อาสนวิหารอาเมียง
อาสนวิหารแม่พระแห่งอาเมียง | |
---|---|
ทัศนียภาพจากภายนอก | |
49°53′40″N 2°18′07″E / 49.89444°N 2.30194°E | |
ที่ตั้ง | อาเมียง จังหวัดซอม |
ประเทศ | ประเทศฝรั่งเศส |
นิกาย | โรมันคาทอลิก |
เว็บไซต์ | http://catholique-amiens.cef.fr/ |
สถานะ | อาสนวิหาร |
ประเภทสถาปัตย์ | กางเขน |
รูปแบบสถาปัตย์ | กอธิก |
แล้วเสร็จ | ค.ศ. 1269 |
ความสูงอาคาร | 112.7 เมตร (370 ฟุต) (บริเวณยอดสูงสุด) 56 เมตร (184 ฟุต) (หลังคาด้านนอก) |
ขนาดอื่น ๆ | ยาว 145 เมตร (476 ฟุต) กว้าง 30.65 เมตร (100.6 ฟุต) |
พื้นที่ใช้สอย | 7,700 ตารางเมตร |
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์(ค.ศ. 1840) มรดกโลก (ค.ศ. 1981) |
อาสนวิหารอาเมียง * | |
---|---|
แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก | |
ด้านหน้าอาสนวิหารอาเมียงแสดงให้เห็นประตูด้านหน้าสามประตู รูปปั้นตกแต่ง หน้าต่างกุหลาบ และหอกระหนาบสองด้าน | |
ประเทศ | ฝรั่งเศส |
ประเภท | มรดกทางวัฒนธรรม |
เกณฑ์พิจารณา | (i) (ii) |
ประวัติการขึ้นทะเบียน | |
ขึ้นทะเบียน | 2524 (คณะกรรมการสมัยที่ 5) |
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก ** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก |
อาสนวิหารอาเมียง (ฝรั่งเศส: Cathédrale d'Amiens) มีชื่อเต็มว่า อาสนวิหารแม่พระแห่งอาเมียง (Cathédrale Notre-Dame d'Amiens) เป็นอาสนวิหารที่สูงที่สุดในประเทศฝรั่งเศส มีฐานะเป็นอาสนวิหารประจำมุขมณฑลอาเมียง มีเนื้อที่ภายในกว้างใหญ่ถึง 200,000 ตารางเมตร หลังคาโค้งกอทิกสูง 42.30 เมตรซึ่งเป็นหลังคาแบบกอทิกที่สูงที่สุดในฝรั่งเศส ตัวอาสนวิหารตั้งอยู่ที่เมืองอาเมียงซึ่งเป็นเมืองสำคัญของแคว้นโอดฟร็องส์ในหุบเขาซอม ห่างจากกรุงปารีสไปทางทิศเหนือประมาณ 100 กิโลเมตร
ประวัติ
[แก้]ด้านหน้าโบสถ์สร้างครั้งเดียวเสร็จระหว่างปี ค.ศ. 1220 ถึง ค.ศ. 1236 ลักษณะจึงกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตอนล่างสุดของด้านหน้าโบสถ์เป็นประตูเว้าลึกใหญ่สามประตู เหนือระดับประตูขึ้นไปชั้นหนึ่งเป็นหินสลักขนาดใหญ่กว่าองค์จริงของพระเจ้าแผ่นดิน 22 พระองค์เรียงเป็นแนวตลอดด้านหน้าอาสนวิหารภายใต้หน้าต่างกุหลาบ สองข้างด้านหน้าประกบด้วยหอใหญ่สองหอ หอด้านใต้สร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1366 หอทางทิศเหนือสร้างเสร็จ 40 ปีต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1406 และเป็นหอที่สูงกว่า
เอกสารที่เกี่ยวกับประวัติการสร้างอาสนวิหารนี้ถูกทำลายไปหมดเมื่อสถานที่เก็บรักษาเอกสารสำคัญของโบสถ์ถูกไฟไหม้ไปเมื่อปีค.ศ. 1218 และอีกครั้งเมื่อปี ค.ศ. 1258 ครั้งหลังนี้ไฟได้ทำลายตัวอาสนวิหารด้วย ต่อมามุขนายกเอวราร์ เดอ ฟูยี เริ่มสร้างอาสนวิหารใหม่แทนอาสนวิหารเดิมที่ไหม้ไปเมื่อ ค.ศ. 1220 โดยมีรอแบร์ เดอ ลูซาร์ช เป็นสถาปนิก และลูกชายของรอแบร์ คือ เรอโน เดอ กอร์มง เป็นสถาปนิกต่อมาจนถึง ค.ศ. 1288
จดหมายเหตุกอร์บี (Chronicle of Corbie) บันทึกไว้ว่าอาสนวิหารสร้างเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1266 แต่ก็ยังมีการปิดงานต่อมา พื้นโถงกลางภายในอาสนวิหารตกแต่งเป็นลวดลายต่าง ๆ หลายชนิดรวมทั้งลายสวัสดิกะ[1][ลิงก์เสีย] ลายวนเขาวงกต (labyrinth) ซึ่งปูเมื่อปีค.ศ. 1288 นอกจากนั้นก็มีระเบียงรูปปั้นไม่ใหญ่นัก 3 ระเบียง 2 ระเบียงอยู่ด้านเหนือและด้านใต้ของบริเวณร้องเพลงสวด และระเบียงที่ 3 อยู่ทางด้านตะวันเหนือของแขนกางเขน เป็นเรื่องราวของนักบุญต่าง ๆ รวมทั้งชีวประวัติของนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมา อาสนวิหารกล่าวว่าเป็นเจ้าของเรลิกชิ้นสำคัญคือศีรษะของนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมา ซึ่งวัดได้มาจากวาลง เดอ ซาร์ตง ผู้ไปนำมาจากคอนสแตนติโนเปิล เมื่อกลับมาจากสงครามครูเสดครั้งที่ 4
รูปปั้นด้านหน้าข้างประตูอาสนวิหารที่บอกได้ว่าเป็นนักบุญที่มาจากแถว ๆ อาเมียงก็ได้แก่ นักบุญวิกตอริกุส, ฟุสกิอัน และแก็นติอัน มรณสักขีไม่นานจากกันในคริสต์ศตวรรษที่ 3 กล่าวกันว่าเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 7 มุขนายกฮอโนราตุส ผู้เป็นมุขนายกองค์ที่ 7 ของอาสนวิหารอาเมียงได้ขุดพบเรลิกของนักบุญทั้งสาม เมื่อพระเจ้าชีลเดอแบร์ที่ 2 แห่งปารีส พยายามยึดเรลิกก็ไม่สามารถทำได้ เมื่อไม่สามารถทำได้ก็ทรงอุทิศเงินก้อนใหญ่ให้กลุ่มลัทธิของผู้นิยมนักบุญทั้งสามและทรงส่งช่างทองมาทำเครื่องตกแต่งเพื่อเป็นเกียรติแก่นักบุญ[1]
นักบุญอื่นที่เป็นนักบุญท้องถิ่นที่มีรูปปั้นอยู่หน้าประตูคือนักบุญดอมิสในคริสต์ศตวรรษที่ 8 ผู้เคยเป็นนักบวชที่อาสนวิหาร นักบุญอูลฟ์ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 ผู้เคยเป็นลูกศิษย์ของนักบุญอูลฟ์และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มสตรีผู้เคร่งศาสนาในบริเวณอาเมียง นักบุญเฟร์มินในคริสต์ศตวรรษที่ 3 ผู้ถูกประหารชีวิตที่อาเมียง[2]
ประตูด้านหน้าอาสนวิหารและหน้าบัน
[แก้]ประตูทางเข้าอาสนวิหารด้านหน้าเป็นประตูใหญ่สามประตูเว้าลึกเข้าไปในตัวอาสนวิหาร เหนือแต่ละประตูตกแต่งมีภาพแกะสลักใหญ่ที่หน้าบัน ล้อมเป็นกรอบสองข้างประตูรายด้วยรูปแกะสลักใหญ่กว่าคนของนักบุญและศาสดายืนบนแท่นที่ภายใต้ฐานที่มีผู้แบกเล็ก ๆ อยู่ กรอบด้านบนโค้งเป็นรูปสลักเล็ก ๆ เรียงเป็นแนว
ประตูที่สำคัญที่สุดเป็นรูปสลักเมื่อพระเยซูทรงกลับมาเป็นประธานในการตัดสินครั้งสุดท้าย (Resurrection of the Body และ Last Judgement) กลางรูปจะเป็นพระเยซูทรงนั่งเป็นประธานในการเลือกว่าผู้ใดจะได้เลือกขึ้นสวรรค์และผู้ใดจะถูกส่งลงนรก สองข้างพระองค์จะมีพระแม่มารีย์และยอห์นอัครทูต และทูตสวรรค์ถืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับที่พระเยซูถูกตรึงกางเขน และหมู่ทูตสวรรค์ ในวันการตัดสินครั้งสุดท้าย มนุษย์ทุกคนที่เคยมีชีวิตอยู่ในโลกก็ฟื้นขึ้นมาจากหลุมศพเพื่อจะได้ถูกตัดสิน ผู้ที่ได้เลือกขึ้นสวรรค์ก็จะมีหน้าตาอิ่มเอิบมีนางฟ้าเทวดารอรับอยู่ กลุ่มนี้เรียกว่า "the Elect" อีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกส่งลงนรกจะเรียกว่า "the Damned" กลุ่มหลังนี้ประติมากรแกะภาพสยดสยองต่างของผู้ตกนรกที่ถูกไล่เสียบแทงโดยปีศาจอสุรกายต่าง ๆ[1][3]
ประตูที่ด้านขวาเป็นประตูเทิดพระเกียรติพระแม่มารีย์ ตรงกลางเป็นรูปพระแม่มารีย์ห่มผ้ายาวอุ้มพระเยซูในมือซ้าย มือขวายื่นออกไปราวจะต้อนรับผู้มีศรัทธาเข้าสู่โบสถ์ ประตูด้านซ้ายเป็นประตูนักบุญเฟร์มินซึ่งเป็นนักบุญท้องถิ่น[1]
ทุกปีทางโบสถ์จะจัดให้มีการแสดงแสงเสียงด้านหน้าวัดที่น่าประทับใจโดยการเล่าเรื่องราวความเป็นมาของโบสถ์ ที่น่าสนใจที่สุดก็คือการแสดงแสงสีเสียงที่พยายามแสดงให้เห็นว่าหน้าโบสถ์ยุคกลางที่เคยเป็นสีสันฉูดฉาดซึ่งปัจจุบันเป็นเพียงสีหินธรรมชาติเรียบ ๆ เป็นอย่างไร
อาสนวิหารอาเมียงได้รับเลือกโดยยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 1981
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 "ด้านหน้าอาสนวิหารอาเมียง (Columbia.edu)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-10. สืบค้นเมื่อ 2008-01-14.
- ↑ "ด้านหน้าอาสนวิหารอาเมียง (Columbia.edu)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-15. สืบค้นเมื่อ 2008-01-14.
- ↑ "The Portals, Access to Redemption by Professor Stephen Murray (ประตูอาสนวิหารโดยศาสตราจารย์ สตีเวน เมอร์รีย์)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-10. สืบค้นเมื่อ 2008-01-14.
- อาสนวิหารอาเมียง (Encyclopædia Britannica Online)
- อาสนวิหารอาเมียง - World Heritage Site เก็บถาวร 2007-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- The Portals, Access to Redemption by Professor Stephen Murray (ประตูอาสนวิหารโดยศาสตราจารย์สตีเฟน เมอร์เรย์) เก็บถาวร 2016-11-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- 360°[ลิงก์เสีย]
- ภาพอาสนวิหารอาเมียง เก็บถาวร 2006-05-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- โครงการอาสนวิหารอาเมียง โดยมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เก็บถาวร 2007-01-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
สมุดภาพ
[แก้]-
แผนผังอาสนวิหารด้านข้าง
-
มองจากทางเหนือจะเห็นกำแพงค้ำยันแบบปีกและยอดมณฑป เหนือจุดตัดของผังกางเขน
-
มุมด้านหลังหรือด้านตะวันออก
-
ทางเดินกลางมองไปทางด้านหน้าหรือด้านตะวันตกของโบสถ์ (ค.ศ. 2005)
-
ปนาลีและรายละเอียดการแกะสลัก
-
หน้าต่างกระจกด้านหน้าอาสนวิหารเป็นลายฉลุหินอย่างลูกไม้
-
หน้าต่างกระจกจากภายใน
-
รูปสลักพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสภายใต้หน้าต่างกุหลาบ
-
รูปสลักข้างประตู
-
รูปสลักใต้ฐาน
-
รายละเอียดบนผนังด้านหน้าอาสนวิหาร
-
ระเบียงภาพประวัตินักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมา
-
การแสดงแสงสีหน้าอาสนวิหาร
-
การแสดงแสงสีหน้าอาสนวิหาร