ภาษาชวา
ภาษาชวา (ชวา: basa Jawa, ꦧꦱꦗꦮ, بَاسَا جَاوَا, ออกเสียง: [bɔsɔ d͡ʒɔwɔ]) เป็นภาษาของชาวชวาในภาคกลางและภาคตะวันออกของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีผู้พูดภาษานี้เป็นภาษาแม่มากกว่า 98 ล้านคน[3] (มากกว่าร้อยละ 42 ของประชากรทั้งประเทศ)
ภาษาชวา | |
---|---|
basa Jawa ꦧꦱꦗꦮ بَاسَا جَاوَا | |
คำว่า บาซา ("ภาษา") ในอักษรชวา | |
ออกเสียง | [bɔsɔ d͡ʒɔwɔ] |
ประเทศที่มีการพูด | อินโดนีเซีย |
ภูมิภาค | เกาะชวา |
ชาติพันธุ์ | |
จำนวนผู้พูด | 82 ล้านคน (2550)[1] |
ตระกูลภาษา | ออสโตรนีเซียน
|
รูปแบบก่อนหน้า | ภาษาชวาเก่า
|
รูปแบบมาตรฐาน | กาวี
(รูปแบบมาตรฐานแรก) ชวาแบบซูราการ์ตา
(รูปแบบมาตรฐานปัจจุบัน) |
ภาษาถิ่น | ภาษาถิ่น |
ระบบการเขียน | อักษรละติน อักษรชวา อักษรเปโกน |
สถานภาพทางการ | |
ภาษาทางการ | เขตพิเศษยกยาการ์ตา[2] |
รหัสภาษา | |
ISO 639-1 | jv |
ISO 639-2 | jav |
ISO 639-3 | มีหลากหลาย:jav – ชวาjvn – ภาษาชวาแบบซูรินามjas – ภาษาชวาแบบนิวแคลิโดเนียosi – ภาษาถิ่นโอซิงtes – ภาษาถิ่นเติงเกอร์kaw – ภาษากาวี |
Linguasphere | 31-MFM-a |
เขียวเข้ม: บริเวณที่ภาษาชวาเป็นภาษาของชนส่วนใหญ่, เขียวอ่อน: บริเวณที่ภาษาชวาเป็นภาษาของชนกลุ่มน้อย | |
ภาษาชวาเป็นภาษาตระกูลออสโตรนีเซียนที่มีจำนวนผู้พูดเป็นภาษาแม่มากที่สุด โดยมีภาษาถิ่นหลายภาษาและมีทำเนียบภาษาที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนจำนวนหนึ่ง[4] ญาติที่ใกล้ชิดกับภาษานี้ที่สุดคือภาษาซุนดา, ภาษามาดูรา และภาษาบาหลี ผู้พูดภาษาชวาส่วนใหญ่พูดภาษาอินโดนีเซียในสถานการณ์ทางการและเพื่อการค้า รวมทั้งเพื่อสื่อสารกับชาวอินโดนีเซียที่ไม่พูดภาษาชวา
นอกจากนี้ยังมีผู้พูดภาษาชวาในประเทศมาเลเซีย (โดยเฉพาะแถบชายฝั่งตะวันตกในรัฐเซอลาโงร์และรัฐยะโฮร์) และสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีผู้พูดในชุมชนผู้สืบเชื้อสายชวาในประเทศซูรินาม, ศรีลังกา และนิวแคลิโดเนีย[5]
นอกจากภาษาอินโดนีเซียแล้ว ภาษาชวายังเป็นภาษาทางการในเขตพิเศษยกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย[2]
การจัดอันดับ
แก้ภาษาชวาเป็นส่วนหนึ่งของสาขามลายู-พอลินีเชียในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน แม้ว่าความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับภาษากลุ่มมลายู-พอลินีเชียอื่น ๆ ยากที่จะระบุได้ Isidore Dyen ใช้กระบวนการทางศัพทสถิติศาสตร์ในการจัดภาษาชวาเป็นส่วนหนึ่งของ "Javo-Sumatra Hesion" ซึ่งรวมภาษาซุนดาและกลุ่มภาษา "มาเลย์อิก"[a][6][7] นักภาษาศาสตร์ Berndt Nothofer ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่พยายามสร้างกลุ่มภาษาใหม่โดยใช้ภาษาเพียงสี่ภาษาที่มีการรับรองดีที่สุดในขณะนั้น (ชวา ซุนดา มาดูรา และมลายู) ก็เรียกกลุ่มนี้เป็น "มลายู-ชวา"[8]
กลุ่มภาษามลายู-ชวาถูกนักภาษาศาสตร์หลายคนวิจารณ์และปฏิเสธ[9][10] Alexander Adelaar ไม่รวมภาษาชวาในการจัดกลุ่มมลายู-ซุมบาวาที่เขาเสนอ (ซึ่งรวมกลุ่มภาษามาเลย์อิก ซุนดา และมาดูรา)[10][11] รอเบิร์ต บลัสต์ก็ไม่รวมภาษาชวาในกลุ่มย่อยเกรตเตอร์บอร์เนียวเหนือ ซึ่งเขาเสนอเป็นทางเลือกหนึ่งของการจัดกลุ่มมลายู-ซุมบาวา อย่างไรก็ตาม บลัสต์ยังแสดงถึงความเป็นไปได้ที่กลุ่มภาษาเกรตเตอร์บอร์เนียวเหนือมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับภาษากลุ่มอินโดนีเซียตะวันตกอื่น ๆ อีกหลายภาษา ซึ่งรวมถึงภาษาชวาด้วย[12] ข้อเสนอแนะของบลัสต์ยังได้รับการอธิบายเพิ่มเติมจากอเล็กซานเดอร์ สมิธที่รวมภาษาชวาเข้าในกลุ่มอินโดนีเซียตะวันตก (ซึ่งอยู่ในกลุ่มภาษาเกรตเตอร์บอร์เนียวเหนือและกลุ่มย่อยอื่น ๆ) ซึ่งสมิธถือเป็นหนึ่งในสายหลักของมลายู-พอลินีเชีย[13]
ประวัติ
แก้โดยทั่วไป ประวัติภาษาชวาแบ่งออกเป็นสองช่วง: 1) ชวาโบราณ และ 2) ชวาใหม่[11][14]
ภาษาชวาโบราณ
แก้หลักฐานการเขียนในเกาะชวาย้อนหลังไปได้ถึงยุคของจารึกภาษาสันสกฤต จารึกตรุมเนคระ ใน พ.ศ. 993 ส่วนการเขียนด้วยภาษาชวาที่เก่าที่สุดคือจารึกสุกภูมีซึ่งระบุวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 1346 จารึกนี้พบที่เกอดีรีในชวาตะวันออกและเป็นสำเนาของจารึกต้นฉบับที่น่าจะมีอายุ 120 ปีก่อนหน้านั้น แต่หลักฐานเหลือเพียงจารึกที่เป็นสำเนาเท่านั้น เนื้อหากล่าวถึงการสร้างเขื่อนใกล้กับแม่น้ำสรินยังในปัจจุบัน จารึกนี้เป็นจารึกรุ่นสุดท้ายที่ใช้อักษรปัลลวะ จารึกรุ่นต่อมาเริ่มใช้อักษรชวา
ในพุทธศตวรรษที่ 13–14 เป็นยุคที่เริ่มมีวรรณคดีพื้นบ้านในภาษาชวา เช่น สัง ฮยัง กะมาฮะยานีกัน ที่ได้รับมาจากพุทธศาสนา และ กากาวัน รามายานา ที่มาจากรามายณะฉบับภาษาสันสกฤต แม้ว่าภาษาชวาจะใช้เป็นภาษาเขียนทีหลังภาษามลายู แต่วรรณคดีภาษาชวายังได้รับการสืบทอดจนถึงปัจจุบัน เช่นวรรณคดีที่ได้รับมาจากรามายณะและมหาภารตะยังได้รับการศึกษาจนถึงทุกวันนี้
การแพร่กระจายของวัฒนธรรมชวารวมทั้งอักษรชวาและภาษาชวาเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1836 ซึ่งเกิดจากการขยายตัวไปทางตะวันออกของราชอาณาจักรมัชปาหิตซึ่งเป็นอาณาจักรที่นับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ไปสู่เกาะมาดูราและเกาะบาหลี ภาษาชวาแพร่ไปถึงเกาะบาหลีเมื่อ พ.ศ. 1906 และมีอิทธพลอย่างลึกซึ้ง โดยภาษาชวาเข้ามาแทนที่ภาษาบาหลีในฐานะภาษาทางการปกครองและวรรณคดี ชาวบาหลีรักษาวรรณคดีเก่าที่เป็นภาษาชวาไว้มาก และไม่มีการใช้ภาษาบาหลีเป็นภาษาเขียนจนถึงพุทธศตวรรษที่ 24
ภาษาชวายุคกลาง
แก้ในยุคของราชอาณาจักรมัชปาหิต ได้เกิดภาษาใหม่ขึ้นคือภาษาชวายุคกลางที่อยู่ระหว่างภาษาชวาโบราณและภาษาชวาสมัยใหม่ จริง ๆ แล้ว ภาษาชวายุคกลางมีความคล้ายคลึงกับภาษาชวาสมัยใหม่จนผู้พูดภาษาชวาสมัยใหม่ที่ศึกษาวรรณคดีสามารถเข้าใจได้ ราชอาณาจักรมัชปาหิตเสื่อมลงเนื่องจากการรุกรานของต่างชาติและอิทธิพลของศาสนาอิสลาม และการคุกคามของสุลต่านแห่งเดอมักที่อยู่ทางชายฝั่งด้านเหนือของเกาะชวา ราชอาณาจักรมัชปาหิตสิ้นอำนาจลงเมื่อ พ.ศ. 2021
ภาษาชวาใหม่
แก้ภาษาชวาสมัยใหม่เริ่มปรากฏเมื่อพุทธศตวรรษที่ 21 พร้อม ๆ กับการเข้ามามีอิทธิพลของศาสนาอิสลาม และการเกิดรัฐสุลต่านมะตะรัม รัฐนี้เป็นรัฐอิสลามที่สืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมจากยุคราชอาณาจักรมัชปาหิต วัฒนธรรมชวาแพร่หลายไปทางตะวันตก เมื่อรัฐมะตะรัมพยายามแพร่อิทธิพลไปยังบริเวณของผู้พูดภาษาซุนดาทางตะวันตกของเกาะชวา ทำให้ภาษาชวากลายเป็นภาษาหลักในบริเวณนั้น เช่นเดียวกับภาษาบาหลี ไม่มีการใช้ภาษาซุนดาเป็นภาษาเขียนจนถึงพุทธศตวรรษที่ 24 และได้รับอิทธิพลจากภาษาชวามาก คำศัพท์ร้อยละ 40 ในภาษาซุนดาได้มาจากภาษาชวา
แม้ว่าจะเป็นจักรวรรดิอิสลาม แต่ราชอาณาจักรมะตะรัมก็ยังรักษาหน่วยเดิมที่มาจากวัฒนธรรมเก่าไว้และพยายามรวมเข้ากับศาสนาใหม่ จึงเป็นเหตุผลที่ยังคงมีการใช้อักษรชวาอยู่ ในขณะที่อักษรดั้งเดิมของภาษามลายูเลิกใช้ไปตั้งแต่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม โดยหันไปใช้อักษรที่มาจากอักษรอาหรับแทน ในยุคที่ศาสนาอิสลามกำลังรุ่งเรืองราวพุทธศตวรรษที่ 21 ได้เกิดภาษาชวาใหม่ขึ้น มีเอกสารทางศาสนาอิสลามฉบับแรก ๆ ที่เขียนด้วยภาษาชวาใหม่ ซึ่งมีคำศัพท์และสำนวนที่ยืมมาจากภาษาอาหรับมาก ต่อมาเมื่อได้รับอิทธิพลจากภาษาดัตช์และภาษาอินโดนีเซีย ทำให้ภาษาชวาพยายามปรับรูปแบบให้ง่ายขึ้น และมีคำยืมจากต่างชาติมากขึ้น
ภาษาชวาสมัยใหม่
แก้นักวิชาการบางคนแยกภาษาชวาที่ใช้พูดตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 25 ว่าเป็นภาษาชวาสมัยใหม่ แต่ก็ยังคงถือว่าเป็นภาษาเดียวกับภาษาชวาใหม่
ภาษาชวาในปัจจุบัน
แก้ภาษาชวาไม่ใช่ภาษาประจำชาติโดยมีสถานะเป็นแค่ภาษาประจำถิ่นในจังหวัดที่มีชาวชวาอยู่เป็นจำนวนมาก มีการสอนภาษาชวาในโรงเรียนและมีการใช้ในสื่อต่าง ๆ ไม่มีหนังสือพิมพ์รายวันเป็นภาษาชวา แต่มีนิตยสารภาษาชวา ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นของชวาตะวันออกออกอากาศเป็นภาษาชวาด้วยภาษาถิ่นชวากลางและภาษามาดูราด้วย ใน พ.ศ. 2548 มีการออกนิตยสารภาษาชวา Damar Jati ในจาการ์ตา
การกระจายตามเขตภูมิศาสตร์
แก้ภาษาชวาเป็นภาษาที่ใช้พูดทั่วอินโดนีเซีย ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนเธอร์แลนด์ ซูรินาม นิวแคลิโดเนีย และประเทศอื่น ๆ ชุมชนที่ใหญ่ที่สุดของผู้พูดภาษานี้ อยู่ใน 6 จังหวัดบนเกาะชวา และจังหวัดลัมปุงบนเกาะสุมาตรา จากข้อมูล พ.ศ. 2523 ชาวอินโดนีเซียร้อยละ 43 ใช้ภาษาชวาในชีวิตประจำวัน โดยมีผู้พูดภาษาชวาได้ดีมากกว่า 60 ล้านคน ในแต่ละจังหวัดของอินโดนีเซียมีผู้พูดภาษาชวาได้ดีอย่างน้อยร้อยละ 1
ในชวาตะวันออก มีผู้พูดภาษาชวาในชีวิตประจำวันร้อยละ 74.5, ภาษามาดูราร้อยละ 23 และภาษาอินโดนีเซียร้อยละ 2.2 ในจังหวัดลัมปุง มีผู้พูดภาษาชวาในชีวิตประจำวันร้อยละ 62.4, ภาษาลัมปุงร้อยละ 16.4, ภาษาซุนดาร้อยละ 10.5 และภาษาอินโดนีเซียร้อยละ 9.4 ส่วนในจาการ์ตา มีจำนวนผู้พูดภาษาชวาเพิ่มสูงขึ้นถึง 10 เท่า ในเวลา 25 ปี แต่ในอาเจะฮ์กลับลดจำนวนลง ในบันเติน ชวาตะวันตก ผู้สืบทอดมาจากรัฐสุลต่านมะตะรัมในชวากลาง ยังใช้รูปแบบโบราณของภาษาชวา มีผู้พูดภาษาซุนดาและภาษาอินโดนีเซียตามแนวชายแดนติดกับจาการ์ตา
จังหวัดชวาตะวันออกยังเป็นบ้านเกิดของผู้พูดภาษามาดูรา แต่ชาวมาดูราส่วนใหญ่พูดภาษาชวาได้ด้วย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นมา มีการเขียนภาษามาดูราด้วยอักษรชวา ในลัมปุง มีชนพื้นเมืองที่พูดภาษาลัมปุงเพียงร้อยละ 15 ที่เหลือเป็นผู้อพยพมาจากส่วนอื่น ๆ ของอินโดนีเซีย ซึ่งผู้อพยพเข้ามาส่วนใหญ่เป็นผู้พูดภาษาชวา ในซูรินามซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ในอเมริกาใต้ มีผู้ที่เป็นลูกหลานของชาวชวาและยังพูดภาษาชวาอยู่ราว 75,000 คน
สัทวิทยา
แก้หน่วยเสียงภาษาชวามาตรฐานสมัยใหม่มีดังนี้[15][16]
สระ
แก้หน้า | กลาง | หลัง | |
---|---|---|---|
ปิด | i | u | |
กึ่งปิด | e | ə | o |
กึ่งเปิด | (ɛ) | (ɔ) | |
เปิด | a |
ในพยางค์ปิด สระ /i u e o/ ออกเสียงเป็น [ɪ ʊ ɛ ɔ] ตามลำดับ[15][17] ในพยางค์เปิด สระ /e o/ ยังออกเสียงเป็น [ɛ ɔ] เมื่อสระที่ตามมาคือสระ /i u/ ในพยางค์เปิด ไม่เช่นนั้นก็จะออกเสียงเป็นสระ /ə/ หรือออกเสียงเหมือนกัน (/e...e/, /o...o/) ในภาษาถิ่นซูราการ์ตาซึ่งเป็นมาตรฐาน สระ /a/ จะออกเสียงเป็น [ɔ] เมื่ออยู่ในพยางค์เปิดท้ายคำและเมื่ออยู่ในพยางค์เปิดที่เป็นพยางค์รองสุดท้ายของคำ ก่อนหน้า [ɔ] ดังกล่าว
พยัญชนะ
แก้ริมฝีปาก | ฟัน/ ปุ่มเหงือก |
ปลายลิ้นม้วน | เพดานแข็ง | เพดานอ่อน | เส้นเสียง | ||
---|---|---|---|---|---|---|---|
เสียงนาสิก | m | n | ɲ | ŋ | |||
เสียงหยุด/ เสียงกักเสียดแทรก |
เสียงพูดเกร็ง | p | t̪ | ʈ | t͡ʃ | k | ʔ |
เสียงพูดคลาย | b̥ | d̪̥ | ɖ̥ | d̥͡ʒ̥ | ɡ̥ | ||
เสียงเสียดแทรก | s | h | |||||
เสียงเปิด | ธรรมดา | j | w | ||||
ข้างลิ้น | l | ||||||
เสียงโรทิก | r |
หน่วยเสียงพยัญชนะ "ก้อง" ในภาษาชวาที่จริงแล้วไม่ใช่เสียงก้อง แต่เป็นเสียงไม่ก้องที่มีเสียงพูดลมแทรกอยู่ในสระที่ตามมา[15] นอกจากภาษามาดูราแล้ว ภาษาชวาเป็นเพียงภาษาเดียวในอินโดนีเซียตะวันตกที่มีการจำแนกความต่างระหว่างหน่วยเสียงพยัญชนะฟันกับหน่วยเสียงพยัญชนะปลายลิ้นม้วน[15]
ไวยากรณ์
แก้การเรียงประโยค
แก้ภาษาชวาสมัยใหม่เรียงประโยคแบบ ประธาน-กริยา-กรรม ในขณะที่ภาษาชวาโบราณเรียงประโยคแบบ กริยา-ประธาน-กรรม หรือ กริยา-กรรม-ประธาน ตัวอย่างเช่น ประโยค "เขาเข้ามาในพระราชวัง" เขียนได้ดังนี้
- ชวาโบราณ: Těka (กริยา) ta sira (ประธาน) ri ng (คำชี้เฉพาะ) kadhatwan (กรรม)
- ชวาสมัยใหม่: Dheweke (ประธาน) těka (กริยา) neng kĕdhaton (กรรม)
คำกริยา
แก้ไม่มีการผันคำกริยาตามบุคคลหรือจำนวน ไม่มีการแสดงกาลแต่ใช้การเติมคำช่วย เช่น "เมื่อวานนี้" "แล้ว" แบบเดียวกับภาษาไทย ระบบของคำกริยาในการแสดงความแตกต่างของประธานและกรรมค่อนข้างซับซ้อน
วงศัพท์
แก้ภาษาชวามีศัพท์มากมายที่เป็นคำยืมและคำดั้งเดิมของภาษาตระกูลออสโตรนีเซีย ภาษาสันสกฤตมีอิทธิพลต่อภาษาชวามาก คำยืมจากภาษาสันสกฤตมักเป็นคำที่ใช้ในวรรณคดี และยังคงใช้อยู่ คำยืมจากภาษาอื่น ๆ มีภาษาอาหรับ ภาษาดัตช์ และภาษามลายู
ภาษาชวามีคำยืมจากภาษาอาหรับน้อยกว่าภาษามลายู โดยมากเป็นคำที่ใช้ในศาสนาอิสลาม เช่น pikir ("คิด" มาจากภาษาอาหรับ fikr), badan ("ร่างกาย"), mripat ("ตา" คาดว่ามาจากภาษาอาหรับ ma'rifah หมายถึง "ความรู้" หรือ "วิสัยทัศน์") คำยืมจากภาษาอาหรับนี้มีศัพท์พื้นเมืองและคำยืมจากภาษาสันสกฤตที่มีความหมายเหมือนกันใช้อยู่ด้วย เช่น pikir = galih, idhĕp (ออสโตรนีเซีย) และ manah, cipta หรือ cita (จากภาษาสันสกฤต); badan = awak (ออสโตรนีเซีย) และ slira, sarira, หรือ angga (จากภาษาสันสกฤต); และ mripat = mata (ออสโตรนีเซีย) และ soca หรือ netra (จากภาษาสันสกฤต)
ต่อไปนี้เป็นตารางเปรียบเทียบศัพท์จากภาษาต่าง ๆ
ภาษาชวา | ภาษาอินโดนีเซีย | ภาษาดัตช์ | ภาษาไทย |
---|---|---|---|
pit | sepeda | fiets | จักรยาน |
pit montor | sepeda motor | motorfiets | จักรยานยนต์ |
sepur | kereta api | spoor คือราง (รถไฟ) | รถไฟ |
ทำเนียบภาษา
แก้การพูดภาษาชวาแตกต่างไปขึ้นกับบริบททางสังคมทำให้มีการแบ่งชั้นของภาษา แต่ละชั้นมีศัพท์ กฎทางไวยากรณ์ และฉันทลักษณ์เป็นของตนเอง การแบ่งชั้นนี้ไม่ใช่ลักษณะเฉพาะของภาษาชวา เพราะพบในภาษาในเอเชียหลายภาษา เช่น ภาษาเกาหลี ภาษาญี่ปุ่น แต่ละชั้นของภาษาชวามีชื่อเรียกดังนี้
- โงโก (ꦔꦺꦴꦏꦺꦴ): รูปแบบพูดอย่างไม่เป็นทางการระหว่างเพื่อนและญาติสนิท และใช้โดยคนที่มีฐานะสูงกว่าเมื่อพูดกับคนที่มีฐานะต่ำกว่า เช่น ผู้ใหญ่ใช้กับเด็ก
- มัดยา (ꦩꦢꦾ): รูปแบบกลาง ๆ ระหว่างโงโกกับกรามา สำหรับในสถานะที่ไม่ต้องการทั้งความเป็นทางการและไม่เป็นทางการ คำนี้มาจากภาษาสันสกฤตว่า มัธยะ ("กลาง")[18]
- กรามา (ꦏꦿꦩ): รูปแบบที่สุภาพและเป็นทางการ ใช้กับคนที่อยู่ในสถานะเดียวกัน เป็นรูปแบบที่ใช้พูดในที่สาธารณะ การประกาศต่าง ๆ ใช้โดยคนที่มีฐานะต่ำกว่าเมื่อพูดกับคนที่มีฐานะสูงกว่า เช่น เด็กพูดกับผู้ใหญ่ คำนี้มาจากภาษาสันสกฤตว่า กรมา ("ตามลำดับ")[18]
สถานะในสังคมที่มีผลต่อรูปแบบของภาษาชวากำหนดโดยอายุหรือตำแหน่งในสังคม การเลือกใช้ภาษาระดับใดนั้นต้องอาศัยความรอบรู้ในวัฒนธรรมชวาและเป็นสิ่งที่ยากสำหรับการเรียนภาษาชวาของชาวต่างชาติ
ภาษาถิ่นของภาษาชวาสมัยใหม่
แก้ภาษาถิ่นของภาษาชวาแบ่งได้เป็นสามกลุ่มตามบริเวณย่อยที่มีผู้พูดภาษาเหล่านี้อาศัยอยู่ คือ ภาษาชวากลาง ภาษาชวาตะวันออก และภาษาชวาตะวันตก ความแตกต่างระหว่างภาษาถิ่นอยู่ที่การออกเสียงและคำศัพท์
- ภาษาชวากลางเป็นภาษาถิ่นที่ใช้พูดในซูราการ์ตาและยกยาการ์ตา ถือเป็นภาษาถิ่นมาตรฐานของภาษานี้ มีผู้พูดกระจายตั้งแต่เหนือถึงใต้ของจังหวัดชวากลาง
- ภาษาชวาตะวันตกใช้พูดทางตะวันตกของจังหวัดชวากลางและตลอดทั้งจังหวัดชวาตะวันตก โดยเฉพาะชายฝั่งทางตอนเหนือ ได้รับอิทธิพลจากภาษาซุนดา และยังมีศัพท์เก่า ๆ อยู่มาก
- ภาษาชวาตะวันออกเริ่มใช้พูดจากฝั่งตะวันออกของกาลี บรันตัส ในเกอร์โตโซโนไปจนถึงบาญูวังกี ครอบคลุมบริเวณส่วนใหญ่ของจังหวัดชวาตะวันออก รวมเกาะมาดูราด้วย ภาษาถิ่นนี้ได้รับอิทธิพลจากภาษามาดูรา ภาษาถิ่นตะวันออกสุดได้รับอิทธิพลจากภาษาบาหลี
การออกเสียง
แก้ชาวชวาส่วนใหญ่ยกเว้นในชวาตะวันตก ยอมรับการออกเสียง a เป็น /ออ/ เช่น apa ในภาษาชวาตะวันตกออกเสียงเป็นอาปา ส่วนภาษาชวากลางและภาษาชวาตะวันออกออกเสียงเป็นออปอ
เมื่อมีหน่วยเสียงที่มีโครงสร้างเป็นสระ-พยัญชนะ-สระ โดยสระทั้งสองเสียงเป็นเสียงเดียวกัน ภาษาชวางกลางลดเสียงสระตัวท้าย i เป็น e และ u เป็น o ภาษาชวาตะวันออกลดทั้งสองเสียงส่วนภาษาชวาตะวันตกคงเสียงเดิมไว้ เช่น cilik ภาษาชวากลางเป็น จิเละ ภาษาชวาตะวันออกเป็น เจะเละ ภาษาชวาตะวันตกเป็น จิลิก
วงศัพท์
แก้ภาษาชวามีคำศัพท์ที่ต่างกันไปในแต่ละภาษาถิ่น เช่นคำว่าคุณ ชวากลางเป็น kowe ภาษาชวาตะวันออกเป็น kon ภาษาชวาตะวันตกเป็น rika
อักขรวิธี
แก้ภาษาชวามีรูปเขียนแบบดั้งเดิมด้วยอักษรชวา อักษรชวาและอักษรบาหลีที่มีความเกี่ยวข้องสืบต้นตอจากอักษรกวิเก่า ซึ่งเป็นอักษรพราหมีที่เข้าสู่ชวาพร้อมกับศาสนาฮินดูและพุทธ นอกจากนี้ ยังสามารถเขียนด้วยอักษรอาหรับ (รู้จักกันในชื่ออักษรเปโกน) และปัจจุบันเขียนด้วยอักษรละตินแทนอักษรชวา ด้วยจุดประสงค์ทางการใช้งาน โดยอักขรวิธีละตินอิงจากอักขรวิธีดัตช์ที่นำเข้าใน พ.ศ. 2469 แล้วปรับปรุงใน พ.ศ. 2515–2516 รูปแบบอักษรละตินในปัจจุบันมีดังนี้:
ตัวพิมพ์ใหญ่ | ||||||||||||||||||||||||||||||||
A | Å | B | C | D | Dh | E | É | È | F | G | H | I | J | K | L | M | N | Ng | Ny | O | P | Q | R | S | T | Th | U | V | W | X | Y | Z |
ตัวพิมพ์เล็ก | ||||||||||||||||||||||||||||||||
a | å | b | c | d | dh | e | é | è | f | g | h | i | j | k | l | m | n | ng | ny | o | p | q | r | s | t | th | u | v | w | x | y | z |
สัทอักษรสากล | ||||||||||||||||||||||||||||||||
a | ɔ | b̥ | tʃ | d̪̥ | ɖ̥ | ə, e | e | ɛ | f | g̊ | h | i | dʒ̊ | k | l | m | n | ŋ | ɲ | ɔ, o | p | q | r | s | t̪ | ʈ | u | v | w | x | j | z |
อักษรที่เป็นตัวเอียงคืออักษรที่ใช้ในคำยืมจากภาษาอาหรับและภาษายุโรป
อักษรชวา:
พยัญชนะฐาน | |||||||||||||||||||
ꦲ | ꦤ | ꦕ | ꦫ | ꦏ | ꦢ | ꦠ | ꦱ | ꦮ | ꦭ | ꦥ | ꦝ | ꦗ | ꦪ | ꦚ | ꦩ | ꦒ | ꦧ | ꦛ | ꦔ |
ha | na | ca | ra | ka | da | ta | sa | wa | la | pa | dha | ja | ya | nya | ma | ga | ba | tha | nga |
ตัวอย่าง
แก้ตัวอย่างข้อความภาษาชวามาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อที่ 1
อักษรละติน:[19] | "Sabén uwong kalairaké kanthi mardikå lan darbé martabat lan hak-hak kang pådhå. Kabèh pinaringan akal lan kalbu sartå kaajab pasrawungan anggoné mêmitran siji lan sijiné kanthi jiwå sumadulur." |
---|---|
จารากัน (อักษรดั้งเดิม)[20] | "꧋ꦱꦧꦺꦤ꧀ꦲꦸꦮꦺꦴꦁꦚꦭꦲꦶꦫꦏꦺꦏꦤ꧀ꦛꦶꦩꦂꦢꦶꦏꦭꦤ꧀ꦢꦂꦧꦺꦩꦂꦠꦧꦠ꧀ꦭꦤ꧀ꦲꦏ꧀ꦲꦏ꧀ꦏꦁꦥꦝ꧉ ꦏꦧꦼꦃꦥꦶꦤꦫꦶꦔꦤ꧀ꦲꦏꦭ꧀ꦭꦤ꧀ꦏꦭ꧀ꦧꦸꦱꦂꦠꦏꦲꦗꦧ꧀ꦥꦱꦿꦮꦸꦔꦤ꧀ꦲꦁꦒꦺꦴꦤꦺꦩꦼꦩꦶꦠꦿꦤ꧀ꦱꦶꦗꦶꦭꦤ꧀ꦱꦶꦗꦶꦤꦺꦏꦤ꧀ꦛꦶꦗꦶꦮꦱꦸꦩꦢꦸꦭꦸꦂ꧉" |
อักษรเปโกน | «سابَين أورَوڠ كالائيراكَي كانڟي ألووَار لان داربَي مرتبة لان حق۲ كاڠ ڤاڎا. كابَيه ڤيناريڠان أكال لان كالبو سارتا كاأجاب ڤاسراوُونڠان أڠڮَونَي مَيميتران سيجي لان كانڟي جيوا سومادولور.» |
ตัวอย่างเสียง: | |
แปลไทย:[21] | "มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรี และสิทธิ ต่างในตนมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพ" |
หมายเหตุ
แก้- ↑ "มาเลย์อิก"ของ Dyen แตกต่างจาก"มาเลย์อิก"ตามแนวคิดสมัยใหม่ (เสนอโดย Alexander Adelaar) มาเลย์อิกของ Dyen รวมภาษามาดูรา อาเจะฮ์ และภาษากลุ่มมาลายา (=ปัจจุบันคือมาเลย์อิก)
อ้างอิง
แก้- ↑ Mikael Parkvall, "Världens 100 största språk 2007" (The World's 100 Largest Languages in 2007), in Nationalencyklopedin.
- ↑ 2.0 2.1 "Peraturan Daerah Daerah Istimewa Yogyakarta Nomor 2 Tahun 2021 tentang Pemeliharaan dan Pengembangan Bahasa, Sastra, dan Aksara Jawa".
- ↑ Kewarganegaraan, Suku Bangsa, Agama dan Bahasa Sehari-hari Penduduk Indonesia - Hasil Sensus Penduduk 2010. Badan Pusat Statistik. 2011. ISBN 978-979-064-417-5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-10.
- ↑ "Javanese language". britannica.com. Encyclopedia Britannica. 2010. สืบค้นเมื่อ 17 March 2021.
- ↑ Akhyari Hananto (December 8, 2017). "121 Years of Javanese People in New Caledonia". Seasia: Good News from Southeast Asia.
- ↑ Dyen 1965, p. 26.
- ↑ Nothofer 2009, p. 560.
- ↑ Nothofer 1975, p. 1.
- ↑ Blust 1981.
- ↑ 10.0 10.1 Adelaar 2005a, pp. 357, 385.
- ↑ 11.0 11.1 Ogloblin 2005, p. 590.
- ↑ Blust 2010, p. 97.
- ↑ Smith 2017, pp. 443, 453–454.
- ↑ Wedhawati et al. 2006, p. 1.
- ↑ 15.0 15.1 15.2 15.3 Brown, Keith; Ogilvie, Sarah (2008). Concise encyclopedia of languages of the world. Elsevier. p. 560. ISBN 9780080877747. สืบค้นเมื่อ 2010-05-24. Madurese also possesses aspirated phonemes, including at least one aspirated retroflex phoneme.
- ↑ Suharno, Ignatius (1982). A Descriptive Study of Javanese. Canberra: ANU Asia-Pacific Linguistics / Pacific Linguistics Press. pp. 4–6. doi:10.15144/PL-D45. hdl:1885/145095.
- ↑ Perwitasari, Arum; Klamer, Marian; Witteman, Jurriaan; Schiller, Niels O. (2017). "Quality of Javanese and Sundanese Vowels". Journal of the Southeast Asian Linguistics Society. 10 (2): 1–9. hdl:10524/52406.
- ↑ 18.0 18.1 Wolff, John U.; Soepomo Poedjosoedarmo (1982). Communicative Codes in Central Java. Cornell Southeast Asia Program. p. 4. ISBN 0-87727-116-X.
- ↑ "OHCHR | Universal Declaration of Human Rights - Javanese". OHCHR (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2023-01-31.
- ↑ "Universal Declaration of Human Rights - Javanese (Javanese)". OHCHR (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-06-08. สืบค้นเมื่อ 2023-05-27.
- ↑ "ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน". แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 2023-09-17.
แหล่งข้อมูล
แก้- Adelaar, Karl Alexander (2005). "Malayo-Sumbawan". Oceanic Linguistics. University of Hawai'i Press. 44 (2): 356–388. doi:10.1353/ol.2005.0027.
- Blust, Robert (1981). "The reconstruction of proto-Malayo-Javanic: an appreciation". Bijdragen tot de Taal-, Land- en Volkenkunde. 137 (4): 456–459. doi:10.1163/22134379-90003492. JSTOR 27863392.
- Blust, Robert (2010). "The Greater North Borneo Hypothesis". Oceanic Linguistics. University of Hawai'i Press. 49 (1): 44–118. doi:10.1353/ol.0.0060. JSTOR 40783586. S2CID 145459318.
- Dyen, Isidore (1965). A lexicostatistical classification of the Austronesian languages. Baltimore: Waverly Press.
- Nothofer, Berndt (1975). The reconstruction of Proto-Malayo-Javanic. Verhandelingen van het Koninklijk Instituut voor Taal-, Land- en Volkenkunde. Vol. 73. Den Haag: Martinus Nijhoff. ISBN 9024717728.
- Nothofer, Berndt (2009). "Javanese". ใน Keith Brown; Sarah Ogilvie (บ.ก.). Concise Encyclopedia of Languages of the World. Oxford: Elsevier. pp. 560–561. ISBN 9780080877747.
- Ogloblin, Alexander K. (2005). "Javanese". ใน K. Alexander Adelaar; Nikolaus Himmelmann (บ.ก.). The Austronesian Languages of Asia and Madagascar. London dan New York: Routledge. pp. 590–624. ISBN 9780700712861.
- Smith, Alexander D. (2017). "The Western Malayo-Polynesian Problem". Oceanic Linguistics. University of Hawai'i Press. 56 (2): 435–490. doi:10.1353/ol.2017.0021. S2CID 149377092.
- Horne, Elinor C. (1961). Beginning Javanese. New Haven: Yale University Press.
- van der Molen, W. (1993). Javaans schrift. Leiden: Vakgroep Talen en Culturen van Zuidoost-Azië en Oceanië. ISBN 90-73084-09-1.
- Wedhawati; Nurlina, W. E. S.; Setiyanto, E.; Sukesti, R.; และคณะ (2006). Tata bahasa Jawa mutakhir [A contemporary grammar of Javanese] (ภาษาอินโดนีเซีย). Yogyakarta: Kanisius. ISBN 9789792110371.[ลิงก์เสีย]
- Wurm, S. A.; Hattori, Shiro, บ.ก. (1983). Language Atlas of the Pacific Area, Part II: (Insular South-east Asia). Canberra.
- Zoetmulder, P. J. (1982). Old Javanese–English Dictionary. 's-Gravenhage: Martinus Nijhoff. ISBN 90-247-6178-6.
อ่านเพิ่ม
แก้- Errington, James Joseph (1991), Language and social change in Java : linguistic reflexes of modernization in a traditional royal polity, Ohio University, Center for International Studies, สืบค้นเมื่อ 18 February 2013
- Errington, James Joseph (1998), Shifting languages : interaction and identity in Javanese Indonesia, Cambridge University Press, ISBN 978-0-521-63448-9
- Horne, Elinor Clark (1963), Intermediate Javanese, Yale University Press, สืบค้นเมื่อ 18 February 2013
- Horne, Elinor Clark (1974), Javanese-English dictionary, Yale University Press, ISBN 978-0-300-01689-5
- Keeler, Ward (1984), Javanese, a cultural approach, Ohio University Center for International Studies, ISBN 978-0-89680-121-9
- Robson, S. O. (Stuart Owen); Wibisono, Singgih (2002), Javanese English dictionary, Periplus Editions (HK) ; North Clarendon, VT : Tuttle Pub, ISBN 978-0-7946-0000-6
- Robson, S. O. (Stuart Owen); Monash University. Monash Asia Institute (2002), Javanese grammar for students (Rev. ed.), Monash Asia Institute, Monash University, ISBN 978-1-876924-12-6
- Robson, S. O. (Stuart Owen); Monash University. Centre of Southeast Asian Studies (1991), Patterns of variation in colloquial Javanese, Centre of Southeast Asian Studies, Monash University, ISBN 978-0-7326-0263-5
- Siegel, James T (1986), Solo in the new order : language and hierarchy in an Indonesian city, Princeton University Press, ISBN 978-0-691-00085-5
- Uhlenbeck, E. M; Koninklijk Instituut voor Taal-, Land- en Volkenkunde (Netherlands) (1964), A critical survey of studies on the languages of Java and Madura, Martinus Nijhoff, สืบค้นเมื่อ 18 February 2013
- Uhlenbeck, E. M; Koninklijk Instituut voor Taal-, Land- en Volkenkunde (Netherlands) (1978), Studies in Javanese morphology, Martinus Nijhoff, ISBN 978-90-247-2162-7