สาธารณรัฐ หรือบ้างเรียก มหาชนรัฐ (อังกฤษ: republic) เป็นระบอบการปกครองที่ประเทศถูกพิจารณาว่าเป็น "กิจสาธารณะ" (ละติน: res publica) มิใช่ธุระหรือทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ปกครอง และที่ตำแหน่งหน้าที่ของรัฐได้รับเลือกตั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม หรือได้รับแต่งตั้ง มิใช่ได้รับสืบทอด นิยามทั่วไปที่เข้าใจง่ายของสาธารณรัฐในสมัยใหม่ คือ ระบอบการปกครองที่ประมุขแห่งรัฐอันมิใช่พระมหากษัตริย์[1][2] ปัจจุบัน รัฐเอกราช 135 จาก 206 รัฐใช้คำว่า "สาธารณรัฐ" เป็นส่วนหนึ่งชื่ออย่างเป็นทางการ

ทั้งสาธารณรัฐสมัยใหม่และสมัยโบราณแตกต่างกันอย่างมากทั้งในอุดมการณ์และองค์ประกอบ ในสมัยคลาสสิกและสมัยกลาง ต้นแบบของทุกสาธารณรัฐ คือ สาธารณรัฐโรมัน ซึ่งหมายถึงกรุงโรมยุคสาธารณรัฐ ในระหว่างสมัยที่ไม่มีกษัตริย์กับจักรพรรดิปกครองอยู่ช่วงหนึ่ง แต่หากปกครองโดยบุคคลที่มาจากการเลือกจากคณะผู้เลือกตั้ง ในประเพณีการเมืองสมัยกลางและสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาอิตาลีปัจจุบันที่เรียกว่า "มนุษยนิยมพลเมือง" (civic humanism) นั้น บางครั้งถูกมองว่าได้รับมาจากนักสาธารณรัฐนิยมโรมันโดยตรง อย่างไรก็ดี นักประพันธ์โรมันที่ได้รับอิทธิพลจากกรีก อย่างพอลิเบียสและคิเคโร บางครั้งใช้คำดังกล่าวเป็นคำแปลของคำภาษากรีกว่า politeia ซึ่งอาจหมายถึงระบอบโดยทั่วไป แต่ยังสามารถใช้กับระบอบบางประเภทโดยเจาะจงซึ่งมิได้สอดคล้องพอดีกับสาธารณรัฐโรมัน สาธารณรัฐมิได้เทียบเท่ากับประชาธิปไตยในยุคคลาสสิก อย่างเช่น เอเธนส์ ซึ่งก็มีความเป็นประชาธิปไตยแตกต่างไปจากยุคศตวรรษที่ 19 อีกเช่นกัน

ในสาธารณรัฐสมัยใหม่ เช่น สหรัฐ ฝรั่งเศส รัสเซีย และอินเดีย ฝ่ายบริหารมีความชอบธรรมจากทั้งโดยรัฐธรรมนูญและการออกเสียงเลือกตั้งของประชาชน เป็นอิทธิพลจาก มงแต็สกีเยอ ซึ่งรวมประชาธิปไตยมาจากระบบทั้งสองแบบ ที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครอง ส่วนการปกครองแบบอภิชนาธิปไตยหรือคณาธิปไตย ซึ่งมีคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ปกครอง เป็นระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ[3]

ส่วนใหญ่สาธารณรัฐมักเป็นรัฐเอกราช แต่ยังมีหน่วยต่ำกว่ารัฐที่เรียกว่า สาธารณรัฐ หรือมีการปกครองที่ถูกอธิบายว่า "เป็นสาธารณรัฐ" โดยธรรมชาติเช่นกัน ตัวอย่างเช่น มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐ "ประกันว่าทุกรัฐในสหภาพนี้มีระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ"[4] เขตการปกครองของสหภาพโซเวียตถูกอธิบายว่าเป็นสาธารณรัฐ และสองในนั้น คือ สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครนและเบลารุส มีที่นั่งของตนในสหประชาชาติ ขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งสหภาพโซเวียตอธิบายสหภาพว่าเป็น "รัฐเดี่ยว สหพันธ์และพหุชาติ" ที่จริงแล้วเป็นรัฐเดี่ยวเพราะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตใช้อำนาจในรูปรวมศูนย์เหนือสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตซึ่งปกครองตนเองแต่ในนาม[5]

อ้างอิง

แก้
  1. "republic", WordNet 3.0, Dictionary.com, สืบค้นเมื่อ 20 March 2009
  2. "Republic". Merriam-Webster. สืบค้นเมื่อ August 14, 2010.
  3. Montesquieu, Spirit of the Laws, Bk. II, ch. 2–3.
  4. Constitution of the United States.
  5. Schrems, John J. (2007). Understanding Principles of Politics and the State (revised ed.). University Press of America. p. 206. ISBN 9780761838258.