก IMF ภายใต้ความตกลงดังกล่าว จำนวน 191 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 คณะกรรมการบริหารของ IMF ได้สิ้นสุดการทบทวนการดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจของบัลแกเรียเป็นครั้งที่ 3 ของปี พ.ศ. 2546 และเห็นว่า ดัชนีเศรษฐกิจมีผล เป็นที่น่าพอใจ จึงอนุมัติให้บัลแกเรียมีสิทธิกู้เงินได้อีก จำนวน 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การปฏิรูปเศรษฐกิจมหภาคของบัลแกเรียเป็นไปในเชิงบวก และเศรษฐกิจมีแนวโน้มพัฒนาดีขึ้นเป็นลำดับ โดยมีการดำเนินการตามแผนของ IMF และ Currency Board อย่างเคร่งครัด เป็นผลให้อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานลดลงเป็นลำดับ สถานะทางเศรษฐกิจของบัลแกเรียจึงมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นสำหรับนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ การปฏิรูปเศรษฐกิจในภาคต่าง ๆ มีความก้าวหน้ามาก อาทิ ภาคพลังงาน ภาคการเดินรถไฟ ภาคการบริหารการเก็บภาษี และภาคการแปรรูปธนาคารของรัฐหลายธนาคาร ซึ่งการรักษาความต่อเนื่องของการพัฒนาบรรยากาศทางธุรกิจและการลงทุน จะเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของบัลแกเรียต่อไปในระยะกลาง โดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อสร้างความพร้อมให้กับบัลแกเรียในการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปี พ.ศ. 2550

ศักยภาพทางเศรษฐกิจ

[แก้]

บัลแกเรียถือเป็นตลาดส่งออกที่มีลู่ทางที่จะขยายตัวได้อีกมากของไทย และเป็นประเทศที่อยู่ในระหว่างการปฏิรูปและมีลู่ทางที่จะมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้ รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญในเวทีการเมืองระหว่างประเทศของยุโรปต่อไป นอกจากนี้ บัลแกเรียยังเป็นสมาชิกขององค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจทะเลดำ (Black Sea Economic Cooperation) รวมทั้ง บัลแกเรียจะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปี พ.ศ. 2550 บัลแกเรียมีทำเลที่ตั้งเป็นเมืองท่าในทะเลดำ และมีพื้นที่ติดกับประเทศในคาบสมุทรบอลข่านที่ไม่มีทางออกทะเล อาทิ มาซิโดเนียและมอนเตเนโกร เป็นต้น อีกทั้งมีทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมาก หากได้รับการพัฒนาและนำมาใช้ให้ได้ประโยชน์ จะเป็นตัวเสริมอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของไทยได้ นอกจากนี้ ยังมีค่าจ้างแรงงานถูก ประชากรมีการศึกษาสูง ปัจจุบันมีนักลงทุนจากเยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศสและสหรัฐฯ เข้าไปลงทุนในบัลแกเรียมากขึ้น

ประชากรศาสตร์

[แก้]

เชื้อชาติ

[แก้]

ประชากร 7.9 ล้านคน ประกอบด้วยชาวบัลแกเรีย ร้อยละ 83.9 ชาวเติร์ก ร้อยละ 9.4 และอื่น ๆ (มาซิโดเนีย อาร์มีเนีย ตาตาร์)

ศาสนา

[แก้]

ชาวบัลแกเรียส่วนใหญ่ประมาณ80-90%นับถือศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์และส่วนน้อยประมาณ10%นับถือศาสนาอิสลามเป็นชาวเตอร์กิก[10]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. จำนวนชาวโรมานีอย่างเป็นทางการอาจต่ำกว่าจำนวนจริง ดูที่ ประชากรศาสตร์

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Constitution of the Republic of Bulgaria". National Assembly of the Republic of Bulgaria. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-19. สืบค้นเมื่อ 30 August 2020.
  2. "Население по местоживеене, възраст и вероизповедание". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 March 2018. สืบค้นเมื่อ 2021-03-27.
  3. Penin, Rumen (2007). Природна география на България [Natural Geography of Bulgaria] (ภาษาบัลแกเรีย). Bulvest 2000. p. 18. ISBN 978-954-18-0546-6.
  4. "Field listing: Area". The World Factbook. Central Intelligence Agency. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 January 2014. สืบค้นเมื่อ 9 October 2018.
  5. "Population and Demographic Processes in 2019 | National statistical institute". www.nsi.bg. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 June 2020. สืบค้นเมื่อ 29 August 2021.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 "World Economic Outlook Database, April 2021". IMF.org. International Monetary Fund. สืบค้นเมื่อ 6 April 2021.
  7. "Gini coefficient of equivalised disposable income – EU-SILC survey". ec.europa.eu. Eurostat. สืบค้นเมื่อ 9 August 2021.
  8. Human Development Report 2020 The Next Frontier: Human Development and the Anthropocene (PDF). United Nations Development Programme. 15 December 2020. pp. 343–346. ISBN 978-92-1-126442-5. สืบค้นเมื่อ 16 December 2020.
  9. "Corruption Perceptions Index 2018 Executive Summary" (PDF). Transparency International. p. 12. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-09. สืบค้นเมื่อ 10 February 2019.
  10. http://www.nsi.bg/Census/MotherTongue.htm

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
รัฐบาล
ข้อมูลทั่วไป
ท่องเที่ยว