วงศ์กวางชะมด
กวางชะมด ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไมโอซีนตอนต้น–ปัจจุบัน | |
---|---|
กวางชะมดไซบีเรีย (Moschus moschiferus) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | สัตว์ (Animalia) |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง (Chordata) |
ชั้น: | สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม (Mammalia) |
อันดับ: | สัตว์กีบคู่ (Artiodactyla) |
อันดับย่อย: | สัตว์เคี้ยวเอื้อง (Ruminantia) |
วงศ์: | วงศ์กวางชะมด (Moschidae) Gray, 1821 |
สกุล: | Moschus (Linnaeus, 1758) |
ชนิด[1] | |
กวางชะมด (อังกฤษ: Musk deer) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกสัตว์เคี้ยวเอื้องในวงศ์ Moschidae และสกุล Moschus
ชื่อ
แก้โดยคำว่า "Musk" ที่ใช้เป็นชื่อสามัญในภาษาอังกฤษ สันนิษฐานว่ามาจากภาษาสันสกฤตคำว่า "มุษกะ" ขณะที่แถบป่าหิมพานต์เรียก "กาสตุริ" โดยกวางชะมดถูกใช้เป็นเครื่องสำหรับผลิตเครื่องหอมมาแต่โบราณ โดยมีสูตรว่า ให้ทุบกวางชะมดตัวผู้ให้ตาย โดยอย่าให้เลือดออก แล้วเลาะกระดูกออก และนำเนื้อไปตากแดดให้แห้งแล้วป่นทำเป็นผงหอม หรือให้ผ่าท้องตัวผู้แล้วนำไข่ดันออกมาป่นให้เป็นผง แล้วนำใส่ถุง จะเป็นเครื่องหอมที่ดีที่สุด [2]
ชนิด
แก้กวางชะมดมีรูปร่างทั่วไปคล้ายกับกวาง (Cervidae) แต่ไม่จัดว่าเป็นกวาง กวางชะมดไม่มีเขาและมีขนาดเล็กกว่า มีทั้งสิ้น 7 ชนิด คือ
- Moschus moschiferus (กวางชะมดไซบีเรีย)
- Moschus chrysogaster (กวางชะมดเขาสูง)
- Moschus fuscus (กวางชะมดดำ)
- Moschus berezovskii (กวางชะมดป่า)
- Moschus anhuiensis (กวางชะมดอันฮุย)
- Moschus cupreus (กวางชะมดแคชเมียร์)
- Moschus leucogaster (กวางชะมดหิมาลัย)
ลักษณะ
แก้กวางชะมดโดยรวมแล้ว มีขนหยาบและมีสีสันที่หลากหลาย มีความยาวประมาณ 1 เมตร มีความสูงถึงหัวไหล่ประมาณ 50-60 เซนติเมตร แต่บริเวณสะโพกจะสูงกว่าหัวไหล่อีกประมาณ 5 เซนติเมตร น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 9-11 กิโลกรัม มีจุดเด่น คือ มีเขี้ยวออกมาจากริมฝีปากประมาณ 7.5 เซนติเมตร ซึ่งตัวเมียจะมีขนาดสั้นกว่า ตัวผู้มีต่อมผลิตสารคล้ายขี้ผึ้งที่มีกลิ่นคล้ายกับกลิ่นของชะมด (Viverridae) ซึ่งมีไว้เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกับตัวเมียและประกาศอาณาเขต ที่บริเวณระหว่างสะดือกับอวัยวะสืบพันธุ์ และยังมีถุงน้ำดีอีกด้วย
ถิ่นที่อยู่
แก้กวางชะมด อาศัยอยู่ลำพังตัวเดียวในป่าที่ราบสูงในระดับ 2,600-3,600 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในทวีปเอเชียตอนกลางและเอเชียตะวันออก ออกหากินในเวลาเช้าและเย็น นอนหลับพักผ่อนในเวลากลางวัน ตกลูกครั้งละ 1 ตัว เมื่อสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 1 ปี
ประโยชน์ต่อมนุษย์
แก้กวางชะมด เป็นสัตว์ที่มนุษย์ใช้กลิ่นจากการผลิตของตัวผู้เช่นเดียวกับชะมด เรียกว่า "ชะมดเชียง" ในเชิงสมุนไพรและผลิตเครื่องหอม บางชนิดมีการเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ซึ่งตัวผู้จะผลิตสารนี้ได้ตัวประมาณ 28 กรัม และจะผลิตได้เมื่อมีอายุ 3 ปี หรือมากกว่า[3]
อ้างอิง
แก้- ↑ จาก ITIS.gov (อังกฤษ)
- ↑ หน้า 3, ของหอม. "ชักธงรบ" โดย กิเลน ประลองเชิง. ไทยรัฐปีที่ 67 ฉบับที่ 21260: วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559: ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ปีวอก
- ↑ จารุจินต์ นภีตะภัฏ, กวางชะมด[ลิงก์เสีย]
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Moschus ที่วิกิสปีชีส์