ข้ามไปเนื้อหา

โทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

รายละเอียดเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือและสมาร์ตโฟนในประเทศไทย

การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย

[แก้]

ยุคแรก 1G

[แก้]
  • ปี พ.ศ. 2529 องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชื่อในขณะนั้น) ได้เริ่มให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยนำระบบ NMT (Nordic Mobile Telephone System) ซึ่งมีให้บริการในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนเรื่องความถี่ในการนำมาให้บริการจาก ความถี่ 450MHz เป็น 470MHz จึงเป็นที่มาของชื่อระบบ NMT470 ซึ่งนับเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบแรกของประเทศไทย ระยะแรกให้บริการในเขตกรุงเทพฯ ปริมลฑลและจังหวัดชายฝั่งด้านตะวันออก ก่อนขยายบริการไปทั่วประเทศในเวลาต่อมา ลักษณะของเครื่องลูกข่ายของระบบ NMT470 จะมีลักษณะเป็นกระเป๋าหิ้ว มีน้ำหนักประมาณ 1-5 กิโลกรัม ยังไม่ได้มีลักษณะเป็นแบบมือถือเช่นปัจจุบัน บางครั้งผู้ใช้จึงเรียกว่าโทรศัพท์กระเป๋าหิ้ว
  • ปี พ.ศ. 2530 การสื่อสารแห่งประเทศไทย (ชื่อในขณะนั้น) ได้นำระบบ AMPS (Advance Mobile Phone System) ความถี่ 800MHz มาให้บริการ โดยคุณลักษณะเด่นของระบบ AMPS800 คือเครื่องลูกข่ายที่มีขนาดเล็ก สามารถถือไปมาได้โดยสะดวก จึงได้รับความนิยมมากและเป็นที่มาของโทรศัพท์มือถือ ระบบ AMPS800 เริ่มให้บริการในเขตกรุงเทพฯ ก่อนขยายไปตามหัวเมืองใหญ่ แต่การให้บริการระยะแรกไม่ได้เรียกผ่านรหัสโทรศัพท์เคลื่อนที่ (รหัส 01) แต่ต้องทำการเรียกผ่านหมวดเลขหมายของพื้นที่กรุงเทพฯ จึงทำให้ผู้ใช้บริการต้องเสียค่าโทรทั้งการโทรออกและรับสาย [1]

การกำหนดรหัสเรียกเข้าระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย

[แก้]
  • ในปี พ.ศ. 2529 ที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ได้เริ่มให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ NMT470 เป็นครั้งแรกในประเทศไทยนั้น ได้กำหนดรหัสสำหรับการเรียกเข้าสู่ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นการเฉพาะขึ้น นอกเหนือจากรหัสทางไกลสำหรับโทรไปยังภูมิภาคต่าง ๆ รหัสที่กำหนดคือ 01 ซึ่งผู้ที่ต้องการติดต่อหรือโทรเข้ายังระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องใส่รหัส 01 หน้าเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 7 หลัก ซึ่งใช้สำหรับผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขององค์การโทรศัพท์และบริษัทผู้รับสัมปทานของทศท. แต่ผู้ที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของการสื่อสารแห่งประเทศไทยและบริษัทที่รับสัมปทานของกสท.จะต้องเรียกเลขหมายซึ่งขึ้นต้นด้วย 02 เหมือนเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐาน ต่อมาจึงได้ปรับให้มีการใช้เลขหมาย 01 เช่นกัน
  • ต่อมาในปี พ.ศ. 2544มีการขยายตัวของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นจำนวนมาก องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ได้มีการปรับระบบเลขหมายโทรศัพท์ (Numbering Plan) ใหม่ทั้งระบบทั่วประเทศ จากการเรียกเลขหมายในกลุ่มเดียวกันที่ไม่ต้องใช้เลขหมายทางไกล (กลุ่ม) มาเป็นกลุ่มเดียวกันทั้งประเทศ โดยใส่เลขหมายทางไกลยกเว้นเลขศูนย์นำหน้าโทรศัพท์พื้นฐาน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น เขตนครหลวง รหัสทางไกล 02 และเลขหมาย 7 หลักจาก (02) xxx-xxxx เป็น 2XXX-XXXX กลุ่มภาคกลางเขต 1 รหัสทางไกล 032 และเลขหมาย 6 หลักจาก (032) XXX-XXX เป็น 32XX-XXXX เป็นต้น และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มีรหัสโทรศัพท์เคลื่อนที่ 01 มาเป็นการเรียก 01 นำหน้าเลขหมาย 7 หลัก มาเป็น 1XXX-XXXX โดยการโทรออกหมายเลขปกติ 8 หลักนี้ให้กด 0 นำหน้า ดังนั้นหมายเลขที่ผู้ใช้ทั่วไปใช้เรียกเพื่อง่ายต่อการเข้าใจคือ 0-1XXX-XXXX

พร้อมกันนี้ก็ได้เพิ่มกลุ่มเลขหมายเคลื่อนที่อีกหนึ่งกลุ่มคือ 09 ซึ่งเลขหมายเป็น 0-9XXX-XXXX แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการเปิดใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงได้มีการเพิ่มกลุ่มเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกลุ่ม 06 ซึ่งมีเลขหมายเป็น 0-6XXX-XXXX

  • หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ การกำหนดเลขหมายจึงอยู่ในอำนาจของกทช. กทช.จึงได้นำเลขหมายที่ยังไม่เปิดใช้บริการในกลุ่มโทรศัพท์พื้นฐานจากองค์การโทรศัพท์มาจัดสรรให้กับผู้ให้บริการเพื่อออกเลขหมายแก่ผู้ใช้บริการในหลักที่ 3 ของเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐานในส่วนภูมิภาค เป็น 0, 1, 3 เช่น 0-30XX-XXXX, 0-33XX-XXXX, 0-40XX-XXXX, 0-41XX-XXXX, 0-46XX-XXXX, 0-47XX-XXXX, 0-48XX-XXXX, 0-49XX-XXXX, 0-50XX-XXXX, 0-51XX-XXXX, 0-70XX-XXXX, 0-71XX-XXXX, 0-72XX-XXXX, 0-78XX-XXXX, 0-79XX-XXXX ซึ่งเป็นเลขหมายที่ยังไม่ได้เปิดใช้ในขณะนั้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้เลขหมายในกลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่
  • พ.ศ. 2547 คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จึงได้มีการจัดทำแผนการปรับระบบเลขหมายโทรศัพท์ (Numbering Plan) โดยมีนโยบายเพิ่มหลักในเลขหมาย 1 หลักในเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และโทรศัพท์ประจำที่ (พื้นฐาน) โดยเพิ่มหลักหลังเลข 0 ด้วย เลข 8 ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งจะได้เป็น 08-XXXX-XXXX และเพิ่มเลข 8 ก่อนเลข 0 ของเลขหมายประจำที่ ซึ่งจะได้เป็น 80-XXXX-XXXX ซึ่งหลักที่ 2-10 ก็จะเป็นเลขหมายเดิมของโทรศัพท์พื้นฐาน ในขณะเดียวกันองค์การโทรศัพท์ (บริษัททีโอที จำกัด มหาชน) จึงได้นำเลขหมายในกลุ่มพื้นฐานที่ยังไม่เปิดใช้ให้แก่ สกทช.ไปจัดสรรเพิ่มเติม ได้แก่ 0-20XX-XXXX, 0-320X-XXXX, 0-328X-XXXX, 0-329X-XXXX, 0-340X-XXXX เป็นต้น ซึ่งก็เป็นการบรรเทาการขาดแคลนเลขหมายโทรคมนาคมเป็นการชั่วคราว
  • พ.ศ. 2549 คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติจึงได้มีการประกาศขยายเลขหมาย โดยเพิ่มหลักจำนวน 1 หลัก ด้วยเลข 8 หลังเลข 0 จาก 0-XXXX-XXXX เป็น 08-XXXX-XXXX แต่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติก็ไม่ได้เพิ่มหลักในเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่ ที่ใช้ระบบชุมสาย (โทรศัพท์พื้นฐาน) ซึ่งไม่มีการเพิ่มหลักในหลักแรกด้วยเลข 8 (80-XXXX-XXXX) แต่อย่างใดตามที่เคยมีประกาศแผนในปี พ.ศ. 2547 จึงมีเลขหมายเหมือนเดิมเป็น 0-XXXX-XXXX โดย 0-2XXX-XXXX เป็นเลขหมายในเขตนครหลวง (กรุงเทพมหานคร, จังหวัดสมุทรปราการ, นนทบุรี และ ปทุมธานี) 0-32XX-XXXX ภาคกลางเขต 1 (ราชบุรี, เพชรบุรี และ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) เป็นต้น [2]

ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย

[แก้]

ให้บริการระบบ NMT470 (ปัจจุบันปรับระบบไปใช้เป็นโครงข่าย โทรศัพท์สาธารณะเคลื่อนที่ และใช้เป็นระบบโทรศัพท์เพื่อให้บริการแก่ประชาชนในเขตนอกข่ายสายและถิ่นทุรกันดาร โดยใช้เป็นโทรศัพท์ประจำที่ติดตั้งภายในอาคาร มีสายอากาศรับสัญญาณ ภายหลัง พ.ศ. 2551 จึงได้ปรับระบบเป็น CDMA 2001X[3] ให้บริการระบบ 3G บนโครงข่าย HSPA บนความถี่ 1900MHz (ความถี่ ThaiMobile เดิม) และความถี่ 2100MHz (ความถี่ทดลอง) ในชื่อ TOT3G ในพื้นที่ กทม.

เจ้าของโครงข่าย และให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครือข่าย ในระบบ 3G บนเทคโนโลยี CDMA 2000 1x EV-DO ภายใต้ชื่อ "CATCDMA" สำหรับบริการทางเสียงและ SMS ของ CAT CDMA ใช้งานได้ 77 จังหวัดทั่วประเทศ สำหรับบริการอินเทอร์เน็ตและสื่อสารข้อมูล ใช้งานได้ 52 จังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และใต้ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน พะเยา เชียงราย แม่ฮ่องสอน ชัยนาท นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร ชัยภูมิ อำนาจเจริญ หนองบัวลำภู ขอนแก่น อุดรธานี เลย หนองคาย บึงกาฬ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ภูเก็ต สุราษฏร์ธานี สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส[4] และให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G บนเทคโนโลยี HSPA ความถี่ 850 MHz ภายใต้ชื่อ "มาย" (My) เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 ปัจจุบันเปิดให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด[5]

รับสัมปทานให้บริการระบบ NMT900 จาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในชื่อ CELLULAR 900 (ปัจจุบันยกเลิกการให้บริการแล้ว) ปัจจุบันให้บริการระบบ GSM บนความถี่ 900MHz โดยรับสัมปทานจาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในชื่อ GSM Advance และ One-2-Call GSM Advance และ One-2-Call ให้บริการทางเสียงและสื่อสารข้อมูล ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด บนเทคโนโลยี EDGE/GPRS ความถี่ 900 MHz และ 3G บนเทคโนโลยี HSPA ความถี่ 900 MHz ปัจจุบันทดลองให้บริการอินเทอร์เน็ตและสื่อสารข้อมูล 4G บนเทคโนโลยี LTE โดยร่วมกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ทดสอบระบบในกรุงเทพฯ (บริเวณถนนพระรามที่ 1) ตั้งแต่หน้ามาบุญครองถึงเซ็นทรัลเวิลด์ รวมถึงบริเวณแจ้งวัฒนะในพื้นที่กระทรวงไอซีที ศูนย์ราชการ และสำนักงานทีโอที ใช้ย่านความถี่ 2300 MHz แบบ Time Division Duplex (TDD) ที่แบนด์วิดท์ 20 MHz จะทดสอบการให้บริการบรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูง (BWA) มีสถานีฐานทั้งหมด 20 แห่ง [6]

ให้บริการในระบบ GSM บนความถี่ 1800 MHz ภายใต้ชื่อ GSM1800 โดยรับสัมปทานจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (ผ่านการซื้อกิจการของ บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด ซึ่งเป็นโครงข่ายในชื่อการค้า Hello เดิม) เปิดให้บริการทางเสียงและสื่อสารข้อมูล บนเทคโนโลยี EDGE/GPRS ความถี่ 1800 MHz ปัจจุบันทดลองให้บริการอินเทอร์เน็ตและสื่อสารข้อมูล 4G บนเทคโนโลยี LTE โดยร่วมมือกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม ทดสอบระบบ 4G ในจังหวัดมหาสารคาม บริเวณมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ใช้ความถี่ 1800 MHz แบบ Frequency Division Duplex (FDD) ที่แบนด์วิดท์ 10 MHz มีสถานีฐานทั้งหมด 8 แห่ง

รับสัมปทานให้บริการระบบ AMPS 800 Band-B จาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในชื่อ Wordphone 800 (ปัจจุบันยกเลิกการให้บริการแล้ว) รับสัมปทานให้บริการระบบ GSM บนความถี่ 1800 MHz จากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในชื่อ Wordphone 1800 ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "ดีแทค" (DTAC) ในระบบจดทะเบียน และ "แฮปปี้" (Happy) ในระบบเติมเงิน ดีแทคให้บริการทางเสียงและสื่อสารข้อมูล ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด บนเทคโนโลยี EDGE/GPRS ความถี่ 1800 MHz และ 3G บนเทคโนโลยี HSPA ความถี่ 850 MHz ปัจจุบันกำลังทดลองให้บริการอินเทอร์เน็ตและสื่อสารข้อมูล 4G บนเทคโนโลยี LTE

รับสัมปทานให้บริการระบบ GSM บนความถี่ 1800 MHz จากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันให้บริการ 3G บนโครงข่าย HSPA ความถี่ 850 MHz ในบริเวณบางพื้นที่ของ กทม. และ พัยา เชียงใหม่ ภูเก็ต [7] สัมปทานจะสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2556

ผู้ขายต่อบริการ (Reseller) ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ HSPA ในความถี่ 850 MHz และบริการ 3G ในเชิงพาณิชย์ ภายใต้ชื่อ “ทรูมูฟ เอช” (Truemove H) ให้บริการทางเสียงและสื่อสารข้อมูล ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด [8]

ตัวแทนผู้ให้บริการด้านการตลาด โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA20001x ในพื้นที่ กรุงเทพฯ และ 25 จังหวัดจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ภายใต้แบรนด์ฮัทช์ (HUTCH) ปัจจุบันกลุ่มทรูคอร์ปอเรชั่นและกสท. โดยบริษัทเรียล มูฟ จำกัด และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ได้เข้าซื้อกิจการและโครงข่าย เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553 ของบริษัท ฮัทชิสัน ไวร์เลส มัลติมีเดีย โฮลดิ้งส์ จำกัด หรือ HWMH และ บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด หรือ BFKT[9]

เป็นบริษัทที่ก่อตั้งโดยการลงทุนร่วมกันระหว่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บริการระบบ GSM บนความถี่ 1900MHz ในพื้นที่ กทม. แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการให้บริการ ต่อมาบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ทำการซื้อหุ้นจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 49% กลับมาทั้งหมด เพื่อต้องการให้ได้สิทธิ์ในการบริหารและสิทธิ์การให้บริการ เพื่อนำความถี่ GSM1900 MHz มาพัฒนาระบบระบบ 3G (ปัจจุบันได้ให้บริการระบบ 3G ในความถี่นี้แล้ว และได้ยกเลิกระบบ GSM1900 ในระบบ 2.75G)

อ้างอิง

[แก้]
  1. การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย
  2. ประกาศ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
  3. ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย
  4. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
  5. บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G
  6. "บริการทางเสียงและสื่อสารข้อมูล ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-02. สืบค้นเมื่อ 2010-08-01.
  7. "บริษัท ทรูมูฟ จำกัด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-24. สืบค้นเมื่อ 2010-08-01.
  8. "บริษัท เรียลมูฟ จำกัด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-14. สืบค้นเมื่อ 2011-09-07.
  9. บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด

ดูเพิ่ม

[แก้]