น้ำตา
น้ำตา เกิดจากการหลั่งน้ำตา (Lacrimation หรือ lachrymation) ที่มีหน้าที่ทำความสะอาดและหล่อลื่นดวงตาเพื่อตอบสนองต่ออาการระคายเคืองตา[1] น้ำตาที่เกิดจากการร้องไห้มีผลมาจากความรู้สึกรุนแรงภายใน เช่น ความโศกเศร้า ความปิติยินดี อารมณ์ ความกลัวเกรง หรือความยินดี การหัวเราะและการหาวก็สามารถทำให้เกิดน้ำตาได้
ส่วนประกอบของน้ำตา
แก้น้ำตาประกอบด้วยน้ำและสารต่างๆ ที่เป็นเสมือนอาหารให้เซลล์ผิวดวงตา ช่วยให้ผิวดวงตาแข็งแรง เช่น ออกซิเจน โดยปกติ กระจกตา เป็นอวัยวะที่ไม่มีเลือดมาเลี้ยงเหมือนกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ในดวงตา จึงต้องการออกซิเจนจากอากาศและน้ำตาเป็นหลัก นอกจากนี้ น้ำตา ยังมีสารอิเล็กโทรไลต์และวิตามินต่างๆ เช่นวิตามินเอ วิตามินอี มีสารต้านจุลชีพ (antimicrobial) และสารต้านอนุมูลอิสระ (anti-oxidant) ที่จำเป็นต่อการคงสภาพที่ปกติของผิวดวงตา
ในภาวะปกติ น้ำตาสร้างมาจากต่อมน้ำตา ต่อมภายในเยื่อบุตา ต่อมบริเวณโคนขนตา ตลอดจนต่อมภายในหนังตา แต่ละต่อมสร้างน้ำตาต่างชนิดกัน โดยเรียงเป็น 3 ชั้น ชั้นนอกเป็นชั้นไขมัน ชั้นกลางเป็นน้ำ และชั้นที่ชิดผิวตาเป็นชั้นเมือก น้ำตาจะหายไปโดยการระเหยร้อยละ 20 ที่เหลือจะไหลลงท่อบริเวณหัวตา
อวัยวะสำหรับหลั่งน้ำตา
แก้- ต่อมน้ำตา อยู่ในเบ้าตาตรงมุมบนหัวตาไปถึงมุมหางตา มีท่อเล็กๆ ประมาณ 3-9 ท่อ เปิดสู่รอยพับบนเยื่อบุตา ทำให้ตาชุ่มชื้นอยู่เสมอ ช่วยชะล้างฝุ่นละออง และสิ่งแปลกปลอมที่เข้าตา
- หลอดน้ำตา เป็นหลอดเล็กๆ อยู่ในเปลือกตาบนและล่าง ตรงมุมหัวตา หลอดน้ำตายาวประมาณ 10 มิลลิเมตร ทอดไปสู่ถุงน้ำตา จึงเป็นทางระบายน้ำตาด้านหน้าของลูกตาไปสู่ถุงน้ำตา
- ถุงน้ำตา อยู่หลังผิวหนังบริเวณระหว่างมุมหัวตาของเปลือกตากับดั้งจมูก มีท่อยาวประมาณ 18 มิลลิเมตร กว้าง 3-4 มิลลิเมตร เปิดสู่ช่องจมูกส่วนหน้า[2]
ชนิดของน้ำตา
แก้น้ำตาสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
- Basal tears ในกระจกตาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีสุขภาพแข็งแรงนั้น จะมีน้ำหล่อเลี้ยงเพื่อปกป้องนัยน์ตาไม่ให้แห้งและยังช่วยปกป้องนัยน์ตาจากฝุ่น ส่วนประกอบของน้ำตาชนิดนี้ประกอบไปด้วย น้ำ มิวซิน ลิพิด ไลโซไซม์ แล็คโตเฟอริน ไลโปคาลิน ลาคริติน อิมมูโนโกลบูลิน กลูโคส ยูเรีย โซเดียม และ โพแทสเซียม ซึ่งสารบางตัวอย่างเช่นไลโซไซม์สามารถช่วยป้องกันแบคทีเรียได้ โดยปกติแล้วน้ำตาชนิดนี้จะถูกหลั่งออกมาในปริมาณ 0.75-1.1 กรัมภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง และจะลดปริมาณลงเรื่อยๆเมื่อมีอายุมากขึ้น
- Reflex tears น้ำตาชนิดนี้จะเกิดจากมีสิ่งเร้าภายนอกมากระทำให้ระคายเคือง เช่น ไอของหัวหอมที่ระเหยออกมาหลังการสับ แก๊ซน้ำตา สเปรย์พริกไทย ซึ่งสารเหล่านี้จะไปกระตุ้น Transient receptor potential channels ใน เส้นประสาทอ็อพธาลมิก ให้เกิดปฏิกิริยา[3] ซึ่งตัวกระตุ้นนี้อาจเป็นแสงที่จ้ามาก การได้รับตัวกระตุ้นประเภทพริกไทยยังบริเวณลิ้น หรือเชื่อมโยงกับการสำรอก การหาวและไอ ได้อีกด้วย
- Emotional tears หรือเรียกโดยทั่วไปว่าการร้องไห้หรือสะอื้นไห้ เกิดขึ้นจากการเกิดอารมณ์อย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการปลื้มปิติยินดี ความโกรธ หรือความเจ็บปวดทรมาน อันทำให้ระดับการผลิตน้ำตาเพิ่มมากขึ้น น้ำตาชนิดนี้มีส่วนประกอบทางเคมีที่แตกต่างออกไปจากน้ำตาที่หล่อเลี้ยงนัยน์ตา emotional tears นั้นจะมีส่วนประกอบของฮอร์โมนที่มีองค์ประกอบของโปรตีนอย่างโปรแลกติน อะดรีโนคอร์ติโคโทรปิกฮอร์โมน และลูเอนเคฟาลิน ที่มากกว่าสองชนิดแรก ซึ่ง ไฮโปทาลามัสในระบบลิมบิกจะเป็นตัวที่ควบคุมการหลั่งของน้ำตาชนิดนี้ โดยที่ต่อมน้ำตาจะถูกควบคุมด้วยระบบประสาทพาราซิมพาธีติกผ่านทางสารสื่อประสาทอะซีติลโคลีน และส่งไปยังนิโคตินิกรีเซ็ปเตอร์และมัสคารินิกรีเซ็ปเตอร์ ซึ่งหากตัวรับทั้งสองถูกกระตุ้น ต่อมน้ำตาก็จะผลิตน้ำตาออกมา[4]
อ้างอิง
แก้- ↑ Farandos, NM; Yetisen, AK; Monteiro, MJ; Lowe, CR; Yun, SH (2014). "Contact Lens Sensors in Ocular Diagnostics". Advanced Healthcare Materials. doi:10.1002/adhm.201400504.
- ↑ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 8 อวัยวะรับความรู้สึกพิเศษ โดย นายแพทย์วิเชียร ดิลกสัมพันธ์ และนายแพทย์ชูศักดิ์ เวชแพศย์[ลิงก์เสีย]
- ↑ http://cdn.intechopen.com/pdfs/31117/InTech-Transient_receptor_potential_trp_channels_in_the_eye.pdf
- ↑ Skorucak A. "The Science of Tears." ScienceIQ.com. Accessed September 29, 2006.