รัฐบาลเอโดะ
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ 徳川幕府 โทกูงาวะ บากูฟุ | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ค.ศ. 1603–1868 | |||||||||||||
เมืองหลวง | เอโดะ | ||||||||||||
ภาษาทั่วไป | ภาษาญี่ปุ่น | ||||||||||||
ศาสนา | ลัทธิขงจื๊อ, ลัทธิชินโต, ศาสนาพุทธ, ศาสนาคริสต์ | ||||||||||||
การปกครอง | เผด็จการทหาร[1] แบบมีการสืบตำแหน่งและฟิวดัล | ||||||||||||
จักรพรรดิ | |||||||||||||
• 1600–1611 | จักรพรรดิโกโยเซ | ||||||||||||
• 1867–1868 | จักรพรรดิเมจิ | ||||||||||||
โชกุน | |||||||||||||
• ค.ศ. 1603–1605 | โทกูงาวะ อิเอยาซุ (คนแรก) | ||||||||||||
• ค.ศ. 1866–1867 | โทกูงาวะ โยชิโนบุ (สุดท้าย) | ||||||||||||
ประวัติศาสตร์ | |||||||||||||
• สถาปนานครเอโดะเป็นเมืองหลวง | ค.ศ. 1603 | ||||||||||||
• การปฏิรูปเมจิ | ค.ศ. 1868 1868 | ||||||||||||
สกุลเงิน | ระบบเหรียญกระษาปณ์โทกูงาวะ ประกอบด้วยมง (文), เหรียญเงิน, และเรียว (両) | ||||||||||||
| |||||||||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | ประเทศญี่ปุ่น |
รัฐบาลเอโดะ (ญี่ปุ่น: 江戸幕府; โรมาจิ: Edo bakufu) หรือ รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ (ญี่ปุ่น: 徳川幕府; โรมาจิ: Tokugawa bakufu) เป็นฝ่ายบริหารของประเทศญี่ปุ่นซึ่งใช้ระบอบศักดินา สถาปนาโดยโทกูงาวะ อิเอยาซุ มีผู้ปกครองสูงสุดเป็นโชกุน ซึ่งต้องมาจากตระกูลโทกูงาวะ เท่านั้น ในสมัยที่ประเทศญี่ปุ่นถูกปกครองโดยรัฐบาลโชกุนนั้น จะเรียกว่ายุคเอโดะ ตามชื่อเมืองเอโดะ ซึ่งรัฐบาลโชกุนสถาปนาให้เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ ปัจจุบัน คือกรุงโตเกียว มีปราสาทเอโดะเป็นศูนย์กลางการปกครองตั้งแต่ ค.ศ. 1603 ถึง 1868 จนกระทั่งถูกจักรพรรดิเมจิล้มล้างไปในการฟื้นฟูเมจิ
หลังจากยุคเซ็งโงกุ หรือยุคไฟสงคราม โอดะ โนบูนางะ และโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ได้ร่วมกันรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง และตั้งเป็นรัฐบาลกลางขึ้นอีกครั้งในยุคอาซูจิ–โมโมยามะ ซึ่งเป็นยุคสั้น ๆ ก่อนยุคเอโดะ ต่อมา หลังจากยุทธการที่เซกิงาฮาระ ซึ่งเป็นการรบครั้งใหญ่ในค.ศ. 1600 การปกครองและอำนาจทั้งหมด ได้ตกอยู่ในมือของโทกูงาวะ อิเอยาซุโดยเบ็ดเสร็จ และสถาปนาตนเองเป็นโชกุนในปี ค.ศ. 1603 ซึ่งเป็นไปตามประเพณีโบราณ ที่ผู้เป็นโชกุนจะต้องสืบเชื้อสายจากต้นตระกูลมินาโมโตะ
ในยุคของโทกูงาวะ ต่างจากยุคโชกุนก่อน ๆ คือมีการนำระบบชนชั้นที่เริ่มใช้โดยโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ มาใช้อีกครั้งอย่างเข้มงวด โดยชนชั้นนักรบ หรือซามูไร อยู่บนสุด ตามด้วยชาวนา ช่างฝีมือ และพ่อค้า การใช้ระบบชนชั้นอย่างเข้มงวดและไม่ยืดหยุ่นได้ทำให้เกิดจลาจลมาตลอดสมัย ภาษีที่เรียกเก็บจากชนชั้นชาวนานั้น อยู่ในอัตราคงที่โดยไม่คำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อหรือการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ของค่าเงิน ส่งผลให้รายได้ภาษีที่เรียกเก็บจากชนชั้นซามูไร ผู้เป็นเจ้าของที่ดินมีมูลค่าลดลงเรื่อย ๆ ตลอดยุค ซึ่งสาเหตุนี้ ก่อให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างซามูไรผู้ทรงเกียรติแต่ฐานะทางการเงินต่ำลงเรื่อย ๆ จากการจ่ายภาษี กับชาวนาผู้มีอันจะกิน เกิดเป็นการปะทะกันหลายต่อหลายครั้งที่เริ่มจากเหตุการณ์เล็ก ๆ ลุกลามเป็นเหตุการณ์วุ่นวาย อย่างไรก็ตาม ไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงระบบสังคมยุคเอโดะได้ ตราบจนการเข้ามาของชาวตะวันตก
เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 กลุ่มไดเมียวผู้มีอำนาจ เช่น ตระกูลชิมาซุ ได้ร่วมมือกับจักรพรรดิและพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งในสมัยเอโดะเคยทรงเพียงศักดิ์แต่ไร้อำนาจ เพื่อโค่นล้มระบอบโชกุนในโดยสงครามโบชิน ส่งผลให้เกิดการปฏิรูปเมจิโดยจักรพรรดิเมจิ รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะถูกล้มล้างโดยสมบูรณ์ในค.ศ. 1868 โดยมีโทกูงาวะ โยชิโนบุ เป็นโชกุนคนที่ 15 และเป็นโชกุนคนสุดท้ายของญี่ปุ่น จากนั้น ญี่ปุ่นก็เข้าสู่ยุคเมจิ อันมีการฟื้นฟูราชวงศ์มายังเมืองเอโดะ และเปลี่ยนชื่อเป็นกรุงโตเกียวดังเช่นปัจจุบัน
การปกครอง
[แก้]การปกครองของรัฐบาลโชกุนเอโดะนั้นเรียกว่า บะกุฮัง เทเซ (ญี่ปุ่น: 幕藩体制; โรมาจิ: Bakuhan teisei) คือระบอบที่ประกอบไปด้วย "รัฐบาลโชกุน" (ญี่ปุ่น: 幕府; โรมาจิ: Bakufu) อันเป็นการปกครองส่วนกลาง และ "แคว้น" (ญี่ปุ่น: 藩; โรมาจิ: han) ซึ่งเป็นการปกครองส่วนภูมิภาค มีลักษณะการปกครองตามแบบระบอบศักดินาสวามิภักดิ์ คือการที่รัฐบาลส่วนกลางแบ่งสรรปันส่วนที่ดินให้แก่ขุนนางไปปกครอง โดยที่ขุนนางเหล่านั้นมีอำนาจเหนือประชาชนและทรัพยากรในแคว้นของตนเอง โดยที่จะต้องให้กองกำลังทหารแก่รัฐบาลกลางเมื่อร้องขอเป็นการตอบแทน
บากูฟุ
[แก้]บากูฟุ แปลว่า "เสนาภิบาล" หมายถึงระบอบการปกครองที่นำโดยโชกุน โชกุน หรือชื่อตำแหน่งทางการว่า เซอิไทโชกุน (ญี่ปุ่น: 征夷大将軍; โรมาจิ: Seii Taishōgun) เป็นตำแหน่งที่แต่งตั้งโดยองค์พระจักรพรรดิที่เมืองเกียวโต มอบให้แก่ตระกูลผู้นำซามูไรที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลมินาโมโตะโบราณ ซึ่งในสมัยเอโดะนั้นก็คือตระกูลโทกูงาวะ ตำแหน่งโชกุนนั้นเป็นตำแหน่งที่สืบทอดภายในตระกูลโทกูงาวะ ในทางทฤษฏีโชกุนมีหน้าที่รับใช้ราชสำนักเกียวโตในฐานะประมุขของชนชั้นซามูไรทั้งมวลในญี่ปุ่น แต่ในทางปฏิบัตินั้นโชกุนคือผู้ปกครองมีอำนาจเหนือประเทศญี่ปุ่นที่แท้จริง
ใต้ต่อโชกุนลงมาคือสภาขุนนางทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำชี้แนะแก่โชกุน ประกอบด้วย
- โรจู (ญี่ปุ่น: 老中; โรมาจิ: Rōjū) เป็นตำแหน่งขุนนางอาวุโสที่สูงที่สุดรองจากโชกุน ในสมัยของโชกุน โทกูงาวะ อิเอะยะซุ และโทกูงาวะ ฮิเดะตะดะ มีโรจูจำนวนสองอัตรา และในสมัยของโชกุนโทกูงาวะ อิเอมิตสึ เพิ่ม โรจู เป็นห้าอัตรา เป็นกลุ่มขุนนางอาวุโสที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อโชกุน และเป็นผู้กำหนดนโยบาลหลักของรัฐบาลในขณะนั้น เป็นสื่อกลางระหว่างไดเมียวแคว้นต่างๆกับโชกุน ตำแหน่งนี้เสื่อมอำนาจลงในสมัยของโชกุนโทกูงาวะ อิเอสึนะเป็นต้นมา เนื่องจากการแข่งขันอำนาจกับโซะบะโยะนิง
- ไทโร (ญี่ปุ่น: 大老; โรมาจิ: Tairō) เป็นตำแหน่งขุนนางอาวุโสที่มีอำนาจเหนือโรจู ตำแหน่งนี้ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในค.ศ. 1636 อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งนี้ไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา เป็นการแต่งตั้งในกรณีพิเศษ และต่อมาภายหลังกลายเป็นเพียงตำแหน่งทางพิธีการ
- วากาโดะชิโยริ (ญี่ปุ่น: 若年寄; โรมาจิ: Wakadoshiyori) ตำแหน่งขุนนางอายุน้อย ทำหน้าที่เป็นข้ารับใช้ส่วนตัวของโชกุน เป็นสื่อกลางระหว่างบากูฟุกับพ่อค้า ช่างฝีมือ และสามัญชน
โชกุนโทกูงาวะ อิเอสึนะ มีนโยบายลดทอนอำนาจของขุนนางอาวุโสในบากูฟุ โดยการดึงเอากลุ่มขุนนางอายุน้อยที่เป็นคนสนิทของตนเรียกว่า โซะบะโยะนิง (ญี่ปุ่น: 側用人; โรมาจิ: Sobayōnin) เข้ามามีอำนาจในบากูฟุ เป็นผู้กำหนดนโยบายหลักของประเทศแทนที่โรจู นับแต่นั้นมารัฐบาลโชกุนเอโดะจึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของคนสนิทของโชกุน
- บูเงียว (ญี่ปุ่น: 奉行; โรมาจิ: Bugyō) เป็นกระทรวงที่ดูแลเฉพาะเรื่อง หรือปกครองเมืองที่ขึ้นตรงต่อบากูฟุ มีเจ้ากระทรวงเป็นขุนนางฟุได
- เอโดะ มาจิ-บูเงียว (ญี่ปุ่น: 江戸町奉行; โรมาจิ: Edo machi-bugyō) กรมนครบาลเอโดะ ปกครองดูแลเมืองเอโดะ
- ฟูชิงบูเงียว (ญี่ปุ่น: 普請奉行; โรมาจิ: Fushin-bugyō) ดูแลเรื่องการก่อสร้างงานสาธารณะ
- กูโซกุ-บูเงียว (ญี่ปุ่น: 具足奉行; โรมาจิ: Gusoku-bugyō) ดูแลเรื่องการจัดหาเสบียงให้แก่กองทัพของรัฐบาลโชกุน
- จิชา-บูเงียว (ญี่ปุ่น: 寺社奉行; โรมาจิ: Jisha-bugyō) กรมศาสนา ดูแลเรื่องวัดและศาลเจ้าต่างๆทั่วญี่ปุ่น
- จิวาริ-บูเงียว (ญี่ปุ่น: 地割奉行; โรมาจิ: Jiwari-bugyō) ดูแลเรื่องการสำรวจและรังวัดที่ดิน
- คันโจ-บูเงียว (ญี่ปุ่น: 勘定奉行; โรมาจิ: Kanjō-bugyō) จัดตั้งขึ้นในค.ศ. 1787 ดูแลเรื่องการคลังของรัฐบาลโชกุน เกิดจากการรวบรวมกระทรวงต่างๆซึ่งดูแลเกี่ยวกับการคลังของรัฐบาลโชกุนประกอบด้วย;
- คาเน-บูเงียว (ญี่ปุ่น: 金奉行; โรมาจิ: Kane-bugyō) ดูแลการคลัง
- คูรา-บูเงียว (ญี่ปุ่น: 倉庫奉行; โรมาจิ: Kura-bugyō) ดูแลคลังข้าว
- คินซะ (ญี่ปุ่น: 金座; โรมาจิ: Kinza) คลังทอง
- กินซะ (ญี่ปุ่น: 銀座; โรมาจิ: Ginza) คลังเงิน
- โดซะ (ญี่ปุ่น: 銅座; โรมาจิ: Dōza) คลังทองแดง
- ชูซะ (ญี่ปุ่น: 朱座; โรมาจิ: Shuza) คลังซินนาบาร์
- คินซัน-บูเงียว (ญี่ปุ่น: 金山奉行; โรมาจิ: Kinzan-bugyō) ดูแลการขุดเหมืองแร่ต่างๆ
- เกียวโต-โชชิได (ญี่ปุ่น: 京都所司代; โรมาจิ: Kyoto Shoshidai) กรมนครบาลเกียวโต ดูแลความเรียบร้อยในเมืองเกียวโต เมืองฟูชิมิ และเมืองนาระ
- นางาซากิ-บูเงียว (ญี่ปุ่น: 長崎奉行; โรมาจิ: Nagasaki-bugyō) ดูแลเกี่ยวกับการค้ากับจีนและฮอลันดาที่เมืองนางาซากิ รวมทั้งติดตามวิทยาการรังงากุ
- นิกโก-บูเงียว (ญี่ปุ่น: 日光奉行; โรมาจิ: Nikkō-bugyō) ดูแลวัดนิกโกโทโชที่เมืองนิกโก
- โอซากะ-โจได (ญี่ปุ่น: 大阪城代; โรมาจิ: Osaka jōdai) ดูแลปราสาทโอซากะ ตัวเมืองโอซากะ และเมืองท่าซากาอิ
- โรยา-บูเงียว (ญี่ปุ่น: 牢屋奉行; โรมาจิ: Rōya-bugyō) ดูแลเกี่ยวกับฑัณฑสถานเรือนจำ
- ซาโดะ-บูเงียว (ญี่ปุ่น: 佐渡奉行; โรมาจิ: Sado-bugyō) ดูแลการขุดเหมืองบนเกาะซาโดะ
- ซากูจิ-บูเงียว (ญี่ปุ่น: 作事奉行; โรมาจิ: Sakuji-bugyō) ก่อตั้งในค.ศ. 1638 ดูแลงานโยธาธิการก่อสร้าง
- ซูมปุ-บูเงียว (ญี่ปุ่น: 駿府奉行; โรมาจิ: Sunpu-bugyō) ปกครองดูแลปราสาทซูมปุ
- อูรางะ-บูเงียว (ญี่ปุ่น: 浦賀奉行; โรมาจิ: Uraga-bugyō) ก่อตั้งในค.ศ. 1712 เพื่อดูแลเมืองท่าอูรางะ
- ยามาดะ-บูเงียว (ญี่ปุ่น: 山田奉行; โรมาจิ: Yamada-bugyō) ดูแลเรื่องการแสวงบุญไปยังศาลเจ้าอิเซะ
- เซ็งบูเงียว (ญี่ปุ่น: 膳奉行; โรมาจิ: Zen-bugyō) ดูแลอาหารของโชกุน
ในค.ศ. 1779 รัฐบาลโชกุนเข้าควบคุมการตั้งรกรากของชาวญี่ปุ่นบนเกาะฮกไกโดโดยตรง นำไปสู่การจัดตั้งฮาโกดาเตะ-บูเงียว (ญี่ปุ่น: 箱館奉行; โรมาจิ: Hakodate-bugyō)
หลังจากเหตุการณ์ที่พลเรือจัตวาแมทธิว ซี. เพร์รี (Matthew C. Perry) นำเรือรบของสหรัฐอเมริกาเข้าบังคับให้รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะเปิดประเทศในค.ศ. 1853 รัฐบาลโชกุนมีการเปิดเมืองท่าต่างๆเพื่อให้ชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายนำไปสู่การจัดตั้งบูเงียวต่างๆเพื่อดูแลเมืองท่าเหล่านั้นได้แก่ฮาเนดะ-บูเงียว เฮียวโง-บูเงียว คานางาวะ-บูเงียว นีอีงาตะ-บูเงียว และชิโมดะ-บูเงียว
แคว้นและไดเมียว
[แก้]แคว้น คือหน่วยของที่ดินที่บากูฟุมอบหมายให้ขุนนางซามูไรที่เรียกว่า "ไดเมียว" ไปปกครอง โดยที่ไดเมียวเหล่านั้นไม่ได้รับเบี้ยหวัดจากรัฐบาลส่วนกลางแต่มีสิทธิ์อย่างเต็มที่ในทรัพยากรและผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ภายในฮังของตน ในสมัยเอโดะฮังและไดเมียวมีสามประเภทได้แก่
- ชิมปัง (ญี่ปุ่น: 親藩; โรมาจิ: Shinpan) คือ แคว้นที่ปกครองโดยไดเมียวซึ่งเป็นเครือญาติหรือสาขาย่อยของตระกูลโทกูงาวะ ชิมปังที่สำคัญในสมัยเอโดะได้แก่
- โกะซันเกะ (ญี่ปุ่น: 御三家; โรมาจิ: Gosanke) คือ สาขาย่อยของตระกูลโทกูงาวะสามสาขา ที่สามารถเข้ารับตำแหน่งโชกุนได้หากสาขาหลักของโชกุนสิ้นสุดลง ได้แก่
- แคว้นโอวาริ (ญี่ปุ่น: 尾張藩; โรมาจิ: Owari-han) (จังหวัดไอจิในปัจจุบัน)
- แคว้นคิอิ (ญี่ปุ่น: 紀州藩; โรมาจิ: Kii-han) (จังหวัดวากายามะในปัจจุบัน)
- แคว้นมิโตะ (ญี่ปุ่น: 水戸藩; โรมาจิ: Mito-han) (จังหวัดอิบารากิในปัจจุบัน)
- ตระกูลมัตสึไดระแห่งไอซุ ปกครองแคว้นไอซุ (ญี่ปุ่น: 会津藩; โรมาจิ: Aizu-han) (จังหวัดฟูกูชิมะในปัจจุบัน)
- ตระกูลมัตสึไดระแห่งเอจิเซ็ง (จังหวัดฟูกูอิในปัจจุบัน)
- โกะซันเกะ (ญี่ปุ่น: 御三家; โรมาจิ: Gosanke) คือ สาขาย่อยของตระกูลโทกูงาวะสามสาขา ที่สามารถเข้ารับตำแหน่งโชกุนได้หากสาขาหลักของโชกุนสิ้นสุดลง ได้แก่
- ฟุได (ญี่ปุ่น: 譜代; โรมาจิ: Fudai) คือ ไดเมียวที่มาจากตระกูลที่เป็นข้ารับใช้เดิมของตระกูลโทกูงาวะในยุคเซ็งโงกุ หรือเข้าสวามิภักดิ์ต่อตระกูลโทกูงาวะก่อนยุทธการที่เซกิงาฮาระ ซึ่งไดเมียวตระกูลเหล่านี้มีอำนาจและบทบาทที่สำคัญในการปกครองส่วนกลางที่บากูฟุ ตระกุลขุนนางฟุไดที่สำคัญได้แก่
- โทซามะ (ญี่ปุ่น: 外様; โรมาจิ: Tozama) คือ ไดเมียวที่สืบเชื้อสายมาจากผู้ปกครองแคว้นใหญ่ในยุคเซ็งโงกุ และถูกผนวกเข้ามาอยู่ในอำนาจของโชกุนโทกูงาวะหลังจากยุทธการเซกิงาฮาระ ไดเมียวโทซามะถือว่ามีฐานะต่ำกว่าไดเมียวฟุไดและถูกกีดกันจากการปกครองส่วนกลาง แต่ไดเมียวโทซามะมักจะมีอำนาจมากในแคว้นของตนด้วยอาณาเขตที่กว้างใหญ่และประวัติศาสตร์อันยาวนานภายในพื้นที่ ไดเมียวโทซามะที่สำคัญได้แก่
- แคว้นคางะ (ญี่ปุ่น: 加賀藩; โรมาจิ: Kaga-han) จังหวัดอิชิกะวะและจังหวัดโทะยะมะในปัจจุบัน ปกครองโดยตระกูลมะเอะดะ (ญี่ปุ่น: 前田; โรมาจิ: Maeda) เป็นไดเมียวโทซามะแคว้นที่มีขนาดใหญ่และผลผลิตมากที่สุด
- แคว้นเซ็นได (ญี่ปุ่น: 仙台藩; โรมาจิ: Sendai-han) เมืองเซ็นได จังหวัดมิยะงิในปัจจุบัน ปกครองโดยตระกูลดะเตะ (ญี่ปุ่น: 伊達; โรมาจิ: Date)
- แคว้นซัตสึมะ (ญี่ปุ่น: 薩摩藩; โรมาจิ: Satsuma-han) เมืองคาโงชิมะ จังหวัดคาโงชิมะในปัจจุบัน ปกครองโดยตระกูลชิมาซุ (ญี่ปุ่น: 島津; โรมาจิ: Shimazu)
- แคว้นโชชู (ญี่ปุ่น: 長州藩; โรมาจิ: Chōshū-han) (จังหวัดยามางูจิในปัจจุบัน) ปกครองโดยตระกูลโมริ (ญี่ปุ่น: 毛利; โรมาจิ: Mōri)
ในค.ศ. 1635 โชกุนอิเอมิตสึ ต้องการที่จะลดอำนาจของไดเมียวโทซามะ จึงออกนโยบายซังกิง โคไต (ญี่ปุ่น: 参勤交代; โรมาจิ: Sankin kōtai) ให้ไดเมียวทุกแคว้นสร้างที่พำนักภายในนครเอโดะ แล้วพำนักอยู่ในนครเอโดะเป็นเวลาหนึ่งปี สลับกับกลับไปพำนักที่แคว้นของตนอีกหนึ่งปี หมุนเวียนไปเรื่อย โดยที่ภรรยาเอกและทายาทของไดเมียวจะต้องอยู่ในนครเอโดะตลอด การเดินทางไปยังนครเอโดะและกลับไปยังแคว้นของตนนั้นเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายอย่างมาก สำหรับไดเมียวโทซามะซึ่งมักจะอยู่ห่างไกลจากเอโดะ เป็นการตัดกำลังและลดอำนาจ
รายนามโชกุนตระกูลโทกูงาวะ
[แก้]อันดับ | ชื่อ | ช่วงเวลามีชีวิต | ||
---|---|---|---|---|
1 | โทกูงาวะ อิเอยาซุ | พ.ศ. 2086 - 2159 | ||
2 | โทกูงาวะ ฮิเดตาดะ | พ.ศ. 2122 - 2175 | ||
3 | โทกูงาวะ อิเอมิตสึ | พ.ศ. 2147 - 2194 | ||
4 | โทกูงาวะ อิเอสึนะ | พ.ศ. 2184 - 2223 | ||
5 | โทกูงาวะ สึนาโยชิ | พ.ศ. 2189 - 2252 | ||
6 | โทกูงาวะ อิเอโนบุ | พ.ศ. 2205 - 2255 | ||
7 | โทกูงาวะ อิเอสึงุ | พ.ศ. 2252 - 2259 | ||
8 | โทกูงาวะ โยชิมูเนะ | พ.ศ. 2227 - 2294 | ||
9 | โทกูงาวะ อิเอชิเงะ | พ.ศ. 2254 - 2304 | ||
10 | โทกูงาวะ อิเอฮารุ | พ.ศ. 2280 - 2329 | ||
11 | โทกูงาวะ อิเอนาริ | พ.ศ. 2316 - 2384 | ||
12 | โทกูงาวะ อิเอโยชิ | พ.ศ. 2336 - 2396 | ||
13 | โทกูงาวะ อิเอซาดะ | พ.ศ. 2367 - 2401 | ||
14 | โทกูงาวะ อิเอโมจิ | พ.ศ. 2389 - 2409 | ||
15 | โทกูงาวะ โยชิโนบุ | พ.ศ. 2380 - 2456 |
อ้างอิง
[แก้]- Nussbaum, Louis-Frédéric and Käthe Roth. (2005). Japan Encyclopedia. Cambridge: Harvard University Press. ISBN 978-0-674-01753-5; OCLC 48943301
บทความนี้รวมเอางานสาธารณสมบัติจากประเทศศึกษา หอสมุดรัฐสภา
- ↑ "Tokugawa period". britannica.com. Encyclopædia Britannica, Inc. สืบค้นเมื่อ June 3, 2020.