ข้ามไปเนื้อหา

การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
65
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พ.ศ. 2493
วันที่9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 (78 ปีที่แล้ว)
เวลา09.20 น. (UTC+7)
สถานที่พระที่นั่งบรมพิมาน พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
ที่ตั้งจังหวัดพระนคร ประเทศไทย
ประเภทเหตุยิง
สาเหตุสันนิษฐานว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์
เป้าหมายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
ผู้รายงานคนแรกชิต สิงหเสนี
ผล
ไต่สวน"ศาลกลางเมือง"
จนท. ชันสูตรคณะแพทย์ 20 คน
ต้องสงสัยดูในบทความ
พิพากษาลงโทษคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1544/2497
จำนวนถูกพิพากษาลงโทษประหารชีวิตมหาดเล็ก 3 คนฐานประทุษร้ายพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จสวรรคตเพราะต้องพระแสงปืนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลาประมาณ 9.20 น. บนชั้นสอง พระที่นั่งบรมพิมาน พระบรมมหาราชวัง สภาพพระบรมศพมีบาดแผลกลางพระนลาฎ (หน้าผาก) บริเวณระหว่างพระขนง (คิ้ว) ข้างพระบรมศพมีปืนพกโคลต์ตกอยู่ชิดข้อศอก ด้ามปืนหันออกจากตัว ในช่วงแรกมีการรบกวนพระบรมศพทำให้การพิสูจน์เกิดปัญหา ความเห็นของแพทย์ผู้ชันสูตรเกือบสามในสี่ลงมติเป็นการลอบปลงพระชนม์

ปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวน และรัฐสภาลงมติถวายราชสมบัติให้แก่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ข่าวลือแพร่สะพัดไปว่าพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลถูกลอบปลงพระชนม์ และศัตรูการเมืองของปรีดีซึ่งประกอบด้วยทหารสายจอมพล ป. พิบูลสงครามและพรรคประชาธิปัตย์ปล่อยข่าวลือว่าปรีดีเป็นผู้บงการ เมื่อไขคดีไม่ได้และรัฐบาลสั่งปิดหนังสือพิมพ์ที่โจมตีรัฐบาลนานเข้า ปรีดีจึงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อแทน แต่สุดท้ายเกิดรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 โดยอ้างสาเหตุหนึ่งว่ารัฐบาลไม่สามารถแก้ไขคดีสวรรคตได้ ทำให้ปรีดีและพันธมิตรหมดอำนาจทางการเมือง ทั้งนี้ ส. ศิวรักษ์เขียนว่า ปรีดี พนมยงค์มีบทบาทช่วยปกป้องเชื้อพระวงศ์ที่กระทำผิดในเหตุการณ์ และไม่ได้บอกให้อธิบดีตำรวจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยชันสูตรพระบรมศพแต่แรก และจับกุมผู้ทำลายหลักฐานเพื่อปิดบังพิรุธ[1]: 5–6 

คณะกรรมการสืบสวนคดีสวรรคตที่มีพระพินิจชนคดี (พินิจ อินทรทูต) เป็นประธาน อันตั้งขึ้นหลังรัฐประหารนั้นพยายามสรุปคดีในดูเหมือนปรีดีเป็นผู้บงการ[2]: 138–42  แม้มีหลักฐานเท็จ แต่การสอบสวนดำเนินต่อ จนศาลฎีกาพิพากษาประหารชีวิตมหาดเล็ก 3 คนในเดือนตุลาคม 2497[2]: 146  เนื่องจาก "มีเหตุบังเกิดการประทุษร้ายแก่พระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลถึงแก่การสวรรคต" ในปี 2498 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามพยายามฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชยกฎีกา

เหตุการณ์ช่วงสวรรคต

9 มิถุนายน 2489 (วันเกิดเหตุ)

ประมวลจากหนังสือ กรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489 และ คดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.8[3]

  • เวลาประมาณ 5 นาฬิกาเศษ สมเด็จพระราชชนนีทรงตื่นบรรทมแล้วเสด็จเข้าไปปลุกในหลวงอานันท์ที่ห้องนอน (เสด็จผ่านห้องแต่งพระองค์) เพื่อถวายน้ำมันละหุ่ง (มหาดเล็ก 2 คนช่วยยกถาดตามเสด็จ) หลังจากนั้นในหลวงอานันทมหิดลทรงบรรทมต่อ พระราชชนนีกลับไปบรรทมต่อเช่นกันที่ห้องของพระองค์เอง (มหาดเล็กกลับลงชั้นล่าง)
  • เวลาประมาณ 6.20 น. บุศย์ ปัทมศริน มหาดเล็กห้องพระบรรทมของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มาเข้าเวรถวายงานที่พระที่นั่งบรมพิมาน ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  • เวลาประมาณ 7.00 น.–8.00 น. มหาดเล็กรับใช้ขึ้นไปบนพระที่เตรียมจัดตั้งโต๊ะเสวย
  • เวลาประมาณ 7 นาฬิกาเศษ บุศย์ ปัทมศริน เริ่มเวรมหาดเล็กประจำห้องบรรทมในหลวงอานันทมหิดล ยกแก้วน้ำส้มคั้นมาเตรียมถวาย โดยนั่งรออยู่ที่หน้าห้องแต่งพระองค์
  • เวลาประมาณ 8 นาฬิกาเศษ ในหลวงอานันทมหิดลตื่นบรรทม เข้าห้องสรง ออกจากห้องสรงผ่านห้องแต่งพระองค์กลับไปยังห้องนอน บุศย์ยกน้ำส้มคั้นตามเข้าไปในห้องนอนเพื่อถวาย ในหลวงทรงโบกพระหัตถ์ไม่ต้องการ แล้วเสด็จขึ้นแท่นบรรทม บุศย์จึงวางน้ำส้มไว้ที่ธรณีประตู แล้วกลับมานั่งที่เดิม
  • เวลา 8.55 ชิต สิงหเสนี ขึ้นไปบนพระที่นั่ง เพื่อวัดขนาดดวงพระตราเพื่อเอาไปให้ช่างทำหีบดวงพระตรา ชิตกับบุศย์นั่งคอยอยู่หน้าห้องแต่งพระองค์
  • เวลา 9.00 น. พระพี่เลี้ยงเนื่อง จินตดุล ขึ้นไปบนพระที่นั่ง เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชชนนี แล้วไปจัดห้องและเก็บฟิล์มหนังในห้องพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช
  • เวลาประมาณ 9 นาฬิกาเศษ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชทรงเสวยพระกระยาหารเช้าพระองค์เดียว ณ มุขพระที่นั่งด้านหน้ามีมหาดเล็กรับใช้ 2 -3 คนเสด็จออกจากโต๊ะเสวยไปทางห้องพระบรรทมของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พบชิต สิงหเสนี, บุศย์ ปัทมศริน ที่หน้าห้องแต่งพระองค์ทรงถวายพระอาการของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล แล้วเสด็จกลับห้องของพระองค์
  • เวลาประมาณ 9.20 น. เสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด ภายในห้องพระบรรทมของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ชิตสะดุ้งอยู่มองหน้าบุศย์และคิดหาที่มาของเสียงปืนอยู่ประมาณ 2 นาที จึงเข้าไปในห้องพระบรรทม พบว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลบรรทมหลับอยู่เป็นปกติ แต่ปรากฏว่ามีพระโลหิตไหลเปื้อนพระศอและพระอังสะ (ไหล่) ด้านซ้าย ชิตจึงวิ่งไปที่ห้องบรรทมของสมเด็จพระราชชนนีแล้วกราบทูลว่า “ในหลวงยิงพระองค์”[4] สมเด็จพระราชชนนีตกพระทัย ทรงร้องขึ้นได้เพียงคำเดียวและรีบวิ่งไปที่ห้องพระบรรทมของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทันที นายชิต, คุณพระพี่เลี้ยงเนื่อง, สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ, และนางสาวจรูญ ได้วิ่งตามเสด็จสมเด็จพระราชชนนีไปติด ๆ

ขณะนั้นมีคนอยู่บริเวณพระที่นั่งชั้นบน 8 ด้วยกันคือ

  1. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (บรรทมอยู่ในห้องของพระองค์)
  2. ชิต สิงหเสนี (นั่งอยู่หน้าประตูห้องแต่งพระองค์)
  3. บุศย์ ปัทมศริน (นั่งอยู่หน้าประตูห้องแต่งพระองค์)
  4. ฉลาด เทียมงามสัจ (อยู่ห้องเสวยมุขพระที่นั่ง)
  5. จรูญ ตะละภัฎ (อยู่ในห้องสมเด็จพระบรมราชชนนี)
  6. คุณพระพี่เลี้ยงเนื่อง จินตดุลย์ (อยู่ในห้องสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดช)
  7. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (อยู่ในห้องเครื่องเล่น)

ขณะที่เสียงปืนดังขึ้น ชิต สิงหเสนี และบุศย์ ปัทมศริน นั่งอยู่ที่พื้นระเบียงหน้าพระทวารห้องแต่งพระองค์เป็นทางเดียวจะเข้าสู่ห้องพระบรรทมของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันมหิดล[5]

  • เมื่อไปถึงที่ห้องพระบรรทมนั้น ปรากฏว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตเสียแล้ว ในลักษณะของคนที่นอนหลับธรรมดา มีผ้าคลุมพระองค์ตั้งแต่ข้อพระบาทมาจนถึงพระอุระ ที่พระบรมศพมีบาดแผลกลางพระนลาฎ (หน้าผาก) บริเวณระหว่างพระขนง (คิ้ว) ข้างพระศพบริเวณข้อพระกรซ้ายมีปืนพกกองทัพบกสหรัฐ ผลิตโดยบริษัทโคลต์ ขนาดกระสุน 11 มม. ซึ่งนายฉันท์ หุ้มแพร มหาดเล็กเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย[6] วางอยู่ในลักษณะชิดข้อศอก ด้ามปืนหันออกจากตัว ปากกระบอกปืนชี้ไปที่ปลายพระแท่นบรรทม สมเด็จพระราชชนนีได้โถมพระองค์เข้ากอดพระบรมศพของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอต้องพยุงสมเด็จพระราชชนนีไปประทับที่พระเก้าอี้ปลายแท่นพระบรรทม
  • จากนั้นสมเด็จพระราชชนนีจึงมีรับสั่งให้ตามพันตรี นายแพทย์ หลวงนิตย์เวชชวิศิษฏ์ (นิตย์ เปาเวทย์) แพทย์ประจำพระองค์ มาตรวจพระอาการของในหลวง ส่วนพระพี่เลี้ยงเนื่องได้จับพระชีพจรของในหลวงที่ข้อพระหัตถ์ซ้าย พบว่าพระชีพจรเต้นอยู่เล็กน้อยแล้วหยุด พระวรกายยังอุ่นอยู่ จึงเอาผ้าคลุมพระองค์มาซับบริเวณปากแผล และปืนกระบอกที่คาดว่าเป็นเหตุทำให้ในหลวงสวรรคตไปให้บุศย์เก็บพระแสงปืนไว้ที่ลิ้นชักพระภูษา เหตุการณ์ช่วงนี้ได้ก่อปัญหาในการพิสูจน์หลักฐานในเวลาต่อมาเมื่อมีการจัดตั้ง “ศาลกลางเมือง” เพื่อสอบสวนกรณีสวรรคต
  • เวลาประมาณ 10.00 น. หลวงนิตย์เวชชวิศิษฏ์ได้มาถึงสถานที่เกิดเหตุและตรวจพระอาการของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พบว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จสวรรคตแล้ว โดยบริเวณปากแผลมีผ้าพันแผลพันอยู่ เมื่อแกะผ้าพันแผลออกไม่พบรอยเขม่าดินปืน นอกจากนี้พระบรมศพยังได้ถูกชำระในขั้นต้นไปแล้วตามคำสั่งของสมเด็จพระราชชนนี[7] โดยสมเด็จพระราชชนนีได้ให้เหตุผลว่า จะได้ไม่เป็นการลำบากในการเตรียมงานถวายน้ำสรงพระบรมศพในช่วงบ่าย
  • ในช่วงเวลาเดียวกัน พระยาเทวาธิราช (หม่อมราชวงศ์เทวาธิราช ป. มาลากุล) สมุหพระราชพิธีได้เดินทางไปที่ทำเนียบท่าช้าง ที่พักของปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งข่าวการสวรรคต (ขณะนั้นปรีดีประชุมกับหลวงเชวงศักดิ์สงคราม (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) พลตำรวจเอก พระรามอินทรา (ดวง จุลัยยานนท์) (อธิบดีกรมตำรวจ) และหลวงสัมฤทธิ์ สุขุมวาท (สัมฤทธิ์ สุขุมวาท) (ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล) เรื่องกรรมกรที่มักกะสันหยุดงานประท้วง)
  • ประมาณ 11.00 น. ปรีดีมาถึงพระที่นั่งบรมพิมาน และสั่งให้พระยาชาติเดชอุดม (หม่อมราชวงศ์โป๊ะ มาลากุล) อัญเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่และเชิญคณะรัฐมนตรี มาประชุมเกี่ยวกับเรื่องการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ที่ประชุมสรุปว่าให้ออกแถลงการณ์แจ้งให้ประชาชนทราบว่า การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเป็นอุบัติเหตุ แถลงการณ์ของกรมตำรวจที่ออกมาในวันนั้นก็มีเนื้อหาในลักษณะเดียวกัน
  • เวลา 21.00 น. รัฐบาลเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการด่วน เพื่อแจ้งให้สภาทราบเรื่องการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และสรรหาผู้สืบราชสมบัติ ที่ประชุมได้ลงมติถวายราชสมบัติให้แก่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นสืบราชสมบัติ เป็น "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช" จากนั้นปรีดีประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

10 มิถุนายน 2489

  • เจ้าหน้าที่และแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยได้เดินทางมาทำการฉีดยารักษาสภาพพระบรมศพ ระหว่างการทำความสะอาดพระบรมศพเพื่อเตรียมการฉีดยานั้น คณะแพทย์และเจ้าหน้าที่ได้พบบาดแผลที่พระปฤษฎางค์ (ท้ายทอย) ซึ่งเป็นบาดแผลที่ทะลุจากรูกระสุนปืนที่พระพักตร์บริเวณพระนลาฏ (หน้าผาก) ตรงระหว่างพระขนง (คิ้ว) ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ที่จริงแล้วในหลวงถูกลอบปลงพระชนม์ เนื่องจากบาดแผลที่พบใหม่ไม่ตรงกับคำแถลงการณ์ที่ออกมาในตอนแรก และเนื่องจากบาดแผลที่ท้ายทอยเล็กกว่าที่พระนลาฏ ซึ่งโดยปกติลักษณะบาดแผลรูเข้าจะมีขนาดเล็กกว่ารูออก จึงเกิดข่าวลือว่าอาจจะถูกยิงจากข้างหลัง ทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยว่ารัฐบาลมีส่วนในการปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล กรมตำรวจจึงออกแถลงการณ์เพิ่มเติมว่าได้ตั้งประเด็นการสวรรคตไว้ 3 ประเด็น คือ
  1. มีผู้ลอบปลงพระชนม์
  2. ทรงพระราชอัตวินิบาตกรรม (ปลงพระชนม์เอง)
  3. เป็นอุบัติเหตุ

11 มิถุนายน 2489

  • กรมตำรวจยังคงแถลงการณ์ยืนยันว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สวรรคตด้วยอุบัติเหตุ แต่ประชาชนยังคงมีความคลางแคลงใจต่อรัฐบาลอยู่เช่นเดิม ในวันนี้ทางกรมตำรวจได้นำปืนของกลางที่พบในวันสวรรคตไปให้กรมวิทยาศาสตร์ตรวจสอบ

18 มิถุนายน 2489

ประเด็นสวรรคตมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น โดยนายปรีดีเป็นผู้ต้องสงสัยในฐานะผู้บงการให้ลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ ๘ เพื่อให้ตนรอดพ้นจากข้อกล่าวหา นายปรีดีจึงสั่งให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้น ซึ่งถูกเรียกสั้น ๆ ว่า ศาลกลางเมือง เพื่อทำการสืบสวนกรณีสวรรคต[8]

การสอบสวนของศาลกลางเมือง

ช่วงแรก รัฐบาลในขณะนั้นไม่ได้มีความคิดชันสูตรพระบรมศพ และกรมขุนชัยนาทฯ เองก็ได้ห้ามปรามไว้[9] ต่อมารัฐบาลฯ ได้ออกประกาศในขณะนั้นสันนิษฐานว่าเป็นอุปัทวเหตุ (โดยพระองค์เอง)[10] และได้อัญเชิญสมเด็จพระอนุชาขึ้นสืบทอดราชบัลลังก์[11] ไม่กี่วันต่อมาฝ่ายปฏิปักษ์ของปรีดีฯ นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มนิยมเจ้าได้นำมาเป็นประเด็นทางการเมือง โดยกล่าวหาว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์ และมีปรีดีเป็นผู้บงการ เนื่องจากปรีดีเคยมีพฤติการณ์ในอดีตที่ทำให้มองว่าเป็นปรปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์[12] เพื่อสยบข่าวลือและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ปรีดีจึงประกาศจัดตั้งคณะกรรมการสืบสวนขึ้น[13] การชันสูตรพระบรมศพเริ่มวันที่ 26 มิถุนายน 2489[14]

สภาพพระบรมศพ

เมื่อตำรวจไปถึงได้มีการเคลื่อนย้ายและขยับพระบรมศพและวัตถุในที่เกิดเหตุไปจากเดิมแล้ว[15] ทำให้แพทย์ต้องอาศัยจากคำให้การบุคคลที่เข้าไปพบพระบรมศพกลุ่มแรกในการวิเคราะห์[16] ทั้งนี้ ในการสอบสวนของศาลกลางเมืองบันทึกว่า สมเด็จพระบรมราชชนนีมีรับสั่งให้แพทย์ทำความสะอาดศพโดยไม่ระบุเหตุผล ซึ่งมองได้ว่าเป็นสิ่งผิดปกติหรือพยายามปกปิดหลักฐาน[17]: 146 

สภาพพระบรมศพทรงบรรทมหงายพิงพระเขนย (หมอน) คล้ายคนนอนหลับอย่างปกติ มีผ้าคลุมตั้งแต่พระอุระ (อก) ตลอดจนถึงข้อพระบาท (ข้อเท้า) มีพระโลหิต (เลือด) ไหลโทรมพระพักตร์ (หน้า) ลงมาที่พระเขนยและผ้าลาดพระยี่ภู่ พระเศียร (ศีรษะ) ตะแคงไปทางด้านขวาเล็กน้อย บริเวณกึ่งกลางพระนลาฏ (หน้าผาก) ตรงตรงเหนือพระขนง (คิ้ว) ซ้าย มีแผลกระสุนปืน หนังฉีกเป็นแฉกคล้ายเครื่องหมายคูณกว้างยาวประมาณ 4 ซม. พระเนตร (ตา) ทั้งสองหลับสนิท ไม่ได้ฉลองพระเนตร (แว่นตา) พระเกศา (ผม) แสกเรียบอยู่ในรูปที่เคยทรง พระโอษฐ์ (ปาก) ปิด พระกร (แขน) ทั้งสองเหยียดทอดทับนอกผ้าคลุมพระองค์แนบพระวรกายตามปกติ พระหัตถ์ทั้งสองแบอยู่ในท่าธรรมดา พระบาททั้งสองเหยียดทอดชิดกันอยู่ห่างจากปลายพนักพระแท่นประมาณ 7 ซม. มีปืนของกลางขนาดลำกล้อง 11 มม. วางอยู่ข้างพระกรซ้าย ลำกล้องขนานและห่างพระกร 1 นิ้ว ปากกระบอกหันไปทางพระบาท ศูนย์ท้ายของปืนอยู่ตรงระดับข้อพระกร (ข้อศอก)

อ้างอิง: [18]

ผลการชันสูตรพระบรมศพ

การชันสูตรพระบรมศพเริ่มในวันที่ 26 มิถุนายน 2489 โดยมี นพ.สุด แสงวิเชียร และ นพ.สงกรานต์ นิยมเสน เป็นผู้ลงมือผ่าตัดพระบรมศพด้วยกัน และมี นพ.สงัด เปล่งวานิช เป็นผู้คอยจดบันทึกผล[19]

  • ผลตรวจสอบสารพิษ ไม่พบว่า ร.8 ได้รับสารพิษแต่อย่างใด[20]
  • วิถีกระสุนเข้าทางพระนลาฎ (หน้าผาก) บริเวณกลางหน้าผากเหนือพระขนง (คิ้ว) ซ้ายเล็กน้อย และ ทะลุออกทางพระปฤษฎางค์ (ท้ายทอย) โดยมีวิถีเฉียงจากบนลงล่าง และมีทิศทางเอียงจากซ้ายไปขวา[21]
  • บาดแผลที่พระนลาฎ เป็นรูปกากบาท หนังฉีกแยกเป็น 4 แฉก ทั้ง 4 แฉกจดกัน ศูนย์กลางของแผลกากบาทอยู่ที่บริเวณกลางหน้าผากเหนือคิ้วซ้ายประมาณ 1 เซนติเมตร[22]
  • ปากกระบอกปืนต้องกดชิดติดบริเวณบาดแผลเมื่อลั่นไก ไม่เช่นนั้นก็ห่างไม่เกิน 5 เซนติเมตร[23]
  • ไม่พบการหดเกร็งของศพ (Cadaveric Spasm) ในพระบรมศพ กล่าวคือเป็นอาการเกร็งค้างของกล้ามเนื้ออันเกิดจากสมองตายเฉียบพลัน (ในกรณีนี้คือถูกกระสุนปืน) เนื่องจากส่วนสมองของพระบรมศพถูกกระสุนทำลายฉับพลัน[24] ซึ่งอาจแสดงให้เห็นชัดเจนจากบริเวณ แขน ขา มือ นิ้วมือ เป็นต้น

ความเห็นแพทย์

หลังชันสูตรพระบรมศพ คณะแพทย์ได้ลงความเห็นว่า ลอบปลงพระชนม์ 16 เสียง ปลงพระชนม์เอง 4 เสียง อุบัติเหตุ 2 เสียง ทั้งนี้ คณะแพทย์ 20 คน เป็นแพทย์ไทย 16 คน แพทย์ต่างชาติ 4 คน (อเมริกัน 1 คน, แพทย์จากกองทัพบริติชและบริติชอินเดีย 3 คน)[25] และใน 16 คนแรกที่เพิ่งกล่าวถึง 8 คนบอกตัด “อุบัติเหตุ” ออกไปเลยว่าเป็นไปไม่ได้ (หนึ่งในนั้น นพ.ชุบ โชติกเสถียร ตัดการยิงพระองค์เองออกหมดคือ ตัด “ปลงพระชนม์เอง” ด้วย) ที่เหลือเกือบทุกคนใส่ “อุบัติเหตุ” ไว้หลังสุด (คือเรียงลำดับความเป็นไปได้ว่า “ถูกปลงพระชนม์, ปลงพระชนม์เอง หรือ อุบัติเหตุ”)[26] นอกจากนี้แพทย์บางคนที่ไม่เจาะจงตัดอุบัติเหตุทิ้ง ยังให้เหตุผลว่าแม้จะมีความเป็นไปได้ แต่ก็น้อยมากไม่ถึง 1 ในล้าน เช่น นพ.หลวงพิณพากย์พิทยาเพท และ นพ.ใช้ ยูนิพันธ์[27] โดยการนับของแพทย์ นับจากใครเห็นว่าเหตุใดมีน้ำหนักมากสุด ให้นับอย่างนั้นเป็น 1 อย่างอื่นไม่นับ[28]

พฤติการณ์แวดล้อม

แผนผังพระที่นั่งบรมพิมาน
ชั้นสอง
ชั้นล่าง

สถานที่เกิดเหตุคือในห้องบรรทมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) จากการสอบสวนพบว่า ไม่พบร่องรอยการปีนป่ายจากภายนอก และทางเข้าออกห้องบรรทมมีแค่ทางเดียวในขณะนั้น ด้านเหนือ ทางห้องทรงพระอักษร ถูกลงกลอนจากภายในตลอด ด้านตะวันตกติดกับห้องทรงพระสำราญ มีประตู 3 บาน แต่ถูกปิดตายทั้งหมด โดยลงกลอนจากฝั่งห้องบรรทม และฝั่งห้องทรงพระสำราญมีตู้โต๊ะเก้าอี้วางกั้นอยู่ เป็นอันว่า ด้านกลางนี้ไม่ได้ใช้เป็นทางเข้าออก คงเหลือแค่เพียงทางเดียว คือ ด้านใต้ ตรงส่วนห้องแต่งพระองค์ ซึ่งมีนายชิต นายบุศย์ นั่งเฝ้าอยู่ตลอดเวลา[29]

มีบันได 3 ทางที่เชื่อมชั้นล่างกับชั้น 2 คือ

  • บันไดเวียน ด้านตะวันตก ที่อยู่ระหว่างห้องสมเด็จพระราชชนนีและสมเด็จพระอนุชา แต่ถูกปิดตายไว้นานแล้วก่อนเกิดเหตุ[30] และทางเชื่อมห้องสมเด็จพระอนุชาและห้องเครื่องเล่นถูกปิดตาย แต่ประตูที่เหลือเปิดตลอดเวลา[31]
  • บันไดเล็ก ติดกับห้องเครื่องเล่นเชื่อมชั้น 1 กับชั้น 2 และห้องใต้หลังคา เปิดใช้ตอน 7 โมง และจะถูกปิดเมื่อหมดเวลาคือไม่มีแขก เมื่อเปิดใช้จะมียามเฝ้าอยู่ที่ชั้นล่าง[32]
  • บันไดใหญ่ เปิดตลอดเวลา เวลากลางคืนจะมียามเฝ้าชั้นบน วันที่เกิดเหตุ มียามเฝ้าอยู่ข้างล่างคนนึงคือนายพร หอมเนียม[33]

ขณะเกิดเหตุมีมหาดเล็กยืนยามอยู่ ดังที่เห็นในภาพคือ มุมหน้าพระที่นั่ง 2 คน ที่บันไดหลังข้างอ่างน้ำพุ 2 คน กับบันไดขึ้นชานชาลาสุดพระที่นั่งด้านตะวันตก 1 คน และมีชาวที่อยู่เวรที่บันไดระหว่างห้องภูษากับห้องเครื่องเล่นอีก[34]

  • ร.ท.ณรงค์ สายทอง เป็นผู้บังคับกองทหารมหาดเล็กที่รักษาพระที่นั่งบรมพิมาน ได้สอบถามทหารยามทั้ง (พลทหาร ขจร ยิ้มรักษา, พลทหาร บุญชู กัณหะ, พลทหาร รอย แจ้งเวหา, พลทหาร ร่อน กลิ่นผล, พลทหารเค้า ดีประสิทธิ์) ที่อยู่เฝ้าประตูพระที่นั่ง ได้ความว่าหลังเสียงปืน ไม่มีคนวิ่งออกมจากพระที่นั่งไปข้างนอกเลย[35]
  • พลทหารขจร ยิ้มรักษา เฝ้าอยู่ที่บันไดพระที่นั่งคู่กับพลทหารบุญชู ก่อนเสียงปืนไม่พบใครผ่านตนเองเข้าไปในพระที่นั่งสักคนเดียว เฝ้าอยู่จนได้ยินเสียงปืนแล้ว ก็ไม่พบว่ามีใครผ่านเข้าออก[36]
  • พลทหารบุญชู กัณหะ เฝ้าอยู่ที่บันไดพระที่นั่งคู่กับพลทหารขจร หลังเสียงปืนไม่เห็นมีใครผ่านขึ้นลง จนถึง 11.00 น. ก็ไม่พบเห็นผ่านเข้าออกเลย[37]
  • พลทหารลอย แจ้งเวหา เฝ้าอยู่ที่บันไดข้างซ้ายด้านหลังพระที่นั่งคู่กับพลทหารร่อนอยู่ทางด้านขวา หลังเสียงปืนมีมหาดเล็กเชิญเครื่องเสวย 2 คนผ่านขึ้นลงบันไดกลาง นอกนั้นไม่พบใครผ่าน และก่อนเสียงปืนไม่มีคนแปลกปลอมผ่านไปเลย[38]
  • พลทหารร่อน กลิ่นผล เฝ้าอยู่ทางบันไดหลังคู่กับพลทหารลอย หลังเสียงปืนเห็นมีคนเชิญเครื่องเสวย 2 คนผ่านขึ้นลงบันไดกลาง นอกจากนี้ไม่พบเห็นใครผ่านขึ้นลง[39]
  • พลทหารเค้า ดีประสิทธิ์ เฝ้าอยู่บันไดด้านตะวันตก มีประตูอยู่แต่ถูกปิดตายไว้ และก่อนถึงหลังเสียงปืน ไม่พบเห็นใครผ่านทางประตูที่ตนเฝ้าอยู่เลย[40]
  • นายพร หอมเนียม เฝ้าอยู่บันไดอัฒจันทร์ใหญ่ หลังเสียงปืนเห็นนายมณี บูรณสุตและนายมังกร ภมรบุตรขึ้น ๆ ลง ๆ นอกจากนี้ไม่พบเห็นมีใครแปลกปลอม[41]

โดยพระแท่นบรรทมจะมีพระวิสูตร (มุ้ง) คลุมรอบด้าน และมีเหล็กทับกดอยู่ การเข้าออกต้องแหวกพระวิสูตรเข้าไป และพระวิสูตรไม่มีรอยทะลุ หัวกระสุนพุ่งลงทะลุผ่านพระเศียร และพระเขนย (หมอน) ไปฝังในฟูกที่นอนข้างใต้[42]

บทบาทของปรีดี พนมยงค์

ส. ศิวรักษ์เขียนว่า ปรีดี พนมยงค์มีบทบาทช่วยปกป้องเชื้อพระวงศ์ที่กระทำผิดในเหตุการณ์ และไม่ได้บอกให้อธิบดีตำรวจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยชันสูตรพระบรมศพแต่แรก และจับกุมผู้ทำลายหลักฐานเพื่อปิดบังพิรุธ[1]: 5–6  รัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์เองก็ตัดสินใจไม่ประกาศผลการสอบสวนออกไปเพราะจะทำให้เกิดการเปลี่ยนพระองค์พระมหากษัตริย์[43]: 57  จอมพล ผิน ชุณหะวัณ แกนนำรัฐประหารปี 2490 อ้างว่า สาเหตุหนึ่งที่ต้องก่อการเพราะปรีดีเตรียมประกาศชื่อผู้ลอบปลงพระชนม์ และตั้งสาธารณรัฐ[43]: 65 

การถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บงการปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเป็นจุดด่างพร้อยในชีวประวัติของปรีดี และศัตรูเขานำมาใช้โจมตีแม้หลังสิ้นชีวิตไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในคดีหมิ่นประมาทที่ปรีดีเป็นโจทก์ฟ้องนั้น ศาลยุติธรรมให้เขาชนะทุกคดี[44][a]

การสอบสวนใหม่และการดำเนินคดี

คดีระหว่างพนักงานอัยการ โจทก์ กับเฉลียว ปทุมรส ที่ 1 ชิต สิงหเสนี ที่ 2 และบุศย์ ปัทมศริน ที่ 3 จำเลย
(คดีสวรรคต ร.8)
สาระแห่งคดี
คำฟ้อง บังอาจสมคบกันกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์พระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ 8
คำขอ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 98, 154, 63, 64, 70 และ 71
คู่ความ
โจทก์ พนักงานอัยการ
จำเลย
ศาล
ศาล ศาลฎีกา
ผู้พิพากษา
  • พระยาเลขวณิชธรรมวิทักษ์มนูญประจักษ์ภักดีสภา (เหยียน เลขะวนิช)
  • พระยาธรรมบัณฑิตสิทธิศฤงคาร (บุญจ๋วน บุณยะปานะ)
  • พระดุลยพากย์สุวมัณฑ์ (ปิ่ณฑ์ ปัทมสถาน)
  • พระศิลปสิทธิวินิจฉัย (มารค อุณหะนันทน์)
  • พระนาถปริญญา (นิ่ม กัลล์ประวิทธ์)
คำพิพากษา
คำพิพากษา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1544/2497
พิพากษา
" ประหารชีวิต "
ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2497
กฎหมาย กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 97

ภายหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 รัฐบาลใหม่ซึ่งมีควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการสอบสวนชุดใหม่โดยมีพลตำรวจตรี พระพินิจชนคดี (พินิจ อินทรทูต) เป็นประธาน ซึ่งเขาเป็นพี่เขยของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช และหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ มีการจับกุมเฉลียว ปทุมรส, ชิต สิงหเสนี และบุศย์ ปัทมศริน ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2490 หรือ 12 วันหลังรัฐประหาร ทั้งนี้ พระยาพินิจคดีไม่สามารถหาพยานหลักฐานได้ทันระยะเวลา 90 วันตามที่กฎหมายกำหนด รัฐบาลก็เสนอกฎหมายให้ขยายระยะเวลาสอบสวนผู้ต้องหาคดีสวรรคตได้กรณีพิเศษในเดือนมกราคม 2491 รวมไม่เกิน 180 วัน

ศาลชั้นต้น

  1. กรณีที่ 1 การกระทำโดยพระองค์เอง โดยตั้งใจ (ฆ่าตัวตาย) ศาลเห็นว่าเป็นไปไม่ได้[45]
  2. กรณีที่ 2 การกระทำโดยพระองค์เอง โดยไม่ตั้งใจ (อุบัติเหตุ เช่น ปืนลั่น) ศาลเห็นว่าเป็นไปไม่ได้[46]
  3. กรณีที่ 3 การกระทำโดยผู้อื่น โดยตั้งใจ (ลอบปลงพระชนม์) ศาลมั่นใจว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์[47]
  4. กรณีที่ 4 การกระทำโดยผู้อื่น โดยไม่ตั้งใจ (อุบัติเหตุ เช่น ปืนลั่น) ศาลเห็นว่าเป็นไปไม่ได้[48]

ศาลชั้นอุทธรณ์

  1. กรณีที่ 1 การกระทำโดยพระองค์เอง โดยตั้งใจ (ฆ่าตัวตาย) ศาลเห็นว่าเป็นไปไม่ได้[49]
  2. กรณีที่ 2 การกระทำโดยพระองค์เอง โดยไม่ตั้งใจ (อุบัติเหตุ เช่น ปืนลั่น) ศาลเห็นว่าเป็นไปไม่ได้[50]
  3. กรณีที่ 3 การกระทำโดยผู้อื่น โดยตั้งใจ (ลอบปลงพระชนม์) ศาลเห็นว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์[51]
  4. กรณีที่ 4 การกระทำโดยผู้อื่น โดยไม่ตั้งใจ (อุบัติเหตุ เช่น ปืนลั่น) ศาลเห็นว่าให้ตัดข้อนี้ทิ้งโดยไม่มีทางที่จะโต้แย้งได้[52]

ศาลชั้นฎีกา

  1. กรณีที่ 1 การกระทำโดยพระองค์เอง โดยตั้งใจ (ฆ่าตัวตาย) ศาลเห็นว่ามิใช่การกระทำโดยพระองค์เอง[53]
  2. กรณีที่ 2 การกระทำโดยพระองค์เอง โดยไม่ตั้งใจ (อุบัติเหตุ เช่น ปืนลั่น) ศาลเห็นว่ามิใช่การกระทำโดยพระองค์เอง[54]
  3. กรณีที่ 3 การกระทำโดยผู้อื่น โดยตั้งใจ (ลอบปลงพระชนม์) ศาลเห็นว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์[55]
  4. กรณีที่ 4 การกระทำโดยผู้อื่น โดยไม่ตั้งใจ (อุบัติเหตุ เช่น ปืนลั่น) ศาลฎีกาไม่ได้กล่าวถึงข้อนี้[56]

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่อง การสวรรคตเพราะอุบัติเหตุโดยการกระทำของผู้อื่น ในข้อสรุปรายงานของคณะกรรมการสอบสวนพฤติการณ์สวรรคต ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2489 ก็ได้สรุปไปในทำนองเดียวกับศาล คือ "อุบัติเหตุเกิดจากการกระทำของผู้อื่นนั้นไม่มีเค้ามูลอันจำต้องพิจารณาถึง"[57]

ในปี 2498 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามพยายามฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยกฎีกา รัฐบาลยังพยายามรื้อฟื้นการพิจารณาคดีจำเลยทั้งสามใหม่ด้วย แต่ไม่ทันถูกรัฐประหารเสียก่อน

ความเห็นแย้งศาลอุทธรณ์

หลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ทำความเห็นแย้งไว้ในชั้นศาลอุทธรณ์ว่า คดีนี้ควรพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสาม[58] นอกจากนี้ หลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ยังให้ความเห็นว่าอาจเป็นอุบัติเหตุโดยพระองค์เอง ดังที่กล่าวไว้ในในเอกสารความเห็นแย้ง[59] และกล่าวย้ำอีกครั้งในบทสัมภาษณ์ในอีกหลายปีให้หลัง[60]

ผลกระทบ

ลำดับเหตุการณ์

  • วันที่ 9 มิถุนายน 2489 เวลาประมาณ 9.30 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สวรรคตด้วยพระแสงปืน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน เวลาต่อมา สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ว่าเป็น อุบัติเหตุโดยพระองค์[61] รัฐบาลประกาศให้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์[62]
  • วันที่ 10 มิถุนายน 2489 ระหว่างการทำความสะอาดพระบรมศพ ได้พบบาดแผลที่พระปฤษฎางค์ (ท้ายทอย) ซึ่งเป็นบาดแผลที่พบใหม่ไม่ตรงกับคำแถลงการณ์ที่ออกมาในตอนแรก[63]
  • ระหว่างช่วงเวลานี้ กลุ่มนิยมเจ้าและพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงหลักฐานความเชื่อมโยงของนายกฯ ปรีดี ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังการลอบปลงพระชนม์[64]
  • วันที่ 18 มิถุนายน 2489 รัฐบาลปรีดีประกาศตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีสวรรคต[65]
  • วันที่ 21 มิถุนายน 2489 เริ่มทำการชันสูตรพระบรมศพ
  • วันที่ 19 สิงหาคม 2489 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ กรุงโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
  • วันที่ 23 สิงหาคม 2489 นายปรีดี ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีสวรรคต พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมา และทำการสืบคดีต่อไป
  • วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เกิดการรัฐประหาร 2490 โดยกลุ่มทหารนอกราชการที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยเหตุผลด้านการทุจริตของรัฐบาล และ ปัญหาเรื่องกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 นายปรีดีและพลเรือตรี ถวัลย์ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ
  • วันที่ 10 พฤศจิกายน 2490 พันตรี ควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกต่อจากพลเรือตรีถวัยย์ และดำเนินการสืบสวนคดีสวรรคตต่อ
  • วันที่ 15 พฤศจิกายน 2490 ตำรวจทำการจับกุมการจับคุมตัว นายชิต นายบุศย์ และ นายเฉลียว และได้ออกหมายจับนายปรีดี และเรือเอกวัชรชัย ในฐานะผู้ต้องหาร่วมกันลอบปลงพระชนม์ในหลวง ร.8[66]
  • วันที่ 8 ธันวาคม 2490 แต่งตั้งพ.ต.ท.หลวงแผ้วพาลชน เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน ต่อมาเปลี่ยนตัวหัวหน้าฝ่ายสืบสวนเป็นพระพินิจชนคดี พี่เขยของม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งออกจากราชการไปแล้วให้กลับเข้ามาเข้ามาทำงาน[67]
  • วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกแทนพันตรี ควง อภัยวงศ์ ตามมติคณะรัฐประหาร
  • วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 นายปรีดี พยายามกลับไทยโดยก่อ กบฏวังหลวง ขึ้น โดยการรุกเข้ายึดครองพื้นที่พระบรมมหาราชวัง แต่ไม่ประสบความสำเร็จจึงต้องหลบหนีออกนอกประเทศ และไม่กลับประเทศไทยอีกเลยตลอดชีวิต
  • วันที่ 5 มีนาคม​ 2493 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จกลับมาประเทศไทย เพื่อ ประกอบพระราชพิธีถวายเพลิงพระบรมศพ, พระราชพิธีอภิเษกสมรส, และบรมราชาภิเษกแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์
  • วันที่ 27 กันยายน 2494 ศาลชั้นต้นมีมติให้ประหารนายชิต ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน-ต้นธันวาคม 2494 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จกลับประเทศไทยเป็นการถาวร ระหว่างนั้นจอมพล ป. พิบูลสงครามทำรัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 ขณะในหลวงทรงอยู่ในเรือที่กำลังเข้ามาในน่านน้ำไทย และเสด็จถึงเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2494
  • วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2498 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบให้ เรื่องโปรดเกล้าฯ ให้ยกฎีกานี้ (ขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ ชิต บุศย์ เฉลียว) ตามที่ราชเลขาธิการแจ้งมาว่า ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว โปรดเกล้าฯให้ยกฎีกานี้และมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้เตรียมการประหารนักโทษทั้ง 3
  • วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2498 เวลาตี 2 หัวหน้ากองธุรการเรือนจำอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้นักโทษทั้งสามฟัง และแจ้งว่า “บัดนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฎีกาของจำเลยทั้งสามแล้ว โดยพระองค์ได้ทรงขอให้คดีดำเนินไปตามตัวบทกฎหมาย ดังที่ศาลสถิตย์ยุติธรรมชั้นสูงได้ตัดสินไปแล้ว" และประหารชีวิต นาย เฉลียว ด้วยปืนกล 20 นาทีต่อมาได้นำตัว นายชิต ไปประหาร ถัดมาอีก 20 นาที จึงนำตัวนายบุศย์ ไปประหาร[ต้องการอ้างอิง]

การสืบราชสมบัติ

  • พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช สืบราชสมบัติเป็น "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช"

ลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ในเวลานั้น ได้แก่

  1. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช
  2. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร
  3. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล
  • คดีนี้ได้กลายเป็นข้ออ้างสำคัญประการหนึ่งของรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เนื่องจากรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรีคนถัดจากปรีดี) ไม่สามารถสะสางกรณีสวรรคตได้ อนึ่ง กรณีสวรรคตยังส่งผลให้กลุ่มการเมืองสายปรีดีต้องพลอยหมดบทบาทจากการเมืองไทยภายหลังรัฐประหารครั้งนี้ด้วย

ผลกระทบทางการเมือง

ทฤษฎีและความเชื่อ

ปัจจุบันเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับรัชกาลที่ 8 มักจะเขียนสาเหตุของการสวรรคตไว้แต่เพียงสั้น ๆ ทำนองว่า "เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง" หลายฉบับอาจระบุสาเหตุเพิ่มเติมด้วย ทำนองว่า "เป็นเพราะพระแสงปืนลั่นระหว่างทรงทำความสะอาดพระแสงปืน" เข้าใจว่าเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการโต้เถียงกรณีสวรรคต

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกรณีสวรรคตนี้แม้ถึงที่สุดโดยคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว ก็ยังไม่มีคำอธิบายที่กระจ่างชัดเจน จึงทำให้เกิดทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ ซึ่งพยายามจะอธิบายกรณีที่เกิดขึ้น โดยประเด็นหลักก็คือกรณีสวรรคตนี้ เป็นการปลงพระชนม์โดยบุคคลอื่น หรือรัชกาลที่ 8 ทรงกระทำการอัตวินิบาตกรรมปลงพระชนม์ตัวพระองค์เอง

สำหรับทฤษฎีที่อยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์ ก็จะต้องอธิบายประเด็นสำคัญให้ได้คือ ใครอยู่เบื้องหลังกรณีสวรรคต และประเด็นที่เกี่ยวข้องคือ จำเลยที่ถูกศาลฎีกาตัดสินว่ากระทำความผิดนั้น แท้จริงเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่

ใครเป็นผู้ปลงพระชนม์

"ความจริงนั้น ผู้ที่ปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ ๘ ไม่ใช่ปรีดี พนมยงค์ คน ๆ นั้นก็ยังมีชีวิตอยู่ แม้จะไม่ได้ตั้งใจปลงพระชนม์ก็ตาม"
—สุลักษณ์ ศิวรักษ์, 2558[68]

คำถามว่าใครเป็นผู้ปลงพระชนม์นั้นดูเหมือนจะมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ปรีดีและถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์พยายามปกปิดผลการสอบสวน แต่ถวัลย์เคยกล่าวกับเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เอ็ดวิน เอฟ. สแตนตัน ว่า หลักฐานที่รวบรวมได้ระหว่างการสอบสวนนั้นบ่งชี้ไปที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช[69]

หลังรัฐประหารปี 2490 กลุ่มนิยมเจ้าเองยังต้องการหาประโยชน์จากกรณีดังกล่าวด้วย คือ ควง อภัยวงศ์, หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชและหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชเองก็คิดประกาศผลการสอบสวนเพื่อกำหนดทิศทางการเมืองในราชสำนักไทย ด้วยแผนยกพระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิตเป็นพระมหากษัตริย์แทนราชสกุลมหิดล[43]: 74 

เดือนมิถุนายน 2499 สง่า เนื่องนิยมพูดไฮปาร์คที่สนามหลวง[70] มีคนตะโกนถามดาราที่แสดงอยู่ว่า ใครฆ่าในหลวงรัชกาลที่ 8 แล้วดาราผู้นั้นไม่ตอบ แต่ใช้มือปิดตาข้างหนึ่งบอกใบ้แทน ต่อมาดาราผู้นั้นถูกจับกุม และพลตำรวจเอกเผ่าหนุนจนมีข่าวในหนังสือพิมพ์[1]: 62–3  เดือนพฤษภาคม 2500 ทูตสหราชอาณาจักรประจำสิงคโปร์ รายงานกลับประเทศว่า ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ The Observer ว่า "หากนักข่าวต้องการรู้ความจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตควรไปถามพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลปัจจุบัน [พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช]"[71]

ในหนังสือ The Revolutionary King: The True–Life Sequel to The King and I (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2543) ซึ่งเป็นหนังสือที่เขียนถึงพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมวงศานุวงศ์ เขียนโดย วิลเลี่ยม สตีเฟนสัน ซึ่งเป็นแขกที่ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในช่วงระยะหนึ่ง ได้เขียนไว้ว่า สายลับญี่ปุ่น ชื่อ ซึจิ มาซาโนบุ (Tsuji Masanobu) ซึ่งหลบซ่อนตัวอยู่ในประเทศไทยหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง น่าจะเกี่ยวข้องกับการลอบปลงพระชนม์ แต่ปัจจุบันมีหลักฐานที่ไม่สามารถโต้แย้งได้เลยว่า นายมาซาโนบุ ซุจิ ผู้นี้ไม่ได้อยู่ใกล้กับกรุงเทพเลย[72][ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ] ในขณะที่ในหลวงอานันทมหิดลได้ถูกปลงพระชนม์ ข้อสันนิษฐานนี้จึงตกไป

จำเลยทั้งสามเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่

ข้อสังเกตคือ ระหว่างที่การสืบสวนโดยรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์กำลังคืบหน้านั้น คณะทหารสาย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ก่อรัฐประหาร พ.ศ. 2490 และแต่งตั้งให้ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้ง พล.ต.ต. พระพินิจชนคดี (พินิจ อินทรทูต) (พี่เขยของหม่อมราชวงศ์เสนีย์และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช พรรคประชาธิปัตย์) อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาลซึ่งออกจากราชการไปแล้ว ให้กลับเข้ารับราชการ เพื่อทำหน้าที่สืบสวนกรณีสวรรคตเสียใหม่ นำไปสู่การจับกุมจำเลยทั้งสามในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เพียง 12 วันหลังรัฐประหาร และหลังจากการจับกุมนั้น พระพินิจชนคดีก็ยังไม่สามารถหาพยานหลักฐานได้ทันในระยะเวลาสอบสวนตามที่กฎหมายกำหนดคือ 90 วัน รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่มีจึงได้เสนอกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 23 มกราคม พ.ศ. 2491 ขยายกำหนดเวลาขังผู้ต้องหาในกรณีสวรรคตได้เป็นพิเศษ ให้ศาลอนุญาตให้ขังผู้ต้องหาได้หลายครั้ง รวมเวลาไม่เกิน 180 วัน[73]

แม้สังคมบางส่วนจะว่าปรีดีไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต แต่กรณีคดีของจำเลยทั้งสามที่ถูกประหารชีวิตไปก็ไม่เคยถูกรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาใหม่เลย ทั้งในกระบวนการยุติธรรมหรือการศึกษาหาความจริงใหม่ ทั้งที่ข้อกล่าวหาของจำเลยทั้งสามและปรีดีนั้น มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด (ข้อกล่าวหาคือ "ปรีดีเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของจำเลยทั้งสาม")[74] และมีหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่าอย่างน้อยหนึ่งในสามจำเลยน่าจะเป็นผู้บริสุทธิ์[73]

ทรงทำอัตวินิบาตกรรมหรือไม่

ทฤษฎีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงทำอัตวินิบาตกรรมนี้อธิบายประเด็นความขัดแย้งในราชสำนัก และมูลเหตุที่ทำให้ทรงตัดสินใจเช่นนั้น มีเอกสารสำคัญเสนออยู่คือ The Devil’s Discus: An Enquiry Into the Death of Ananda, King of Siam โดย เรนย์ ครูเกอร์ พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2507 หนังสือเล่มนี้มีการแปลเป็นภาษาไทยใช้ชื่อว่า กงจักรปีศาจ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส.ศิวรักษ์) เคยเขียนวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ลงใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ว่าหนังสือเล่มนี้ให้ข้อมูลที่ผิดพลาด รวมถึงวิจารณ์ปรีดีและผู้เขียนหนังสือไปพร้อมกันด้วย เนื่องจากสุลักษณ์ยังเชื่อว่าปรีดีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลงพระชนม์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปในภายหลัง สุลักษณ์สารภาพว่า เขียนวิจารณ์ในครั้งนั้นเป็นเพราะเขาหลงเชื่อในคำโฆษณาชวนเชื่อ และต่อมาเขาจึงไถ่บาปด้วยการเขียนหนังสือเกี่ยวกับปรีดี และต่อมามีการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Powers That Be: Pridi Banomyong through the Rise and Fall of Thai Democracy[75][74]

ระเบียงภาพ

เชิงอรรถ

  1. โปรดดู:
    • ดคีดำหมายเลขที่ ๗๒๓๖/๒๕๑๓
    • คดีหมายเลขดำที่ ๑๑๓/๒๕๑๔
    • คดีหมายเลขดำ ที่ ๔๒๒๖/๒๕๒๑

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 ส. ศิวรักษ์, เรื่องปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส.ศิวรักษ์ เก็บถาวร 2021-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2540
  2. 2.0 2.1 เจวจินดา, มรกต. ภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์ กับการเมืองไทย พ.ศ. 2475–2526 (PDF). กรุงเทพฯ: โครงการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญของไทย ที่มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ : คณะอนุกรรมการฝ่ายนิทรรศการ คณะกรรมการจัดงานฉลอง 100 ปี รัฐบุรุษอาวุโส ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ พ.ศ. 2543, 2543. ISBN 9745727938. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-10-27. สืบค้นเมื่อ 2020-06-20.
  3. สรรใจ แสงวิเชียร และ วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย. กรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489 และ คดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ร.8 หน้า 17 หน้า 7–20
  4. หนังสือ คดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ร.๘ หน้า 116-117 โดยบุญ่รวม เทียมจันทร์ อ้างอิงคำให้การนายชิต
  5. บุญร่วม เทียมจันทร์. คดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.8. หน้า 20[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
  6. อ้างอิงหนังสือ คดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.๘ ฉบับบสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 หน้า 51 101 148 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์
  7. ดูหนังสือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ร.8 ฉบับสมบูรณ์ หน้า 130-131 อ้างอิงคำให้การสมเด็จพระราชชนนี เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2493 ณ สถาณเอกอัครราชทูตไทย ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยสุพจน์ ด่านตระกูล
  8. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต(ฉบับสมบูรณ์) หน้า 43-46 โดยสุพจน์ ด่านตระกูล
  9. * http://matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1286090533&grpid=01&catid= เก็บถาวร 2016-03-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน อ้างอิงคำให้การหมอนิตย์ โดยดอม ด่านตระกูล
  10. หนังสือของเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ฉบับสมบูรณ์ โดยสุพจน์ ด่านตระกูล หน้า 26 อ้างอิงจากประกาศสำนักพระราชวัง ดู พระราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ หน้า1 ตอนที่ 39 เล่ม 63
  11. หนังสือ รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (๒๔๗๕-๒๕๑๗) หน้า 534-535 ของนายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ อ้างอิงรายงานการประชุมรัฐสภา
    • หนังสือ ขอเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ฉบับสมบูรณ์ หน้า 25-26 และ 44-45
    • http://somsakwork.blogspot.com.au/2007/11/blog-post_15.html ราชนิกูลชั้นสูงบางคน (ระดับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ หรือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ) ได้ไปพบทูตอังกฤษประจำไทย ปล่อยข่าวว่าในหลวงอานันท์ถูกลอบปลงพระชนม์อย่างแน่นอน อ้างอิงจาก หนังสือคำพิพากษาใหม่กรณีสวรรคต ร.8, 2523, หน้า 199-201
    • มีคนไปตะโกนว่า ปรีดีฆ่าในหลวง ต่อมาถูกจับได้และได้ซักทอดไปยัง สส.พรรคประชาธิปัตย์ ดู หน้า 10 บทความ-การ์ตูน, เลียง ไชยกาล: เจ้าของกระทู้ล้มรัฐบาล (2). "ส่วนร่วมสังคมไทย" โดย นรนิติ เศรษฐบุตร. เดลินิวส์ฉบับที่ 24,235: วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 3 ปีมะแม
    • บทสัมภาษณ์ในรายการ ตอบโจทย์ฯ-สถาบันพระมหากษัตริย์ วันที่ 14 มีนาคม 2013 ตั้งแต่นาทีที่ 10.04-10.35 ดู https://www.youtube.com/watch?v=BKeEALhJ-o0
    • คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 207/2489 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2489
    • จอมพลประภาสกล่าวว่ามีการล่อยข่าว จากบทสัมภาษณ์จอมพลประภาส ดูหนังสือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ฉบับสมบูรณ์ หน้า 346 โดยสุพจน์ ด่านตระกูล
    • ดูหนังสือ คำตัดสินใหม่กรณีสวรรคต ร.๘ โดยคำพิพากษาศาลแพ่ง ตีพิมพ์ 14 มิถุนายน 2522 โดย โครงการฉลอง 100 ปี ชาตกาล หน้าที่ 29-30 และหน้า 31-32 ที่กล่าวถึงว่ามีการโทรศัพท์ไปปล่อยข่าวลือให้ร้ายรัฐบาลปรีดี
  12. หนังงสือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ฉบับสมบูรณ์ หน้า 45-46 โดยสุพจน์ ด่านตระกูล อ้างอิง ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 24 ตอนที่ 45 วันที่ 25 มิถุนายน 2489
    • หนังสือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ฉบับสมบูรณ์ หน้า 60 โดยสุพจน์ ด่านตระกูล อ้างอิง คำให้การนายแพทย์นิตย์ฯ ต่อศาลสถิตยุติธรรม เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2492
    • หนังสือ เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต หน้า 125 โดย นพ.สุด แสงวิเชียร
  13. คำให้การบุคคลกลุ่มแรกใน * หนังสือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ฉบับสมบูรณ์ หน้า 125-129 และหน้า 222-223 โดยสุพจน์ ด่านตระกูล
    • หน้งสือ คดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ร.๘ ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 หน้า 69 และ 108-109 โดย บุญร่วม เทียมจันทร์
  14. บุญร่วม เทียมจัน, คดีประวัติศาสตร์ ลอบปลงพระชนม์ ร.๘ ฉบับสมบูรณ์, พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551, อ้างอิงคำให้การของ นายชิต นส.จรูญ พระพี่เลี้ยงเนื่อง พระอนุชา
  15. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ มรกด
  16. อ้างอิงจาก
    • ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต หน้า 9-10
    • สุพจน์ ด่านตระกูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (ฉบับสมบูรณ์) หน้า 50-51
    • บุญร่วม เทียมจันทร์, คดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ร.๘ ฉบับสมบูรณ์, พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551, หน้า 374
    • สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. "ตรงส่วนลักษณะพระบรมศพ"
  17. หน้า 372-373 หนังสือ คดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.8 ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์ อ้างอิงจาก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์
  18. หนังสือ บันทึกการสอบสวรกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ โดยคณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปีชาตกาลปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษยอาวุโส หน้า 270-272 หนังสืออ้างอิงคำให้การ นพ.อวย เกตุสิงห์ ให้การต่อศาลกลางเมือง และหน้า 67 ใบรับรองผลการตรวจสอบหาสารพิษ โดย กัปตัน ไอ.เอม.เอส ปาโถโลยีส อ้างอิงจาก ข่าวโฆษณาการ ฉบับพิเศษ 5, วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2489
    • หนังสือ เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต บันทึกของ นพ.สุด แสงวิเชียง ยืนยันว่าไม่พบสารพิษแต่อย่างใด
    • หน้า 375 หนังสือ คดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.8 ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์ อ้างอิงจาก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์
  19. หนังสือ เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต หน้า 9-10 บันทึกของนพ.สุด แสงวิเชียง https://issuu.com/angkut/docs/____________________________________b0fd570cdb522f
    • หนังสือ บันทึกการสอบสวรกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ โดยคณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปีชาตกาลปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส หน้า 324 อ้างอิงเอกสารลงนามโดย พลตำรวจโทพระรามอินทรา
    • หนังสือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ร.8 ฉบับสมบูรณ์ หน้า 50-51 อ้างอิงคำให้การ นพ.นิตย์ เมื่อ 15 มกราคม 2492 โดย สุพจน์ ด่านตระกูล
    • หน้า 374 และ 403 หนังสือ คดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.8 ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์ อ้างอิงจาก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์
  20. หน้า 372-373 หนังสือ คดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.8 ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์ อ้างอิงจาก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์
  21. http://somsakwork.blogspot.com.au/2007/11/2.html ลักษณะพระบรมศพ
    • หน้า 376 และ 378 หนังสือ คดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.8 ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์ อ้างอิงจาก ความเห็นคณะแพทย์ ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
  22. หนังสือคดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.๘ ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 หน้า 59 60 226 228 400 433 444 620 อ้างอิงคำพิพากษาศาล ชั้นต้น, อุทธรณ์, ฎีกา โดย บุญร่วม เทียมจันทร์
  23. ดูหนังสือคดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.๘ ฉบับสมบูรณ์หน้า พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 59-60 โดยบุญ่รวม เทียมจันทร์
  24. * http://somsakwork.blogspot.com.au/2007/11/2.html ปริศนากรณีสวรรคต ตอนที่ 2 โดยดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
    • แถลงการณ์กรมตำรวจเรื่องรายงานของแพทย์เกี่ยวกับพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ตีพิมพ์ใน สรรใจและวิมลพรรณ, กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙, หน้า ๔๔-๔๙ และ บันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘, หน้า ๕๗-๖๕
  25. หน้า 208 และ 226 หนังสือ บันทึกการสอบสวรกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ โดยคณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปีชาตกาลปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษยอาวุโส
  26. หนังสือ บันทึกการสอบสวรกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ โดยคณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปีชาตกาลปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษยอาวุโส หน้า 184 อ้างอิงคำให้การ นพ.ม.ล.เกษตร สนิทวงศ์
  27. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต(ฉบับสมบูรณ์) หน้า 148-149 โดยสุพจน์ ด่านตระกูล อ้างอิงมาจาก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1544/2497
  28. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต(ฉบับสมบูรณ์) หน้า 162-163 คำให้การพระพี่เลี้ยงเนื่อง
  29. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต(ฉบับสมบูรณ์) หน้า 158 คำให้การของ นายเวศน์ สุนทรรัตน์ มหาดเล็กห้องพระบรรทมในหลวงองค์ปัจจุบัน
  30. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต(ฉบับสมบูรณ์) หน้า 163 คำให้การพระพี่เลี้ยงเนื่อง
  31. * ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (ฉบับสมบูรณ์) หน้า 388 อ้างอิงความเห็นแย้งหลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์
    • หนังสือ คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.๘
  32. คดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.๘ คำพิพากษาฉบับสมบูรณ์ที่สุด พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์ หน้า 477-478 อ้างอิงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และหน้า 580 อ้างบันทึกความเห็นแย้งของหลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์
  33. หนังสือบันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ หน้า 442-443 อ้างอิง คำให้การ ร.ท.ณรงค์ สายทอง
  34. หนังสือบันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ หน้า 451 อ้างอิง คำให้การ พลทหารขจร ยิ้มรักษา
  35. หนังสือบันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ หน้า 453 อ้างอิง คำให้การ พลทหารบุญชู กัณหะ
  36. หนังสือบันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่๘ หน้า 454-454 อ้างอิง คำให้การ พลทหารลอย แจ้งเวหา
  37. หนังสือบันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ หน้า 456-457 อ้างอิง คำให้การ พลทหารร่อน กลิ่นผล
  38. หนังสือบันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ หน้า 457 อ้างอิง คำให้การ พลทหารเค้า ดีประสิทธิ์
  39. หนังสือคดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.๘ ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 หน้า 581 ของบุญร่วม เทียมจันทร์ อ้างอิงจากความเห็นแย้งของหลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์
  40. * กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙, หน้า 133-134
    • คดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.๘ (ฉบับสมบูรณ์) พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 หน้า 190 219 334 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์
    • ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (ฉบับสมบูรณ์) โดยสุพจน์ ด่านตระกูล
    • http://somsakwork.blogspot.com.au/2007/11/2.html, ปริศนากรณีสวรรคต ตอนที่ 2
  41. 43.0 43.1 43.2 ใจจริง, ณัฐพล. การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) (PDF) (ร.ด.). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 2021-04-14.[ลิงก์เสีย]
  42. สัจจา วาที, ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เปิดเผยต่อศาล ปรีดี พนมยงค์ คือผู้บริสุทธิ์ เก็บถาวร 2021-07-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม
  43. หน้า 231-232 หนังสือคดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.๘ ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์ อ้างอิงคำพิพากษาศาลอาญา 27 กันยายน 2494
  44. หน้า 232-233 หนังสือคดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.๘ ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์ อ้างอิงคำพิพากษาศาลอาญา 27 กันยายน 2494
  45. หน้า 229-230 หนังสือคดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ร.๘ ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์ อ้างอิงคำพิพากษาศาลอาญา 27 กันยายน 2494
  46. หน้า 232 หนังสือคดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.๘ ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์ อ้างอิงคำพิพากษาศาลอาญา 27 กันยายน 2494
  47. หน้า 408 และ 543-544 หนังสือคดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.๘ ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์ อ้างอิงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 28 ตุลาคม 2496
  48. หน้า 406 หนังสือคดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.๘ ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์ อ้างอิงคำพิพากษาศาลอุธรณ์ 28 ตุลาคม 2496
  49. หน้า 475-476 และ 487 และ 523 หนังสือคดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.๘ ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์ อ้างอิงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 28 ตุลาคม 2496
  50. หน้า 402 หนังสือคดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.๘ ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์ อ้างอิงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 28 ตุลาคม 2496
  51. หน้า 620 และ 640 หนังสือคดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.๘ ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์ อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกา 12 ตุลาคม 2497
  52. หน้า 620 และ 640 หนังสือคดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.๘ ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์ อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกา 12 ตุลาคม 2497
  53. หน้า 633-634 หนังสือคดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.๘ ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์ อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกา 12 ตุลาคม 2497
  54. ไม่มีการพูดถึงกรณีนี้ในคำพิพาษาศาลฎีกา ดูหน้า 611-634หนังสือคดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.๘ ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์ อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกา 12 ตุลาคม 2497
    • ดูหนังสือ "คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา คดีประทุษฐ์ร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘" จัดพิมพ์โดย โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์ http://www.openbase.in.th/files/pridibook232.pdf เก็บถาวร 2012-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
    • หนังสือ "คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา พร้อมด้วยคำแถลงของอัยการโจทย์ ความอาญาคดีประทุษฐร้ายต่อพระองค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘" หนังสือที่ระลึกในงานทำบุญอายุครบ ๕ รอบ มลว.บุญรับ พินิจชนคดี 10 มกราคม 2498
  55. หนังสือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (ฉบับสมบูรณ์) โดยสุพจน์ ด่านตระกูล ตีพิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ. 2544 หน้า 81
  56. หน้า 568 และ 587 หนังสือคดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ร.๘ ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์ อ้างอิงความเห็นแย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยหลวงปริพนธ์พจน์พิสุทธิ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ 28 ตุลาคม 2496
    • หน้า 501 หนังสือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (ฉบับสมบูรณ์) โดยสุพจน์ ด่านตระกูล อ้างอิงเสาเนาเอกสารฉบับจริง ของหลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์
    • หนังสือ ความเห็นแย้งคำพิพากษากรณีสวรรคต โดย นเรศ นโรปกรณ์ http://www.su-usedbook.com/product.detail_15673_th_5257164
    • หนังสือ "ข้อโต้แย้งกรณีสวรรคต กับ ความเห็นแย้ง โดย หลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์" โดยสุพจน์ ด่านตระกูล http://khunmaebook.tarad.com/product.detail_646347_th_4841072#[ลิงก์เสีย]
  57. หน้า 577หนังสือคดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ร.๘ ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์ อ้างอิงความเห็นแย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยหลวงปริพนธ์พจน์พิสุทธิ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ 28 ตุลาคม 2496
    • หน้า 379 หนังสือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (ฉบับสมบูรณ์) โดยสุพจน์ ด่านตระกูล อ้างอิงเสาเนาเอกสารฉบับจริง ของหลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์
    • หน้า 164 อ้างอิงความเห็นแย้งหลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ ในหนังสือคำตัดสินใหม่กรณีสวรรคตร.๘ ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2543 โดยคณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปีชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์ http://www.openbase.in.th/files/pridibook231.pdf เก็บถาวร 2019-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  58. หน้า 188 อ้างอิงบทสัมภาษณ์พิเศษ หลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ โดยนเรศ นโรปกรณ์ ในหนังสือคำตัดสินใหม่กรณีสวรรคตร.๘ ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน2543 โดยคณะกรรมการดำเนินงานฉลอง100ปีชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์ http://www.openbase.in.th/files/pridibook231.pdf เก็บถาวร 2019-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  59. ราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ หน้า ๑ ตอนที่ ๓๙ เล่มที่ ๖๓
  60. ประกาศสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงสืบราชสันตติวงศ์ ลงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๓/ตอนที่ ๓๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๔/๙ มิถุนายน ๒๔๘๙.
  61. อ้างอิงเรื่องการค้นพบแผลที่ท้ายทอย http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=กรณีสวรรคตรัชกาลที่_8[ลิงก์เสีย]
  62. * คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 207/2489 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2489
    • หน้า 31-32 อ้างอิงคำชี้แจงของพันเอกช่วงฯ รัฐมนตรีมหาดไทย ในหนังสือ คำตัดสินใหม่กรณีสวรรคตร.๘ จัดพิมพ์โดย คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน (ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2543)
    • หน้า 33-35 อ้างอิงเอกสารลับสุดยอด ของเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศอังกฤษ (ฉบับแปลไทย) ในหนังสือ คำตัดสินใหม่กรณีสวรรคตร.๘ จัดพิมพ์โดย คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน (ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2543)
    • หน้า 140-143 อ้างอิงเอกสารลับสุดยอด ของเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศอังกฤษ (สำเนาเอกสารฉบับจริง) ในหนังสือ คำตัดสินใหม่กรณีสวรรคตร.๘ จัดพิมพ์โดย คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน (ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2543)
    • หน้า 46 และ 52 หนังสือ จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ โดย ปรีดี พนมยงค์ (ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 5 เมื่อเดือน กันยายน 2543 http://www.openbase.in.th/files/pridibook083.pdf เก็บถาวร 2012-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
    • หน้า 33-35 หนังสือ ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ 6 ตุลา, 2544
    • หน้า 21-22 (ในส่วนคำนำ) และ 15-23 (ในบท ปรีดี พนมยงค์ กับกรณีสวรรคต) ในหนังสือ "เรื่องนายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส.ศิวรักษ์" (ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 4 เมื่อ มีนาคม 2543) จัดจำหน่ายโดย บริษัท เคล็ดไทย จำกัด http://www.openbase.in.th/files/pridibook179.pdf เก็บถาวร 2012-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
    • หน้า 44 หนังสือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ฉบับสมบูรณ์ โดย สุพจน์ ด่านตระกูล (ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 3) เมื่อ สิงหาคม 2544 http://www.openbase.in.th/files/pridibook227.pdf เก็บถาวร 2012-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
    • หน้า 83 หนังสือ คดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ร.๘ ฉบับสมบูรณ์ โดยบุญร่วม เทียมจันทร์
    • จากคำยืนยันของหลวงพ่อปัญญานันทะภิกขุ กรณีนายตี๋มาสารภาพบาปเรื่องรับจ้างเป็นพยานเท็จ https://www.youtube.com/watch?v=g4k3vAa-KxM ตัดมาบางส่วนจากสารคดีปรีดี พนมยงค์ https://www.youtube.com/watch?v=bTe9bUY8jic[ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้]
    • คำสารภาพของนายตี๋ ศรีสุวรรณ 25 มกราคม 2522 หน้า 289-292 อ้างอิงจากจดหมายฉบับจริง ในหนังสือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ฉบับสมบูรณ์ โดย สุพจน์ ด่านตระกูล (ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 3) เมื่อ สิงหาคม 2544
    • พินัยกรรมของ พระยาศรยุทธเสนี (กระแส ประวาหะนาวิน) หน้า 232-257 และ 259-288 (สำเนาฉบับจริง) หนังสือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ฉบับสมบูรณ์ โดย สุพจน์ ด่านตระกูล (ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 3) เมื่อ สิงหาคม 2544
    • หน้า 26 และ 65 ในหนังสือ "นายปรีดี พนมยงค์ กับแผนลอบปลงพระชนม์ของ พล.ต.อ.พระพินิจชนคดี" โดยสุพจน์ ด่านตระกูล (ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 3) เมื่อ กันยายน 2543
  63. หน้า 72-73 อ้างอิงประกาศราชกิจจานุเบกษาเล่ม 23 ตอนที่ 45 วันที่ 25 มิถุนายน 2489 ในหนังสือ คำตัดสินใหม่กรณีสวรรคตร.๘ จัดพิมพ์โดย คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน (ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2543)
  64. หน้า 66 หนังสือ คดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ร.๘ ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์
  65. หน้า 70 หนังสือ คดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ร.๘ ฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551 โดยบุญร่วม เทียมจันทร์
  66. โพสต์เฟซบุ๊กของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2558
  67. American Embassy Bangkok, "Confidential Memorandum of Discussion between Prime Minister Luang Thamrong and Ambassador Edwin F. Stanton", [1], 31 March 1948
  68. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล: พูนศุข พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์กรณีสวรรคต พฤษภาคม 2500
  69. NA, FO 371/129653, Whittington to Foreign Office, 15 May 1957. อ้างใน ใจจริง, ณัฐพล (2553). การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) (ร.ด.). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 218.
  70. ดูหนังสือ กลางใจราษฎร์ ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่2(2559) หน้าที่92 ระบุว่าทางการญี่ปุ่นยอมรับว่าซึจิยังอยู่ในประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่2จบ แต่ได้ออกจากประเทสไทยไปเวียดนามตั้งแต่ พฤศจิกายน 2488 ท้ายที่สุดพันเอกซึจิหายสาบสูญไปในประเทศลาวเมื่อ เมษายน 2504
  71. 73.0 73.1 สุพจน์ ด่านตระกูล, ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับท่านปรีดีฯ และกรณีสวรรคต, นิตยสารสารคดี, เมษายน พ.ศ. 2543
  72. 74.0 74.1 กานต์ ยืนยง, บทความ: เมื่อเราถูกสาป ให้จดจำประวัติศาสตร์อย่างกระพร่องกระแพร่ง, ประชาไท, 1 มีนาคม 2551
  73. ปาจารยสาร, 32: 1 (กันยายน-ตุลาคม 2550), หน้า 80-82

เอกสารอ่านเพิ่ม

บทความภาษาไทย

หนังสือภาษาอังกฤษ

  • Kruger, Rayne. The Devil’s Discus: An Enquiry Into the Death of Ananda, King of Siam. London: Cassell, 1964.
  • Sivaraksa, Sulak. Powers that Be : Pridi Banomyong through the Rise and Fall of Thai Democracy. Lantern Books, 2000. ISBN 9747449188
  • Stevenson, William. The Revolutionary King: The True–Life Sequel to The King and I. London: Constable, 2000.

แหล่งข้อมูลอื่น