ข้ามไปเนื้อหา

การปฏิวัติเกษตรกรรมในอังกฤษ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รุ่นสำหรับพิมพ์ไม่ได้รับการสนับสนุนอีกต่อไปและอาจมีข้อผิดพลาด โปรดอัปเดตบุ๊กมาร์กและใช้ตัวเลือกสำหรับพิมพ์ที่มีมาให้ในเบราว์เซอร์แทน

การปฏิวัติเกษตรกรรม (อังกฤษ: British Agricultural Revolution) ใช้อธิบายช่วงของการพัฒนาระบบเกษตรกรรมในสหราชอาณาจักรระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ซึ่งสามารถจำกัดความแบบเจาะจงว่า) การปฏิวัติเกษตรกรรมในอังกฤษ เป็นการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรด้วยนวัตกรรมเครื่องจักรการเกษตร การจัดสรรกรรมสิทธิ์และการใช้ประโยชน์จากที่ดินและชลประทาน การปลูกพืชหมุนเวียน การปฏิวัติอาหารสัตว์ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในสังคมชนบท ก่อให้เกิดพื้นฐานข้อกำหนดเบื้องต้นและปัจจัยส่งเสริมสำหรับกระบวนการอุตสาหกรรมที่ตามมา ซึ่งอาจนับได้ว่ามีผลต่อปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงกันนี้เกิดขึ้นทั่วยุโรปตะวันตกในช่วงเวลาถัดมาในศตวรรษที่ 18 (ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ตามลำดับ) และยังส่งผลกระทบต่อรัฐในยุโรปพื้นทวีปและแวดล้อม ในเชิงประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงนี้อาจเรียกว่าเป็น การปฏิวัติเกษตรกรรมครั้งที่สอง (โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในยุคหินใหม่เมื่อประมาณ 10,000-7,000 ปีก่อน — การปฏิวัติยุคหินใหม่[1] [2][3])

ชาวนาปลูกหญ้าแห้งโดยใช้เคียวและคราด ค.ศ. 1510

การปฏิวัติเกษตรกรรมในสหราชอาณาจักรในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ เป็นยุคที่การขยายตัวของผลผลิตทางเกษตรกรรมและผลผลิตสุทธิ ทำลายวงจรการขาดแคลนอาหารในอดีตที่ ทุกทวีปบนโลกต่างเคยเผชิญกับช่วงของสงครามในประวัติศาสตร์ สงครามเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรไม่ให้ขยายตัว เพื่อให้สอดคล้องกับอาณาเขตที่ประชากรเหล่านั้นอาศัยอยู่ สงครามจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการขาดแคลนอาหารเป็นเวลานานช่วงใดช่วงหนึ่ง ซึ่งโดยมากแล้วจะเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานมากกว่าหนึ่งปี รวมไปถึงการที่ทรัพยากรอย่าง สภาพอากาศ, แรงงาน, ทรัพย์สิน, การคมนาคมขนส่ง และอื่นๆ ไม่มีเหลืออยู่หรือไม่สามารถทำให้เกิดการเพาะปลูกขึ้นได้ ต่อมาเมื่อสงครามหรือการขาดแคลนอาหารกลายมาเป็นปัญหาภายในประเทศ ความสามารถในการซื้อและขนส่งอาหารจากดินแดนที่อยู่ห่างไกลออกไปก็เข้ามาบรรเทาผลกระทบจากการขาดแคลนอาหารลงได้ การปฏิวัติเกษตรกรรมบนเกาะบริเตนใหญ่เกิดขึ้นผ่านช่วงเวลาหลายศตวรรษ (ซึ่งเหมือนการวิวัฒนาการมากกว่าจะเป็นการปฏิวัติ) ต่อมาจึงแพร่ขยายไปในประเทศอื่นๆ บนทวีปยุโรปและในอาณานิคมของประเทศเหล่านั้นด้วย สิ่งหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติเกษตรกรรมขึ้นคือการที่อังกฤษพัฒนาระบบที่ดินและการบำรุงรักษาที่ดินซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูก โดยเป้าหมายก็เพื่อที่จะลดการสูญเสียสารอาหารสำหรับพืชในดิน ทำให้ผลผลิตต่อเอเคอร์สูงขึ้นตามลำดับ ชาวนาใช้เครื่องมือการผลิตและเครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มากขึ้นซึ่งช่วยลดการใช้แรงงานคนลงด้วย การปฏิวัติการเกษตรเร่งตัวขึ้นพร้อมกับที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมและความก้าวหน้าทางเคมีก่อให้เกิดความรู้ทางวิทยาศาสตร์, ความมั่งคั่ง และเทคโนโลยี เครื่องจักรการเกษตรอื่นๆ และระบบการค้าขายสารอาหารพืชจึงเกิดขึ้นตามมา พรรณพืชชนิดใหม่อย่างเช่นมันฝรั่ง (ถูกนำเข้ามาประมาณปี ค.ศ. 1600), ข้าวโพด และพืชอื่นๆ ถูกนำมาจากทวีปอเมริกาซึ่งพัฒนาการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกเช่นกัน

การปฏิวัติเกษตรกรรม, การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ถูกพัฒนาไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการปฏิวัติวิทยาศาสตร์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากปริมาณอาหารที่เพิ่มขึ้นซึ่งนำไปหล่อเลี้ยงประชากรที่ขยายตัวตามเมืองใหญ่ นอกจากนี้ด้วยเงินทุน, เครื่องมือ, โลหะ, การขยายตัวของเศรษฐกิจแบบตลาด, ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ ทำให้การปฏิวัติเกษตรกรรมเกิดขึ้นและดำเนินไปได้ จึงกล่าวได้ว่าแต่ละการปฏิวัติข้างต้นช่วยสนับสนุนกระบวนการของกันและกัน เป็นผลให้ทั้งสามการปฏิวัตินี้ยังคงเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ่งมาจนถึงปัจจุบัน

จุดกำเนิด

การพัฒนาเครื่องจักรกลในการปฏิวัติการเกษตร: เครื่องเก็บเกี่ยวในปี ค.ศ. 1881

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการปฏิวัติเกษตรกรรมในเกาะบริเตน ได้แก่

  • การเพิ่มจำนวนประชากรในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เนื่องจากความก้าวหน้าทางสาธารณสุข เช่น การคิดค้นวัคซีนป้องกันฝีดาษของเอดเวิร์ส เจนเนอร์ ที่ทำให้อัตรการตายของทารกลดลง และการสมรสของหนุ่มสาวน้อยลง จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้ความต้องการด้านอาหาร, เครื่องนุ่งห่ม และวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมขยายตัวเกิดความจำเป็นต้องปรับปรุงวิธีการผลิต การเก็บรักษาผลผลิต รวมไปถึงการขนส่งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดที่ขยายตัว
  • ประชาชนสนใจให้ใช้ประโยชน์จากที่ดินเพิ่มขึ้น การที่สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้นตามการเพิ่มของอุปสงค์ทำให้เกษตรกรและเจ้าของที่ดินมีรายได้สูงขึ้น ในบางประเทศเช่นอังกฤษใช้กรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินเป็นเครื่องกำหนดสิทธิคือมีข้อบัญญัติ ค.ศ. 1731 ว่า "ผู้เป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่และมีรายได้จากที่ดิน 600 ปอนด์สเตอร์ลิงขึ้นไป มีสิทธิ์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" ซึ่งเป็นเหตุจูงใจให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพิ่มขึ้น
  • ปัญหาการบำรุงรักษาความสมบูรณ์ของดิน วิธิดั้งเดิมของเกษตรกร คือ ระบบนา 2 แปลง หรือระบบนา 3 แปลง ทำให้ใช้ประโยชน์ที่ดินได้ไม่เต็มที่ ต้องปล่อยที่ดินว่างเปล่าส่วนหนึ่งทุกปี เพราะความต้องการของผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้เกิดความจำเป็นต้องการที่ดินทุกตารางนิ้วในการผลิต และแก้ปัญหาคุณภาพดินโดยการปลูกพืชหมุนเวียนซึ่งเริ่มที่เนเธอแลนด์ก่อน วิธีการปลูกพืชหมุนเสียนทำให้ดินสมบูรณ์ขึ้น จนเป็นมาตรฐานการเกษตรในยุคต่อมา
  • การคิดค้นเครื่องจักรและเทคโนโลยีในการเกษตรแบบใหม่ เช่น เครื่องหว่านข้าว เครื่องขุดหลุมฝังเมล็ดพืช ระบบปลูกข้าวหมุนเวียนทำให้เกษตรกรต้องหันมาปรับปรุงการเกษตรจนกลายเป็นกิจกรรมในระบบทุนนิยม เช่นเดียวกับอุตสาหกรรม
  • การที่ธนาคารและสถาบันการเงินมีความมั่นคงและส่งเสริมเกษตรกรทำให้ผู้ประกอบการผลิตในภาคเกษตรกรรมสามารถกู้เงินมาดำเนินธุรกิจที่ขยายตัว ซึ่งต้องลงทุนมากไม่แพ้อุตสาหกรรม เกษตรกรกลายเป็นนักธุรกิจกลุ่มใหม่ของระบบทุนนิยม

ผลกระทบ

การปฏิวัติเกษตรกรรมส่งผลกระทบอย่างยิ่งในยุโรปและดินแดนอาณานิคมของยุโรปดังนี้

  • ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ และทำให้การค้าระหว่างประเทศขยายตัว พืชบางชนิดส่งเพื่อเป็นสินค้าออก เช่น ต้นฮอพในการหมักเบียร์ ต้นป่านในการทอผ้า ผลผลิตทางธัญพืชของอังกฤษและเวลส์ เพิ่มจาก 14.8 ล้านควอเตอร์ เป็น 16.5 ล้านควอเตอร์ และอังกฤษส่งผลิตภัณฑ์สิ่งทอขนสัตว์ออกนอกเพิ่มจาก 12.5 ล้านปอนด์สเตอร์ลิงต่อปีเป็น 35 ล้านปอนด์สเตอร์ลิงต่อปี การส่งผลผลิตทางการเกษตรจากดินแดนโพ้นทะเลมาแย่งตลาดยุโรป ทำให้ยุโรปตั้งกำแพงภาษีและห้ามเรือสินค้าเข้าเทียบท่า เพิ่อกีดกันสินค้าเกษตรจากดินแดนอาณานิคม
  • ประชากรมีสุขภาพดีขึ้นเพราะมีอาหารเพียงพอและมีคุณภาพ ระบบการผลิตทางเกษตรกรรมถูกสุขลักษณะและมีการใช้เครื่องทุ่นแรงมากขึ้น เกษตรกรมีอาหาร, มีเวลาว่าง และมีรายได้เพิ่มขึ้น เกษตรกรรมเป็นแหล่งอาหาร, วัตถุดิบ และแรงงานให้กับกิจการอุตสาหกรรม
  • การปฏิวัติได้เปลี่ยนโฉมหน้าเทคโนโลยีและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต เช่น การใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างเต็มที่, การปรับปรุงชลประทาน, การระบายน้ำ, การขนส่ง, ระบบสินเชื่อของธนาคาร และสถาบันการเงิน เพิ่อส่งเสริมกิจการทางการเกษตรเป็นต้น สิ่งที่น่าสนใจคือบุคคลชั้นผู้นำของดินแดนต่างๆ ล้วนส่งเสริมและสนับสนุนความก้าวหน้าของการเกษตร เช่น สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งบริเตนใหญ่, นายพลเดอลาฟาแยตต์แห่งฝรั่งเศส และประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตันแห่งสหรัฐอเมริกา

ในช่วงปฏิวัติเกษตรกรรมนั้นมีการเปลี่ยนแปลงระบบของเกษตรกรรมไปพร้อมๆ กัน มีการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การคัดเลือกพันธุ์พืชและสัตว์ดีขึ้น, การเปลี่ยนแปลงระบบการถือครองที่ดิน และการบุกเบิกการเกษตรในที่ดินโพ้นทะเล ผลที่ตามมาก็คือความชำนาญผลิตสินค้าการเกษตรเฉพาะอย่าง เช่น การใช้เครื่องจักรในการเกษตรมากขึ้น การแบ่งงานกันทำในกิจกรรมเกษตร การลงทุนด้านเครื่องจักร และเทคนิคการเกษตรพิ่มคุณภาพของดิน จึงสามารถสรุปได้ว่าการปฏิวัติเกษตรกรรมคือการเปลี่ยนแปลงและการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตทางการเกษตร โดยเปลี่ยนแปลงด้านระบบและเทคนิคการผลิตในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 การเกษตรมีลักษณะเป็นทุนนิยมมากขึ้น สินค้าเฉพาะอย่างถูกผลิตเพื่อตลาดภายในและภายนอกประเทศ เกษตรกรผู้ถือครองที่ดินขนาดใหญ่ต้องลงทุนด้านเครื่องจักรและจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น เกิดการเกษตรเพื่อการค้าขนาดใหญ่ เช่น ในอังกฤษ, รัฐเยอรมันแถบตะวันออก, บางส่วนของรัสเซีย และแถบลุ่มแม่น้ำโปของอิตาลี ส่วนดินแดนนอกยุโรป ได้แก่ แถบที่ราบใหญ่ของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา, เขตทุ่งหญ้าแพมเฟอร์ในอาเจนตินาและออสเตรเลีย ในเขตการเกษตรขนาดเล็กตามลักษณะการถือครองที่ดิน เช่น ฝรั่งเศส, รัฐเยอรมันแถบตะวันตก, เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ เกษตรกรไม่อาจรับเทคนิคใหม่และเครื่องจักรในการเกษตรเพราะกิจการเล็กเกินไป แต่ใช้วิธีเลือกเพาะปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ที่ให้ผลผลิตราคาสูงต่อหน่วยพื้นที่ขนาดเล็กและผลิตแบบใช้แรงงานต่อหน่วยสูงแต่ลงทุนน้อย เช่น ผลิตภัณฑ์นม, ไข่, ผักสด, ดอกไม้ และผลไม้

ผลกระทบในประเทศไทย

อาจได้รับแนวคิดของการจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน การใช้ประโยชน์จากที่ดิน และปรับปรุงขยายระบบชลประทานขนาดใหญ่จากในยุโรปมาใช้ ในที่ราบลุ่มบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา มีการพัฒนาระบบชลประทานเพื่อการเกษตรและการจัดสรรที่ดินให้ประชาชนทั่วไปจับจองอย่างเป็นระบบ โดยในปี พ.ศ.2413 ได้ประกาศใช้ “พระราชบัญญัติธรรมเนียมคลอง” และ "ประกาศขุดคลอง" ในปี พ.ศ.2420 ซึ่งได้นำมาใช้กับโครงการขุดคลองต่าง ๆ ที่อยู่ทางบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งอนุญาตให้จัดการด้านต่างๆ เพื่อการบำรุงรักษาคลองนั้นด้วย จึงมีบริษัทเอกชนเกิดขึ้นได้แก่ บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2431 จำนวนคลองต่าง ๆ ที่ขุดมีประมาณ 50 สาย ความยาวรวมกัน ประมาณ 22,879 เส้น 17 วา 3 ศอก โดยมีระยะเวลาดำเนินการขุดในช่วงสัมปทานเป็นเวลา 25 ปี ซึ่งต่อมาได้โอนมาเป็นของรัฐบาลและกรมชลประทานได้รับมาเป็นผู้ดำเนินการต่อ ภายหลังหมดอายุสัมปทาน[4][5]

อ้างอิง

  • Harrison, L F C (1989). The Common People, a History from the Norman Conquest to the Present. Glasgow: Fontana. ISBN 000686136. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |isbn=: length (help)
  • Kagan, Donald (2004). The Western Heritage. London: Prentice Hall. pp. 535–539. ISBN 0-13-182839-8.
  • Overton, Mark (19 September 2002). Agricultural Revolution in England 1500 - 1850. Cambridge, England: Cambridge University Press. ISBN 0-521-56859-5.
  • Snell, K.D.M (1985). Annals of the Labouring Poor, Social Change and Agrarian England 1660–1900. Cambridge University Presslocation=Cambridge, UK. ISBN 0-521-24548-6.
  • Thirsk, Joan. "'Blith, Walter (bap. 1605, d. 1654)'". Oxford Dictionary of National Biography, Oxford University Press, 2004; online edn, Jan 2008. สืบค้นเมื่อ 2 September 2011.
  • Valenze, Deborah (1995). The First Industrial Woman. Oxford Oxfordshire: Oxford University Press. p. 183. ISBN 0-19-508981-2.
  1. Barker, Graeme. (2006). The agricultural revolution in prehistory : why did foragers become farmers?. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-155766-8. OCLC 607806028.
  2. National Geographic ฉบับภาษาไทย. การปฏิวัตินีโอลิทิค คืออะไร อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 12 เมษายน 2562.
  3. บทที่ 1 ประวัติการกสิกรรม[ลิงก์เสีย] ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2563.
  4. โฉลก ภมรประวัติ ประวัติการชลประทานในประเทศไทย เก็บถาวร 2020-08-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน. สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2563.
  5. กองวิจัยและพัฒนาข้าว การชลประทานกับนาข้าว เก็บถาวร 2020-09-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน อ้างอิง สถาบันวิจัยข้าว. 2545. วิวัฒนาการการผลิตข้าวไทย. กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.142 หน้า. สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2563.