ข้ามไปเนื้อหา

การ์โลส อัลการัซ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การ์โลส อัลการัซ
อัลการัซในปี 2024
ชื่อเต็มการ์โลส อัลการัซ การ์เฟีย
ประเทศ (กีฬา) สเปน
ถิ่นพำนักวิลเยนา สเปน
วันเกิด (2003-05-05) 5 พฤษภาคม ค.ศ. 2003 (21 ปี)
เอลปัลมาร์ สเปน
ส่วนสูง1.83 m (6 ft 0 in)[1]
เทิร์นโปร2018
การเล่นมือขวา (แบคแฮนด์สองมือ)
ผู้ฝึกสอนฆวน การ์โลส เฟร์เรโร
เงินรางวัลUS$28,934,769[2]
เดี่ยว
สถิติอาชีพ194–52 (78.9%)[a]
รายการอาชีพที่ชนะ15
อันดับสูงสุดNo. 1 (12 กันยายน 2022)
อันดับปัจจุบันNo. 3 (10 มิถุนายน 2024)[3]
ผลแกรนด์สแลมเดี่ยว
ออสเตรเลียนโอเพนรอบก่อนรองชนะเลิศ (2022)
เฟรนช์โอเพนชนะเลิศ (2024)
วิมเบิลดันชนะเลิศ (2023, 2024)
ยูเอสโอเพนชนะเลิศ (2022)
การแข่งขันอื่น ๆ
Tour Finalsรอบรองชนะเลิศ (2023)
Olympic Gamesรองชนะเลิศ (2024)
คู่
สถิติอาชีพ3–3 (50.0%)[a]
รายการอาชีพที่ชนะ0
อันดับสูงสุดNo. 519 (9 May 2022)
รายการเหรียญรางวัล
อัปเดตล่าสุดเมื่อ: 9 กันยายน 2024

การ์โลส อัลการัซ การ์เฟีย (สเปน: Carlos Alcaraz Garfia, ออกเสียง: [ˈkarlos alkaˈɾaθ];[4] เกิด: 5 พฤษภาคม ค.ศ. 2003) เป็นนักเทนนิสอาชีพชายชาวสเปน มือวางอันดับ 3 ของโลกคนปัจจุบัน และเคยครองตำแหน่งมือวางอันดับหนึ่งรวม 36 สัปดาห์ อัลการัซคว้าแชมป์ในประเภทชายเดี่ยวของเอทีพี 15 รายการซึ่งรวมถึงแชมป์แกรนด์สแลม 4 รายการ และแชมป์เอทีพี มาสเตอร์ 1000 อีก 5 รายการ[5] เขาได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักเทนนิสที่เก่งที่สุด รวมทั้งเป็นหนึ่งในผู้เล่นอายุน้อยที่น่าจับตามองที่สุดในปัจจุบัน[6][7][8]

อัลการัซเริ่มเล่นอาชีพครั้งแรกใน ค.ศ. 2018 ในวัย 15 ปี ด้วยพัฒนาการอันยอดเยี่ยมส่งผลให้เขาขึ้นสู่ 100 อันดับแรกของโลกในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021 สองเดือนถัดมาเขาชนะเลิศการแข่งขันรายการแรกที่โครเอเชีย ก่อนจะชนะเลิศรายการระดับเอทีพี 500 ครั้งแรกที่รีโอเดจาเนโรในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 ตามด้วยการคว้าแชมป์ใหญ่ครั้งแรกด้วยการชนะการแข่งขันมาสเตอร์ 1000 ที่ไมแอมีด้วยวัย 18 ปี และแชมป์มาสเตอร์รายการที่สองที่มาดริด ซึ่งเขาเอาชนะผู้เล่นระดับโลกอย่างราฟาเอล นาดัล, นอวาก จอกอวิช และ อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ ทำให้เขาขึ้นสู่ 10 อันดับแรกของโลก ในช่วงปลายปีเขาชนะเลิศแกรนด์สแลมครั้งแรกในยูเอสโอเพน และขึ้นสู่มือวางอันดับ 1 ของโลกครั้งแรก ทำสถิติเป็นผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดที่ขึ้นสู่ตำแหน่งอันดับ 1 ด้วยวัย 19 ปี 4 เดือน และ 6 วัน[9] และยังจบฤดูกาลด้วยการเป็นผู้เล่นอันดับ 1 ที่อายุน้อยที่สุด ส่งผลให้เขาคว้ารางวัลลอริอุสเวิลด์สปอตส์อะวอดส์ สาขานักกีฬาที่มีพัฒนาการยอดเยี่ยมแห่งปี ใน ค.ศ. 2023 เขาชนะเลิศรายการมาสเตอร์ 1000 อีกสองรายการที่อินเดียน เวลส์ และ มาดริด รวมทั้งแชมป์แกรนด์สแลมรายการที่สองในวิมเบิลดัน ซึ่งเขาเอาชนะมือวางอันดับหนึ่งและแชมป์เจ็ดสมัยอย่างจอกอวิช ใน ค.ศ. 2024 เขาคว้าแชมป์เฟรนช์โอเพนสมัยแรก และกลายเป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุดที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ครบทุกพื้นคอร์ต ตามด้วยการป้องกันแชมป์วิมเบิลดันด้วยการชนะจอกอวิชอีกครั้ง และทำสถิติเป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุดในยุคโอเพนที่คว้าแชมป์เฟรนช์โอเพนและวิมเบิลดันได้ในปีเดียวกัน ตามด้วยการคว้าเหรียญเงินประเภทชายเดี่ยวในโอลิมปิกฤดูร้อน 2024

วัยเยาว์

การ์โลส อัลการัซ การ์เฟีย เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 2003 ในหมู่บ้านเอลปัลมาร์ แคว้นภูมิภาคมูร์เซีย ประเทศสเปน บิดาของเขาคือ การ์โลส อัลการัซ กอนซาเลซ มารดาคือ บีร์ฆิเนีย การ์เฟีย เอสกันดอน อัลการัซมีพี่น้องสามคน เขาเริ่มเล่นเทนนิสเมื่ออายุประมาณ 4 ปี ณ สถาบันฝึกสอน Real Sociedad Club de Campo Murcia ซึ่งบิดาของเขาเป็นผู้อำนวยการอยู่ที่นั่น

การเล่นอาชีพ

2020: ลงแข่งขันในเอทีพีครั้งแรก

ด้วยวัย 16 ปีในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020 อัลการัซลงแข่งขันอาชีพครั้งแรก ณ นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งเขาเอาชนะรุ่นพี่ร่วมชาติอย่างอัลเบร์ต ราโมส บิญโญลัส[10] ในรอบแรกก่อนจะตกรอบที่สองโดยแพ้เฟเดริโก โกเรียจากอาร์เจนตินา

2021: แชมป์รายการแรก และขึ้นสู่ 35 อันดับแรกของโลก

อัลการัซในการแข่งขันแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพน ค.ศ. 2021

ในวัย 17 ปี อัลการัซได้ลงแข่งขันในระดับแกรนด์สแลมครั้งแรกในรายการออสเตรเลียนโอเพน และถือเป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์รายการที่ได้ลงแข่งขันในประเภทชายเดี่ยว[11] เขาผ่านรอบแรกด้วยการเอาชนะโบติค ฟาน เดอ แซนชุลป์จากเนเธอร์แลนด์แต่ตกรอบที่สองโดยแพ้มิคาเอล อีเมอร์ชาวสวีเดน

ต่อมา อัลการัซทำสถิติเป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุดที่คว้าชัยชนะในรายการมาสเตอร์ 1000 คอร์ตดินที่กรุงมาดริด โดยเอาชนะอาเดรียน มานนาริโนจากฝรั่งเศส ทำลายสถิติของราฟาเอล นาดัล ซึ่งมีอายุ 18 ปีใน ค.ศ. 2004 และเขาตกรอบที่สองโดยแพ้ตำนานรุ่นพี่อย่างนาดัลในรอบต่อมา ซึ่งตรงกันคล้ายวันเกิดครบ 18 ปีของเขา[12] เขาชนะเลิศการแข่งขันรายการที่ใหญ่ที่สุดในอาชีพขณะนั้นที่โปรตุเกส ทำสถิติเป็นผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดที่ขึ้นสู่ 100 อันดับแรกของโลกในวัย 18 ปี วันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 2021[13]

อัลการัซเข้าสู่รอบก่อนรองชนะเลิศ (8 คนสุดท้าย) ในระดับแกรนด์สแลมครั้งแรกในเฟรนช์โอเพน ณ กรุงปารีส ต่อมาในเดือนกรกฎาคม เขาคว้าแชมป์ที่โครเอเชีย และทำสถิติเป็นนักเทนนิสชาวสเปนที่อายุน้อยที่สุดที่คว้าแชมป์ในการแข่งขันของเอทีพี ทำลายสถิติเดิมของนาดัลใน ค.ศ. 2004 ก่อนที่เขาจะตกรอบที่สองในแกรนด์สแลมวิมเบิลดัน โดยแพ้ ดานีอิล เมดเวเดฟ และเข้าถึงรอบรองชนะเลิศรายการเอทีพี 250 ที่รัฐนอร์ทแคโรไลนาแต่แพ้อีเมอร์จากสวีเดนไปอีกครั้ง

ต่อมาในแกรนด์สแลมยูเอสโอเพน เขาเอาชนะผู้เล่นชื่อดังชาวกรีกอย่างสเตฟาโนส ซิทซีปัส ในการแข่งขันห้าเซตผ่านเข้าสู่รอบที่ 4 ถือเป็นชัยชนะที่ใหญ่ที่สุดในอาชีพของเขา ณ ขณะนั้น[14] และสร้างสถิติเป็นผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดที่เข้าสู่รอบที่สี่ในเทนนิสแกรนด์สแลม แทนสถิติเดิมของไมเคิล ชาง และตำนานชาวอเมริกันอย่างพีต แซมพราสใน ค.ศ. 1989[15] และเขายังทำสถิติเป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุดในยุคโอเพน[b] ที่เข้ารอบก่อนรองชนะเลิศรายการนี้ ต่อจากโธมัซ คอคชาวบราซิลในวัย 18 ปีเมื่อ ค.ศ. 1963 อย่างไรก็ตาม เขาต้องขอยอมแพ้จากการแข่งขันที่พบกับเฟลิกซ์ โอเฌร์ อาลียาซีมจากแคนาดา เนื่องจากบาดเจ็บที่ขา[16] ต่อมา เขาเอาชนะมือวาง 10 อันดับแรกของโลกได้เป็นครั้งที่สองนับตั้งแต่เล่นอาชีพ ด้วยการเอาชนะมัตเตโอ เบเรตตินี ชาวอิตาลีในการแข่งขันที่กรุงเวียนนา และขึ้นสู่ 35 อันดับแรกของโลกได้เป็นครั้งแรก ถือเป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุดที่ทำได้ ถัดมาในการแข่งขันมาสเตอร์ 1000 ที่ปารีส เขาเอาชนะยานนิค ซินเนอร์ จากอิตาลีได้ ถือเป็นการชนะผู้เล่นสิบอันดับแรกของโลกเป็นครั้งที่สาม เขาปิดท้ายฤดูกาลด้วยการคว้าแชมป์เอทีพีไฟนอล ในระดับเยาวชน (Next gen Final) เอาชนะดาวรุ่งชาวอเมริกันอย่างเซบาสเตียน คอร์ดาในรอบชิงชนะเลิศ

2022: แชมป์แกรนด์สแลมรายการแรก และขึ้นสู่มือวางอันดับหนึ่งของโลกครั้งแรก

อัลการัซได้รับการจัดอันดับเป็นผู้เล่นมือวางครั้งแรกในรายการแกรนด์สแลมปีนี้ เขาเข้าสู่รอบที่สามในรายการออสเตรเลียนโอเพนก่อนจะแพ้เบเรตตินีในการแข่งขันห้าเซต แต่เขาคว้าแชมป์ระดับเอทีพี 500 ได้เป็นครั้งแรกด้วยการเอาชนะดิเอโก ชวาสมัน ในรอบชิงชนะเลิศที่รีโอเดจาเนโร และขึ้นสู่ 20 อันดับแรกในเดือนกุมภาพันธ์ ตามด้วยการเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศรายการเอทีพีมาสเตอร์ 1000 ครั้งแรกที่อินเดียนเวลส์ ก่อนจะแพ้นาดัล

เขาคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ครั้งแรกด้วยการชนะกาสเปอร์ รืด จากนอร์เวย์ที่ไมแอมี ทำสถิติเป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุดที่คว้าแชมป์รายการนี้ และเป็นผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดเป็นอันดับสามที่ชนะเลิศรายการมาสเตอร์[17] แต่เขาแพ้คอร์ดาในรายการมาสเตอร์ที่มงเต-การ์โล[18] ภายหลังจากเอาชนะซิทซีปัสในรอบก่อนรองชนะเลิศที่บาร์เซโลนา เขาขึ้นสู่ตำแหน่ง 10 อันดับแรกของโลกเป็นครั้งแรกในวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 2022[19] เขาถือเป็นผู้เล่นดาวรุ่งคนที่ 20 ในประวัติศาสตร์ที่ขึ้นสู่มือวาง 10 อันดับแรก นับตั้งแต่มีการนำระบบจัดอันโลกมาใช้ใน ค.ศ. 1973 และเป็นมือวาง 10 อันดับที่อายุน้อยที่สุดนับตั้งแต่นาดัลทำสถิติไว้ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2005[20] เขาคว้าแชมป์ด้วยการเอาชนะรุ่นพี่ร่วมชาติอย่างปาโบล การ์เรโญ บุสตา

ในวันเกิดครบรอบ 19 ปีของอัลการัซ เขาเอาชนะนาดัลในการแข่งขันมาสเตอร์ที่มาดริด ทำสถิติเป็นผู้เล่นดาวรุ่งคนแรกที่เอาชนะนาดัลบนคอร์ตดินได้ ตามด้วยการเอาชนะมือวางอันดับหนึ่งอย่าง นอวาก จอกอวิช ในรอบรองชนะเลิศ ทำสถิติเป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุดที่เอาชนะผู้เล่นมือวางอันดับหนึ่งนับตั้งแต่ ค.ศ. 2004 และเป็นผู้เล่นคนแรกที่เอาชนะได้ทั้งนาดัลและจอกอวิชติดต่อกันบนคอร์ตดิน[21] เขาคว้าแชมป์รายการที่สี่ในปีนี้ และเป็นแชมป์มาสเตอร์ 1000 รายการที่สองโดยเอาชนะอเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ ถือเป็นแชมป์ที่อายุน้อยที่สุดในรายการ ส่งผลให้เขาขึ้นสู่อันดับหกของโลกในวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 2022 ก่อนจะถอนตัวจากรายการมาสเตอร์ที่โรมเนื่องจากบาดเจ็บข้อเท้า[22] เขาเข้าสู่รอบก่อนรองชนะเลิศในเฟรนช์โอเพน ก่อนจะแพ้ซเฟเร็ฟ[23] และแพ้ซินเนอร์ในรอบที่สี่ในวิมเบิลดัน

อัลการัซขึ้นสู่มือวางอันดับ 5 ของโลกเป็นครั้งแรกในวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 2022 ถือเป็นผู้เล่นที่ทำอันดับติด 1 ใน 5 ที่อายุน้อยที่สุดตั้งแต่นาดัลทำได้ใน ค.ศ. 2005 แต่เขาแพ้ลอเรนโซ มูเซตติ จากอิตาลีในรอบชิงชนะเลิศที่ฮัมบวร์ค เป็นการแพ้รอบชิงชนะเลิศเป็นครั้งแรกในอาชีพ แต่เขาขึ้นสู่มือวางอันดับสี่ในเดือนถัดมาหลังจากเข้ารอบชิงชนะเลิศที่โครเอเชีย เขาลงแข่งขันแกรนด์สแลมยูเอสโอเพนในฐานะมือวางอันดับสาม และจากการเอาชนะมาร์รีน ชิลิคในรอบที่สี่ อัลการัซทำสถิติเป็นผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดที่เข้ารอบแปดคนสุดท้ายในรายการนี้สองปีติดต่อกันในยุคโอเพน[24] เขาเอาชนะซินเนอร์ในรอบต่อมาโดยต้องเซฟแต้ม Match Point ซึ่งนัดนี้ใช้เวลาแข่งขันไปถึง 5 ชั่วโมงและ 15 นาที ถือเป็นการแข่งขันที่นานที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์รายการ[25] และเขาคว้าแชมป์รายการใหญ่ที่สุดในการเล่นอาชีพ และเป็นแชมป์แกรนด์สแลมครั้งแรกด้วยการเอาชนะกาสเปอร์ รืด จากนอร์เวย์ในรอบชิงชนะเลิศ 3–1 เซต ขึ้นสู่มือวางอันดับหนึ่งของโลกเป็นครั้งแรกในอาชีพ และสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้เล่นมือวางอันดับหนึ่งที่อายุน้อยที่สุดของเอทีพีด้วยวัย 19 ปี 4 เดือน และ 6 วัน ทำลายสถิติเดิมของเลย์ตัน ฮิววิตต์ เขายังเป็นผู้เล่นดาวรุ่งคนแรกในยุคโอเพนที่ขึ้นสู่ตำแหน่งอันดับหนึ่ง และเป็นแชมป์รายการนี้ที่อายุน้อยที่สุดต่อจากพีต แซมพราสใน ค.ศ. 1990[26]

อัลการัซแพ้ต่ออาลียาซีมในรอบชิงชนะเลิศเทนนิสเดวิส คัพ[c][27] ตามด้วยการตกรอบแรกที่อัสตานา และเข้ารอบรองชนะเลิศที่บาเซิลก่อนจะแพ้อาลียาซีมไปอีกครั้ง[28] เขาถอนตัวในรอบแปดคนสุดท้ายการแข่งขันมาสเตอร์ที่ปารีสเนื่องจากอาการบาดเจ็บ ในวันถัดมาเขาประกาศว่าได้รับบาดเจ็บกล้ามเนื้อท้องฉีกขาด และต้องพักการแข่งขันประมาณหกสัปดาห์ ส่งผลให้เขาต้องถอนตัวจากการแข่งขันสองรายการสำคัญท้ายฤดูกาลในเอทีพีไฟนอล และเทนนิสเดวิสคัพ[29] อย่างไรก็ตาม เขายังปิดฤดูกาลด้วยตำแหน่งมือวางอันดับหนึ่ง ถือเป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุดที่จบฤดูกาลด้วยตำแหน่งนี้ด้วยวัย 19 ปีและ 214 วัน[30]

2023: ชัยชนะนัดที่ 100 และ แชมป์วิมเบิลดัน

อัลการัซในการแข่งขันเฟรนช์โอเพน ค.ศ. 2023
อัลการัซกับถ้วยแชมป์วิมเบิลดัน ค.ศ. 2023

อัลการัซต้องถอนตัวจากแกรนด์สแลมออสเตรเลียนโอเพนเนื่องจากบาดเจ็บกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังจากการฝึกซ้อม[31] เขาเสียตำแหน่งมือวางอันดับหนึ่งให้แก่จอกอวิชซึ่งคว้าแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนได้[32] อัลการัซครองตำแหน่งอันดับหนึ่งครั้งแรกในอาชีพรวม 20 สัปดาห์ ต่อมา เขาคว้าแชมป์รายการที่เจ็ดในอาชีพในการแข่งขันเอทีพี 500 ที่บัวโนสไอเรส เอาชนะคาร์เมรอน นอร์รีย์ จากสหราชอาณาจักรในรอบชิงชนะเลิศ 2–0 เซต[33] ก่อนจะแพ้นอร์รีย์ในรอบชิงชนะเลิศที่รีโอเดจาเนโร 1–2 เซต[34] และถอนตัวจากการแข่งขันที่อากาปุลโกจากการบาดเจ็บกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังอีกครั้ง[35]

อัลการัซคว้าชัยชนะครบ 100 นัดในอาชีพจากการชนะทาลลอน กรีกสปูร์อันดับ 31 จากเนเธอร์แลนด์ในมาสเตอร์ 1000 ที่อินเดียนเวลส์[36] ทำสถิตินี้ได้เร็วกว่าผู้เล่น Big 3 อย่างโรเจอร์ เฟเดอเรอร์ นาดัล และจอกอวิช ตามด้วยการเอาชนะซินเนอร์ และเมดเวเดฟในรอบรองชนะเลิศและชิงชนะเลิศตามลำดับ ถือเป็นแชมป์รายการที่แปดในอาชีพ และรายการมาสเตอร์ 1000 ครั้งที่สามที่ได้แชมป์ และยังหยุดสถิติชนะรวดทุกรายการ 19 นัดของเมดเวเดฟลง และเป็นผู้เล่นคนแรกที่คว้าแชมป์ได้โดยไม่เสียเซตเลยทั้งรายการ นับตั้งแต่เฟเดอเรอร์ทำได้ใน ค.ศ. 2017 ส่งผลให้เขากลับสู่มือวางอันดับหนึ่งในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 2023[37] ก่อนจะตกรอบรองชนะเลิศที่ไมแอมีซึ่งเขาเป็นแชมป์เก่า โดยแพ้คู่ปรับอย่างซินเนอร์ไปอีกครั้ง 1–2 เซต[38] และเสียตำแหน่งมือวางอันดับหนึ่งกลับไปอีกครั้ง

เขาถอนตัวจากรายการคอร์ตดินที่มงเต-การ์โล จากอาการบาดเจ็บข้อมือ[39] ก่อนจะกลับมาเอาชนะซิทซีปัสในรอบชิงชนะเลิศที่บาร์เซโลนา ป้องกันแชมป์ได้สำเร็จโดยไม่เสียเซตตลอดการแข่งขัน[40] ตามด้วยแชมป์รายการที่สิบในอาชีพ ด้วยแชมป์มาสเตอร์ที่มาดริดโดยเอาชนะยาน-เลนนาร์ด สตรัฟฟ์ชาวเยอรมัน และกลับขึ้นสู่มือวางอันดับหนึ่งหลังจากลงแข่งรอบที่สองในมาสเตอร์ที่กรุงโรม แต่เขาแพ้ในรอบที่สามให้กับฟาเบียน มารอซซานมือวางอันดับ 135 ชาวฮังการีอย่างเหนือความคาดหมาย[41][42] เขาเข้าถึงรอบรองชนะเลิศเฟรนช์โอเพนเป็นครั้งแรกก่อนจะแพ้แชมป์อย่างจอกอวิช 1–3 เซตโดยมีอาการตะคริวในช่วงปลายการแข่งขันเซตที่สอง[43][44]

เข้าสู่การแข่งขันคอร์ตหญ้า อัลการัซคว้าแชมป์บนคอร์ตหญ้าได้เป็นครั้งแรกในรายการที่ควีนส์ ณ กรุงลอนดอน โดยเอาชนะอเล็กซ์ เด มินออร์ จากออสเตรเลีย เขาลงแข่งขันวิมเบิลดันในฐานะมือวางอันดับหนึ่ง และคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้เป็นครั้งที่สอง โดยเป็นการเอาชนะแชมป์เก่าสี่สมัยซ้อน และแชมป์เจ็ดสมัยอย่างจอกอวิช 3–2 เซต อัลการัซถือเป็นเพียงผู้เล่นคนที่สองต่อจากแอนดี มาร์รี ที่เอาชนะจอกอวิชได้ในรอบชิงชนะเลิศวิมเบิลดัน[45][46] ก่อนที่เขาจะแพ้จอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศมาสเตอร์ 1000 ที่ซินซินแนติ รัฐโอไฮโอ แม้เขาจะชนะในเซตแรกไปก่อน และขึ้นนำ 4–2 เกมในเซตที่สอง รวมทั้งได้คะแนน Championship Point ในไทเบรกเซตที่สอง การแข่งขันใช้เวลา 3 ชั่วโมง 49 นาที ถือเป็นรอบชิงชนะเลิศรายการมาสเตอร์ที่ใช้เวลาแข่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยอัลการัซแพ้ในการแข่งขันไทเบรกไปทั้งในเซตที่สองและเซตตัดสิน[47]

อัลการัซลงแข่งขันยูเอสโอเพนแกรนด์สแลมสุดท้ายของปีในฐานะแชมป์เก่า แต่เขาตกรอบรองชนะเลิศด้วยการแพ้เมดเวเดฟ 1–3 เซต[48] เขาเสียตำแหน่งมือวางอันดับหนึ่งหลังจากที่จอกอวิชคว้าแชมป์ได้ ต่อมา อัลการัซตกรอบการแข่งขันสามรายการติดต่อกันที่ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้ และมาสเตอร์ที่ปารีส เขาลงแข่งขันรายการสุดท้ายของปีในเอทีพี ไฟนอลในเดือนพฤศจิกายน แต่ตกรอบรองชนะเลิศโดยแพ้จอกอวิชสองเซตรวด[49]

2024: แชมป์เฟรนช์โอเพน, แชมป์วิมเบิลดัน และ เหรียญเงินโอลิมปิก

อัลการัซคว้าเหรียญเงินในการแข่งขันประเภทชายเดี่ยว ในโอลิมปิกฤดูร้อน 2024

อัลการัซลงแข่งแกรนด์สแลมแรกของปีที่ออสเตรเลียนโอเพน เข้าเข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้ายและแพ้อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ 1–3 เซต[50] เขาตกรอบการแข่งชันสองรายการถัดมาที่อาร์เจนตินาและบราซิล โดยถอนตัวจากการแข่งขันรอบแรกที่รีโอเดจาเนโรจากการบาดเจ็บข้อเท้า[51] อัลคารัซลงแข่งขันรายการมาสเตอร์ 1000 รายการแรกของปีที่อินเดียนเวลส์ เขาเอาชนะซินเนอร์ในรอบรองชนะเลิศในการแข่งขันสามเซต ซึ่งถือเป็นการพบกันครั้งที่แปดในอาชีพ และป้องกันแชมป์ได้โดยเอาชนะเมดเวเดฟในรอบชิงชนะเลิศสองเซตรวด คว้าแชมป์สมัยที่สองและถือเป็นแชมป์มาสเตอร์ใบที่ 5 และยังเป็นแชมป์รายการแรกนับตั้งแต่วิมเบิลดัน 2023[52] แต่เขาตกรอบก่อนรองชนะเลิศในรายการมาสเตอร์ที่ไมแอมีด้วยการแพ้ดิมิทรอฟ[53] ส่งผลให้เขาเสียตำแหน่งอันดับสองของโลกให้ซินเนอร์ ต่อมา เขาถอนตัวจากรายการมาสเตอร์คอร์ตดินที่มงเต-การ์โล เนื่องจากบาดเจ็บแขน[54] และตกรอบก่อนรองชนะเลิศมาสเตอร์ที่มาดริด โดยแพ้อันเดรย์ รูเบลฟ ตามด้วยการถอนตัวจากมาสเตอร์ที่กรุงโรมเนื่องจากอาการบาดเจ็บแขนกำเริบ[55]

อัลการัซลงแข่งขันแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพน และคว้าแชมป์โดยเอาชนะซเฟเร็ฟในรอบชิงชนะเลิศในการแข่งขันห้าเซต (6–3, 2–6, 5–7, 6–1, 6–2) และด้วยวัย 21 ปี เขาสร้างสถิติเป็นผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ครบทุกพื้นคอร์ต (ฮาร์ดคอร์ต, คอร์ตหญ้า และคอร์ตดิน) และเป็นแชมป์เฟรนช์โอเพนที่อายุน้อยที่สุดนับตั้งแต่ราฟาเอล นาดัล ใน ค.ศ. 2007[56] อัลการัซป้องกันแชมป์วิมเบิลดันด้วยการเอาชนะจอกอวิชได้ในรอบชิงชนะเลิศเป็นปีที่สองติดต่อกัน คว้าแชมป์แกรนด์สแลมเป็นครั้งที่ 4 และทำสถิติเป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุดในยุคโอเพนที่คว้าแชมป์เฟรนช์โอเพนและวิมเบิลดันได้ในปีเดียวกัน

อัลการัซผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศในการแข่งขันประเภทชายเดี่ยวในโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 ณ กรุงปารีส โดยเอาชนะฮาร์ดี ฮาบิบ จากเลบานอน, ทาลลอน กรีกสปูร์จากเนเธอร์แลนด์, โรมัน ซาฟีอุลลินจากรัสเซีย, ทอมมี พอล จากสหรัฐ และ เฟลิกซ์ โอเฌร์ อาลียาซีมจากแคนาดา พร้อมทั้งทำสถิติเป็นผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ แต่เขาแพ้จอกอวิชไปสองเซตรวด คว้าเหรียญเงินไปครอง[57] อัลการัซถอนตัวจากรายการมาสเตอร์ 1000 ที่แคนาดา และกลับมาลงแข่งขันมาสเตอร์ที่ซินซินแนติ แต่ก็ตกรอบแรกโดยแพ้กาแอล มงฟิล์ส[58] เขาลงแข่งแกรนด์สแลมสุดท้ายของปีในยูเอสโอเพนที่นิวยอร์กในเดือนสิงหาคม แต่ตกรอบที่สองโดยแพ้โบติค ฟาน เดอ แซนชุลป์ชาวดัตซ์สามเซตรวด นี่ถือเป็นการตกรอบรายการแกรนด์สแลมที่เร็วที่สุดของอัลการัซนับตั้งแต่วิมเบิลดัน ค.ศ. 2021[59] อัลการัซลงแข่งขันเทนนิส เดวิส คัพ ในนามทีมชาติสเปน ณ เมืองบาเลนเซีย โดยในรอบสุดท้ายสเปนอยู่ร่วมกลุ่มกับเชกเกีย, ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย อัลการัซลงแข่งขันประเภทชายเดี่ยวทั้งสามนัด

รูปแบบการเล่น

อัลการัซได้รับการยอมรับว่าสามารถเล่นได้ดีในทุกพื้นคอร์ต เขามีจุดเด่นในการตีลูกกราวน์สโตรกที่หนักหน่วง แม่นยำ และเคลื่อนที่อย่างว่องไว รวมทั้งยังวิ่งขึ้นไปทำคะแนนหน้าเนตได้ดีเยี่ยม อัลการัซสามารถตีลูกโฟร์แฮนด์ได้หนักหน่วง และกะจังหวะได้แม่นยำ จุดเด่นอีกด้านของเขาคือการเล่นลูกหยอด (Drop Shot) ได้อย่างดี รวมทั้งสามารถเปลี่ยนเกมจากรับเป็นรุกได้ในเวลาอันรวดเร็ว เขายังมีลูกเสริ์ฟที่หนักหน่วง มีความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 115 ถึง 120 ไมล์ต่อชั่วโมง[60][61]

คู่แข่ง

นอวาก จอกอวิช

อัลการัซและจอกอวิชในรอบชิงเหรียญทองกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2024

อัลการัซและจอกอวิชพบกันในการแข่งขันหลายการสำคัญรวม 7 ครั้ง อัลการัซเอาชนะไปได้ 3 ครั้งและแพ้ 4 ครั้ง โดยทั้ง 7 ครั้งที่พบกันล้วนเกิดขึ้นในการแข่งขันรอบรองชนะเลิศหรือรอบชิงชนะเลิศเทนนิสแกรนด์สแลม, รายการมาสเตอร์ 1000 และรอบชิงเหรียญทองกีฬาโอลิมปิก ทั้งคู่พบกันครั้งแรกในรอบรองชนะเลิศรายการมาสเตอร์ที่กรุงมาดริดใน ค.ศ. 2022 ซึ่งอัลการัซเอาชนะไปได้ในการแข่งขัน 3 เซตหลังจากแพ้เซตแรกไปก่อน ทั้งคู่พบกันในรอบรองชนะเลิศแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพนในปีต่อมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นอริในสนามของทั้งคู่และทำให้การพบกันได้รับความสนใจจากสื่อและแฟนเทนนิสทั่วโลก จอกอวิชเอาชนะไปในการแข่งขันสี่เซตก่อนจะผ่านเข้าไปคว้าแชมป์ได้ในที่สุด โดยอัลการัซมีอาการตะคริวระหว่างแข่งขัน[62] อย่างไรก็ตาม อัลการัซแก้มือได้ด้วยการเอาชนะจอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศวิมเบิลดัน 2023 หยุดสถิติการคว้าแชมป์ 4 สมัยติดต่อกัน รวมทั้งสถิติชนะติดต่อกัน 45 นัดในเซนเตอร์คอร์ตกรุงลอนดอนของจอกอวิช โดยใช้เวลาแข่งขันกว่า 4 ชั่วโมง 42 นาที ส่งผลให้อัลการัซคว้าแชมป์วิมเบิลดันครั้งแรกและเป็นแชมป์แกรนด์สแลมรายการที่สอง

จอกอวิชกลับมาแก้มือได้อีกครั้งด้วยการเอาชนะในรอบชิงชนะเลิศมาสเตอร์ 1000 ที่ซินซินแนติ สหรัฐ แม้จะแพ้ในเซตแรกไปก่อนแต่จอกอวิชเอาตัวรอดจากการเซฟคะแนน Match Point ได้ในเซตที่สอง[63] นี่ถือเป็นรอบชิงชนะเลิศรายการมาสเตอร์ที่ใช้เวลาแข่งขันกันนานที่สุดกว่า 3 ชั่วโมง 49 นาที และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในการแข่งขันที่สนุกที่สุดในเทนนิสสมัยใหม่[64][65] และจอกอวิชเอาชนะได้อีกครั้งในการแข่งขันเอทีพี ไฟนอล 2023 ที่ตูรินในรอบรองชนะเลิศสองเซตรวด (6–3, 6–2) ต่อมา ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 อัลการัซเอาชนะจอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศวิมเบิลดันได้เป็นปีที่สองติดต่อกัน (6–2, 6–2, 7–6(7–4)) ป้องกันแชมป์วิมเบิลดันได้พร้อมทั้งคว้าแชมป์แกรนด์สแลมรายการที่ 4 แต่เขาก็แพ้จอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศการแข่งขันเทนนิสชายเดี่ยวในโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 โดยต้องแข่งขันถึงช่วงไทเบรกทั้งสองเซต (6–7(3–7), 6–7(2–7))

ยานนิค ซินเนอร์

ปัจจุบันซินเนอร์ผู้เล่นชาวอิตาลี เป็นนักเทนนิสมือวางอันดับ 1 ของโลก อัลการัซแข่งขันกับซินเนอร์ 9 ครั้งตั้งแต่ ค.ศ. 2021 อัลคาราซมีสถิติที่เหนือกว่า (ชนะ 5 แพ้ 4) การแข่งขันครั้งสำคัญได้แก่ รอบก่อนรองชนะเลิศยูเอสโอเพน ค.ศ. 2022 ซึ่งอัลการัซเอาชนะในการแข่งขันห้าเซตโดยต้องเซฟคะแนน Match Point ก่อนที่อัลการัซจะผ่านเข้าไปคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้เป็นครั้งแรก[66] และการแข่งขันรอบรองชนะเลิศมาสเตอร์ 1000 ที่ไมแอมี ค.ศ. 2023 ซึ่งอัลการัซแพ้ไปใน 3 เซต (7–6, 4–6, 2–6) ต่อมาใน ค.ศ. 2024 ทั้งคู่แข่งขันกันในรอบรองชนะเลิศแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพน ซึ่งอัลการัซเอาชนะไปในห้าเซต (2–6, 6–3, 3–6, 6–4, 6–3)

ดานีอิล เมดเวเดฟ

ดานีอิล เมดเวเดฟได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในผู้เล่นชั้นนำในปัจจุบัน เคยแข่งขันกับอัลการัซรวม 7 ครั้ง ซึ่งอัลการัซมีสถิติเหนือกว่าโดยชนะ 5 และ แพ้ 2 ครั้ง ทั้งคู่พบกันครั้งแรกในแกรนด์สแลมวิมเบิลดัน ค.ศ. 2021 ซึ่งอัลการัซแพ้ไปสามเซตรวด จากนั้น อัลการัซสามารถเอาชนะเมดเวเดฟได้ถึง 5 ครั้งจากการพบกัน 6 ครั้งหลังสุดรวมถึงรอบชิงชนะเลิศมาสเตอร์ 1000 ที่อินเดียน เวลส์ ค.ศ. 2023 (ุ6–3, 6–2) และรอบรองชนะเลิศวิมเบิลดันในปีเดียวกัน แต่เมดเวเดฟสามารถเอาชนะคืนได้ในรอบรองชนะเลิศยูเอสโอเพนใน 4 เซต ก่อนที่อัลการัซจะเอาชนะในรอบแบ่งกลุ่มการแข่งขันเอทีพี ไฟนอล ที่ตูรินสองเซตรวด (ุ6–4, 6–4) และใน ค.ศ. 2024 ทั้งคู่พบกันในรอบชิงชนะเลิศมาสเตอร์ 1000 ที่อินเดียน เวลส์ และรอบรองชนะเลิศวิมเบิลดัน อัลการัซเอาชนะไปได้ทั้งหมด

สถิติรอบชิงชนะเลิศ

เทนนิสแกรนด์สแลม

ประเภทชายเดี่ยว: ชิงชนะเลิศ 4 รายการ (ชนะเลิศ 4 รายการ)

หมายเหตุ - จำนวนตัวเลขในวงเล็บคือจำนวนครั้งที่ชนะเลิศรายการนั้น

ผล ปี รายการ พื้นสนาม คู่แข่ง คะแนน
ชนะเลิศ 2022 ยูเอสโอเพน คอนกรีต นอร์เวย์ กาสเปอร์ รืด 6–4, 2–6, 7–6(7–1), 6–3
ชนะเลิศ 2023 วิมเบิลดัน หญ้า เซอร์เบีย นอวาก จอกอวิช 1–6, 7–6(8–6), 6–1, 3–6, 6–4
ชนะเลิศ 2024 เฟรนช์โอเพน ดิน เยอรมนี อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ 6–3, 2–6, 5–7, 6–1, 6–2
ชนะเลิศ 2024 วิมเบิลดัน (2) หญ้า เซอร์เบีย นอวาก จอกอวิช 6–2, 6–2, 7–6(7–4)

รายการเอทีพี มาสเตอร์ 1000

ประเภทชายเดี่ยว: ชิงชนะเลิศ 6 รายการ (ชนะเลิศ 5 รายการ)

หมายเหตุ - จำนวนตัวเลขในวงเล็บคือจำนวนครั้งที่ชนะเลิศรายการนั้น

ผล ปี รายการ พื้นสนาม คู่แข่ง คะแนน
ชนะเลิศ 2022 ไมแอมี คอนกรีต นอร์เวย์ กาสเปอร์ รืด 7–5, 6–4
ชนะเลิศ 2022 มาดริด ดิน เยอรมนี อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ 6–3, 6–1
ชนะเลิศ 2023 อินเดียน เวลส์ คอนกรีต ดานีอิล เมดเวเดฟ 6–3, 6–2
ชนะเลิศ 2023 มาดริด (2) ดิน เยอรมนี ยาน-เลนนาร์ด สตรัฟฟ์ 6–4, 3–6, 6–3
รองชนะเลิศ 2023 ซินซินแนติ คอนกรีต เซอร์เบีย นอวาก จอกอวิช 7–5, 6–7(7–9), 6–7(4–7)
ชนะเลิศ 2024 อินเดียน เวลส์ (2) คอนกรีต ดานีอิล เมดเวเดฟ 7–6(7–5), 6–1

กีฬาโอลิมปิก

ชายเดี่ยว: ชิงชนะเลิศ 1 ครั้ง (1 เหรียญเงิน)

ผล ปี รายการ พื้นสนาม คู่แข่ง คะแนน
เหรียญเงิน 2024 Paris Olympics ดิน เซอร์เบีย นอวาก จอกอวิช 6–7(3–7), 6–7(2–7)

เกียรติประวัติ

อัลการัซกับถ้วยแชมป์เฟรนช์โอเพน 2024 เขาถือเป็นผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพนและวิมเบิลดันในปีเดียวกัน
  • รางวัลผู้เล่นดาวรุ่งยอดเยี่ยมของเอทีพี (2020)
  • รางวัลนักเทนนิสยอดเยี่ยมประจำปี (2022)
  • รางวัลนักเทนนิสผู้มีพัฒนาการยอดเยี่ยมแห่งปี (2022)
  • นักเทนนิสอายุน้อยที่สุดที่ขึ้นสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 1 - 19 ปี 4 เดือน (2022)
  • นักเทนนิสอายุน้อยที่สุดที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมเฟร์โอเพนและวิมเบิลดันในปีเดียวกัน - 21 ปี 2 เดือน (2024)
  • นักเทนนิสอายุน้อยที่สุดที่เข้าชิงเหรียญทองในโอลิมปิกฤดูร้อน - 21 ปี 2 เดือน (2024)

เชิงอรรถ

  1. 1.0 1.1 In ATP Tour and Grand Slam main draw matches, Summer Olympics, Davis Cup and Laver Cup
  2. ยุคโอเพนในการแข่งขันเทนนิสทั่วโลกเริ่มต้นในปี 1968 หมายถึง การเปิดโอกาสให้นักเทนนิสมือสมัครเล่นได้ร่วมแข่งขันรายการต่าง ๆ โดยก่อนหน้านั้น การแข่งขันรายการใหญ่ทั่วโลกจะเปิดโอกาสให้เฉพาะผู้เล่นที่มีชื่อเสียงเท่านั้น
  3. การแข่งขันเริ่มขึ้นในปี 1900 เป็นการแข่งขันรายการนานาชาติของทีมชายที่ใหญ่ที่สุดของสหพันธ์เทนนิสนานาชาติ เปรียบเสมือนการแข่งขันชิงแชมป์โลก ผู้จัดงานได้อธิบายไว้ว่าเป็น "World Cup of Tennis" และผู้ชนะจะเรียกว่าทีมแชมป์โลก

อ้างอิง

  1. "Carlos Alcaraz". ATP Tour. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 ตุลาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 7 มิถุนายน 2023.
  2. "Career prize money" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2 พฤษภาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2023.
  3. "Carlos Alcaraz | Overview". ATP Tour. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 กรกฎาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2020.
  4. "The pronunciation by Carlos Alcaraz himself". ATPWorldTour.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 เมษายน 2023. สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2023.
  5. "Carlos Alcaraz Youngest Year-End ATP No. 1 Presented By Pepperstone In History | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  6. Johns, Matthew (31 พฤษภาคม 2023). "Carlos Alcaraz 'the greatest 20-year-old ever' claims former No.1". Tennishead (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  7. Carayol, Tumaini (27 มีนาคม 2023). "Carlos Alcaraz is the most exciting player in men's tennis and he will only get better". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2023.
  8. Guerrero, Daniel Gonzalez (5 พฤศจิกายน 2023). "Carlos Alcaraz: The Best Tennis Player in the World - LatinAmerican Post". latinamericanpost.com (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  9. "Carlos Alcaraz Youngest Year-End ATP No. 1 Presented By Pepperstone In History | ATP Tour | Tennis". ATP Tour (ภาษาอังกฤษ).
  10. Ilic, Jovica (13 ธันวาคม 2019). "Carlos Alcaraz grabs 2020 Rio Open wild card for an ATP debut". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
  11. Barker, Gabby (15 มกราคม 2021). "Alcaraz follows in the footsteps of Djokovic, Nadal and Federer". Sports Finding (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  12. "Acrokeratosis paraneoplastica", Dermatology Therapy, Springer Berlin Heidelberg, pp. 18–18, 2004, สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2023
  13. "Alcaraz Triumphs At Oeiras Open Challenger - Tennis TourTalk". web.archive.org. 22 พฤษภาคม 2021. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 พฤษภาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2023.
  14. Keating, Steve (4 กันยายน 2021). "Alcaraz upsets Tsitsipas to reach U.S. Open fourth round". Reuters (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2023.
  15. "Alcaraz, 18, stuns Tsitsipas; Tiafoe tops Rublev". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 3 กันยายน 2021.
  16. Tennis.com. "The Latest: Alcaraz says leg muscle made him stop at Open". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
  17. "Carlos Alcaraz Hits 100 Wins: Seven Notable Triumphs | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  18. Reuters; Media, P. A. (13 เมษายน 2022). "Carlos Alcaraz exits in windy Monte Carlo against unseeded Sebastian Korda". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2023.
  19. "Carlos Alcaraz beats Stefanos Tsitsipas in Barcelona Open thriller to guarantee spot in world's top 10". Eurosport (ภาษาอังกฤษ). 22 เมษายน 2022.
  20. "Alcaraz Downs Tsitsipas Again, Reaches Barcelona Semis - Tennis Now". www.tennisnow.com.
  21. "Magic Man: Alcaraz Edges Djokovic for Historic Madrid Final - Tennis Now". www.tennisnow.com.
  22. "Alcaraz out of Italian Open after winning Madrid". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 9 พฤษภาคม 2022.
  23. "Alcaraz v Korda: Things we learned - Roland-Garros - The 2023 Roland-Garros Tournament official site". www.rolandgarros.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  24. "https://twitter.com/usopen/status/1567035942849888259". X (formerly Twitter). {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |title= (help)
  25. "Alcaraz tops Sinner at 2:50 a.m.; latest US Open finish ever". AP News (ภาษาอังกฤษ). 8 กันยายน 2022.
  26. "Alcaraz, 19, wins US Open; youngest-ever No. 1". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 11 กันยายน 2022.
  27. Tennis.com. "Carlos Alcaraz loses debut as world No. 1 to Felix Auger-Aliassime in Davis Cup Finals meeting". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
  28. "Felix Auger-Aliassime Flies Past Alcaraz In Basel | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  29. "Carlos Alcaraz facing six weeks out with injury, will miss ATP Finals and Davis Cup in 'tough and painful' blow". Eurosport (ภาษาอังกฤษ). 5 พฤศจิกายน 2022.
  30. "Carlos Alcaraz Youngest Year-End ATP No. 1 Presented By Pepperstone In History | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  31. "WTA requiring resolution of Peng Shuai case for women's tennis tournaments' return to China". CBSSports.com (ภาษาอังกฤษ). 5 มกราคม 2023.
  32. "Novak Djokovic Returns To No. 1, Mover Of Week | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  33. "Carlos Alcaraz Wins Buenos Aires Title In Season Debut | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  34. "Alcaraz Extends Perfect Season, Sets Norrie Rematch With Rio SF Comeback | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  35. "Alcaraz out of Acapulco with hamstring strain". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 28 กุมภาพันธ์ 2023.
  36. Johns, Matthew (15 มีนาคม 2023). "Carlos Alcaraz 'proud' to reach milestone before 'the big three'". Tennishead (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  37. "Carlos Alcaraz Wins Indian Wells, Returns To World No. 1 | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  38. "Sinner Storms Back To Beat Alcaraz In Miami SF, Ending Spaniard's No. 1 Reign | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  39. Tennis.com. "Rafael Nadal, Carlos Alcaraz pull out of Monte Carlo Masters". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
  40. "Barcelona Open: Carlos Alcaraz beats Stefanos Tsitsipas to retain title". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
  41. Wertheim, Jon (17 พฤษภาคม 2023). "Carlos Alcaraz's Italian Open Upset Is a Blessing in Disguise". Sports Illustrated (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  42. "Fabian Marozsan Beats Carlos Alcaraz In Rome Upset | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  43. "Djokovic beats cramping Alcaraz, into French final". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 9 มิถุนายน 2023.
  44. Carayol, Tumaini (9 มิถุนายน 2023). "Alcaraz says French Open semi-final cramps were caused by nerves". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2023.
  45. Tennis.com. "Stat of the Day: Carlos Alcaraz ends longest Centre Court winning streak for first Wimbledon title". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
  46. "Carlos Alcaraz wins Wimbledon, denies Novak Djokovic record 24th Grand Slam singles title". USA TODAY (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  47. Tennis.com. "Novak Djokovic saves championship point in thrilling Cincinnati final win over Carlos Alcaraz". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
  48. Carayol, Tumaini (9 กันยายน 2023). "Daniil Medvedev stuns Carlos Alcaraz to set up US Open final showdown with Novak Djokovic". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2023.
  49. Carayol, Tumaini (18 พฤศจิกายน 2023). "Novak Djokovic storms Carlos Alcaraz to earn ATP Finals decider with Sinner". The Observer (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0029-7712. สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2023.
  50. "Alexander Zverev beats Carlos Alcaraz at Australian Open | ATP Tour | Tennis". ATP Tour (ภาษาอังกฤษ).
  51. "Alcaraz suffers ankle injury in Rio opener, retires after two games | ATP Tour | Tennis". ATP Tour (ภาษาอังกฤษ).
  52. Tennis.com. "Carlos Alcaraz wins second straight Indian Wells title with victory over Medvedev in final". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
  53. Reuters (29 มีนาคม 2024). "Grigor Dimitrov stuns Carlos Alcaraz in straight sets to reach Miami Open semis". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2024.
  54. "Carlos Alcaraz withdraws from Monte-Carlo | ATP Tour | Tennis". ATP Tour (ภาษาอังกฤษ).
  55. "Carlos Alcaraz withdraws from Rome due to arm injury | ATP Tour | Tennis". ATP Tour (ภาษาอังกฤษ).
  56. Ramsay, George (9 มิถุนายน 2024). "Carlos Alcaraz wins third grand slam title with five-set victory at the French Open over Alexander Zverev". CNN (ภาษาอังกฤษ).
  57. "Novak Djokovic beats Carlos Alcaraz to win Olympic tennis gold and seal 'Golden Slam'". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 4 สิงหาคม 2024.
  58. "Gael Monfils upsets Carlos Alcaraz in Cincinnati | ATP Tour | Tennis". ATP Tour (ภาษาอังกฤษ).
  59. Hansen, James; Eccleshare, Charlie. "Carlos Alcaraz knocked out of U.S. Open by Botic van de Zandschulp in major upset". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 3 กันยายน 2024.
  60. Brugnoli, Simone (14 มกราคม 2023). "'Carlos Alcaraz can serve and volley at...', says former ATP ace". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
  61. "How Alcaraz's Scintillating Serve Toppled Djokovic's Return In The Wimbledon Final | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  62. "Djokovic beats cramping Alcaraz, into French final". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 9 มิถุนายน 2023.
  63. Tennis.com. "In Novak Djokovic and Carlos Alcaraz's second classic in as many months, the legend, rather than the phenom, had the final word". Tennis.com (ภาษาอังกฤษ).
  64. Press, The Associated (21 สิงหาคม 2023). "Djokovic outlasts Alcaraz to win instant-classic final in Cincinnati". theScore.com (ภาษาอังกฤษ).
  65. "Djokovic and Carlos Produce the Highest Level of Tennis Ever Witnessed In Cincy - Tennis-Prose.com" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 21 สิงหาคม 2023.
  66. "Was Carlos-Alcaraz vs Jannik Sinner the greatest next-gen match in history?". Lob and Smash (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 8 กันยายน 2022.