ข้ามไปเนื้อหา

เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร
ข้อมูลส่วนบุคคล
ชื่อเล่นอ๊อต
เกิด17 กรกฎาคม พ.ศ. 2509 (58 ปี)
นครราชสีมา ประเทศไทย
ข้อมูลการฝึกสอน
ทีมที่เป็นผู้ฝึกสอนในอดีต
ปีทีม
2541-ปัจจุบันวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย
ข้อมูล
ตำแหน่งตัวตบตรงข้ามหัวเสา
หมายเลข11
ทีมชาติ
2526–2541วอลเลย์บอลชายทีมชาติไทย

จ่าอากาศเอก เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร ชื่อเล่น อ๊อต หัวหน้าผู้ฝึกสอนวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2541 จนถึง ปัจจุบัน[1] และอดีตนักกีฬาวอลเลย์บอลชายทีมชาติไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2526-2541

ประวัติ

[แก้]

โค้ชอ๊อต เกิดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2509 ที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา จบจากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยรุ่นที่ 80 จบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ ภาควิชาพลศึกษา เริ่มเล่นวอลเลย์บอลครั้งแรก เมื่ออายุ 14 ปี โดยมีคุณพ่อ คือ ไสว รัชตเกรียงไกร อดีตนักวอลเลย์บอลของนครราชสีมา เป็นคนคอยดูแลอย่างใกล้ชิด และด้วยความที่มีคุณพ่อเป็นนักวอลเลย์บอล จึงทำให้โค้ชอ๊อต เดินตามรอยได้อย่างรวดเร็ว และเริ่มติดทีมชาติชุดใหญ่เมื่ออายุ 17 ปี

จนกระทั่งโค้ชอ๊อต อายุ 19 ปี ก็ได้เป็นหนึ่งใน 12 ขุนพลลุยศึกซีเกมส์ 1985 (พ.ศ. 2528) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยก่อนหน้าการแข่งขัน โค้ชอ๊อตถูกฝึกอย่างหนัก นอกจากซ้อมตามโปรแกรมแล้ว ยังถูกซ้อมแบบเฉพาะตัวอีกด้วย ซึ่งจุดประสงค์ที่โค้ชอ๊อดถูกซ้อมหนักเช่นนี้ เป็นเพราะต้องการสร้างความแข็งแกร่งให้สามารถรับมือกับศึกใหญ่ได้ และการฝึกซ้อมอย่างหนักครั้งนี้ ก็ถือว่าได้ผล เพราะทีมวอลเลย์บอลชายไทยสามารถคว้าเหรียญทองได้เป็นครั้งแรกในรอบ 26 ปี และเป็นครั้งแรกที่เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร ได้รับรางวัลสูงสุดในฐานะผู้เล่นทีมชาติ

หลังจากผ่านซีเกมส์ครั้งนี้มาได้ โค้ชอ๊อตก็ติดทีมวอลเลย์บอลชายมาโดยตลอด สามารถคว้าเหรียญทองซีเกมส์ได้อีก 1 สมัยในปี 1995 (พ.ศ. 2538), เหรียญเงิน 3 สมัย ในปี 1991 (พ.ศ. 2534), 1993 (พ.ศ. 2536) และ 1997 (พ.ศ. 2540) และเหรียญทองแดง 2 สมัย ในปี 1987 (พ.ศ. 2530), 1989 (พ.ศ. 2532) นอกจากนี้ โค้ชอ๊อดยังได้แข่งขันในรายการอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากซีเกมส์อีกด้วย อาทิ เอเชียนเกมส์ 1990 (พ.ศ. 2533), 1994 (พ.ศ. 2537) และ 1998 (พ.ศ. 2541) และการปิดฉากชีวิตนักวอลเลย์บอลด้วยการนำทีมชายไปแข่งขันชิงแชมป์โลก ปี 1998 ได้สำเร็จ ในฐานะตัวแทนทวีปเอเชีย

นอกจากนี้ โค้ชอ๊อดยังได้แข่งขันในรายการอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากซีเกมส์อีกด้วย อาทิ เอเชียนเกมส์ 1990 (พ.ศ. 2533), 1994 (พ.ศ. 2537) และ 1998 (พ.ศ. 2541) และการปิดฉากชีวิตนักวอลเลย์บอลด้วยการนำทีมชายไปแข่งขันชิงแชมป์โลก ปี 1998 ได้สำเร็จ ในฐานะตัวแทนทวีปเอเชีย

ด้านงานผู้ฝึกสอน โค้ชอ๊อดเคยคุมทีมวอลเลย์บอลชายมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในช่วงที่เป็นนิสิต หลังจากนั้นก็ทำทีมวอลเลย์บอลชายอีกหลายทีม ก่อนที่จะมาเริ่มต้นเปิดตำนานทีมวอลเลย์บอลหญิงยุคดรีมทีม 2001 โดยมีจุดมุ่งหมายสร้างทีมวอลเลย์บอลหญิงชุดเล็ก เพื่อดันขึ้นสู่ชุดใหญ่ ทดแทนรุ่นพี่ตัวสำคัญ เช่น ปริม อินทวงศ์, มาลินี คงทัน, บุษบรรณ พระแสงแก้ว, แอนณา ไภยจินดา ฯลฯ ที่เตรียมตัวจะปลดระวางไปตามวัยในอีกไม่นานนัก

สำหรับโครงการนี้ จะคัดดาวเด่นที่มีแววพอปั้นได้ อายุประมาณ 15-17 ปี มาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันที่ จ.ยะลา และฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วง ภายใต้จุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ติด 1-4 ของเอเชีย หรือสามารถต่อสู้กับทีมระดับโลกได้อย่างใกล้เคียง และทีมนักตบสาวยุวชนไทยดรีมทีมชุดนี้ นำโดยนราพร ผงทอง, ปิยมาศ ค่อยจะโป๊ะ ฯลฯ ก็ประเดิมคว้าอันดับ 4 ของเอเชียได้ในปี 2540 ต่อมาไปคว้ารองแชมป์ถางลอง คัพที่เวียดนาม และกลับมาคว้าอันดับ 5 ศึกยุวชนหญิงชิงแชมป์โลก ซึ่งถือว่าเป็นอันดับที่ดีที่สุดเท่าที่เคยร่วมการแข่งขันมา

หลังจากนั้น โค้ชอ๊อตก็ได้รับงานผู้ฝึกสอนทีมวอลเลย์บอลหญิงชุดใหญ่ครั้งแรกในปี 2541 พร้อมกับสร้างประวัติศาสตร์พาทีมเข้าไปเล่นรายการเวิลด์แชมเปียนชิพสำเร็จ ก่อนที่จะจบอันดับที่ 15 ต่อมาในปี 2543 โค้ชอ๊อดก็พาทีมไทยไปลุยศึกเวิลด์ กรังด์ปรีซ์ ได้เป็นครั้งแรก และหลังจากนั้นไทยก็เป็นทีมขาประจำที่ได้ลุยศึกเวิลด์ กรังด์ปรีซ์ มาโดยตลอด ยกเว้นปี 2007 (พ.ศ. 2550) เนื่องจากไทยเป็นเจ้าภาพกีฬามหาวิทยาลัยโลก

หลังจากโค้ชอ๊อตได้รับงานคุมทีมชุดใหญ่ ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยก็พัฒนาขึ้นจนประสบความสำเร็จภายในระยะเวลาไม่นาน เพราะหลังจากโค้ชอ๊อดรับงานเพียงแค่ 3 ปี ก็สามารถพาทีมคว้าเหรียญทองแดงรายการชิงแชมป์เอเชียได้ในปี 2001 (พ.ศ. 2544) ต่อด้วยเหรียญทองแดงในปี 2007 ส่วนความสำเร็จระดับสูงสุด โค้ชอ๊อดต้องใช้เวลาถึง 11 ปีในการสานฝันที่เป็นจริง ด้วยการล้มทีมชาติจีนได้ 3-1 เซต ในศึกชิงแชมป์เอเชียเมื่อปี 2009 (พ.ศ. 2552) ที่เวียดนามเป็นเจ้าภาพ คว้าแชมป์เอเชียมาครองได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

ในปี พ.ศ. 2555 สามารถพาทีมชาติไทยคว้าแชมป์รายการเอเชียน คัพ 2012 ที่ประเทศคาซัคสถานได้ ด้วยการชนะทีมชาติจีน 3-1 เซต และในปีเดียวกันนี้ ทีมวอลเลย์บอลสาวไทยก็สามารถคว้าแชมป์เอเชีย ได้เป็นสมัยที่สอง ในรอบ 4 ปี โดยชนะทีมชาติญี่ปุ่นในรอบชิง 3-0 เซต

ผลงาน

[แก้]

พ.ศ. 2540 ได้รับงานโค้ชเป็นครั้งแรก โดยคุมทีมยุวชนหญิง ซึ่งปีนั้นไทยได้เป็นเจ้าภาพ และคว้าอันดับที่ 5 มาครอง

พ.ศ. 2541 ได้ขึ้นมาเป็นผู้ฝึกสอนวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติชุดใหญ่ และสร้างประวัติศาสตร์พาทีมเข้าไปเล่นรายการเวิลด์แชมป์เปี้ยนชิพ ที่ญี่ปุ่น และได้อันดับที่ 15

พ.ศ. 2543 สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติได้ให้ไทยเป็นทีมวอลเลย์บอลที่มีพัฒนาการยอดเยี่ยมเป็นอันดับที่ 2 ของโลก พาทีมหญิงชุดมหาวิทยาลัยโลก คว้าอันดับที่ 3 ในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกที่จีน และพาทีมผ่านเข้าแข่งขัน รายการเวิลด์กรังปรี เป็น 1-8 ทีมได้สำเร็จ (ปีนั้น ใช้ระบบ 8 ทีม)

พ.ศ. 2552 พาทีมวอลเลย์บอลหญิงคว้าแชมป์ชิงแชมป์เอเชีย ครั้งที่ 15 โดยการโค่นจีน ซึ่งอยู่ในอันดับ 4 ของโลก ในขณะนั้นได้สำเร็จ

พ.ศ. 2554 พาทีมหญิงไทย คว้าอันดับ 6 เวิลด์กรังปรี ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และคว้าอันดับ 4 ในรายการชิงแชมป์เอเชีย

พ.ศ. 2555 พาทีมหญิงไทย คว้าอันดับ 4 เวิลด์กรังปรี ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และคว้าอันดับ 1 ในรายการชิงแชมป์เอเชียนคัพ

พ.ศ. 2556 พาทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย คว้าแชมป์วอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2013 โดยการชนะทีมชาติญี่ปุ่นซึ่งเป็นทีมอันดับ 3 ของโลก และเจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิกครั้งที่ 30 ไป 3-0 เซต

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

ด้านชีวิตส่วนตัว เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร ไม่มีครอบครัวและไม่มีลูกตลอดช่วง 16 ปีของการทำหน้าที่การเป็นผู้ฝึกสอน[2] แต่ปลายปี พ.ศ. 2557 เกียรติพงษ์ ได้ออกมาประกาศว่าตนจะสมรสกับ เฝิง คุน อดีตนักวอลเลย์บอล ตำแหน่งมือเซ็ตทีมชาติจีนชุดโอลิมปิกปี 2004 หลังจากคบหากัน 4 ปี โดยจะเข้ารับพระราชทานน้ำสังข์จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 4 ธันวาคม และจะมีงานเลี้ยงฉลองวันที่ 6 ธันวาคมปีเดียวกันนั้น[3]

ผลงานในระดับอาชีพ

[แก้]

ในฐานะผู้ฝึกสอน

[แก้]
สโมสร ประเทศ พ.ศ.
แสงโสม ไทย ไทย 2549 - 2551
เฟดเดอร์บรอย ไทย ไทย 2552 - 2554
ช้าง ไทย ไทย 2554 - 2555
อิกติซาดชิ บากู อาเซอร์ไบจาน อาเซอร์ไบจาน 2555 - 2556
ปักกิ่ง[4] จีน จีน 2557 - 2561

รางวัลที่ได้รับ

[แก้]
ในฐานะนักกีฬาวอลเลย์บอลชายทีมชาติไทย
ในฐานะผู้ฝึกสอนวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

ผลงานอื่น

[แก้]
  • โค้ชอ๊อต เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร ได้ออกหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คส์เล่มแรกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2556 ใช้ชื่อหนังสือว่า โค้ชอ๊อต

อ้างอิง

[แก้]
  1. FIVB. "THA / Thailand - Team Composition". สืบค้นเมื่อ 2010-12-19.
  2. มาฟังบทสัมภาษณ์ที่โค้ชอ๊อดให้สัมภาษณ์สื่อจีนกัน “โค้ชลูกยางไทยมอบขนมไหว้พระจันทร์ให้ทีมจีน กำลังใจฮึกเหิมสู้พวกเรา”
  3. ""โค้ชอ๊อต" ประกาศสละโสดกับ "เฝิง คุน" อดีตมือเซตทีมชาติจีน". ข่าวสด. 6 ตุลาคม พ.ศ. 2557. สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  4. 'โค้ชอ๊อต' ปัดรับคุมทีมในยุโรป ขอพัก 6 เดือน
  5. "วอลเลย์บอลไทย: ครอบครัวกีฬา โค้ชยุ่น มนต์ชัย สุภจิรกุล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-07. สืบค้นเมื่อ 2013-10-12.
  6. สยามกีฬารายวัน. ปีที่ 28 ฉบับที่ 10155. วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555. หน้า 8
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ให้แก่นักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยและเจ้าหน้าที่ เก็บถาวร 2013-11-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๒๒ ข ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๖ หน้า ๑
  8. "20 นักตบปลื้มรับเครื่องราชฯทำคุณประโยชน์ด้านกีฬา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-10-30.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]