อักษรลาว
อักษรลาว (ลาว: ອັກສອນລາວ [ʔáksɔ̌ːn láːw]) เป็นอักษรหลักที่ใช้เขียนภาษาลาวและภาษาชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในประเทศลาว มีพัฒนาการจากอักษรไทน้อย ซึ่งใช้เขียนภาษาอีสานด้วย แต่ภายหลังเปลี่ยนไปเขียนอักษรไทยแทน อักษรลาวมีพยัญชนะ 33 ตัว แบ่งเป็นพยัญชนะโดด 27 ตัว และพยัญชนะผสม 6 ตัว, สระ 28 ตัว และ 4 วรรณยุกต์ อักษรลาวเป็นระบบพี่น้องกับอักษรไทย ซึ่งมีความคล้ายและรากศัพท์ที่คล้ายกันหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม อักษรลาวมีตัวอักษรน้อยกว่าและมีรูปโค้งมนกว่าอักษรไทย
อักษรลาว ອັກສອນລາວ | |
---|---|
ชนิด | |
ช่วงยุค | ป. 1350 – ปัจจุบัน |
ทิศทาง | ซ้ายไปขวา |
ภาษาพูด | ลาว, อีสาน, ไทย และอื่น ๆ |
อักษรที่เกี่ยวข้อง | |
ระบบแม่ | |
ระบบพี่น้อง | ไทย |
ISO 15924 | |
ISO 15924 | Laoo (356), Lao |
ยูนิโคด | |
ยูนิโคดแฝง | Lao |
ช่วงยูนิโคด | U+0E80–U+0EFF |
ประวัติ
แก้อักษรลาวดัดแปลงจากอักษรเขมรของจักรวรรดิเขมร[1] โดยมีอิทธิพลจากอักษรมอญ ทั้งอักษรเขมรและลาวมีที่มาจากอักษรพราหมีของอินเดีย อักษรลาวเริ่มกลายเป็นอักษรมาตรฐานอย่างช้า ๆ ในหุบเขาริมแม่น้ำโขงหลังรัฐไทหลายแห่งในบริเวณนั้นรวมตัวเป็นอาณาจักรล้านช้างในคริสต์ศตวรรษที่ 14 แล้วแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมนับตั้งแต่ช่วงที่คิดค้นอักษรจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าอักษรไทยยังคงพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งสองอักษรก็ยังคงมีความคล้ายกัน[2]
วิวัฒนาการ
แก้อักษรลาวมี 2 แบบคืออักษรลาว (อักษรลาวโบราณภาษาลาวเรียกว่า อักษรลาวเดิม พบในภาคอีสานของไทยด้วยเช่นกัน แต่เรียกว่าอักษรไทน้อย) และอักษรธรรมลาว อักษรลาวประกอบด้วยพยัญชนะ 33 รูป 21 เสียง และสระ 28 รูป 27 เสียง เขียนจากซ้ายไปขวา ระบบการเขียนในภาษาลาวจะซับซ้อนน้อยกว่าในภาษาไทยและภาษาเขมร เนื่องจากเขียนตามเสียงโดยตรง
วิวัฒนาการของอักษรลาวนั้นมีผู้ที่ให้ความเห็นแตกต่างกันไป ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดซ์ เคยให้ความเห็นว่าอักษรลาวนั้น น่าจะมีที่มาจากอักษรไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เกิดขึ้นที่เมืองสุโขทัย แล้วแพร่หลายไปยังเมืองที่ติดต่อกันในดินแดนล้านช้างและล้านนา แต่ภายหลังตัวอักษรไทยในดินแดนล้านช้างได้เปลี่ยนเป็นตัวลาว แนวคิดนี้ได้ถูกลบล้างไปเพราะขัดแย้งกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของลาวและอีสาน เนื่องจากมีการค้นพบอักษรลาวเก่าที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกันและเก่าแก่กว่าอักษรไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ. 1826) และสมัยพระยาลิไทย จารึกที่หลักเสมาหินสมัยจันทปุระ นครเวียงจันทน์ ถ้ำจอมเพ็ชร และวัดวิชุน เมืองหลวงพระบาง และจารึกวัดร้างบ้านท่าแร่ (วันศรีบุญเรือง) อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร (พ.ศ. 1893) ทำให้เชื่อว่าอักษรไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหงได้รับอิทธิพลมาจากอักษรลาวเดิม สันนิษฐานว่า เชื้อพระวงศ์ของพ่อขุนรามคำแหงเป็นตระกูลลาวสายหนึ่งที่อพยพลงไปทางตอนใต้จึงได้นำเอาอักษรลาวเก่าไปใช้และพัฒนาเป็นอักษรในสุโขทัยด้วย
นักวิชาการลาวเชื่อว่าคนลาวที่อยู่ในดินแดนล้านช้างมีอักษรเป็นของตนเองมานาน อักษรลาวคล้ายกับตัวอักษรไทยเพราะวิวัฒนาการมาจากอักษรเทวนาครี อันเป็นอักษรของพวกอินเดียทางเหนือ มหาสิลา วีระวงส์ เห็นว่าชาติลาวมีตัวหนังสือของตัวเองมาหลายร้อยปี หรืออาจจะเป็นพันปีก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหงของไทย โดยอักษรลาวเป็นอักษรไทพวกหนึ่งที่เรียกว่า อักษรไทน้อย ซึ่งได้กลายเป็นหนังสือลาวในเวลาต่อมา อักษรไทน้อยน่าจะมีที่มาจากอักษรพราหมีของอินเดียดังกล่าวไปแล้ว และมีสายวิวัฒนาการมาพร้อมกันกับอักษรขอมโบราณ อย่างไรก็ดีทฤษฎีนี้ยังมีข้อถกเถียง เนื่องจากอักษรลาวหรือไทน้อยถูกวิวัฒนาการขึ้นก่อนการเกิดขึ้นของอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งเป็นสมัยที่คนเผ่าที่พูดภาษาไททั้งหลายยังไม่ได้แยกออกจากกันเป็นอาณาจักรของตนเอง ทั้งยังเป็นการนำคติชาติพันธุ์นิยมอันเป็นคติสมัยใหม่มาอธิบาย[3] ซึ่งไม่สอดคล้องกับความสัมพันธ์ตามประวัติศาสตร์ระหว่างคนไทเผ่าต่าง ๆ ในอดีต[4]
นักวิชาการไทยบางกลุ่มเห็นว่า อักษรลาวนั้นมีวิวัฒนาการไม่ต่างจากอักษรไทยและเขมร คือล้วนมีรากฐานมาจากตัวอักษรอินเดียใต้ของราชวงศ์ปัลลวะ หาใช่อักษรอินเดียฝ่ายเหนืออย่างเทวนาครีไม่ แต่แนวคิดนี้ได้ถูกลบล้างไปด้วยปรากฏว่า อักษรที่ปรากฏอยู่ในจารึกของลาวนั้นมีความเก่าแก่กว่าอักษรที่ปรากฏอยู่ในจารึกของไทย และเก่าแก่กว่าอักษรสมัยพ่อขุนรามคำแหงของไทย อักษรลาวและอักษรไทยจึงไม่น่าจะพัฒนามาพร้อมกัน หากแต่อักษรไทยน่าจะวิวัฒนาการมาจากอักษรลาว โดยเป็นการพัฒนาจนสมบูรณ์แบบขึ้น เพื่อให้มีตัวอักษรเพิ่มขึ้นจนทำให้สามารถถอดคำภาษาบาลีและสันสกฤตมาไว้ในภาษาไทยได้ เนื่องจากอักษรไทน้อยแต่เดิมมีอักษรไม่เพียงพอที่จะใช้เขียนถ่ายคำจากภาษาบาลี
หากจะกล่าวโดยละเอียดคือ อักษรลาวนั้นวิวัฒนาการมาจากอักษรลาวโบราณสมัยเชียงดง-เชียงทอง ราวก่อนรัชสมัยพระเจ้าฟ้างุ่มหรือพระเจ้าสามแสนไทก็ว่าได้ โดยการวิวัฒนาการของอักษรลาวนั้นเริ่มจากการเกิดอักษรชนิดหนึ่งที่มีเชื่อเรียกว่าอักษรฝักขาม (ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ได้รับวิวัฒนาการมาจากอักษรลาวในสมัยล้านช้าง และปรากฏหลักฐานการวิวัฒนาการในเอกสารตราตั้ง (ลายจุ้ม-ดวงจุ้ม) ของกษัตริย์ลาวในสมัยต่าง ๆ ทั้งหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ จากนั้นจึงวิวัฒนาการต่อไปเป็นอักษรไทยน้อยและอักษรลาวตามลำดับ อักษรลาวโบราณบางส่วนได้มีอิทธิพลต่ออักษรไทยในสมัยหลังสุโขทัยเป็นต้นมา ตลอดจนเป็นต้นกำเนิดอักษรฝักขามและอักษรธรรมของล้านนาด้วย
ระบบการเขียนภาษาลาว มีวิวัฒนาการ 3 แบบดังนี้ คือ
- แบบของมหาสิลา วีระวงส์ หรือแบบพุทธบัณฑิตสภาจันทบุรี
- แบบของสมจีน ป. งิน
- แบบของพูมี วงวิจิด
แบบของมหาสิลา วีระวงส์ หรือแบบพุทธบัณฑิตสภาจันทบุรี
แก้อักษรแบบนี้ได้มีการคิดตัวอักษรเพิ่มเติมให้ครบวรรคในภาษาบาลี เพื่อให้สะดวกในการเขียนเรื่องต่าง ๆ ทั้งทางโลกและทางธรรม โดยมีสาเหตุจากปัญหาความยุ่งยากในการจัดทำตัวพิมพ์อักษรธรรมลาวเพื่อเขียนเรื่องต่าง ๆ ทางศาสนา
อักขรวีธีของอักษรลาวแบบนี้สะกดตามเค้าเดิมของภาษาอย่างเคร่งครัด มีการใช้ตัวสะกดตัวการันต์ เพื่อให้รู้ต้นเค้าของคำว่าเป็นคำภาษาลาวเดิมหรือคำภาษาต่างประเทศ เช่น คำภาษาบาลี-สันสกฤต ซึ่งคล้ายกับระบบการเขียนภาษาไทยในปัจจุบัน ระบบการเขียนแบบนี้เคยใช้ในสมัยที่ประเทศลาวยังไม่มีระบบการเขียนที่แน่นอน ขาดหลักการที่ชัดเจน ใช้ในสมัยที่ลาวยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสจนถึงปี พ.ศ. 2491
เทียบอักษรลาวตามแบบพุทธบัณฑิตสภาจันทบุรีกับอักษรไทย
แก้วรรค ฐานกรณ์ กักสิถิล กักธนิต นาสิก วรรค กะ เพดานอ่อน ກ
กຂ
ขຄ
ค
ฆງ
งวรรค จะ เพดานแข็ง ຈ
จ
ฉຊ
ช
ฌ
ญวรรค ฏะ ปุ่มเหงือก
ฏ
ฐ
ฑ
ฒ
ณวรรค ตะ ຕ
ตຖ
ถທ
ท
ธນ
นวรรค ปะ ริมฝีปาก ປ
ปຜ
ผພ
พ
ภມ
มไตรยางศ์ กลาง สูง ต่ำ
วรรค เปิดหรือรัว เสียดแทรก เปิดข้างลิ้น
ปุ่มเหงือกเศษวรรค ຍ
ยຣ
รລ
ลວ
ว
ศ
ษສ
สຫ
ห
ฬไตรยางศ์ ต่ำ สูง ต่ำ
แบบของสมจีน ป. งิน
แก้แบบนี้สะกดตามแบบที่ได้กำหนดในพระราชโองการ (พระราชบัญญัติ) เลขที่ 10 พ.ศ. 2491 ในรัชสมัยของพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ ซึ่งได้บัญญัติขึ้นเพื่อกำหนดหลักการเขียนภาษาลาวให้มีความแน่นอนและชัดเจนยิ่งขึ้น อักขรวิธีของระบบนี้ คือ สะกดคำตามเสียงอ่านแต่ยังคงรักษาเค้าเดิมของภาษาไว้ การสะกดการันต์ยังคงมีการใช้ แต่ได้เลิกใช้อักษรบางตัวลงจากแบบแรกเพื่อให้เขียนง่ายขึ้น ซึ่งคล้ายกับการเขียนภาษาไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อักษรลาวรูปแบบนี้ใช้อยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2491-2518 คือ นับตั้งแต่ประเทศลาวได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปัจจุบันยังมีคงการใช้อยู่ในกลุ่มคนลาวอพยพในต่างประเทศ
แบบของพูมี วงวิจิด
แก้อักขรวิธีแบบนี้สะกดตามเสียงอ่านเท่านั้น คือ อ่านออกเสียงอย่างไรให้สะกดอย่างนั้น เริ่มใช้ในเขตปลดปล่อยของขบวนการปะเทดลาวก่อน หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว รัฐบาลลาวจึงได้ปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่อให้อักษรลาวสามารถเขียนง่ายอ่านง่ายขึ้น แต่ก็ทำให้เกิดจุดอ่อนหลายอย่าง และทำให้ภาษาลาวเกิดปัญหาการขาดหลักการสะกดคำที่ชัดเจนขึ้นอีกครั้ง เช่น ได้มีการตัดตัวการันต์ ตัว ร หันลิ้น (ภาษาลาวเรียกว่า ร รถ) ออก ทำให้ไม่สามารถเขียนคำที่มาจากภาษาต่างประเทศและภาษาของชนเผ่าต่าง ๆ ได้ครบถ้วน อักษรลาวระบบนี้เริ่มใช้ตั้งแต่ลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2518 จนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการลาวได้บรรจุตัว ร หันลิ้นกลับมาใช้ใหม่ และมีการใช้ตัวการันต์สำหรับสะกดคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ เช่นคำภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ยกเว้นคำที่มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต และคำลาวเดิม ยังสะกดตามเสียงอ่านอยู่เหมือนเดิม
ปัญหาของระบบอักษรลาวปัจจุบัน
แก้ระบบการเขียนภาษาลาวในปัจจุบันยังขาดเอกภาพ ไม่มีมาตรฐานในการเขียนและการใช้คำศัพท์ เพราะยังไม่มีองค์กรที่มาควบคุมอย่างเป็นทางการ จึงมีลักษณะต่างคนต่างเขียนตามหลักการของตนเอง ทำให้เกิดความสับสนในการเขียนและการใช้คำศัพท์ ส่วนคนลาวที่อพยพไปอยู่ต่างประเทศหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2518 ก็ยังใช้ภาษาลาวตามแบบที่ 2 ในสมัยที่ยังเป็นราชอาณาจักรลาวอยู่เหมือนเดิม ทำให้เกิดความสับสนระหว่างคนลาวในประเทศกับนอกประเทศ แม้รัฐบาลและประชาชนลาวเริ่มตระหนักถึงความสำคัญในข้างต้นก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีมาตรการใด ๆ ออกมาแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน แต่ในอนาคตคาดว่ารัฐบาลลาวจะจัดตั้งองค์กรออกมาควบคุมเพื่อให้ระบบการใช้ภาษาลาวเป็นมาตรฐานเดียวกัน[ต้องการอ้างอิง]
ลักษณะ
แก้อักษรลาว มีพยัญชนะ 33 รูป 21 เสียง สระมี 28 รูป 27 เสียง มีเสียงวรรณยุกต์ 6 เสียงซึ่งขึ้นกับพื้นเสียงของพยัญชนะ ลักษณะของคำ (คำเป็น คำตาย) เครื่องหมายวรรณยุกต์ และความยาวของเสียงสระ การเขียนยึดสำเนียงเวียงจันทน์เป็นหลัก ไม่มีระบบการถอดเป็นอักษรโรมันที่แน่นอน นิยมใช้ระบบถ่ายเสียงของภาษาฝรั่งเศส, อักษรที่ไม่ใช้แล้วมี 16 ตัว ซึ่งมี , , , , , , , , , , , ຣ, , , , ◌໌
รูปพยัญชนะ
แก้พยัญชนะลาวทั้ง 33 รูป แบ่งเป็นพยัญชนะโดด 27 ตัว ภาษาลาวเรียกว่า พยัญชนะเค้า (ພະຍັນຊະນະເຄົ້າ; แปลว่า พยัญชนะต้น) และพยัญชนะควบอีก 6 ตัว ซึ่งมีดังต่อไปนี้
พยัญชนะโดด
แก้รูปอักษรลาว | ชื่ออักษรในภาษาลาว | เทียบรูปอักษรไทย | เสียง | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|
ກ | ກ ໄກ່ (ก ไก่) | ก | [k] | |
ຂ | ຂ ໄຂ່ (ข ไข่) | ข | [kʰ] | เสียงของ /ข/ ในที่นี้บางพื้นที่ส่วนใหญ่จะออกเสียง /ห/ |
ຄ | ຄ ຄວາຍ (ค ควาย) | ค | [kʰ] | |
ງ | ງ ງົວ (ง งัว), ງ ງູ (ง งู) | ง | [ŋ] | งัว (ງົວ) แปลว่า วัว ในภาษาไทยปัจจุบัน ใช้คำเดียวกับภาคเหนือ (ไทยถิ่นเหนือ: ᨦ᩠ᩅᩫ) และภาคอีสานของไทย |
ຈ | ຈ ຈອກ (จ จอก) | จ | [tɕ] | จอก (ຈອກ) แปลว่า แก้วน้ำ
เสียงของ /จ/ ในที่นี้บางพื้นที่ส่วนใหญ่จะออกเสียง /ก/ |
ສ | ສ ເສືອ (ส เสือ) | ส | [s] | เสียงของ ฉ ในภาษาไทย ภาษาลาวจะออกเสียงเป็น /ส/ ทุกแห่งเหมือนภาคเหนือและภาคอีสานของไทย (ไม่มีเสียง ฉ ฉิ่ง) |
ຊ | ຊ ຊ້າງ (ซ ซ้าง) | ช | [s] | ซ้าง (ຊ້າງ) แปลว่า ช้าง คำเสียง ช ในภาษาไทย ภาษาลาวออกเสียงเป็น /ซ/ ทุกแห่ง (ไม่มีเสียง ช ช้าง) |
ຍ | ຍ ຍຸງ (ย ยุง) | ย | [ɲ] | ในที่นี้จะไม่มีเสียงของ ย ยักษ์ แต่เป็นแทนรูปเป็นภาษาไทย /ย/ หรือ /ญ/ ออกเสียงนาสิก /ຢ/ แต่รูปจะไม่ควบกล้ำเป็น อย |
ດ | ດ ເດັກ (ด เด็ก) | ด | [d] | เสียงของ ด ในที่นี้บางพื้นที่ส่วนใหญ่ออกเสียง
/ล/ แต่จะคงรูป /ດ/ ในปัจจุบันก็เริ่มมีเสียง /ด/ ภาษาลาวไม่มีไม้ไต่คู้ (◌็) มีแต่ไม้หันอากาศ (◌ั) |
ຕ | ຕ ຕາ (ต ตา) | ต | [t] | |
ຖ | ຖ ຖົງ (ถ ถง) | ถ | [tʰ] | ถง (ຖົງ) แปลว่า ย่าม, ถุง รูปอักษรตัวนี้ บางคราวเขียนแบบหัวเข้า (คล้ายตัว ฤ) บางคราวก็ใช้เขียนหัวออก (คล้ายตัว ฦ และเลข ໗ (7) ในภาษาลาว) |
ທ | ທ ທຸງ (ท ทุง) | ท | [tʰ] | ทุง (ທຸງ) แปลว่า ธง |
ນ | ນ ນົກ (น นก) | น | [n] | เสียงของ น (ນົກ) ในที่นี้บางพื้นที่ส่วนใหญ่ออกเสียง /น/ และ /ม/ ได้ทั้งคู่แต่จะสลับเสียงกัน เช่น นัก เป็น มัก เนื่องจากตัวอักษรคล้ายกัน ผู้เรียนอักษรลาวใหม่ ๆ มักสับสนกับ ມ (ม แมว) เสมอ |
ບ | ບ ແບ້ (บ แบ้) | บ | [b] | แบ้ (ແບ້) แปลว่า แพะ |
ປ | ປ ປາ (ป ปา) | ป | [p] | ปา (ປາ) ในที่นี้แปลว่า ปลา (ไม่มีเสียง ล ควบกล้ำ) |
ຜ | ຜ ເຜິ້ງ (ผ เผิ้ง; เสียงสั้น) | ผ | [pʰ] | เผิ้ง (ເຜິ້ງ) แปลว่า ผึ้ง ภาษาไทยใช้สระอึ ภาษาลาวใช้สระเออะ |
ຝ | ຝ ຝົນ (ฝ ฝน) | ฝ | [f] | |
ພ | ພ ພູ (พ พู) | พ | [pʰ] | พู (ພູ) แปลว่า ภูเขา (ในภาษาไทยเขียนว่า ภู) (ไม่มี ภ สำเภา) |
ຟ | ຟ ໄຟ (ฟ ไฟ) | ฟ | [f] | |
ມ | ມ ແມວ (ม แมว) | ม | [m] | เสียงของ ม (ແມວ) ในที่นี้บางพื้นที่ส่วนใหญ่ออกเสียง /ม/ และ /น/ ได้ทั้งคู่แต่จะมีสลับเสียงกัน เช่น มัก เป็น นัก เนื่องจากตัวอักษรคล้ายกัน ผู้เรียนอักษรลาวใหม่ ๆ มักสับสนกับ ນ (น นก) เสมอ |
ຢ | ຢ ຢາ (อย อยา) | อฺย | [j] | อยา (ຢາ) แปลว่า ยา ย ตัวนี้ภาษาลาวจัดเป็นอักษรกลาง ออกเสียงแบบเดียวกับ ย ในภาษาไทย ใช้ในบางคำ เช่น "ຢຸດ" (หยุด) "ຢາກ" (อยาก) เป็นต้น |
ຣ | ຣ ຣົຖ (การสะกดแบบใหม่: ຣ ລົດ) (ร ลด) | ร | [r], [l] | ลด (ລົດ) แปลว่า รถ ร ตัวนี้ปัจจุบันนิยมใช้เขียนคำที่มีที่มาจากภาษาต่างประเทศ (ปัจจุบันใช้ตัวอักษร ລ) มีชื่อเรียกหลายชื่อ ออกเสียงเหมือน ล ทั้งหมด ในการเขียนภาษาลาวโบราณ รูปอักษรนี้ยังใช้แทนเสียง ฮ ในคำที่ปัจจุบันเขียนด้วยตัวอักษร ຮ |
ລ | ລ ລີງ (ล ลีง) | ล | [l] | ลีง (ລີງ) แปลว่า ลิง ในภาษาลาวออกเสียงคำนี้ยาว จึงใช้สระอีแทน ปกติภาษาลาวสามารถใช้พยัญชนะตัวนี้เขียนคำทุกคำที่ออกเสียง /ร/ หรือ /ล/ แต่เวลาอ่านออกเสียงอ่านเป็นเสียง /ล/ ทุกตัว |
ວ | ວ ວີ (ว วี) | ว | [ʋ], [w] | วี (ວີ) แปลว่า พัด |
ຫ | ຫ ຫ່ານ (ห ห่าน) | ห | [h] | |
ອ | ອ ໂອ (อ โอ) | อ | [ʔ] | โอ (ໂອ) แปลว่า ขันน้ำ |
ຮ | ຮ ເຮືອນ (ฮ เฮือน) | ฮ | [h] | เฮือน (ເຮືອນ) แปลว่า เรือน, บ้าน; ภาษาไทยใช้ ร ภาษาลาวใช้ ຮ |
อักษรนำ
แก้รูปอักษร | เทียบอักษรไทย | เสียง | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
ຫງ | หง | [ŋ] | |
ຫຍ | หย | [ɲ] | ระบบอักษรลาวเก่ามักใช้รูป ຫຽ |
ຫນ, ໜ | หน | [n] | ปัจจุบันนิยมใช้รูป ໜ |
ຫມ, ໝ | หม | [m] | ปัจจุบันนิยมใช้รูป ໝ |
ຫຣ | หร | [r] | ปัจจุบันนิยมใช้รูป ຫຼ, ຫລ |
ຫລ, ຫຼ | หล | [l] | รูปอักษรทั้งสองแบบนี้นิยมใช้ปะปนกันทั่วไป, ปัจจุบันนิยมใช้รูป ຫຼ |
ຫວ | หว | [ʋ], [w] |
รูปสระ
แก้
|
|
|
อักษรลาวในระบบยูนิโค้ด
แก้ช่วงรหัสอักษรลาวในระบบ ยูนิโค้ด อยู่ตั้งแต่ช่วงรหัส U+0E80 ถึง U+0EFF
ลาว Unicode.org chart (PDF) | ||||||||||||||||
0 | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | A | B | C | D | E | F | |
U+0E8x | ກ | ຂ | ຄ | ງ | ຈ | ຊ | ຍ | |||||||||
U+0E9x | ດ | ຕ | ຖ | ທ | ນ | ບ | ປ | ຜ | ຝ | ພ | ຟ | |||||
U+0EAx | ມ | ຢ | ຣ | ລ | ວ | ສ | ຫ | ອ | ຮ | ຯ | ||||||
U+0EBx | ະ | ັ | າ | ຳ | ິ | ີ | ຶ | ື | ຸ | ູ | ົ | ຼ | ຽ | |||
U+0ECx | ເ | ແ | ໂ | ໃ | ໄ | ໆ | ່ | ້ | ໊ | ໋ | ໌ | ໍ | ||||
U+0EDx | ໐ | ໑ | ໒ | ໓ | ໔ | ໕ | ໖ | ໗ | ໘ | ໙ | ໜ | ໝ | ໞ | ໟ | ||
U+0EEx | ||||||||||||||||
U+0EFx |
อ้างอิง
แก้- ↑ Benedict, Paul K. "Languages and literatures of Indochina." The Far Eastern Quarterly (1947): 379–389.
- ↑ For comparison of the two, please see Daniels, Peter T. & Bright, William. (Eds.). (1996). The World's Writing Systems (pp. 460–461). New York, NY: Oxford University Press.
- ↑ Ivarsson, Søren (2008). Creating Laos: The Making of a Lao Space between Siam and Indochina, 1860–1945. NIAS Press. pp. 240. ISBN 8-7769-4023-3.
- ↑ Chamberlain, James (1989). "Thao Hung or Cheuang: A Tai Epic Poem" (PDF). Mon-Khmer Studies (18–19): 14–34.
อ่านเพิ่ม
แก้- Lew, Sigrid. "A linguistic analysis of the Lao writing system and its suitability for minority language orthographies". Writing Systems Research ahead-of-print (2013): 1–16.Authors’s accepted manuscript เก็บถาวร 2021-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Simmala, Buasawan and Benjawan Poomsan Becker (2003), Lao for Beginners. Paiboon Publishing. ISBN 1-887521-28-3
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Omniglot – อักษรลาว
- http://www.laosoftware.com/index.php เก็บถาวร 2016-11-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- The Lao Alphabet at SEAsite เก็บถาวร 2021-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Laos – language situation by N. J. Enfield
- Numerals in many different writing systems, which includes Lao numerals. Retrieved 2008-11-12
- https://symbl.cc/en/unicode/blocks/lao/
- "The Unicode Standard 5.0 Code Charts" (PDF). (90.4 KB) Lao Range: 0E80 – 0EFF, from the Unicode Consortium
- อักษรลาวฟรีสำหรับวินโดวส์และแมคโอเอส X