ความจำสั้น แต่รักฉันยาว
ความจำสั้น แต่รักฉันยาว | |
---|---|
กำกับ | ยงยุทธ ทองกองทุน |
บทภาพยนตร์ | อมราพร แผ่นดินทอง นนตรา คุ้มวงศ์ |
อำนวยการสร้าง | ฝ่ายงานสร้าง ยงยุทธ ทองกองทุน เช่นชนนี สุนทรศารทูล สุวิมล เตชะสุปินัน ฝ่ายบริหาร ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม บุษบา ดาวเรือง วิสูตร พูลวรลักษณ์ จินา โอสถศิลป์ |
นักแสดงนำ | อารักษ์ อมรศุภศิริ ญารินดา บุนนาค ศันสนีย์ วัฒนานุกูล กฤษณ์ เศรษฐธำรงค์ |
บริษัทผู้สร้าง | จอกว้าง ฟิล์ม |
ผู้จัดจำหน่าย | จีทีเอช |
วันฉาย | 5 มีนาคม พ.ศ. 2552 |
ความยาว | 112 นาที |
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
ทำเงิน | 49.1 ล้านบาท |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากฐานข้อมูลภาพยนตร์ไทย | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
ความจำสั้น แต่รักฉันยาว (อังกฤษ: Best of Times) เป็นภาพยนตร์ไทยแนวโรแมนติก/ดราม่า มีกำหนดเข้าฉายในโรงภาพยนตร์วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2552 กำกับโดย ยงยุทธ ทองกองทุน โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์สั้นเรื่อง เวลา…รัก โดย ขนิษฐา ขวัญอยู่[1] ภาพยนตร์ทำรายได้ 49.1 ล้านบาท[2]
นักแสดง
- อารักษ์ อมรศุภศิริ (เป้ สเลอ) รับบท "เก่ง"
- ญารินดา บุนนาค รับบท "ฝ้าย"
- ศันสนีย์ วัฒนานุกูล รับบท "ป้าสมพิศ"
- กฤษณ์ เศรษฐธำรงค์ รับบท "ลุงจำรัส"
เนื้อเรื่อง
8 ปีก่อน เก่ง (อารักษ์ อมรศุภศิริ) ขอร้องให้โอม (เจมส์ อเล็กซานเดอร์ แม็คกี้) ช่วยแต่งเพลงให้กับหญิงสาวที่ชอบในขณะที่เรียนกวดวิชาโดยที่ไม่รู้ว่าหญิงสาวที่ตนแอบชอบมาตลอดนั้นคือ ฝ้าย (ญารินดา บุนนาค) แฟนของโอมเพื่อนสนิทของเขา เก่งเลยผิดหวังในความรักครั้งแรก 8 ปีต่อมา เก่งกับโอมไปเที่ยวสังสรรค์ที่ผับจนเมาและโดนข้อหาเมาแล้วขับ ทั้งคู่ติดคุกโอมโทรให้ฝ้ายมาประกันตัว เก่งจึงได้พบฝ้ายอีกครั้ง ระหว่างเดินทางกลับฝ้ายขับรถไปชนสุนัขตัวหนึ่งที่อยู่ข้างทาง ฝ้ายสงสารมากจึงเก็บมาเลี้ยงที่คลินิกของเก่งซึ่งเป็นสัตวแพทย์อยู่ โดยตั้งชื่อให้สุนัขตัวนั้นว่าสะพานลอย เก่งถูกให้มาบำเพ็ญประโยชน์โดยการสอนคอมพิวเตอร์ผู้สูงอายุแทนครูคนเก่าที่ตั้งท้องอยู่ เก่งได้พบเจอกับความรักของป้าสมพิศ (ศันสนีย์ วัฒนานุกูล) และลุงจำรัส (กฤษณ์ เศรษฐธำรงค์) หญิงชายสูงอายุที่พบรักกันในห้องเรียนคอมพิวเตอร์ โดยเก่งได้รู้ภายหลังว่าครอบครัวของทั้งสองฝ่ายไม่พอใจที่ทั้งสองคบกัน วันหนึ่งป้าสมพิศได้ออกจากบ้านไปเที่ยวชุมพรซึ่งเป็นบ้านของลุงจำรัสโดยที่ไม่ได้บอกทางครอบครัว ทำให้ทางครอบครัวของป้าสมพิศเป็นห่วงอย่างมาก เก่งเลยโกหกทางครอบครัวของป้าสมพิศ ว่ากลุ่มนักเรียนของตนได้จัดทัวร์ไปเที่ยวเกาะและจะไปชุมพร ฝ้ายเมื่อรู้ว่าเก่งมีความจำเป็นที่ต้องไปชุมพรมากเลยอาสาขับรถไปให้ เมื่อทั้งคู่ถึงบ้านสวนของลุงจำรัสก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีโดยการได้กินผลไม้จากสวน ทั้งคู่ได้พูดคุยกับป้าสมพิศ คืนหนึ่ง ลุงจำรัสออกไปหาผลไม้มาให้รับประทาน ตอนกลับลุงลืมว่าเดินมาทางไหน จนกว่าจะกลับมาได้ก็ใช้เวลานานหลายชั่วโมง วันต่อมาลุงจำรัสได้แนะนำให้เก่งกับฝ้ายรู้จักกับต้นชมพู่มะเหมี่ยวที่เปรียบเหมือนแรงบันดาลใจให้ลุงจำรัสมีกำลังได้สู้ต่อไป คืนนั้นเก่งกับฝ้ายไปขึ้นเรือหมึกด้วยกัน เก่งจึงได้รู้ว่าโอมกำลังจะแต่งงานใหม่ ฝ้ายจึงโทรไปต่อว่าโอมอย่างรุนแรง เก่งกับฝ้ายจึงถกเถียงกันในเรื่องความรักในสมัยก่อน ฝ้ายจึงรู้ว่าเก่งแอบชอบตนมาโดยตลอดโดยไม่มีวันลืม ด้วยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ทำให้ฝ้ายเกิดจูบเก่งขึ้นมา วันรุ่งขึ้นเก่ง ฝ้ายและป้าสมพิศเดินทางกลับกรุงเทพ พอส่งป้าสมพิศที่บ้านเสร็จ เก่งกับฝ้ายก็ถกเถียงกันเรื่องความรักระหว่างโอมกับฝ้าย ทำให้ฝ้ายเสียใจเป็นอย่างมาก เก่งกับโอมพ้นโทษจากบำเพ็ญประโยชน์ เก่งได้พูดคุยกับโอมทำให้รู้ว่าโอมนั้นแต่งงานกับคนอื่น เพราะว่าโอมคิดว่าฝ้ายนั้นยังไม่ใช่สำหรับตน ในระหว่างที่เขากำลังพูดคุยกับนักเรียนคนอื่นๆ ป้าสมพิศได้เดินเข้ามาถามถึงลุงจำรัส เมื่อไม่พบเก่งจึงตัดสินใจประกาศหาคนหาย สุดท้ายก็พบลุงซึ่งตอนนี้ลุงป่วยเป็นอัลไซเมอร์ในระยะเริ่มต้น ป้าสมพิศเมื่อรู้ก็ตกใจและเสียใจมาก เมื่อบ้านสวนของลุงจำรัสกำลังจะถูกขาย เก่งยังอยากให้เหลือสิ่งที่ลุงจำรัสรักไว้ จึงร่วมมือกับฝ้ายตัดต้นชมพู่มะเหมี่ยวแล้วขนย้ายจากชุมพรมาที่บ้านของลุงจำรัส ลุงจำรัสมาเห็นก็รู้สึกดีใจ ป้าสมพิศกับลุงจำรัสมีโอกาสได้คุยกัน เพราะป้าสมพิศกำลังจะเดินทางไปอเมริกาเพื่อไปอยู่กับลูกที่นั่นอย่างถาวร ลุงจำรัสบอกว่าป้าสมพิศไปอเมริกา และบอกว่าสักวันคนเราก็ลืมกันได้ ป้าสมพิศจึงตัดสินใจเดินทางไปอเมริกา ลุงจำรัสไดัติดต่อกับป้าสมพิศทาง msn ทำให้เขาทั้งคู่ได้มีความสุขกันอีกครั้ง ทางเก่งกับฝ้ายก็ตกลงเป็นแฟนกัน ทั้งคู่ลงความเห็นว่า ในเมื่อประกาศหาเจ้าของ สะพานลอย ไม่พบก็ตัดสินเลี้ยงเองเลยแล้วกัน เพราะยังไงสะพานลอยก็คงลืมเจ้าของของมันแล้ว
เพลงประกอบภาพยนตร์
- "จะได้ไม่ลืมกัน" ขับร้องโดย ธงไชย แมคอินไตย์
- "อยากลืมกลับจำ" ขับร้องโดย ญารินดา บุนนาค
- "หมดชีวิต (ฉันให้เธอ)" ขับร้องโดย ซีล Feat.บัวชมพู ฟอร์ด
- "นาฬิกาตาย" ขับร้องโดย บอดี้สแลม
- "ความทรงจำ" ขับร้องโดย วิทย์สรัช สุขวัฒนศิริ
- "จำฉันได้หรือเปล่า" ขับร้องโดย ช็อคโกแลตคิท
- "คิดถึง" ขับร้องโดย พีซเมกเกอร์
- "จำตัวเองได้ไหม" ขับร้องโดย เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์
- "ความจำสั้น" ขับร้องโดย วิตดิวัต พันธุรักษ์
- "เตือนความจำ" ขับร้องโดย ปองศักดิ์ รัตนพงษ์
- "ลืมไม่เป็น" ขับร้องโดย อรรถพล ประกอบของ
- "เหงา คิดถึง รอ" ขับร้องโดย เสกสรร ศุขพิมาย
- "ลึกสุดใจ" ขับร้องโดย โจ และ ก้อง
- "ความทรงจำ" ขับร้องโดย เสาวลักษณ์ ลีละบุตร
- "รักยุคไฮเทค" ขับร้องโดย สวีทนุช
อ้างอิง
- ↑ "'อาบัติ' กับตัวอย่างแรกสุดหลอนสะท้อนความจริงสังคม". ผู้จัดการออนไลน์. 18 September 2015. สืบค้นเมื่อ 19 September 2015.
- ↑ หนังไทยไตรมาสสี่ deknang.com