มุขมนตรี[1] เป็นตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารของรัฐหรือภูมิภาค ตำแหน่งนี้มักปรากฏในประเทศที่ใช้การปกครองแบบสหพันธรัฐหรือจักรวรรดิ มุขมนตรีแต่ละคนมีอำนาจจำกัดอยู่เฉพาะในเขตอำนาจของตนเองเท่านั้น มุขมนตรีอาจมาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งก็ได้ตามบทบัญญัติทางกฎหมายของประเทศหรือดินแดนนั้น

สหราชอาณาจักร

แก้

ในสหราชอาณาจักร ตำแหน่งมุขมนตรี (First Minister) เป็นตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารของรัฐบาลสกอตแลนด์ รัฐบาลเวลส์ และรัฐบาลไอร์แลนด์เหนือ มุขมนตรีมาจากการลงมติของรัฐสภาประเทศนั้น ๆ และพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักรทรงแต่งตั้ง

เยอรมนี

แก้

ในประเทศเยอรมนี รัฐทั้งสิบหกต่างมีธรรมนูญเป็นของตนเอง ในธรรมนูญของแต่ละรัฐนั้นต่างมีลักษณะที่เหมือนกัน โดยกำหนดให้มุขมนตรี (เยอรมัน: Ministerpräsident) มาจากการลงมติแต่งตั้งโดยสภาประจำรัฐ และกำหนดให้มุขมนตรีเป็นตำแหน่งที่รวมเอาสองบทบาทเข้าไว้ด้วยกัน คือเป็นทั้งหัวหน้าของฝ่ายบริหาร มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนสมาชิกคณะมนตรีฝ่ายต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเป็นประมุขแห่งรัฐของรัฐนั้น เพื่อปฏิบัติบรรดาพิธีการในนามของรัฐ (ในขณะที่หัวหน้าฝ่ายบริหารของทั้งประเทศเยอรมนีคือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหพันธ์) ตัวมุขมนตรีอาจถูกสภาประจำรัฐอภิปรายไม่ไว้วางใจได้เช่นเดียวกัน

กล่าวโดยสรุปคือ มุขมนตรีในประเทศเยอรมนีนั้น เสมือนตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารในประเทศที่ใช้ระบบประธานาธิบดี ที่ประธานาธิบดีทำหน้าที่เป็นทั้งหัวหน้าคณะรัฐมนตรีและประมุขแห่งรัฐไปในตัว เพียงแต่ย่อส่วนลงมาแทนที่จะมีเขตอำนาจทั่วทั้งประเทศ กลับมีเขตอำนาจอยู่เพียงพื้นที่ท้องถิ่นของตนเอง

เบลเยียม

แก้

ในประเทศเบลเยียม มุขมนตรีเป็นตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารของรัฐบาลส่วนภูมิภาค แต่ไม่ใช่หัวหน้าฝ่ายบริหารของทั้งประเทศ โดยที่หัวหน้าฝ่ายบริหารของทั้งประเทศเบลเยียมนั้นคือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเบลเยียมซึ่งต้องได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งจากกษัตริย์ ในขณะที่ตำแหน่งมุขมนตรีนั้นไม่ต้องรับการแต่งตั้งจากกษัตริย์ แต่ได้รับการแต่งตั้งจากสภาส่วนภูมิภาคโดยตรง มุขมนตรีในเบลเยียมไม่ต้องกล่าวแสดงความจงรักภักดีต่อกษัตริย์เบลเยียม แต่ต้องกล่าวสาบานตนต่อสภาส่วนภูมิภาคของตน

นอร์เวย์

แก้

ในประเทศนอร์เวย์ เคยมีตำแหน่งมุขมนตรี (ministerpresident) ระหว่างปี 1942 ถึง 1945 ระหว่างอยู่ภายใต้การยึดครองของประเทศเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

พม่า

แก้

ในประเทศพม่า ตำแหน่งมุขมนตรีภาค (พม่า: တိုင်းဒေသကြီးဝန်ကြီးချုပ်) หรือมุขมนตรีรัฐ (พม่า: ပြည်နယ်ဝန်ကြီးချုပ်) เป็นตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคหรือรัฐในสหภาพ รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าบัญญัติว่า[2] มุขมนตรีมีหน้าที่กำกับรัฐบาลส่วนภูมิภาคหรือรัฐบาลประจำรัฐ ตลอดจนลงนามประกาศใช้กฎหมายต่าง ๆ ที่ผ่านการอนุมัติโดยที่ประชุมสภาภูมิภาคหรือที่ประชุมสภารัฐ มุขมนตรีต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์ และจะถูกคัดเลือกจากบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนรัฐหรือสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดีพม่าเป็นผู้ลงนามแต่งตั้งมุขมนตรี

มาเลเซีย

แก้

ในประเทศมาเลเซีย ตำแหน่งมนตรีข้าหลวง (มลายู: Menteris Besar) เป็นตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารของเก้ารัฐท้องถิ่นที่มีสุลต่านปกครอง โดยมีการสืบตำแหน่งผ่านทางสายเลือด ส่วนอีกสี่รัฐท้องถิ่นที่ไม่ได้มีสุลต่านปกครองจะเรียกตำแหน่งเดียวกันว่า มุขมนตรี (มลายู: Ketua Menteri) ตำแหน่งเหล่านี้ถูกสถาปนาขึ้นในปี ค.ศ. 1948 สมัยที่มาเลเซียยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ รัฐยะโฮร์เป็นรัฐแรกที่มีการแต่งตั้งตำแหน่งมนตรีข้าหลวง

อ้างอิง

แก้
  1. สมใจ ไพโรจน์ธีระรัชต์ (2547). ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม และคณะ (บ.ก.). สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: ยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (pdf). Vol. 1 (อักษร A-B) (3 ed.). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. p. 136. ISBN 974-9588-25-8. สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2555.
  2. "Constitution of the Republic of the Union of Myanmar" (PDF). Ministry of Information. 2008. สืบค้นเมื่อ 9 July 2015.