ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ปฐมจุลจอมเกล้า"
ป้ายระบุ: แก้ไขด้วยอุปกรณ์เคลื่อนที่ แก้ไขด้วยเว็บอุปกรณ์เคลื่อนที่ |
ป้ายระบุ: แก้ไขด้วยอุปกรณ์เคลื่อนที่ แก้ไขด้วยเว็บอุปกรณ์เคลื่อนที่ แก้ไขขั้นสูงด้วยอุปกรณ์เคลื่อนที่ |
||
บรรทัด 112: | บรรทัด 112: | ||
* [[พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์]] |
* [[พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์]] |
||
* [[พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ]] |
* [[พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ]] |
||
* [[เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี]] |
|||
*[[หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์]] |
*[[หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์]] |
||
* [[กำธน สินธวานนท์|พลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์]] |
* [[กำธน สินธวานนท์|พลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์]] |
รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:08, 9 พฤศจิกายน 2563
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า | |
---|---|
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า ฝ่ายหน้า | |
อักษรย่อ | ป.จ. |
ประเภท | ฝ่ายหน้า : สายสะพายมีดารา มีสายสร้อย ฝ่ายใน : สายสะพายมีดารา |
วันสถาปนา | ฝ่ายหน้า : พ.ศ. 2416 ฝ่ายใน : พ.ศ. 2436 |
ประเทศ | ประเทศไทย |
จำนวนสำรับ | ฝ่ายหน้า : 30 สำรับ ฝ่ายใน : 20 สำรับ |
ผู้สมควรได้รับ | พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทั้งปวง (พระราชทานตามอัธยาศัย) |
มอบเพื่อ | เป็นเครื่องหมายแสดงอิสริยยศและระลึกถึงความดีความชอบของบุคคลซึ่งได้รักษาแผ่นดินมาแต่ก่อนถึงปัจจุบัน |
ผู้สถาปนา | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ประธาน | พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย |
ลำดับเกียรติ | |
สูงกว่า | รัตนวราภรณ์ |
รองมา | รามาธิบดี ชั้นเสนางคะบดี |
หมายเหตุ | ฝ่ายหน้า : มอบสืบตระกูลได้ ฝ่ายใน : มีคำนำหน้านาม |
ปฐมจุลจอมเกล้า มีอักษรย่อว่า ป.จ. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานทั้งฝ่ายหน้า (บุรุษ) จำนวน 30 สำรับ และฝ่ายใน (สตรี) จำนวน 20 สำรับ โดยปฐมจุลจอมเกล้าจัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติอันดับที่ 6[1] และถือเป็นชั้นสูงสุดของเครื่องอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าที่พระราชทานให้แก่ฝ่ายใน
ประวัติ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าเมื่อปี พ.ศ. 2416 เมื่อแรกสถาปนานั้นพระราชทานเฉพาะฝ่ายหน้า (บุรุษ) เท่านั้น โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 21 สำรับ แบ่งเป็น สำหรับพระมหากษัตริย์ดวงตราและสายสร้อยจะประดับเพชรล้วน 1 สำรับและสำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ผู้เป็นหัวหน้าราชตระกูล อัครมหาเสนาบดีจัตุสดมภ์และหัวเมืองซึ่งเป็นเมืองเอกที่มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา และผู้ได้รับพระราชทานตรานพรัตนราชวราภรณ์อีกจำนวน 20 สำรับ[2] โดยปฐมจุลจอมเกล้าจัดเป็นชั้นที่มีลำดับเกียรติสูงสุดของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้าที่พระราชทานสำหรับฝ่ายหน้า จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2443 มีการสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 เพิ่มขึ้น เรียกว่า ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ ซึ่งมีลำดับเกียรติสูงที่สุดสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้า ดังนั้น ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าจึงมีลำดับเกียรติรองจากชั้นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษตั้งแต่นั้นมา[3]
ส่วนฝ่ายใน (สตรี) นั้น พระองค์ทรงสร้างกล่องหมากและหีบหมากเป็นเครื่องยศสำหรับพระราชทานในทำนองเดียวกันกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าสำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า แต่ไม่ได้พระราชทานโดยทางสืบสกุลและไม่จำกัดจำนวน โดยชั้นสูงที่สุด เรียกว่า กล่องปฐมจุลจอมเกล้า เทียบได้กับชั้นปฐมจุลจอมเกล้าสำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า[4] โดยมีลักษณะเป็นกล่องหมากทำด้วยเงินกาไหล่ทองจำหลักเป็นลายชัยพฤกษ์พื้นลงยาสีขาบ ฝากล่องมีดวงดาราปฐมจุลจอมเกล้าอยู่กลางอยู่กลาง ขอบนอกเป็นอักษรว่า "การพระราชพิธีบรมราชภิเษก ปีระกาเบญจศก จุลศักราช ๑๒๓๕" มีตลับข้างใน 4 ใบจัดเป็นครึ่งซีกตามรูปกล่อง จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2436 พระองค์จึงพระราชดำริเห็นสมควรที่จะทรงสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายในขึ้น เพื่อให้สมาชิกผู้ได้รับพระราชทานได้ประดับตนเป็นที่แสดงเกียรติยศเพิ่มขึ้น โดยชั้นสูงที่สุดสำหรับพระราชทานแก่ฝ่ายใน คือ ปฐมจุลจอมเกล้า สำหรับพระราชทานแก่มหาสวามินีหรือคณาธิปตานี 1 ดวง และพระราชทานสำหรับฝ่ายในอีก 15 ดวง รวมทั้งสิ้น 16 ดวง[5]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า โดยกำหนดจำนวนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้าไว้ 30 สำรับ และสำหรับพระราชทานฝ่ายใน 20 สำรับ โดยไม่นับรวมกับจำนวนสำรับที่พระราชทานแก่ผู้มีเกียรติจากต่างประเทศ[6]
ลักษณะและองค์ประกอบ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า สามารถแบ่งออกสำหรับพระราชทานให้ฝ่ายหน้าและฝ่ายใน โดยมีลักษณะดังนี้[6]
ฝ่ายหน้า
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้านั้น 1 สำรับ ประกอบด้วย ดวงตรา ดารา และสายสร้อย ซึ่งมีลักษณะดังนี้
- ดวงตรา
- ด้านหน้า มีลักษณะเป็นรัศมี 8 แฉก ลงยาสีชมพู มีรัศมีทองแทรกตามระหว่างแฉก มีใบชัยพฤกษ์สองข้าง ลงยาสีเขียว กลางดวงตรามีพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอบลงยาสีขาบ มีอักษรทองว่า "เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ" เบื้องบนมี พระจุลมงกุฎเปล่งรัศมีลงยาสีเขียว สีแดง สีขาบ สีขาว
- ด้านหลัง มีลักษณะเหมือนด้านหน้า แต่ที่กลางดวงตราเป็นรูปช้างไอราพต ลงยาสีขาว บนหลังช้างเป็นรูปตรีศูล ลงยาสีขาว ที่ขอบมีอักษรทองว่า "ปีระกา เบญจศก ศักราช ๑๒๓๕" รอบขอบเป็นรูปจักร ลงยาสีขาวพื้นแดง
ดวงตราใช้สำหรับห้อยกับสายสะพายสีชมพู กว้าง 10 เซนติเมตร สำหรับ สะพายบ่าซ้ายเฉียงลงทางขวา
- ดารา มีลักษณะเป็นรัศมีทอง 8 แฉก รัศมีเงิน 8 แฉก กลางดารา พื้นสีชมพู มีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ "จ.จ.จ." (จุฬาลงกรณ์จุลจอมเกล้า) ทองประดับเพชร ขอบลงยาสีขาบ และมีอักษรทองว่า "เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ" รอบขอบเป็นเพชรสร่งเงิน ใช้สำหรับประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย
- สายสร้อยลงยา หรือ สายสร้อยทอง จะได้รับพระราชทานอย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับชาวต่างประเทศนั้น พระราชทานหรือไม่ก็สุดแต่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร โดยสายสร้อยมีลักษณะเป็นรูปอักษรพระปรมาภิไธยย่อ "จ.ป.ร." ไขว้ 16 องค์ ดอกบัว 17 ดอก สลับกันไปตลอดสาย กลางสายสร้อยเป็นรูปช้างไอราพต มีพระจุลมงกุฎเปล่งรัศมี มีเครื่องสูง 2 ข้าง มีราชสีห์ คชสีห์เชิญฉัตร สำหรับห้อยดวงตราสวมแทนสายสะพาย กับมีแพรจีบสีขาวกลัดทับสายสร้อยเหนือบ่าทั้ง 2 ข้าง
ฝ่ายใน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า สำหรับพระราชทานฝ่ายในนั้น 1 สำรับ ประกอบด้วย ดวงตราและดารา ซึ่งมีลักษณะดังนี้
- ดวงตรา มีลักษณะเหมือนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า แต่ขนาดย่อมกว่า ที่จุลมงกุฎและใบชัยพฤกษ์ประดับเพชร ด้านหลังมีอักษรทองว่า "รัตนโกสินทรศก ๑๑๒" ห้อยกับสายสะพายสีชมพู กว้าง 7.5 เซนติเมตร ใช้สำหรับสะพายบ่าซ้ายเฉียงลงทางขวา หรือห้อยกับแพรแถบสีชมพู กว้าง 5 เซนติเมตร ผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย
- ดารา มีลักษณะเหมือนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า แต่ขนาดย่อมกว่า ใช้สำหรับประดับที่อกเสื้อด้านซ้าย
หมายเหตุ: สำหรับพระราชินี ดาราประดับเพชรทั้งดวง
นอกจากนี้ ยังมี เครื่องหมายสำหรับประดับแพรแถบ สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า โดยมีลักษณะเป็นรูป จ.จ.จ. ทองลงยาสีชมพูกับจุลมงกุฎทองลงยาสำหรับประดับกลางแพรแถบย่อสีชมพู และใช้ติดสำหรับดุมเสื้อซึ่งมีลักษณะเป็นรูปดอกไม้จีบด้วยแพรแถบสีชมพูประดับด้วยเครื่องหมายประดับแพรแถบดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยมีสิทธิใช้ประดับเป็นดุมเสื้อเวลาแต่งเครื่องสากลโดยให้ประดับที่รังดุมคอพับของเสื้อชั้นนอกเบื้องซ้าย[7] และสามารถใช้ประดับเมื่อสวมชุดไทย โดยบุรุษมีสิทธิใช้ประดับเป็นดุมเสื้อเวลาแต่งเสื้อชุดไทยสีสุภาพ โดยประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย บริเวณปากระเป๋าเสื้อ ส่วนสตรีนั้น มีสิทธิใช้ประดับเป็นดุมเสื้อเวลาแต่งเสื้อชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ และชุดไทยบรมพิมาน โดยประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย[8]
ลักษณะพิเศษ
เครื่องยศ
ในอดีต ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้านั้นจะได้รับพระราชทานเครื่องยศประกอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้แก่ เสื้อครุยปัก จ.จ.จ. พานหมากทองคำลายสลัก เครื่องพร้อม คนโทน้ำลายสลักพร้อมพานรอง กาน้ำทองคำลายสลักพร้อมโต๊ะทองคำ กระโถนทองลายสลัก หีบหมากไม้แดงหุ้มทองคำ นอกจากนี้ ชุดเครื่องแต่งกายยังประกอบด้วยมาลาเส้าเสทิ้น เสื้อทรงประพาสคอบัว รัดประคด และดาบฝักทองคำ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีระเบียบกำหนดเครื่องยศประกอบ แต่ก็มิได้พระราชทานให้ครอบครองอย่างประเพณีเดิม คงเชิญเครื่องยศมาตั้งประกอบในพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าเท่านั้น[9]
การสืบตระกูล (ฝ่ายหน้า)
- ดูบทความหลัก การสืบตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้านั้น สามารถสืบตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้ตระกูลเฉพาะผู้ได้รับปฐมจุลจอมเกล้าฝ่ายหน้าเท่านั้น โดยบุตรชายของผู้ได้รับพระราชทานนั้น จะได้รับสืบตระกูลตั้งแต่บิดายังมีชีวิตอยู่ แต่การสืบตระกูลจะสิ้นสุดลงเพียงชั้นนี้
คำนำหน้านาม (ฝ่ายใน)
สตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า สามารถใช้คำนำหน้านามได้ คือ "คุณ" สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้สมรส หรือ ใช้คำนำหน้านามว่า "ท่านผู้หญิง" สำหรับผู้ที่สมรสแล้วกับสามัญชน คือ ตั้งแต่ หม่อมราชวงศ์ ลงมา
ส่วนสตรี ผู้ที่สมรสกับเจ้านายฝ่ายหน้าในราชวงศ์จักรี คือ ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป ใช้คำว่า หม่อม หรือ สกุลยศเดิม เช่น หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง ไม่ต้องเปลี่ยนเป็นท่านผู้หญิง เรียกลำลองว่า คุณท่าน
สำหรับเจ้านายฝ่ายใน คือ ราชสกุล ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปให้ใช้คำนำพระนามตามเดิม ไม่ว่าจะได้รับพระราชทานชั้นใด ส่วนสตรีที่สมรสแล้ว เป็นราชนิกูลชั้น หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง เมื่อได้รับพระราชทานปฐมจุลจอมเกล้า ใช้คำนำนามว่า "ท่านผู้หญิง "[10]
เกียรติยศศพ
ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า เมื่อวายชนม์จะใช้คำว่า "ถึงแก่อสัญกรรม"[11][12] และจะได้รับพระราชทานเกียรติยศศพ แต่ถ้าผู้วายชนม์เป็นสมาชิกราชตระกูล ดำรงตำแหน่งสำคัญ หรือได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลอื่นที่มีลำดับเกียรติสูงกว่าก็อาจได้รับเกียรติยศศพสูงขึ้น โดยจะได้รับพระราชทานเกียรติยศศพ ดังนี้
|
|
การพระราชทาน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้ามีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานของเครื่องอิสริยาภรณ์ รวมทั้งทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานแก่ผู้ที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ได้ ปัจจุบัน เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า แบ่งออกสำหรับพระราชทานฝ่ายหน้าจำนวน 30 สำรับ และฝ่ายในจำนวน 20 สำรับ นอกจากนี้ ยังสามารถพระราชทานแก่เจ้านายหรือผู้มีเกียรติจากต่างประเทศซึ่งไม่นับรวมกับจำนวนดังกล่าว[6]
ผู้ได้รับพระราชทานปฐมจุลจอมเกล้าจะได้รับใบประกาศนียบัตรทรงลงพระปรมาภิไธยและประทับพระราชลัญจกร อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ได้รับพระราชทานปฐมจุลจอมเกล้าวายชนม์ลง ผู้รับมรดกจะต้องส่งเครื่องราชอิรสริยาภรณ์คืนภายใน 30 วัน ถ้าส่งคืนไม่ได้กองมรดกจะต้องรับผิดชอบ ส่วนกรณีผู้ได้รับพระราชทานปฐมจุลจอมเกล้าได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้าในชั้นที่สูงขึ้นหรือทรงเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ถ้าผู้รับพระราชทานไม่สามารถส่งคืนได้ ต้องชดใช้ราคาสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น[6] สำหรับฝ่ายหน้าต้องชดใช้เป็นจำนวนเงิน 3,073,630 บาท และฝ่ายใน 1,273,826 บาท[13]
รายพระนามและรายนามผู้ได้รับพระราชทาน
ปัจจุบัน ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า ประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เช่น
- สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
- สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
- ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ
- เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี
- หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์
- พลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์
- เกษม วัฒนชัย
- สุเมธ ตันติเวชกุล
- พลากร สุวรรณรัฐ
- พลตรีหญิง ท่านผู้หญิง ศรีรัศมิ์ สุวะดี
- พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล
- จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา
- พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
อ้างอิง
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ลำดับเกียรติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย, เล่ม ๑๑๐, ตอน ๒๙ง ฉบับพิเศษ, ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖, หน้า ๑
- ↑ พระราชบัญญัติเครื่องราชอิศริยยศจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูล ปีระกาเบญจศก จุลศักราช ๑๒๓๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้าเพิ่มเติม รัตนโกสินทร ศก ๑๑๙, เล่ม ๑๗, ตอน ๓๑, ๒๘ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๙, หน้า ๔๐๑
- ↑ สมเด็จกรมพระยาดำรงเดชานุภาพ, ตำนานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า, โรงพิมพ์พระจันทร์, พ.ศ. 2512
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้า รัตนโกสินทร์ ศก ๑๑๒ (ฝ่ายใน), เล่ม ๑๐, ตอน ๓๒, ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๑๘๙๓, หน้า ๓๔๖
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า พุทธศักราช ๒๔๘๔, เล่ม ๕๘, ตอน ๐ ก, ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔, หน้า ๑๕๕๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกากำหนดเครื่องหมายสำหรับประดับแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และที่ใช้เป็นดุมเสื้อ พ.ศ. ๒๔๙๘, เล่ม ๗๒, ตอน ๙๐ ก, ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘, หน้า ๑๕๗๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกากำหนดเครื่องหมายสำหรับประดับแพรถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และที่ใช้เป็นดุมเสื้อ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๘, เล่ม ๑๐๒, ตอน ๙๖ ก ฉบับพิเศษ, ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘, หน้า ๑
- ↑ ปถพีรดี, เครื่องยศ, สกุลไทย, ฉบับที่ 2502, ปีที่ 48, ประจำวันอังคารที่ 1 ตุลาคม 2545
- ↑ เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า จาก สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
- ↑ สุดสงวน, ตอน “การใช้ภาษาในภาวะวิกฤต”, สกุลไทย, ฉบับที่ 2629, ปีที่ 51, ประจำวันอังคารที่ 8 มีนาคม 2548
- ↑ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (ออนไลน์) พ.ศ. 2542 : อสัญกรรม
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การปรับราคาชดใช้แทนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ไม่สามารถส่งคืนตามกฎหมาย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๑ – ๒๕๕๓, เล่ม ๑๒๕, ตอน พิเศษ ๔๙ ง, ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑, หน้า ๘
- ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การปรับราคาชดใช้แทนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ไม่สามารถส่งคืนตามกฎหมาย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๐, เล่ม ๑๓๑, ตอน พิเศษ ๑๘๕ ง, ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๗, หน้า ๔}}
www.ohrm.au.edu/PDF/2014/Ratchakitcha_131_185_19092557.pdf
ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ : เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า[1]
แหล่งข้อมูลอื่น
- ปฐมจุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า จาก สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
- ปฐมจุลจอมเกล้าฝ่ายใน จาก สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี