อูฐ
อูฐ ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: สมัยไพลโอซีน–ปัจจุบัน[1] | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Artiodactyla |
วงศ์: | Camelidae |
สกุล: | Camelus Linnaeus, 1758 |
ชนิด | |
อูฐ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในสกุล Camelus จัดอยู่ในวงศ์ Camelidae เป็นสัตว์ที่มีความอดทนสูง สามารถอาศัยอยู่ได้โดยไม่ต้องกินอาหารหรือน้ำเลย 2 สัปดาห์ เพราะมีไขมันสะสมไว้ในหนอกและร่างกายเก็บรักษาน้ำได้เป็นอย่างดี จึงสามารถอยู่ในที่ทุรกันดารเช่นทะเลทรายได้เป็นอย่างดี กินอาหารประเภทใบไม้ในทะเลทราย ตัวโตเต็มที่มีความสูงถึงบ่าประมาณ 1.85 เมตร และหนอกสูงอีก 75 เซนติเมตร ความสามารถ วิ่งได้เร็ว 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเดินด้วยความเร็วคงที่ประมาณ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แบกน้ำหนักได้ 150-200 กิโลกรัม อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงได้จาก 35 องศาเซลเซียสในตอนกลางคืนมาเป็น 41 องศาเซลเซียสในตอนกลางวัน ปัจจุบันสัตว์ในตระกูลอูฐได้ถูกนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจในบางประเทศ แต่ใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ เป็นอาหาร ตัดขน รีดนม และใช้เนื้อเพื่อบริโภค [2]
ประเภท
แก้สัตว์ที่จัดอยู่ในวงศ์อูฐมีอยู่ 6 ชนิดด้วยกันคือ
- อูฐหนอกเดียว (Arabian camel) เป็นอูฐที่มีถิ่นที่อยู่ในออสเตรเลียและตะวันออกกลาง
- อูฐสองหนอก (Bactrian camel) มีถิ่นที่อยู่ในแถบเอเชียกลาง
- ยามา (llama) มีถิ่นที่อยู่ในอเมริกาใต้
- อัลปากา (alpaca) มีถิ่นที่อยู่ในอเมริกาใต้
- บิกุญญา (vicuña) มีถิ่นที่อยู่ในอเมริกาใต้
- กัวนาโก (guanaco) มีถิ่นที่อยู่ในอเมริกาใต้
จุดกำเนิดของอูฐ
แก้นักวิทยาศาสตร์พบชิ้นส่วนกระดูกของอูฐบนเกาะของประเทศแคนาดาในเขตอาร์กติก อยู่ในพื้นที่ไกลกว่าจุดเหนือสุดของโลกที่เคยพบฟอสซิลอูฐก่อนหน้านี้ 750 กิโลเมตร แต่นั่นก็เป็นเวลา 3.5 ล้านปีมาแล้ว มีการพบเศษซากกระดูกของอูฐในเกาะเอลเลสเมียร์ ของประเทศแคนาดา ค่อนข้างจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ว่าสัตว์ท่องทะเลทรายอันร้อนระอุชนิดนี้จะเคยมีถิ่นอาศัยในพื้นที่หนาวยะเยือกของเขตอาร์กติก ทีมนักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า อูฐในสมัยดึกดำบรรพ์เดินทางไปมาในป่าไม้ที่หนาวเย็นซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าปัจจุบัน 30 เปอร์เซ็นต์ และอุณหภูมิในพื้นที่ขณะนั้นสูงกว่าตอนนี้ประมาณ 14-22 องศาเซลเซียส แต่ก็ถูกปกคลุมด้วยหิมะประมาณ 9 เดือนต่อปี นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอูฐได้ปรับสภาพร่างกายให้เหมาะสมกับอุณหภูมิในเขตขั้วโลกเหนือ โดยหนอกของพวกมันทำหน้าที่สะสมไขมัน ซึ่งจะนำมาใช้ในช่วงอากาศหนาวที่หาอาหารได้ยาก ส่วนเท้าที่แบนและกว้างก็เพื่อช่วยในการทรงตัวขณะเดินบนหิมะ ส่วนในปัจจุบันก็มีประโยชน์ในการประคองร่างกายในทะเลทราย ขณะที่ดวงตาใหญ่โตมีไว้เพื่อหาอาหารในสภาพดินฟ้าอากาศที่มืดครึ้มปีละหลายเดือน นาตาลี ริบซินสกี ผู้ศึกษาซากดึกดำบรรพ์ของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติแห่งแคนาดา ผู้นำการสำรวจในครั้งนี้ เปิดเผยว่า ทีมของเขาพบชิ้นส่วนกระดูกขาล่างของอูฐจำนวน 30 ชิ้น ในดินแดนที่อยู่ในละติจูดสูงสุดในโลกเท่าที่เคยพบมา ซึ่งห่างจากจุดที่เคยพบฟอสซิลสัตว์ชนิดนี้ขึ้นไปทางเหนือ 1,200 กิโลเมตร นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า อูฐมีการกำเนิดสายพันธุ์ขึ้นในทวีปอเมริกาเหนือเมื่อประมาณ 45 ล้านปีก่อน จากนั้นพวกมันก็กระจัดกระจายย้ายถิ่นไปยังยูเรเซียเมื่อ 7 ล้านปีที่แล้ว โดยใช้พื้นดินที่เชื่อมระหว่างอะแลสกาและรัสเซีย (ในปัจจุบัน) ในการเดินทาง ส่วนซากฟอสซิลที่พบล่าสุดนี้อายุประมาณ 3.5 ล้านปี นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ได้สกัดคอลลาเจนจากกระดูกของฟอสซิลที่พบ และเปรียบเทียบกับอูฐ 37 สปีชีส์ในปัจจุบัน พบว่าซากอูฐที่พบนี้มีลักษณะคล้ายยูคอน อูฐหนอกเดียวขนาดใหญ่ที่สูญพันธุ์ไปในปัจจุบัน ซึ่งเป็นอูฐหนอกเดียวขนาดใหญ่ที่สูญพันธุ์ไปแล้วในช่วงยุคน้ำแข็ง [3]
ลักษณะของอูฐซึ่งเหมาะแก่การเป็นพาหนะในทะเลทราย
แก้- หนอกของอูฐเป็นที่เก็บไขมัน ซึ่งจะดึงออกมาใช้เมื่อไม่มีอาหารกิน และความร้อนที่สะสมในตัวอูฐก็จะลอดออกมาทางหนอกนี้ด้วย
- อูฐสามารถอุดจมูกได้ทันทีที่ต้องการ ทำให้พายุทรายกวนใจมันได้ยาก
- อูฐมีขนตายาวมาก เพื่อป้องกันไม่ให้เม็ดทรายเข้าตา
- อูฐมีพื้นเท้าที่กว้างกว่าสัตว์อื่น ๆ ช่วยไม่ให้จมลงในทรายอ่อน ๆ ได้
- อูฐเป็นสัตว์ที่ขยับขาทางด้านเดียวพร้อม ๆ กัน
- ท้องของอูฐเป็นที่เก็บน้ำชั้นดี แล้วจะปล่อยออกมาทางระบบย่อยทีละน้อย ๆ ทำให้ย่อยแม้แต่หญ้าแห้งได้
- นมของอูฐเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญมาก ในการเดินทางไกลในทะเลทราย
- อูฐสามารถเดินฝ่าทะเลทรายได้วันละ 40 กม. ทั้งที่บรรทุกสัมภาระกว่า 100 กก.
- ขนของอูฐใช้ทำเสื้อผ้าได้ดีมาก และสามารถทอเป็นพรมได้ด้วย
- มูลของอูฐใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงจุดผิงไฟในคืนที่หนาวจัดในทะเลทราย
การปรับตัวของอูฐ
แก้- โดยทั่ว ๆ ไป อุณหภูมิร่างกายคนเราจะไม่สูงเกินกว่า 37 องศาเซลเซียสได้มากนัก เมื่ออุณหภูมิสูงกว่าเกณฑ์ ร่างกายจะขับเหงื่อออกมาเพื่อให้อุณหภูมิของร่างกายลดลง แต่อูฐจะรับความร้อนได้ถึง 41 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิทั่วไป ในท้องทะเลทรายที่ร้อนระอุ เหงื่อของอูฐถึงจะหลั่งออกมา ดังนั้นอูฐจึงรักษาน้ำเอาไว้ในร่างกายได้มาก เนื่องจากในท้องทะเลทรายอุณหภูมิจะไม่สูงเกิน 41 องศาเซลเซียสตลอดเวลา
- ขนอูฐสามารถกันความร้อนภายนอกได้ แต่ขนอูฐจะไม่หนาหรือยาวเกินความจำเป็น มิฉะนั้นเหงื่อซึ่งระบายออกจากร่างกายจะไม่สามารถระเหยได้
- ระบบสรีระของอูฐสามารถทนทานต่อการสูญเสียน้ำในร่างกายได้ดี สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวอื่นจะตายทันทีเมื่อร่างกายสูญเสียน้ำเพียงร้อยละ 20 แต่อูฐสามารถทนอยู่ได้ แม้ร่างกายจะสูญเสียน้ำถึง ร้อยละ 40
- อูฐดื่มน้ำได้ครั้งละมาก ๆ อูฐบางตัวดื่มน้ำในปริมาณเกือบ 1 ใน 3 ของน้ำหนักตัวภายใน 10 นาที จากเหตุผลที่ว่ามา ทำให้อูฐสามารถเดินทางไกลในทะเลทรายได้โดยไม่ต้องดื่มน้ำบ่อย ๆ อูฐวิ่งได้เร็วกว่าชั่วโมงละ 16 กิโลเมตร เร็วพอ ๆ กับแกะ ในขณะที่คนวิ่งเร็วที่สุดเพียง 32 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
การใช้ประโยชน์อื่น
แก้นอกจากจะใช้เป็นพานะ และใช้ขน, เนื้อ หรือนมในการบริโภคแล้ว ที่ตุรกียังมีการละเล่นสู้อูฐ โดยเป็นประเพณีที่ทำกันมานานกว่า 2,400 ปีแล้ว จัดขึ้นปีละครั้งในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อูฐตัวผู้จะต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงตัวเมีย การสู้อูฐไม่โหดร้ายเหมือนการสู้วัวกระทิง อูฐจะไม่ได้รับบาดเจ็บมากนัก โดยอูฐตัวใดที่สามารถกดคู่แข่งให้ลงกับพื้นได้ จะเป็นผู้ชนะ ซึ่งอูฐตัวใดที่เป็นแชมป์หรือชนะอยู่เป็นประจำ จะมีค่าตัวนับล้าน นอกจากนี้แล้วยังมีการแข่งวิ่งอูฐ เหมือนกับการแข่งม้า แต่จ็อกกี้จะไม่ขึ้นขี่หลังอูฐ แต่จะควบคุมอูฐด้วยการใช้รีโมตคอนโทรลเป็นแส้ตวัดไปในอากาศ โดยไม่โดนตัวอูฐ ซึ่งจ็อกกี้จะอยู่ในรถยนต์ที่วิ่งไปข้าง ๆ ขนานกับอูฐของตน
นอกจากนี้แล้ว ยังเชื่อมาตั้งแต่โบราณด้วยว่าปัสสาวะของอูฐใช้เป็นยารักษาได้สารพัดโรค แม้กระทั่งโรคมะเร็ง เชื่อว่าการใช้ปัสสาวะอูฐในอัตรา 1:5 ผสมกับนมอูฐ ดื่มเป็นเวลาติดต่อกัน 40 วัน จะทำให้มะเร็งหายได้ ซึ่งในเรื่องนี้ยังไม่ได้มีการยืนยันทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ใด ๆ เพียงแต่อยู่ในขั้นศึกษาเบื้องต้น[6]
อ้างอิง
แก้- ↑ "Fossilworks: Camelus". fossilworks.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-03. สืบค้นเมื่อ 2021-03-20.
- ↑ วีรกร ตรีเศศ, อาหารสมอง อูฐคือสิงห์ทะเลทราย, มติชน สุดสัปดาห์ 24-30 ตุลาคม พ.ศ. 2551 หน้า 44
- ↑ นิรนาม (2013) โลกน่ารู้: อูฐเคยมีถิ่นอาศัยในอาร์กติก. หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์. ฉบับวัน ศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2556. (24 กันยายน 2556) doi:http://www.ryt9.com/s/tpd/1604922
- ↑ Wasan Janthep (มมป.) ความลับของอูฐ เรือแห่งทะแลทราย. หนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม/สำนักพิมพ์สารคดี. (24 กันยายน 2556) doi:http://pirun.ku.ac.th/~b521030273/youknow.html เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ อาลี เสือสมิง (2009) ลักษณะพิเศษของอูฐ. (24 กันยายน 2556) doi:http://farid-dorkpla.blogspot.com/2009/06/blog-post.html
- ↑ "ท่องโลกกว้าง : นาวาแห่งทะเลทราย". ไทยพีบีเอส. 3 December 2014. สืบค้นเมื่อ 4 December 2014.[ลิงก์เสีย]