ภาษาอัสตูเรียส-เลออน
ภาษาอัสตูเรียส-เลออน | |
---|---|
asturlleonés | |
ภูมิภาค: | สเปน • แคว้นอัสตูเรียส • ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ของแคว้นกัสติยาและเลออน • นักวิชาการบางคนรวมแคว้นกันตาเบรีย และบางส่วนของแคว้นเอซเตรมาดูรา โปรตุเกส • พื้นที่ชายแดนบางแห่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
การจําแนก ทางภาษาศาสตร์: | อินโด-ยูโรเปียน
|
กลุ่มย่อย: | |
กลอตโตลอก: | astu1244 (อัสตูเรียส-เลออน)[1] extr1243 (เอซเตรมาดูรา)[2] |
พื้นที่ที่มีการพูดภาษาอัสตูเรียส-เลออน |
ภาษาอัสตูเรียส-เลออน (สเปน: asturleonés; อัสตูเรียส: asturlleonés) เป็นภาษาโรมานซ์ที่พูดกันเป็นหลักในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศสเปน กล่าวคือ แคว้นอัสตูเรียส แคว้นกัสติยาและเลออนทางตะวันตกเฉียงเหนือ และแคว้นกันตาเบรีย ชื่อภาษา อัสตูเรียส-เลออน ไม่เป็นที่นิยมเรียกในหมู่เจ้าของภาษาเนื่องจากภาษานี้ประกอบขึ้นจากแนวต่อเนื่องของภาษาถิ่นหรือวิธภาษาต่าง ๆ ที่เข้าใจซึ่งกันและกันได้ ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามภูมิภาคต่าง ๆ เช่น กันตาเบรีย, เลออน, อัสตูเรียส หรือ มีรังดา (ในประเทศโปรตุเกส) บางครั้งก็มีผู้นับว่าภาษาเอซเตรมาดูราอยู่ในแนวต่อเนื่องนี้ด้วยเช่นกัน
ภาษาอัสตูเรียส-เลออนเป็นภาษาหนึ่งในสาขาไอบีเรียตะวันตกที่ค่อย ๆ พัฒนามาจากภาษาละตินสามัญที่ใช้กันในราชอาณาจักรเลออน กลุ่มภาษาอัสตูเรียส-เลออนแบ่งออกเป็นวิธภาษาหลักสามวิธภาษา (ตะวันตก กลาง และตะวันออก) ซึ่งรวมกันเป็นภูมิภาคทางภาษาอัสตูเรียส-เลออนในแนวตั้งจากแคว้นอัสตูเรียส ผ่านภูมิภาคเลออน ไปจนถึงภาคเหนือของประเทศโปรตุเกสและแคว้นเอซเตรมาดูรา ภาษาถิ่นกันตาเบรียทางทิศตะวันออกและภาษาเอซเตรมาดูราทางทิศใต้เป็นรูปแปรของภาษาอัสตูเรียส-เลออนที่มีร่องรอยการเปลี่ยนผ่านทางภาษาไปสู่แวดวงภาษากัสติยา
ภาษาเลออน (มักใช้ชื่อนี้ปนกันกับชื่อ อัสตูเรียส-เลออน) เคยถูกมองว่าเป็นภาษาถิ่นไม่ทางการ (มูลภาษณ์) ที่มีวิวัฒนาการมาจากภาษากัสติยา แต่ใน ค.ศ. 1906 รามอน เมเนนเดซ ปิดัล นักนิรุกติศาสตร์สเปน ได้แสดงให้เห็นว่าภาษานี้มีวิวัฒนาการมาจากภาษาละตินอย่างเป็นเอกเทศโดยมีรูปแบบเด่นจำแนกแรกเริ่มสุดในสมัยราชอาณาจักรเลออน[3][4][5] อิเนส เฟร์นันเดซ-ออร์ดอญเญซ นักวิชาการชาวสเปนให้ข้อสังเกตว่า เมเนนเดซ ปิดัล ยืนหยัดอยู่เสมอว่าภาษาสเปน (หรือ ภาษาสเปนร่วม ตามที่เขาเรียกในบางครั้ง) มีวิวัฒนาการมาจากฐานภาษากัสติยาซึ่งต่อมาจะซึมซับหรือผสานเข้ากับภาษาเลออนและภาษาอารากอน[6] ในผลงาน อิสโตเรียเดลาเลงกัวเอสปัญโญลา ("ประวัติศาสตร์ภาษาสเปน") และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอลเอสปัญโญลเอนซุสปริเมโรสติเอมโปส ("ภาษาสเปนในยุคแรก") เมเนนเดซ ปิดัล อธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการนี้โดยคำนึงถึงอิทธิพลที่ภาษาเลออนและภาษาอารากอนมีต่อการเริ่มต้นของภาษาสเปนถิ่นกัสติยาสมัยใหม่
ภาษาอัสตูเรียส-เลออนได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากแคว้นกัสติยาและเลออนใน พ.ศ. 2549 ส่วนในแคว้นอัสตูเรียส ภาษานี้ได้รับการคุ้มครองภายใต้ธรรมนูญการปกครองตนเองของแคว้น ภาษานี้ยังเป็นวิชาเลือกวิชาหนึ่งในโรงเรียนที่ซึ่งมีการเรียนการสอนกันอย่างแพร่หลาย[7]
ในโปรตุเกส ภาษามีรังดาซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับภาษาอัสตูเรียส-เลออนได้รับการรับรองจากรัฐสภาโปรตุเกสให้เป็นภาษาทางการร่วมกับภาษาโปรตุเกสสำหรับกิจการท้องถิ่น[8] และมีการเรียนการสอนในโรงเรียนรัฐบาลในพื้นที่ที่ใช้ภาษามีรังดาเป็นภาษาแม่ แต่เดิมเชื่อกันว่าภาษามีรังดาเป็นภาษาถิ่นไม่ทางการภาษาหนึ่งของภาษาโปรตุเกส แต่ฌูแซ ไลตึ ดึ วัชกงแซลุช นักชาติพันธุ์วรรณนาชาวโปรตุเกส ได้ศึกษาภาษานี้และสรุปว่าเป็นคนละภาษากัน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Nordhoff, Sebastian; Hammarström, Harald; Forkel, Robert; Haspelmath, Martin, บ.ก. (2013). "อัสตูเรียส-เลออน". Glottolog 2.2. Leipzig: Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology.
- ↑ Nordhoff, Sebastian; Hammarström, Harald; Forkel, Robert; Haspelmath, Martin, บ.ก. (2013). "เอซเตรมาดูรา". Glottolog 2.2. Leipzig: Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology.
- ↑ Menéndez Pidal, R (1906): "El dialecto Leonés", Revista de Archivos, Bibliotecas y Museos 2–3: 128–141.
- ↑ UNESCO Interactive Atlas of the World's Languages in Danger. เก็บถาวร สิงหาคม 28, 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Ethnologue report for Spain เก็บถาวร สิงหาคม 30, 2006 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ↑ Fernández Ordóñez, "Menéndez Pidal and the beginnings of Ibero-Romance dialectology: a critical survey one century later". In: Ramón Menéndez Pidal after Forty Years: A Reassessment / ed. Juan Carlos Conde, 2010, pp. 113–145, 11–41.
- ↑ Euromosaic report, Lexikon der romanitischen Linguistik 6.I:652-708
- ↑ "Lei 7/99, 1999-01-29". Diário da República Eletrónico (ภาษาโปรตุเกส). สืบค้นเมื่อ 2020-01-24.