วิกิพีเดีย:กฎเข้าใจง่าย
วิกิพีเดียเป็นโครงการที่ ดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และเป็นงานที่ ไม่มีวันสำเร็จ ข้อมูลที่คุณได้เพิ่มเติมในวิกิพีเดียอาจจะอยู่ไปอีกหลายศตวรรษเลยก็เป็นได้ ดังนั้น ขณะที่คุณกำลังดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติม คุณควรจะนึกถึงข้อมูลต่อไปนี้ และคุณจะรู้สึกว่าได้ทำประโยชน์ต่อโครงการวิกิพีเดียต่อไปในอนาคต
เป้าหมายของโครงการวิกิพีเดีย คือ การสร้างสารานุกรมคุณภาพสูง โดยหน้าส่วนใหญ่ของวิกิพีเดียเป็นบทความที่มีรูปแบบสารานุกรม อย่างไรก็ตาม วิกิพีเดียไม่มีนโยบายพื้นฐานอย่างเป็นทางการในด้านคุณภาพของบทความ ชาววิกิพีเดียได้ร่างกฎและระเบียบของตนขึ้นมาและจะพัฒนาต่อไปในอนาคต กฎบางข้ออาจเป็นข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งคุณจะสามารถเรียนรู้ได้จากการสังเกต การซักถาม หรือการบอกเล่าจากผู้ใช้คนอื่น ๆ ในขณะที่กฎของวิกิพีเดียบางประเภทเป็นกฎอย่างเป็นทางการ (ซึ่งพบได้ในหน้าที่ขึ้นต้นด้วยเนมสเปซ วิกิพีเดีย: อย่างเช่นหน้านี้ เป็นต้น) กฎและระเบียบของวิกิพีเดียมีจำนวนมากที่ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องที่จริงจังไปจนถึงเรื่องที่ผ่อนคลาย แต่มีกฎอยู่ไม่กี่ข้อที่มีความสำคัญอย่างมาก แม้กฎเหล่านี้ส่วนมากเป็นสามัญสำนึกเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของวิกิพีเดียและแนวทางเพื่อไปถึงเป้าหมาย แต่กฎเหล่านี้ก็ได้ถูกขัดเกลาแล้วจากประสบการณ์ที่สั่งสมของผู้ใช้วิกิพีเดียนับร้อยที่ได้เรียนรู้และค้นพบคุณค่าของวิกิพีเดีย ซึ่งช่วยเราหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น และนำพาเราไปสู่ความพยายามที่จะพัฒนาบทความต่อไป
ถ้าหากคุณปฏิบัติแนวปฏิบัติดังกล่าวนี้ คุณมีแนวโน้มว่าจะได้รับการปฏิบัติตอบอย่างดีและด้วยความเคารพนับถือ และเมื่อคุณมีประสบการณ์เพิ่มมากขึ้น คุณจะได้เรียนรู้รูปแบบการเขียนเพิ่มเติม และค้นพบอีกหลากหลายวิธีในการพัฒนาบทความ คุณไม่ต้องกังวลหากคุณไม่เข้าใจรูปแบบการทำงานของวิกิพีเดียนี้ในตอนแรก เพราะผู้ใช้วิกิพีเดียคนอื่นจะเก็บกวาดงานเขียนของคุณ และเมื่อเวลาผ่านไป คุณก็จะค้นพบเส้นทางของการก้าวไปสู่ชาววิกิพีเดียผู้ยิ่งใหญ่!
วิกิพีเดียไม่มีกฎระเบียบเข้มงวด แต่มีนโยบายและแนวทางปฏิบัติซึ่งคุณมีสิทธิเลือกได้เองว่าจะปฏิบัติตามหรือไม่ คุณอาจพบเห็นผู้ใช้บางคนที่ไม่เห็นพ้องกับการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติดังกล่าว แต่การแก้ไขของผู้ใช้คนนั้นอาจยังอยู่ภายในกรอบนโยบายของวิกิพีเดียอย่างถูกต้อง คุณจำเป็นจะต้องใช้ "ความนุ่มนวล" ในสถานการณ์เหล่านี้ด้วย ในอีกหลายกรณี ผู้ใช้วิกิพีเดียเจตนาดีอาจค้นพบหนทางของตนเองในการพัฒนาบทความของวิกิพีเดียให้ดีขึ้นก็เป็นได้
แนวทางการเขียนบทความที่ดี
- มุมมองที่เป็นกลาง เขียนจากมุมมองที่เป็นกลาง นี่เป็นหลักการพื้นฐานของมูลนิธิวิกิมีเดียที่ทำให้เราสามารถแสดงออกได้อย่างยุติธรรมต่อทุกเรื่องบนโลกนี้
- การพิสูจน์ยืนยันได้ บทความควรจะมีเฉพาะเนื้อหาที่เคยตีพิมพ์มาแล้วในแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ผู้แก้ไขที่จะเพิ่มเติมข้อมูลใหม่ลงในบทความ ควรจะอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือสำหรับข้อมูลชิ้นนั้น มิฉะนั้นมันจะถูกลบออกไปโดยผู้แก้คนใดก็ได้ การจัดหาแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือนั้น เป็นหน้าที่ของผู้ที่ต้องการจะเพิ่มข้อมูลเข้า ไม่ใช่หน้าที่ของผู้ที่ต้องการจะลบข้อมูลออก
- งดงานค้นคว้าต้นฉบับ เนื่องจากวิกิพีเดียไม่ใช่สถานที่สำหรับเผยแพร่ความคิด ทฤษฎี ข้อมูล การวิเคราะห์ของคุณหรือข้อมูลใหม่ที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์มาก่อน (เมื่อใดที่อ้างถึงแหล่งอ้างอิงเดียวบ่อยครั้ง เขียนมันลงด้วยคำพูดของคุณเอง) ดูเพิ่มที่ อะไรที่ไม่ใช่วิกิพีเดีย
ของคลัง...
แนวทางปฏิบัติ
- กล้าที่จะแก้ไขบทความ! เอาเลย มันเป็นวิกิ! ส่งเสริมคนอื่นรวมถึงคนที่ไม่เห็นด้วยกับคุณให้ทุกคน กล้าที่จะแก้ไขบทความ!
- พึงประพฤติเยี่ยงอารยชน ต่อสมาชิกท่านอื่นเสมอ
- ปล่อยวางกฎทั้งหมด ถ้ากฎปิดกั้นไม่ให้คุณปรับปรุงหรือดูแลวิกิพีเดียให้มีคุณภาพ จงลืมมันเสีย
- ถ้าหากคุณสงสัย ไปที่ หน้าอภิปราย เรามีเวลาเหลือเฟือที่จะหาข้อสรุปร่วมกัน
- เคารพลิขสิทธิ์ วิกิพีเดียใช้สัญญาอนุญาต GNU Free Documentation License ทุกอย่างที่คุณใส่เข้ามา จะต้องเข้ากันได้กับสัญญานั้น
- คำอธิบายย่อการแก้ไขที่สามารถเข้าใจได้ และมีการอธิบายที่ชัดเจนนั้นเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ เนื่องจากจะช่วยให้สมาชิกท่านอื่นรับรู้ และเข้าใจถึงสิ่งที่ผู้แก้ไขต้องการกระทำแล้ว ยังเป็นรายการช่วยจำหากผู้แก้ไขห่างหายจากการแก้ไขบทความหนึ่ง ๆ ที่อาจทำค้างไว้เป็นเวลานาน สิ่งที่ควรระบุไว้คือ สิ่งที่แก้ไข และ เหตุผลของการแก้ไข หากคำอธิบายนั้นมีความยาวมาก สามารถนำไปบันทึกไว้ในหน้าอภิปรายได้ เนื่องจากหลักพื้นฐานสำคัญของวิกิพีเดียนั้น คือให้ทุกคนสามารถแก้ไขบทความได้ โดยไม่ต้องมีการลงทะเบียน ด้งนั้นจึงมีการแก้ไขบทความเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และคำอธิบายอย่างย่อนี้จะช่วยให้สามารถเข้าใจถึงการแก้ไขที่เกิดขึ้นได้ง่าย
- เชื่อว่าคนอื่นมีเจตนาดี หรือในนัยหนึ่งคือ พยายามคิดว่าคนที่เราสนทนาด้วยนั้น ก็เป็นคนมีความคิด มีเหตุผล ซึ่งพยายามที่จะทำสิ่งดี ๆ ให้กับวิกิพีเดีย — นอกเสียจากว่าคุณมีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัด แน่นหนา และไม่ลำเอียงเท่านั้น เพียงแค่การไม่เห็นด้วยกับคุณนั้น ไม่นับเป็นข้อพิสูจน์ได้
- โดยเฉพาะ ไม่ย้อนการแก้ไขที่มีเจตนาดี ในบางครั้งการย้อนการแก้ไขนั้นทรงพลังมากเกินไปเสียหน่อย เราจึงมี กฎย้อนกลับสามข้อ อย่าตกอยู่ใต้อำนาจของสิ่งล่อใจใด ๆ ก็ตาม นอกเสียจากว่าคุณกำลังย้อนการแก้ไขที่เป็นการก่อกวนในวิกิพีเดีย ถ้าหากคุณไม่สามารถอดทนต่อการกระทำดังกล่าวได้อีกต่อไป ให้คุณย้อนการแก้ไขไปหนึ่งครั้ง และใส่คำอธิบายอย่างย่อที่สมเหตุสมผล และคุยกันต่อในหน้าอภิปรายของบทความนั้น ๆ
- อย่าว่าร้ายผู้อื่น อย่าเขียนว่าผู้ใช้ใดเป็นพวกโง่เง่า หรือแดกดันผู้ใช้คนนั้น (แม้ผู้ใช้คนนั้นอาจจะเป็นจริง ๆ) แทนที่จะทำอย่างนั้น ให้คุณอธิบายว่าเขาทำอะไรผิด ทำไมมันถึงผิด และจะแก้ไขอย่างไร ถ้าเป็นไปได้ แก้ไขมันด้วยตัวคุณเอง (แต่ดูข้างบนก่อน)
- นุ่มนวล: ใจกว้างกับสิ่งที่คุณได้รับ ระมัดระวังกับสิ่งที่คุณทำ พยายามอย่างเต็มที่ ยอมรับคำพูดเล่นสำนวนของผู้อื่น ในขณะเดียวกัน ก็พยายามพูดอย่างสุภาพ ชัดเจน ตรงไปตรงมา ให้มากที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้
- ลงชื่อ ลงชื่อในหน้าอภิปราย (พิมพ์ ~~~~ ซึ่งจะถูกแทนที่ด้วย ชื่อผู้ใช้ของคุณ และวันเวลาที่คุณส่ง) แต่ไม่ต้องลงชื่อในหน้าบทความ
- ใช้ปุ่ม ดูตัวอย่าง เพื่อลดการแก้ซ้อนกัน
- หลักการพื้นฐาน: หลักการพื้นฐานของวิกิพีเดียประกอบด้วยกฎเพียง 5 ข้อเท่านั้น: มุมมองเป็นกลาง สัญญาอนุญาตเสรี กระบวนการวิกิ ความสามารถที่ทุกคนร่วมกันแก้ไขได้ และอำนาจสูงสุดของจิมโบ และคณะกรรมการในกระบวนการต่าง ๆ ถ้าหากคุณไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง คุณอาจต้องกลับไปพิจารณาเสียใหม่ว่า วิกิพีเดียเป็นที่ซึ่งเหมาะสำหรับคุณหรือไม่ ขณะที่ทุกอย่างบนวิกิสามารถแก้ไขได้ในทางทฤษฎี แต่ว่าชุมชนวิกิพีเดียสามารถก้าวมาถึงจุดนี้ได้ ก็ด้วยหลักการดังนี้ และคาดว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงในอนาคต
สิ่งที่กล่าวมาข้างบนส่วนใหญ่เน้นเกี่ยวกับการกระทำมากกว่าตัวเนื้อหา สำหรับประเด็นเกี่ยวกับเนื้อหากรุณาดูที่ รายชื่อบทความที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม สำหรับการอภิปรายแนวคิดของบทความซึ่งได้ถูกลบบ่อยครั้งตามนโยบายการลบ
ดูเพิ่ม
- วิกิพีเดีย:สามสามัญ (นโยบายง่าย ๆ 3 ข้อ)
- วิกิพีเดีย:อภิธานศัพท์