ธงพระอิสริยยศในประเทศไทย
ธงพระอิสริยยศ เป็นธงสำหรับใช้หมายพระอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช และบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ในทางราชการ
ประวัติ
ธงพระอิสริยยศตามอย่างธรรมเนียมตะวันตกมีจุดเริ่มต้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ได้สถาปนาธงประจำพระองค์ขึ้นอย่างหนึ่งตามอย่างธรรมเนียมยุโรป คือ ธงมหามงกุฎ หรือ ธงจอมเกล้า ใน พ.ศ. 2398 พร้อมกับกับการกำหนดให้ธงช้างเผือกเป็นธงชาติสยาม มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นนอกสีแดง พื้นในสีขาบ กลางธงมีรูปพระมหาพิชัยมงกุฎและมีฉัตร 7 ชั้นขนาบสองข้าง ซึ่งจำลองจากตราพระราชลัญจกรพระมหามงกุฎ อันเป็นพระราชลัญจกรประจำรัชกาล เพื่อใช้ชักขึ้นบนเสาเรือพระที่นั่งเป็นที่หมายว่าได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือลำนั้น นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้ชักธงนี้ขึ้นบนเสาธงในพระบรมมหาราชวัง เพื่อระบุว่าพระองค์ประทับอยู่ในพระนคร และให้ใช้เป็นธงประจำกองทหารเกียรติยศในเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินประทับในพระนครด้วย นอกจากนี้ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ชักธงอีกอย่างหนึ่งขึ้นประจำเสาธงในพระบรมมหาราชวัง คือ ธงไอยราพต เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าพระองค์มิได้ประทับอยู่ในพระนคร ธงนี้เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นแดง มีรูปตามอย่างพระราชลัญจกรไอยราพต กล่าวคือ เป็นรูปช้างเอราวัณสามเศียรยืนหันหน้าเข้าเสาธง เทินบุษบกอุณาโลม ด้านซ้ายขวาล้อมด้วยเครื่องสูงเป็นฉัตร 7 ชั้นข้างละ 2 คัน ส่วนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ใช้ ธงจุฑามณี หรือ ธงปิ่น เป็นธงประจำพระองค์ มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นสีขาบ กลางธงมีรูปพระจุฑามณี (ปิ่นปักผม) ตั้งบนพานแว่นฟ้าซึ่งประดิษฐานอยู่เหนือตั่ง และมีฉัตร 7 ชั้นขนาบสองข้าง โดยจำลองแบบจากตราพระราชลัญจกรพระจุฑามณี อันเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้ชักธงนี้ขึ้นบนเสาธงในพระบวรราชวัง เพื่อระบุว่าพระองค์ประทับอยู่ในพระนคร
-
พระราชลัญจกรมหามงกุฏ ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว -
ธงมหามงกุฎ -
พระราชลัญจกรไอยราพตองค์ใหญ่ -
ธงไอยราพต -
พระราชลัญจกรจุฑามณี ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว -
ธงจุฑามณี
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ. 110 เพื่อจัดระเบียบการใช้ธงต่างๆ ในประเทศสยามขณะนั้นเป็นครั้งแรก ในส่วนของธงพระอิสริยยศนั้น ได้มีการกำหนดขึ้นจำนวน 3 ชนิด โดยเป็นธงสำหรับพระมหากษัตริย์ 2 ชนิด สำหรับราชตระกูล 1 ชนิด
ธงประจำพระองค์สำหรับพระมหากษัตริย์นั้น อย่างหนึ่งเรียกชื่อว่า ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ ลักษณะคล้ายกับธงมหามงกุฎ แต่เปลี่ยนเครื่องหมายกลางธงจากรูปพระมหาพิชัยมงกุฎและฉัตร 7 ชั้น เป็นรูปโล่อาร์มอย่างตะวันตก ลวดลายในโล่นั้นแบ่งเป็น 3 ช่อง ช่องบนเป็นรูปช้างสามเศียรยืนแท่นหน้าตรงในพื้นสีเหลือง ช่องซ้ายล่างเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นในพื้นสีแดง ช่องขวาล่างเป็นรูปกริชมลายู 2 เล่มไขว้กันบนพื้นสีแดง มีพระมหาพิชัยมงกุฏและตราจักรีคร่อมอยู่ด้านบน ขนาบด้วยฉัตร 7 ชั้นทั้งสองข้างแทน ตราดังกล่าวนี้นำมาจากตราแผ่นดินในเวลานั้น ธงอีกอย่างหนึ่งเรียกชื่อว่า "ธงจุฑาธิปไตย" มีลักษณะอย่างธงไอยราพต เว้นแต่ว่าในบุษบกนั้นเปลี่ยนจากรูปอุณาโลมเป็นตราพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ภายใต้พระเกี้ยว สำหรับชักขึ้นในพระนครเวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง
-
พระราชลัญจกรตราแผ่นดิน (ตราอาร์ม) -
ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ -
ธงจุฑาธิปไตย -
ตราพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ภายใต้พระเกี้ยว
ส่วนธงพระอิสริยยศสำหรับราชตระกูลนั้นกำหนดขึ้นชั้นเดียว เรียกว่า ธงเยาวราชธวัช ลักษณะเป็นธงพื้นแดงมีรูปโล่ตราแผ่นดินภายใต้เครื่องหมายจักรี ใช้สำหรับพระบรมราชเทวี พระราชเทวี พระราชโอรส พระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศ์ที่ทรงกรม และพระองค์เจ้าในพระบรมมหาราชวัง เป็นต้น ซึ่งมีราชอิสริยยศสมควรที่จะได้รับสลุตอย่างหลวง ราชตระกูลนอกจากนี้ถ้ามีราชการไปที่ใดต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นการพิเศษเสียก่อนจึงจะใช้ธงเยาวราชธวัชได้
ถึงปี พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 116 เพื่อปรับปรุงระเบียบการใช้ธงใหม่ ในส่วนของธงพระอิสริยยศนั้นได้เปลี่ยนชื่อ ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ เป็น ธงมหาราช มีการกำหนดลักษณะสัดส่วนของธงและการใช้ธงให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ยกเลิกธงจุฑาธิปไตยและฟื้นฟูการใช้ธงไอยราพตอีกครั้ง และยกเลิกธงเยาวราชธวัชพร้อมทั้งจำแนกธงพระอิสริยยศสำหรับราชตระกูลเสียใหม่ออกเป็น 4 ชั้น คือ ธงราชินี ธงเยาวราช ธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราช และธงราชวงศ์ เมื่อรวมธงมหาราชด้วยแล้วจะมีธงพระอิสริยยศทั้งหมด 5 ชั้น อนึ่ง ธงราชวงศ์ที่บัญญัติขึ้นในครั้งนั้นมีแต่เพียงธงราชวงศ์ฝ่ายหน้าเท่านั้น ภายหลังจึงได้เพิ่มธงราชวงศ์ฝ่ายในขึ้นอีกชั้นหนึ่งในปี พ.ศ. 2442
-
ธงมหาราช -
ธงราชินี -
ธงเยาวราช -
ธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราช -
ธงราชวงศ์ฝ่ายหน้า -
ธงราชวงศ์ฝ่ายใน
(บัญญัติเมื่อ พ.ศ. 2442)
ในปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บัญญัติแบบอย่างของธงพระอิสริยยศขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 129 โดยทรงจำแนกธงพระอิสริยยศเป็น 6 ชั้น สำหรับพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช พระวรชายาในพระยุพราช พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระมหากษัตริย์ ตามลำดับ และทรงเปลี่ยนตราแผ่นดินในธงใหม่จากตราอาร์มเป็นตราพระครุฑพ่าห์ แบบธงที่บัญญัติขึ้นดังกล่าวนี้ยังคงได้ใช้สืบมาจนถึงทุกวันนี้ โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มธงพระอิสริยยศขึ้นอีกชั้นหนึ่งคือ "ธงบรมราชวงศ์" ในปี พ.ศ. 2522 เพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระบรมราชชนนีเป็นราชประเพณีสืบไป
ธงพระอิสริยยศในปัจจุบัน
ธงพระอิสริยยศตามพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2522
ปัจจุบันธงพระอิสริยยศของไทยแบ่งออกเป็น 7 ชั้น ตามพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2522 ดังนี้
- 1. ธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์
ธงชั้นนี้เรียกชื่อว่า "ธงมหาราช" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- ธงมหาราชใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นธงสีเหลือง มีรูปครุฑพ่าห์สีแดงอยู่ตรงกลาง
- ธงมหาราชน้อย แบ่งตามความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงมหาราชใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียวโดยให้ปลายสุดกว้าง ครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 3 ใน 8 ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น 8 เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงมหาราชใหญ่ หมายความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
- 2. ธงสำหรับองค์สมเด็จพระราชินี
ธงชั้นนี้เรียกชื่อว่า "ธงราชินี" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- ธงราชินีใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วนพื้นธงสีเหลือง ตอนต้น 2 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธงเหมือนธงมหาราชใหญ่ ตอนปลายตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 1 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธง
- ธงราชินีน้อย มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงมหาราชน้อย เว้นแต่ชายต่อเป็นสีแดง ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงราชินีใหญ่ หมายความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
- 3 ธงสำหรับองค์สมเด็จพระบรมราชชนนี
ธงชั้นนี้เรียกชื่อว่า "ธงบรมราชวงศ์" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- ธงบรมราชวงศ์ใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน พื้นธงสีเหลือง ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 1 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธง ที่ตรงกลางตอนต้น 2 ใน 3 ส่วนของผืนธง เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีขาบ มีขนาดกว้างยาวครึ่งหนึ่งของความกว้างของผืนธง ภายในรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีขาบมีรูปมงกุฎขัตติยราชนารีประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า 2 ชั้นเหนือตั่ง และมีตั่งลดตั้งฉัตรกลีบบัว 5 ชั้น อยู่สองข้าง รูปเหล่านี้เป็นสีเหลืองเข้ม
- ธงบรมราชวงศ์น้อย แบ่งตามความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับตอนต้นของธงบรมราชวงศ์ใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตร ตอนปลายดัดแปลงหางนกแซงแซวให้ลึก 3 ใน 8 ส่วนของความยาวของผืนธง และความยาวของชายต่อเป็น 8 เท่าของความกว้างของตอนต้น ตอนปลายทั้งหมดเป็นสีแดง ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงบรมราชวงศ์ใหญ่ หมายความว่า โปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
- 4. ธงสำหรับองค์สมเด็จพระยุพราช
ธงชั้นนี้เรียกชื่อว่า "ธงเยาวราช" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- ธงเยาวราชใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นธงมีสองสี รอบนอกสีขาบ รอบในมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงมหาราชใหญ่ คือมีสีเหลืองกว้างยาวครึ่งหนึ่งของรอบนอก มีรูปครุฑพ่าห์สีแดงอยู่ตรงกลาง
- ธงเยาวราชน้อย แบ่งตามความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงเยาวราชใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียวโดยให้ปลายสุดกว้าง ครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก 3 ใน 8 ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น 8 เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงเยาวราชใหญ่ หมายความว่า โปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
- 5. ธงสำหรับองค์พระวรชายาแห่งสมเด็จพระยุพราช
ธงชั้นนี้เรียกชื่อว่า "ธงเยาวราชฝ่ายใน" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- ธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน ตอนต้น 2 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธงเหมือนธงเยาวราชใหญ่ ตอนปลายเป็นสีขาบตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก 1 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธง
- ธงเยาวราชน้อยฝ่ายใน มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงเยาวราชน้อย เว้นแต่ชายต่อเป็นสีแดง ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน หมายความว่า โปรดให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
- 6. ธงสำหรับองค์พระราชโอรส สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ หรือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ แห่งพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล
ธงชั้นนี้เรียกชื่อว่า "ธงราชวงศ์ฝ่ายหน้า" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นธงสีขาบ มีดวงกลมสีเหลือง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาวครึ่งหนึ่งของความกว้างของผืนธงอยู่ตรงกลางของผืนธง ภายในดวงกลมมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง
- ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า แบ่งตามความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตรตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียว โดยให้ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก 3 ใน 8 ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น 8 เท่า ของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า หมายความว่า โปรดให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
- 7. ธงสำหรับพระราชธิดา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ หรือสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ แห่งพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล
ธงชั้นนี้เรียกชื่อว่า "ธงราชวงศ์ฝ่ายใน" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน ตอนต้น 2 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธงเหมือนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า ตอนปลายเป็นสีขาบตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก 1 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธง
- ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายใน มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า เว้นแต่ชายต่อเป็นสีแดง ธงนี้ถ้าชักขึ้นแทนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน หมายความว่า โปรดให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
ธงพระอิสริยยศเฉพาะพระองค์
ในปี พ.ศ. 2562 ได้มีการเฉลิมพระปรมาภิไธยและเฉลิมพระนามาภิไธยพระบรมวงศานุวงศ์เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประธานข้าราชบริพารในพระองค์จึงได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ประกอบมาตรา 15 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 และมาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 กับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกระเบียบส่วนราชการในพระองค์ว่าด้วยการใช้ การเชิญ การแสดงธงพระอิสริยยศ และการถวายความเคารพโดยใช้ธงชัยเฉลิมพล พ.ศ. 2562 เพื่อให้การใช้ การประดับ การเชิญหรือการแสดงธงพระอิสริยยศ และการถวายความเคารพโดยใช้ธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยทหารในกรณีต่างๆ เป็นไปด้วยความถูกต้องเรียบร้อย มีความเหมาะสม และถวายซึ่งพระเกียรติยศ
ระเบียบดังกล่าวได้กำหนดให้มีธงพระอิสริยยศสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์เพิ่มเติมเป็นการเฉพาะพระองค์ จำนวน 3 ธง ดังนี้
- 1. ธงเฉพาะพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ธงนี้เรียกชื่อว่า "ธงสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- ธงสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน พื้นธงสีเหลือง ตรงกลางตอนต้น 2 ใน 3 ส่วนของผืนธง เป็นรูปครุฑพ่าห์สีแดงอยู่ตรงกลาง ตอนปลายตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 1 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธง และมีพระนามาภิไธย สก
- ธงสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงน้อย แบ่งตามความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้น มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับตอนต้นของธงสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อเป็นสีแดงเป็นรูปธงยาวเรียว โดยให้ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 3 ใน 8 ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น 8 เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าเชิญขึ้นแทนธงสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงใหญ่ หมายความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
- 2. ธงเฉพาะพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ธงนี้เรียกชื่อว่า "ธงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- ธงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน พื้นธงสีขาบ ปลายธงตัดแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 1 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธง ที่ตรงกลางตอนต้น 2 ใน 3 ส่วนของผืนธง เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีเหลือง มีรูปครุฑพ่าห์สีแดงอยู่ตรงกลาง และมีพระนามาภิไธย สธ ประดิษฐานที่มุมบน
- ธงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีน้อย แบ่งตามความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับตอนต้นของธงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อเป็นสีแดงเป็นรูปธงยาวเรียว โดยให้ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 3 ใน 8 ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น 8 เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าเชิญขึ้นแทนธงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีใหญ่ หมายความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
- 3. ธงเฉพาะพระองค์สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ธงนี้เรียกชื่อว่า "ธงสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี" แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- ธงสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน พื้นธงสีขาบ ปลายธงตัดแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก 1 ใน 3 ส่วนของความยาวของผืนธง ที่ตรงกลางตอนต้น 2 ใน 3 ส่วนของผืนธง เป็นรูปวงกลมสีเหลือง มีรูปครุฑพ่าห์สีแดงอยู่ตรงกลาง และมีพระนาม จภ ประดิษฐานที่มุมบน
- ธงสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีน้อย แบ่งตามความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสีอย่างเดียวกับตอนต้นของธงสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน 60 เซนติเมตร ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อเป็นสีแดงเป็นรูปธงยาวเรียว โดยให้ปลายสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก 3 ใน 8 ส่วนของความยาวของผืนธง ความยาวของผืนธงเป็น 8 เท่าของความกว้างของตอนต้น ธงนี้ถ้าเชิญขึ้นแทนธงสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีใหญ่ หมายความว่าโปรดให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ
ทั้งนี้ ในหมวดที่ 1 ข้อ 15 ของระเบียบดังกล่าว ได้กำหนดไว้ว่า ธงพระอิสริยยศที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเป็นการเฉพาะแก่พระราชวงศ์พระองค์หนึ่งพระองค์ใด อาจจะกำหนดรูปแบบไว้ในภาคผนวกแนบท้ายระเบียบนี้ก็ได้
ลำดับเกียรติ
ตามระเบียบส่วนราชการในพระองค์ว่าด้วยการใช้ การเชิญ การแสดงธงพระอิสริยยศ และการถวายความเคารพโดยใช้ธงชัยเฉลิมพล พ.ศ. 2562 หมวดที่ 1 ข้อ 5-14 ได้จัดลำดับเกียรติของธงพระอิสริยยศไว้ดังนี้
- ธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ (ธงมหาราช)
- ธงเฉพาะพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (ธงสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง)
- ธงสำหรับองค์สมเด็จพระราชินี (ธงราชินี)
- ธงสำหรับองค์สมเด็จพระบรมราชชนนี (ธงบรมราชวงศ์)
- ธงสำหรับองค์สมเด็จพระยุพราช (ธงเยาวราช)
- ธงเฉพาะพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี (ธงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)
- ธงเฉพาะพระองค์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี (ธงสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี)
- ธงสำหรับองค์พระวรชายาแห่งสมเด็จพระยุพราช (ธงเยาวราชฝ่ายใน)
- ธงสำหรับองค์พระราชโอรส สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ หรือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ แห่งพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล (ธงราชวงศ์)
- ธงสำหรับองค์พระราชธิดา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ หรือสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ แห่งพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล (ธงราชวงศ์ฝ่ายใน)
- อนึ่ง ทรงพระกรุณาฯ ให้ใช้ธงราชวงศ์ฝ่ายใน กับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ อีกด้วย
ตัวอย่างการเชิญธงพระอิสริยยศออกใช้ในราชการ
-
ธงมหาราชหน้ารถยนต์พระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
-
ธงเยาวราชหน้ารถยนต์พระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร
-
นายทหารม้าราชองครักษ์อัญเชิญธงพระอิสริยยศ (ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน) นำพระมหาพิชัยราชรถทรงพระโกศพระศพ ในริ้วกระบวนอัญเชิญพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
-
ทหารราชองครักษ์เชิญธงราชวงศ์ฝ่ายในนำหน้ากระบวนเสด็จของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี(พระอิสริยยศในขณะนั้น) ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ
อ้างอิง
- ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.
- ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติธง พ.ศ. ๒๕๒๒ เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๖, ตอน ๑๑ ก ฉบับพิเศษ, ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒, หน้า ๑
- ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบส่วนราชการในพระองค์ว่าด้วยการใช้ การเชิญ การแสดงธงพระอิสริยยศและการถวายความเคารพโดยใช้ธงชัยเฉลิมพล พ.ศ. ๒๕๖๒ เก็บถาวร 2019-05-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๖, ตอนพิเศษ ๑๑๗ ง, ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒, หน้า ๒-๑๒
- สำนักพระราชวัง. รวมเรื่องและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับราชสำนัก. กรุงเทพฯ : ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักพระราชวัง, 2552.
ดูเพิ่ม
- ตราแผ่นดินของไทย
- ธงชัยราชกระบี่ยุทธ ธงชัยพระครุฑพ่าห์
- ตราประจำพระองค์ในประเทศไทย
- ดอกประจำพระองค์ในประเทศไทย
แหล่งข้อมูลอื่น
- ธงพระอิสริยยศของไทย ที่ Flags of the World (อังกฤษ)
- พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 จาก kodmhai.com เก็บถาวร 2007-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ธงในองค์พระมหากษัตริย์ (หอมรดกไทย กระทรวงกลาโหม)
- ธงประจำพระองค์ จากสารานุกรมไทยฉบับกาญจนาภิเษก (คัดลอกในเว็บไซต์ guru.sanook.com)