วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540

(เปลี่ยนทางจาก วิกฤตต้มยำกุ้ง)

วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 หรือเรียกกันติดปากทั่วไปในประเทศไทยว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เป็นช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินซึ่งส่งผลกระทบถึงหลายประเทศในทวีปเอเชียเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 ก่อให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจทั่วโลกเนื่องจากการแพร่ระบาดทางการเงิน

ประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540

วิกฤตดังกล่าวเริ่มขึ้นในประเทศไทย เมื่อค่าเงินบาทลดลงอย่างมากอันเกิดจากการตัดสินใจของรัฐบาลไทย ซึ่งมีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธเป็นนายกรัฐมนตรี ลอยตัวค่าเงินบาท ตัดการอิงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หลังจากความพยายามทั้งหมดที่จะสนับสนุนค่าเงินบาทเมื่อเผชิญกับการแผ่ขยายแบบเกินเลยทางการเงิน (financial overextension) อย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนขับเคลื่อนอสังหาริมทรัพย์ ในเวลานั้น ประเทศไทยมีภาระหนี้สาธารณะ และเมื่อวิกฤตดังกล่าวขยายออกนอกประเทศ ค่าเงินของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และญี่ปุ่นก็ได้ทรุดตัวลงเช่นกัน ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงและรวมไปถึงราคาสินทรัพย์อื่น ๆ และทำให้หนี้เอกชนเพิ่มสูงขึ้น[1]

ภายหลังนายเริงชัย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถูกธนาคารแห่งประเทศไทยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 เป็นเงินจำนวน 186,015,830,720 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี [2]

แม้จะทราบกันดีแล้วว่าวิกฤตการณ์นี้มีอยู่และมีผลกระทบอย่างไร แต่ที่ยังไม่ชัดเจนคือสาเหตุของวิกฤตการณ์ดังกล่าว เช่นเดียวกับขอบเขตและทางแก้ไข อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และไทยได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว ฮ่องกง มาเลเซีย ลาวและฟิลิปปินส์ก็เผชิญกับปัญหาค่าเงินทรุดเช่นกัน สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย ไต้หวัน สิงคโปร์ บรูไนและเวียดนามได้รับผลกระทบน้อยกว่า ถึงแม้ว่าทุกประเทศที่กล่าวมานี้จะได้รับผลกระทบจากการสูญเสียอุปสงค์และความเชื่อมั่นตลอดภูมิภาค

สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้นจาก 100% เป็น 167% ในสี่ประเทศใหญ่อาเซียน ระหว่างปี พ.ศ. 2536 - 2538 ก่อนจะขึ้นไปสูงถึง 180% ในช่วงที่วิกฤตการณ์เลวร้ายที่สุด ในเกาหลีใต้ สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 13% เป็น 21% และแตะระดับสูงสุดที่ 40% ขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่อยู่ทางเหนือได้รับผลกระทบน้อยกว่ามาก มีเพียงในไทยและเกาหลีใต้เท่านั้นที่หนี้สัดส่วนบริการต่อการส่งออกเพิ่มขึ้น[3]

ถึงแม้ว่ารัฐบาลส่วนใหญ่ในเอเชียได้ออกนโยบายการเงินที่ดูแล้วสมบูรณ์ แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ก้าวเข้ามาเพื่อริเริ่มโครงการมูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อรักษาเสถียรภาพของสกุลเงินในเกาหลีใต้ ไทย และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว ความพยายามที่จะยับยั้งวิกฤตการณ์เศรษฐกิจระดับโลกได้ช่วยรักษาเสถียรภาพสถานการณ์ในประเทศในอินโดนีเซียได้เพียงเล็กน้อย ประธานาธิบดีซูฮาร์โตถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 หลังจากครองอำนาจมายาวนานกว่า 30 ปี ท่ามกลางการจลาจลที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายซึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอย่างรุนแรง อันเป็นผลมาจากค่าเงินรูเปียห์อ่อนตัวลงอย่างร้ายแรง ผลกระทบของวิกฤตการณ์ดังกล่าวกินเวลาไปจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2541 ในปีเดียวกันนั้น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ลดลงจนเกือบเป็นศูนย์ มีเพียงสิงคโปร์และไต้หวันเท่านั้นที่พิสูจน์แล้วว่าเกือบจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในวิกฤตการณ์เลย แต่ทั้งสองประเทศก็ยังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงตามปกติ สิงคโปร์ได้รับผลกระทบมากกว่าเนื่องจากขนาดและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ระหว่างมาเลเซียกับอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม จนถึงปี พ.ศ. 2542 นักวิเคราะห์ได้มองเห็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจเอเชียกำลังเริ่มฟื้นตัว

ประวัติ

แก้

จนถึง พ.ศ. 2540 ทวีปเอเชียได้ดึงดูดการไหลเข้าของทุนรวมเกือบครึ่งเข้าไปในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้รักษาอัตราดอกเบี้ยที่สูงซึ่งดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่กำลังมองหาผลตอบแทนในอัตราที่สูง ผลคือ เศรษฐกิจในภูมิภาคมีเงินไหลเข้าในปริมาณมากและมูลค่าสินทรัพย์สะสมเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจภูมิภาคอย่างไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์และเกาหลีใต้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมาก คิดเป็น 8-12% ของจีดีพี ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 198 และต้นคริสต์ทศวรรษ 199 สัมฤทธิ์ผลดังกล่าวได้รับการกล่าวถึงโดยสถาบันการเงิน ซึ่งรวมไปถึงไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก และเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของ "ปาฏิหาริย์เศรษฐกิจเอเชีย"

  • ในปี พ.ศ. 2537 นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง พอล ครุกแมน ได้ตีพิมพ์บทความซึ่งโจมตีแนวคิด "ปาฏิหาริย์เศรษฐกิจเอเชีย" เขาโต้แย้งว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกนั้นตามประวัติศาสตร์แล้วเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยรวมในด้านผลิตภาพเพิ่มขึ้นอย่างจำกัดหรือไม่เพิ่มขึ้นเลย ครุกแมนแย้งอีกว่ามีเพียงการเติบโตในผลิตภาพปัจจัยรวม มิใช่การลงทุน เท่านั้นที่สามารถนำไปสู่ความมั่งคั่งในระยะยาวได้ หลังจากวิกฤตการณ์การเงินอุบัติขึ้น หลายคนมองว่าครุกแมนสามารถรู้ล่วงหน้า แม้เขาว่า เขาไม่ได้ทำนายถึงวิกฤตการณ์หรือคาดการณ์ความลึกของมันได้
  • ในปี 2537 เกิดวิกฤตค่าเงินเปโซที่เม็กซิโก จากมรสุมเศรษฐกิจ ประธานาธิบดี Ernesto zedillo จึงต้องประกาศลดค่าเงินเปโซ เมื่อ 20 ธันวาคม 2537 ซึ่งกระทบถึงสภาวะเศรษฐกิจไทย ประกอบกับค่าเงินบาทและตลาดผันผวน จนธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างธนาคาร ถึง 50% แต่ขณะนั้นเศรษฐกิจไทยยังมั่นคงจึงไม่ได้กระทบโดยตรง[4]

สาเหตุ

แก้

คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) สรุปว่า วิกฤตดังกล่าวเกิดจากการก่อหนี้ของเอกชน แต่การดำเนินการของภาครัฐที่ผิดพลาดทำให้วิกฤตบานปลาย[5]: (9)  คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายเปิดตลาดเงินกิจการวิเทศธนกิจ (BIBF) เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการเงินในภูมิภาคนี้ พร้อมกับรักษาช่วงอัตราแลกเปลี่ยนที่แคบมาก ปล่อยให้เงินกู้ไหลเข้าประเทศปริมาณมากเกินควบคุม[5]: (9–10)  ธปท. เลือกใช้วิธีใช้ swap ในการปกป้องค่าเงินบาท ซึ่งเป็นการทุ่มเงินสำรองระหว่างประเทศอย่างขาดความรอบคอบ[5]: (11)  ทั้งนี้ ธปท. ได้รับคำเตือนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แล้ว[5]: (10) 

ศปร. ยังมองว่า ธปท. ไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนตัวผู้บริหารของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด ซ้ำมีการเอื้อต่อผู้บริหารเดิมโดยตลอด[5]: (11)  และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินมีบทบาทผิดไปจากเจตนารมณ์ตามกฎหมาย บกพร่องในการฟื้นฟูกิจการ[5]: (12) 

เพียง 4 ปีเงินกู้ BIBF เพื่มเป็น 31,200 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อสิ้นปี พ.ศ.2539 คิดเป็นเงินจำนวนเกือบครึ่งของหนี้เอกชนทั้งระบบในคณะนั้น มีดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินกู้ภายในประเทศ กิจการที่ลงทุนเป็นจำนวนมาก อาทิ ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ จึงกู้ทาง BIBF ในปี 2537 อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 5-6 ต่อปี ขณะที่เงินเฟ้อสหรัฐลดลงมาร้อยละ 2 และการกู้เงินต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยขาดดุลเพิ่มร้อยละ 8 ของรายได้ประชาชาติ (GNP) ซึ่งเริ่มส่อแววครึ่งหลังปี 2539 การส่งออกที่เคยขยายตัวในอัตราเลขหลักสองทุกปี ลดลงเหลือศูนย์ในปี 2539[6]

ผลกระทบ และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา

แก้

ต่างประเทศ

แก้
  1. สัดส่วนระหว่างหนี้ต่างประเทศ กับ GDP เพิ่มสูงขึ้นมาก เช่น ประเทศในอาเซียนเพิ่มจาก 100% กลายเป็น 180% ในช่วงที่เลวร้ายที่สุดของวิกฤติการณ์
  2. กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้ามารักษาเสถียรภาพสกุลเงินของ ประเทศอินโดนีเซีย ไทย และเกาหลีใต้ โดยการลงทุน 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะ 3 ประเทศดังกล่าวได้รับผลกระทบมากที่สุด
  3. ประเทศสิงคโปร์ และไต้หวัน ถือว่าได้รับผลกระทบน้อยมาก จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจนี้ แต่สิงคโปร์ได้รับผลกระทบมากกว่าเนื่องจากขนาดและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ระหว่างมาเลเซียกับอินโดนีเซีย
  4. ประธานาธิบดีซูฮาร์โตของอินโดนีเซียถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 หลังจากครองอำนาจมายาวนานกว่า 30 ปี
  5. เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในอาร์เจนตินา กับวิกฤตการณ์การเงินในรัสเซียใน พ.ศ. 2541 โดยตรง และ เกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ดอตคอมโดยทางอ้อม

ภายในประเทศไทย

แก้
  1. ธุรกิจของเอกชน ไม่ว่าจะเป็น สถาบันการเงิน หรือ บ้านจัดสรร เป็นต้น ต่างพากันปิดกิจการลง พนักงานถูกปลดออก มีหนี้สินเกิดขึ้นมหาศาล จนมีการประท้วงโดยประชาชนส่งผลทำให้พลเอกชวลิต ตัดสินใจลาออกและต้องพ้นจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 โดยมีนายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 สืบต่อมาในวันถัดไป (คือเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540)
  2. ธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามพยุงค่าเงินบาท โดยใช้เงินสำรองเงินตราต่างประเทศจนหมด ประกอบกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ต้องใช้เงินของกองทุนในการให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินหลายแห่ง(หมายถึง ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เป็นต้น)ในประเทศไทย ด้วยจำนวนเงินมากกว่า 6 แสนล้านบาท และต้องกู้เงินจาก ไอเอ็มเอฟ จำนวน 17,200 ล้านเหรียญสหรัฐ[8]
  3. อุตสาหกรรมการเงินในประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้เข้ายึดใบอนุญาตการประกอบกิจการของสถาบันการเงิน(ประกอบไปด้วยประเภทบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟรองซิเอร์ เป็นต้น) โดยสรุปรวมได้แล้วถึง 58 แห่ง ทำให้จำนวนดังกล่าว ต้องมีการปิดกิจการลงอย่างเด็ดขาด แต่อย่างไรก็ตาม กลับมีเพียงแค่ 2 บริษัทเท่านั้น คือบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ เกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันคือ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร) และบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ บางกอกอินเวสต์เมนท์ จำกัด (มหาชน) (ต่อมาคือบริษัท อยุธยา โทเทิล โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันปิดกิจการแล้ว) ที่สามารถกลับมาประกอบกิจการได้ตามปกติ ต่อมาได้มีการประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พุทธศักราช 2540 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2540 เพื่อจัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เพื่อฟื้นฟูฐานะ การช่วยเหลือให้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเงินที่มีความสุจริต และชำระบัญชีกับบริษัทการเงินที่ถูกยึดใบอนุญาตก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการเองได้[9] ต่อมาหลังจากเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2541 ก็ได้ออกประกาศบังคับใช้มาตรการหนึ่งเพื่อปรับปรุงและแก้ไขปัญหาโครงสร้างสถาบันการเงินประเภทธนาคารครั้งใหญ่ ซึ่งก็คือ มาตรการ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2541 ซึ่งมาตรการนั้น ทำให้เกิดการควบโอน ควบรวม การซื้อขายกิจการธนาคารบางแห่ง ซึ่งมีปัญหาเพราะเรื่องสินทรัพย์ หนี้สิน และการเพิ่มทุน (ทั้งนี้รวมไปถึงการเข้ายึดกิจการโดยรัฐบาล และการยกเลิกธุรกิจธนาคาร ของบางธนาคารไปด้วย) จึงส่งผลทำให้จำนวนธนาคารถูกลดลงไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง นอกเหนือจากนี้แล้ว ยังได้มีการปรับปรุงโครงสร้างด้านกิจการเงินทุนและหลักทรัพย์ โดยให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ที่ดำเนินกิจการอย่างปกติและไม่ถูกปิดกิจการในขณะนั้น ให้ดำเนินการแยกธุรกิจเงินทุน และธุรกิจหลักทรัพย์ ในบริษัทเดียวกันออกจากกัน กล่าวคือธุรกิจเงินทุนในบริษัทเดิม ก็ให้ดำเนินกิจการต่อไปโดยไม่ต้องปิดกิจการ เพียงแต่ต้องเปลี่ยนชื่อเรียกนิติบุคคลว่า บริษัทเงินทุน (ต่อมาบริษัทเงินทุนบางแห่ง พัฒนาตัวเองเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทประเภทอื่น) แต่ในขณะที่ธุรกิจหลักทรัพย์นั้น ให้แยกการประกอบธุรกิจจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (หรือบริษัทเงินทุนในภายหลัง) ออกไปจัดตั้งเป็นนิติบุคคลอิสระ เป็นบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการประกอบธุรกิจ
  4. การปฏิบัติต่อหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลได้ส่งเสริมการแปรรูปหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ โดยการออกพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในรูปแบบองค์การของรัฐบาล ที่มีผลประกอบการทั้งด้านการบริหารงานและทางการเงินอยู่ในระดับดี ให้ดำเนินการแปรรูปจากนิติบุคคลในรูปแบบองค์การของรัฐบาล (ซึ่งการลงทุนและรายได้รายจ่ายเป็นทุน) ไปเป็นนิติบุคคลหุ้นส่วน หรือในรูปแบบบริษัท(มหาชน)จำกัด เพื่อให้สามารถแข่งขันกับหน่วยงานภาคเอกชนได้ และเพื่อเป็นช่องทางหาผลประโยชน์หรือรายได้ให้กับประเทศต่อไป ส่งผลทำให้มีการแปรรูปหน่วยงานรัฐวิสาหกิจบางราย และบางรายเมื่อแปรรูปแล้ว ก็ได้เป็นบริษัทจดทะเบียน เพื่อซื้อขายตราสารทุนที่ตลาดหลักทรัพย์ เป็นการต่อไป แต่ในทางกลับกัน รัฐบาลก็ได้มีการประกาศให้ยุบเลิกหน่วยงานรัฐวิสาหกิจบางแห่ง ที่ไม่สามารถดำเนินกิจการเพื่อเข้ากับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับภาคเอกชนประกอบกิจการดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้วนั้น จึงทำให้มีการออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อยุบเลิกหน่วยงานรัฐวิสาหกิจบางหน่วยงานไปโดยปริยาย
  5. หลังวิกฤตการณ์นี้ รัฐบาลได้มีนโยบายให้ย่นการประชาสัมพันธ์ปีส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทยที่มีถึง 2 ปีซ้อน คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ถึงปี พ.ศ. 2542 มาเป็นช่วงปลายปี พ.ศ. 2540 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศไทยอันจะก่อให้เกิดการสร้างและนำรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามาในงบประมาณและสถานะภาพความคล่องของประเทศไปด้วย[10]
  6. ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ประกาศลอยตัวค่าบาทเงินบาท (ก่อนลอยตัว 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 27 บาท หลังลอยตัว 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 50 บาท)[11]
  7. ภายหลังนายเริงชัย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยถูกธนาคารแห่งประเทศไทยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 เป็นเงินจำนวน 186,015,830,720 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี [12]

อ้างอิง

แก้
  1. Kaufman: pp. 195–6
  2. https://prachatai.com/journal/2005/06/4217
  3. "สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้นจาก 100% เป็น 167%" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-04-23. สืบค้นเมื่อ 2013-05-29.
  4. http://old-book.ru.ac.th/e-book/i/IB416/ib416_8.pdf วิกฤตการเงินและผลกระทบต่อประเทศไทย
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (2542). รายงานผลการวิเคราะห์และวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ (4 ed.). มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย. ISBN 9748663965.
  6. https://www.econ.tu.ac.th/uploads/archive/file/20200903/jkopqvwy2569.pdf การสัมมนาทางวิชาการ ครั้งที่ 21 ปี 2541 เรื่องฟันฝ่าวิกฤตไทย จัดโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  7. 7.0 7.1 Cheetham, R. 1998. Asia Crisis. Paper presented at conference, U.S.-ASEAN-Japan policy Dialogue. School of Advanced International Studies of Johns Hopkins University, 7–9 June, Washington, D.C.
  8. มีนัดกับณัฏฐา : นัดนี้กับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ "วิรไท สันติประภพ" (30 มิ.ย. 60)(สืบค้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2567)
  9. พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พุทธศักราช 2540 เก็บถาวร 2021-04-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จัดทำข้อมูลโดย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย (สืบค้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2560)
  10. Amazing Thailand ต้องช่วยกันทั้งประเทศ[ลิงก์เสีย] จากนิตยสารผู้จัดการ
  11. http://housingvm.nha.co.th/VM_7.html ยุคที่ 7 ยุคต้มยำกุ้ง การทรุดตัวในแนวดิ่งของธุรกิจที่อยู่อาศัย
  12. https://prachatai.com/journal/2005/06/4217